ThaiPublica > เวทีปัญญาสาธารณะ > เวทีปัญญาสาธารณะ 5 “Digital Economy…เริ่มที่ไหน จึงจะไปถึง?” (ตอนที่ 1) : คลื่นดิจิทัลที่มาแต่ละครั้ง ใครขี่คลื่นได้ ก็จะเป็นปลาเร็วกินปลาช้า

เวทีปัญญาสาธารณะ 5 “Digital Economy…เริ่มที่ไหน จึงจะไปถึง?” (ตอนที่ 1) : คลื่นดิจิทัลที่มาแต่ละครั้ง ใครขี่คลื่นได้ ก็จะเป็นปลาเร็วกินปลาช้า

12 กุมภาพันธ์ 2018


สำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้าจัดเวทีปัญญาสาธารณะ หัวข้อ “Digital Economy…เริ่มที่ไหน จึงจะไปถึง?” ทั้งนี้เพื่อทำความเข้าใจว่าการก้าวสู่ Digital Economy จำเป็นต้องมีโครงสร้างพื้นฐานอะไรมารองรับ แล้วจะเริ่มที่ไหน/อย่างไร เพื่อให้ประเทศไทยก้าวไปสู่ Digital Economy ได้อย่างแท้จริง วิทยากรร่วมเสวนา ได้แก่ 1. นายอนุชิต อนุชิตานุกูล ประธานสายพัฒนาระบบงานช่องทางขายและผลิตภัณฑ์ ธนาคารเกียรตินาคิน จำกัด (มหาชน) 2. นายจรัล งามวิโรจน์เจริญ Chief Data Scientist & VP of Data Innovation Lab บริษัท เซอร์ทิส จำกัด 3. นายณภัทร จาตุศรีพิทักษ์ นักเศรษฐศาสตร์/คอลัมนิสต์ไทยพับลิก้า ดำเนินรายการโดย นายธีรวุฒิ ศรีพินิจ อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดขึ้นเมื่อวันพฤหัสที่ 21 ธันวาคม 2560 ณ SEAC ชั้น 4

ธีรวุฒิ: เริ่มต้นจากคำถามง่ายๆ ว่าดิจิทัลคืออะไร>

อนุชิต: ผมว่าคำถามนี้ทุกคนพอจะรู้อยู่ในใจ เพราะว่าเราตื่นขึ้นมาเดี๋ยวนี้ ตั้งแต่ลืมตาจนถึงหลับเลย มีแต่ดิจิทัล มีแต่เทคโนโลยีตลอดเวลา หยิบมือถือขึ้นมาอ่านข่าว นิตยสารเลิกหมดละ ทุกอย่างมือถือหมด อินเทอร์เน็ต แท็บเล็ต ทำธุรกรรมต่างๆ ติดต่อกับใคร คุยกับใคร คือทุกกิจกรรมของชีวิตมันอยู่ในชีวิตประจำวันเรียบร้อยหมดแล้ว ทั้งนี้ผมแยกว่ามีสาระและไม่มีสาระ ไม่ว่าจะเป็นคุยกับเพื่อน โพสต์ลงเฟซบุ๊ก ลงอินสตราแกรม ที่ทำธุรกรรมการเงิน ธุรกรรมติดต่ออะไร แต่อยากให้เข้าใจว่าไม่ใช่แค่มือถือ แต่มันไปไกลกว่านั้น มันกำลังเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจและการแข่งขันในระดับโลก

ยกตัวอย่างเช่น เมื่อสมัยก่อนประเทศหนึ่งจะไปแข่งขันกับประเทศอื่น ยังสู้เขาไม่ได้ ทรัพยากรอะไรต่ออะไรยังไม่เจริญก้าวหน้า ก็รับงานการผลิตมา ใช้แรงงานถูกๆ ผลิตรองเท้า ผลิตผ้า ใช้แรงงานคน อาศัยคน จีนก็โตมาแบบนี้ ไทยก็โตมาแบบนี้ แต่พอเศรษฐกิจดิจิทัล ความเปลี่ยนแปลงมันลึกเข้าไปกว่านั้น มันหมายถึงบริษัทหนึ่งอยู่ที่ชิคาโก แต่สามารถมีเทคโนโลยีใช้หุ่นยนต์ผลิตหมด และต้นทุนอาจจะต่ำกว่าบังกลาเทศซึ่งใช้แรงงานคนในการผลิต เศรษฐกิจดิจิทัลจะทำให้เกิดการแข่งขันที่เปลี่ยนไป

