ThaiPublica > คอลัมน์ > การจัดการสิ่งแวดล้อมแบบองค์รวม (ตอนที่ 1): บ้านพักข้าราชการตุลาการ

การจัดการสิ่งแวดล้อมแบบองค์รวม (ตอนที่ 1): บ้านพักข้าราชการตุลาการ

12 พฤษภาคม 2018


ลัษมณ ไมตรีมิตร
นักศึกษาปริญญาเอกทางด้านภูมิสถาปัตยกรรม University of Illinois at Urbana-Champaign

ปัญหาทางสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นอยู่ในขณะนี้ หลายกรณีมีเหตุมาจากการมองพื้นที่ของคนกับพื้นที่ของธรรมชาติแบบแยกส่วนกัน ทั้งยังเข้าใจธรรมชาติในลักษณะที่เป็นวัตถุ (Objective) เช่น เป็นทรัพยากรที่ใช้ประโยชน์ได้ หรือเป็นสิ่งมีค่าที่มนุษย์ต้องปกป้องรักษา ซึ่งวิธีการมองแต่ละแบบกำหนดบทบาทของมนุษย์ในสิ่งแวดล้อมให้แตกต่างกันออกไป

บทความชิ้นนี้เลือกวิเคราะห์ปัญหาสิ่งแวดล้อมจากโครงการการก่อสร้างบ้านพักข้าราชการตุลาการที่กำลังเป็นข่าวดัง เพื่อเป็นกรณีศึกษาถึงแนวคิดต่อธรรมชาติที่แตกต่างกันระหว่างภาครัฐกับภาคประชาชน ซึ่งส่งผลถึงความขัดแย้งในการแก้ปัญหา โดยผู้เขียนนำเสนอตัวอย่างการจัดการสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นในพื้นที่อื่นๆ เพื่อเป็นแนวทางในการพิจารณาปัญหาและหาทางออก ผู้เขียนหวังว่าสิ่งที่เราเรียนรู้จากกรณีที่เกิดขึ้นจะนำไปสู่การจัดการสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืนในอนาคต

พื้นที่ของบ้านพัก vs พื้นที่ของป่า

ถึงแม้ว่าโครงการบ้านพักข้าราชการตุลาการในพื้นที่ป่าบนดอยสุเทพจะเป็นไปตามข้อกำหนดทางกฎหมาย และดำเนินการไปตามกระบวนการออกแบบก่อสร้างเพื่อเป็นที่พักอาศัยของชนชั้นกลางระดับบน แต่ภูมิสถาปัตยกรรมของโครงการ (ระหว่างการก่อสร้าง) ที่แปลกแยกไปจากบริบทรอบข้างที่เป็นป่าต้นน้ำและพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ของเมืองเชียงใหม่ทำให้เกิดคำถามถึงความเหมาะสมของการก่อสร้างนี้ และตามมาด้วยการเรียกร้องจากหลายฝ่ายให้ “รัฐ” ในฐานะเจ้าของโครงการรื้อถอนอาคารเหล่านี้ออกเพื่อรักษาคุณค่าของพื้นที่ทั้งทางด้านวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อม

การจัดวางผังอาคารในโครงการและการจัดสร้างระบบสาธารณูปโภคสำหรับการอยู่อาศัย แสดงให้เห็นว่าโครงการได้รับคำแนะนำหรือการจัดการจากวิชาชีพที่เกี่ยวข้องกับการก่อสร้าง
ที่มาภาพ: https://mgronline.com/onlinesection/detail/9610000035117

