ThaiPublica > เกาะกระแส > เปิดงานวิจัยกลุ่ม LGBTI “บุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ” ระบุถูกกีดกัน – เลือกปฏิบัติ – แบ่งแยกทางเศรษฐกิจ

เปิดงานวิจัยกลุ่ม LGBTI “บุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ” ระบุถูกกีดกัน – เลือกปฏิบัติ – แบ่งแยกทางเศรษฐกิจ

27 มีนาคม 2018


ประเทศไทยมีภาพลักษณ์ที่ก้าวหน้ากว่าหลายประเทศในกลุ่มประเทศที่กำลังพัฒนาที่มีระดับรายได้ปานกลางในประเด็นเรื่องบทบาทและการมีส่วนร่วมของกลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ (LGBTI) ถึงกระนั้น ผลการศึกษาวิจัยกลับแสดงผลให้ประจักษ์ว่ากลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศยังคงประสบปัญหาการเลือกปฏิบัติ ถูกจำกัดในด้านโอกาสการทำงานและสิทธิในการเป็นเจ้าของที่อยู่อาศัย และเผชิญกับอุปสรรคกีดขวางการเข้าถึงบริการพื้นฐานในหลายๆ ด้าน

ข้อมูลส่วนใหญ่เกี่ยวกับวิถีทางเพศและอัตลักษณ์ทางเพศ (SOGI, Seaual Orientaion & Gender Identity) ในประเทศไทยมักเป็นข้อมูลในเชิงคุณภาพ งานวิจัยล่าสุดที่ธนาคารโลกเป็นผู้นำและดำเนินการวิจัยร่วมกับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ องค์กร Love Frankie และกองทุนนอร์ดิกทรัสต์ฟันด์ ถือว่าเป็นความพยายามครั้งแรกในการรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลเชิงปริมาณและผลลัพธ์จากกลุ่มตัวอย่างที่ครอบคลุมและเป็นตัวแทนกลุ่มเป้าหมายอย่างมีนัยสำคัญในมิติทางเศรษฐกิจและการเงินของกลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศในประเทศไทย ประกอบกับข้อมูลเชิงคุณภาพที่ได้จากการสัมภาษณ์ การเก็บข้อมูลเชิงลึกในรูปแบบของ “เรื่องราวชีวิต” จากผู้ให้ข้อมูลที่มีความหลากหลายทั้งในวิถีทางเพศและอัตลักษณ์ทางเพศจำนวน 19 คนทั่วทุกภูมิภาคหลักของประเทศไทย และข้อมูลที่ได้จากการทำสำรวจผ่านช่องทางออนไลน์ เผยให้เห็นภาพในระดับที่ลึกลงไปอีกเกี่ยวกับชีวิตของกลุ่มผู้ตอบแบบสอบถามที่มีความหลากหลายทางเพศ

งานวิจัยการมีส่วนร่วมทางเศรษฐกิจของกลุ่ม LGBTI ในประเทศไทยฉบับนี้มุ่งเน้นการศึกษาว่ากลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศมีคุณค่าต่อสังคมไทยในด้านเศรษฐกิจและการเงินอย่างไร ทั้งในด้านโอกาสและการมีส่วนร่วม หรือการเลือกปฏิบัติและถูกกีดกันของพวกเขา งานศึกษานี้มุ่งเน้นการฉายภาพผลลัพธ์ที่แตกต่างกันของกลุ่มประชากรที่มีหลากหลายทางเพศและกลุ่มที่ไม่ใช่ความหลากหลายทางเพศ ในเรื่องตลาดแรงงานและการจ้างงาน อสังหาริมทรัพย์ และตลาดการเงิน พร้อมทั้งศึกษาถึงอุปสรรค ความท้าทายในกลุ่มประชากรที่มีความหลากหลายทางเพศต้องเผชิญในการเข้าถึงโอกาสทางการศึกษา สาธารณสุข และบริการด้านต่างๆ ของรัฐ จากผลลัพธ์ของการศึกษา ประกอบกับประสบการณ์นานาชาติและการทบทวนงานเขียนต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง พร้อมข้อเสนอแนะ

