1721955
พระวีรธุ เคยประกาศตนว่าเป็น ‘บิน ลาดิน แห่งเมียนมา’ และเคยขึ้นปกนิตยสารไทม์ด้วยการจั่วหัวว่า “โฉมหน้าของภัยก่อการร้ายชาวพุทธ” เขาให้สัมภาษณ์กับนิตยสารดังกล่าวด้วยร้อยยิ้มแก้มปริว่า “อาตมาภูมิใจที่ถูกเรียกว่าเป็นคนพุทธหัวรุนแรง”
วีรธุเป็นตัวเดินเรื่องสำคัญของสารคดี The Venerable W.(2017) เจ้าของรางวัล Honorable Mention จากเทศกาลหนังเยรูซาเล็ม, เคยฉายเปิดตัวครั้งแรกในเทศกาลหนังเมืองคานส์ปีนี้ด้วย แต่ล่าสุดความแรงของหนังก็เพิ่งจะถูกกองเซ็นเซอร์แบนไปหมาดๆจากเทศกาลหนังสิงคโปร์ ทั้งที่นี่คือสารคดีของผู้กำกับที่เคยถูกเสนอชื่อชิงรางวัลออสการ์(จาก Reversal of Fortune -1990) บาร์เบ็ต ชโรเดอร์
เหตุผลที่ชโรเดอร์สนใจในตัววีระธุก็เพราะว่า “ส่วนตัวผมรู้สึกใกล้ชิดกับพุทธศาสนา ทำให้ผมอยากจะทำความเข้าใจความย้อนแย้งในตัวเองของ พระวีรธุ แบบเดียวกับที่ผมเคยสำรวจตัวตนอันย้อนแย้งของประธานาธิบดีจอมเผด็จการทหาร อีดี อามิน ใน General Idi Amin Dada (1974) และ ฌักส์ แวร์แฌส์ (ทนายความของผู้ก่อการร้ายกลุ่มต่างๆ เช่น ซัดดัม ฮุสเซน, ผู้นำเขมรแดง, อดีตนายพลพรรคนาซี ฯลฯ) ใน Terror’s Advocate (2007)” สารคดีเรื่องล่าสุดนี้จึงเป็นเสมือนบทสรุปของไตรภาค evil ของชโรเดอร์ ที่ว่าด้วยปีศาจในคราบ ทหาร ทนาย และพระสงฆ์
ชโรเดอร์อธิบายความเจ้าเล่ห์ของเขาในการติดต่อขอสัมภาษณ์วีระธุว่า “ผมหว่านล้อมเขาว่า คนฝรั่งเศสผู้นิยม มารีน เลอ แปน (ผู้นำการเมืองขวาจัดและผู้ชิงตำแหน่งประธานาธิบดีฝรั่งเศส) ต่างพากันเชียร์แนวคิดของวีระธุ และมันคงจะน่าสนใจอย่างมากที่จะนำเสนอตัวตนที่แท้จริงของเขาให้ชาวฝรั่งเศสได้รู้จักในหนังที่กำกับโดยผู้กำกับฮอลลีวูด…เขาเลยโอเค จากนั้นก็ใช้เวลาถ่ายทำไป 2 เดือน ได้ฟุตเทจ 300 ชั่วโมงที่ต้องแปลมาเป็นภาษาฝรั่งเศสทั้งหมด ทำให้เสียเวลาตัดต่อไปอีก 9 เดือน และทำโพสต์โปรดัคชันอีก 3 เดือน”
ใครกันคือวีระธุ?
