ThaiPublica > คอลัมน์ > The Confession Tapes คำสารภาพ(ผิด)

The Confession Tapes คำสารภาพ(ผิด)

26 กุมภาพันธ์ 2018


1721955

“มันน่าขนลุกที่คุณไม่ได้แสดงความรู้สึกผิดต่อเหยื่อเลย เหมือนเป็นเรื่องไม่สำคัญ…คุณไม่ได้ทำผิดศีลธรรม แต่คุณมันไร้ซึ่งศีลธรรม ศีลธรรมของคุณบิดเบี้ยว คุณเป็นฆาตกรที่หยิ่งผยอง คุณไม่ใช่เด็กอย่างที่คุณกล่าวอ้าง จึงสมควรแล้วที่จะได้รับการลงโทษแบบผู้ใหญ่…ทั้งๆ ที่คุณกำลังถูกเชื่อว่ากระทำผิดจริง แต่กลับสามารถเฉยชาขณะสารภาพออกมาได้อย่างหน้าตาเฉย ดังนั้นศาลขอตัดสินให้คุณต้องโทษจำคุกตลอดชีวิตโดยไม่มีทัณฑ์บน”

นี่คือคำตัดสินสุดท้ายของผู้พิพากษาที่มีต่อคดีสุดเหี้ยมเมื่อปี 1994 ซึ่งขณะนั้นจำเลยมีอายุเพียง 18 ปีเท่านั้น แต่คำพิพากษานี้กินเวลายาวนานเกือบทศวรรษจนจำเลยมีอายุปาไป 27 ปีแล้ว กระทั่งเมื่อสารคดีชุด The Confession Tapes (2017) นี้ปรากฏสู่สายตาชาวโลก คดีนี้ก็ผ่านไปแล้วกว่าสองทศวรรษ โดยจำเลยยังคงอยู่ในคุก ทั้งๆ ที่ไม่มีหลักฐานใดยืนยันได้เลยว่ากระทำผิดจริงๆ เว้นก็แต่คำสารภาพที่ถูกแอบบันทึกเอาไว้ได้เท่านั้น…แต่สารคดีเรื่องนี้กลับชี้ให้เห็นว่า…คำสารภาพผิดเหล่านั้นอาจกำลังบิดเบือนความจริงบางอย่างอยู่

The Confession Tapes เป็นสารคดีชุดที่มีทั้งหมด 7 ตอน รวม 6 คดี คือ คดีหญิงสาวถูกแฟนหนุ่มฆ่าเผาอำพราง (A Public Apology), แม่วางแผนเผาลูกสาว (Trial by Fire), หญิงถูกนักเลงแถวบ้านข่มขืนแล้วฆ่าโหด (8th and H), ชายสองคนถูกญาติยิงตาย (The Labor Day Murders), และพ่อผู้เผลอทำให้ลูกจมน้ำตาย 3 ศพ (Down River) ซึ่งทุกคดีล้วนมุ่งประเด็นไปที่ “จำเลยทุกคนต่างสารภาพผิด” โดยเจ้าตัวไม่รู้เลยว่าได้ถูกบันทึกเทปเอาไว้ ซึ่งต่อมามันกลายเป็นหลักฐานเพียงชิ้นเดียวในการเอาผิดพวกเขาในชั้นศาลด้วย แต่ก็อาจเป็นไปได้ว่า “พวกเขาไม่ได้ผิดจริงดังคำสารภาพ”

“แน่นอนว่าฉันไม่ได้เชื่อในตัวฆาตกร แต่การเลือกจะหยิบคดีอะไรมาทำเป็นซีรีส์ในคราวนี้ คือฉันพุ่งเป้าไปที่คำสารภาพที่เกิดจากการถูกข่มขู่ ซึ่งมีอยู่จริง หลายคดียังคงเป็นที่ถกเถียง และยังคงเสียดแทงใจผู้คนมาจนทุกวันนี้…ฉันเพียงแต่หวังว่าอาจจะมีหนทางช่วยเหลือให้ผู้คนได้กลับไปมองย้อนดูคดีเหล่านี้อีกครั้งในมุมที่แตกต่างออกไป และเปิดใจให้กว้างกว่าที่ผ่านมา” เคลลี โลเดนเบิร์ก ผู้กำกับหญิงให้ความเห็นเกี่ยวกับไอเดียตั้งต้นของซีรีส์ชุดนี้