ถูกเลือกปฏิบัติในทุกด้านของชีวิต

ในการตอบแบบสำรวจออนไลน์ ร้อยละ 60 ของกลุ่มคนข้ามเพศ (transgender people) ร้อยละ 30 ของกลุ่มเลสเบี้ยน และร้อยละ 20 ของกลุ่มเกย์ตอบว่ามีการเลือกปฏิบัติในการทำงานของพวกเขา มากกว่าครึ่งหนึ่งของคนที่ตอบแบบสอบถามกล่าวว่า ใบสมัครของพวกเขาโดนปฏิเสธ ด้วยเหตุแห่งการมีอัตลักษณ์เป็นบุคคลที่มีหลากหลายทางเพศ

ข้อค้นพบในลักษณะนี้สวนทางกับความก้าวหน้าของประเทศไทยที่ได้พัฒนากฎหมายเพื่อยุติการเลือกปฏิบัติต่อบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ ประเทศไทยเป็นภาคีในอนุสัญญาสหประชาติว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อผู้หญิง ซึ่งภายใต้กลไกนี้ได้มีการกำหนดข้อเสนอแนะทั่วไปเพื่อขจัดการเลือกปฏิบัติที่ครอบคลุมเหตุแห่งวิถีทางเพศและอัตลักษณ์ทางเพศ นอกจากนี้ประเทศไทยประกาศใช้พระราชบัญญัติความเท่าเทียมระหว่างเพศ พ.ศ. 2558 ที่มีบทบัญญัติว่าการเลือกปฏิบัติต่อบุคคลที่มีรูปลักษณ์ภายนอกไม่ตรงกับเพศกำเนิดเป็นสิ่งที่ผิดกฎหมาย

ผู้เข้าร่วมกลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศให้ข้อมูลว่า มีการเลือกปฏิบัติเกิดขึ้นในเรื่องการเข้าถึงโอกาสในการทำงาน การรับบริการของรัฐ การศึกษาหรือฝึกอบรม และบริการด้านสาธารณสุข ตลอดจนการซื้อหรือเช่าอสังหาริมทรัพย์ โดยเป็นคำตอบที่ได้รับจากการสำรวจออนไลน์ บุคคลจำนวน 3,502 คนที่อาศัยอยู่ในประเทศไทย โดยในจำนวนนี้ 1,200 คนเป็นผู้ตอบแบบสอบถามที่ไม่ใช่กลุ่มความหลากหลายทางเพศ และผู้ตอบแบบสอบถามที่เป็นกลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ จำนวน 2,302 คนที่ระบุตนว่าเป็นเกย์ เลสเบี้ยน คนข้ามเพศ อินเตอร์เซ็กซ์ หรือเพศอื่นๆ

การสำรวจครั้งนี้เป็นความพยายามในการรวบรวมข้อมูลเชิงปริมาณที่ใหญ่ที่สุดเกี่ยวกับการมีส่วนร่วมทางเศรษฐกิจของกลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศในประเทศไทยและในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก

ตลาดแรงงานกีดกันมากสุด

ในบรรดาผลลัพธ์ทั้งหมดที่ได้มาจากการตอบแบบสำรวจมี 5 ประเด็นสำคัญที่ปรากฏให้เห็นอย่างเด่นชัดเกี่ยวกับคำถามที่ว่า ในปัจจุบัน บุคคลที่มีหลากหลายทางเพศเผชิญสภาวะทางเศรษฐกิจและทางการเงินเช่นใดบ้างในสังคมไทย

ข้อค้นพบที่ 1 มีเพียงร้อยละ 7 ของกลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ กับร้อยละ 1 ของกลุ่มที่ไม่ใช่ผู้มีความหลากหลายทางเพศที่เข้าร่วมการสำรวจตอบว่า พวกเขาตระหนักรู้ว่าในประเทศไทยมีกฎหมายที่ห้ามการเลือกปฏิบัติต่อบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ มากกว่าครึ่ง (51%) ของคนที่ตอบแบบสอบถามในกลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศและมากกว่าสองในสาม (69%) ของผู้ตอบแบบสำรวจที่ไม่ใช่กลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศกล่าวว่า พวกเขาไม่รู้ว่ามีกฎหมายดังกล่าวอยู่ ประเทศไทยประกาศให้ความคุ้มครองต่อกลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศในทางกฎหมาย รวมทั้งพระราชบัญญัติความเท่าเทียมระหว่างเพศ พ.ศ. 2558

