ThaiPublica > เกาะกระแส > ทีเส็บจับมือกรมส่งเสริมสหกรณ์ ชูโครงการ “ไมซ์เพื่อชุมชน” สร้างงาน สร้างรายได้ กระตุ้นเศรษฐกิจชุมชน

ทีเส็บจับมือกรมส่งเสริมสหกรณ์ ชูโครงการ “ไมซ์เพื่อชุมชน” สร้างงาน สร้างรายได้ กระตุ้นเศรษฐกิจชุมชน

26 กรกฎาคม 2018


(ซ้าย) นายจิรุตถ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (TCEB), (ขวา) นายพิเชษฐ์ วิริยะพาหะ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์

เมื่อเร็วๆ นี้ สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ ทีเส็บ (TCEB) ร่วมกับกรมส่งเสริมสหกรณ์ จัดทริปเชิญผู้แทนองค์กรธุรกิจจากเครือข่ายอนาคตไทยและสื่อมวลชนหลายสิบคน ไปดูงานที่สหกรณ์การเกษตรบ้านลาด จำกัด จ.เพชรบุรี ในฐานะสหกรณ์นำร่องที่มีศักยภาพในการเป็นจุดหมายใหม่สำหรับธุรกิจไมซ์ ตามโครงการ “ไมซ์เพื่อชุมชน”

นายจิรุตถ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา ผู้อำนวยการทีเส็บ เปิดเผยว่า โครงการไมซ์เพื่อชุมชนเป็นความร่วมมือกันเป็นครั้งแรกระหว่างทีเส็บและกรมส่งเสริมสหกรณ์ รวมถึงอีกหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการช่วยกันส่งเสริมและพัฒนาขับเคลื่อนเศรษฐกิจชุมชนสหกรณ์ที่มีศักยภาพเพื่อรองรับการจัดงานประชุม ศึกษาดูงาน จัดกิจกรรมเรียนรู้ กระตุ้นให้เกิดการพัฒนาชุมชนในทุกมิติทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคม สอดรับกับนโยบายรัฐบาลที่มุ่งเน้นให้อุตสาหกรรมไมซ์เป็นหนึ่งกลไกหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจภายในประเทศ สร้างงาน สร้างรายได้ สู่ชุมชนท้องถิ่น โดยเฉพาะในเมืองรองและชุมชนรายย่อย

ทั้งนี้ ทีเส็บจะเชิญชวนภาคีพันธมิตรทั้งภาครัฐและเอกชน เช่น องค์กรธุรกิจ สถาบันการศึกษา และภาคสังคมต่างๆ ที่เป็นสมาชิกของเครือข่ายอนาคตไทย เข้ามาร่วมพัฒนาต่อยอดกับชุมชนสหกรณ์ในรูปแบบต่างๆ ทั้งในเรื่องการจัดประชุม ศึกษาดูงานนอกสถานที่ การอุดหนุนสินค้าพื้นถิ่น การเข้าไปจัดกิจกรรมส่งเสริมความรับผิดชอบต่อสังคม (CSR) รวมถึงการเข้าไปแบ่งปันความรู้ร่วมกับชุมชน เช่น ด้านการตลาด การพัฒนาผลิตภัณฑ์ เพื่อช่วยส่งเสริมเศรษฐกิจชุมชนและสร้างเครือข่ายความร่วมมือระหว่างกันต่อไปในอนาคต

