ThaiPublica > เกาะกระแส > ประเด็นฮอตรอบสัปดาห์ > ประเด็นฮอตรอบสัปดาห์ : “ร้อยเวรคดี ‘เปรมชัย’ โดนภาคทัณฑ์ ด้านเปรมชัยโผล่แล้ว ไหว้สวยไปมาจนเป็นเรื่อง” และ “ลูกมหาทีร์แฉ นาฬิกาหรูนายกฯ มาเลย์อาจเป็นเงินทุจริต”

ประเด็นฮอตรอบสัปดาห์ : “ร้อยเวรคดี ‘เปรมชัย’ โดนภาคทัณฑ์ ด้านเปรมชัยโผล่แล้ว ไหว้สวยไปมาจนเป็นเรื่อง” และ “ลูกมหาทีร์แฉ นาฬิกาหรูนายกฯ มาเลย์อาจเป็นเงินทุจริต”

3 มีนาคม 2018


ประเด็นฮอตรอบสัปดาห์ประจำวันที่ 24 ก.พ. – 2 มี.ค. 2561

  • ร้อยเวรคดี “เปรมชัย” โดนภาคทัณฑ์ ฐานรับแจ้งโดยไม่ตรวจสอบข้อกฎหมาย ด้านเปรมชัยโผล่แล้ว ไหว้สวยไปมากับศรีวราห์จนเป็นเรื่อง
  • แจ้งตั้งพรรคใหม่วันแรกคึกคัก ยื่น 42 กลุ่ม – กกต. แจง รอตรวจสอบ-ขอ คสช. ดำเนินกิจกรรมพรรค
  • บอร์ด สปส. มีมติ ไม่ลดจ่ายเงินสมทบรับปรับค่าแรงขึ้น
  • แนวปฏิบัติคดี ม.112 ใหม่ ให้ อสส. พิจารณาเท่านั้น
  • ลูกมหาทีร์แฉ นาฬิกาหรูนายกฯ มาเลย์อาจเป็นเงินทุจริต
  • ร้อยเวรคดี “เปรมชัย” โดนภาคทัณฑ์ ด้านเปรมชัยโผล่แล้ว ไหว้สวยไปมากับศรีวราห์จนเป็นเรื่อง

    จากกรณีที่นายเปรมชัย กรรณสูต ประธานบริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) พร้อมพวกรวม 4 คน ถูกจับโดยต้องสงสัยว่าลักลอบล่าสัตว์ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันตก อำเภอทองผาภูมิ จังหวัดกาญจนบุรี จนนำไปสู่การตั้งข้อหาในความผิดต่างๆ ถึง 10 ข้อหา โดยหนึ่งในนั้นคือความผิดฐานทารุณกรรมสัตว์โดยไม่มีเหตุผลอันสมควร ซึ่งเป็นไปตามพระราชบัญญัติป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ พ.ศ. 2557

    ต่อมา นายณรงค์ชัย สังวรวงศา หัวหน้าด่านกักสัตว์กาญจนบุรี ซึ่งเป็นผู้ร้องทุกข์ได้แจ้งถอนการแจ้งข้อกล่าวหาทารุณกรรมสัตว์ฯ ดังกล่าว เมื่อวันที่ 21 ก.พ. 2561 โดยให้เหตุผลว่า เมื่อตรวจสอบกับนิยามของคำว่าสัตว์ใน พ.ร.บ. ดังกล่าว ซึ่งมีใจความว่า “สัตว์” หมายความว่า สัตว์ที่โดยปกติเลี้ยงไว้เพื่อเป็นสัตว์บ้าน สัตว์เลี้ยงเพื่อใช้งาน สัตว์เลี้ยงเพื่อใช้เป็นพาหนะ สัตว์เลี้ยงเพื่อใช้เป็นเพื่อน สัตว์เลี้ยงเพื่อใช้เป็นอาหาร สัตว์เลี้ยงเพื่อใช้ในการแสดง หรือสัตว์เลี้ยงเพื่อใช้ในการอื่นใด ทั้งนี้ ไม่ว่าจะมีเจ้าของหรือไม่ก็ตาม และให้หมายความรวมถึงสัตว์ที่อาศัยอยู่ในธรรมชาติตามที่รัฐมนตรีประกาศกําหนด ก็พบว่ารัฐมนตรียังมิเคยมีการกำหนดว่า สัตว์ที่อาศัยอยู่ในธรรมชาติ นั้นหมายความถึงสัตว์ชนิดใดบ้าง ทำให้กรณีต้องสงสัยของนายเปรมชัยและพวกไม่เข้าข่ายความผิดในข้อหาทารุณกรรมสัตว์