ข้อค้นพบที่ 2 ผู้ตอบแบบสำรวจในกลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศรายงานว่า การเลือกปฏิบัติร้ายแรงที่สุดเกิดขึ้นในตลาดแรงงาน ตามมาด้วยในตลาดอสังหาริมทรัพย์ ในกรณีที่พวกเขาประสงค์จะเช่าหรือซื้ออสังหาริมทรัพย์ การเลือกปฏิบัติในการทำงานที่ประชากรเลสเบี้ยน เกย์ คนข้ามเพศ ตอบแบบสำรวจเกิดขึ้นในหลายรูปแบบ โดยประเภทที่พบบ่อยที่สุดคือ การถูกปฏิเสธใบสมัครงาน และการคุกคามในสถานที่ทำงาน ผู้ตอบแบบสำรวจที่เป็นคนข้ามเพศประสบสภาพปัญหาที่เลวร้ายที่สุด กล่าวคือ ร้อยละ 77 ของคนที่ตอบแบบสำรวจกล่าวว่า พวกเขาถูกปฏิเสธตั้งแต่ขั้นตอนการสมัครงานด้วยเหตุแห่งอัตลักษณ์ทางเพศของพวกเขา ร้อยละ 40 กล่าวว่าโดนคุกคาม ประมาณครึ่งหนึ่งของกลุ่มเกย์ (ร้อยละ 49) กับ ร้อยละ 62 ของกลุ่มเลสเบี้ยนกล่าวว่าการสมัครงานของพวกเขาถูกปฏิเสธด้วยเหตุแห่งวิถีทางเพศหรืออัตลักษณ์ทางเพศของพวกเขา ประมาณหนึ่งในห้าของกลุ่มเกย์กล่าวว่า พวกเขาถูกมองข้ามในช่วงเวลาที่มีการพิจารณาเลื่อนตำแหน่งหรือไม่ได้รับสวัสดิการที่เกี่ยวข้องกับการทำงานเพราะสถานภาพความเป็นบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศของพวกเขา

การเลือกปฏิบัติเกี่ยวกับงานและในแวดวงการทำงานมีลักษณะแตกต่างหลากหลายกันไปตามอาชีพและภาคเศรษฐกิจ กลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศจะไม่สามารถเข้าถึงอาชีพในหน่วยงานตำรวจกับภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับการบังคับใช้กฎหมาย กองทัพ และสถาบันเกี่ยวกับศาสนาได้ ในทางตรงกันข้าม พวกเขาสามารถเข้าไปทำงานได้ง่ายขึ้นในภาคการเกษตร ธุรกิจค้าปลีก ความงามและสุขภาพ ข้อค้นพบในมุมนี้บ่งชี้เรื่องการแบ่งแยกกีดกันทางอาชีพด้วยเหตุแห่งวิถีทางเพศและอัตลักษณ์ทางเพศกับข้อจำกัดในความคล่องตัวและความก้าวหน้าทางอาชีพของบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศในตลาดแรงงาน

มากกว่าครึ่งหนึ่ง (เกือบร้อยละ 53) ของผู้ตอบแบบสำรวจที่เป็นกลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศรายงานว่าประสบปัญหาทางอารมณ์ รวมถึงโรคซึมเศร้า วิตกกังวล และคับข้องใจ อันสืบเนื่องมาจากการถูกเลือกปฏิบัติหรือการกีดกันในตลาดแรงงาน