ประเทศที่ก้าวข้ามไปสู่เศรษฐกิจดิจิทัลไม่ได้จะติดหล่มเลยสมัยก่อนเคยใช้แรงงานถูกและพาคนทั้งประเทศยกระดับความเป็นอยู่ได้ ตอนนี้ไม่ได้ เพราะประเทศที่เหนือกว่าเขาผลิตได้ถูกกว่า เอาแรงงานถูกเข้าไปก็ไม่ได้ เพราะฉะนั้นเศรษฐกิจดิจิทัลไม่ได้แค่เล่นๆ อยู่ในชีวิตประจำวันบนมือถือ มันซึมเข้าสู่ทุกส่วน หมายถึงการผลิต การแข่งขันของทั้งเศรษฐกิจ เรื่องนี้จึงสำคัญอย่างมากว่านอกจากจะเปลี่ยนวิถีชีวิตแล้วจะทำให้ประเทศอยู่ได้หรืออยู่ไม่ได้ มันจะยกระดับความเป็นอยู่ของคนทั้งประเทศได้หรือไม่ได้ อยู่ตรงนี้เลย สูตรเดิมๆ ที่เคยทำให้ประเทศพัฒนาได้อาจจะทำต่อไม่ได้

ธีรวุฒิ: คุณจรัลมองอย่างไรบ้าง

จรัล: คงจะเสริมว่าอันหนึ่งเป็นเรื่องการเข้าถึงข้อมูล เมื่อก่อนนี้ถ้าเราอยู่ในประเทศไทยก็เห็นแต่ของไทยๆ แต่ตัวเศรษฐกิจดิจิทัลหรือแพลตฟอร์มที่เกิดขึ้น อินเทอร์เน็ตที่เกิดขึ้น มันทำให้เราเห็นข้อมูลจากโลกนอกประเทศ มันไม่มีขอบเขตแล้ว ถ้าคุณสามารถค้นหาได้ก็เข้าถึงข้อมูลได้ ข้อมูลตรงนี้นอกจากเสริมสร้างเรื่องการแข่งขันยังเสริมคามรู้ด้วย ยกตัวอย่างเด็กสมันนี้ ป.5 อาจจะรู้อะไรมากกว่าสมัยเราตอน ป.5 ตอนนี้ทุกอย่างมันกูเกิลได้ มันบอกได้หลายอย่างที่เมื่อก่อนต้องเดินเข้าไปในห้องสมุด แต่ตอนนี้ไม่ต้องแล้ว ทุกอย่างอยู่บนมือ เป็นการเปลี่ยนแปลงไปอีกระดับ

ธีรวุฒิ: คุณณภัทรว่าใครเข้าถึงดิจิทัลได้บ้าง

ณภัทร: อย่างที่บอก มันมีส่วนที่เป็นดิจิทัลและเศรษฐกิจ มันเป็นระบบนิเวศ ไม่ใช่ว่าเป็นโดดๆ อยู่ ไม่ใช่แค่ Digitization มันเหมือนเป็นเครือข่ายของกิจกรรมทางเศรษฐกิจทั้งหมด พูดง่ายๆ คือกระทบรุนแรงว่าใครจะอยู่รอด ใครจะอยู่ไม่รอด และกระทบทุกกิจกรรมที่ทุกคนจะทำทั้งวัน ตั้งแต่จะหาเงินอย่างไร เดี๋ยวนี้มียูทูเบอร์ (YouTuber) ถ่ายตัวเอง ได้เงิน บางคนทำข้าวแกงขายเดลิเวอรี มันเป็นวิธีหาเงินใหม่อันหนึ่ง เป็นต้น ต้นน้ำค่อยๆ ไหลมา ได้เงินมาแล้วก็ใช้จ่าย ใช้จ่ายตอนนี้ก็ไม่เหมือนสมัยก่อน เมื่อก่อนไปห้าง เดี๋ยวนี้บางทีกดอยู่ดีๆ อีก 2 วันคนมาส่งแล้ว นอกจากนั้น พอซื้อของเสร็จก็บริโภค มันก็เป็นวงจรแบบนี้ ไม่กระทบแค่ธุรกิจ มันมีภาคประชาชน มีรัฐบาล กิจกรรมระหว่างเรากับรัฐบาล พูดง่ายๆ คือครบวงจร ต่างจาก Internet Economy สมัย 10-20 ปีที่แล้ว อันนั้นมันเหมือนมันโดดๆ ของมันอยู่บนเว็บไซต์ แต่ตอนนี้แทบแยกไม่ออกว่าดิจิทัลกับชีวิตจริงขอบเขตอยู่ตรงไหน

