ThaiPublica > คอลัมน์ > เมื่อสิทธิของสัตว์ถูกละเมิด

เมื่อสิทธิของสัตว์ถูกละเมิด

8 มีนาคม 2018


ลัษมณ ไมตรีมิตร
นักศึกษาปริญญาเอกทางด้านภูมิสถาปัตยกรรม University of Illinois at Urbana-Champaign

นายเปรมชัย กรรณสูต (นั่ง)ประธานบริหารและกรรมการ บริษัทอิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด(มหาชน)ที่มาภาพ : https://www.facebook.com/Khonanurak/photos/

การที่มนุษย์คนหนึ่งถืออาวุธเข้าไปทำร้ายสัตว์ถึงในถิ่นที่อยู่ของพวกมัน ดังเช่นข่าวใหญ่ในเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ย่อมเป็นการละเมิดสิทธิที่สัตว์เหล่านั้นพึงมีอย่างชัดเจน แต่นอกจากการทำอันตรายโดยตรงแล้ว เราทุกคนยังทำร้ายพวกสัตว์และสิ่งมีชีวิตอื่นๆ ในทางอ้อมอยู่ตลอดเวลา โดยที่พวกเราอาจจะไม่เคยฉุกคิดถึงผลกระทบที่เรามีต่อสิ่งมีชีวิตอื่นๆ ที่อยู่ร่วมกับเราในระบบนิเวศของโลกใบนี้ บทความนี้จึงอยากให้จุดเริ่มต้นจากความคับแค้นใจที่พวกเรามีต่อกรณีการฆ่าเสือดำ เก้ง และไก่ฟ้าอย่างทารุณที่เกิดขึ้นถูกขยายผลไปสู่การมองเห็นความเชื่อมโยงระหว่างองค์ประกอบต่างๆ ในระบบนิเวศและความเข้าใจในการรักษาสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน

สิทธิของสัตว์ (Animal Rights)

การมองว่าสัตว์เป็นทรัพย์สินของมนุษย์หรือเป็นสิ่งมีชีวิตที่อยู่ในระดับต่ำกว่า และมนุษย์มีสิทธิจะกระทำการใดใดก็ได้ตามอำเภอใจต่อสัตว์เป็นสิ่งที่หลงเหลือมาจากการวิวัฒนาการทางแนวคิดยุคหนึ่งที่ได้แบ่งแยกสังคมมนุษย์และธรรมชาติออกจากกัน แต่เมื่อแนวคิดเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติเปลี่ยน จึงเกิดการเปลี่ยนมุมมองว่าสัตว์มีสิทธิที่จะได้รับการปฏิบัติอันชอบธรรมจากมนุษย์

ในหลายประเทศการเปลี่ยนแปลงมุมมองต่อสัตว์นี้ได้รับการยอมรับในทางกฎหมาย กรณีของประเทศไทย สิทธิสัตว์ถูกรับรองไว้ในพระราชบัญญัติป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ พ.ศ. 2557 โดยกำหนดไว้ชัดเจนว่า “มาตรา 20 ห้ามมิให้ผู้ใดกระทําการอันเป็นการทารุณกรรมสัตว์โดยไม่มีเหตุอันสมควร” และ “มาตรา 22 เจ้าของสัตว์ต้องดําเนินการจัดสวัสดิภาพสัตว์ให้แก่สัตว์ของตนให้เหมาะสม…” โดยมีการนิยามการกระทำต่างๆ ที่เข้าข่ายทารุณกรรม รวมถึงวิธีการและหลักเกณฑ์ในการจัดสวัสดิภาพของสัตว์ในมาตราอื่นที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้สัตว์ตามกฎหมายฉบับนี้ อยู่ใต้นิยามที่ครอบคลุมสัตว์ที่คาบเกี่ยวสัมพันธ์กับมนุษย์โดยตรง เช่น สัตว์เลี้ยง รวมถึงข้อกำหนดก็ยังเป็นแนวคิดที่มุ่งไปที่การกำหนดกระทำโดยตรงของมนุษย์ที่ละเมิดสิทธิของสัตว์ เช่น ห้ามมิให้ปล่อยปละละเลยสัตว์เลี้ยง หรือห้ามมีให้มีการฆ่าสัตว์โดยทารุณ นอกเหนือไปจากเหตุที่ได้ยกเว้นไว้ในกฎหมาย

