ThaiPublica > เกาะกระแส > การจัดการน้ำลุ่มเจ้าพระยา:โครงการปรับปรุงระบบชลประทาน 8 จังหวัด ลดพื้นที่น้ำท่วมกว่า 2 แสนไร่

การจัดการน้ำลุ่มเจ้าพระยา:โครงการปรับปรุงระบบชลประทาน 8 จังหวัด ลดพื้นที่น้ำท่วมกว่า 2 แสนไร่

11 พฤศจิกายน 2023


การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่รุนแรงขึ้น ปัญหาอุทกภัย หรือน้ำท่วมใหญ่ในประเทศไทย ก็มีแนวโน้มรุนแรงและยุ่งยากซับซ้อนในการบริหารจัดการมากขึ้น ไทยซึ่งมีเป้าหมายจะก้าวสู่ประเทศรายได้ระดับสูง ต้องมีแผนบริหารจัดการน้ำที่ชัดเจน ต้องไม่เกิดน้ำท่วมหรือแล้ง ที่มีผลเสียและสร้างความเสี่ยงต่อธุรกิจในการพัฒนาประเทศ ทั้งภาคเกษตร ภาคท่องเที่ยว ภาคการผลิต รวมไปถึง EEC

โดยพื้นที่น้ำท่วมหลักจะอยู่ในบริเวณลุ่มน้ำเจ้าพระยาที่ครอบคลุมพื้นที่ 1.58 แสนตารางกิโลเมตร และถือเป็นเขตเศรษฐกิจหลักของประเทศ จึงส่งผลกระทบต่อการดำรงชีวิตของผู้คน ต่อชุมชน เกิดความเสียหายต่อพื้นที่เกษตรภาคอุตสาหกรรม การค้า การท่องเที่ยว จำนวนมหาศาล

นับตั้งแต่ผ่านพ้นมหาอุทกภัยในปี 2554 หน่วยงานของไทยที่เกี่ยวข้องได้ทำการศึกษาและวางแผนแก้ไขปัญหาน้ำท่วม โดยบูรณาการความร่วมมือทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการบริหารจัดการมาโดยตลอด

ธนาคารโลกซึ่งมีคณะทำงานร่วมกันกับสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) และได้มีการแลกเปลี่ยนความเห็นกับกรมชลประทาน เห็นว่าประเทศไทยต้องมีแผนในการจัดการบริหารจัดการน้ำระยะยาว 20 ปี ใน 5-6 ด้าน ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง ท่วม แล้ง อุปโภคบริโภค การบริหารจัดการสถาบันทางน้ำ ที่จะนำไปสู่การปฏิบัติ จึงได้จัดเวิร์คชอปร่วมกับกรมชลประทานในหัวข้อ Lower Chao Phraya River Flood Risk Management and Mitigation ขึ้นเมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2566 เพื่อร่วมขับเคลื่อนการจัดทำแผนบริการจัดการน้ำ ซึ่งเป็นโครงการขนาดใหญ่มีผลกระทบต่อทั้งสิ่งแวดล้อม สังคม ชีวิต ผู้คน ทรัพย์สิน รวมไปถึง Landscape ใหม่ของประเทศที่มีการผันน้ำจากบนลงล่าง ให้ครอบคลุม เพื่อให้การบริหารจัดการ น้ำท่วม น้ำแล้ง และผลกระทบต่อชีวิตผู้คน เศรษฐกิจ สังคมได้ดีขึ้น

  • การจัดการน้ำลุ่มเจ้าพระยา: สทนช. เปิด 9 โครงการใหญ่แก้ปัญหาน้ำท่วม
  • ดร.ภัทราภรณ์ เมฆพฤกษาวงศ์ ผู้อำนวยการส่วนวางโครงการที่ 3 สำนักบริหารโครงการ กรมชลประทาน

    ดร.ภัทราภรณ์ เมฆพฤกษาวงศ์ ผู้อำนวยการส่วนวางโครงการที่ 3 สำนักบริหารโครงการ กรมชลประทาน กล่าวว่า เพื่อแก้ปัญหาอุทกภัยในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่าง กรมชลประทานได้จัดทำโครงการปรับปรุงระบบชลประทานเจ้าพระยาฝั่งตะวันออกตอนล่าง ซึ่งเป็นแผนงานที่ 1 จาก 9 แผนในการบรรเทาอุทกภัย