ธีรวุฒิ: ทั้ง 3 ท่านจะพูดถึงว่าถ้าเราเข้าถึงเศรษฐกิจดิจิทัล สุดท้ายเราจะพาตัวเราออกไปเห็นพรมแดนมากขึ้น มีโอกาสทำธุรกิจมากมายมากขึ้น แต่ขอถามย้อนไปว่า ถ้าผมขออยู่ในกะลาของผมได้หรือไม่

ณภัทร:  คือผมมองว่าเรามีสิทธิที่จะหนี แต่ผมคิดว่าเราหนียากมาก ถึงแม้เราต่อต้าน เราไม่เชื่อในเรื่อง Data ไม่เชื่อในเรื่อง Internet of Things หนียากมากเพราะคนอื่นจะใช้มันกับคุณ อย่างง่ายๆ ว่าเราอยู่ในสังคมเมืองเวลาไปซื้ออะไร เขาจะคัดข้อมูลมาอยู่แล้ว เขารู้ว่าคุณชอบอะไร รู้ว่าคุณดูอะไร และพยายามหาคุณให้เจอ และจะพยายามเสนอของให้คุณซื้อ อยู่เฉยๆ เขาก็มาถึงเราได้ ต้องไปอยู่ในป่า แต่อยู่ในป่าจริงอาจจะหนีไม่พ้นด้วยซ้ำ ภาพถ่ายดาวเทียม มีผลอยู่ดี

ธีรวุฒิ: ถามคุณจรัลว่าคนกลัวเรื่องข้อมูลส่วนตัวแค่ไหน

จรัล: ตราบใดที่ยังใช้เฟซบุ๊กอยู่ ยังใช้กูเกิลอยู่ ยังใช้มือถืออยู่ ก็เป็นอะไรที่หนียาก เพราะว่าสุดท้ายคำถามคือว่า ความเป็นส่วนตัว เราเป็นเจ้าของข้อมูลของเราหรือไม่ สิ่งที่แลกมากับการใช้ของฟรีคือเขาได้ข้อมูลเราไป ถามว่าข้อมูลเก็บไว้ที่ใครก็ไม่ได้อยู่ที่ไทย กูเกิลก็เป็นเจ้าของ เฟซบุ๊กก็เป็นเจ้าของ ไลน์ก็เป็นเจ้าของ คือโอเคเขามีข้อตกลงของเขา แต่สุดท้ายเราก็เข้าถึงไม่ได้ในระดับหนึ่ง ถามว่าเราจะไปดูสิ่งที่เราเคยพูดมาในไลน์ทั้งหมดได้หมดหรือไม่ ก็ไม่ทั้งหมด ฉะนั้นตราบใดที่ยังใช้สื่อดิจิทัล เราก็มีการแลกเปลี่ยนกับบริการอยู่ดี ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นเรื่องความเป็นส่วนตัว

ธีรวุฒิ: ถามคุณอนุชิตว่าเราควรระวังหรือใช้ประโยชน์จากมันอย่างไร

อนุชิต: เรื่องกลัวกับกับเรื่องหนีเกี่ยวโยงกันอย่างมาก ถ้าดูกว้างๆ กว่านั้น คือเทคโนโลยี จริงๆ ในประวัติศาสตร์มนุษย์มีการพัฒนาของเทคโนโลยีมาเรื่อยๆ แล้วทุกครั้งที่มีเทคโนโลยีอะไรมันก็เกิดความเปลี่ยนในโลก มันเปลี่ยนแปลงในทั้งเศรษฐกิจ การเมือง การปกครอง อาจจะทำให้ประเทศหนึ่งล่ม ประเทศหนึ่งเจริญขึ้นได้ ยกตัวอย่างจิ๋นซีรวมประเทศจีนได้ เพราะเทคโนโลยีการรบใหม่ มีธนู ช่วงที่ฝรั่งออกมาล่าอาณานิคม เขาใช้เทคโนโลยีเรื่องปืน ดังนั้นเทคโนโลยีมันเคลื่อนสิ่งต่างๆ