และคดีที่จั่วไว้ในย่อหน้าแรกนั้น ปรากฏในตอน True East อันเป็นตอนแรกของซีรีส์ชุดนี้ และเป็นเพียงคดีเดียวที่ถูกแบ่งออกเป็นสองตอน ซึ่งเล่าเรื่องของเพื่อนคู่หูต่างวัฒนธรรม อาทิฟ ราเฟย์ เชื้อสายปากีฯ กับเซบาสเตียน เบินส์ ชาวแคนาดา ซึ่งทั้งคู่กำลังจะเข้าเรียนที่มหาวิทยาลัยชื่อดังในสหรัฐฯ โดยครอบครัวของราเฟย์ย้ายมาอยู่ก่อน แม่ของเขาจึงโทรไปชวนเบินส์ให้บินมาค้างคืนที่บ้านด้วยกัน แต่แล้วเมื่อเวลาผ่านไปเพียง 5 วัน ขณะที่คู่ซี้เข้าไปเตร็ดเตร่ในตัวเมือง ครอบครัวราเฟย์ก็ถูกฆาตกรรมตายหมดทั้งพ่อแม่และพี่สาวพิการของอาทิฟ สองคู่หูเป็นผู้พบศพและทั้งคู่ก็ตกเป็นผู้ต้องสงสัยในทันที แม้จะมีพยานรู้เห็นว่าระหว่างเกิดเหตุพวกเขาไปอยู่ที่ไหนกันมาบ้าง แต่ท่าทีของพวกเขาในการสนองตอบต่อเหตุการณ์อันน่าเศร้าสลดใจนี้ก็ลามเลยกลายเป็นดราม่าใหญ่โต เช่น “พวกเขายังมีหน้าหัวเราะได้อีกทั้งๆ ที่พ่อแม่เพิ่งตายไป” หรือไม่ก็ “ทั้งที่ถูกกักตัวแต่สองคนนี้ก็แอบหนีไป แถมยังไม่ไปร่วมพิธีศพอีก” แล้วพอสื่อต่างเล่นข่าวใส่ไข่ราวกับสองคนนี้เป็นฆาตกรตัวจริง ทั้งๆ ที่ไม่ปรากฏหลักฐานใดมัดตัวพวกเขาได้เลย แต่ทั้งสังคมและกรมตำรวจก็ต่างปักใจเชื่อว่า “พวกเขาคือฆาตกร”

โลเดนเบิร์กเริ่มโปรเจกต์นี้ตั้งแต่ปี 2015 โดยต่อสายไปยังเจ้าหน้าที่ศูนย์การตัดสินคดีผิดพลาด (Centre of Wrongful Convictions) เธอให้ความเห็นว่า “ทีแรกฉันกะจะเลือกคดีที่ไม่ค่อยมีใครรู้จัก แต่เหตุผลเดียวที่ฉันหยิบคดีดังนี่ขึ้นมาก็เพราะฉันรู้สึกว่ากระบวนการยุติธรรมมันไม่ยุติธรรมจริง สิ่งนี้จุดประกายให้ฉันเลือกที่จะรวบรวมเอาเฉพาะคดีที่จำเลยทุกคนสารภาพ เพราะอาจจะเป็นไปได้ว่าพวกเขาไม่ได้กระทำผิดจริงๆ แล้วอะไรบ้างจะทำให้พวกเขาสารภาพผิดในสิ่งที่พวกเขาไม่ได้กระทำ ทั้งๆ ที่พวกเขารู้อยู่แล้วว่ามันเป็นคดีอุกฉกรรจ์ที่อาจทำให้พวกเขามีโทษสูงสุดถึงขั้นจำคุกตลอดชีวิตก็เป็นได้”

