ThaiPublica > คอลัมน์ > Shirkers 25 ปีแห่งการเก็บกู้เศษซากความฝัน

Shirkers 25 ปีแห่งการเก็บกู้เศษซากความฝัน

31 ธันวาคม 2018


1721955

“ในวันสุดท้ายของการถ่ายทำ ทีมงานเหลือกันแค่เราสามคน จอร์จ (ผู้กำกับหนัง) รอนนี่ (ผู้กำกับภาพ) และฉัน (ผู้เขียนบทกับนางเอก) เราขับรถไปที่ทุ่งข้างสนามบิน แล้วสร้างอุปการณ์ประหลาดๆ เป็นเครื่องช่วยให้นักแสดงเด็กของเราบินได้ แต่ในบทของฉันไม่มีฉากบินนี้เลย หลังจากพยายามถ่ายฉากที่ไม่มีในบทอยู่หลายชั่วโมง จอร์จเผลอเปิดฝากล้องโดยไม่ตั้งใจ หรืออาจจะตั้งใจ ฉันถึงเพิ่งมารู้ว่า…มันไม่มีฟิล์มอยู่ในกล้อง…25 ปีต่อมา พอมานึกดู หรือนั่นจะเป็นการส่งสัญญาณลับจากเขา สารซึ่งมีแต่ฉันที่เข้าใจ เพราะมีอยู่ฉากหนึ่งในบทของฉัน ที่ตัวละครเด็กผู้ชายพบว่า กล้องของนางเอกไม่มีฟิล์ม เธอบอกเขาว่า ‘ไม่มีก็ไม่เป็นไร เพราะเมื่อเธอมองผ่านช่องมองภาพแล้วลั่นชัตเตอร์ มันก็บันทึกภาพไว้แล้ว หรืออย่างน้อยสมองเธอก็บันทึกภาพนั้นไว้แล้ว เธอไม่ต้องใช้ฟิล์ม แค่การลั่นชัตเตอร์ก็ช่วยให้เธอจดจำภาพนั้นได้’ หรือจอร์จพยายามจะบอกฉันว่า…

“ไม่ว่าจะมีฟิล์มหรือไม่มี เธอจงจำภาพนี้ไว้” -แซนดี้ ตัน

แม้จะไม่ใช่สารคดีที่ดีที่สุด แต่เกือบทุกการจัดอันดับก็ยกให้ Shirkers ของ แซนดี้ ตัน เป็นหนึ่งในตัวท็อปสารคดีแห่งปี 2018 และน่าจะเป็นสารคดีที่เหมาะจะดูสบายๆ ทบทวนอดีต และวาดหวังถึงอนาคต ในบรรยากาศส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่แบบนี้

“ฉันเติบโตที่สิงคโปร์ในช่วงยุค 90s ซึ่งด้วยกฎระเบียบอันเคร่งครัดของประเทศ มันเลยไม่ง่ายที่จะทำอะไรสนุกๆ กันในช่วงเวลานั้น ความบันเทิงมากมายเกิดจากเราต้องทำมันขึ้นมาด้วยตัวเอง ไม่ว่าจะหนัง หนังสือ เพลงจากเมืองนอกล้วนเป็นของหายาก ทำมันขึ้นมาเองนี่แหละมีคุณค่ามากกว่า เพื่อจิตวิญญาณทางศิลปะที่ไม่จำเป็นต้องอยู่ในกรอบกฎของประเทศ มันเป็นแรงปรารถนาที่อยากจะมีประสบการณ์ทางวัฒนธรรม และอยากจะสร้างอะไรออกมาจากสิ่งที่พลุ่งพล่านอยู่ข้างในตัว” แซนดี้หวนอดีตเล่าถึงสิงคโปร์ในเวลานั้น

ก่อนจะเล่าต่อไปว่า “แต่แรกเลยตอนที่เราตกลงจะทำหนังกันเมื่อ 25 ปีก่อนนั้น มันเกิดจากความหมกมุ่นของฉันในเวลานั้น เกี่ยวกับหนังโรดมูวี หนังมือสังหาร หนังของพวกกลุ่มคนทำหนังคลื่นลูกใหม่ในฝรั่งเศส บวกกับโลกเล็กๆ น้อยๆ ที่เรารู้จักเกี่ยวกับสิงคโปร์ ไปสู่ผลงานที่เราคาดหวังว่ามันจะสามารถเป็นที่หลบลี้พักพิงได้บนโลกใบนี้”