คนที่เคยหนีอย่างสมัยก่อนตอนที่ฝรั่งบุกอเมริกา ชนพื้นเมืองหนีขึ้นเขา จนชาวมายา ชาวแอซเทค เขาก็ไล่กลับไปยึดได้หมด ฉะนั้นแล้วการหนี หนียาก เราพยายามหนี เขาก็วิ่งมาหาเราอยู่ดี เทคโนโลยีมันเป็นการเปลี่ยนแปลงโลกอยู่แล้ว เหมือนสมัยก่อนคนไทยหนีกล้อง เรามานึกถึงสมัยนั้นตอนที่เรามาอยู่สมัยนี้ เราก็คงคิดได้อย่างไรกลัวกล้อง แล้วสักพักหนึ่ง ตอนนี้ชินไปแล้ว ผมนึกถึงว่าหนีคงหนีไม่ได้หรอก มันมาถึงตัวแน่ เพียงแต่จะหนีได้นานแค่ไหน แล้วถ้าหนีไม่ได้ พยายามเข้าใจมันและใช้ประโยชน์ เราจะได้ประโยชน์จากมันมากกว่า

ผมเปรียบเทียบให้ฟังว่าเรารู้ว่าสึนามิจะมา ถ้าเราวิ่งหนีแต่วิ่งใต้คลื่นอย่างไรก็โดนกลืน ตายอย่างเดียว แล้ววิ่งหนีสึนามิ จะหนีอย่างไร คิดใหม่ ถ้าสึนามิมาจะทำอย่างไร เราจะได้เปรียบจากคลื่นนี้ คลื่นของการเปลี่ยนแปลงนี้ ถ้าเราขี่บนยอดคลื่นได้ พลังของคลื่นที่เปลี่ยนแปลงจะพาเราไปได้เร็วกว่า ฉะนั้น ทุกครั้งที่มีการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีในคลื่น ในเรื่องดิจิทัลที่มาแต่ละครั้งใครขี่คลื่นอันนั้นของการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีได้ก็จะได้เปรียบในการเปลี่ยนแปลงสังคมและมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น

ธีรวุฒิ: ขอกลับมาทางนี้บ้าง ในเมื่อสินามิมา มีโอกาสมีการปรับตัวต่างๆ และหนีไม่พ้นแน่ๆ เราของมองไปอีกทางหนึ่งว่าถ้ายอมรับกระแสมันปลายทางที่จะใช้ประโยชน์มันได้เต็มที่เราจะได้อะไรบ้าง ทั้งภาครัฐ เอกชน ครัวเรือน ธุรกิจ 

อนุชิต: อย่างแรกที่คุณจรัลพูดไปแล้ว เทคโนโลยีที่เป็นอยู่ปัจจุบันมันเหมือนกับที่ผมพยายามเปรียบเทียบประวัติศาสตร์ มันก็ย้อนรอยตลอดในรูปแบบที่ต่างกันเท่านั้น เทคโนโลยีที่ทำให้คนติดต่อสื่อสารกันได้สมัยก่อนเป็นเรือ เครื่องบิน มันก็ทำให้โลกกว้างขึ้น ตอนนี้คือข้อมูลคือการสื่อสาร คือการที่เราไปถึงได้ทั่วทั้งโลก จริงๆ ขอบเขตประเทศมันแทบจะไม่มีความหมายแล้ว กะลามันหมดไปตั้งนานแล้ว คุณอยู่เฉยๆ เขามาทุบกะลาแล้ว คุณจะหลับตาเท่านั้นหรือเปล่า หรือเปิดตาดูโลก

ดังนั้น การที่มันกว้างขึ้น มีข้อมูลมากขึ้น มีความรู้มากขึ้น มันเปิดโอกาสมากมาย เราจะเห็นสมัยก่อนเป็นไปได้อย่างไรเด็กอาจะ 20-30 จะเป็นเศรษฐี สร้างธุรกิจขึ้นมาขายของคนทั่วโลก มีคนใช้แอปพลิเคชันเป็น 1,000 ล้านคน ความเป็นไปได้พวกนี้อดีตมันเป็นไปไม่ได้

