ThaiPublica > คอลัมน์ > Human Flow เมื่อศิลปินผู้ลี้ภัยทำสารคดีผู้ลี้ภัย

Human Flow เมื่อศิลปินผู้ลี้ภัยทำสารคดีผู้ลี้ภัย

31 กรกฎาคม 2018


1721955

“ผมเป็นเสมือนผู้ลี้ภัยเลิศหรูราคาแพง”

อ้ายเว่ยเว่ยตอบเมื่อนักข่าวถามว่าจะอยู่ในเบอร์ลินตลอดไปไหม เขาว่า “ผมโชคดีเหลือหลาย ที่สามารถมีปากเสียงผ่านสื่อ ผมมีผลงานแสดงมากมายหลายหลากทั่วโลก แต่มีเพียงประเทศเดียวที่ไม่สามารถกลับไปได้อีก มันยากที่ผมจะคิดจริงจังว่าจะตั้งรกรากอยู่ที่เบอร์ลินนี่ เพราะยังไม่มีอะไรแน่นอน และความไม่แน่นอนนี้เอง ทำให้ผมชัดเจนเกี่ยวกับข้อจำกัดต่างๆ ของการเป็น…ผู้ลี้ภัย”

ศิลปินนักเคลื่อนไหวผู้ทรงอิทธิพลชาวจีน อ้าย เว่ยเว่ย ที่ทั่วโลกต่างจ้องจับตามอง ทันที่ที่เขาประกาศจะกำกับสารคดีขนาดยาวเรื่องนี้ หนังก็ได้ฉายเปิดตัวในเทศกาลหนังเวนิส Human Flow (2017) ถ่ายทำกลางค่ายผู้ลี้ภัยกว่า 40 แห่ง ใน 23 ประเทศ และสาเหตุที่อ้ายจับประเด็นนี้ที่เขาอินเป็นพิเศษ ก็เพราะตัวเขาเองก็อยู่ในสถานะ ‘ผู้ลี้ภัย’ ด้วยเช่นกัน

สืบเนื่องจากทางการจีนลักพาตัวเขาคาสนามบินเมื่อปี 2011 ก่อนจะกักขังเขาโดยไม่แจ้งสาเหตุใดกว่า 81 วัน จากนั้นก็ริบหนังสือเดินทางห้ามออกนอกประเทศ และห้ามก่นด่าจีนผ่านสื่อใด จนกระทั่งถูกปล่อยตัวเมื่อปี 2015 ที่ทำให้เขาและครอบครัวต้องอพยพไปอาศัยอยู่เบอร์ลิน ซึ่งไม่กี่วันก่อนหนังของเขาจะเปิดตัวในเวนิส เขาก็มีอายุครบแซยิดหกสิบปีพอดิบพอดี

“ข้าต้องการสิทธิ์แห่งการมีชีวิต เฉกเช่นเสือดาวยามฤดูใบไม้ผลิ เช่นเมล็ดพืชปริงอก ข้าต้องการสิทธิ์แห่งการเป็นมนุษย์ผู้แรก” นาซิม ฮิกเมต กวีชาวตุรกี คือบทกวีที่ใช้เปิดตัวสารคดีเรื่องนี้ ก่อนจะพาไปเห็นภาพส่วนหนึ่งของผู้คนกว่า 65 ล้านผู้ลี้ภัย ที่ถูกบีบให้ออกไปจากบ้านเกิดตัวเอง จากกรณีต่างๆ ในสภาพอดอยากแร้นแค้น ภูมิอากาศอันโหดเหี้ยม และท่ามกลางสงครามยืดเยื้อ ข้ามมหาสมุทรเพื่อไปหลบภัยยังแคมป์ตามแนวชายแดนประเทศ กรีซ อาฟกานิสถาน อิรัก เคนยา เม็กซิโก ตุรกี ฯลฯ หลากเพศอายุเชื้อชาติและศาสนา ของบรรดาคนไร้รัฐที่ไม่มีที่ไหนที่พวกเขาจะเรียกได้อีกต่อไปว่าเป็น ‘บ้าน’

ก่อนจะเริ่มเปิดประเด็นว่า ‘นับตั้งแต่อเมริกาบุกครองอิรักในปี 2003 กว่า 26,8000 คนถูกฆ่าด้วยความขัดแย้งอย่างรุนแรงในอิรัก และมากกว่าสี่ล้านชาวอิรักต้องถูกผลักดันออกจากบ้านของตัวเอง’

จากนั้นอ้ายก็บุกตามไปสัมภาษณ์ถึงแนวชายแดนสดๆ ขณะข้ามพรมแดนมา พวกเขาเล่าให้ฟังว่า

“พวกเราหนีออกมาเมื่อสี่ปีก่อน เพราะเหตุการณ์ที่นั่นมันน่าสยดสยองมาก”
“ทุกๆ ที่ถูกจรวดโจมตี มาจากเมืองโฮบาร์”
“ไม่มีการแจ้งเตือนล่วงหน้า ยิงมายังกับห่าฝน”

