ThaiPublica > คอลัมน์ > จากน้ำดื่มบรรจุขวดถึงละอองน้ำในอากาศ : ความพยายามต่อสู้กับปัญหาการขาดแคลนน้ำสะอาดเพื่อการบริโภค

จากน้ำดื่มบรรจุขวดถึงละอองน้ำในอากาศ : ความพยายามต่อสู้กับปัญหาการขาดแคลนน้ำสะอาดเพื่อการบริโภค

9 ตุลาคม 2017


ลัษมณ ไมตรีมิตร

เคยคิดไหมว่าถ้าวันหนึ่งน้ำบรรจุขวดหายไปเราจะใช้น้ำจากที่ไหนเพื่อการดื่มกิน?

เราเคยชินกับการเข้าถึงน้ำบริโภคในรูปแบบของผลิตภัณฑ์บรรจุขวด จนการไม่มีน้ำสะอาดเพื่อการดื่มกินดูเป็นเรื่องไกลตัวจนยากจะจินตนาการ แต่ในความเป็นจริงปัญหาการขาดแคลนน้ำสะอาดเพื่อการอุปโภคบริโภคเป็นเรื่องใกล้ตัวกว่าที่คิด หากลองจำกัดการเข้าถึงน้ำดื่มบรรจุขวดในหนึ่งวัน เราจะเห็นได้ว่า “น้ำ” ที่ปรากฏอยู่รอบ ๆ ตัว ไม่สะอาดพอที่จะนำมาบริโภคอีกต่อไปแล้ว

บทความชิ้นนี้จะชวนผู้อ่านตั้งคำถามต่อการบริโภคน้ำดื่มบรรจุขวดที่เราคุ้นเคยกันดี เพื่อสะกิดให้ทุกคนเห็นถึงปัญหาการขาดแคลนน้ำสะอาดเพื่อการบริโภคที่สัมพันธ์กับปัญหาสิ่งแวดล้อมอื่น ๆ และความพยายามที่จะเสาะหาทางเลือกใหม่ ๆ ของการเข้าถึงน้ำสะอาด ทั้งหมดนี้ก็เพื่อหวังว่าเราจะช่วยกันเป็นส่วนหนึ่งในการปกป้องแหล่งน้ำธรรมชาติเพื่ออนาคตของคนรุ่นต่อไป

ภาพที่ 1 ผลิตภัณฑ์น้ำดื่มบรรจุขวดหลากหลายรูปแบบ
ที่มาภาพ : http://geology.com/articles/bottled-water.shtml

เราพึ่งพาน้ำบรรจุขวดมากไปไหม?

ในทุกวันนี้ แหล่งน้ำบริโภคหลักของประชากรส่วนใหญ่ มาจากผลิตภัณฑ์น้ำดื่มบรรจุขวดหลากหลายรูปแบบ (Bottled water) จากรายงานของ The United States Department of Agriculture (USDA) กว่าร้อยละ 38 ของการบริโภคน้ำในสหรัฐอเมริกาเป็นการบริโภคน้ำดื่มบรรจุขวด โดยในปี 2015 ค่าเฉลี่ยปริมาณน้ำดื่มบรรจุขวดต่อคนคือ 138 ลิตรต่อปี ส่วนในยุโรป จากข้อมูลอ้างอิงของ The European Federation of Bottled Water (EFBW) ในปี 2016 ค่าเฉลี่ยปริมาณน้ำดื่มบรรจุขวดต่อคนคือ 112 ลิตรต่อปี โดยสูงที่สุดในอิตาลีเป็นปริมาณถึง 188 ลิตร และในประเทศไทย ข้อมูลจากศูนย์อัจฉริยะเพื่ออุตสาหกรรมอาหาร ชี้ว่าประชากรไทยราวร้อยละ 30 บริโภคน้ำบรรจุขวดในชีวิตประจำวัน

