สำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้าจัดเวทีปัญญาสาธารณะ หัวข้อ “Digital Economy…เริ่มที่ไหน จึงจะไปถึง?” ทั้งนี้เพื่อทำความเข้าใจว่าการก้าวสู่ Digital Economy จำเป็นต้องมีโครงสร้างพื้นฐานอะไรมารองรับ แล้วจะเริ่มที่ไหน/อย่างไร เพื่อให้ประเทศไทยก้าวไปสู่ Digital Economy ได้อย่างแท้จริง วิทยากรร่วมเสวนา ได้แก่ 1. นายอนุชิต อนุชิตานุกูล ประธานสายพัฒนาระบบงานช่องทางขายและผลิตภัณฑ์ ธนาคารเกียรตินาคิน จำกัด (มหาชน) 2. นายจรัล งามวิโรจน์เจริญ Chief Data Scientist & VP of Data Innovation Lab บริษัท เซอร์ทิส จำกัด 3. นายณภัทร จาตุศรีพิทักษ์ นักเศรษฐศาสตร์/คอลัมนิสต์ไทยพับลิก้า ดำเนินรายการโดย นายธีรวุฒิ ศรีพินิจ อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดขึ้นเมื่อวันพฤหัสที่ 21 ธันวาคม 2560 ณ SEAC ชั้น 4
ธีรวุฒิ: ขอกลับเข้าสู่ช่วง 2 ตอนที่แล้วเราปิดไปว่าเศรษฐกิจดิจิทัลเป็นอย่างไรและดีอย่างไร และเรามีความกลัวอย่างหนึ่งว่าดิจิทัลอาจจะทำให้อยู่ในมุมมืดต่างๆกลับมา เราจะมาไขข้อสงสัยว่าความกลัวอยู่ตรงไหน หรือมีอะไรบ้าง เราจะเอาไฟส่องมุมมืดต่างๆ ผมขอเริ่มต้นจากคุณณภัทรว่า ถ้าพูดถึงดิจิทัลเราจะกลัวอะไร?
ณภัทร: มีหลายมุมครับ บางคนกลัวเรื่องความเป็นส่วนตัว กลัวว่าข้อมูลที่ใช้ของเราจะถูกผนึกร่างกลับไปและนำไปใช้อะไรบางอย่างหรือไม่ สองคือกลัวว่าสมมติถ้าเราเปิดบัญชี หรือระบบชำระเงินใหม่ๆ ใช้เงินดิจิทัลใหม่ๆ มันเอากลับมาเป็นเงินจริงได้หรือไม่ จะถูกแฮ็กหรือไม่ เป็นเรื่องความปลอดภัยก็เยอะ ไม่ใช่แค่ว่าเราใช้ไม่เป็นนะ หรือแบบเราไม่คุ้ม ใช้ไปแล้วคุ้มการลงทุนหรือไม่ แต่มันก็มีเรื่องความปลอดภัยด้วย มันเป็นเรื่องเทคโนโลยีที่ในอดีตจะใช้ดาบใช้ปืนอะไร มันก็มีเรื่องความปลอดภัย แต่ตอนนี้มันเริ่มจะซับซ้อนขึ้น ผมว่าอย่างไรก็คุ้มที่จะแลกเปลี่ยน
คืออย่าไปมองว่าอะไรใหม่มากๆ ไม่ใช้ดีกว่า แต่คิดซะว่าค่อยๆ ลองดู ค่อยๆ เรียนรู้กับมัน เพราะเรื่องการโจรกรรมข้อมูลอะไร ผมไม่อยากจะพูดว่ามันเป็นอะไรที่เกิดขึ้นตามปกติ มันก็มีเกิดขึ้นบ้าง แต่มันจะดีขึ้นเรื่อยๆ อย่างผมอยู่เมืองไทยกับเมืองนอก อยู่เมืองนอกโดนแฮ็กก็มีบ้าง มันไม่เคยขึ้นหน้า 1 แต่นับตามธุรกรรมมันควรต้องเยอะกว่า เพราะตลาดมันใหญ่มาก แล้วระบบตรวจสอบมันดีขึ้นเรื่อยๆ เพราะข้อมูลมันเยอะ วันหนึ่งใช้จ่ายกันเป็น 1,000 ล้านธุรกรรม มันก็ต้องมีโดนแฮ็กบ้าง แต่ส่วนใหญ่ธนาคารเขาพยายามจะปกป้อง คือเขาอยากให้ใช้ธุรกรรม ไม่อยากให้คนกลัว เขาต้องปกป้องว่าถ้าเราโดนก็ได้เงินคืนนะ มันก็แข่งขันระหว่างคนที่ปกป้องระบบกับพวกมิจฉาชีพ