    โดยจะเป็นการปรับปรุงคลองและอาคารชลประทานในพื้นที่เจ้าพระยาฝั่งตะวันออกตอนล่างเพื่อให้สามารถระบายน้ำได้รวม 400 ลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) ต่อวินาที

    …เพิ่มขึ้นจากเดิมที่ระบายน้ำได้ 210 ลบ.ม.ต่อวินาที โดยเป็นการระบายน้ำออกทางแม่น้ำเจ้าพระยา 100 ลบ.ม.ต่อวินาที แม่น้ำนครนายกและแม่น้ำบางปะกง ประมาณ 156 ลบ.ม.ต่อวินาที และระบายน้ำสู่ทะเลอ่าวไทย 144 ลบ.ม.ต่อวินาที

    ดร.ภัทราภรณ์ กล่าวว่า โครงการดังกล่าวจะเป็นการปรับปรุงและขุดขยายคลองชลประทานเดิม 26 คลอง เพื่อให้ระบายน้ำได้มากขึ้น โดยคลองหลักคือ คลองระพีพัฒน์ และคลองสาขาย่อยที่แยกออกจากคลองระพีพัฒน์ โดยคลองระพีพัฒน์เดิมออกแบบให้ระบายน้ำได้ 250 ลบ.ม.ต่อวินาที แต่เนื่องจากเป็นคลองส่งน้ำ ต้นคลองจะกว้าง ขณะที่ปลายคลองจะเล็ก ทำให้ช่วงฤดูฝนจะมีน้ำส่วนหนึ่งที่ต้องระบายออก ทำให้ระบายน้ำได้เพียง 210 ลบ.ม.ต่อวินาที เป้าหมายการปรับปรุงคือ เพิ่มขีดความสามารถในการระบายน้ำเป็น 400 ลบ.ม.ต่อวินาที สำหรับใช้ในการรับน้ำ ทั้งจากเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ เขื่อนต้นน้ำพระราม 6

    นอกจากนี้ จะมีการตรวจสอบอาคารชลประทาน ที่ใช้ควบคุมน้ำหรือบังคับน้ำในระบบส่งน้ำ โดยต้องมีการปรับปรุงและสร้างใหม่ 43 อาคาร ขณะที่สามารถใช้อาคารเดิมได้ 20 แห่ง ขณะที่การระบายน้ำจะใช้ 2 ระบบ คือ คลองที่ขุดใหม่จะระบายน้ำได้ 600 ลบ.ม.ต่อวินาที กับคลองชลประทานที่ปรับปรุงแล้วจะระบายน้ำได้ 400 ลบ.ม.ต่อวินาที รวมแล้วระบายน้ำที่ผันจากเขื่อนเจ้าพระยาได้เพิ่มเป็น 800 ลบ.ม.ต่อวินาที เพราะถ้าดูจากอัตราไหลของน้ำสูงสุด (flood peak) ของแม่น้ำป่าสัก กับ flood peak ที่หน้าเขื่อนเจ้าพระยาจะมีเวลาที่แตกต่างกัน หมายความว่า อุทกภัยจาก flood peak ของแม่น้ำป่าสักผ่านไปแล้ว แต่ของแม่น้ำเจ้าพระยาจะท่วมและเกิดหนัก ก็ใช้เส้นทางนี้ในการระบายน้ำลงสู่ทะเลได้

    นอกจากนี้ ปัจจุบันมีโครงการต่าง ๆ เช่น พื้นที่รับน้ำจากเขื่อนภูมิพลและเขื่อนสิริกิต์ที่เป็นต้นน้ำหลัก และรับน้ำจากเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ถ้ารับต่อเนื่องจากเขื่อนภูมิพลและเขื่อนสิริกิต์ จะมี 6 โครงการ โดย 2 โครงการที่อยู่ด้านล่างจะเป็นโครงการรับน้ำนอง อยู่ในพื้นที่ใช้คลองในการเก็บกักน้ำไว้แล้วจ่ายน้ำไปในระบบ มีพื้นที่ชลประทานทั้งหมด (3,240 ตร.กม.หรือ 2,025,706 ไร่) โดยคลองสายหลักที่ใช้ส่งน้ำ ต้นคลองอยู่ที่หน้าเขื่อนพระราม 6 ที่เป็นเขื่อนทดน้ำ มีคลองระพีพัฒน์และคลองต่าง ๆ ที่แยกออกมาจากคลองสายหลักในการส่งน้ำ