    การถอนแจ้งข้อกล่าวหาดังกล่าว เป็นผลให้ พ.ต.อ. วุฒิพงษ์ เย็นจิตร ผกก.สภ.ทองผาภูมิ มีหนังสือคำสั่งสถานีตำรวจภูธรทองผาภูมิที่ 37/2561 ลงวันที่ 28 ก.พ. 2561 ให้ภาคทัณฑ์ ร.ต.อ. สุมิตร บุญยะนิจ พนักงานสอบสวนผู้รับแจ้งข้อกล่าวหาดังกล่าวในทีแรก เนื่องจากถือว่าเป็น “การรับคำร้องโดยไม่ตรวจสอบข้อกฎหมายให้แน่ชัดว่าการกระทำดังกล่าวเป็นความผิดตามกฎหมายหรือไม่”

    ด้านนายเปรมชัย ที่หลังจากได้รับการประกันตัวไปแล้วก็ไม่ได้ปรากฏตัวตามหน้าสื่ออีกเลย ในที่สุดก็ได้เดินทางไป สภ.ทองผาภูมิ จ.กาญจนบุรี พร้อมพวกรวม 4 คน เพื่อให้ปากคำ

    การเดินทางไปให้ปากคำในครั้งนี้ก็เกิดเป็นกระแสร้อนแรงในสังคมจนได้ เมื่อมีการเผยแพร่ภาพนิ่งขณะที่ พล.ต.อ. ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล รองผ บ.ตร. ที่เดินทางไปร่วมสอบปากคำ ได้ก้มตัวลงไหว้นายเปรมชัยอย่างนอบน้อม แต่ในที่สุด ก็มีการเสนอข่าวมี่ครบถ้วนว่า แท้จริงแล้ว ภาพที่ พล.ต.อ. ศรีวราห์ โค้งตัวไหว้นายเปรมชัยนั้นเป็นการรับไหว้หลังจากที่นายเปรมชัยเป็นฝ่ายไหว้ก่อนเท่านั้น


    ที่มาคลิป: ยูทิวบ์ BRIGHT TV

    แจ้งตั้งพรรคใหม่วันแรกคึกคัก ยื่น 42 กลุ่ม

    เว็บไซต์ข่าวสดรายงานว่า ในการเปิดให้กลุ่มการเมืองยื่นขอการแจ้งเตรียมการจัดตั้งพรรคการเมืองเป็นวันแรก (2 มี.ค. 2561) ที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) มีผู้มายื่นเรื่องถึง 42 กลุ่ม โดยมีรายชื่อดังนี้

    1. พรรคพลังชาติไทย 2. พรรคประชาไทย 3. พรรคพลังประชารัฐ 4. พรรคประชาชนปฏิรูป 5. พรรคสังคมประชาธิปไตยประชาชน 6. พรรคประชาชาติ 7. พรรคชาวนาไทย 8. พรรคพัฒนาไทย 9. พรรคเครือข่ายประชาชนไทย 10. พรรคเศรษฐกิจใหม่

    11. พรรคพลังพลเมืองไทย 12. พรรคพลังธรรมใหม่ 13. พรรคไทยเอกภาพ 14. พรรคประชาภิวัฒน์ 15. พรรคสหประชาไทย 16. พรรคทางเลือกใหม่ 17. พรรคชาติพันธุ์ไทย 18. พรรครักษ์แผ่นดินไทย 19. พรรคแผ่นดินธรรม 20. พรรคเพื่อชาติไทย

