ThaiPublica > คอลัมน์ > สถาปัตยกรรมไทยในกระแสสังคม

สถาปัตยกรรมไทยในกระแสสังคม

30 ตุลาคม 2017


ลัษมณ ไมตรีมิตร
สถาปัตยกรรมศาสตร์บัณฑิต (สถาปัตยกรรมไทย) มหาวิทยาลัยศิลปากร
นักศึกษาปริญญาเอกทางภูมิสถาปัตยกรรม University of Illinois at Urbana-Champaign

คำครูเรื่องลำดับศักดิ์และฐานันดรของงานศิลปะสถาปัตยกรรมไทยดังก้องอยู่ในหัว เมื่อได้ยลพระเมรุมาศที่ยิ่งใหญ่สมพระเกียรติพร้อมริ้วขบวนพระบรมราชอิสริยยศผ่านทางการถ่ายทอดสด ยิ่งตอกย้ำในความหมายที่ว่า ศิลปะสถาปัตยกรรมไทยนั้น มิอาจประเมินค่าด้วยเหตุและปัจจัยของเงินตราตามกระแสการเปลี่ยนแปลงทางโลกเศรษฐกิจ ทั้งยังไม่สมควรอย่างยิ่งที่จะตกเป็นเพียงเครื่องมือของความขัดแย้งอันเกิดมาจากมุมมองภายใต้โลกทัศน์ที่แตกต่าง

พระเมรุมาศพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช
ที่มาภาพ: http://www.kingrama9.net/PhotoGallery/Detail/33#lg=1&slide=1

มูลค่าของงานศิลปะไทยที่ต่างจากศิลปะตะวันตก

ก่อนที่คุณค่าของงานสร้างสรรค์จะถูกประเมินด้วยตัวเลขของสกุลเงินอย่างทุกวันนี้ งานสร้างสรรค์เคยมีความหมายที่หลากหลาย ส่วนหนึ่งผูกพันอยู่กับความเชื่อทางสังคม อีกส่วนหนึ่งเป็นคุณค่าต่อจิตใจในระดับบุคคล งานสร้างสรรค์ทั้งหมดล้วนแต่ถูกสร้างขึ้นภายใต้คุณค่าที่ไม่ได้ผูกพันอยู่กับราคา (Financial price) ดังที่เราเข้าใจกันอยู่ในปัจจุบัน

การใช้ค่าของเงินตราเพื่อวัดคุณค่าทางการตลาดของงานศิลปะ (Market value) เป็นปัญหาของการประเมินผลงานการสร้างสรรค์ที่มีมายาวนานในโลกตะวันตก การให้ความหมายศิลปะเป็นวัตถุที่แสดงออกถึงความร่ำรวย เกิดการสะสมชิ้นผลงานและการทำกำไรจากงานสร้างสรรค์ ได้พัฒนาต่อมาเป็นตลาดงานศิลปะ (Art Market) และการประมูลผลงานศิลปะ (Art Auction) ที่ก่อให้เกิดปัญหาในการชื่นชมคุณค่าที่แท้จริงของงานศิลปะมาจนทุกวันนี้ งานศิลปะกลายเป็นวัตถุที่แสดงออกถึงความมั่งคั่ง และการครอบครองผลงานศิลปะเป็นการแสดงออกซึ่งความหรูหรา ในโลกตะวันตก ความยึดติดกับคุณค่าที่ประเมินด้วยตัวเลขนี้ทำให้การสะสมผลงานศิลปะจำนวนมหาศาลของราชวงศ์ฝรั่งเศสนำไปสู่การเคลื่อนไหวและการปฏิวัติล้มล้างความเหลื่อมล้ำทางชนชั้นมาแล้ว

ภาพการประมูลภาพศิลปะในตลาดศิลปะที่มีชื่อเสียงในประเทศสหรัฐอเมริกา
ที่มาภาพ: http://www.christies.com/sales/post-war-contemporary-2013/index.aspx

แต่พื้นฐานที่ต่างกันของพัฒนาการทางสังคมในโลกตะวันตกกับในประเทศไทย ทำให้การตีความคุณค่าและความหมายของศิลปะระหว่างสองพื้นที่นี้แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง มิติของความร่ำรวยจากการครอบครองผลงานศิลปะในแบบที่โลกตะวันตกให้ความหมายนั้น ไม่อาจอธิบายคุณค่าและการสร้างงานศิลปะไทยที่อาจดูหรูหราได้อย่างเหมาะสม