อนุชิต: ขอเสริมจากที่ทำงานธนาคารมานานเป็น 10 ปี ผมว่ารายการที่มีปัญหามันน้อยมากเมื่อเทียบกับจำนวนรายการปกติ แต่คนไทยให้ความสำคัญกับข่าวร้ายมากกว่า และทุกคนจะกระพือ มองดูแต่เรื่องร้าย คนไทยมีจินตนาการด้านลบเก่ง ต้องยอมรับ ไม่เช่นนั้นเราคงไม่มีเจ้าพ่อหนังผีของโลก ทำได้ดีมาก จินตนาการด้านลบกับของที่มองไม่เห็น เราจะเก่ง
รวมทั้งอันหนึ่งที่น่าเสียดาย สิบกว่าปีที่ผ่านมาเป็นเรื่องของความขัดแย้ง ทำให้คนไทยไม่เชื่อถือในระบบสถาบัน แต่กลับมาธนาคารว่ากรณีที่เกิดปัญหาขึ้น ถ้าดูลึกๆ ส่วนมากจริงๆ เราไม่ได้ถูกแฮ็ก ธนาคารไม่ได้ถูกเจาะ ระบบป้องกันเยอะมาก ต้องบอกว่าระบบธนาคารเจาะยากมากเลย ไม่ใช่ง่ายๆ ส่วนใหญ่ที่มีปัญหาจากการใช้งานของลูกค้าโดยไม่ระวังหรือไม่มีความรู้ ผมถึงบอกว่ากลัวเพราะไม่รู้ และมีปัญหาเพราะไม่รู้ เช่น มี username และ password ก็จดแปะไว้เลย มี PIN ก็เขียนแปะลงบัตรไป อย่างนี้เรียกว่าทำเอง เทคโนโลยีอะไรก็ช่วยไม่ได้
ผมยกกรณีให้ดูอันหนึ่งที่เคยเจอว่าขนาดคนร้ายโทรมาหลอกถาม ถามอะไรบอกหมดทุกอย่าง ถามขนาดว่า…ตอนแรกคนร้ายเข้าบัญชีไม่ได้ ก็โทรมาบอกให้ไปสมัคร Internet Banking ที่ตู้ ATM ก็ไปสมัครให้คนร้าย พอได้รหัสคนร้ายถาม username และ password มา ก็บอกให้คนร้ายอีก คนร้ายเอาไปใช้ ติด OTP ของมือถือ ก็โทรกลับมาใหม่ให้ไปเปลี่ยนเบอร์มือถือให้ด้วย ก็ไปเปลี่ยนให้เขา นี่คือกรณีจริงๆ แล้วเป็นคนมีความรู้นะ แต่ปัญหาคือทั้งหมดเราจะอยู่ในโลกที่อาศัยความรู้ได้ เราต้องมีความรู้ต้องอัปเดต ต้องเรียนรู้ ปฏิเสธไม่ได้
ธีรวุฒิ: กลับมาที่คุณจรัล เราคุยกันว่า เราอยากรู้อะไรก็เข้ากูเกิลอะไรบ้าง บางคนบอกว่าเฟซบุ๊กกับกูเกิลรู้จักเรามากกว่าเราอีก แบบนี้ความเป็นส่วนตัวของเราในโลกดิจิทัลเป็นเรื่องที่ต้องกังวลมากแค่ไหน หรือมันไม่ต้องกังวลมากขนาดนั้น
จรัล: คงเสริมจากที่เล่าให้ฟัง อันหนึ่งเป็นเรื่องความรู้ สุดท้ายต่อให้เรามีระบบตรวจจับขนาดไหน ระบบป้องกันความเป็นส่วนตัวขนาดไหน ถ้าคุณไม่ใช้ความรู้ ไม่รู้ และไม่ได้บอกผ่านคนอื่น ยกตัวอย่าง ถ้าพูดในฝั่งความปลอดภัย ก่อนที่ผมจะกลับมาเมืองไทยและได้ทำ คือมี Cyber Attack ในหลายรูปแบบ ส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องคนใช้ที่ไม่ตระหนัก ไม่รอบคอบ เช่น เรื่องการสร้าง password เป็นอันหนึ่งเลยว่าชอบใช้ซ้ำๆ หรือตั้งสั้นๆ หรือสามารถเดาได้ง่ายๆ เพราะสุดท้ายความแข็งแรงของ password อยู่ที่ความยาวของมัน