จริงๆ แล้วสารคดีประเภทหยิบคดีดังในอดีตขึ้นมาเล่า ด้วยข้ออ้างเพื่อเป็นอุทาหรณ์สอนใจมีอยู่ดกดื่น โดยเฉพาะในบ้านเรา มีบางรายการทำตัวเป็นศาลเตี้ยด้วยซ้ำไป ด้วยการตัดสินเสร็จสรรพว่าใครคือผู้ร้ายตัวจริง ไม่ว่าจะวิธีบรรยายให้ชวนสยดสยอง การเลือกสัมภาษณ์พยานฝ่ายเดียว หรือการตัดต่อให้เร้าใจด้วยกลวิธีต่างๆ นานาเพื่อให้ผู้ชมปักใจเชื่อในคำพิพากษาอันยุติธรรม แต่ในทางตรงกันข้าม The Confession Tapes กลับไม่ได้เลือกหนทางเหล่านั้นเพื่อให้รายการดูสนุก ตื่นเต้นชวนติดตาม แต่มันกลับยังคงน่าค้นหาว่าความจริงคืออะไร มีประเด็นอะไรอีกไหมที่ถูกละเลยไป หรือจะเป็นไปได้ไหมที่ผู้คนแวดล้อมจะมีอคติทำให้เกิดการตัดสินผิดพลาด

อย่างกรณี True East สิ่งที่ทำให้ศาลปักใจเชื่อคือสมมติฐานเกี่ยวกับปูมหลังและพฤติกรรมของเด็กทั้งคู่ เริ่มจากการที่อาทิฟมีพ่อแม่อัจฉริยะ อาจเป็นแรงกดดัน หรือการที่เซบาสเตียนเคยแสดงละครเวทีเรื่อง Rope ที่ว่าด้วยคู่เพื่อนชายวางแผนฆาตกรรมสมบูรณ์แบบ รวมไปถึงการที่ทั้งคู่หลงใหลในปรัชญาแหกขนบของนิตเช่ ที่อาจเป็นสาเหตุให้พวกเขาไม่รู้สึกรู้สมต่อการฆ่า

แต่ทั้งหมดทั้งมวลใดใดล้วนไม่ใช่หลักฐาน เป็นแต่เพียงสมมติฐานเท่านั้น กระทั่งเมื่อรัฐบาลแคนาดาเข้ามายุ่งเกี่ยวในฐานะที่เหยื่อเป็นพลเมืองแคนาดา ด้วยการส่งมิสเตอร์บิ๊ก (Mr.Big) เข้ามาสอดแนม มิสเตอร์บิ๊ก หรือ แคนาเดียนเทคนิค เป็นปฏิบัติการสายลับด้วยการจัดฉาก ล่อซื้อ เพื่อให้ได้มาซึ่งหลักฐานโดยที่จำเลยไม่รู้ตัวว่ากำลังถูกล่อลวงอยู่ ในคดีนี้ มิสเตอร์บิ๊กได้ปลอมตัวมาเป็นมาเฟียขาใหญ่ หลอกว่าตำรวจมีหลักฐานจะเอาผิดพวกเขา (ซึ่งจริงๆ ไม่มี) แต่มิสเตอร์บิ๊กผู้มีเส้นสายกว้างขวางสามารถช่วยเหลือให้พวกเขาพ้นผิดได้ เพียงแค่พวกเขาสารภาพมาตามตรงว่า ฆ่าครอบครัวจริงๆ

อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่ปี 2014 ทางการแคนาดาได้ยกเลิกหน่วยงานลับมิสเตอร์บิ๊กนี้ไปแล้ว ด้วยเหตุผลว่าการล่อซื้อเป็นส่วนหนึ่งของการข่มขู่คุกคามที่อาจส่งผลให้จำเลยเหนื่อยล้าหรือหวาดกลัวจนยอมสารภาพผิดทั้งๆ ที่ไม่ได้กระทำก็เป็นได้