    21. พรรคกรีน 22. พรรคประชานิยม 23. พรรคพลังสยาม 24. พรรคสยามธิปัตย์ 25. พรรคของประชาชน 26. พรรคพลังอีสาน 27. พรรครวมใจไทย 28. พรรคไทยศรีวิไลย์ 29. พรรคประชามติ 30. พรรคพลังไทยยุคใหม่

    31. พรรคไทยรุ่งเรือง 32. พรรคเพื่อสตรีไทย 33. พรรครากแก้วไทย 34. พรรคน้ำใจไทย 35. พรรคไทยเสรีประชาธิปไตย 36. พรรคฅนสร้างชาติ 37. พรรครวมไทยใหม่ 38. พรรคสามัญชน 39. พรรคสยามไทยแลนด์ 40. พรรคปฏิรูปประเทศไทย 41. พรรคเห็นแก่ตัว และ42. พรรคภาคีเครือข่ายไทย

    ทั้งนี้ จากการรายงานของเว็บไซต์ไทยรัฐ นายแสวง บุญมี รองเลขาธิการ กกต. กล่าวว่า พรรคใหม่ที่ยื่นคำขอฯ วันนี้ จะได้ใบ พก. 7/1 เพื่อยืนยันว่า สำนักงาน กกต. ได้รับเอกสารพรรคใหม่ไว้ จากนั้นนายทะเบียนจะใช้เวลาตรวจสอบภายใน 30 วัน โดยส่งเอกสารไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง 9 หน่วยงาน อาทิ กรมบังคับคดี ตรวจสอบการล้มละลาย, กรมราชทัณฑ์ ตรวจสอบว่าเคยถูกคุมขังหรือถูกโทษจำคุกหรือไม่, สำนักงาน ก.พ. เคยถูกสั่งให้ออกจากราชการหรือไม่ เป็นต้น โดยหลังจากนี้ พรรคใหม่จะต้องจัดหาสมาชิกพรรค ประชุมพรรค และหาทุนประเดิม ซึ่งพรรคใหม่จะต้องยื่นขออนุญาตจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ก่อน

    โดยการยื่นขออนุญาตจาก คสช. กรณีพรรคใหม่ ยื่นได้ตั้งแต่วันนี้ ทั้งการขอประชุมพรรคและการขอหาสมาชิกพรรคอย่างน้อย 500 คน ซึ่งจะต้องกรอกเอกสารระบุรายละเอียดการดำเนินการและช่วงเวลาที่ชัดเจน โดยยื่นผ่านสำนักงาน กกต. เพื่อส่งไปยัง คสช. ซึ่งไม่สามารถระบุระยะเวลาการพิจารณาของ คสช.ได้ โดย คสช. จะแจ้งผลการพิจารณาไปยังพรรคใหม่โดยตรง ส่วนพรรคเก่า กกต. จะส่งหนังสือแจ้งไปตามที่อยู่พรรค วันที่ 1 เม.ย. เพื่อให้พรรคเก่า ส่งเรื่องขออนุญาตดำเนินกิจกรรมทางการเมือง ผ่านสำนักงาน กกต. ซึ่ง คสช. จะมีการกำหนดเงื่อนไขให้กับพรรคการเมืองด้วย

    ที่มาภาพ: เว็บไซต์ไทยรัฐ (https://goo.gl/UKoE5H)