ธีรวุฒิ: ขอถามต่อว่าเวลาสมัคร เราจะจำ password ยาก ทุกท่านอาจจะเห็นเหมือนกัน เราอยากตั้ง แต่มันเยอะแล้วมันยากนะ
จรัล: ก็แทนที่จะเป็น password ก็เป็น passphase สร้างเป็นประโยคเลย แบบอะไรก็ได้ที่จำได้
อนุชิต: แต่ผมว่าต่อไปจะดีขึ้น ต่อไปจะเปลี่ยนไปเป็นลายนิ้วมือ มีทางเลือกอย่างอื่น มันมีแต่พัฒนาดีขึ้น แต่ขอย้อนว่าก่อนที่จะมีโลกพวกนี้ โลกแต่เดิมเรามันปลอดภัยแค่ไหน ก่อนหน้านี้เรากลัวข้อมูลดิจิทัล แต่ก่อนเราถ่ายเอกสารข้อมูลชีวิตทั้งชีวิตไปให้เขาเป็นปึกเลย ลบก็ไม่ได้แล้วนะ ส่งเป็นกระดาษก็ไม่ได้ปลอดภัยกว่า เทคโนโลยีมีแต่ทำให้ปลอดภัยมากขึ้นเพียงแต่เราต้องเข้าใจและใช้เป็น แต่เราต้องย้อนคิดว่า ก่อนที่จะมีเทคโนโลยี เราก็ประมาทและเราเคยชินกับความประมาท พูดจริงๆ นะครับ อย่างง่ายๆ เราเข้าหมู่บ้านขอแลกบัตร ยื่นบัตร ไม่เห็นเรากลัวเลย แต่ระบบที่ให้กรอกรหัสเอง กี่ชั้น กว่าจะใส่ได้ กลัว ทั้งที่ระบบนั้นไม่มีคนแตะข้อมูลคุณเลย เผลอๆ กว่าจะเข้าถึงข้อมูลที่เก็บเอาไว้ ต้องใส่รหัสถอดรหัสเยอะแยะ เทียบกับหยิบบัตรเรายื่นให้เข้าเลยเรากลับไม่กลัว ทั้งหมดมันอยู่ที่ความเคยชิน พอไม่เคยชินเราก็ไม่เคยหยุดคิดเลยว่าอันไหนปลอดภัยกว่ากัน
ธีรวุฒิ: พูดถึงความเคยชิน กลับมาที่คุณณภัทรว่าประสบการณ์ที่อยู่ทั้งไทยทั้งสหรัฐฯ คนที่นั่นมีความตระหนักถึงความปลอดภัยหรือว่าระวังเหมือนคนไทยหรือไม่
ณภัทร: เขาจะเป็นอีกแบบหนึ่ง คือทุกคนกลัวอยู่แล้วเรื่องเงินถูกแฮ็ก ธนาคารไม่ถูกแฮ็กหรอก แต่ที่กลัวคือบัญชีเราเอง เราอาจจะสะเพร่าเอง บางทีโดดดูดไป แต่ที่เขาระแวงคือความเป็นส่วนตัว ซึ่งเขาจะระแวงมาก เป็นวัฒนธรรมของเขาที่คิดว่าทุกอย่างเป็นของเขา สิทธิของเขา แต่ถามผมเองที่อยู่มา 2 ประเทศ ผมคิดว่าการแลกเปลี่ยนระหว่างความเป็นส่วนตัวกับข้อมูลบางอย่างที่ไม่รุกล้ำเกินไป ผมคิดว่ามันยังคุ้มนะ เพราะผมได้อะไรกลับมา
อย่างเทียบ 10 ปีที่แล้ว บริการหลายอย่างมันแพงอยู่ แต่เดี๋ยวนี้มันฟรีหรือถูกมาก แล้วมันมีคนใช้เป็น 1,000 ล้านคนพร้อมกัน บางทีเราคิดว่ามันก็มีมาก็เอามาใช้ คือประโยชน์นิดหน่อยแต่กระจายออกไปที 1,000 ล้านคน อย่าง Pokemon GO ที่ทุกคนขำกันว่ามันไร้ประโยชน์ ผมว่าเป็นตัวอย่างที่น่าศึกษา เพราะว่ามันใช้ได้ทีเดียวไม่รู้กี่คน และในอดีตความบันเทิงสมัยก่อนมันไม่สามารถสร้างความบันเทิงได้ระดับที่เราเห็นกันเลย อย่าลืมว่ามันมีประโยชน์ที่จับต้องได้จริงด้วยกับการแลกเปลี่ยนความเป็นส่วนตัวไปนิดหนึ่ง
