ThaiPublica > เกาะกระแส > ทุนนิยมยุค “ปราศจาก(สินค้า)ทุน” ต้นกำเนิดเศรษฐกิจ “สินทรัพย์มองไม่เห็น”

ทุนนิยมยุค “ปราศจาก(สินค้า)ทุน” ต้นกำเนิดเศรษฐกิจ “สินทรัพย์มองไม่เห็น”

8 กุมภาพันธ์ 2018


รายงานโดย ปรีดี บุญซื่อ

ที่มาภาพ : https://en.wikipedia.org/wiki/Google#/media/File:Googleplex-Patio-Aug-2014.JPG

เศรษฐกิจในยุคทุนนิยมสร้างความรุ่งเรืองและนวัตกรรมที่ไม่มียุคใดในประวัติศาสตร์จะมาเทียบเคียงได้ แต่ไม่มีประเทศไหนในโลกที่ปกครองโดยพรรคการเมืองที่เรียกตัวเองว่าพรรคทุนนิยม ในขณะที่มีพรรคการเมืองเรียกตัวเองว่า พรรคสังคมนิยม พรรคเสรีนิยม หรือพรรคคอมมิวนิสต์ เหตุผลหนึ่งเป็นเพราะคำว่าทุนนิยมมีความหมายในเชิงลบ ในอดีตถูกวิจารณ์ว่าเป็นระบบเศรษฐกิจ ที่มีการเอารัดเอาเปรียบ อีกเหตุผลหนึ่ง อาจเป็นเพราะทุนนิยมมีหลายรูปแบบ และมีพลังพลวัตที่เปลี่ยนแปลงตัวเองอยู่ตลอด

อย่างเช่นเศรษฐกิจในปัจจุบันที่เป็นยุคดิจิทัล บริษัทยักษ์ใหญ่ของโลกมีโมเดลการทำธุรกิจที่แตกต่างจากเศรษฐกิจในยุคอนาล็อก บริษัทชั้นนำที่มีมูลค่าเศรษฐกิจสูงสุดในโลกล้วนแล้วแต่เป็นบริษัทในด้านเทคโนโลยีทั้งสิ้น เช่น Google และ Facebook มีผลิตภัณฑ์ที่ไม่ได้มีรูปลักษณะเป็นสิ่งของวัตถุจับต้องได้ ส่วน Apple และ Amazon แม้จะขายสินค้าที่เป็นชิ้นเป็นอัน แต่ทว่า ความมั่งคั่งของทั้ง 2 บริษัทมาจากโมเดลธุรกิจ ตราสินค้า และระบบการทำงานของซอฟต์แวร์ ที่เรียกว่าอัลกอริทึม (algorithm)

ทุนนิยมยุค “สินทรัพย์มองไม่เห็น”

ที่มาภาพ : https://press.princeton.edu/sites/default/files/styles/large/public/covers/9780691175034_1.png?itok=ybMulyro

ในหนังสือที่เพิ่งจะพิมพ์ออกมาชื่อ Capitalism without Capital ผู้เขียนคือ Jonathan Haskel และ Stian Westlake กล่าวว่า ทุกวันนี้ คนทั้งหลายสนใจและวิตกกังวลต่อปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ ปัญหาที่ว่าทำไมการลงทุนทางธุรกิจมีอัตราต่ำ ทำไมค่าจ้างเพิ่มขึ้นช้า และทำไมผู้บริหารธุรกิจได้ผลตอบแทนที่สูงมาก เป็นต้น ทำให้คนเรามองข้ามแนวโน้มระยะยาวของเศรษฐกิจใหม่ที่กำลังเกิดขึ้น

นับจากกลางทศวรรษ 2000 เป็นต้นมา การปฏิวัติทางเศรษฐกิจเกิดขึ้นอย่างเงียบๆ ในประเทศที่พัฒนาแล้ว นับเป็นครั้งแรกที่ธุรกิจต่างๆ ลงทุนในสินทรัพย์ที่มองไม่เห็น (intangible assets) มากกว่าสินทรัพย์ที่มองเห็น (tangible assets) ธุรกิจหันไปลงทุนในเรื่องการออกแบบ ตราสินค้า การวิจัยพัฒนา และซอฟต์แวร์ มากกว่าที่จะลงทุนใน “สินค้าทุน” เช่น พวกเครื่องจักรกล อาคารสำนักงาน หรือคอมพิวเตอร์