    บอร์ด สปส. มีมติ ไม่ลดจ่ายเงินสมทบรับปรับค่าแรงขึ้น

    เว็บไซต์ประขาติธุรกิจรายงานว่า เมื่อวันที่ 2 มีนาคม นพ.สุรเดช วลีอิทธิกุล เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน กล่าวถึงมติคณะรัฐมนตรีเรื่องการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำทั่วประเทศ ซึ่งมีอัตราค่าจ้างขั้นต่ำสุด 308 บาท และสูงสุด 330 บาท โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2561 และมติคณะกรรมการค่าจ้างที่เห็นชอบมาตรการลดผลกระทบผู้ประกอบการจากการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ โดยได้เสนอให้สำนักงานประกันสังคม (สปส.) ลดการจ่ายเงินสมทบประกันสังคมทั้งฝ่ายนายจ้างและฝ่ายลูกจ้างฝ่ายละร้อยละ 1 เป็นเวลา 1 ปี เพื่อไม่ให้กระทบต่อต้นทุนสถานประกอบการ ว่า เรื่องการปรับลดเงินสมทบดังกล่าว คณะกรรมการประกันสังคมและที่ปรึกษา (ชุดที่ 13) ได้มีการประชุม ครั้งที่ 4/2561 เมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2561 ที่ผ่านมา เพื่อหารือเรื่องการปรับลดอัตราเงินสมทบตามมติคณะกรรมการค่าจ้างเสนอ และได้มีมติไม่ปรับลดอัตราเงินสมทบ เนื่องจากการลดอัตราเงินสมทบเป็นระยะเวลา 12 เดือน หรือชะลอการจ่ายเงินสมทบเป็นระยะเวลา 6 เดือน จะส่งผลกระทบต่อการจ่ายสิทธิประโยชน์ให้กับผู้ประกันตน และเสถียรภาพกองทุน

    “ที่สำคัญยังขัดต่อกฎหมายของประกันสังคม และเพื่อเป็นการบรรเทาผลกระทบที่อาจเกิดจากค่าแรงขั้นต่ำที่เพิ่มขึ้นคณะกรรมการประกันสังคมได้ให้สำนักงานประกันสังคมเร่งเสนอโครงการลงทุนทางสังคมเพื่อช่วยเหลือนายจ้าง และลูกจ้าง SMEs ที่ได้รับผลกระทบ และนำมาเสนอคณะกรรมการประกันสังคมพิจารณาในการประชุมครั้งต่อไป” นพ.สุรเดช กล่าว

    แนวปฏิบัติคดี ม.112 ใหม่ ให้ อสส. พิจารณาเท่านั้น

    วันที่ 27 ก.พ. 2561 เว็บไซต์สำนักข่าวอิศรารายงานว่า นายพรศักดิ์ ศรีณรงค์ รองอัยการสูงสุด ปฏิบัติราชการแทนอัยการสูงสุด ได้ทำหนังสือถึงผู้บริหารระดับสูงในสำนักงานอัยการสูงสุดทุกระดับชั้นให้รับทราบแนวทางปฏิบัติในการดำเนินคดีอาญาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ซึ่งมีสาระสำคัญอยู่ที่การให้ข้อหาประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 จะถูกพิจารณาโดยอัยการสูงสุดเท่านั้น พนักงานอัยการระดับทั่วไปไม่อาจทำความเห็นได้ ขณะที่ระบบการจัดทำความเห็นในลำดับชั้นของอัยการภายในองค์กรอัยการก็ไม่มีสำหรับข้อหา ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112

    โดยหนังสือดังกล่าวระบุว่า ด้วยการดำเนินคดีอาญาในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 เป็นคดีสำคัญที่ต้องป้องกันและปราบปรามเป็นพิเศษ เพื่อให้การดำเนินคดีประเภทดังกล่าวตามอำนาจหน้าที่ของพนักงานอัยการเป็นไปด้วยความรอบคอบรัดกุม สำนักงานอัยการสูงสุดจึงวางแนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับการทำความเห็นและคำสั่งในคดีประเภทดังกล่าว และให้ถือปฏิบัติเป็นแนวทางเดียวกัน  ดังนี้ 

    1. สำนักงานอัยการที่ได้รับสำนวนคดี ส.1 และ ส.2 ในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ทำการรายงานคดีสำคัญตามแบบที่กำหนด พร้อมส่งสำเนารายงานการสอบสวนของพนักงานสอบสวน, สำเนาความเห็นคณะกรรมการพิจารณาคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพของตำรวจ (ถ้ามี), สำเนาคำให้การผู้ต้องหา และสำเนาประวัติอาชญากร และตำหนิรูปพรรณผู้กระทำผิดให้สำนักงานอัยการสูงสุดพิจารณาทันที โดยยังไม่ต้องทำความเห็นใน อ.ก.4  หรือ อ.ก.2 

    2. สำนวนคดีที่พนักงานสอบสวนไม่ได้ดำเนินคดีในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 แต่พนักงานอัยการประจำศาลชั้นต้นได้รับสำนวนไว้เห็นว่าควรจะดำเนินคดีในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา 112 ด้วย เพิ่มเติมจากความเห็นของพนักงานสอบสวน ให้พนักงานอัยการประจำศาลชั้นต้นส่งสำนวนสอบสวนพร้อมบันทึกความเเห็นแยกต่างหากให้สำนักงานอัยการสูงสุดพิจารณาทันที โดยยังไม่ต้องทำความเห็นใน อ.ก.4 หรือ อ.ก.2 

    3. กรณีตามข้อ 1. และ ข้อ 2. หากมีการดำเนินคดีในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ในศาลชั้นต้น การดำเนินคดีของพนักงานอัยการผู้รับผิดชอบในชั้นศาลสูงให้ปฏิบัติเช่นเดียวกัน คือ ไม่ต้องมีความเห็นและคำสั่งใน อ.ก.14 แต่ให้ส่งสำเนาคำพิพากษาของศาลชั้นต้นหรือศาลอุทธรณ์ และกรณีที่ยังไม่ได้รับสำเนาคำพิพากษา ให้พนักงานอัยการผู้รับผิดชอบในชั้นศาลสูงส่งย่อคำพิพากษาของศาลชั้นต้นหรือศาลอุทธรณ์ตามแบบ อ.ก.14 แล้วแต่กรณีไปให้สำนักงานอัยการสูงสูดพิจารณาทันที  

    ลูกมหาทีร์แฉ นาฬิกาหรูนายกฯ มาเลย์อาจเป็นเงินทุจริต

    ที่มาภาพ: เว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจ (https://goo.gl/xMsoV9)

    เว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจรายงานว่า ดร.มูคริซ มหาทีร์ บุตรชายอดีตนายกรัฐมนตรีมหาทีร์ โมฮัมหมัด เป็นผู้จุดชนวนเรื่องนี้ในระหว่างการไปพูดที่งานพีเพิล ดีแคลร์เรชั่น ซึ่งจัดขึ้นที่รัฐเคดาห์ ฐานเสียงทางการเมืองของเขา โดยเป็นส่วนหนึ่งของเรื่องการใช้เงินอย่างมือเติบของนายกรัฐมนตรีนาจิบ ราซะก์ ซึ่งสวมนาฬิกาข้อมือแบรนด์จิเวลรี่หรูของสวิตเซอร์แลนด์ “กริโซโกโน่” และหนังสือพิมพ์วอลสตรีท เจอร์นัล ก็รายงานเรื่องนี้ด้วย

    ดร.มูคริซ บอกว่า นายนาจิบซื้อนาฬิกาหรูเรือนนี้ผ่านบัตรเครดิต ที่เขามั่นใจว่า เป็นเงินที่ถูกยักยอกจากบริษัทเอสอาร์ซี อินเตอร์เนชั่นแนล สาขาของกองทุน 1เอ็มดีบี ซึ่งโดยแท้จริงแล้ว เงินจำนวนนี้เป็นของกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ หรือเคดับเบิลยูเอพี

    ดร.มูคริซ ขยายความว่า ถ้าตรงตามรายงานของวอลสตรีท นายนาจิบใช้บัตรเครดิตของเอสอาร์ซี อินเตอร์เนชั่นแนล ซึ่งเท่ากับว่าเขาเอาเงินของกองทุนบำเหน็จบำนาญเคดับเบิลยูเอพี มาใช้ส่วนตัว ส่วนเอสอาร์ซี อินเตอร์เนชั่นแนล เดิมเป็นสาขาของ 1เอ็มดีบี ก่อนถูกโอนไปเป็นของกระทรวงการคลัง จากนั้นเงิน 4 พันล้านริงกิต ถูกถอนออกจากเคดับเบิลยูเอพี  โดยมีรัฐบาลค้ำประกัน แต่สุดท้ายกลับไปเข้ากระเป๋านายกรัฐมนตรีนาจิบ