“ทีเส็บและกรมส่งเสริมสหกรณ์จัดกิจกรรมแฟมทริปเปิดตัวโครงการไมซ์เพื่อชุมชน โดยเชิญชวนผู้แทนองค์กรธุรกิจจากเครือข่ายอนาคตไทยและสื่อมวลชนจำนวน 60 คน มาดูงานที่สหกรณ์การเกษตรบ้านลาด จ.เพชรบุรี เป็นการนำร่อง หลังจากนั้นภายในเดือนสิงหาคมนี้ จะจัดทำคู่มือสถานที่จัดงานไมซ์เพื่อชุมชน โดยทำการคัดเลือกชุมชนสหกรณ์ที่มีศักยภาพจำนวน 37 แห่ง จัดทำแคมเปญสื่อสารประชาสัมพันธ์ผ่านช่องทางออฟไลน์และออนไลน์ไปยังองค์กรธุรกิจ สถาบัน และหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน ในการพาพนักงานไปประชุม ศึกษาดูงาน หรือจัดกิจกรรมเรียนรู้นอกสถานที่” นายจิรุตถ์กล่าว

นอกจากนั้น จะจัดให้มีกิจกรรม Table Top Sales จับคู่เจรจาธุรกิจสินค้าในชุมชนกับองค์กรธุรกิจต่างๆ จากเครือข่ายอนาคตไทยและบริษัทในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย นำร่องให้เกิดการสร้างความร่วมมือในการพัฒนาเศรษฐกิจชุมชนต่อไป

เยี่ยมชมโรงงานบรรจุและแปรรูปกล้วยหอมทอง สหกรณ์การเกษตร บ้านลาด จ.เพชรบุรี

นายพิเชษฐ์ วิริยะพาหะ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ กล่าวว่า สหกรณ์การเกษตรบ้านลาดเป็นสหกรณ์การเกษตรขนาดใหญ่ที่มีความเข้มแข็ง มีเกษตรกรเป็นสมาชิกเกือบ 1 หมื่นคน ทำหน้าที่ขับเคลื่อนพัฒนาด้านการเกษตรแทนภาครัฐทั้งหมดตั้งแต่การผลิตไปจนถึงการตลาด ไม่เคยมีปัญหาเรื่องสินค้าล้นตลาด เป็นที่พึ่งของสมาชิกเกษตรกรได้อย่างแท้จริง จึงเป็นสหกรณ์นำร่องแห่งแรกสำหรับโครงการไมซ์เพื่อชุมชน และเร็วๆ นี้เตรียมจะขยายผลไปสู่สหกรณ์จังหวัดอื่นๆ ต่อไป

ทั้งนี้ ภารกิจสำคัญของกรมส่งเสริมสหกรณ์ คือการส่งเสริมและสนับสนุนการดำเนินงานของสหกรณ์ทั่วประเทศกว่า 8,171 แห่ง และกลุ่มเกษตรกรอีก 4,924 แห่ง สมาชิกสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกรรวมกว่า 12 ล้านคน คิดเป็นสัดส่วนถึง 1 ใน 5.5 ของประชากรประเทศไทย โดยเฉพาะสหกรณ์ในภาคการเกษตรที่ทำหน้าที่ในการส่งเสริมเกษตรกรที่เป็นสมาชิกผลิตสินค้าการเกษตรที่สำคัญหลากหลายชนิด ทั้งสินค้าเพื่อการบริโภค ได้แก่ ข้าว ผัก ผลไม้ นม กาแฟ ไข่ไก่ โคเนื้อ

รวมถึงสินค้าทางเศรษฐกิจระดับประเทศ ได้แก่ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มันสำปะหลัง ปาล์มน้ำมัน ยางพารา และอ้อย  ซึ่งหากสหกรณ์ได้รับการพัฒนาอย่างเหมาะสม ย่อมส่งผลดีต่อการพัฒนาเศรษฐกิจระดับชุมชน และส่งผลต่อการยกระดับรายได้และคุณภาพชีวิตให้กับชาวบ้านในพื้นที่ชุมชนต่างๆ ได้อย่างทั่วถึงมากยิ่งขึ้น

สำหรับการจัดทำโครงการไมซ์เพื่อชุมชนในครั้งนี้ เป็นการบูรณาการความร่วมมือทั้งหน่วยงานราชการ องค์กรธุรกิจ มูลนิธิ และภาคประชาสังคม โดยมีเป้าหมายในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจระดับฐานราก ตรงตามเจตนารมณ์ของรัฐบาลในการส่งเสริมการกระจายรายได้สู่ท้องถิ่น และนับเป็นโอกาสอันดีสำหรับสหกรณ์ในพื้นที่ต่างๆ ที่มีความพร้อมและมีศักยภาพในด้านการผลิตสินค้าและบริการ จะได้เปิดพื้นที่ต้อนรับตัวแทนของภาคเอกชนซึ่งเป็นคณะผู้เข้าร่วมประชุมกับทางทีเส็บได้เข้ามาศึกษาดูงาน และนำไปสู่การแลกเปลี่ยนประสบการณ์องค์ความรู้ด้านธุรกิจระหว่างสหกรณ์กับภาคเอกชน

“คาดว่าโครงการนี้จะเป็นประโยชน์ต่อการสนับสนุนต่อยอดธุรกิจให้กับสหกรณ์ ทั้งทางช่องการตลาด การพัฒนาดีไซน์รูปแบบสินค้าและบรรจุภัณฑ์ การแบ่งปันความรู้ด้านเทคโนโลยีที่ทันสมัย ซึ่งจะช่วยกระตุ้นให้สมาชิกสหกรณ์เกิดความเข้าใจและพัฒนาสินค้าให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดในยุคปัจจุบัน ส่งผลให้สมาชิกสหกรณ์มีโอกาสในการพัฒนาอาชีพ สร้างรายได้เพิ่มขึ้น และยกระดับความเข้มแข็งของชุมชนให้เกิดความยั่งยืน” นายพิเชษฐ์กล่าว

เยี่ยมชม “สวนตาลลุงถนอม” ชมขั้นตอนการเก็บน้ำตาลจากต้นตาล

นายพิเชษฐ์กล่าวเพิ่มเติมว่า สหกรณ์ที่ถูกคัดเลือกเข้าร่วมโครงการไมซ์ชุมชนจะเป็นสหกรณ์ภาคการเกษตรและสินค้าที่หลากหลายกระจายอยู่ทั่วประเทศ เช่น สหกรณ์ที่ผลิตสินค้าเกษตรและสินค้าแปรรูป สหกรณ์โคนม สหกรณ์โคเนื้อ หรือแม้แต่สหกรณ์ที่ทำเรื่องผักปลอดสารพิษ แต่ต้องมีสินค้าที่มีมาตรฐานในระดับหนึ่ง มีความเข้มแข็งทางการเงิน  มีการบริหารที่มีธรรมาภิบาล ไม่มีการทุจริต และช่วยเหลือสมาชิกสหกรณ์แบบครบวงจร

“สหกรณ์เหล่านี้หากมีภาคเอกชนมาช่วยเหลือ จะเป็นการต่อยอดให้กับสหกรณ์ได้ เพราะโครงการไมซ์เพื่อชุมชนถือเป็นการนำภาคเอกชนเข้ามาช่วยเหลือชุมชน  เปิดโอกาสให้เอกชนเข้ามาสัมผัสงานของชุมชนจริงๆ ดังนั้น การที่ทีเส็บให้โอกาสสหกรณ์ จะเป็นการเปิดโอกาสให้สหกรณ์ได้ยกระดับมาตรฐานสินค้าเกษตรเพิ่มมากขึ้น” อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์กล่าว

เมนูขนมพื้นบ้าน อัตลักษณ์ของชุมชนบ้านลาด

TCEB ดันไทยเป็นศูนย์กลางการจัดแสดงนิทรรศการดิจิทัล 4.0

นายสราญโรจน์ สุทัศน์ชูโต ผู้อำนวยการฝ่ายส่งเสริมตลาดในประเทศ สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ ทีเส็บ (TCEB) เปิดเผยว่า ทีเส็บเป็นองค์กรหลักในการผลักดันอุตสาหกรรมไมซ์ให้เป็นเครื่องมือในการพัฒนาประเทศไทย เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและกระจายรายได้สู่ชุมชน ซึ่งที่ผ่านมาธุรกิจไมซ์ในประเทศไทยมีแนวโน้มทิศการเติบโตไปในทางที่ดี โดยในปี 2560 มีนักเดินทางกลุ่มไมซ์ที่เดินทางมายังประเทศไทยกว่า 1,276,411 คน เติบโต 0.23% สร้างรายได้ไม่น้อยกว่า104,641 ล้านบาท เติบโต 1.66% โดยในกลุ่ม Exhibition มีจำนวนทั้งสิ้น 215,992 คน คิดเป็น 17 % ของนักเดินทางทั้งหมด สร้างรายได้กว่า 18,869 ล้านบาท

ขณะที่การเติบโตของตลาดอีคอมเมิร์ซไทยยังเติบโตอย่างมีนัยยะสำคัญที่ไทยจะสามารถนำเสนอการจัดแสดงสินค้า บริการ รวมถึงนิทรรศการทางด้านอีคอมเมิร์ซ เพื่อเป็นศูนย์กลางการแสดงสินค้า บริการในกลุ่มดังกล่าว โดยการเติบโตของตลาดอีคอมเมิร์ซไทยในปี 2560 มีมูลค่าตลาดรวมอยู่ที่ 2,812,592.03 ล้านบาท โดยเป็นประเภท B2B (การค้าขายระหว่างธุรกิจกับธุรกิจ) มูลค่ากว่า 1,675,182.23 ล้านบาท และประเภท B2C มีมูลค่ากว่า 812,612.68 ล้านบาท ซึ่งถือเป็นมูลค่า B2C (การค้าขายระหว่างธุรกิจกับผู้บริโภคโดยตรง) สูงที่สุดในกลุ่มประเทศอาเซียน ซึ่งอีคอมเมิร์ซเปรียบเสมือนกุญแจสำคัญที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไทยไปสู่เป้าหมาย Digital 4.0 สอดรับกับนโยบายของรัฐบาล ที่กำหนดวิสัยทัศน์และพันธกิจในการสร้างงานแสดงสินค้าจากต่างประเทศ รวมถึงทำให้การเข้ามาร่วมออกแสดงงานและร่วมงานแสดงสินค้ามีความสะดวกและง่ายต่อการทำธุรกิจเพื่อสามารถยกระดับคุณภาพอุตสาหกรรมในองค์รวม

สำหรับการสนับสนุนการจัดงาน e-Biz Expo Asia งานแสดงสินค้าและบริการในด้านธุรกิจอีคอมเมิร์ซ นอกจากจะเป็นการเปิดโอกาสให้คนที่ต้องการจะเริ่มต้นธุรกิจและต่อยอดธุรกิจให้ทันโลกในปัจจุบัน และเป็นการเปิดโอกาสให้แจ้งเกิดนักธุรกิจใหม่ๆ ทั้งคนไทยและคนต่างชาติแล้วนั้น ยังคาดหวังในการสร้างโอกาสให้ประเทศไทยได้แสดงศักยภาพในการเป็นผู้นำด้านดิจิทัลแพลตฟอร์ม ผ่านการจัดงานแสดงสินค้า และนิทรรศการ ซึ่งการจัดงานที่ผ่านมาพบว่ามีความสนใจจากนักลงทุนต่างชาติในกลุ่มอาเซียนเป็นจำนวนมาก อย่างไรก็ตามทีเล็บเล็งเห็นว่าตลาดอีคอมเมิร์ซ ยังมีศักยภาพ และโอกาสเติบโตในระดับสูง การจัดงานที่ส่งเสริมการค้าการทุนในกลุ่มดังกล่าวจึงถือเป็นการช่วยเพิ่มโอกาสการสร้างมูลค่าเพิ่ม และสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศให้เป็น 4.0 อีกด้วย