เมื่อ “รัฐ” ตอบกลับโดยยืนยันว่า การเปลี่ยนแปลงโครงการบ้านพักของทางราชการนั้นเป็นไปได้ยากเพราะได้ดำเนินการถูกต้องตามระเบียบ รวมถึงแสดงความจำนงในการใช้พื้นที่สำหรับสนองความต้องการใช้สอยขององค์กรตุลาการ คำตอบของ “รัฐ” ชี้ให้เห็นแนวคิดที่ว่า พื้นที่ป่าเป็นทรัพยากรเชิงวัตถุที่ “มนุษย์” มีสิทธิในการเป็นเจ้าของและใช้ประโยชน์ (ในที่นี้คือการนำมาเป็นที่อยู่อาศัยและที่ทำการ) นอกจากนี้ การออกแบบจัดการโครงการในรูปแบบที่รัฐเลือกใช้เป็นการเปลี่ยนพื้นที่ของป่าให้กลายเป็นพื้นที่ของคนอย่างสมบูรณ์ด้วยการสร้างระบบพื้นที่ขึ้นใหม่ ตัดต้นไม้เดิม ปลูกต้นไม้ใหม่ ปรับผิวดิน เปลี่ยนทางระบายน้ำ สร้างสถาปัตยกรรม แยกพื้นที่ออกจากบริบทรอบข้าง ดังที่เห็นได้จากภาพถ่ายทางอากาศที่ปรากฏในสื่อ

เครือข่ายภาคประชาชนที่ออกมาเคลื่อนไหว ยืนยันความจำเป็นที่ที่ดินผืนนี้ต้องกลับเป็นของป่า ไม่ว่าจะเป็นนักวิชาการทางสิ่งแวดล้อมที่มองพื้นที่โครงการเป็นส่วนหนึ่งของผืนป่ารอบข้างที่สมควรได้รับการ “อนุรักษ์” ไว้เพื่อรักษาระบบธรรมชาติ ชุมชนชาวเชียงใหม่และนักวิชาการทางสังคมและมานุษยวิทยากังวลว่าการเปลี่ยนป่าเป็นที่อยู่อาศัยจะเป็นการลดคุณค่าทางวัฒนธรรมของพื้นที่เพราะพื้นที่ธรรมชาติบนดอยสุเทพได้รับยกย่องเป็นพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ของเมืองเชียงใหม่ ส่วนกรรมาธิการสถาปนิกผังเมือง (ไทย) ล้านนา และกรรมาธิการสถาปนิกล้านนาเพิ่มเติมในส่วนของคุณค่าทางภูมิทัศน์และประวัติศาสตร์ของเมือง ที่สัมพันธ์กับการรักษาพื้นที่ป่าอันเป็นส่วนหนึ่งของอัตลักษณ์ความเป็นเมืองเชียงใหม่

ความคิดเห็นในการจัดการพื้นที่ของทั้งสองฝ่ายตั้งอยู่บนมุมมองต่อพื้นที่ธรรมชาติกับพื้นที่ใช้สอยของมนุษย์ที่แยกออกเป็นข้อขัดแย้งแบบขั้วตรงข้าม (Dichotomy) ทำให้การจำกัดความพื้นที่ที่ต้องเลือกเป็นอย่างใดอย่างหนึ่ง (Either-or Fallacy) คือ ป่าหรือบ้าน เมื่อไม่อาจเป็นสองอย่างพร้อมๆ กันและต่างฝ่ายต่างต้องการรักษา “พื้นที่” ภายใต้แนวคิดของตน จึงไม่เกิดทางออกที่เป็นไปได้ และตามมาด้วยการยกเอาการ “รื้อ-ไม่รื้อ” มาเป็นประเด็นในการแย่งชิงพื้นที่ระหว่างกัน

ชัยชนะของเครือข่ายภาคประชาชน?