ข้อค้นพบที่ 3 ผู้ตอบแบบสอบถามกลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศเผชิญอุปสรรคท้าทายสำคัญในการเข้าถึงบริการของรัฐ เช่น การขอออกบัตรประจำตัวประชาชน หนังสือเดินทาง หรือเอกสารประจำตัวสำคัญอื่นๆ ที่สำคัญที่สุด กลุ่มเกย์ร้อยละ 40.6 กลุ่มเลสเบี้ยนร้อยละ 36.4 และ กลุ่มคนข้ามเพศร้อยละ 46.9 ที่ร่วมตอบแบบสำรวจกล่าวว่า พวกเขาไม่ได้รับบริการที่แสวงหาจากรัฐ ครึ่งหนึ่งของผู้ตอบแบบสอบถามกลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศตอบว่า พวกเขาได้รับการปฏิบัติแบบไม่ให้เกียรติในยามที่ไปขอรับบริการจากรัฐ และมากกว่าร้อยละ 30 กล่าวว่าพวกเขาโดนคุกคามหรือล้อเลียนและถูกเรียกร้องให้ต้องทำตามข้อบังคับเพิ่มเติมมากกว่าประชาชนทั่วไปในยามที่ต้องการใช้บริการรัฐ ผู้ตอบแบบสอบถามกลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศกลุ่มใหญ่มากประสบความทุกข์ยากลำบากทั้งในด้านการเงิน อารมณ์ ทั้งในเรื่องส่วนตัวและทางด้านกฎหมาย เพราะการเลือกปฏิบัติที่เผชิญในเวลาที่แสวงหาบริการภาครัฐ

ข้อค้นพบเรื่องที่ 4 ในบรรดาผู้ตอบแบบสอบถามในกลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศกลุ่มคนข้ามเพศรายงานถึงประสบการณ์เลือกปฏิบัติและกีดกันที่พวกเขาพบบ่อยที่สุดและร้ายแรงที่สุด ในประเด็นเดียวกันนี้กลุ่มเลสเบี้ยนรายงานถึงผลลัพธ์ที่ออกมาเลวร้ายกว่าของกลุ่มเกย์ ตัวอย่างเช่น ร้อยละ 60 ของกลุ่มคนข้ามเพศแจ้งว่าพวกเขามีประสบการณ์ถูกเลือกปฏิบัติในเรื่องการทำงาน ซึ่งเป็นผลลัพธ์ตัวเลขที่ตรงกันข้ามกับร้อยละ 29 ของกลุ่มเลสเบี้ยน และร้อยละ 19 ของบรรดากลุ่มเกย์ในประสบการณ์รูปแบบเดียวกันนี้ ซึ่งก็คือการเลือกปฏิบัติอย่างมากต่อคนข้ามเพศ ตามมาด้วยระดับที่ร้ายแรงตามลำดับในกลุ่มเลสเบี้ยนกับกลุ่มเกย์ และยังปรากฏชัดเจนในการเข้าถึงบริการภาครัฐทุกประเภท ตั้งแต่การศึกษาและฝึกอบรม การประกันชีวิตหรือประกันสุขภาพและผลิตภัณฑ์ทางการเงินรวมถึงการเช่าบ้าน มีข้อยกเว้นประการเดียวคือการซื้ออสังหาริมทรัพย์ อันเป็นกรณีที่กลุ่มเลสเบี้ยนประสบกับการเลือกปฏิบัติมากที่สุด ตามมาด้วยกลุ่มคนข้ามเพศและกลุ่มเกย์

ข้อค้นพบเรื่องที่ 5 มากกว่าหนึ่งในสาม (ร้อยละ 37.4) ของผู้ตอบแบบสำรวจที่ไม่ใช่กลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศบอกว่า ยอมรับได้หากว่าผู้จ้างงานเลือกปฏิบัติต่อบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ เกือบครึ่งหนึ่ง (ร้อยละ 48) กล่าวว่าเป็นเรื่องสมเหตุผลแล้วที่กลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศประสบกับการเลือกปฏิบัติบางรูปแบบในเวลาที่เข้าใช้บริการรัฐ