นั่นสอดคล้องกับความเข้าใจของคนทั่วไป ที่เมื่อกล่าวถึงสิทธิสัตว์ เรามักคิดไปถึงการลดละเลิกการฆ่าสัตว์ การไม่กินเนื้อสัตว์ การปกป้องสัตว์ในธรรมชาติจากการถูกล่า หรือการห้ามใช้สัตว์เพื่อผลประโยชน์ของมนุษย์ เช่น การนำมาทดลองหรือจัดแสดงทางการค้า รวมไปถึงการดูแลสัตว์เลี้ยงอย่างเหมาะสม ไม่กักขังหรือทำร้าย แต่แท้จริงแล้ว สิทธิสัตว์ควรครอบคลุมสัตว์ในทุกประเภท ไม่เฉพาะแค่สัตว์เลี้ยงหรือสัตว์ที่มนุษย์ให้ความสำคัญ แต่รวมไปถึงแมลง สัตว์รำคาญ และสัตว์ศัตรูพืช และสิทธิสัตว์ควรหมายถึงสิทธิที่สัตว์และสิ่งมีชีวิตทั้งหลายจะได้รับโอกาสในการดำรงชีวิตอย่างปกติในระบบนิเวศที่เหมาะสม มากกว่าที่จะเป็นการควบคุมการกระทำของมนุษย์ต่อสิ่งมีชีวิตอื่น

ลิงชิมแปนซีที่เคยเป็นส่วนหนึ่งในห้องปฏิบัติการที่รัฐ Louisiana, USA ถูกส่งตัวไปยัง Project Chimps สำหรับลิงที่เลิกจากการทดลองแล้ว ซึ่งที่นี่จะเป็นบ้านของพวกมันไปจนวาระสุดท้ายของชีวิต แต่คำถามของความเหมาะสมในการใช้สัตว์เพื่อการทดลองสำหรับมนุษย์ยังคงอยู่
ที่มาภาพ: https://www.nytimes.com/2017/11/07/science/chimps-sanctuaries-research.html?rref=collection%2Ftimestopic%2FCruelty%20to%20Animals&action=click&contentCollection=timestopics&region=stream&module=stream_unit&version=latest&contentPlacement=9&pgtype=collection

เมื่อมนุษย์ลิดรอนสิทธิสัตว์

ดังที่กล่าวมาแล้วว่า แม้สัตว์สำคัญๆ ในชีวิตมนุษย์ เช่น สัตว์เลี้ยงและสัตว์ป่า จะถูกยกระดับจากแค่ทรัพย์สินของมนุษย์มาเป็นสิ่งมีชีวิตที่ต้องการการคุ้มครองและมีสวัสดิการทางกฎหมาย แต่สัตว์และสิ่งมีชีวิตทั้งหมดก็ยังถูกลิดรอนสิทธิโดยมนุษย์อยู่ตลอดเวลา เพราะการกระทำของสิ่งมีชีวิตเพียงกลุ่มเดียวที่ชื่อว่ามนุษย์ทำให้ระบบนิเวศที่เหมาะสมสำหรับสิ่งมีชีวิตทั้งหมดบนโลกใบนี้กำลังเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วจนสัตว์หลายชนิดปรับตัวไม่ทันและสูญพันธ์ลง พวกเราทุกคนกำลังลิดรอนสิทธิในการมีชีวิตของสิ่งมีชีวิตอื่นๆ ทั้งโดยทางตรงและทางอ้อม