ในโลกของงานศิลปะไทยนั้น ผลงานการสร้างสรรค์ยังคงเป็นสิ่งซึ่งถูกยกไว้แทนคุณค่าทางจิตใจและสะท้อนโลกทัศน์ทางสังคม งานศิลปะไทยในทุกแขนง ทั้งงานประติมากรรม จิตรกรรม และสถาปัตยกรรม เป็นตัวแทนของความเชื่อทางวัฒนธรรม (Symbolic representation) อันเป็นผลของพัฒนาการทางสังคมที่ไม่ถูกแทรกแซงด้วยปัจจัยทางการตลาดอันเกิดจากการปฏิวัติทางสังคมและความเชื่อไปสู่ยุคสมัยใหม่ในโลกตะวันตก บทความชิ้นนี้จะยกตัวอย่างการจัดสร้างพระเมรุมาศที่ได้ทำให้ศิลปะไทยหลากหลายแขนงปรากฏเป็นที่ประจักษ์แก่สายตาชาวโลก และก่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนความคิดกันอย่างกว้างขวาง โดยบทความนี้มีจุดประสงค์ที่จะนำเสนอมุมมองจากการวิเคราะห์คุณค่าของงานสถาปัตยกรรมไทยในกระแสการเปลี่ยนแปลงทางสังคม

การก่อสร้างสถาปัตยกรรมไทยที่มีระเบียบแบบแผน

การก่อสร้างสถาปัตยกรรมไทยนั้นไม่ใช่แค่การก่อสร้างทั่วไปที่ต้องการผลลัพธ์เป็นเพียงอาคารหนึ่งหลัง แต่เป็นการก่อรูปทางสถาปัตยกรรมที่ออกแบบที่ว่างตามความเชื่อ ผสมผสานกับการใช้งานจริงของมนุษย์ หากยกตัวอย่าง “งานออกแบบสถาปัตยกรรมพระเมรุมาศและพื้นที่โดยรอบ” ภายใต้การใช้งานใน “พระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ” อันเป็นพิธีกรรมหรือกิจกรรมทางสังคมที่มีระเบียบแบบแผนในระดับที่สูงไปกว่ากิจกรรมมนุษย์ตามสัญชาตญาณการเอาตัวรอด จะเห็นความสามารถในการถ่ายทอดความเชื่อไปสู่การสร้างงานศิลปะไทยได้อย่างชัดเจน

สถาปัตยกรรมพระเมรุมาศถูกออกแบบให้สร้างอิทธิพลครอบคลุมพื้นที่ขนาดใหญ่นับรวมพระบรมมหาราชวังอันเป็นเสมือนที่สถิตของกษัตริย์ผู้เป็นอวตารของเทพเจ้าตามความเชื่อของสังคมไทย และทุ่งพระสุเมรุหรือท้องสนามหลวงที่เป็นพื้นที่พิเศษในสังคมไทย ที่แปรรูปไปมาระหว่างพื้นที่ใช้งานสาธารณะกับพื้นที่ทางความเชื่อ

นอกจากนี้แล้ว การออกแบบยังต้องการให้ส่งผลถึงความรู้สึกในจิตใจของคนจำนวนมาก นี่เป็นเหตุผลสำคัญข้อหนึ่งที่ทำให้ขนาดของงานสถาปัตยกรรมมีลักษณะใหญ่โต (Overscale) แต่ทั้งหมดนี้ จะต้องดำเนินไปภายใต้คติจักรวาลอันเป็นรากฐานของสังคมไทย ซึ่งคติจักรวาลนี้ไม่เพียงแต่ใช้ในการออกแบบพระเมรุมาศเท่านั้น แต่ยังได้แทรกซึมไปในการจัดการพื้นที่หลากรูปแบบ เช่น การจัดการผังเมืองและสิ่งแวดล้อมของเมืองในอดีต เป็นต้นว่าการสร้างคลองหรือแบ่งเขตที่อยู่อาศัย หากเปรียบกับในสมัยปัจจุบัน ก็คือแนวคิดที่ส่งผลครอบคลุมถึงนโยบายต่าง ๆ

การออกแบบวางผังพระเมรุมาศที่ถ่ายทอดคติจักรวาลลงบนพื้นที่ของใจกลางเมืองกรุงเทพ?
ที่มาภาพ: http://www.kingrama9.net/Crematory/Detail/9