ในอดีตเราใช้น้ำดื่มบรรจุขวดด้วยเหตุผลทางสุขภาพเป็นสำคัญ น้ำดื่มบรรจุขวดเกิดขึ้นครั้งแรกในยุโรปในช่วงกลางคริสต์ศตวรรษที่ 16 โดยมีที่มาจากความต้องการน้ำดื่มที่มีแร่ธาตุตามธรรมชาติ ซึ่งเชื่อว่ามีผลในการรักษาโรคและฟื้นฟูสุขภาพร่างกาย น้ำบรรจุขวดในยุคนั้น มีจำหน่ายตามร้านขายยาและไม่ได้มีไว้เพื่อการบริโภคในชีวิตประจำวันอย่างเช่นทุกวันนี้

ภาพที่ 2 น้ำดื่มบรรจุขวดแก้วในต้นศตวรรษที่ 19 ในภาพเป็นขวดน้ำดื่มจากประเทศเซอเบีย (Serbia) และการโฆษณาคุณสมบัติทางสุขภาพ ที่มาภาพ: http://www.nmw.co.rs/nmw/index_en.php?page=273%26language=eng

การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของตลาดน้ำดื่มบรรจุขวดเกิดขึ้นในศตวรรษที่ 20 นี้เอง เมื่อปัญหามลพิษที่ทวีความรุนแรงขึ้นทั่วทุกมุมโลกทำให้เกิดการปนเปื้อนของสารเคมีและเชื้อโรคในแหล่งน้ำอุปโภคบริโภค น้ำที่ผ่านการปรับปรุงคุณภาพบรรจุขวดจึงเข้ามารองรับความต้องการน้ำสะอาดเพื่อการบริโภคของประชาชน นอกจากนี้การผลิตแบบอุตสาหกรรมและการกลยุทธ์ทางการตลาดได้ทำให้น้ำดื่มบรรจุขวดแพร่หลายมากขึ้น

รายงานการบริโภคน้ำดื่มบรรจุขวดจากทุกภูมิภาคของโลกชี้ไปในทิศทางเดียวกันว่าอุตสาหกรรมชนิดนี้ มีการขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในทุกปี แม้ในรายงานขององค์กรน้ำดื่มบรรจุขวดในต่างประเทศที่กล่าวมา จะไม่ได้ชี้ว่าการเพิ่มขึ้นของปริมาณการบริโภคผลิตภัณฑ์น้ำดื่มเป็นผลกระทบของการขาดแคลนแหล่งน้ำสะอาดอื่น แต่ก็ชวนให้คิดว่าเพราะเหตุใด เราจึงจำเป็นต้องใช้น้ำในขวด หรือนี่จะเป็นแหล่งน้ำสะอาดเดียวที่เราเข้าถึงได้ในปัจจุบัน

เรายังมีน้ำสะอาดหลงเหลืออยู่ไหม?

ข้อสงสัยนี้สัมพันธ์กับการขยายตัวของอุตสาหกรรมน้ำดื่มบรรจุขวด ที่มีสาเหตุส่วนหนึ่งเกิดจากความไม่มั่นใจถึงความสะอาดของแหล่งน้ำ ปัญหาเรื่องคุณภาพน้ำที่เกี่ยวข้องกับการอุปโภคบริโภคที่เห็นได้ชัดมีดังต่อไปนี้

ภาพที่ 3 ปัญหาความสกปรกของแหล่งน้ำผิวดินที่เกิดขึ้นในพื้นที่เมือง
ที่มาภาพ : สำนักข่าวสิ่งแวดล้อม http://www.greennewstv.com/กทม-คลอดเกณฑ์เก็บเงินค่/