วางนโยบายรณรงค์ความเท่าเทียมทางเพศ

รายงานฉบับนี้นำเสนอทางเลือกต่างๆ ในการพัฒนานโยบายและแผนปฏิบัติงาน โดยได้บูรณาการประสบการณ์และแนวปฏิบัติที่ดีจากนานาชาติ ด้วยความหวังว่าจะมีการขจัดการเลือกปฏิบัติและส่งเสริมความเท่าเทียมกัน ความเป็นธรรม และความมั่งคั่งทั่วหน้าของประชาชนไทย

โดยด้านการสร้างความตระหนักรู้เรื่องนโยบายสาธารณะนั้น ควรมีการดำเนินการทั้งระยะสั้นและระยะกลาง หน่วยงานหลักที่รับผิดชอบคือกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ที่ต้องร่วมมือกับหน่วยงานอื่นทั้งรัฐและเอกชน เช่น กระทรวงยุติธรรม คณะกรรมการวินิจฉัยการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศ (วลพ.) ซึ่งมีข้อเสนอแนะ 2 ด้าน คือ

ข้อแรก พัฒนาดำเนินโครงการรณรงค์สร้างความตระหนักรู้แก่สาธารณชนในเรื่องความเท่าเทียมระหว่างเพศ เรื่องสิทธิในวิถีทางเพศและอัตลักษณ์ทางเพศ และความหลากหลายทางเพศ กฎหมายที่ว่าด้วยการห้ามเลือกปฏิบัติและนโยบายตลอดทั้งกลไกรัฐ โดยครอบคลุมไปถึงภาคเอกชนประชาสังคม องค์กรสื่อสารมวลชน และสังคมในภาพรวม ด้วยวิธี 1. จัดการอบรม สร้างความตระหนัก และสร้างเสริมศักยภาพในประเด็นความเสมอภาคระหว่างเพศ ความหลากหลายทางเพศ และวิถีทางเพศและอัตลักษณ์ทางเพศในภาคแรงงาน การศึกษา สาธารณสุข และบริการหลักอื่นๆ ที่หน่วยงานรัฐเป็นผู้จัดบริการ 2. สร้างความตระหนักและจิตสำนึกด้านความละเอียดอ่อนในกลุ่มเจ้าหน้าที่รัฐ ครู แพทย์ และบุคลากรด้านการศึกษาและสาธารณสุข เกี่ยวกับกฎหมายและนโยบายว่าด้วยการห้ามเลือกปฏิบัติในวิถีทางเพศและอัตลักษณ์ทางเพศของบุคคล

ข้อสอง ในฐานะกลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศที่เป็นองค์ประกอบหนึ่งของการนำพาประเทศไทยสู่ความเป็น “Thailand 4.0” รัฐบาลต้องแสดงเจตจำนงในระดับสูงในการเปิดพื้นที่การมีส่วนร่วมให้กลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศเข้าเป็นพลังของสังคมมากยิ่งขึ้น และต้องยืนยันว่าประชาชนไทยทุกคนมีสิทธิและโอกาสที่เท่าเทียมกัน โดยไม่มีเส้นแบ่งเกี่ยวกับเพศ วิถีทางเพศหรืออัตลักษณ์ทางเพศ ตัวอย่างเช่น ผู้นำรัฐบาลอาจแถลงนโยบายดังกล่าว หรือกำหนดให้มีการขับเคลื่อนเรื่องการมีส่วนร่วมของกลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศทั่วประเทศ

ส่วนข้อเสนอแนะด้านการไม่เลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งวิถีทางเพศและอัตลักษณ์ทางเพศในการจ้างงานนั้น กระทรวงแรงงานต้องเป็นหน่วยงานหลัก โดย