การบุกรุกพื้นที่ของสัตว์อื่น

ความต้องการที่ไม่มีที่สิ้นสุดในใช้ทรัพยากรของมนุษย์ แลกมาด้วยการยึดครองพื้นที่บนผิวโลกมากขึ้น เพิ่มการก่อสร้างในพื้นที่ที่เคยเป็นที่อยู่อาศัยของสิ่งมีชีวิตอื่น เช่น การสร้างเขื่อนเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าและเก็บกักน้ำ การสร้างบ้านพักตากอากาศขนาดใหญ่ในพื้นที่ต้นน้ำ การบุกรุกป่าเพื่อขยายพื้นที่เกษตรอุตสาหกรรม หรือแม้แต่การพัฒนาขนาดใหญ่ในพื้นที่ชุ่มน้ำ ล้วนแล้วแต่ส่งผลกระทบถึงสิ่งมีชีวิตอื่นๆ ที่ต้องสูญเสียแหล่งที่อยู่อาศัย แหล่งอาหาร หรืออาณาเขตทางสังคมของสัตว์ เพื่อให้มนุษย์ตอบสนองความต้องการของตนเองในการมีชีวิตอยู่

ภาพคุณสืบ นาคะเสถียร ที่กำลังช่วยเหลือสัตว์ป่าจากการถูกน้ำท่วมเป็นภาพชินตาในสื่อ แต่การจะทำตามแนวทางที่คุณสืบเรียกร้องเพื่อสัตว์ป่าและสิ่งแวดล้อมนั้น กลับไม่ได้รับความสนใจอย่างจริงจัง ที่มาภาพ: https://www.pptvhd36.com/news/ประเด็นร้อน/33751

การขยายขอบเขตพื้นที่อยู่อาศัยและแหล่งหากินเป็นธรรมชาติอย่างหนึ่งของสัตว์ โดยนับรวมถึงมนุษย์ด้วย การปะทะของสัตว์ป่ากับมนุษย์มีให้เห็นอยู่บ่อยครั้งในพื้นที่เกษตรกรรม เช่น กรณีช้างป่ากับเกษตรกรในจังหวัดจันทบุรี การแก้ปัญหาที่อาศัยความเข้าใจในธรรมชาติอาจเป็นวิธีการหนึ่งที่นำมาประยุกต์ใช้ได้ ในกรณีนี้ ชาวบ้านใช้ผึ้งต่อรองกับช้างป่าในการแบ่งพื้นที่หากินระหว่างกัน แต่ก็ยังมีอีกหลายกรณีที่มนุษย์ยึดครองพื้นที่เพิ่มโดยไม่มีเหตุผลสมควร แล้วเปลี่ยนแปลงสภาพพื้นที่ที่เคยมีสิ่งมีชีวิตชนิดอื่นอาศัยอยู่มาก่อนโดยไม่สนใจธรรมชาติแวดล้อม การกระทำเช่นนี้แม้ไม่ทำร้ายสัตว์โดยตรง แต่การเปลี่ยนแปลงของพื้นที่ย่อมส่งผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิตในพื้นที่ใกล้เคียงแน่

กรณีก่อสร้างในเชียงใหม่ที่กำลังเป็นที่วิจารณ์ถึงความเหมาะสมต่อสภาพแวดล้อม ในภาพเป็นโครงการของรัฐ
แต่ยังมีโครงการของเอกชนอีกหลายโครงการที่ไม่คำนึงถึงสภาพแวดล้อม เช่น กรณีบ้านพักต่างๆ ในพื้นที่เขาใหญ่ ที่มาภาพ: http://www.chiangmaiworldheritage.net/detail_show.php?id=146&lang=th

ถนนกับการเข้ามาของสิ่งแปลกปลอม

ถนนกลายเป็นพื้นที่สำคัญของมนุษย์ ที่เป็นอันตรายอย่างยิ่งต่อสิ่งมีชีวิตอื่น เราเห็นซากสุนัขโดนรถชนตายบนท้องถนนอยู่เสมอๆ วัวควายในพื้นที่เกษตรกรรมไม่ได้รับการคุ้มครองจากกฎหมายที่เกี่ยวกับการใช้ทาง นอกจากข่าวการล่าสัตว์ในทุ่งใหญ่นเรศวรแล้ว ในเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมายังมีข่าวช้างป่าได้รับบาดเจ็บจากกรณีถูกรถชนบนถนน 3259 ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤาไน สำหรับสัตว์ใหญ่และมีน้ำหนักมากเช่นช้าง การบาดเจ็บที่ขาอาจหมายถึงการสูญเสียชีวิตได้เลยทีเดียว แม้ว่าเหตุที่เกิดจะถูกอ้างว่าเป็นเหตุสุดวิสัย เนื่องจากช้างวิ่งออกมาจากป่าในระยะกระชั้นชิดจนรถไม่สามารถหยุดได้ทัน แต่หากพิจารณาไปให้ลึกกว่านั้น การเดินทางผ่านป่าควรมีข้อจำกัดในการใช้ความเร็วเช่นเดียวกับการขับรถผ่านชุมชนหรือไม่ เพราะเรากำลังรบกวนระบบนิเวศของสิ่งมีชีวิตกลุ่มหนึ่งที่อยู่มาก่อนที่สิ่งแปลกปลอม เช่น รถยนต์และเครื่องจักรในการควบคุมของมนุษย์จะเกิดขึ้นในพื้นที่