ความสกปรกของแหล่งน้ำผิวดิน

แหล่งน้ำผิวดินในที่นี่หมายถึง แม่น้ำ ลำคลอง หรือสายน้ำอื่น ๆ ที่เราพบเห็นได้ทั่วไป หลังจากการเกิดขึ้นของเมืองอุตสาหกรรม การขยายตัวทางเกษตรกรรม และความหนาแน่นที่เพิ่มขึ้นของที่อยู่อาศัย แหล่งน้ำผิวดินส่วนใหญ่ได้กลายเป็นที่รวมของขยะและน้ำผิวดินที่พัดพาเอาตะกอนความสกปรกอันไม่อาจย่อยสลายในธรรมชาติได้ เช่น คราบน้ำมันจากถนน รวมไปถึงน้ำปนเปื้อนเชื้อโรคจากการขาดการบำบัดที่ดีพอก่อนทิ้งลงสู่แหล่งน้ำสาธารณะ

ในประเทศไทยแหล่งน้ำผิวดินแบ่งออกเป็น 5 ประเภทตามการรับน้ำและคุณภาพที่เหมาะสมกับการใช้งาน เรียงลำดับจากแหล่งน้ำประเภทที่ 1 ที่ไม่มีการปนเปื้อนของน้ำทิ้งจากกิจกรรมมนุษย์ทุกประเภท ไปจนถึงแหล่งน้ำประเภทที่ 5 คือมีการปนเปื้อนน้ำทิ้งสูงจนการใช้งานจำกัดไว้แค่การคมนาคม (ดูรายละเอียดเพิ่มเติมในตารางท้ายย่อหน้า) ข้อมูลล่าสุดจากระบบฐานข้อมูลคุณภาพน้ำแหล่งน้ำผิวดินทั่วประเทศ (IWIS) ของกรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม แสดงให้เห็นว่าแม่น้ำสายหลักในทุกภูมิภาคของประเทศไทยไม่มีแหล่งน้ำผิวดินคุณภาพดีมากที่สามารถจัดเข้าเป็นแหล่งน้ำประเภทที่ 1 อีกแล้ว หรือแหล่งน้ำผิวดินที่หลงเหลือมาถึงยุคสมัยของเรา จะเป็นน้ำที่ผ่านการปนเปื้อนจากกิจกรรมต่าง ๆ ของมนุษย์ ที่เรียกว่า Greywater หรือแปลตรงตัวว่าน้ำเสียสีเทา ๆ เท่านั้น?

ภาพที่ 4 ตารางแสดงประเภทของแหล่งน้ำผิวดิน ที่มา: กรมควบคุมมลพิษ

โลหะหนักในแหล่งน้ำธรรมชาติ

ภาวะขาดแคลนน้ำสะอาดที่คาดไม่ถึงคือการปนเปื้อนของโลหะหนักในแหล่งน้ำ โดยเฉพาะในพื้นที่ธรรมชาติ เช่น กรณีของห้วยคลิตี้กรณีของห้วยคลิตี้ จังหวัดกาญจนบุรี อันเป็นผลมาจากการทำเหมืองแร่ ปัญหาของโลหะหนักในพื้นที่ป่าธรรมชาติอยู่ที่เราไม่อาจรับรู้ได้โดยตรงจากการสัมผัสกับน้ำ เป็นเหมือนมหันตภัยเงียบที่นอกจากจะส่งผลเสียถึงชีวิตประชาชนแล้ว ยังส่งผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ ในธรรมชาติ มนุษย์ต้องอย่าลืมว่าน้ำในแหล่งน้ำธรรมชาตินั้น เป็นสิ่งที่เราต้องแบ่งปันกับสัตว์และต้นไม้อย่างเท่าเทียมกัน

น้ำสาธารณะที่ไม่ผ่านการรับรองคุณภาพ

แม้แต่น้ำที่ต้องผ่านการควบคุมคุณภาพให้เป็นไปตามมาตรฐานอย่างน้ำประปา ที่อาจนับเป็นหนึ่งในทางเลือกของน้ำบริโภค ก็พบรายงานการปนเปื้อนเช่นเดียวกับแหล่งน้ำผิวดินอื่น ๆ โดยเฉพาะการปนเปื้อนอนุพันธ์ของพลาสติก สารเคมีที่ใช้ในอุตสาหกรรมและเกษตรกรรม หรือสิ่งสกปรกที่เกิดจากการส่งน้ำ ในประเทศไทย แม้การประปานครหลวงได้ยืนยันถึงคุณน้ำประปาว่าสะอาดเพียงพอที่จะใช้บริโภคแต่ก็มีการแนะนำให้ระวังการปนเปื้อนจากการติดตั้งท่อส่งน้ำประปาของแต่ละครัวเรือนที่อาจเกิดสนิมจากท่อ หรือการปนเปื้อนจากเชื้อโรค นอกจากนี้ยังพบกรณีการปนเปื้อนของสารเคมีจากภาคเกษตรกรรม เช่น กรณีของจังหวัดน่านที่เกิดการปนเปื้อนของยาฆ่าวัชพืชในดินและแหล่งน้ำในหลายพื้นที่ ทำให้เกิดการปนเปื้อนของน้ำประปาในจังหวัดที่รับน้ำจากแหล่งน้ำเหล่านั้นด้วย

น้ำฝนปนเปื้อนสารเคมี

น้ำกลั่นธรรมชาติอย่างน้ำฝนที่เคยเป็นแหล่งน้ำอุปโภคบริโภคหลักของพลเมืองโลกมาช้านาน ก็มีรายงานการปนเปื้อนเช่นกัน น้ำฝนที่ปนเปื้อนสารเคมี หรือ ฝนกรด เป็นผลกระทบมาจากจากมลพิษทางอากาศ และเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้ความนิยมในการนำน้ำฝนมาอุปโภคบริโภคลดลง โดยเฉพาะในพื้นที่เมืองใหญ่ที่มีการปนเปื้อนของมลพิษในอากาศสูง นอกจากที่เราจะสูญเสียแหล่งน้ำบริโภคหลักโดยตรง ฝนกรดยังอาจมีผลต่อสุขภาพโดยทั่วไปและยังสะสมในแหล่งน้ำผิวดินอีกด้วย

กรณีฝนกรดในประเทศไทยที่ร้ายแรงที่สุดเกิดเมื่อปี 2535 ในพื้นที่รอบ ๆ โรงไฟฟ้าถ่านหินแม่เมาะของการไฟฟ้าฝ่ายผลิต ที่จังหวัดลำปาง หลังจากนั้น ก็มีรายงานความเสี่ยงของฝนกรดทั้งในกรุงเทพมหานครและพื้นที่อุตสาหกรรมหลักต่อมาอีกหลายพื้นที่ โดยเฉพาะในเขตอุตสาหกรรมมาบตาพุด จังหวัดระยอง ที่มีโรงไฟฟ้าถ่านหินตั้งอยู่เป็นจำนวนหลายโรง จากการตรวจสอบเมื่อปี 2556 โดยกรมควบคุมมลพิษพบว่ามีค่าความเป็นกรดของน้ำฝนสูงจนเกือบเกินระดับมาตราฐาน

ปัญหาการขาดแคลนน้ำสะอาดเพื่อการบริโภคเกิดจากหลายปัจจัยดังที่กล่าวมาแล้ว และทวีความรุนแรงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ภาวะขาดแคลนน้ำสะอาดในพื้นที่ที่มีน้ำอุดมสมบูรณ์อย่างประเทศไทย เป็นตัวอย่างที่ชี้ให้เห็นความจริงที่ว่า เราทุกคนไม่เฉพาะในพื้นที่ที่เผชิญปัญหาความแห้งแล้ง ล้วนแต่ประสบปัญหาการเข้าถึงแหล่งน้ำสะอาดเพื่อการบริโภคอุปโภค การสูญเสียแหล่งทรัพยากรน้ำให้กับมลพิษจากการขยายตัวของสังคมมนุษย์ ทำให้เราเหลือน้ำสะอาดเพื่อการบริโภคในปริมาณจำกัด

ภาพที่ 5 เรามักมองว่าพื้นที่ประสบปัญหาการขาดแคลนน้ำสะอาดเพื่อการบริโภคคือพื้นที่แห้งแล้งหรือห่างไกลความเจริญ
แต่แท้จริงแล้วปัญหานี้ใกล้ตัวเราทุกคนมาก รวมถึงยังมีความรุนแรงมากในเมือง
ที่มาภาพ: https://www.worldwildlife.org/threats/water-scarcity

เรามีทางเลือกอื่นในการเข้าถึงน้ำสะอาดอีกไหม?

เราคงไม่อาจเรียกการเข้าถึงน้ำสะอาดที่มีมูลค่าทางการตลาดอย่างเต็มปากว่าเรามีน้ำสะอาดใช้อย่างยั่งยืน เมื่อน้ำสะอาดไม่ใช่แค่ “สิ่ง” จำเป็นในการดำรงชีวิต แต่เป็น “สินค้า” จำเป็นในชีวิตประจำวัน การจัดหาทางเลือกเพื่อการบริโภคน้ำสะอาดในหลายพื้นที่จึงหันไปพึ่งพาการกระจายผลิตภัณฑ์น้ำดื่มบรรจุขวด เช่น สถานการณ์ในประเทศเม็กซิโก (Mexico) ที่มีรายงานปริมาณการใช้น้ำบรรจุขวดสูงถึงกว่า 480 ลิตรต่อคนต่อปี นับเป็นอันดับต้น ๆ ของโลก เม็กซิโกนำเข้าน้ำเหล่านี้จากประเทศข้างเคียงคือ สหรัฐอเมริกา และขนส่งไปตามแต่ละบ้านด้วยรถบรรทุกไปจนถึงรถจักรยานยนต์ สถานการณ์คล้ายกันนี้เกิดขึ้นในประเทศกำลังพัฒนาทั่วโลก

บทความนี้เชื่อว่าน้ำสะอาดต้องการการจัดการที่แตกต่างไปจากนั้น นักออกแบบและจัดการสิ่งแวดล้อมได้นำเสนอวิธีการใหม่ ๆ เพื่อการได้มาซึ่งน้ำสะอาดที่นอกจากจะเป็นแหล่งน้ำบริโภคสำรองแล้ว ยังกระตุ้นให้เราหันกลับมามองความสัมพันธ์ของเราต่อสภาพแวดล้อม ผ่านน้ำบริโภคอีกด้วย

งานศิลปะของน้ำสะอาด: Drop by Drop

งานกระตุ้นจิตสำนึกอย่าง Drop By Drop โดย Pratik Ghosh ผู้นิยามตัวเองว่าเป็นนักออกแบบปฏิสัมพันธ์ของประสบการณ์ เป็นงานที่นำหลักการง่าย ๆ ของการกลั่นน้ำในอากาศมาจำลองให้อยู่ในรูปของงานศิลปะ ชี้ให้เห็นวัฏจักรของน้ำฝนที่ตกลงมาสะสมเป็นน้ำผิวดินโดยมีป่าไม้เป็นตัวกลางสำคัญ

ตัวชิ้นงานเป็นเรือนกระจกสำหรับปลูกต้นไม้ขนาดกระทัดรัดถูกออกแบบให้เป็นรูปโดม มีท่อสำหรับเติมน้ำให้กับรากต้นไม้ เมื่อต้นไม้ได้รับน้ำจากทางราก น้ำส่วนหนึ่งถูกคายออกทางใบในกระบวนการสังเคราะห์แสง กลายเป็นไอน้ำและกลั่นตัวจับที่ผิวเรือนกระจก น้ำส่วนนี้จะรวมตัวและไหลลงสู่ส่วนเก็บน้ำ ก่อนจะผ่านท่อออกมาเป็นน้ำดื่มบริสุทธ์ที่ผ่านกระบวนการกลั่นตามธรรมชาติ นอกจากนี้ป่าจำลองในโดมกระจก ยังสามารถดำรงชีวิตอยู่เองได้แม้ไม่มีการเติมน้ำเข้าและเก็บน้ำออกจากระบบ โดยใช้หลักการของการทำสวนขวด (Terrarium) ที่กำลังเป็นที่นิยมในปัจจุบัน(อ่านเพิ่มเติมได้ที่http://www.ki-kando.com/work/#/drop-by-drop/)