ทุกๆ ครั้งของการสัมภาษณ์คือทิ้งช่วงชะงักไว้แล้วปล่อยให้คนดูเห็นสีหน้าแววตาของผู้ลี้ภัยเหล่านี้

ก่อนจะตัดภาพไปเป็นสภาพบ้านเมืองที่เหลือแต่ซากปรักหักพังร้างยาวเหยียดสุดลูกหูลูกตา

“Human Flow เป็นการเดินทางส่วนตัว เป็นความพยายามของผมที่จะเข้าใจแง่มุมต่างๆ เกี่ยวกับมนุษย์ในช่วงเวลานี้ ตัวหนังถูกสร้างขึ้นจากความเชื่ออย่างลึกซึ้งในคุณค่าของสิทธิมนุษชน ในโมงยามแห่งความไม่แน่นอน เราต้องอดกลั้นเป็นอันมาก มีความเห็นอกเห็นใจและไว้เนื้อเชื่อใจกันและกันให้มากขึ้น ในขณะนี้ที่ความเป็นมนุษย์ต้องเผชิญกับวิกฤติใหญ่หลวง”

วีรกรรมของอ้ายเว่ยเว่ยที่มีต่อจีน สาเหตุว่าทำไมเขาจึงต้องกลายมาเป็นผู้ลี้ภัย

อ้ายเว่ยเว่ยเป็นบุตรของกวียุคใหม่ อ้ายฉิง ผลงานของอ้ายฉิงยังคงถูกใช้สอนตามสถาบันการศึกษาในจีนจนถึงปัจจุบัน เดิมทีอ้ายฉิงมีชื่อว่า เจียงเจิ้งหาน แต่เมื่อปี 1953 เขาเขียนหนังสือเล่มหนึ่งจนถูกรัฐบาลก๊กมินตั๋งจับเขาขังคุกทรมาน ทำให้เขาไม่อยากใช้แซ่เจียงร่วมกับเจียงไคเช็คผู้นำพรรคก๊กมินตั๋ง จึงเปลี่ยนไปใช้ X แทนแซ่ ซึ่งคล้ายกับอักษร อ้าย ของจีน ในที่สุดเขาจึงเปลี่ยนแซ่เป็นอ้าย ต่อมาเมื่ออ้ายฉิงเขียนวิจารณ์พรรคคอมมิวนิสต์จีนในปี 1957 เขาก็ถูกตราหน้าว่าเป็นพวกฝ่ายขวา แล้วส่งตัวไปเข้าค่ายใช้แรงงานในเมืองห่างไกลความเจริญ ที่ซึ่งอ้ายเว่ยเว่ยใช้ชีวิตวัยเด็กอยู่นานถึง 16 ปี

อันที่จริงอ้ายเว่ยเว่ยมีน้องชายต่างแม่เป็นศิลปินเพ้นติ้งชื่อดังอีกคนหนึ่งคือ อ้ายสวน แต่เมื่ออ้ายเว่ยเว่ยถูกถามเกี่ยวกับน้องชายคนนี้ อ้ายเว่ยเว่ยตอบว่า “พวกเรามีความสัมพันธ์ทางสายเลือดกันก็จริง แต่นอกจากนั้นแล้ว พวกเราไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกันเลย”

บทเรียนจากรุ่นพ่อทำให้อ้ายเว่ยเว่ยเห็นถึงความสำคัญของเสรีภาพในการแสดงออก เพราะพ่อของเขาก็ถูกกระทำจากทั้งฝ่ายขวาและฝ่ายซ้าย ปี 1981 อ้ายเว่ยเว่ยจึงตัดสินใจไปใช้ชีวิตอยู่ในนิวยอร์ก จนกลับมาอยู่ในจีนเมื่อปี 1993 เนื่องจากพ่อของเขาล้มป่วย หลังจากนั้นอ้ายเว่ยเว่ยก็เริ่มเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะจากการเป็นหนึ่งในผู้ออกแบบสนามกีฬารังนกที่ถูกสร้างขึ้นสำหรับการแข่งโอลิมปิกในปี 2008

ช่วงเวลานั้นเอง เว็บ sina ของจีนจึงขอร้องให้เขาทำบล็อก เพราะว่าเขาเป็นคนดัง ซึ่งทีแรกก็โพสต์แต่ผลงานเก่าๆ ของเขาเองลงบล็อก แต่หลังๆ เขาเริ่มวิจารณ์ทางการจีนอย่างหนักข้อขึ้น โดยเฉพาะกับกรณีโรงเรียนผนังเต้าหู้ ที่มีการโกงกินกันอย่างมหาศาลจนทำให้โครงสร้างอาคารเรียนอ่อนยวบอย่างกับเต้าหู ซึ่งต่อมาเมื่อเกิดแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ในเสฉวนปี 2008 ทำให้อาคารเรียนกว่าเจ็ดหลังพังทะลายลง อ้ายเว่ยเว่ยได้โพสต์รายชื่อของผู้เสียชีวิตทั้งหมดกว่า 5,385 คนลงบล็อก ทำให้ทางการสั่งปิดบล็อกของเขาในเวลาต่อมา พร้อมกับถูกตำรวจลากไปทุบตี ถึงกับมีเลือดตกในกะโหลกต้องบินไปผ่าตัดสมองที่เมืองมิวนิก ประเทศเยอรมนี

แต่ใช่ว่าอ้ายเว่ยเว่ยจะมุ่งวิพากษ์จีนเพียงอย่างเดียว มีอีกหลายวีรกรรมของเขาเช่นกันที่วิจารณ์โลกเสรีอย่างสหรัฐด้วย เช่น

2017

29 พฤษภา 2017 อิสราเอล มิวเซียม
อ้ายเว่ยเว่ย โพสต์ภาพลงอินสตาแกรมในระหว่างนิทรรศการรวมผลงานของเขา Maybe, Maybe Not (2 มิถุนายน – 30 สิงหาคม) ซึ่งจัดแสดงครั้งแรกในอิสราเอลมิวเซียม กรุงเยรูซาเลม เขาทำท่าเลียนแบบภาพจำลั่นโลกของเด็กชาย อลัน เคอร์ดิ (เด็กน้อยผู้ลี้ภัยชาวซีเรียซึ่งจมน้ำตายเป็นศพถูกพบริมหาดตุรกีเมื่อปี 2015) เพื่อตอบโต้เหตุการณ์เมื่อหนึ่งสัปดาห์ก่อนหน้านั้น ขณะที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ โรนัลด์ ทรัมป์ และประธานาธิบดีอิสราเอล เบนจามิน เนทันยาฮู มาเยือนมิวเซียมแห่งนี้ อ้ายเว่ยเว่ยโพสต์อีกภาพเป็นทรัมป์และคณะ พร้อมกับคำบรรยายใต้ภาพว่า “ทรัมป์มาเยือน หลังฉากของเขาคืองานศิลปะของผม ซึ่งถูกรื้อถอนและปกปิดเอาไว้ระหว่างการมาเยือนของพวกเขา” ซึ่งต่อมาทางมิวเซียมออกมายอมรับว่าที่ต้องย้ายงานศิลปะบางชิ้นออก เพราะความหวาดกลัวผลกระทบทางการเมืองระหว่างประเทศ

7 มิถุนายน – 6 สิงหาคม พาร์คอะเวนู อาโมรี นิวยอร์ก

อ้าย เว่ยเว่ย ร่วมกับ คู่สถาปนิกชาวสวิส ฌาร์ค แฮร์โซก กับ ปิแอร์ เดอ มัวร็อง (พวกเขาเคยร่วมกันสร้างผมงานมาก่อนนี้แล้ว 2 ครั้ง คือสนามกีฬาโอลิมปิก รังนกในปักกิ่งเมื่อปี 2008 และศาลากลางแกลอรีเซอร์เพนติน ในลอนดอน เมื่อปี 2012) ด้วยธีมที่ว่า “ในโลกภาระหนักอึ้งทางเทคโนโลยี หลังภัยก่อการร้าย 9/11 ที่อื้ออึงไปด้วยข่าวฉาวเกี่ยวกับความเคร่งครัดในการตรวจตรา สิ่งเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องเพ้อฝันในนิทานอีกต่อไป” พวกเขาหยิบนิทานของพี่น้องกริมม์ เรื่อง ฮันเซลและเกรเทล มาตีความใหม่ ด้วยการพาผู้ชมไปสำรวจภูมิประเทศแห่งหนึ่ง ซึ่งเต็มไปด้วยกล้องอินฟาเรด และกล้องจากโดรนตรวจจับ ที่จะบันทึกจับภาพความเคลื่อนไหวของผู้มาเยือนทุกวินาที และไม่มีตรงไหนให้หลบซ่อนตัวได้เลย

ที่จริงแล้วด้วยชื่อเสียงและความสามารถของเขา เขาจะเลือกใช้ชีวิตอย่างสุขสบายก็ได้ แต่เขากลับเลือกหนทางที่ท้าทายอำนาจรัฐบาล ด้วยเหตุผลที่ว่า “หากศิลปินละเลยจิตสำนึกทางสังคม และหลักสากลของความเป็นมนุษย์แล้ว ศิลปะจะดำรงอยู่ได้อย่างไร?”