อนุชิต: ผมอยากจะเสริมกลับกันว่ามันเป็นประเด็นเรื่องความเคยชินว่า เดิมไม่เคยชินกับการใช้เทคโนโลยีก็คิดว่าแบบเดิมปลอดภัย ทั้งๆ ที่อาจจะไม่ปลอดภัย แต่พอเคยชินแล้วก็ประมาทต่อ นี่คือปัญหา ผมเห็นคนไทยพอย้ายเข้ามาเริ่มใช้เทคโนโลยี คราวนี้ประมาทแล้วพอเคยชินใหม่ ไม่ว่าใครทำแอปพลิเคชันอะไรมา หลอกถามอะไร บอกหมด ชื่อพ่อแม่ แฟนคนแรก หมาตัวแรก อาหารที่ชอบ บอกทุกอย่าง กินที่ไหนต้องประกาศให้โลกรู้ ถ่ายรูปโชว์ ทำเป็นพฤติกรรม ใครจะวางยาก็ไปยาวางพิษได้ คนไทยประกาศทุกอย่าง ประกาศข้อมูลส่วนตัวให้ค้นหาเจอเลย
ธีรวุฒิ: ผมมีประเด็นคำถามต่อเนื่องว่า ในเมื่อแบบนี้ คนหนึ่งระวังมากไม่กล้าให้ แต่อีกคนเปิดเผยตัวเองเข้าสู่โลก ในเมื่อมันมีโลกดิจิทัลเกิดขึ้น การที่จะนำตัวเองไปเป็นตัวเองในดิจิทัล เป็น Identity ของเรา เราควรจะระวังหรือป้องกันอย่างไรบ้าง
อนุชิต: ผมฝาก 2 ประโยคเท่านั้นจำง่ายๆ ข้อแรกถ้าอยากจะก้าวหน้า อยากให้สังคมก้าวหน้า อยากให้ประเทศก้าวหน้า เราต้องก้าวเดิน ถ้าเราไม่เลือกที่จะเดิน ไม่เลือกที่จะไปลองเดินออกไป ไม่มีทางหรอกครับ ถ้ากล้าที่จะเดินเพื่อก้าวหน้า ข้อที่สอง อย่ากล้าเกินตัว อย่ากลัวเกินการ พอเคยชินแล้ว กล้าใส่ทุกอย่าง โพสต์ทุกชนิด ให้ข้อมูลทุกอย่าง ทั้งหมดนี้แค่ 2 ประโยคเท่านี้เอง แล้วหาความรู้เยอะๆ อย่าหยุดนิ่ง หยุดหาความรู้ ทำไมอันนี้ควรทำ ทำไมอันนี้ไม่ควรทำ หาความรู้จริงๆ นะครับ ไม่ใช่ตามโซเชียลมีเดียและความรู้ที่ผิดๆ
จรัล: ผมชอบที่พูดว่าอันหนึ่งเราต้องทำคือต้องก้าวไปด้วยกัน ยกตัวอย่างเรื่องความปลอดภัยก็อันหนึ่ง ที่พอเราประมาทและไม่แบ่งปันความรู้ให้คนอื่นรู้เพื่อป้องกันไม่ให้เขาประมาท มันก็เป็นช่องทาง สมมติผมอยู่บ้านและเกิดลักษณะแบบนี้โทรมา ผมก็ต้องบอกให้แฟนรู้ก่อนว่าเจอแบบนี้นะ แล้วควรทำอย่าไง ความรู้ก็เหมือนกัน ต้องแบ่งปันกัน ให้เราโตไปด้วย แทนที่จะเกิดอาการขัดขากันเองในประเทศ ตรงนั้นต้องทำ การทำงานเป็นทีม ซึ่งดิจิทัลมันเปิดช่องทางให้เกิดตรงนี้ขึ้น
ธีรวุฒิ: กลับมาที่คุณจรัลอีกรอบหนึ่ง เพราะอยู่กับข้อมูลเยอะ เราควรจะระวังตัวเองในโลกดิจิทัลอย่างไรบ้าง
จรัล: ทุกอย่างมีขอบเขตว่าควรจะเปิดเผยระดับไหน ในโลกดิจิทัลสุดท้ายต้องดูว่า ถ้าเป็นอย่างเมืองนอกโซเชียลมีเดียมันจะแยกกัน คนใช้ลิงก์อิน (LinkedIn) ก็จะไม่ยุ่งกับเฟซบุ๊ก สมมติทำงานกันก็แชร์ลิงก์อินกัน ไม่แชร์เฟซบุ๊กให้ใคร ฉะนั้นเราต้องเลือกให้ถูกว่าวิธีการแชร์ข้อมูลควรจะแบ่งไประดับไหน เขาควรจะรู้ถึงระดับความสัมพันธ์ของเราหรือเปล่า เราต้องจำกัดด้วยว่าใครจะเข้าหาเราแค่ไหน ต้องเรียนรู้ว่าสื่อที่เราใช้แต่ละอันมันออกแบบขอบเขตการแพร่กระจายข้อมูลไปขนาดไหน เพราะฉะนั้นก็กลับมาที่เรื่องความรู้ ต้องเรียนรู้การใช้