ภาพที่ 6 งานศิลปะสื่อผสม Drop by Drop
ที่มาภาพ: http://www.ki-kando.com/work/#/drop-by-drop/

เครื่องดักจับละอองน้ำในอากาศ: Warka Tower

ในพื้นที่ที่มีน้ำสะอาดสำหรับบริโภคจำกัดจากปริมาณน้ำฝนที่น้อย แหล่งน้ำผิวดินอาจเกิดการปนเปื้อนจากการสาธารณสุขที่ไม่พัฒนา ทั้งยังขาดการสาธารณูปโภคที่ดี การจะหาแหล่งน้ำดื่มที่มีคุณภาพดูเป็นไปได้ยาก สถาปนิก Arturo Vittori ชาวอิตาลีเจ้าของบริษัท Architecture and Vision และผู้ก่อตั้งองค์กร Warka Water ได้เสนอการดักจับน้ำในอากาศให้กลั่นตัวเป็นน้ำดื่มสะอาดสำหรับประชากรในพื้นที่ที่ประสบปัญหานี้

Warka Tower มีลักษณะเป็นหอคอยโครงสร้างไม้ไผ่เส้นยาวและเหนียวถักทอเป็นผิวอาคาร ภายในติดตั้งผืนผ้าตาข่ายที่ทอขึ้นด้วยวัสดุในท้องถิ่น เช่น เชือกปอ จากหลักการทางวิศวกรรมของชิ้นงานที่มีรูปทรงเป็นท่อสูงกลวงทำให้เกิดการไหลเวียนของอากาศ ละอองน้ำในอากาศที่ไหลผ่านช่องตาข่ายจะถูกดักจับไว้ และเมื่อมีปริมาณมากพอจะกลั่นตัวเป็นหยดน้ำไหลลงสู่ภาชนะรองรับที่วางไว้ใต้หอคอย

ตัวหอคอยถูกออกแบบให้สร้างได้ง่ายด้วยเครื่องมือพื้นฐานที่หาได้ในชีวิตประจำวันและใช้เทคโนโลยีก่อสร้างที่ไม่ซับซ้อน แต่ในการติดตั้งจำเป็นต้องอาศัยการทำงานรวมกันของคนหนึ่งกลุ่มใหญ่ งานออกแบบชิ้นนี้ จึงไม่ได้แค่ตอบโจทย์ในเรื่องของแหล่งน้ำดื่มสำรองเท่านั้น แต่ยังกระตุ้นให้ชุมชนทำงานร่วมกันในการหาน้ำดื่มอีกด้วย เมื่อทรัพยากรเป็นผลลัพธ์ของการมีส่วนรวมของทุกคนก็จะยิ่งมีคุณค่าและไม่ถูกทิ้งขว้าง

Warka Tower ชิ้นแรกถูกติดตั้งที่ประเทศเอธิโอเปีย (Ethiopia) ในปี 2015 และโครงการก่อสร้างได้วางแผนจะขยายไปยังประเทศอื่น ๆ รวมถึงเฮติ (Haiti) เนปาล (Nepal) อินเดีย (India) โคลัมเบีย (Columbia) และซุมบา (Sumba) (อ่านเพิ่มเติมได้ที่ http://www.warkawater.org)

ภาพที่ 7 Warka Tower ในพื้นที่จริง
ที่มาภาพ : https://www.facebook.com/WarkaWater/

เทคโนโลยีใหม่เพื่อน้ำสะอาด: Metal-organic Frameworks (MOFs)