4 ภาพข่าวช้างที่ประสบอุบัติเหตุรถชน ที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤาไน ที่มาภาพ: https://news.thaipbs.or.th/content/270474

ถนนที่ตัดผ่านป่าย่อมนำความสูญเสียมาให้กับระบบนิเวศของป่า ไม่เพียงแต่โอกาสในการปะทะกันระหว่างรถยนต์กับสัตว์ป่าที่นำความสูญเสียมาให้อยู่เสมอๆ แต่ยังหมายถึงการลดขนาดระบบนิเวศลงเป็นผืนเล็กๆ ที่ไม่ติดต่อกันเพราะถูกคั่นด้วยพื้นที่แปลกปลอมอย่างถนนลาดยางหรือคอนกรีต จนทำให้สิ่งมีชีวิตหลายชนิดที่ต้องการพื้นที่หากินขนาดใหญ่ประสบปัญหา เช่น กรณีที่เกิดการคัดค้านการตัดถนนผ่านป่าอุทยานน้ำหนาวเมื่อสองปีที่ผ่านมา ความเข้าใจในระบบนิเวศของสัตว์และถิ่นที่อยู่อาศัยเป็นสิ่งสำคัญที่ต้องพิจารณาเมื่อมีการนำเสนอการก่อสร้างใหม่ที่แปลกปลอมกับพื้นที่ หากผู้บริหารโครงการขาดวิสัยทัศน์เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมก็เป็นที่น่ากังขาถึงการประเมินความเป็นไปได้และผลกระทบของโครงการต่อคุณภาพชีวิตของสัตว์ในพื้นที่

มลพิษ: แสง เสียง หมอกควัน สารเคมี

ผลกระทบจากมลพิษที่มนุษย์สร้างต่อสิ่งมีชีวิตอื่นๆ ถูกกล่าวถึงในวงสนใจแคบๆ เรามักสนใจปัญหาที่เกิดขึ้นกับมนุษย์ด้วยกันก่อน แต่สถานการณ์ของสัตว์ที่ได้รับอันตรายจากมลพิษมีความร้ายแรงสูงกว่ามาก เพราะการเปลี่ยนวิถีชีวิตหรือถิ่นที่อยู่ของสัตว์ถูกจำกัดจากการขยายตัวของถิ่นที่อยู่มนุษย์ไปแล้ว เมื่อมนุษย์ก่อมลพิษเพิ่มไปอีก สิทธิของสัตว์ในระบบนิเวศยิ่งถูกลดทอน

ภาพการแสดงแสงสีของตึกมหานครในการเปิดตัว ได้รับคำชื่นชมอย่างมากถึงความสวยงาม แต่ไม่มีการรายงานผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ที่มาภาพ: http://www.bangkokbiznews.com/news/detail/714889

รายงานจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ชี้ให้เห็นว่าแสงจากกิจกรรมมนุษย์ยามค่ำคืนมีผลทำให้แมลงหลายชนิดตายเป็นปริมาณมาก รวมถึงทำให้ลูกเต่าทะเลหลงทางและเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ แสงที่สว่างเกินไป และส่องขึ้นไปในอากาศ เช่น การแสดงโชว์ที่ใหญ่ที่สุดและสูงที่สุดของประเทศไทยของตึกมหานคร ย่อมมีผลรบกวนการบินของสัตว์ปีกยามค่ำคืน เสียงที่ดังในพื้นที่ป่า เช่น การจัดเทศกาลดนตรีในพื้นที่ใกล้เคียงที่อยู่อาศัยตามธรรมชาติของสัตว์ แน่นอนว่าย่อมต้องเกิดผลกระทบ จากรายงานในวารสารดิจิทัลของมหาวิทยาลัยรังสิต ผลกระทบจากการจัดคอนเสิร์ต Big Mountain Music festival ต่อพื้นที่รอบข้างนั้นเกิดขึ้นอย่างแน่นอน แม้ว่าเจ้าหน้าที่ปฎิบัติการป่าไม้ที่ถูกอ้างถึงในข่าวจะยืนยันว่าพื้นที่ที่จัดงานจะไม่ใช่ “ป่า” และอยู่ห่างถึง 20 กิโลเมตร แต่เสียงเดินทางได้ไกลกว่านั้น และการเดินทางของคนจำนวนมากเข้ามาในพื้นที่ย่อมไม่เป็นผลดีกับระบบนิเวศเป็นแน่

การจัดเทศกาลดนตรีขนาดใหญ่ Big Mountain Music Festival ที่ไม่มีการศึกษาและรายงานผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมข้างเคียง ซึ่งอาจเป็นพื้นที่อนุรักษ์ธรรมชาติ ที่มาภาพ: http://www.jr-rsu.net/article/882

หมอกควันพิษในเมืองอาจทำให้มนุษย์หายใจไม่สะดวกและเจ็บป่วย แต่อากาศที่ไม่สะอาดจากการพัฒนาของเมืองอาจทำให้สัตว์หลายชนิดต้องพิการหรือตาย รวมไปถึงสารพิษอื่นๆ ที่ปนเปื้อนไปในสภาพแวดล้อมอันเป็นแหล่งที่อยู่อาศัย จนทำให้เกิดการสูญเสีย เช่น การปล่อยสารเคมีลงแหล่งน้ำทำให้ปลาหลายชนิดตายก็เกิดขึ้นอยู่บ่อยครั้ง หรือกรณีของแมลง เช่น ผึ้งที่ได้รับผลกระทบจากยาฆ่าแมลงจนใกล้จะสูญพันธุ์

รูปแบบเมืองที่ไม่เป็นมิตรกับสิ่งมีชีวิตอื่น

เราเคยฉุกคิดไหมว่าก่อนที่เราจะสร้างระบบนิเวศของเมืองขึ้นมา ในพื้นที่ตรงนี้ เราเคยอยู่ร่วมกับสิ่งมีชีวิตอื่นๆ ที่ไม่ใช่แค่มนุษย์และสัตว์เลี้ยงมาก่อน แต่ก่อนที่เมืองจะมีสภาพเป็นพื้นที่อยู่อาศัยของสัตว์สายพันธุ์ที่ชื่อว่ามนุษย์เพียงลำพัง เมืองได้เคยเป็นที่อยู่ของสิ่งมีชีวิตอื่นๆ ดังที่ยังปรากฏให้เห็นในชื่อบ้านนามเมืองทุกวันนี้ เช่น บ้านหนองงูเห่า อำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ ที่ทุกวันนี้เรายังพบเห็นงูเห่าได้บ้างแม้จะลดจำนวนลงไปมากแล้ว หรือ อำเภอเขาสวนกวาง จังหวัดขอนแก่น ที่มีที่มาจากความชุกชมของสัตว์จำพวกกวาง เก้ง ละอง ละมั่งในอดีต หรืออำเภอบางปลาม้า จังหวัดสุพรรณบุรี ที่เคยชุกชุมไปด้วยปลาม้า ก่อนที่การพัฒนาที่อยู่อาศัยของมนุษย์จะแย่งชิงสิทธิในการครอบครองอาณาบริเวณของสัตว์ต่างๆ จนพวกมันลดจำนวนลงหรือสูญหายไปจากพื้นที่

แม้สิ่งมีชีวิตหลายชนิดจะปรับตัวเข้ากับการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมได้และมีธรรมชาติที่สอดคล้องไปกับการอยู่อาศัยของคน เช่น หนู นก แมลง สัตว์เลื้อยคลาน หรือสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดเล็ก สัตว์เหล่านี้กลับไม่เป็นที่พึงประสงค์ของมนุษย์ และจะต้องถูกกำจัดให้สิ้นซาก เพราะแนวคิดที่ว่า “เมือง” นั้นเป็นพื้นที่ของ “มนุษย์” และต้องถูกจัดการให้มีระเบียบเรียบร้อยในลักษณะที่มนุษย์ต้องการ สัตว์ที่ปรับตัวแล้วเหล่านี้ไม่มีสิทธิที่จะอยู่อาศัยในพื้นที่พวกมันเองก็เคยเป็นเจ้าของร่วมมาก่อน

ข่าวการพบงูขนาดใหญ่ในพื้นที่ใจกลางเมืองพบได้บ่อยครั้ง ในภาพเป็นงูเหลือมในจังหวัดพิษณุโลก ที่มาภาพ: https://www.matichon.co.th/news/566835

หนังสือเรื่อง Pest in the City ของ Dawn Biehler กล่าวไว้อย่างน่าสนใจว่า …การใช้ยาฆ่าแมลงหรือสารเคมีเพื่อกำจัดสิ่งมีชีวิตไม่พึงประสงค์ในเมือง ที่เรียกว่า “Pest” นี้ เป็นการขีดเส้นแบ่งระหว่างเมืองที่เป็นสิ่งแวดล้อมของมนุษย์กับสัตว์อื่นในธรรมชาติอย่างชัดเจน …และการพยายามที่จะกำจัดพวกมันกลับยิ่งแสดงให้เห็นถึงความล้มเหลวของการพัฒนาเมืองอย่างยั่งยืน (ของประเทศสหรัฐอเมริกา)

การปกป้องสิทธิสัตว์กับความยั่งยืน

เมื่อเราพูดถึงการพัฒนาแบบยั่งยืน เรามักคิดถึงนิยามที่องค์การสหประชาชาติให้ไว้ว่า “Sustainable development has been defined as development that meets the needs of the present without compromising the ability of future generations to meet their own needs.” หรือการพัฒนาที่ตอบสนองความต้องการของคนในปัจจุบันโดยไม่ลดทอนผลประโยชน์ที่คนรุ่นต่อไปพึงจะได้รับเพื่อตอบสนองความต้องการพวกเขา แต่การพัฒนาที่ยั่งยืนอย่างแท้จริงไม่ควรเรียกร้องให้เราคำนึงถึงแต่สังคมมนุษย์เท่านั้น แต่ควรเป็นการเรียกร้องให้มนุษย์มองเห็นตัวเองเป็นส่วนหนึ่งของระบบธรรมชาติ ที่เราไม่ได้มีสิทธิมากไปกว่าสิ่งมีชีวิตอื่น ที่จะใช้ทรัพยากรอันเป็นของส่วนรวม อันจะช่วยให้เราบรรลุเป้าหมายที่ 15 ในเป้าหมายการพัฒนาแห่งสหัสวรรษ กำหนดโดย UNDP ว่าเป็นเรื่องของระบบนิเวศทางบกที่ยั่งยืน

ปัญหาใหญ่ๆ ที่ชัดเจนในภาพข่าว เช่น การเข้าป่าไปล่าสัตว์ของชนชั้นนายทุนที่กุมอำนาจทางเศรษฐกิจและการเมือง ที่นอกจากจะวางตัวอยู่เหนือกฎหมายแล้ว ยังวางตัวอยู่นอกกฎของธรรมชาติ เป็นสิ่งกระตุ้นชั้นดีให้เราหันกลับมาทบทวนถึงความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับสิ่งมีชีวิตอื่นๆ ที่ต้องอยู่ร่วมกันในระบบนิเวศของโลกใบนี้ แต่หากเรายังไม่สำนึกและไม่เริ่มลงมือเปลี่ยนแปลง เราทุกคนก็ไม่ต่างอะไรกับกลุ่มนักล่าสัตว์ ที่ลิดรอนสิทธิของชีวิตอื่นเพียงเพื่อสนองความต้องการของตนเอง