แต่สมมติว่า อาทิฟกับเซบาสเตียนไม่ใช่ฆาตกรตัวจริง นั่นหมายความว่าฆาตกรตัวจริงกำลังลอยนวล และมันยุติธรรมแล้วหรือในการตัดสินให้เด็กหนุ่มอนาคตไกลสองคนนี้ต้องถูกจำคุกนานกว่า 20 ปี ทั้งๆ ที่พวกเขาสูญเสียคนในครอบครัวไป ซึ่งแน่นอนว่าสารคดีเรื่องนี้มีคำตอบต่อคำถามดังกล่าวทั้งหมด สิ่งเหล่านี้เองทำให้ซีรีส์คดีเด็ดชุดนี้ชวนติดตาม

“เพราะคดีนี้เกิดขึ้นในปี1994 ถ้ามันเกิดขึ้นหลังกรณี 9/11 จะมีความหละหลวมขนาดนี้ไหม ผมเชื่อเลยว่ามันจะถูกตรวจสอบอย่างรัดกุมกว่านี้ แต่เพราะมันเกิดขึ้นก่อน 9/11 หลายปี พวกเขาจึงไม่ได้สาวไปถึงประเด็นนั้น” นี่คือความเห็นของเจ้าหน้าที่ศูนย์การตัดสินคดีผิดพลาด ซึ่งแย้มให้เห็นว่า จริงๆ แล้ว การฆ่าเหี้ยมยกครัวคดีนี้อาจมีเหตุผลอื่นมากไปกว่าเหตุผลต่างๆ นานาที่ฝ่ายตำรวจพยายามจะชักแม่น้ำทั้งห้าเสียอีก และอาจเป็นชนวนสำคัญต่อคดีนี้ก็เป็นได้

“เมื่อฉันย้อนกลับไปค้นคดีเหล่านี้ ฉันพบว่าจำเลยแต่ละคนพยายามอย่างมากที่จะบอกว่าพวกเขาไม่ได้ทำมาตั้งแต่ต้นและทุกคำให้การด้วยซ้ำไป เพียงแต่ไม่มีใครเลยที่สนใจจะฟังพวกเขา แล้วเมื่อพวกผู้มีอำนาจปักใจเชื่อสมมติฐานด้านเดียว พวกเขาก็ไม่ฟังหลักฐานข้างเคียงอื่นๆ อีกเลย อย่างในคดีนี้ มีการตรวจพบดีเอ็นเอปริศนาของบุคคลอื่นด้วยซ้ำไป แต่หลักฐานนี้กลับไม่ถูกนำมาใช้ในชั้นศาล” โลเดนเบิร์กกล่าว

“พวกเราถูกดำเนินคดีด้วยวิธีการที่นับว่าผิดกฎหมายในประเทศนี้…ทั้งที่เราไม่ได้ก่ออาชญากรรมนี้ แต่เรากลับถูกตัดสินว่ามีความผิด…จากเจ้าหน้าที่รัฐและสื่อมวลชนอย่างต่อเนื่อง คล้ายกับว่าหลักฐานที่พวกเขาใช้กล่าวหาเราก็คือ ความยโสของเรา บุคลิกโอหังของเรา ตอนนั้นผมเพิ่งจะอายุ 18 ปีเท่านั้น ผมไม่สบายใจทุกครั้งที่ข่าวนี้ถูกนำเสนอ และวิธีเดียวที่ผมจะอยู่รอดได้ก็คือการทะนงตนและแข็งกร้าวเข้าไว้” คำให้การของเบินส์แบบนี้แหละ ที่สุดท้ายเขาถูกพิพากษาตีความด้วยอคติแบบในย่อหน้าแรก และรับโทษมาจนทุกวันนี้

โดยไม่มีใครนึกจะฟังความรู้สึกของเขาเลย ที่ทิ้งท้ายไว้อีกว่า “คดีนี้ทำให้ผมไม่สามารถไปเรียนต่อ หรือทำงาน หรือมีชีวิตในสังคมได้ เราถูกตัดสินโทษจากความผิดที่เราไม่ได้ทำ เว้นแต่จะมีใครทำอะไรสักอย่างเพื่อหยุดมัน” และสารคดีชุดนี้กำลังทำอะไรสักอย่างแบบที่เบินส์ว่าอยู่

*สามารถร่วมให้ความช่วยเหลือคดีนี้ได้ที่ http://rafayburnsappeal.com/