อนุชิต: ทุกอย่างกลับมาอยู่ที่ความรู้ทั้งนั้น สังคมอยู่ที่ความรู้ แต่ผมอาจจะเสริมว่าจริงๆ มันไม่ต่างจากโลกความเป็นจริง เวลาไปเจอหน้าคนๆ หนึ่งหรือถ้าไปหน่วยงานหนึ่ง เขาซักถามเรา เราจะให้ข้อมูลเขาหรือไม่ ความคิดเป็นแนวเดียวกัน ถ้าเกิดสมมติเราไปสมัครบริการอันหนึ่ง ไม่ต้องพูดถึงดิจิทัล แล้วเขามีแบบฟอร์มมาให้เรากรอก เราก็ต้องเอ๊ะ มาถามเรื่องนี้ด้วย ต้องรู้สึกว่านี่เป็นข้อมูลที่ไม่น่าจะเกี่ยวข้องหรือเขาไม่ควรจะได้ไป แบบเดียวกัน พอเป็นดิจิทัลแล้วก็ต้องระวังแบบเดียวกัน แต่ผมกลับคิดว่าคนเราจะแปลอย่างหนึ่ง เวลาเห็นหน้าความไม่ไว้วางใจสูง แต่พอไม่เห็นหน้าเกิดไว้วางใจขึ้นมากกว่าปกติ เพราะไม่มีใครเห็น อันนี้ทำให้เกิดความประมาทขึ้นนะ ถ้าเกิดคุณเริ่มถามชักลึกแล้ว ผมก็จะไม่บอก แต่ถ้าไม่ใช่หน้าคนมาแต่เป็นแอปพลิเคชันมา มีช่องให้กรอกๆ ไป คิดว่าคนอื่นไม่เห็น แต่เปล่า ที่กรอกอาจจะออกไปถึงไหนๆ ต้องเลือกว่าเชื่อได้หรือไม่ คนนี้ หน่วยงานนี้ แอปพลิเคชันนี้ และให้แค่ไหนถึงจะพอ
ณภัทร: มันก็ขึ้นอยู่กับว่า Identity ที่เราต้องการให้เผยแพร่ มันกลายเป็นว่าปกติเราพบว่าเป็น 1 อัน หรือว่าอยู่บ้านจะเป็นอีก 1 อัน เมื่อก่อนมี 2 แต่เดี๋ยวนี้มีเป็น 10 ในไลน์เป็นอีก 1 ในเฟซบุ๊ก คือกลายเป็นว่าเราต้องเลือกให้เหมาะว่าพอเขามาเห็นหน้าเรา เราอยากให้รู้สึกอย่างไรกับความเป็นเรา และเดี๋ยวนี้คนที่ไม่ใช่เพื่อนก็มาแอดเรา บางทีเราเขียนบทความลงหรือเป็นบุคคลสาธารณะจะเริ่มมีคนที่อยากรู้จักเราเข้ามา แต่บางทีเราจะแชร์อะไรที่เป็นส่วนตัวมากๆ เราก็คิดว่าอยากจะแชร์ตรงไหน ต้องเลือกดีๆ
ธีรวุฒิ: ถามต่อว่าเราควรระวังแค่ไหนในการแสดงตัวตน แล้วอย่างในเมืองไทยเราจะเจอบ่อยที่ได้รับโทรศัพท์มา เมืองนอกเป็นหรือไม่ เราต้องระวังแค่ไหน
ณภัทร: ตอบคำถามแรกก่อน ผมว่าอย่างน้อยไม่ควรแชร์อะไรที่อ่อนไหวมากๆ แต่นิยามแต่ละคนก็ต่างกัน ผมยังเห็นประจำคือเพิ่งไปทำพาสปอร์ตมาแล้วถ่ายหน้าพาสปอร์ตเห็นชื่อเห็นเลขทุกอย่างลงไปในเฟซบุ๊ก ผมเห็นแล้วต้องส่งไปบอกว่าแบบนี้ไม่ได้ ไม่ควรแชร์ แต่กินข้าวที่ไหนพอได้ แต่อนาคตจะมีเทคโนโลยีบางอันที่อย่างไปทำงาน อันนี้ที่สหรัฐอเมริกายังค่อนข้างเทาๆ ว่าจะผิดกฎหมายหรือไม่ คือดูพฤติกรรมคนที่มาสมัครงานว่าเป็นอย่างไร บางทีเขาอยากพยากรณ์ว่าคนนี้เข้ามาจะดีหรือไม่ดี มีพฤติกรรมเสี่ยงแค่ไหน บางทีดูแค่ประวัติอาชญากรรม แต่ไม่ได้ดูว่าบทบาทนอกการทำงานว่าเป็นคนอย่างไร สูบบุหรี่ ดื่มเหล้า มีพฤติกรรมเสี่ยงไหน คือมันทำก็ทำได้ แต่กฎหมายจะป้องกันแค่ไหน ต้องระวังนิดหนึ่งเวลาที่ต้องแชร์มากๆ
จรัล: ก็มีคนก็ไปดูตามเฟซบุ๊ก ไปดูเบื้องหลังของผู้สมัคร อาจจะไปเปิดดูว่าแชร์อะไรบ้าง พูดจาอะไรออกไปบ้าง คุยอะไรบ้าง
อนุชิต: กลับกัน ถ้ามองอีกข้างหนึ่ง สมมติว่ามีคนมาสมัครงาน แล้วคุณไปเห็นแล้วว่าเขาเป็นมือวางระเบิดหรือชื่นชมในเรื่องก่อการร้าย มันก็เป็นข้อมูลสำคัญ อย่างที่ว่าทุกอย่างมันก็มี 2 ด้านทั้งนั้น แล้วแต่จะใช้
ณภัทร: ก็มีคนไล่ออกจริงๆ หลังจากจ้างไปแล้ว อย่างผู้สื่อข่าวไปพูดอะไรที่ไม่ดี ก็มีสิทธิ์เด้งได้เหมือนกัน
อนุชิต:อย่างที่พูดเมื่อกี้ พอมองไม่เห็นหน้าคนใช้งานมักมีความเชื่อที่ไม่เป็นจริงว่า เราพิมพ์อะไรบนหน้าจอ บางทีไม่มีคนเห็นนะ มันก็มีความแปลกเยอะ มีศัพท์ว่านักเลงคีย์บอร์ด พอเห็นหน้าไม่กล้าพูดอะไร แต่พอไม่เห็นหน้าทีนี้ตัวตนอะไรไม่รู้ออกมา
ธีรวุฒิ: อีกคำถามหนึ่งที่เรามักถูกถามและเรากระอักกระอ่วนแล้วไม่กล้าให้ มันมีกฎง่ายๆ อะไรที่ใช้ตัดสินใจหรือไม่
อนุชิต: ผมคิดว่าเลขบัตรประชาชนก็ไม่ต่างจากเรื่องอื่นๆ เป็นเลขหนึ่งไว้ระบุตัวคน แต่กฎของการให้ข้อมูลทุกอย่างคือให้คนที่น่าเชื่อถือและเท่าที่จำเป็นที่ต้องใช้ เช่น ไปสมัครงานแล้วไม่ให้มันก็เป็นไปไม่ได้ หรือไปสมัครธนาคาร ต้องตรวจสอบตัวตนแล้วไม่ให้ เขาก็ทำธุรกรรมไม่ได้ อันนั้นมันของที่จำเป็น แต่อยู่ดีๆ ถ้าไปโพสขึ้นในโซเชียลมีเดียแบบนี้มันก็ไม่ควร หรืออยู่ดีๆ ไปโหลดแอปพลิเคชันมาทดลองเล่นแล้วเกิดขอเลขที่บัตรประชาชน คุณควรให้หรือไม่ ซึ่งไม่เกี่ยวข้องเลย เขาไม่ใช่แหล่งที่น่าเชื่อถือ แล้วไม่ต้องทำธุรกิจธุรกรรมอะไรเลย แต่ก็มีคนให้ ก็โกยข้อมูลไป แต่ที่ผมเล่ายังเรื่องเล็ก ขนาดที่มีคนโทรมาถามก็ดันบอกทุกสิ่งทุกอย่าง ข้อมูลลับส่วนตัว
ณภัทร: ย้อนกลับมาที่ถามเรื่องการโทรมา โทรมามันเป็นสิทธิของเราที่จะไม่ตอบก็ได้ ยกเว้นอยากตอบ อย่างบริษัทโทรคมนาคมมาติดตั้งแล้วทำได้ดี ผมก็ตอบนะ ผมคิดว่าเขาควรได้ข้อมูลนี้ไป
อนุชิต: เรื่องโทรศัพท์ขอเสริมนิดหนึ่ง คนไทยควรรู้ 2-3 เรื่อง อันแรกคือถ้าบอกห้ามโทรแบบนี้ มันก็มีปัญหาอีกแบบ เพราะว่าบางทีคนที่อยากรับส่วนหนึ่ง คนที่ไม่อยากรับก็ส่วนหนึ่ง ถ้าห้ามหมดก็มีคนเสียประโยชน์ไปด้วย แต่ในสถานะของราชการก็มีกฎระเบียบอยู่แล้วเรียกว่า do not call list สมมติว่ามีคนโทรมาหาเรา เราแจ้งได้ว่าต่อไปอย่าโทรมา แต่เราก็ต้องเปิดช่องบ้าง สมมติเขามีเรื่องสำคัญ อย่างธนาคารถ้ามีพฤติกรรมประหลาดๆ กับบัญชีคุณ เขาก็ต้องรีบติดต่อ ถ้าคุณไม่ให้โทรในทุกกรณี คุณก็จะมีปัญหา เสียประโยชน์ไป เพราะฉะนั้นทุกอย่างคือสมดุล อย่างให้ 0 กับ 1 ถึงแม้เราจะดิจิทัลแต่ทุกเรื่องมันไม่มี 0 กับ 1 มันมีความเหมาะสมอยู่ตรงกลางอยู่