สิ่งสำคัญยิ่งในตัวงานสถาปัตยกรรมไทยนอกไปจากคติแล้ว คือลำดับศักดิ์และฐานะขององค์ประกอบ ที่ต้องสอดคล้องกันทั้งรูปแบบการก่อสร้าง รูปทรง ไปจนถึงลวดลายประดับตกแต่งและวัสดุที่ใช้ งบประมาณที่ใช้ไปในงานก่อสร้างสถาปัตยกรรมไทยจึงมักสูงกว่าอาคารทั่วไป ราคาของวัสดุและการจัดการก่อสร้างสิ่งที่เป็นมรดกทางวัฒนธรรม (Heritage) แตกต่างจากสิ่งก่อสร้างในชีวิตประจำวัน รวมถึงวัสดุที่ไม่ได้เป็นสิ่งสามัญจากการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (Industrial object) แต่เป็นผลงานประดิษฐ์ของช่างฝีมือ (Art and craft) อาจทำให้มูลค่าของการก่อสร้าง (Construction price) สูงอย่างน่าตกใจ นี่ยังไม่นับถึงคุณค่าของฝีมือที่ไม่อาจประมาณเป็นตัวเลขทางเศรษฐกิจได้ แต่ความจำเป็นของการรักษาไว้ถึงแบบแผนทางวัฒนธรรมนั้นต่างจากการประเมินค่าศิลปะด้วยมูลค่าของเงินตราดังที่ได้กล่าวมาแล้ว

การออกแบบพระเมรุมาศนั้น ยังมีแบบแผนอันเป็นประเพณีที่สำคัญอีกอย่างหนึ่ง คือการสร้างเป็นสถาปัตยกรรมชั่วคราวตามคติความเชื่อเรื่องอาคารอันเป็นอัปมงคล ในอดีตเมื่อทรัพยากรยังมีไม่จำกัด การจัดการอาคารชั่วคราวนั้นอาจเป็นการรื้อถอนออกเสีย โดยมีมูลเหตุซ่อนอยู่ลึกๆ คือการดูแลความสะอาดเรียบร้อยและปลอดภัยทางสุขวิทยา แต่เมื่อสถานการณ์แวดล้อมเปลี่ยน แบบแผนอันเป็นประเพณีนั้นก็เปลี่ยนไปตามยุคสมัย ดังที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชดำริเป็นครั้งแรกเริ่ม เมื่อครั้งงานพระเมรุมาศของสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าศิริราชกกุธภัณฑ์ ให้นำชิ้นส่วนประกอบที่ถูกรื้อถอนไปก่อสร้างอาคารสาธารณะ ที่ภายหลังกลายมาเป็นโรงพยาบาลศิริราช ธรรมเนียมนี้ได้ถือปฎิบัติมาจนถึงปัจจุบัน

โครงสร้างพระเมรุมาศเป็นโครงประกอบยึดด้วยสลักรูปแบบต่างๆ (Nut and Bolt) สามารถจะถอดประกอบได้ในภายหลัง
ที่มาภาพ: http://www.finearts.go.th/promotion/2016-10-17-04-11-38/item/โครงสร้างพระเมรุมาศ.html

การก่อสร้างพระเมรุมาศจึงมีความพิเศษที่วัสดุก่อสร้างทั้งหมดนั้นไม่ได้สูญเปล่าแต่ถูกนำกลับมาใช้ประโยชน์ทั้งทางตรงและทางอ้อม ส่วนโครงสร้างอาจกลายเป็นโรงเรียน สถานพยาบาล หรืออาคารสาธารณะ ที่รับใช้ประชาชน งานตกแต่งอาจใช้เสริมการเรียนรู้ในที่ต่างๆ กลวิธีการก่อสร้างที่สามารถถอดประกอบได้และลดทอนทรัพยากร เช่น การใช้ลายซ้อนไม้แทนการแกะสลักไม้จริง จึงเป็นอีกลักษณะเด่นของงานศิลปะสถาปัตยกรรมไทย ที่ทำให้สถาปัตยกรรมมีการลงทุนที่สูงกว่าการจัดการการก่อสร้างทั่วไป แต่ก็คุ้มค่าเมื่อคำนึงถึงความไม่สูญเปล่าของวัสดุที่อาจนำกลับมาใช้ได้ในอนาคต

นอกไปจากนี้แล้ว การเกิดขึ้นและดำรงอยู่ของงานสถาปัตยกรรมพระเมรุมาศในชั่วระยะเวลาอันสั้นนั้น มิได้แสดงถึงความฟุ่มเฟือยในการประกอบพระราชพิธีแต่อย่างใด หากพิจารณาในแง่ของการออกแบบทางสถาปัตยกรรมแล้วนั้น การเกิดขึ้นและหายไปของผลงานการสร้างสรรค์ที่กลับก่อให้เกิดผลกระทบที่ต่อพื้นที่และผู้คนปริมาณมาก ถือเป็นความสำเร็จของการออกแบบสถาปัตยกรรม แนวคิดนี้ถูกใช้อย่างแพร่หลายในงานศิลปะจัดวางในยุคสมัยใหม่ (Installation art) และในงานศิลปะทางภูมิสถาปัตยกรรม (Landscape art) ในศิลปะไทย แนวคิดที่แสดงออกถึงความไม่จีรังยั่งยืน (Ephemeral) นี้ได้ถูกนำมาใช้เป็นระยะเวลานานแล้ว

คุณค่าของการสืบสานศิลปะไทยกับการอนุรักษ์ตามอย่างตะวันตก

ความงามของศิลปะไทยเกิดขึ้นจากความเชี่ยวชาญและการฝึกฝนของช่างฝีมือ ที่ต้องใช้เวลาเรียนรู้และถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่น เมื่อโอกาสในการแสดงออกซึ่งฝีมือเชิงช่างไทยในงานสถาปัตยกรรมที่ยิ่งใหญ่ เช่น พระเมรุมาศ ปรากฏขึ้น แม้จะอยู่ภายใต้ความเศร้าโศก ช่างศิลปกรรมทุกคนถือเป็นความรับผิดชอบในการทุ่มเททำงานให้เต็มที่เพื่อให้งานฝีมือนั้นได้รับการสานต่อ การสร้างสิ่งปลูกสร้างตามประเพณีจึงถูกตีค่าสูงกว่าความฟุ่มเฟือย โดยในกรณีนี้นับเป็นกลวิธีหนึ่งที่จำเป็นในการคงไว้ซึ่งระเบียบแบบแผนของสถาปัตยกรรมไทยและศิลปะตกแต่งแขนงต่างๆ เป็นความคุ้มค่าในลงทุนเพื่อการสร้างความยั่งยืนทางวัฒนธรรม

การที่สังคมปัจจุบันยังมีพื้นที่เพื่อการสร้างสรรค์สถาปัตยกรรมไทยประเพณีเป็นการสานต่อวัฒนธรรมจากอดีต สิ่งนี้ยิ่งชี้ให้เห็นความแตกต่างทางแนวคิดทางสังคมระหว่างประเทศไทยและโลกตะวันตกที่มีต่องานศิลปะและช่างฝีมือ งานสถาปัตยกรรมไทยยังคงเกิดขึ้นและมีวิวัฒนาการไปตามกาลเวลา ในขณะที่สถาปัตยกรรมแบบประเพณีในโลกตะวันตกที่มีรากฐานมาจากกรีก-โรมันนั้นได้หยุดพัฒนาการหลังจากการเปลี่ยนแปลงทางสังคมในยุคสมัยใหม่ กลวิธีในการจัดการความไม่ต่อเนื่องของสถาปัตยกรรมตะวันตกในยุคเก่ากับยุคปัจจุบันถูกนำเสนอผ่านวิธีการที่เรียกว่าการอนุรักษ์ (Preservation หรือ Conservation) ซึ่งแตกต่างจากการจัดการสถาปัตยกรรมและศิลปะไทยที่ดำเนินต่อเนื่องมาจากอดีต สิ่งนี้ไม่ใช่ผลจากความล้าหลังทางวัฒนธรรมของไทย แต่เกิดจากโลกทัศน์ที่แตกต่าง

การตีความที่ผ่านโลกทัศน์ที่แตกต่าง

ความหรูหราฟุ่มเฟือยของงานศิลปะในมุมมองของโลกตะวันตกที่สัมพันธ์กับการกดขี่ทางชนชั้นและมูลค่าทางการตลาดแตกต่างจากความยิ่งใหญ่ที่เกิดขึ้นในงานศิลปะไทยที่รับใช้ความเชื่อทางสังคมและสร้างคุณค่าทางจิตใจ โดยเฉพาะในงานสถาปัตยกรรมไทยที่ทุกสิ่งมิได้สร้างขึ้นเพื่อรับใช้บุคคล แต่เป็นการสร้างแบบจำลองของจักรวาลที่มีผลกระทบต่อพื้นที่ขนาดใหญ่และผู้คนจำนวนมาก เราไม่อาจตีความงานสถาปัตยกรรมไทยจากมุมมองภายใต้โลกทัศน์แบบตะวันตก เฉกเช่นที่เราไม่อาจตัดสินผู้ซึ่งไม่เข้าใจคุณค่าของงานศิลปะไทยเพราะมีโลกทัศน์ที่แตกต่าง แต่เราจำเป็นต้องใช้โอกาสนี้ในการเรียนรู้และทำความเข้าใจกันและกัน เพื่อที่จะยอมรับว่าความแตกต่างนั้นมีอยู่ ซึ่งเป็นความแตกต่างอันเป็นพื้นฐานของประชาธิปไตยที่เราเฝ้าฝันถึง