    ดร.ภัทราภรณ์ กล่าวว่า โครงการปรับปรุงระบบชลประทานพื้นที่เจ้าพระยาตอนล่าง พื้นที่ศึกษาจะครอบคลุม 8 จังหวัด คือ สระบุรี อยุธยา นครนายก ปทุมธานี นนทบุรี กรุงเทพฯ สมุทรปราการ และฉะเชิงเทรา รวม 6,188 ตารางกิโลเมตร (ตร.กม.) มีการดูทั้งด้านวิศวกรรม สิ่งแวดล้อม สังคม และเศรษฐศาสตร์ โดยคลองที่วางไว้จะเป็นทั้งคลองส่งน้ำ และคลองระบายน้ำ มีการตรวจสอบอาคารที่อยู่ในเขตคลองว่ามีกี่แห่ง สภาพเป็นอย่างไร และวิเคราะห์ผลตอบแทน

    นอกจากนี้จะมีการดูปัจจัยต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น ระดับน้ำที่แม่น้ำป่าสัก จะออกแบบให้ส่งน้ำที่ระดับเท่าไหร่ ศักยภาพการสูบน้ำ ที่จะใช้เครื่องสูบเดิมให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด ไม่มีการติดตั้งเพิ่ม ระดับคันกั้นน้ำ ที่จะดูว่าระดับปัจจุบัน และหลังจากน้ำท่วมแล้ว และระดับคันกั้นน้ำของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นกรมทางหลวง หรือกรมโยธาธิการ หรือสำนักผังเมือง รวมถึงผลจากระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้น โดยไจก้า ประเมินว่าอุณหภูมิโลกที่สูงขึ้นในอีก 30 ปีข้างหน้า จะทำให้น้ำทะเลของโลกสูงขึ้นประมาณ 30 เซนติเมตร ซึ่งจะมีผลต่อการระบายน้ำของแม่น้ำเจ้าพระยาลงสู่ทะเล โดยในระยะทาง 10 กม.จากปากแม่น้ำ ความสามารถในการระบายน้ำจะลดลง 11% ระยะ 30 กม. จะลดลง 7% เป็นต้น ทำให้แม่น้ำเจ้าพระยาที่เป็นแม่น้ำสายหลักระบายน้ำได้ลดลงจากน้ำทะเลที่สูงขึ้น

    ดร.ภัทราภรณ์ กล่าวว่า มูลค่าการก่อสร้างโครงการจากการศึกษาอยู่ที่ 57,056 ล้านบาท แต่หลังจากทบทวนได้เพิ่มขึ้นมาที่ 95,000 ล้านบาท ระยะเวลาก่อสร้าง 5 ปี รองรับการจัดการน้ำได้ 50 ปี โดยบรรเทาผลกระทบจากน้ำท่วมคิดเป็นมูลค่า 5,085 ล้านบาท มีน้ำสำหรับการใช้อุปโภคบริโภคและอุตสาหกรรมคิดเป็นเงิน 223 ล้านบาทต่อปี

    โดยสรุปแล้ว โครงการนี้จะเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำเป็น 400 ลบ.ม.ต่อวินาที สามารถลดพื้นที่น้ำท่วมในรอบ 25 ปี ได้ประมาณ 4 แสนไร่ ถ้าในรอบ 10 ปี ประมาณ 2.4 แสนไร่

    ขณะเดียวกัน ยังช่วยให้น้ำที่คาดว่าจะท่วมลึก 2 เมตรขึ้นไปลดลงเหลือ 1 เมตร ได้ประมาณ 5,000 ไร่ถึง 4.4 แสนไร่ สามารถบรรเทาความเสียหายจากอุทกภัยพื้นที่น้ำท่วมได้ประมาณปีละ 5,000 ล้านบาท ขณะที่การขุดลอกคลองเพิ่มเติม จะทำให้สามารถเก็บกักน้ำได้เพิ่ม 18 ล้านลบ.ม. คิดเป็นมูลค่า 233 ล้านบาทต่อปี รวมทั้งยังช่วยบรรเทาความเดือดร้อนที่เกิดจากอุทกภัย สร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุน ว่ามีระบบป้องกันน้ำท่วมที่ดีพอ ส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของประชาชน ระบบสาธารณูปโภคของรัฐ โดยจะมี 4 ล้านครัวเรือนที่ได้รับผลจากการดำเนินโครงการนี้