แต่ว่าโลกใหม่นี้มันก็เป็นโลกที่บางคนจะบอกว่าถ้าจะหาความยุติธรรม มันก็ไม่ยุติธรรมหรอก มันจะมีคนได้เปรียบและคนเสียเปรียบในทุกความเปลี่ยนแปลงเสมอ อย่างที่ผมว่าใครจะอยู่ใต้คลื่น ใครจะขี่บนคลื่นเท่านั้นเอง แล้วมันต่างตรงไหน มันไม่ใช่ว่าใครฉลาดหรืออึดกว่ากันแล้ว ต้องทั้งฉลาด ขยัน เร็ว เรียนรู้ให้ทัน ไม่กลัว อย่างที่เมื่อกี้ว่ากลัวเรื่องความเป็นส่วนตัว จริงๆ แล้วจะเห็นว่าความกลัวเหมือนเมื่อกี้เล่าเรื่องกล้อง กลัวเพราะไม่รู้ ถ้ารู้แล้วไม่กลัว เหมือนกัน การอยู่ในโลกปัจจุบันกลัวเรื่องข้อมูลส่วนตัว ถ้าเข้าใจมีความรู้พอ คุณจะรู้ว่าอะไรทำได้อะไรไม่ได้ อันนี้ระวังอันนี้ไม่ต้องระวัง มันเหมือนกัน อย่างไฟฟ้ามันมีทั้งคุณมีทั้งโทษ คนไม่รู้ก็กลัวไฟฟ้า คนใช้ไม่เป็นก็ถูกไฟดูด คนใช้ประโยชน์ได้ก็สร้างประโยชน์มาก เป็นแบบนี้ทุกเรื่อง เราทุกคนหนีหลีกเลี่ยงไม่ได้แล้ว มันมาแล้วเรียนรู้ใช้ประโยชน์ต้องเพิ่มความรู้ ไม่เช่นนั้นจะตกเป็นคนที่ด้อยโอกาสเสียโอกาสในความเปลี่ยนแปลงนี้

ธีรวุฒิ: ใครขยันใครไว ใครคิดได้เร็ว โอกาสรออยู่ตรงนั้น คุณจรัลเห็นปลายทางของดิจิทัลอย่างไร เราจะได้ประโยชน์อะไรจากตรงนั้นบ้าง

จรัล: ก็มีคำพูดว่าปลาเร็วกินปลาช้า ไม่ใช่ปลาใหญ่กินปลาเล็ก และอย่างที่หลายท่านเล่า ตัวดิจิทัลมันสร้างโอกาสใหม่ว่าการเข้าถึงตลาด การเข้าถึงแอปพลิเคชัน การเข้าถึงลูกค้าใหม่ๆ ถ้าสมมติว่าตอนนี้อยากจะขายอะไร ถ้าหาที่ช่องทาง หา Influencer หาเครือข่ายที่ถูกจะทำให้เกิดตรงนั้นได้

และ ณ วันนี้คงเป็นลักษณะว่าเรายังอยู่ในโลกที่ยังปฏิสัมพันธ์กับโลกผ่านหน้าจอมือถือเป็นหลัก แต่ในอนาคตอาจจะเปลี่ยนไป การมีปฏิสัมพันธ์กับโลกดิจิทัลอาจจะเหมือนกับที่พูดกับคนตอนนี้ เป็นสื่อด้วยการพูด ไม่ต้องพิมพ์หรือคุยกับหุ่นยนต์บริการ ซึ่งมันเข้าถึงอีกแบบหนึ่งและความรู้ที่จะเข้ามา ถ้าจะมองเป็นภาพไม่แน่ใจว่าผู้ชมอาจจะไม่รู้ทันหรือไม่ ภาพยนตร์เรื่อง Minority Report โลกจริงกับโลกเสมือนจะอยู่ใกล้ๆ กันแล้ว เราจะมองเห็นทุกอย่างเหมือนมีอะไรเกิดขึ้น

วันนี้เราก็มี Augmentrd Reality ที่ใส่แว่นแล้วจะผ่าตัด เขาก็กาให้ดูเลยว่าตรงนี้เป็นรอยผ่าตัดนะ เทคโนโลยีแบบนี้วันนี้ก็ไม่ไกลจากเรา เป็นลักษณะของเกมของการเรียนการสอน เป็นงานช่างเปลี่ยนท่อเปลี่ยนอะไร ใส่แว่นแล้วจะบอกเลยว่าขั้นตอนใส่ตัวนั้นต้องทำอะไรอย่างไรตามอะไร เพราะฉะนั้นการเข้าถึงข้อมูลการเรียนรู้ก็จะเปลี่ยน เพราะฉะนั้นความรู้มาปุ๊บ ทำให้คนมีประสิทธิภาพมีความสามารถ มันก็ทั้งข้อดีข้อเสียว่าพอเรารู้เยอะเราก็ต้องใช้ให้เป็น สุดท้ายเทคโนโลยีคือว่าทำอย่างไรให้เกิดประโยชน์

นายณภัทร จาตุศรีพิทักษ์ นักเศรษฐศาสตร์/คอลัมนิสต์ไทยพับลิก้า, นายจรัล งามวิโรจน์เจริญ Chief Data Scientist & VP of Data Innovation Lab บริษัท เซอร์ทิส จำกัด, นายอนุชิต อนุชิตานุกูล ประธานสายพัฒนาระบบงานช่องทางขายและผลิตภัณฑ์ ธนาคารเกียรตินาคิน จำกัด (มหาชน) และ ผู้ดำเนินรายการ นายธีรวุฒิ ศรีพินิจ อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ภาพจากซ้ายไปขวา)