พระวีรธุจัดตั้งขบวนการ 969 เพื่อรณรงค์ต่อต้านธุรกิจของชาวมุสลิม รวมถึงบุกทำลายมัสยิดเก่าแก่ สร้างกระแสเกลียดชังมุสลิมไปทั่วทั้งเมียนมา มาตั้งแต่ปี2001 หลังจากเกิดกระแสกล่าวหาว่าชาวมุสลิมข่มขืนชาวพุทธ จนกลายเป็นจราจลในเมืองซิตตเว รัฐยะไข่ และเมืองตองอู หงสาวดี ทำให้ชาวมุสลิมเสียชีวิตไปไม่ต่ำกว่า 200 ราย แล้วแม้ว่าในปี2003 เขาจะถูกตัดสินโทษจำคุกมากถึง 25 ปี แต่ผ่านไปแค่ 7 ปี เขาก็ได้รับการอภัยโทษออกมาและปลุกขบวนการ 969 ขึ้นมาใหม่อีกครั้งในปี2010
ความศรัทธาในตัวพระรูปนี้บูมอย่างหนักหลังเกิดคดีชาวโรฮีนจาข่มขืนสาวพม่า จนทำให้มีการคว่ำบาตรธุรกิจต่างๆของชาวมุสลิมในเมียนมา และพยายามผลักดันให้เกิดกฎหมายห้ามชาวพุทธกับมุสลิมแต่งงานกัน กระทั่งความรุนแรงทวีตัวขึ้นอีกครั้งในปี2012 และ 2013 เมื่อมีการเผาวอดอาคารบ้านเรือนและมัสยิดในรัฐยะไข่ จนเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตอีกมากกว่า 300 ราย แต่เที่ยวนี้พระวีระธุไม่ถูกจับ เนื่องจากเขาเป็นผู้นำขบวนสนับสนุนร่างกฎหมายของรัฐบาลนายเต็ง เส่ง ประธานาธิบดีในขณะนั้น ที่ระบุว่าให้ส่งชาวโรฮีนจาไปยังประเทศโลกที่สาม จากนั้นเองความรุนแรงที่กระทำกับชาวโรฮีนจาอย่างไม่ปราณี ก็พุ่งกระแสขึ้นอย่างไม่หยุดหย่อนมาจนทุกวันนี้
ความย้อนแย้งของวีระธุและพุทโธเลียนเมียนมา
“เพราะเราเป็นพระ เราจึงต้องเบิกเนตรมวลชนให้ตาสว่างได้สักที” คือประโยคเด็ดดอกแรกๆที่ทำคนดูจะต้องอึ้งในสารคดีเรื่องนี้ วีระธุปลุกปั่นด้วยว่า “ระหว่างชาวพุทธกับมุสลิม ใครกันแน่เป็นที่ชื่นชอบมากกว่า” แล้วบรรดาพุทธบริษัท พุทธศาสนิกชนคนดีงามทั้งหลายก็ประสานเป็นตอบเป็นเสียงเดียวกันว่า “ต้องเป็นชาวพุทธอยู่แล้ว” ทำให้วีระธุฮึกเหิมประกาศกร้าวว่า “เราจะร่วมกันเขียนประวัติศาสตร์หน้าใหม่”
แต่ในขณะเดียวกันพระวีระธุก็บอกด้วยว่า “อาตมาเป็นพวกต่อต้านความรุนแรง ต่อต้านภัยก่อการร้าย เพราะเช่นนั้นเองอาตมาจึงต้องปกป้องสาธารณชนด้วย…ดังนั้นแม้ว่าเราจะเป็นผู้มีเมตตากรุณา แต่เราจะไม่มีทางข่มตาหลับลงได้แน่ๆ ถ้าต้องนอนหลับอยู่ใกล้ๆกับหมาบ้า…แล้วถ้าเราอ่อนแอ แผ่นดินเมียนมาก็จะเต็มไปด้วยมุสลิม” ขณะที่ เต็ง เส่ง กล่าวโทษว่า “นิตยสารไทม์ต่างหากที่กล่าวร้ายต่อศาสนาพุทธ ไทม์ต่างหากที่ปลุกกระแสให้ทั่วโลกมองเมียนมาผิดไป ทำให้วีระธุรับลูกว่า “จุดเริ่มต้นของความรุนแรงทั้งปวงในโลกนี้มาจากชาวมุสลิมต่างหาก” และเหล่านี้คือที่มาของประโยคเด็ดอันแสนจะฟังทะแม่งๆเพราะย้อนแย้งเสียเหลือเกินในหนังเรื่องนี้ว่า “แม้แต่ในอเมริกาเอง เพราะประชาชนต้องการคงไว้ซึ่งสันติภาพและความมั่นคงปลอดภัย ทำให้พวกเขาถึงต้องเลือก โดนัลด์ ทรัมป์”