แม้การตกลงระหว่างภาครัฐและเครือข่ายภาคประชาชนจะได้ข้อสรุปแล้วว่ารัฐยอมคืนที่ดินเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูเป็นป่าและยืนยันว่าจะไม่มีการอยู่อาศัยในพื้นที่ แต่ทางออกของปัญหายังไม่มีภาพที่ชัดเจน ส่วนหนึ่งเป็นเพราะตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา การเรียกร้องที่เห็นผ่านสื่อมุ่งประเด็นไปที่การเมืองระหว่างรัฐกับประชาชนในการ “รื้อหรือไม่รื้อ” แต่กลับไม่ให้ความสำคัญกับแนวทางในการจัดการพื้นที่ที่อยู่บนพื้นฐานของผลประโยชน์ต่อสิ่งแวดล้อมและวัฒนธรรม

การยินยอมคืนพื้นที่ให้กับ “ป่า” แต่ขอให้การก่อสร้างตามสัญญากับเอกชนแล้วเสร็จก่อน เป็นการเคลื่อนไหวที่ชาญฉลาดของรัฐ ในเมื่อฝ่ายสนับสนุนการคืนพื้นที่ให้กับธรรมชาติและวัฒนธรรมยังไม่มีการออกแบบแผนฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมมารองรับข้อเรียกร้อง รัฐจึงยืนยันการดำเนินการภายใต้แนวความคิดว่าพื้นที่เป็นทรัพยากรทางกายภาพและปฏิเสธการตัดสินใจเรื่องการรื้อถอนในทางอ้อม หลังจากนี้การตัดสินใจดำเนินการฟื้นฟูพื้นที่จะเป็นของเครือข่ายภาคประชาชน เพื่อพิสูจน์ว่าแนวคิดในการจัดการสิ่งแวดล้อมที่คำนึงถึงธรรมชาติและวัฒนธรรมนั้นมีความยั่งยืนกว่าแนวคิดที่รัฐมีต่อทรัพยากร

รื้อ-ไม่รื้อ กับทางเลือกของทางออก

การตัดสินใจรื้อหรือไม่รื้อสิ่งก่อสร้างอาจเป็นการตัดสินใจที่ยากที่สุดในการฟื้นฟูพื้นที่บ้านพักข้าราชการศาลตุลาการ เพราะหลังโครงการเสร็จสิ้นพื้นที่จะถูกเปลี่ยนจนไม่เหลือเค้าเดิมและเต็มไปด้วยสิ่งก่อสร้าง การรื้อถอนอาจเป็นการเพิ่มผลกระทบต่อธรรมชาติแทนที่จะเป็นการลดผลกระทบอย่างที่หลายฝ่ายคาดหวัง การพิจารณาผลกระทบของการรื้อถอนควรต้องทำก่อนเป็นลำดับแรก

ผลกระทบของการรื้อ-ไม่รื้อ

ข่าวการรื้อถอนบ้านพักที่บุกรุกป่าสงวนหลายกรณีที่ผ่านมา มักดำเนินการโดยไม่คำนึงถึงผลกระทบต่อธรรมชาติ จึงเป็นเพียงการทำลายอาคารที่ผิดกฎหมายโดยไม่คำนึงถึงการฟื้นฟูธรรมชาติของพื้นที่ นี่เป็นข้อผิดพลาดของการรื้อถอนที่สร้างความกังวลใจให้กับข้อเสนอรื้อถอนในโครงการนี้ เพราะการรื้อถอนไม่ใช่กระบวนการย้อนกลับไปสู่ความเป็นธรรมชาติ และการรื้อถอนก็เช่นเดียวกับการก่อสร้างที่จำเป็นต้องมีการออกแบบกระบวนการที่เหมาะสมเพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม แม้ผลลัพธ์ของการรื้อถอนจะไม่เห็นเป็นตัววัตถุตัวอาคาร แต่การหายไปของอาคารหลังหนึ่งย่อมส่งผลถึงธรรมชาติของพื้นที่เช่นเดียวกับการเพิ่มมาของอาคารหนึ่งหลัง

การรื้อบ้านพักที่บุกรุกป่าสงวนในหลายพื้นที่ที่ผ่านมา ทำให้เกิดความกังวลถึงวิธีการรื้อถอนและขั้นตอนการดำเนินงาน รวมถึงความเข้าใจในกระบวนการการรื้อถอนเพื่อฟื้นฟูสภาพธรรมชาติพื้นที่ (ในภาพเป็นการรื้อรีสอร์ทบุกรุกป่าเขาใหญ่ในพื้นที่เขตปราจีนบุรี) ที่มาภาพ: https://www.thairath.co.th/content/458261