บริษัทที่มีชื่อเสียงบางแห่ง มีเพียงแค่ทรัพย์สินที่มองไม่เห็นเท่านั้น ตัวอย่างเช่น Uber ไม่ได้เป็นเจ้าของรถยนต์ให้เช่าแม้แต่คันเดียว สินทรัพย์ที่จับต้องได้ของ Uber เช่น อาคารสำนักงานหรือคอมพิวเตอร์ ก็มีมูลค่าน้อยมาก แต่สินทรัพย์ที่มองไม่เห็นของ Uber กลับมีมูลค่ามหาศาล คือ ซอฟต์แวร์และข้อมูล ความสำคัญของสินทรัพย์ที่มองไม่เห็นก็ไม่ถูกสะท้อนในระบบบัญชีธุรกิจ เพราะเป็นเรื่องยากที่จะระบุมูลค่าของสินทรัพย์ที่มองไม่เห็น

ในช่วงที่ผ่านๆ มา รูปแบบการลงทุนของธุรกิจเปลี่ยนแปลงไปเป็นระยะๆ ในอดีต ธุรกิจลงทุนในการพัฒนาเครื่องจักรกลไอน้ำ มาจนถึงการลงทุนด้านคอมพิวเตอร์ แล้วหากธุรกิจจะเปลี่ยนมาลงทุนในสินทรัพย์ที่มองไม่เห็น ทำไมสิ่งนี้จึงเป็นเรื่องที่สำคัญ หนังสือ Capitalism without Capital บอกว่า เพราะสินทรัพย์ที่มองไม่เห็นมีคุณสมบัติทางเศรษฐกิจที่แตกต่างจากสินทรัพย์ที่มองเห็น

ประการแรก การลงทุนในสินทรัพย์ที่มองไม่เห็นทำให้ธุรกิจสามารถขยายตัวได้รวดเร็วมากกว่าธุรกิจที่อาศัยสินทรัพย์ที่มองเห็น ผู้เขียนหนังสือเล่มนี้เรียกลักษณะดังกล่าวว่า scalable หากบริษัทแท็กซี่ทั่วๆ ไปต้องการขยายกิจการก็จะต้องซื้อรถยนต์มาทำแท็กซี่มากขึ้น แต่หาก Uber จะขยายธุรกิจ ก็เพียงแต่ใช้ประโยชน์จากซอฟต์แวร์ที่มีอยู่แล้วเพิ่มขึ้นเท่านั้น ไม่ได้ไปลงทุนอะไรเพิ่มเติมเลย และ Uber ยังสามารถส่งออกโมเดลธุรกิจนี้ไปทั่วโลก

ประการที่ 2 การลงทุนในสินทรัพย์ที่มองไม่เห็นมีลักษณะเป็น “ต้นทุนจมหาย” หรือ sunk cost หมายความว่า สินทรัพย์พวกนี้ ขายออกไปก็ไม่ได้เงิน ตัวอย่างเช่น ปี 2006 Nokia ผลิตซอฟต์แวร์ชื่อ Symbian ทำให้ครองตลาดโทรศัพย์สมาร์ทโฟนถึง 73% เมื่อสิ้นปี 2012 ส่วนแบ่งตลาดของ Nokia หายไปจนหมด และในที่สุดก็ล้มละลาย สำนักงานใหญ่ Nokia ที่เฮลซิงกิ เป็นทรัพย์สินที่มองเห็นของ Nokia ขายได้ 170 ล้านดอลลาร์ แต่ซอฟต์แวร์ระบบปฏิบัติการ Symbian ขายไม่ได้เลย

ประการที่ 3 สินทรัพย์ที่มองไม่เห็นมักจะกระจายประโยชน์ไปให้กับธุรกิจอื่นๆ เรียกว่า spillover โดยเฉพาะทรัพย์สินประเภทความรู้ ที่ถูกลอกเลียนได้ง่าย จึงเป็นเรื่องยากที่จะป้องกันสินทรัพย์แบบนี้ไม่ให้ธุรกิจคู่แข่งได้ประโยชน์จากการลงทุนของอีกบริษัทหนึ่ง EMI ของอังกฤษเป็นบริษัทที่คิดค้นเครื่อง CT Scan ต่อมา General Electric ก็พัฒนาเทคโนโลยี CT Scan ขึ้นมา และครองตลาดในสหรัฐฯ

ประการสุดท้าย การลงทุนในสินทรัพย์ที่มองไม่เห็นมักจะสร้างประโยชน์ให้มากขึ้นเมื่อไปผสมร่วมกับสินทรัพย์ที่มองไม่เห็นอื่นๆ เรียกว่า synergy คือเกิดประโยชน์ที่เสริมกันและกัน เช่น อุปกรณ์ฟังเพลง iPod เป็นการผสมผสานระหว่าง ระบบ MP3 ฮาร์ดดิสก์ขนาดเล็ก และการออกแบบ หรือเตาไมโครเวฟก็มาจากการรวมตัวกันระหว่างเทคโนโลยีของบริษัท Raytheon ที่ค้นพบไมโครเวฟ กับบริษัท Amana ที่เชี่ยวชาญการออกแบบอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้า

ผลกระทบจากเศรษฐกิจใหม่

หนังสือพิมพ์ The Guardian เขียนถึงเศรษฐกิจแบบสินทรัพย์ที่มองไม่เห็นนี้ว่า ลักษณะโดดเด่นอย่างหนึ่งคือ การสร้างมูลค่าเศรษฐกิจที่ไม่ต้องอาศัยสินทรัพย์ที่มองเห็น หรือสินค้าทุน เหมือนกับเศรษฐกิจแบบเดิมๆ ทำให้ผลิตภัณฑ์ดิจิทัลหรือธุรกรรมดิจิทัลสามารถนำไปผลิตซ้ำแล้วซ้ำอีก หรือนำไปแชร์กันได้อย่างไม่มีข้อจำกัด โดยไม่มีต้นทุนเพิ่มขึ้นแต่อย่างใด ทำให้ธุรกรรมแบบดิจิทัลสามารถขยายตัวได้อย่างรวดเร็ว การปกป้องทรัพย์สินทางปัญญาก็ทำได้ยาก เพราะเหตุนี้ คนที่เป็นผู้ชนะคือธุรกิจที่ควบคุม platform ที่ทำให้เกิดการแชร์เนื้อหาดิจิทัล คนชนะจึงไม่ใช่คนที่ผลิตเนื้อหาดิจิทัล

หนังสือ Capitalism without Capital กล่าวว่า หากเศรษฐกิจพัฒนาไปในทิศทางการทำธุรกิจที่อาศัยสินทรัพย์ที่มองไม่เห็นมากขึ้น ผลกระทบประการแรก คือ ความเหลื่อมล้ำ สินทรัพย์ที่มองไม่เห็นที่มีลักษณะสามารถกระจายตัวอย่างกว้างขวางและเกิดประโยชน์มากขึ้นจากการรวมตัวกับสินทรัพย์อื่นๆ ทำให้เกิดช่องว่างมากขึ้น ระหว่างบริษัทที่ทำธุรกิจด้วยสินทรัพย์ที่มองไม่เห็นกับบริษัทที่ทำธุรกิจแบบดั้งเดิม เพราะบริษัทที่มีสินทรัพย์ที่มองไม่เห็นสามารถขยายธุรกิจได้อย่างรวดเร็ว

ผลกระทบประการที่ 2 เศรษฐกิจสินทรัพย์แบบมองไม่เห็นทำให้ระบบการเงินหมดความจำเป็นมากขึ้น ที่ผ่านมา การปล่อยเงินกู้ให้แก่การลงทุนทางธุรกิจ อาศัยสินทรัพย์ที่มองเห็นมาเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันเงินกู้ แต่ถ้าหลักทรัพย์ที่มองไม่เห็นมีลักษณะเป็นต้นทุนจมหาย ทั้งธนาคารและตลาดหุ้นคงจะลังเลที่จะปล่อยเงินกู้แก่ธุรกิจแบบนี้ ส่วน venture capital มีบทบาทสำคัญทางการเงินที่สนับสนุนการดำเนินงานของบริษัทสินทรัพย์มองไม่เห็นในซิลิคอนแวลลีย์ แต่วิธีการนี้ก็ยากที่จะนำไปใช้ในที่อื่น

ผลกระทบประการที่ 3 คือ ทำให้นโยบายรัฐเปลี่ยนไป รัฐบาลต้องหันมาให้ความสำคัญกับโครงสร้างพื้นฐานด้านความรู้ และโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล เช่น การศึกษา เทคโนโลยีสื่อสาร การวางแผนเมือง การลงทุนทางวิทยาศาสตร์ หรือการทำให้ชุมชนและหมู่บ้านเข้าถึงอินเทอร์เน็ต

กำเนิดของเศรษฐกิจใหม่ที่มูลค่าเศรษฐกิจเกิดจากสินทรัพย์ที่มองไม่เห็น ช่วยอธิบายปัญหาเศรษฐกิจในปัจจุบันหลายอย่าง เช่น ทำไมบริษัทหนึ่งจึงเติบโตรวดเร็วมากและมีผลกำไรสูงมากกว่าบริษัททั่วไป และทำไมสภาพเศรษฐกิจนับวันจะพัฒนาไปในทิศทางที่คนชนะได้ไปหมดคนเดียว หรือเศรษฐกิจแบบ winner-take-all

เอกสารประกอบ
Capitalism without Capital: The Rise of the Intangible Economy, Janathan Haskel and Stian Westlake, Princeton University Press, 2018.
The Guardian view on capitalism without capital, theguardian.com.