ThaiPublica > เกาะกระแส > “กรมส่งเสริมสหกรณ์” จับมือ “แบงก์กรุงไทย” วางระบบไอที “เครื่องรูดบัตร-QR code” – นำร่อง 127 สหกรณ์ หวังลดทุจริตหมื่นล้าน

“กรมส่งเสริมสหกรณ์” จับมือ “แบงก์กรุงไทย” วางระบบไอที “เครื่องรูดบัตร-QR code” – นำร่อง 127 สหกรณ์ หวังลดทุจริตหมื่นล้าน

28 กุมภาพันธ์ 2018


เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2561 กรมส่งเสริมสหกรณ์ร่วมกับธนาคารกรุงไทยจัดพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการพัฒนาระบบการบริหารจัดการทางการเงินให้แก่สหกรณ์และสมาชิกของสหกรณ์

เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2561 กรมส่งเสริมสหกรณ์ร่วมกับธนาคารกรุงไทยจัดพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการพัฒนาระบบการบริหารจัดการทางการเงินให้แก่สหกรณ์และสมาชิกของสหกรณ์ และสัมมนาโครงการ “สหกรณ์ไทยก้าวทันเทคโนโลยีดิจิทัลและนวัตกรรมการเงิน” โดยนายพิเชษฐ์ วิริยะพาหะ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ กล่าวว่าปัจจุบันกรมมีนโยบายที่จะพัฒนาระบบการเงินอิเล็กทรอนิกส์ของสหกรณ์แทนที่ระบบใช้เงินสดที่มีอยู่ค่อนข้างในปัจจุบัน โดยเฉพาะในสหกรณ์การเกษตรที่เป็นสหกรณ์ส่วนใหญ่ของประเทศและคาดว่ามีการใช้เงินสดในธุรกรรมเกือบ 90% ของธุรกรรมทั้งหมด ซึ่งจะช่วงลดปัญหาการทุจริตในภาคสหกรณ์ที่หลายฝ่ายกังวลได้ เนื่องจากการทุจริตส่วนใหญ๋ของสหกรณ์เกิดจากการยักยอกเงินสดเป็นหลัก

ทั้งนี้ ปัจจุบันมีสหกรณ์ที่สนใจเข้าร่วมโครงการนำร่องแล้วประมาณ 127 แห่ง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นสหกรณ์การเกษตร โดยโครงการจะแบ่งเป็น 2 มาตรการ 1) จัดทำบัตร e-Money หรือบัตรเติมเงินแทนการถือเงินสดสำหรับสมาชิก เรียกว่า Co-op Member Card ซึ่งมีวงเงินสูงสุด 300,000 บาทตามหลักเกณฑ์ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ขณะเดียวกันธนาคารกรุงไทยจะวางระบบและติดตั้งเครื่องรูดบัตรสำหรับรับจ่ายเงิน หรือเครื่อง EDC ให้สหกรณ์ละ 1 เครื่อง ซึ่งจะช่วยให้สหกรณ์สามารถทำธุรกรรมทั้งหมดผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์และสามารถตรวจสอบได้ สำหรับกรอบดำเนินการ คาดว่าภายหลังจากการประชุมวันนี้ หากสหกรณ์ 127 แห่งที่มาร่วมประชุมเห็นด้วย ธนาคารกรุงไทยจะเริ่มติดตั้งพร้อมใช้งานภายใน 15 วัน หรือกลางเดือนมีนาคม 2561

2) ระบบ QR Code รับจ่ายเงินเข้าสหกรณ์โดยตรง ซึ่งจะเน้นไปที่สหกรณ์ที่มีการค้าขาย สหกรณ์ร้านค้า สหกรณ์การเกษตรขนาดใหญ่ที่ขายผลิตภัณฑ์ของตนเอง แต่ปัจจุบันเริ่มจากสหกรณ์ 8-9 แห่งและมีเป้าหมายจะขยายไปยังศูนย์กระจายสินค้า 50-60 แห่งทั่วประเทศก่อน ส่วนกรอบเวลาคาดว่าหลังจากวันนี้อีกประมาณ 1 เดือนจะสามารถเริ่มต้นได้

ขณะที่นายอำนาจ อัตถโกวิทย์วงศ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการบริหารการเงินสหกรณ์ กรมส่งเสริมสหกรณ์ กล่าวว่าปัจจุบันระบบชำระเงินของสหกรณ์จะแบ่งเป็น 2 ระบบคือใช้เงินสดและระบบธนาคารพาณิชย์ ซึ่งโครงการดังกล่าวส่วนหนึ่งจะเป็นการย้ายการทำธุรกรรมบางส่วนจากธนาคารที่เสียค่าธรรมเนียมสูงมาใช้ระบบบัตรเงินสด (e-Money) ซึ่งไม่ได้ผูกติดกับระบบธนาคารพาณิชย์และเสียค่าธรรมเนียมที่ต่ำกว่า เป็นทางเลือกแก่ระบบสหกรณ์

อีกด้านหนึ่งสำหรับระบบธุรกรรมเงินสดจะช่วยลดปัญหาการทุจริต โดยจากข้อมูลพบว่าส่วนใหญ่การทุจริตมักจะมาในรูปแบบยักยอกเงินสด ซึ่งบางครั้งสูงถึง 500-1,000 ล้านบาท เนื่องจากเป็นการยักยอกสมาชิกทีเดียวจำนวนหลาย 100 รายและไม่สามารถตรวจสอบได้ง่ายหรือรวดเร็ว การใช้ระบบอิเล็กทรอนิกส์จึงช่วยให้เจ้าหน้าที่และสมาชิกสามารถติดตามตรวจสอบธุรกรรมอย่างทันท่วงที

“วันนี้เป็นเหมือนจุดเริ่มต้นของสหกรณ์ที่ต้องเริ่มขยับตามการเปลี่ยนแปลงของโลก โดยเฉพาะเรื่องสังคมไร้เงินสด ซึ่งเชื่อว่า 2-3 ปีข้างหน้าถ้าไม่ปรับตัวจะตามโลกไม่ทัน นอกจากนี้เรื่องของการทุจริตเรียกว่าเห็นตั้งแต่เข้ามารับราชการใหม่ๆ ซี3 จนขึ้นมาถึงเป็นอธิบดีก็ยังเห็นอยู่คือทุจริตยักยอกเงินสด ก็มาคิดว่าจะแก้ไขอย่างไรได้บ้าง ก็เห็นว่าต้องไม่จับเงินสด ซึ่งเทคโนโลยีการเงินสมัยนี้ทำได้แล้ว พอได้ไปคุยกับธนาคารกรุงไทยก็ส่งทีมงานมาคุยทันที ก็คิดว่าน่าจะเดินต่อไปได้ ออกมาเป็นโครงการในวันนี้มีสหกรณ์นำร่อง 127 แห่งมารับฟังว่าระบบนี้ดีอย่างไร มีต้นทุนอะไรบ้าง คุ้มหรือไม่ ปลอดภัยหรือไม่ ลองดูก่อน ซึ่งถ้าไปได้ดีก็จะขยายผลให้สหกรณ์อื่นๆมาดูงานต่อไป”นายพิเชษฐ์กล่าว

อนึ่ง ข้อมูลของกรมส่งเสริมสหกรณ์ ล่าสุด ณ 26 กุมภาพันธ์ 2561 ระบบสหกรณ์มีจำนวนเงินที่คาดว่าจะเสียหายจากข้อบกพร่องทั้งสิ้น 9,679.66 ล้านบาท โดยเป็นการทุจริต 643.33 ล้านบาท หรือคิดเป็น 6.65 % ของความเสียหายทั้งหมด หรือคิดเป็น 0.017 % ของสินทรัพย์รวมของระบบสหกรณ์ ทั้งนี้มีจำนวนสหกรณ์ที่มีความบกพร่อง 204 แห่ง เป็นการทุจริต 33 แห่ง หรือคิดเป็น 0.4% ของจำนวนสหกรณ์ทั้งหมด ลดลงจาก ณ สิ้นปี 2559 ที่ระบบสหกรณ์มีจํานวนเงินที่คาดว่าจะเสียหายจากขอบกพรองของสหกรณ์ ทั้งสิ้น 30,670.1 ล้านบาท โดยเป็นการทุจริต 18,812.2 ล้านบาท หรือคิดเป็น 61.3% ของความเสียหายทั้งหมด หรือคิดเป็น 0.73% ของสินทรัพย์รวมของระบบสหกรณ์ทั้งระบบในปี 2559 ทั้งนี้ มีจำนวนสหกรณ์ที่มีข้อบกพร่องทั้งหมด 1,173 แห่ง เป็นข้อบกพร่องด้านการทุจริต 293 แห่ง หรือคิดเป็น 4.1% ของจำนวนสหกรณ์ทั้งหมดในปี 2559

ขณะที่ฐานะการเงินของระบบสหกรณ์ล่าสุดของระบบสหกรณ์ไทย ณ สิ้นปี 2560 ข้อมูลจากกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ระบุว่ามีสินทรัพย์ประมาณ 3.72 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2559 ที่ 2.57 ล้านล้านบาท มีหนี้สินประมาณ 2.09 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นจาก 1.44 ล้านล้านบาท และมีส่วนของเจ้าของ 1.63 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นจาก 1.13 ล้านล้านบาท มีจำนวนสมาชิกทั้งสิ้น 11.57 ล้านคน เพิ่มขึ้นจาก 11.45 ล้านคน มีจำนวนสหกรณ์ทั้งสิ้น 8,194 แห่ง ลดลงจาก 8,263 แห่ง