ยิ่งในกรณีที่สิ่งก่อสร้างอยู่ในพื้นที่เป็นระยะเวลานานจนธรรมชาติรอบข้างได้ปรับสมดุลสิ่งแวดล้อมโดยรวมเอาสิ่งก่อสร้างนั้นเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของระบบแล้ว การรื้อถอนยิ่งต้องมีการพิจารณาถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นในลักษณะเดียวกับการประเมินผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมของโครงการก่อสร้าง (EIA) ตัวอย่างที่ชัดเจน คือ การตัดสินใจรื้อทำลายเขื่อน O’Shaughnessy Dam ตั้งอยู่ที่ Hetch Hetchy Valley ใน Yosemite National Park รัฐ California ประเทศสหรัฐอเมริกา ที่หมดประโยชน์ใช้สอยในฐานะเขื่อนกักเก็บน้ำใช้สำหรับเมือง San Francisco และบริเวณโดยรอบแล้ว การรื้อ-ไม่รื้อเขื่อนแห่งนี้กลายเป็นข้อถกเถียงรุนแรงถึงผลกระทบและความเหมาะสมของการรื้อ แม้สุดท้ายการตัดสินใจจะจบลงที่การรื้อ แต่ก็เป็นการรื้อเพียงส่วนที่จำเป็นเพื่อคืนธรรมชาติสู่สมดุลระยะยาว และเป็นการตัดสินใจภายใต้การศึกษาอย่างละเอียดรอบคอบถึงผลกระทบของการรื้อที่อาจเกิดขึ้น

ภาพเขื่อน O’Shaughnessy ที่กั้น Hetch Hetch Resevoir ที่อยู่ในขั้นตอนวิเคราะห์การศึกษาผลกระทบของการรื้อถอนตามข้อเรียกร้องให้ทำลายเขื่อนและฟื้นฟูธรรมชาติ
ที่มาภาพ: https://www.hetchhetchy.org/legal_campaign_update

หากจะรื้อถอนบ้านพักศาล การดำเนินการจะเริ่มหลังจากการก่อสร้างแล้วเสร็จตามข้อตกลง พื้นที่ที่บอบช้ำจากผลของการออกแบบและการก่อสร้างและยังไม่สามารถปรับตัวเข้าสู่สมดุลจะต้องรับการเปลี่ยนแปลงอีกครั้งจากกระบวนการรื้อถอน จึงเกิดคำถามที่ว่า “เป็นไปได้ไหมถ้าไม่รื้อ?”

ถ้าไม่รื้อ…

เมื่อการรื้อถอนอาจสร้างเพิ่มปัญหาให้กับสภาพแวดล้อมโดยรวม ความเป็นไปได้ของการเก็บสิ่งก่อสร้างทั้งหมดหรือบางส่วนไว้แล้วรื้อเท่าที่จำเป็นอาจเป็นทางเลือกที่น่าสนใจ แต่ทั้งนี้ต้องได้รับการประเมินถึงภูมิทัศน์ของพื้นที่โดยรวม เพราะนอกจากคุณค่าทางสิ่งแวดล้อมแล้วการปรากฏตัวของโครงการบ้านพักอาศัยที่ไม่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกับสภาพแวดล้อมของดอยสุเทพยังส่งผลถึงคุณค่าทางภูมิทัศน์วัฒนธรรมของเมืองเชียงใหม่ตามที่ได้รับการประเมินจากสมาคมสถาปนิกผังเมือง (ไทย) ล้านนาและสถาปนิกล้านนา