ธีรวุฒิ: ฟังดูความกลัวหลักมาจากความเป็นส่วนตัว อันที่สองคือความปลอดภัย เขาได้ข้อมูลไปแล้วจะทำอะไรบ้าง แต่ทั้ง 3 ท่านพูดค่อนข้างตรงกันว่าคือส่วนใหญ่วิวัฒนาการผ่านไปมันจะปลอดภัยขึ้น แล้วก็ความไม่ปลอดภัยส่วนใหญ่จะสามารถป้องกันได้จากการที่เราระวังตัวมากขึ้น กรองข้อมูลก่อน แล้วนอกจาก 2 ประเด็นหลักมีอะไรที่คนอาจจะกลัวกัน
อนุชิต: ที่เห็นคือจากให้ข้อมูลเท็จ จากจินตนาการ แล้วมันก็แปลกว่านักเลงคีย์บอร์ดมีเยอะเลย ผมพยายามจะบอกว่าถ้าคุยกับสาธารณะ ขอเหอะ อย่าใส่ข้อมูลเท็จลงไปเลย ทำบาปทำกรรมเหลือเกิน ผมเทียบว่ามันเหมือนปล่อยไวรัสออกไป แต่เป็นไวรัสทางความคิด เวลามันแพร่ไปแล้วมันจะกระจายออกไป ถอนยากแล้วรักษายาก ไวรัสคอมพิวเตอร์ ไวรัสที่เป็นโรคยังมียามีอะไรรักษาได้ ไวรัสความคิดน่ากลัวที่สุด พอคุณปล่อยความคิดที่มันผิดออกไปจะติดและกระจายออกไปไม่มีที่สิ้นสุด อย่างที่ปล่อยไป 5-10 ปีมันยังวนกลับมาอยู่เลย อันนี้กำลังทำบาปทำกรรมอย่างมหาศาลกับสังคมและทำให้สังคมเราแทนที่จะพัฒนาได้กลับล้าหลัง เพราะไปให้ความคิดผิดๆ ฝังในหัวแล้ว
จรัล: สุดท้ายต้องกลับมาว่าทำอย่างไรให้ชุมชนแข็งแรง เพื่อจะช่วยดูแลกัน เพราะสุดท้ายทัศนคติของคนต้องเปลี่ยน แต่ก็ต้องมีกลุ่มคนที่น่าจะมาช่วยเหลือดูแลตรงนี้ด้วย
อนุชิต: ผมยกตัวอย่างง่ายๆ อย่างบางทีคนส่งข้อมูลผิดๆ มาบนไลน์จากนักเลงคีย์บอร์ด หรือบางทีเป็นเป้าหมายทางการเมือง พอมีคนแก้ไข เราควรฝึกกันเลยว่าคนที่ส่งต้องส่งไล่ย้อนกลับไป ไปไล่ฆ่าข้อมูลผิดๆ ให้หมด แต่ไม่มีคนแก้ให้แล้วนั่งเงียบๆ กลัวเสียหน้าหรืออะไรแบบนี้ อาจจะไม่ทุกชาติ บางอย่างก็มีเฉพาะบางชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งความรับผิดชอบต่อสังคมเป็นอะไรที่คุยกันเล่นๆ ว่าคนไทยอะไรเป็นปัญหาสังคมไม่ใช่ปัญหาของเรา อันนี้ต้องเปลี่ยน บางชาติถ้าเป็นปัญหาสังคมต้องช่วยกัน ต้องเปลี่ยนมุมมองแบบนี้
ณภัทร: บางครั้งอย่างให้มันแก้ไม่ได้ ในโซเชียลมีเดียอ่านผิดไปแล้ว พาดหัวข่าวผิดไปแล้ว มันกลับไปไม่ได้ ไม่ใช่มาแก้ในคอมเมนต์ เพราะมันอ่านไปแล้ว ไม่มีใครอ่านอีก ต้องกลับไปโพสต์ใหม่อีก เป็นเรื่องของวัฒนธรรมของคนเอเชีย เรื่องหน้าตา การเสียหน้า
จรัล:ยังไงก็เป็นเรื่องความคิดคนว่าทำอย่างไรให้เกิดข่าวดีมากขึ้น อีกส่วนหนึ่งจริงๆ แล้วเราพูดอยู่ว่าในโลกของอินเทอร์เน็ตในส่วนที่เราเจอจริงๆ ที่เป็นส่วนน้อย ยังมีส่วนที่เราไม่เจอ เป็นช่องทางของผู้ร้ายและอาชญากรรมต่างๆ นานา เป็นอะไรที่คนต้องสร้างความตื่นตระหนกนิดหนึ่งไม่ให้คนประมาท มันเป็นอะไรที่คนต้องเริ่มเข้าใจตรงนี้บ้าง มีอยู่ตลอดเวลา ต้องมาช่วยกันกับคนในองค์กรเอง การช่วยเหลือระหว่างกันเป็นเรื่องที่ต้องเกิดขึ้น ถ้าไปดูจริงๆ ผู้ร้ายที่จะโจมตีนี่ละที่เขาทำงานกันเป็นทีม แต่เวลาเราสู้เราสู้คนเดียว
ณภัทร: เรายังไม่ได้พูดถึงจุดหนึ่งที่น่าจะเป็นจุดสำคัญคือเทคโนโลยี Blockchain เงินดิจิทัล ตอนนี้มีกระแสแรงมากๆ ผมก็กังวลอีกอย่างว่าเหมือนขึ้นไปขี่คอไปเรื่อยๆ ทุ่มทุนไปในอะไรที่ยังไม่เข้าใจ อย่างเรื่องบิตคอยน์ มีหลายคนที่ผมรู้จักไม่เข้าใจว่าคืออะไร แต่เห็นว่ากำลังขึ้น รู้แล้วด้วยว่าเป็นฟองสบู่ คือมั่นใจแล้ว แต่เทไปเลย บางทีเกือบทั้งหมด ดีไม่ดีกู้มาลง ยิ่งอันตรายมากถ้าเป็นสถาบัน ตอนนี้ก็มีพัฒนาการเยอะมากในต่างประเทศที่สถาบันเริ่มเอาเงินมาลงบ้างแล้วในฟิวเจอร์ของบิตคอยน์
อนุชิต: ย้อนกลับมาเป็นเรื่องความไม่รู้ ไม่เข้าใจให้ถ่องแท้ก่อน เพราะไม่รู้เลยไม่กล้าใช้ กับไม่รู้แล้วก็ใช้ มันเป็นปัญหา เพราะสังคมต่อไปเป็นสังคมแห่งความรู้ ทุกคนต้องยกระดับความรู้
จรัล: อย่างกรณีของบิตคอยน์ มันก็เป็นคล้ายๆ กับทัศนคติว่าบิตคอยน์เป็นการหาเงินที่ง่าย คนก็เริ่มเทไปทางนั้น ถ้ามันมีอะไรเกี่ยวข้องกับเงินแล้วมีลักษณะว่าช่องทางมันทำง่าย เกี่ยวข้องกับการพนันนิดนึง คนไทยก็จะเทไป
อนุชิต: ผมกลับคิดอีกอย่างว่าจะเข้าใจปัจจุบันต้องเข้าใจประวัติศาสตร์ ของมันซ้ำรอยเดิมเสมอ เราพูดถึงบิตคอยน์ตอนแรกๆ ตลาดก็เป็นแบบนี้ คนก็อยากรวยลัดรวยเร็วไม่อยากทำอะไร เล่นแบบพนันไม่มีความรู้ วันนี้เป็นบิตคอยน์ พรุ่งนี้ก็เป็นอย่างอื่นมา มันเป็นธรรมชาติของมัน กลับการณ์เดิมเสมอ สมัยก่อนก็มีฟองสบู่ทิวลิปก็เกิดขึ้นมาแล้ว ตอนนั้นราคาทิวลิปขึ้นไปแบบนี้แบบเดียวกัน ประวัติศาสตร์ซ้ำรอยเดิมเสมอ เพราะมนุษย์ไม่เคยเปลี่ยน
ธีรวุฒิ: รอบนี้เราคุยกันเรื่องว่าความกลัวของเศรษฐกิจดิจิทัลเกิดจากอะไรบ้าง ความโดยรวมมีเรื่องความเป็นส่วนตัว อันที่ 2 คือกลัวความปลอดภัย ใครจะล้วงข้อมูลของเราหรือไม่ นอกจากนั้นยังมีประเด็นสืบเนื่องที่ว่าเราคิดไปเองจากข่าวที่เราไม่กรองดี อีกอันพอเกิดเหตุเราก็ไม่ได้แก้ให้ทันการณ์ และสุดท้ายเกิดจากไม่รู้และไม่สืบค้นข้อมูล ซึ่งความกลัวทั้งหมดมันแก้ได้และจะนำไปสู่เศรษฐกิจกิจดิจิทัลที่มีประโยชน์ได้ ตอนต่อไปเราจะคุยต่อว่าภาครัฐและเอกชนจะเตรียมตัวอย่างไร
สนับสนุนเวทีปัญญาสาธารณะครั้งที่ 5 โดยกลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร