ThaiPublica > เกาะกระแส > กนง. คงดอกเบี้ย 1.5% ติดต่อกัน 22 ครั้ง ในรอบ 34 เดือน- แม้เศรษฐกิจโดยรวมฟื้นตัวอย่าง “ยั่งยืน” แล้ว

กนง. คงดอกเบี้ย 1.5% ติดต่อกัน 22 ครั้ง ในรอบ 34 เดือน- แม้เศรษฐกิจโดยรวมฟื้นตัวอย่าง “ยั่งยืน” แล้ว

14 กุมภาพันธ์ 2018


นายจาตุรงค์ จันทรังษ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และเลขานุการ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.)

เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2561 นายจาตุรงค์ จันทรังษ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และเลขานุการ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เปิดเผยหลังการประชุม กนง. ครั้งที่ 1/2561 ว่า กนง. มีมติเอกฉันท์ให้คงดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 1.5% โดยให้เหตุผลว่ายังต้องติดตามความเข้มแข็งของการฟื้นตัวของอุปสงค์ในประเทศและพัฒนาการเงินเฟ้อต่อไป แม้ว่าการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในภาพรวมมีแนวโน้มชัดเจนมากขึ้นจากปัจจัยด้านต่างประเทศ กนง. จึงมองว่านโยบายการเงินที่ผ่อนคลายในระดับปัจจุบันมีส่วนช่วยสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจและเอื้อให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายได้แม้อาจต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่ง โดยพร้อมใช้เครื่องมือเชิงนโยบายที่มีอยู่เพื่อสนับสนุนให้เศรษฐกิจขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง ควบคู่กับการรักษาเสถียรภาพระบบการเงินของประเทศ

การคงดอกเบี้ยของกนง.ในการประชุมครั้งนี้นับเป็นครั้งที่ 22 ในรอบ 34 เดือน ตั้งแต่การประชุมวันที่ 29 เมษายน 2558 ซึ่งเป็นครั้งสุดท้ายที่ลดดอกเบี้ยลง 0.25% จาก 1.75% เป็น 1.50%

ในรายละเอียดภาพรวมเศรษฐกิจไทยช่วงที่ผ่านมาพบว่ามีแนวโน้มขยายตัวได้ต่อเนื่องและชัดเจนมากขึ้น จากการส่งออกสินค้าและบริการที่ปรับดีขึ้นต่อเนื่องตามการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกที่เข้มแข็งมากขึ้น การบริโภคภาคเอกชนขยายตัวได้ต่อเนื่องโดยเฉพาะในหมวดสินค้าคงทน รวมทั้งได้รับแรงสนับสนุนจากมาตรการภาครัฐ อย่างไรก็ดี กำลังซื้อของครัวเรือนโดยรวมปรับดีขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป ส่วนหนึ่งมาจากปัญหาเชิงโครงสร้างในตลาดแรงงานและหนี้ภาคครัวเรือนที่ยังอยู่ในระดับสูง การลงทุนภาคเอกชนปรับดีขึ้นต่อเนื่องตามทิศทางเศรษฐกิจที่ปรับดีขึ้นและยังมีแนวโน้มที่จะขยายตัวต่อเนื่องโดยได้รับแรงสนับสนุนเพิ่มเติมจากโครงการภาครัฐ โดยเฉพาะโครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออกหรืออีอีซีที่จะทำให้การลงทุนสูงขึ้นได้ จากที่ผ่านมา ธปท. ยังมองว่าเป็นเพียงปัจจัยด้านบวกของเศรษฐกิจอยู่ ขณะที่การใช้จ่ายภาครัฐยังเป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สำคัญ แม้ที่ผ่านมาการเบิกจ่ายงบลงทุนจะล่าช้าไปบ้าง ทั้งนี้ เศรษฐกิจไทยยังเผชิญกับความเสี่ยงที่ต้องติดตามพัฒนาการต่อไปอย่างใกล้ชิด เช่น ผลกระทบจากความไม่แน่นอนของนโยบายเศรษฐกิจและการค้าของสหรัฐอเมริกาและความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์

อัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีทิศทางปรับสูงขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไปตามการฟื้นตัวของอุปสงค์ในประเทศและราคาน้ำมันที่ปรับสูงขึ้นจากปีก่อน อย่างไรก็ดี แรงกดดันเงินเฟ้อด้านอุปสงค์ยังอยู่ในระดับต่ำ รวมทั้งยังต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างที่ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นได้ช้ากว่าในอดีต แต่ยังคาดการณ์ว่าจะกลับสู่กรอบเป้าหมายที่ 1-4% ได้ภายในไตรมาสที่ 2 ของปี 2561

“โดยสรุปในครั้งนี้ที่บอกว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวได้ต่อเนื่องและชัดเจนมากขึ้น ครั้งนี้ต้องเรียกว่ามีความยั่งยืนมากขึ้นเทียบกับการประเมินในช่วงผ่านมา เศรษฐกิจมีการกระจายมากขึ้น เราเห็นว่ากลุ่มผู้มีรายได้น้อยมีการขยับตัวดีขึ้น หรือการปล่อยสินเชื่อธุรกิจเอสเอ็มอีที่กว้างขวางขึ้นจากช่วงก่อนหน้าที่เกือบทุกหมวดจะนิ่งๆ หรือชะลอตัว แต่ภาพกำลังซื้อที่ยังต่ำอยู่แม้ว่าเศรษฐกิจจะดีขึ้นก็มีหลายสาเหตุ อย่างในภาคการเกษตรที่ราคาสินค้าเกษตรยังอ่อนๆ หรือภาวะภัยแล้งน้ำท่วมช่วงก่อนหน้าที่ทำให้มีภาระหนี้สะสม ซึ่งก็กระทบไปยังธุรกิจค้าปลีก ยอดขายรถจักรยานยนต์ในพื้นที่ ขณะที่ในแรงงานนอกภาคเกษตรก็เห็นการย้ายของแรงงานจากภาคอุตสาหกรรมไปยังภาคบริการที่มีผลิตภาพน้อยกว่า ทำให้ยังเห็นการฟื้นตัวของรายได้แต่ยังไม่เร็วมากนัก รวมทั้งปัญหาหนี้ครัวเรือนที่สูงของระบบก็กดดันกำลังซื้ออีกด้าน ด้านอัตราเงินเฟ้อทยอยปรับตัวสูงขึ้น ขณะที่ด้านเสถียรภาพของระบบการเงินยังไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปมากจากการประชุมในครั้งก่อนหน้า” นายจาตุรงค์กล่าว

สำหรับรายละเอียดด้านภาวะการเงินโดยรวมอยู่ในระดับผ่อนคลายและเอื้อต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจ สภาพคล่องในระบบการเงินอยู่ในระดับสูง อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลและอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงยังอยู่ในระดับต่ำ ทำให้ภาคเอกชนยังสามารถระดมทุนได้ต่อเนื่อง โดยสินเชื่อเอสเอ็มอีเริ่มปรับดีขึ้นในหลายธุรกิจและหลายพื้นที่มากขึ้น ด้านอัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทเคลื่อนไหวผันผวนสูงขึ้นในช่วงที่ผ่านมาและยังมีแนวโน้มผันผวนในระยะต่อไป และสามารถเปลี่ยนแปลงกลับทิศทางได้อย่างรวดเร็ว โดยมีสาเหตุหลักจากความไม่แน่นอนของนโยบายการเงินการคลังของประเทศอุตสาหกรรมหลัก กนง. จึงเห็นควรให้ติดตามสถานการณ์อัตราแลกเปลี่ยนและผลกระทบต่อเศรษฐกิจอย่างใกล้ชิดต่อไป

กนง. เห็นว่าระบบการเงินโดยรวมมีเสถียรภาพ แต่ยังต้องติดตามความเสี่ยงในบางจุดที่อาจจะสร้างความเปราะบางให้กับเสถียรภาพระบบการเงินได้ในอนาคต โดยเฉพาะพฤติกรรมแสวงหาผลตอบแทนที่สูงขึ้น (search for yield) ในภาวะอัตราดอกเบี้ยต่ำเป็นเวลานาน ซึ่งอาจนำไปสู่การประเมินความเสี่ยงต่ำกว่าที่ควร (underpricing of risks) นอกจากนี้ ยังต้องติดตามความสามารถในการชำระหนี้ของภาคครัวเรือนและธุรกิจเอสเอ็มอี โดยเฉพาะครัวเรือนกลุ่มรายได้ต่ำและธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของปัจจัยเชิงโครงสร้างและรูปแบบการทำธุรกิจ เช่น กลุ่มการพาณิชย์ ค้าส่งค้าปลีก เป็นต้น ซึ่งแม้ว่าการชำระหนี้จะมีสัญญาณที่ดีขึ้นต่อเนื่อง แต่ยังเป็นอย่างค่อยเป็นค่อยไปและทิศทางยังไม่ได้พลิกกลับมาด้านที่ดี ทำให้ต้องติดตามต่อไป

“ทั้งนี้ การขึ้นดอกเบี้ยนโยบายอาจยังเร็วไปที่จะพูดถึง แต่ กนง. ก็จะติดตามการขยายตัวของเศรษฐกิจ เสถียรภาพระบบการเงิน ดูความสมดุลของนโยบายด้านต่างๆ หรือ Policy Balance แต่ระยะนี้คงต้องผ่อนคลายเอื้อการฟื้นตัวอีกระยะ ส่วนการปรับขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐอเมริกาหรือเฟด ที่อาจจะขึ้นมากกว่า 3 ครั้ง กนง. ไม่ได้มีมุมมองเป็นพิเศษ แต่ กนง. จะต้องตัดสินใจจากปัจจัยภายในของประเทศไทยด้วย ไม่จำเป็นต้องปรับดอกเบี้ยขึ้นตาม” นายจาตุรงค์กล่าว