คลิปสมัครเล่น
สิ่งหนึ่งที่ต่างออกไปจากอีก 2 เรื่องก่อนหน้านี้ในไตรภาค evil คือ คราวนี้ชโรเดอร์ใช้คลิปสมัครเล่นจากกล้องมือถือและคลิปยูทูบลงมาผสมด้วย ด้วยเหตุผลที่ชโรเดอร์กล่าวว่า “ตัววีระธุเองก็ปลุกปั่นผู้คนผ่านโลกโซเชียล ซึ่งคลิปเหล่านี้ส่วนหนึ่งก็มาจากเครื่องมือที่เขาใช้นั่นแหละ ต้องขอบคุณเทคโนโลยีสมัยนี้ที่ทำให้เราได้ภาพคมชัดขึ้นด้วย แม้ว่าพวกเขาจะไม่ใช่มืออาชีพกันเลย” ภาพจากกล่องสมัครเล่นเหล่านี้คือเครื่องยืนยันชั้นดีว่า ที่กระแสความเกลียดชังต่อชาวมุสลิมโรฮีนจาถูกจดติด ก็เพราะมีกลุ่มคนที่สนับสนุนเขาอย่างมากมาย และไม่เพียงแค่ภาพที่เห็นจากหน้ากล้องเท่านั้น แต่ยังรวมถึงความโห่ฮาป่าของบรรดาชาวบ้านที่ยกกล้องขึ้นมารุมถ่ายอย่างสะใจ ก็สะท้อนความเลือดเย็นในนามของการศรัทธาในศาศนาได้เป็นอย่างดี ไม่ว่าจะเป็นภาพรุมกระทืบ รุมไล่ฆ่า บุกเผาทะลายบ้านอย่างผู้มีชัย
แต่ใช่ว่าในหนังจะมีแต่มุมของกลุ่มฝ่ายต่อต้านมุสลิมเท่านั้น หนังยังพาคนดูไปฟังความเห็นของกลุ่มพระที่ไม่เห็นด้วยต่อแนวคิดของ วีระธุด้วย อย่างไรก็ตามท่าทีส่วนใหญ่ของชาวเมียนมาก็สะท้อนให้เห็นได้ชัดเจนที่สุดในตัวผู้นำคนล่าสุดอย่าง ออง ซาน ซูจี ที่เพิกเฉยต่อการแก้วิกฤตโรฮีนจา จนล่าสุดก็ถึงขนาดถูกเรียกคืนรางวัล ‘เสรีภาพแห่งออกซ์ฟอร์ด’ (ซึ่งเธอได้มาเมื่อปี1997) หลังจากสภาเมืองออกฟอร์ดได้ลงความมติกันว่า ‘พวกเราไม่ต้องการเชิดชูบุคคลที่กลายเป็นเหมือนคนตาบอดที่เพิกเฉยต่อความรุนแรง ความเลวร้ายที่เกิดขึ้นไม่ต่างอะไรกับการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์’ นอกจากนี้ยังมีกระแสเรียกร้องให้พิจารณาคุณสมบัติของนางซูจีด้วย ว่ายังเหมาะสมกับรางวัลโนเบล สาขาสันติภาพที่เธอเคยได้รับไปเมื่อปี1991 หรือไม่
แม้ว่าชโรเดอร์จะเป็นลูกครึ่งอิหร่านกับสวิส แต่ปัจจุบันเขาอาศัยอยู่ในปารีส จึงมีความเห็นว่า “สำหรับผมหนังเรื่องนี้ไม่เพียงจะอธิบายสิ่งที่เกิดขึ้นในเมียนมาเท่านั้น แต่ยังอธิบายความรู้สึกของผู้คนทั่วโลกด้วย กระแสเกลียดชังชาวมุสลิมปะทุมาตั้งแต่เหตุการณ์ 911 มาจนอาหรับสปริง รวมถึงภัยก่อการร้ายอีกหลายครั้งในยุโรป โดยเฉพาะกรณีบุกยิงถล่มกองบก. ชาลี แอบโด ในฝรั่งเศสเมื่อต้นปี2015 ซึ่งถ้าคุณรู้สึกไม่ดีต่อสิ่งที่วีระธุกระทำแล้วละก็ คุณก็ควรจะรู้สึกไม่ดีต่อกระแสความเกลียดชังชาวมุสลิมด้วยเช่นกัน ไม่เช่นนั้นก็เท่ากับคุณเองก็ทำแบบเดียวกับที่ผู้ก่อการร้ายกระทำกับเรา”