ธีรวุฒิ: ถามคุณณภัทรว่า ถ้าผมเป็นเอสเอ็มอีสักราย อยากจะเกาะกระแส ถ้าผมเกาะได้เต็มรูปแบบผมเห็นโอกาสธุรกิจทางไหนบ้าง

ณภัทร:  ถ้าเป็นเอสเอ็มอีในไทย ขายกับตลาดไทย อันนี้จะมีโอกาสมาก ผมไปอ่านรายงานหนึ่งของกูเกิลกับเทมาเสก เขาบอกว่าคนไทยใช้มือถือ 4 ชั่วโมงกว่าต่อวัน รู้สึกว่าต้นๆ ของโลก ผมไม่แน่ใจว่าเขาไปเก็บอย่างไร แต่มันเยอะมากถ้านับว่าวันหนึ่งมี 24 ไปแล้ว 4 อยู่ในมือถือ สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น ต่ำกว่า 2 ชั่วโมง แล้วถ้านับว่าเราตื่นกี่ชั่วโมง ตีซะว่า 16 ชั่วโมง เล่นมือถือ 4 ชั่วโมงคือ 1 ใน 4 ของเวลาที่เราตื่น อยู่กับมือถืออยู่กับรถติด กลายเป็นว่าคนไทย เรื่องของคน เรื่องของผู้บริโภค พร้อมรับแน่นอน ถ้าเราเป็นผู้ประกอบการเราควรใช้โอกาสนี้ให้เป็นประโยชน์ในการเข้าสู่มือถือ คนเขาพร้อมซื้ออยู่แล้ว มันต่างกันถ้าไปตลาดในประเทศที่ไม่มีคนใช้มือถือเท่าไหร่ มันจะยากกว่าอันนี้คนไทยเข้าได้

อนุชิต: มีคนเคยถามผมเหมือนกันว่าประเทศไทยเป็นเศรษฐกิจดิจิทัลหรือยัง ผมเลยบอกว่าทั้งใช่และไม่ใช่ อย่างที่คุณณภัทรที่ให้ข้อมูลว่าใช้มือถือเยอะมาก เผลอๆ ตอนฝันใช้ด้วย รวมชั่วโมงยิ่งเยอะ แต่ที่ผมว่าใช่และไม่ใช่คือว่าใช่ที่คนไทยใช้เยอะ แต่ที่ไม่ใช่คือเขาทำแต่เรื่องที่ไม่เป็นสาระ อันนี้เป็นจุดอ่อนต้องว่ากันไปตามตรง คือคนไทยจะสนใจเรื่องเฟซบุ๊ก อินสตาแกรม มากกว่าจะใช้มันในเชิงที่สร้างธุรกิจเพิ่มขึ้น ผมอยากจะยกตัวอย่างอันหนึ่งว่าต่อไปสิ่งที่จะเห็นทั่วโลกคือเศรษฐกิจโลกมันฟื้นตัวแล้ว ตัวชี้วัดมันชี้มา เมืองไทยเห็นโต จีดีพีเติบโต แต่ต่อไปการโตพวกนี้จะตกไม่ทั่วฟ้า เพราะคนที่ปรับตัวได้ก็จะโตและคนอีกจำนวนเยอะเลยที่ปรับตัวไม่ได้จะบ่นว่าว่าทำไมเศรษฐกิจโตแล้วความเป็นอยู่ยังไม่ดีขึ้น

ผมเปรียบเทียบให้เห็น สมมติ 2 ร้านอาหารตั้งติดกัน ไม่ต้องพูดถึงร้านที่อยู่บนโลกเสมือนหรืออะไรนะ ร้านหนึ่งผัดขายไปเหมือนทุกวัน ก็บ่นว่าลูกค้าหายไปหมด แต่อีกร้านข้างๆ รับส่งอาหารจากไลน์ จากอูเบอร์ จากอะไรต่ออะไร เขาก็ขายดี ไม่มีคนเดินเข้าร้านเลย เพราะพฤติกรรมคนเปลี่ยน เศรษฐกิจก็จะมีโต คนที่โตคือคนที่ปรับตัว เขาจะรู้สึกว่าทำไมเศรษฐกิจโตขึ้นเยอะจัง แต่อีกคนจะบ่นว่าเศรษฐกิจโตแต่ทำไมยอดขายลง แต่ที่ผมเป็นห่วงคือว่าจะได้เห็นลักษณะนี้ คือเศรษฐกิจโต แต่คนจำนวนมากที่ปรับตัวไม่ทันและเป็นคนจำนวนมากด้วยจะบ่นว่าทำไมรู้สึกว่าเศรษฐกิจไม่ดี อันนี้คือข้อท้าทายของการยกระดับระเทศเราให้พ้น ให้เดินไปพร้อมๆ กันได้ในการเปลี่ยนแปลงนี้