ภาพตัวอย่างของโครงการก่อสร้างที่ถูกทิ้งร้างมีอยู่มากมาย ดังเช่น โครงการ Habitat Puerto Rico โดยสถาปนิก Moshe Safdie ที่ถูกทิ้งร้างหลังโครงการประสบปัญหาทางเศรษฐกิจ ในนิทรรศการงานศิลปะสื่อผสมชื่อ “In the Forest” ของศิลปิน David Hartt ที่เป็นส่วนหนึ่งของงานนิทรรศการ Chicago Architecture Biennial 2018 แนวคิดโครงการ Habitat นี้ถูกหยิบยืมจากประเทศ Canada ในบริบทหนึ่งเพื่อมาจัดวางลงในอีกบริบทของประเทศ Puerto Rico ความแตกต่างทางสังคมและเศรษฐกิจทำให้โครงการต้องยุติหลังเริ่มก่อสร้างไปได้เพียง 3 ปี เมื่อระยะเวลาผ่านไปเกือบ 50 ปี ชิ้นส่วนของสถาปัตยกรรมที่ไม่อาจปรับตัวเข้ากับบริบทรอบข้างกลายเป็นส่วนหนึ่งของภูมิทัศน์วัฒนธรรมของเมือง Carolina สะท้อนภาพอดีตที่ผ่านมาช่วงหนึ่งของประเทศ Puerto Rico

ภาพจากนิทรรศการ “In the Forest” โดยศิลปิน David Hartt แสดงชิ้นส่วนของการก่อสร้าง Habitat Puerto Rico โดย Moshe Safdie ที่ถูกทิ้งร้างและกลายเป็นส่วนหนึ่งของ Landscape ที่มาภาพ: http://grahamfoundation.org/system/grants/press/547/original/GF_Studio_International_20171031.pdf

บ้านที่ไม่ได้ถูกใช้งานเป็นบ้านจะกลายเป็นขยะชิ้นใหญ่เกินกว่าจะขนย้ายออกนอกพื้นที่ได้ และอาจสร้างปัญหาในเรื่องคุณภาพของสิ่งแวดล้อมกับภูมิทัศน์ทางวัฒนธรรมของเมืองเชียงใหม่ คำถามที่ต้องตอบหากไม่รื้อ คือ เราควรจัดการอย่างไรกับซากสถาปัตยกรรมเหล่านี้?

ความเป็นไปได้ของการอยู่อาศัยร่วมกับธรรมชาติ

ในการจัดการสิ่งแวดล้อมในปัจจุบัน แนวคิดการอยู่ร่วมกันของคนกับธรรมชาติเป็นความยั่งยืน การอยู่อาศัยในสิ่งแวดล้อมที่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกับระบบนิเวศอาจเป็นไปได้ แต่การให้สัมภาษณ์จากผู้เกี่ยวข้องกับโครงการบ้านพักศาลที่ว่า “…อย่าเพิ่งรื้อ ให้ศาลอยู่ก่อน แล้วก็ให้ศาลปรับปรุงระบบสิ่งแวดล้อมทั้งปวง จนกระทั่งอีก 10 ปี มาดูกันว่า ศาลสามารถปรับปรุงบริเวณที่ทำการของศาลรวมทั้งบ้านพักให้มีสภาพเหมือน—ให้มีสภาพป่าได้ไหม” ตอกย้ำความหมายของ “ป่า” ในมุมมองของศาลว่าเป็นเพียงลักษณะอย่างหนึ่งของสิ่งแวดล้อม ป่าที่ศาลกล่าวอ้างว่าจะกลับมาในอีก 10 ปี เป็นเพียงพื้นที่ที่มีสีเขียวของต้นไม้ (เป็นความหมายเดียวกับพื้นที่สีเขียวที่ทาง กทม. บอกว่าจะจัดสร้างหลังการรื้อถอนชุมชนป้อมมหากาฬ ในคำจำกัดความว่าสวนสาธารณะ) แต่ไม่ใช่ “ป่า” ที่เป็นกระบวนการที่เกิดขึ้นและดำเนินต่อไปอย่างไม่สิ้นสุดภายใต้ระบบของธรรมชาติ หากศาลยังมีมุมมองต่อป่าในลักษณะนี้ การจะให้ศาลเป็นผู้อยู่อาศัยเพื่อฟื้นฟูป่านั้นเป็นไปได้ยาก