โซฟี, แจสมิน และแซนดี้ ในวัยเยาว์

แจสมิน อึ้ง หนึ่งในทีมงานหนังตอนนั้น และผู้เล่าเรื่องสำคัญในสารคดีเสริมว่า

“พวกเราเคยทำหนังสั้นด้วยกล้องซูเปอร์ 8 กันมาก่อนสมัยเรียนมัธยม พอจะเข้ามหาลัย ก็มีช่วงว่างเลยไปลงคอร์สเรียนทำหนังกัน ทำให้เรารู้จักกับโซฟี ซิดดิค (ทีมงานสำคัญของเรื่อง) กับเพื่อนอีกโขยงใหญ่ที่สุดท้ายเรามาจบกันด้วยการร่วมกันทำ Shirkers โดยมี จอร์จ คาร์โดนา เป็นผู้สอนในคลาสนั้น”

สารคดีเริ่มต้นด้วยเสียงบรรยายความในใจของ แซนดี้เองว่า “ฤดูร้อนในปี 1992 ฉันกับเพื่อนถ่ายหนังว่าด้วยการเดินทางไปตามท้องถนนในสิงคโปร์ หนังที่กลายเป็นเสมือนตำนานของสิงคโปร์ หนังเรื่องนี้ชื่อว่า Shirkers คำที่มีความหมายว่าการเตลิดหนี การเลี่ยงความรับผิดชอบ การหลบหนี ฉันเขียนบท และรับบทนางเอก นักฆ่าสาวอายุ 16 นามว่าเอส ตอนนั้นในสิงคโปร์ไม่มีใครทำหนังอินดี้แบบนี้กัน เราจึงเป็นเสมือนผู้บุกเบิก หนังเรื่องนี้เป็นแคปซูลกาลเวลาของสิงคโปร์ เก็บทั้งภาพความจริงและภาพจินตนาการ แต่ฉันไม่นึกเลยว่าเรื่องจะลงเอยแบบนี้…”

จอร์จ คาร์โดนา

จุดหักเหสำคัญของเหตุการณ์ทั้งหมด มาจากครูผู้สอนทำภาพยนตร์ในคลาสที่ว่านี้

ในสารคดี แจสมินเล่าว่า “น่าจะเป็นการเปิดสอนทำหนังครั้งแรกของที่นี่ ในนี้มีแต่พวกประหลาดๆ แบบฉันแบบเธอ ครูที่สอนเราชื่อ จอร์จ คาร์โดนา…ไม่มีใครรู้ว่าเขาอายุเท่าไร หรือมาจากไหน”

ถึงตอนนี้ผู้อ่านควรต้องทำความเข้าใจโลกในเวลานั้น เวลาที่โลกยังไม่มีสมาร์ทโฟน และยังไม่มีเซิร์ชเอนจินให้ค้นหาข้อมูลยืนยันบุคคล แม้ถึงเดี๋ยวนี้จะมีแล้ว เราก็ยังคงได้ข่าวไม่น้อยเกี่ยวกับพวกจอมปลอมที่สร้างตัวตนขึ้นมา เพื่อหวังจะมีที่ยืนในสังคม และจอร์จคือคนแบบนั้น คนแบบที่ไม่รู้ว่าเป็นใครมาจากไหน แต่จู่ๆ ก็จับพลัดจับผลูกลายมาเป็นครูสอนทำหนังให้กับกลุ่มนักเรียนรุ่นบุกเบิก ผู้ไม่ประสีประสาและกระหายอย่างยิ่งที่จะทำตามความฝัน

แซนดี้อยู่ในตำแหน่งเขียนบทและนางเอกของเรื่อง แจสมินเป็นทีมงาน โซฟีเป็นผู้จัดการกองถ่าย ส่วนจอร์จเสนอตัวเป็นผู้กำกับ โปรเจกต์ใหญ่ขึ้น ดูจริงจังขึ้น เมื่อมีผู้สนับสนุนหลายฝ่าย โดยเฉพาะเมื่อบริษัทฟิล์มยักษ์ใหญ่เป็นสปอนเซอร์ให้ฟิล์มมาถ่ายกันแบบไม่อั้น แต่พวกเขาคือมือใหม่ เพิ่งพ้นวัยเด็กมาไม่กี่ปี หรือแม้แต่คนที่แก่ที่สุดในกองอย่างจอร์จ ครูผู้สอนและผู้กำกับ ก็ดูเหมือนจะมือใหม่กับเขาด้วย มันเลยเป็นหนังปลอมๆ โดยผู้กำกับจอมปลอม ที่หลอกล่อเด็กๆ มาสร้างฝันด้วยกัน

จอร์จ คาร์โดนา

“มีตัวละครหลายตัวที่จอร์จอยากเลียนแบบ มีตัวละครหลายตัวที่เขาพยายามจะเป็น แต่ตัวละครที่ใกล้เคียงกับสิ่งที่เขาเป็นที่สุดคือ นอสเฟอราตู (Nosferatu the Vampire-1979) แวมไพร์ผู้ไขว่คว้าหาความเป็นอมตะ ด้วยการกลืนกินความฝันของหนุ่มสาว” แซนดี้อธิบายตัวตนของจอร์จไว้ในสารคดีเรื่องนี้ ที่กลายมาเป็นฝันร้าย เมื่อจู่ๆ หลังจากที่ทุกคนทุ่มเทแรงกายแรงใจและเงินกันจนเสร็จอย่างยากเข็ญ จอร์จก็หายวับไปพร้อมกับฟิล์มกว่า 70 ม้วน ที่เจ็บแสบกว่าคือเมื่อแซนดี้ได้รู้ความจริงในอีกหลายปีต่อมาว่า ปฏิบัติการจอมปลอมนี้ไม่ใช่ครั้งแรกที่จอร์จทำ เขาเคยทำมาก่อนแล้วหลายครั้งกับผู้คนต่างกลุ่มกัน

“ฉันเรียนรู้ที่จะหยุดคิดถึงช่วงเวลานั้น แสร้งทำเป็นว่ามันไม่เคยเกิดขึ้นจริง แน่นอนว่าทำไม่ได้หรอก Shirkers กลายเป็นประวัติศาสตร์ลับๆ ในกลุ่มเพื่อนกลุ่มเล็กของเรา มันหลอกหลอนพวกเรา เชื่อมโยงพวกเรา ผลักไสพวกเราออกจากกัน”

พวกเธอต่างแยกย้ายกันเติบโต แซนดี้ไปเรียนต่อในอังกฤษ ส่วนแจสมินกับโซฟีไปเรียนอเมริกา ทิ้งซากความฝันผุกร่อนให้ค่อยๆ เน่าเฟะคอยกลับมาหลอกหลอนอยู่เรื่อยๆ กระทั่ง 20 กว่าปีผ่านไป เศษซากความฝันที่ผลักไสทุกคนไปกันคนละทาง กลับค่อยๆ โยงใยจูงพวกเธอกลับมาช่วยกันทำหนังเรื่องนี้อีกครั้ง ไปพร้อมๆ กับการเก็บกู้ตัวตนเกี่ยวกับครูสอนหนังคนแรกของพวกเธอ ว่าแท้จริงแล้วจอร์จมีความเป็นมาอย่างไรแน่

โซฟีเล่าในสารคดีว่า “เธออยากดูหนังเรื่องนี้ เพราะมันบันทึกช่วงหนึ่งในชีวิตของเธอ เราหัวเราะเพราะมัน ร้องไห้เพราะมัน เราบ่นนู่นบ่นนี่เพราะมัน แปลกดีนะ เพราะมันไม่ใช่หนังจริงๆ ด้วยซ้ำ แต่มันก็เป็นหนัง อยู่ในนี้ (เอามือแตะหน้าอก) กับในนี้ (เอามือแตะหน้าผาก) ดังนั้นสิ่งที่เธอทำจึงไม่ใช่การชุบชีวิต Shirkers แต่เป็นการมอบชีวิตหลังความตายให้มันกลับมาหาพวกเรา”

แจสมิน, แซนดี้ และโซฟี ในเทศกาลหนังซันแดนซ์

ความซับซ้อนของสารคดีเรื่องนี้จึงถูกถักทอขึ้นอย่างงดงาม ทั้งบทบรรยาย ภาพ การตัดต่อ และเรื่องราว ที่คนดูจะค่อยๆ เห็นเศษซากความฝัน 25 ปีก่อนปรากฏขึ้นอย่างคลุมเครือ แหว่งวิ่น แต่ถูกปะติดปะต่อให้เห็นทั้งประวัติศาสตร์ สถานที่ แฟชั่นที่เลือนหายไปแล้ว ผ่านมุมมองที่เติบโตขึ้น แอบวิพากษ์การศึกษาและสังคมสิงคโปร์ในยุคสร้างชาติ ที่สำคัญประสบการณ์อันเลวร้ายนี้ กลับทำให้พวกเธอเติบโตขึ้นในทางที่ไม่คาดคิดมาก่อน พร้อมๆ กับความจริงที่ปฏิเสธไม่ได้คือ จอร์จได้สร้างผลงานทรงคุณค่าชิ้นหนึ่งไว้ให้โลกนี้ นั่นก็คือ Shirkers สารคดีที่ทำให้ แซนดี้คว้ารางวัลผู้กำกับสารคดียอดเยี่ยมจากเทศกาลหนังซันแดนซ์ และรางวัลสารคดียอดเยี่ยมจากสมาคมนักวิจารณ์แอลเอ

แซนดี้ทิ้งท้ายในหนังว่า “มันเป็นยิ่งกว่าแคปซูลกาลเวลาของจริง ไม่ได้บันทึกแค่ทิวทัศน์ หรือตึกที่หายไปแล้ว แต่ยังบันทึกผู้คนตามสถานที่เหล่านั้น…และในหนังเรื่องนี้ ‘ทุกคน’ ยังอยู่…กับฉัน”