  • ข้อหนึ่ง พัฒนาร่างและบังคับใช้กฎหมายเกี่ยวกับความเท่าเทียมและห้ามมิให้มีการเลือกปฏิบัติในการจ้างงานและวิชาชีพ เพื่อเป็นหลักประกันการไม่เลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งวิถีทางเพศและอัตลักษณ์ทางเพศ
  • ข้อสอง จัดตั้งกลไกการบังคับใช้และติดตามผลการปฏิบัติตามกฏหมายใหม่ดังกล่าว และให้มีการเยียวยาในกรณีที่มีการเลือกปฏิบัติเกิดขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับกลุ่มคนข้ามเพศ
  • ข้อสาม จัดตั้งคณะกรรมการการจ้างงานอย่างเท่าเทียมและส่งเสริมบทบาทของคณะกรรมการดังกล่าวในฐานะกลไกร้องทุกข์ระดับประเทศ
  • ข้อสี่ ส่งเสริมการสานเสวนาทางสังคมระหว่างนายจ้างในภาคเอกชน กลุ่มลูกจ้าง และพนักงาน ซึ่งเป็นบุคคลมีความหลากหลายทางเพศ ในการคุ้มครองสิทธิลูกจ้าง และส่งเสริมการไม่เลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งวิถีทางเพศและอัตลักษณ์ทางเพศ

เสนอร่างกฎหมายรับรองเพศสภาพ

ส่วนความเสมอภาคในสิทธิตามกฎหมาย กระทรวงยุติธรรมต้องเป็นหน่วยงานหลัก โดยเสนอให้

  • ข้อหนึ่ง ให้มีการออกกฎหมายรับรองเพศสภาพ
  • ข้อสอง ให้มีการออกกฎหมายที่รับรองสถานะคู่ชีวิตของคนเพศเดียวกัน โดยให้กฎหมายนี้คำนึงถึงแนวปฏิบัติที่ดีที่สุดที่จะอนุญาตและรับรองการใช้ชีวิตคู่อย่างมีเสถียรภาพระหว่างบุคคลสองคนบนพื้นฐานที่เท่าเทียมกันโดยไม่คำนึงถึงเพศสภาพ วิถีทางเพศ หรืออัตลักษณ์ทางเพศ
  • ข้อสาม บูรณาการประเด็นวิถีทางเพศและอัตลักษณ์ทางเพศอย่างเต็มรูปแบบเข้าไว้ในพระราชบัญญัติความเท่าเทียมระหว่างเพศ พ.ศ. 2558 และการส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศในแผนพัฒนาหรือนโยบายการพัฒนาในประเทศ
  • ข้อสี่ สนับสนุนอย่างจริงจังให้กลุ่มเลสเบี้ยน ไบเซ็กชวล และผู้หญิงข้ามเพศ ในทุกๆ ความพยายามให้เกิดการมีส่วนร่วมเพื่อส่งเสริมความเท่าเทียมระหว่างเพศ เรื่องสิทธิผู้หญิง การเสริมพลังให้ผู้หญิง และการป้องกันความรุนแรงต่อผู้หญิงและเด็ก
  • ข้อห้า เสริมสร้างและบังคับใช้ความคุ้มครองทางกฎหมายต่อความรุนแรงทุกรูปแบบอันเนื่องมาจากเพศสภาพ และต่อกลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ

สำหรับความเท่าเทียมกันในการดูแลสุขภาพของบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ กระทรวงสาธารณสุขต้องเป็นหน่วยงานหลัก โดย ข้อหนึ่ง จัดทำแนวปฏิบัติ และบูรณาการประเด็นการไม่ เลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งวิถีทางเพศและอัตลักษณ์ทางเพศ เข้าไว้ในหลักสูตรการฝึกอบรมบุคลากรที่ให้บริการด้านสาธารณสุข ข้อสอง พัฒนาและใช้มาตรการป้องกันไม่ให้ผู้ให้บริการด้านประกันสุขภาพเอกชนซักถามเกี่ยวกับวิถีทางเพศและอัตลักษณ์ทางเพศของบุคคล ข้อสาม พัฒนาและนำมาใช้ซึ่งมาตรการทางกฎหมายที่กำหนดให้บริษัทประกันชีวิตเอกชนต้องออกกรมธรรม์คุ้มครองผู้เอาประกันที่เปิดทางให้คู่ชีวิตไม่ว่าจะแต่งงานหรือไม่ได้แต่งงานก็ตาม ไม่ว่าจะมีเพศหรืออัตลักษณ์ทางเพศใดก็ตาม สามารถมีสิทธิเป็นผู้รับผลประโยชน์จากการเอาประกันภัยได้