นอกจากนี้ การเปลี่ยนแปลงสภาพพื้นที่ในระหว่างการก่อสร้างโครงการแสดงให้เห็นแล้วว่า การอยู่อาศัยที่ศาลวางแผนไว้อยู่ภายใต้ระบบสิ่งแวดล้อมอีกแบบ การตัดสินใจว่าจะไม่มีการอยู่อาศัยของข้าราชการศาลจึงนับเป็นสิ่งที่ถูกต้องแล้วหากพิจารณาประโยชน์ของการฟื้นฟูธรรมชาติเป็นสำคัญ แต่หากมีผู้อยู่อาศัยที่ยินยอมปรับตัวเข้าเป็นส่วนหนึ่งของระบบธรรมชาติ การใช้งานสถาปัตยกรรมตามที่ถูกออกแบบมาเป็นบ้านจะเกิดขึ้นได้ไหม?

การอยู่ร่วมกับป่าเป็นวิถีชีวิตรูปแบบหนึ่งที่เกิดจากการเรียนรู้ ข้าราชการที่ที่ไม่มีความเข้าใจในแนวคิดนี้ไม่อาจเสนอตัวว่าจะอยู่ร่วมกับพื้นที่เพื่อฟื้นฟูป่า ในภาพเป็นชาวปกาเกอะญอผู้มีวิถีชีวิตผูกพันเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับธรรมชาติ ที่มาภาพ: http://www.chiangmainews.co.th/page/archives/626038

การแก้ปัญหาด้วยการออกแบบทางภูมิสถาปัตยกรรม

คำถามที่ทิ้งท้ายไว้ในแต่ละหัวข้อถูกนำมาพิจารณาในมุมมองทางภูมิสถาปัตยกรรม ที่พยายามหาทางออกของปัญหาที่ไม่ใช่ทั้งการรื้อและการไม่รื้อ แต่เป็นการสร้างพื้นที่ที่คนและธรรมชาติสามารถอยู่ร่วมกันได้ แนวคิดการจัดการสิ่งแวดล้อมแบบองค์รวมที่กำลังเป็นที่จับตามองอยู่ในขณะนี้ พยายามทำความเข้าใจความสัมพันธ์ที่มนุษย์ (Humans) มีต่อธรรมชาติ (Nature) ภายใต้กระบวนทัศน์แบบนิเวศวิทยา (Ecological Paradigm) โดยสนใจความเชื่อมโยงของทุกองค์ประกอบในลักษณะเป็นองค์รวม (Holistic Approach) ความคาดหวังคือแนวคิดนี้จะเป็นทางออกให้การอนุรักษ์และการพัฒนาที่มักจบลงที่ความขัดแย้ง ทั้งๆ ที่ต่างฝ่ายต่างคาดหวังถึงสิ่งแวดล้อมและคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

งานออกแบบทางภูมิสถาปัตยกรรมเพื่อการฟื้นฟูระบบธรรมชาติของพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากกิจกรรมมนุษย์หลายชิ้น ถูกออกแบบภายใต้สิ่งแวดล้อมที่มีคนเป็นส่วนหนึ่งในของธรรมชาติ เช่น งานออกแบบ Long Dock Park ที่เมือง Beacon, New York โดยสำนักงานออกแบบภูมิสถาปัตยกรรม Reed Hilderbrand ประเทศสหรัฐอเมริกา ภูมิสถาปนิกเปลี่ยนที่ดินที่เคยเป็นเขตอุตสาหกรรมให้กลายเป็นส่วนหนึ่งของระบบนิเวศเขตริมตลิ่งของแม่น้ำ Hudson ในรัฐ New York ภายใต้แนวคิดเดียวกันนี้ ภูมิสถาปนิกของ Turenscape (Beijing Turen Design Institute) and Peking University Graduate School of Landscape Architecture เปลี่ยนพื้นที่ทิ้งขยะริมลำน้ำ Tanghe เมือง Qinhuangdao ในประเทศจีน ให้เป็นพื้นที่ฟื้นฟูระบบนิเวศเขตริมตลิ่งในชื่อ The Red Ribbon – Tanghe River Park ทั้งสองโครงการได้รับนิยามว่าเป็น Park หรือสวนสาธารณะ เพราะในขณะที่เป้าหมายของการออกแบบคือการฟื้นฟูระบบนิเวศของธรรมชาติที่ถูกทำลายไป พื้นที่เดียวกันก็ถูกออกแบบเพื่อเป็นพื้นที่กิจกรรมสันทนาการของประชาชนโดยรอบ

ภาพก่อนและหลังของพื้นที่โครงการ Long Dock Park ที่มาภาพ: http://www.reedhilderbrand.com/works/long_dock_park?c=park
พื้นที่ของ The Red Ribbon – Tanghe River Park เคยเป็นพื้นที่ทิ้งขยะของชุมชนมาก่อน ก่อนที่จะมีการฟื้นฟูธรรมชาติภายใต้แนวคิดที่ผสานพื้นที่กิจกรรมสันทนาการเข้ากับพื้นที่เพื่อการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ที่มาภาพ: https://www.asla.org/sustainablelandscapes/redribbon.html

การฟื้นฟูพื้นที่เพื่อให้กลับเป็นป่าไม้ที่สมบูรณ์ตามที่นักวิชาการทางสิ่งแวดล้อมเสนออาจเป็นทางเลือกที่โลกกำลังต้องการสูงสุด แต่กระบวนการย้อนกลับของความเป็นป่าไม่ได้ง่ายเพียงการรื้อถอน “หลักฐาน” ที่แสดงออกถึงการมีอยู่ของมนุษย์ในพื้นที่ออกไปเมื่อพื้นที่ธรรมชาติที่ไม่ถูกรบกวนโดยมนุษย์ไม่มีอยู่จริง เป็นไปได้ไหมว่า เราจะออกแบบพื้นที่ที่ทั้งมนุษย์กับธรรมชาติอยู่ร่วมกันเพื่อช่วยกันฟื้นฟูระบบสิ่งแวดล้อมที่เป็นมิตรกับทั้งสองฝ่ายขึ้น ให้เป็นทั้งการอนุรักษ์ความสำคัญของสิ่งแวดล้อมและพัฒนาแนวคิดที่ยั่งยืนของการอยู่อาศัยในธรรมชาติในอนาคต

บทส่งท้าย

ผู้เขียนสนับสนุนการตัดสินใจของรัฐในการยินยอมยกพื้นที่นี้เพื่อประโยชน์ในการอนุรักษ์ธรรมชาติและวัฒนธรรม แต่ผู้เขียนมีข้อท้วงติงถึงขั้นตอนการดำเนินงาน โดยเห็นว่า ควรพักการก่อสร้างและวางแผนการจัดการสิ่งแวดล้อมเพื่อฟื้นฟูระบบนิเวศของพื้นที่ที่เป็นไปได้ก่อน แล้วจึงดำเนินการต่อตามแผนที่ได้ออกแบบไว้ ซึ่งโครงการอาจพัฒนาเป็นที่อยู่อาศัยตามกรรมสิทธิ์หรือเปลี่ยนเป็นพื้นที่สาธารณะในรูปแบบอื่น เช่น บ้านพักของกรมอุทยาน พื้นที่ป่าฟื้นฟู หรือสวนสาธารณะของประชาชนชาวเชียงใหม่ แต่ต้องอยู่ภายใต้แนวคิดที่ให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมแบบองค์รวมโดยคำนึงถึงประโยชน์ของธรรมชาติและวัฒนธรรม

ที่สำคัญที่สุด เมื่อปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นนั้นเกิดจากแนวความคิด การแก้ปัญหาที่ยั่งยืนจะต้องเริ่มต้นที่การปรับเปลี่ยนมุมมองใหม่ ประการแรก เราควรมองเห็นสิ่งแวดล้อมในลักษณะเป็นองค์รวมภายใต้ระบบที่เกี่ยวข้องสัมพันธ์กัน ทุกการกระทำที่เกิดขึ้นในสิ่งแวดล้อมล้วนส่งผลถึงกันและกัน เช่น การปรับหน้าดินในที่ของตัวเองย่อมส่งผลกระทบถึงการไหลของน้ำในพื้นที่ส่วนรวม การออกแบบสถานที่พักตากอากาศในบริเวณใกล้เคียงพื้นที่ป่าธรรมชาติควรคำนึงถึงการแพร่กระจายของพืชประดับตกแต่งที่นำเข้ามาจากต่างถิ่นไปสู่ธรรมชาติรอบข้าง และกรณีการก่อสร้างบ้านพักศาลที่ขัดกับบริบทไม่ใช่เพียงกรณีเดียวที่เกิดขึ้น การออกแบบก่อสร้างโครงการต่างๆ อีกเป็นจำนวนมากทั้งของภาครัฐและเอกชนละเลยความสำคัญของระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อมที่อยู่นอกขอบเขตที่ดินโครงการ เราควรเรียนรู้จากเหตุการณ์ในครั้งนี้เพื่อจะไม่ทำผิดพลาดซ้ำอีกในอนาคต

การมองความสัมพันธ์ของสิ่งแวดล้อมทั้งระบบที่รวมกิจกรรมและพื้นที่ของคนเข้าเป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ เป็นแนวคิดทางภูมิสถาปัตยกรรมที่คาดหวังถึงการจัดการสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน ในภาพเป็นโครงการฟื้นฟูระบบนิเวศชายฝั่งของ Bay Area รัฐ California โดยสำนักงานภูมิสถาปนิก SCAPE ประเทศสหรัฐอเมริกาที่ศึกษาระบบตะกอนชายฝั่งตั้งแต่ที่มาจากภูเขา
ที่มาภาพ: https://www.scapestudio.com/projects/public-sediment-resilient-design-challenge/

ประการต่อมา เราควรเลิกมองเห็นธรรมชาติเป็นเพียงพื้นที่รับใช้ความต้องการของมนุษย์ การเปลี่ยนพื้นที่ป่าเป็นที่อยู่อาศัยด้วยเหตุผลแค่ว่าเราต้องการพื้นที่ใช้งานเพิ่มเป็นความคิดที่ล้าสมัยและต้องเปลี่ยนแปลง

และประการสุดท้าย มนุษย์กับธรรมชาติไม่ได้ยืนอยู่บนปลายทางของความขัดแย้งระหว่างสองขั้ว แต่เรายืนอยู่บนเส้นความสัมพันธ์เส้นหนึ่งโดยรักษาความสมดุลระหว่างกัน เราเรียนรู้ว่าพื้นที่ของป่ากับพื้นที่ของคนไม่ใช่สิ่งตรงข้าม แต่เป็นความสัมพันธ์ที่ถ้อยทีถ้อยอาศัย ทำอย่างไรเราจึงจะเปลี่ยนการอยู่อาศัยของมนุษย์ให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกับสิ่งแวดล้อมโดยไม่ทำลายธรรมชาติเป็นคำถามที่ถูกถามซ้ำแล้วซ้ำเล่า

และผู้เขียนหวังว่าเหตุการณ์การสร้างบ้านพักข้าราชการในพื้นที่ป่าดอยสุเทพจะช่วยจุดประกายให้ทุกคนหันกลับมาตอบคำถามนี้อย่างจริงจัง