จรัล: ผมขอเสริมว่าจริงๆ แล้วคนไทยเป็นชาติที่ใช้เทคโนโลยีได้อย่างสร้างสรรค์ ยกตัวอย่าง เฟซบุ๊ก อินสตาแกรม แทนที่จะเป็นแพลตฟอร์มโชเชียลมีเดีย แต่เอามาขายของ ปัญหาคือว่าขายของเหมือนกันหมดเลย มุมมองของการสร้างความแตกต่างอาจจะยังเป็นประเด็นอยู่บ้างแต่ไม่เยอะ เหมือนเดินไปเจอร้านขายก๋วยเตี๋ยว 5 ร้านเหมือนกันหมดเลย

ณภัทร: อย่างที่กล่าวไปว่ามันเป็นที่ระบบนิเวศ เหมือนว่ามันเป็นไปไม่ได้ว่าจะเป็นอย่างเดียว ดิจิทัลมันไม่ใช่ว่ามีแค่เทคโนโลยีเดียว แต่มันมาเป็นสึนามิ หลายคลื่น คลื่นใหญ่ คลื่นเล็ก มี Big Data มี AI คือแต่ละคลื่นมันมีลักษณะของมันเอง แล้วที่จำเป็นมากเลยคือสภาพแวดล้อมทางธุรกิจ มันไม่ใช่ว่ามีคนใช้กับคนคิด มันต้องมีธุรกิจที่นำเทคโนโลยีพวกนี้ไปใช้ มันถึงจะสมบูรณ์ ต้องมีความหลากหลาย ไม่ใช่แค่ใช้แค่โซเชียลมีเดียอย่างเดียว มันเป็นแค่มิติเดียวของเศรษฐกิจดิจิทัล

ธีรวุฒิ: ผมฟังแล้ว ถ้าผมเป็นเอสเอ็มอีจะเห็นโอกาสอยู่ข้างหน้าแล้ว เอาเป็นว่าถ้าสามารถปรับตัวเกาะกระแสไปได้ ผมจะมีโลกธุรกิจที่กว้างมาก และถ้าเมื่อไหร่ก็ตามผมมีนวัตกรรมใหม่ๆ ผมจะแน่ใจว่าผมจะหาลูกค้าเจอได้

อนุชิต: ผมอยากให้คิดถึงอย่างที่บอกว่าให้มองประวัติศาสตร์ เทคโนโลยีก็เหมือนตอนที่ไฟฟ้ามา มันเป็นเรื่องธรรมดา หรือคิดถึงตอนที่ใช้รถยนต์มาแทนรถม้า ถ้าใครบอกว่าอย่างไรฉันก็รักม้า รถยนต์ฉันกลัวไม่อยากใช้น้ำมันกลัวระเบิด อะไรก็ว่าไป ความกลัว ลองดูทุกวันนี้เหลือรถม้าหรือไม่ หรือตอนที่ไฟฟ้ามา ธุรกิจหนึ่งบอกไม่เอา อีกคนใช้ไฟฟ้า ใช้เครื่องจักร แน่นอนสักพักการคัดสรรตามธรรมชาติจะกวาดเอาคนที่ไม่พร้อมออกไป แล้วตอนนี้ที่หนักกว่านั้นคือ มันไม่ได้ค่อยๆ กวาด มันกวาดทั้งโลก มันแข่งขันทั้งโลกไปหมดแล้ว

จรัล: โลกมันเปลี่ยน คนก็กลัว แต่คนที่จะชนะคือคนที่ข้ามความกลัวนั้น

อนุชิต: ผมเป็นห่วงว่าธรรมชาติคนไทยจะขี้กลัวเกินเหตุ เหมือนอย่างที่ผมเคยเล่าให้ฟังในหลายรอบว่าการเปลี่ยนแปลงเลิกใช้พดด้วงมาเป็นธนบัตรเรายังต้องใช้เวลานานมากเลย คนไทยกลัวธนบัตร คนไทยกลัวกล้อง เรามีแนวโน้มในทางเป็นคนขี้กลัว ไม่เหมือนบางชาติ บางชาติแอปพลิเคชันอะไรออกมาไม่รู้ ทดลองก่อน ทดลองทั้งเมือง ดีไม่ดีเลิกใช้ได้ แต่ของคนไทยออกมารอก่อน ถอยก่อน เรามีแนวโน้มอันนี้อยู่ในสังคมเรา