นอกจากในทางการออกแบบจัดการสิ่งแวดล้อม ในทางวิศวกรรมศาสตร์ก็มีความพยายามที่จะแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำสะอาด นักวิจัยของสองมหาวิทยาลัยชั้นนำของโลกคือ Massachusetts Institute of Technology (MIT) และ University of California at Berkeley ได้พัฒนาวัสดุชนิดใหม่ที่มีรูพรุนและสามารถดักจับไอน้ำในอากาศได้แม้ในพื้นที่แห้งแล้ง โดยอาศัยเพียงความร้อนเล็กน้อยจากแสงอาทิตย์

วัสดุชนิดใหม่นี้เกิดจากการจับคู่กันของสารประกอบโลหะกับสารประกอบอินทรีย์หลากหลายชนิด ซึ่งแต่ละชนิดมีความเหมาะสมในการดักจับโมเลกุลน้ำในอากาศที่ต่างกันไปตามแต่ละสภาพภูมิอากาศ ทำให้ MOFs สามารถปรับให้เหมาะสมกับการใช้งานในแต่ละพื้นที่ ถึงแม้วัสดุชนิดนี้จะยังอยู่ในขั้นทดลอง แต่นักวิทยาศาสตร์ก็ได้แสดงให้เห็นความหวังใหม่ ๆ จากโลกการศึกษาต่อการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม(อ่านเพิ่มเติมได้ที่http://news.mit.edu/2017/MOF-device-harvests-fresh-water-from-air-0414)

ภาพที่ 8 การทดลองการดักจับไอน้ำของวัสดุใหม่
ที่มาภาพ http://news.mit.edu/2017/MOF-device-harvests-fresh-water-from-air-0414

เรากำลังเดินมาถูกทางไหมในการแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำสะอาด?

การแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำสะอาดในปัจจุบันมุ่งเน้นไปที่การหาแหล่งน้ำทดแทนที่มีความซับซ้อนและยุ่งยาก เพราะการลดปัญหามลพิษในสิ่งแวดล้อมจำเป็นต้องใช้เวลาและอาจมีความยุ่งยากสูงขึ้นไปอีก แต่เราจะแน่ใจได้อย่างไรว่า เราจะหาแหล่งน้ำทดแทนได้เพียงพอกับคนจำนวนถึง 2.4 พันล้านคนที่กำลังเผชิญกับปัญหาการขาดแคลนน้ำที่มีคุณภาพดีพอสำหรับดื่มกิน โดยตัวเลขจำนวนนี้นับเป็นอัตราส่วนถึง 1 ใน 3 ของประชากรโลก 7.5 พันล้านคนในปัจจุบัน

สำหรับการแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำสะอาดที่นอกเหนือไปจากการหาแหล่งน้ำทดแทน บทความนี้ก็หวังจะช่วยรณรงค์ให้ทุกคนตระหนักถึงปัญหามลพิษในสิ่งแวดล้อมที่ส่งผลโดยตรงกับปัญหาการขาดแคลนน้ำสะอาดที่เรากำลังเผชิญ และร่วมเป็นส่วนหนึ่งของทางออกของปัญหาด้วยการลดผลกระทบของตัวเราต่อสิ่งแวดล้อม โลกได้หมุนมาไกลเกินกว่าเราจะหันกลับไปดื่มน้ำฝนรสหวานลอยดอกมะลิหอมเย็นชื่นใจแล้ว แต่ก่อนจะหยิบน้ำดื่มขวดต่อไป อย่าลืมคิดถึงว่าน้ำที่เราบริโภคนั้นเป็นทรัพยากรที่แบ่งปันกันทั้งโลก ดื่มและใช้น้ำอย่างรู้คุณค่าเป็นคำเตือนที่ยังคงใช้ได้เสมอตราบที่เรายังมีหวังถึงสิ่งแวดล้อมที่ดีขึ้น