จะเห็นว่าประเทศไทยจะเยอะมากเลยคือมีข่าวร้ายไปก่อนและดังมาก สมมติว่ามีใครโดนหลอกอะไรสักอย่างจะเป็นข่าวดังมากและคนให้ความสนใจมาก ทั้งที่เป็น 1 กรณีจากที่ทำเป็น 1,000 ล้านรายการ เป็นแบบนี้ อันนี้ผมคิดว่าพวกเราเองในสังคมต้องช่วยกัน อย่ากระพือความติดลบให้คนกลัวไปมาก อย่างเราอยู่ในไลน์วันๆ ข่าวเท็จทั้งนั้น ถ้าเกิดเอาสูตรรักษามะเร็งก็ตายทุกราย แต่ส่งกันทั้งบ้านทั้งเมือง หรือตอนที่ทำระบบพร้อมเพย์ ยังไม่ทันเปิดใช้เลย ข่าวออกไปว่ามีคนถูกแฮ็กแล้วด่ากันกระจายทั้งๆ ที่ไม่เข้าใจ ของก็ยังไม่มี บอกถูกแฮ็กได้อย่างไรยังไม่ได้ใช้เลย แต่คนไทยเร็วมาก ได้มาก็รีบแชร์ก่อน ฉันต้องเป็นคนแรกที่จะกระจายข่าวนี้ ไม่ยั้งคิด มันมีส่วนของวัฒนธรรมที่ต้องคอยย้ำว่าเปลี่ยนเหอะ ทำอะไรมีสติก่อนแชร์ พยายามมองในแง่บวก เห็นภาพบวก ของทุกอย่างมีภาพบวกภาพลบ ภาพจะบวกเพราะคนเข้าใจ ภาพจะลบจะเกิดขึ้นเพราะคนไม่เข้าใจ คนมีความรู้จะปรับตัวได้ คนที่ไม่มีความรู้จะมีปัญหา

ธีรวุฒิ: จะเห็นว่าถ้าเปรียบเทียบดิจิทัลคล้ายๆ ว่า เรานอนอยู่บนเตียงที่ปิดไฟ เราไม่เห็นว่ารอบตัวคืออะไร ถ้าเปิดไฟเราจะเห็นว่ารอบตัวมีโอกาสเต็มไปหมดเลย คล้ายๆ กับเปลี่ยนว่าหาลูกค้าที่ติดกัน เห็นกัน ทำให้ลูกค้ามันอยู่ไกลเกินกว่าที่จะมองเห็น จะมีสิ่งที่เป็นตัวอำนวยความสะดวกไปเชื่อมต่อ ในเมื่อมีความกลัวพวกนี้ เราจะไม่กล้าใช้มัน

อนุชิต: ไม่ใช่แค่เรื่องกลัวเท่านั้น แต่มีเรื่องความรู้จริงๆ สำคัญ ต่อไปเราแข่งกันด้วยความรู้ ความฉลาด ข้อมูลน่ะมี ความรู้ตอนนี้ก็มีอยู่ทั่วโลกเลย เหมือนที่บอกกูเกิลก็รู้หมดแล้ว ตอนนี้เด็กไทยทุกคนไม่จำเป็นต้องรอไปเรียน MIT ไปเรียน Stanford มีหลักสูตรออนไลน์ เรียนได้หมด แต่เราจะทำหรือไม่  มันอยู่ตรงนี้เราจะหยิบหรือไม่ เอื้อมมือมันก็อยูตรงนั้น ตรงนี้ที่ต่างคือถ้าจะเปลี่ยนสังคมไทย ต้องให้คนไทยมองในภาพบวก และพยายามหาว่าจะก่อให้เกิดประโยชน์ได้อย่างไรได้บ้าง

ธีรวุฒิ: ผมคิดว่าในช่วงแรกเห็นภาพแล้วว่าเศรษฐกิจดิจิทัลคืออะไร ประโยชน์คืออะไรบ้าง เมื่อสักครู่คุณจรัลบอกว่าถ้ากลัวให้ไปอยู่ในป่า แต่ช่วงหน้าจะคุยว่าความกลัวคืออะไร มาเปิดฉายไฟมองกัน และเราจะข้ามไปได้อย่างไรไปสู่โลกของเศรษฐกิจดิจิทัลได้อย่างไร?

สนับสนุนเวทีปัญญาสาธารณะครั้งที่ 5 โดยกลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร