ThaiPublica > คนในข่าว > อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์รื้อระบบ จัดเกรด 8,230 สหกรณ์ สั่งเลิกกิจการกว่า 1,000 แห่ง – ดีเดย์กฎใหม่คุมเข้ม 1 มิ.ย. นี้

อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์รื้อระบบ จัดเกรด 8,230 สหกรณ์ สั่งเลิกกิจการกว่า 1,000 แห่ง – ดีเดย์กฎใหม่คุมเข้ม 1 มิ.ย. นี้

15 พฤษภาคม 2017


ข่าวการฉ้อฉล ทุจริต ฉ้อโกง ที่เกี่ยวเนื่องกับสหกรณ์ปรากฏเป็นข่าวอย่างต่อเนื่อง ส่งผลถึงภาพลักษณ์ ความน่าเชื่อถือ เชื่อมโยงไปถึงการทำลายความเชื่อมั่นในระบบสถาบันการเงินฐานรากที่อยู่คู่กับชุมชนมาอย่างยาวนาน

การจัดตั้งสหกรณ์ส่วนใหญ่เป็นการรวมกลุ่มกันของคนตัวเล็กๆ ของสังคมเพื่อช่วยเหลือกันและกัน ด้วยการลงขันเอาเงินมารวมกันในฐานะสมาชิก แล้วให้สิทธิประโยชน์ เช่น สามารถกู้ยืมเงินดอกเบี้ยไม่สูงนักเมื่อเทียบกับเงินกู้นอกระบบ และสวัสดิการอื่นๆ แล้วแต่จะร่วมกันกำหนด พร้อมเงินปันผลจากเงินกำไรของกิจกรรมที่สหกรณ์ได้ดำเนินการมาตลอดทั้งปี

สหกรณ์โดยบทบาทแล้วเป็นไมโครไฟแนนซ์ที่เข้าถึงกลุ่มฐานรากของประเทศอย่างทั่วถึง หากสามารถบริหารจัดการและมีการกำกับดูแลที่ดี ก็นับเป็นกลไกและเครื่องมือสำคัญในการขับเคลื่อนสังคมเศรษฐกิจและสร้างความเข้มแข็งของแต่ละชุมชน แต่ที่ผ่านมามีการใช้สหกรณ์ไปทำกิจกรรมที่ผิดวัตถุประสงค์และสร้างความเสียหายให้กับสมาชิกจำนวนมาก ดังที่มีข่าวปรากฏว่ามีการโกง ยักยอกในหลายสหกรณ์ บางรายก็เสียหายในวงกว้าง อย่างกรณีสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น ที่มีสมาชิกได้รับผลกระทบประมาณ 50,000 ราย มูลค่าความเสียหายกว่า 12,000 ล้านบาท

ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นส่วนหนึ่งมาจากการกำกับดูแลที่ไม่ทั่วถึงและหละหลวม และขาดกฎเกณฑ์กติกาในการกำกับดูแลที่เหมาะสม ล่าสุด การประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 17 มกราคม 2560 เห็นชอบร่างพระราชบัญญัติสหกรณ์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. เนื่องจากกฎหมายฉบับเดิมใช้มาระยะเวลาหนึ่งแล้ว และมีประเด็นที่หลายฝ่ายเกิดความกังวลใจเกี่ยวกับเสถียรภาพและความเชื่อมั่นในระบบสหกรณ์ โดยเฉพาะจากกรณีการยักยอกเงินของอดีตผู้บริหารสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น จึงมีประเด็นปรับปรุงแก้ไขกฎระเบียบ ข้อบังคับเพิ่มเติม

การนับหนึ่งเพื่อกำกับดูแลสหกรณ์ทั้งระบบในฐานะสถาบันการเงิน จึงมีการหารือว่าการกำกับดูแลควรจะอยู่ภายใต้การกำกับของกระทรวงการคลังหรือไม่ เพราะกระทรวงการคลังกำกับดูแลสถาบันการเงินภาครัฐอยู่แล้ว แต่ในที่สุด ภายใต้เงินทุนกว่า 1 ล้านล้านบาทของสหกรณ์ทั้งระบบ จึงอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์การเกษตรต่อไป แต่สร้างกติการ่วมกันใหม่

ดร.วิณะโรจน์ ทรัพย์ส่งสุข อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์

สำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้าได้สัมภาษณ์ ดร.วิณะโรจน์ ทรัพย์ส่งสุข อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ และนายพิเชษฐ์ วิริยะพาหะ รองอธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ ในฐานะหน่วยงานที่มีหน้าที่ทั้งกำกับดูแลและส่งเสริมให้ระบบสหกรณ์ของไทยสามารถเติบโตและทำหน้าที่ดังกล่าวได้อย่างสมบูรณ์ โดยอธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์กล่าวว่า ขณะนี้ทางรัฐมนตรีได้สั่งการให้กรมส่งเสริมฯ มีหน้าที่พัฒนากระบวนการสหกรณ์ให้มีความเข้มแข็ง ซึ่งเราได้จัดทำแผนพัฒนาสหกรณ์ขึ้นตั้งแต่ปี 2559 ปีนี้เป็นปีที่ 2 แล้ว ในช่วงก่อนที่เราจัดทำแผน เราได้ตรวจสอบจัดชั้นสหกรณ์เพื่อเอามาเป็นแนวทางการพัฒนาสหกรณ์ให้ถูก เหมือนวินิจฉัยโรคก่อนว่าสหกรณ์อยู่ในสภาพแบบไหน

“เราจัดชั้นสหกรณ์เป็น 3 ชั้นและอีก 1 กลุ่มที่กำลังชำระบัญชีเลิกสหกรณ์ แล้วสหกรณ์ที่นำไปจัดชั้นจากข้อมูลปี 2558 มีฐานทะเบียน 8,230 แห่ง เราพบว่ามีสหกรณ์ในชั้นที่ 1 คือสหกรณ์กลุ่มที่มีสภาพหรือสมรรถนะที่ดีเยี่ยม เป็นสหกรณ์ที่มีการมีส่วนร่วมของสมาชิกมากกว่า 70% มีการควบคุมภายในที่ดี การทำธุรกิจที่มีประสิทธิภาพ การบริหารจัดการที่อยู่ในข่ายที่มีธรรมาภิบาล ไม่มีข้อบกพร่อง ไม่มีทุจริต ประมาณ 2,200 กว่าแห่ง”

มีสหกรณ์ชั้น 2 คือมีข้อบกพร่องบ้าง แต่ได้รับการแก้ไขแล้วประมาณ 4,000 กว่าแห่ง และสหกรณ์ชั้น 3 คือสหกรณ์ที่อยู่ในกลุ่มที่ยังพบการทุจริต พบเรื่องบกพร่องบ้าง ประมาณ 780 กว่าแห่ง และกลุ่มที่กำลังชำระบัญชี 1,088 แห่ง เป็นสหกรณ์ที่ถ้าพูดว่าเป็นคนก็เหมือนคนตายแล้ว รอขึ้นเมรุเผา เพราะในกลไกการเลิกสหกรณ์จะต้องชำระบัญชี จัดการพวกคดีความ หนี้สิน ทรัพย์สิน หรือมีอะไรที่ต้องจัดการก่อน แล้วจึงถอนทะเบียนสหกรณ์ออกไปตามกฎหมาย เราจึงต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จครบถ้วน ตั้งเป้าว่าจะเสร็จในปีนี้

จนถึงขณะนี้เราได้ยกระดับสหกรณ์ขึ้นเป็นสหกรณ์ชั้นที่ 1 เพิ่มขึ้นอีกเกือบ 2,000 แห่งแล้ว และยกระดับจากชั้น 3 เป็นชั้น 2 ได้เกือบหมดแล้ว ทีนี้ กลุ่มใหญ่ที่เราต้องขับเคลื่อนอยู่ที่ชั้น 2 แต่ต้องเรียนว่าบางสหกรณ์กลไกเขาเป็นสหกรณ์ขนาดเล็ก มันมีเรื่องของผลกำไร เรื่องการจัดการภายในที่ต้องใช้ทุน อาจจะทำให้เขาต้องใช้เวลา แต่กลไกสำคัญที่เราดูคือเรื่องของธรรมาภิบาล เรื่องของความโปร่งใส เรื่องของการปฏิบัติเป็นไปตามคำสั่งนายทะเบียน และแนวทางข้อบังคับที่กำหนดไว้ต่างๆ เราจะดูเรื่องนี้มากที่สุด เพราะจริงๆ แล้วสหกรณ์เรามุ่งเน้นเรื่องความเข้มแข็งของการบริหารจัดการเป็นหลัก เพราะว่าในสหกรณ์บางกลุ่ม ถ้าเราจะดูเรื่องกำไรจะลำบาก อย่างสหกรณ์การเกษตร การทำธุรกิจไปผูกกับดินฟ้าอากาศ ผูกกับราคาตลาด ผูกกับกลไกภายนอก มันก็มากระทบกับรายได้ของสหกรณ์ แม้ผลิตได้เยอะ แต่ถ้าราคาต่ำมันก็กระทบกำไร แล้วเราจะไปจัดชั้นเขาก็มีปัญหา เรื่องนี้เป็นเรื่องที่เราคำนึงถึง เราพยายามดูกลไกภายในให้มากที่สุด เรื่องของการมีส่วนร่วม เรื่องของธุรกิจ ว่าเป็นไปตามระเบียบกฎหมาย

ไทยพับลิก้า: กำกับดูแลแยกตามประเภทสหกรณ์หรือไม่

อธิบดี : สหกรณ์แต่ละประเภทมีวัตถุประสงค์แตกต่างกัน มีระเบียบข้อบังคับที่แตกต่างกัน เป็นหน้าที่ของนายทะเบียนสหกรณ์จะเข้าไปดูแลให้เป็นไปตามแนวทางที่กำหนดไว้ ต้องปฏิบัติตามข้อบังคับที่สหกรณ์วางไว้ เรื่องของกฎระเบียบต่างๆ ที่ต้องทำ เป็นเรื่องที่เราต้องไปกำกับดูแล

แล้วกลไกการส่งเสริมก็จะแตกต่างเช่นเดียวกัน อย่างสหกรณ์ออมทรัพย์จะส่งเสริมเรื่องของธรรมาภิบาล เรื่องของระบบบัญชี ควบคุมภายใน แต่สหกรณ์การเกษตรจะไปดูเรื่องอาชีพ เรื่องการพัฒนารายได้ของสมาชิก อันนี้จะมีความแตกต่างกัน หรือสหกรณ์ประมงจะดูเรื่องอาชีพประมง ถ้ามีสามารถประกอบอาชีพได้โดยที่ต้นทุนต่ำลง รายได้มากขึ้น สหกรณ์ประมงของเขาก็จะเข้มแข็ง ซึ่งกลไกสหกรณ์จะเป็นเรื่องจัดหาวัตถุดิบให้สมาชิกได้หรือไม่ ในราคาถูกหรือไม่ สหกรณ์ไปซื้ออะไรที่มันเป็นไปตามที่สมาชิกขอหรือไม่ ไปซื้อปุ๋ยมาหรือไม่ อันนี้เราก็ต้องดูจัดการ ซึ่งดำเนินการและจัดชั้นเสร็จแล้ว

ไทยพับลิก้า: กำลังคนที่เข้าไปตรวจ ปีหนึ่งได้กี่ครั้ง

อธิบดี: คนที่ดูแลสหกรณ์มี 2 หน่วย กรมส่งเสริมสหกรณ์ในฐานะนายทะเบียนดูแลในภาพรวม และมีกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ดูเรื่องของมาตรฐานบัญชี การทำธุรกรรมลงบัญชีให้ถูกต้อง แต่ถามว่าคนพอหรือไม่ มันยังไม่ได้พอเพียงเท่าไหร่ ตอนนี้กรมส่งเสริมฯ เองได้สั่งให้ตรวจสอบเรื่องคุณสมบัติและกำลังของบุคลากรแล้วว่าจะรองรับสถานการณ์สหกรณ์ได้เพียงใด ผมได้ให้ทางสำนักพัฒนาและถ่ายทอดเทคโนโลยีสหกรณ์ของกรมส่งเสริมฯ ทำหลักสูตรฝึกอบรมโดยจะพัฒนา 800 คนให้เป็น Smart Officer เรากำลังดูว่าเราต้องการคนแบบไหนแล้ว จะพัฒนาให้ทันกับสภาวการณ์ของสหกรณ์ในปัจจุบัน ซึ่งเราเห็นว่าสหกรณ์ก้าวหน้ามาก กลไกของรัฐกับหลายสิ่งหลายอย่างต้องมาเชื่อมโยงกัน ให้สามารถดูแลสหกรณ์ได้

ไทยพับลิก้า: เจ้าหน้าที่ 800 คน กับ 8,000 สหกรณ์ จะตรวจอย่างไรให้ทั่วถึง

อธิบดี: จริงๆ โดยกลไกสหกรณ์ เราพยายามรณรงค์ให้สามารถเข้มแข็งด้วยตัวเขาเองก่อน เราเอาแนวทางของพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 มาใช้ว่าการที่จะให้ประชาชนเข้มแข็ง ประชาชนต้องช่วยตัวเองก่อน ส่วนราชการเป็นเพียงหน่วยสนับสนุนเสริมเติมต่อขึ้นไปเท่านั้น เช่นเดียวกันกับสหกรณ์ ทุกวันนี้เรามีโครงการสหกรณ์สีขาว เรามีเรื่องโครงการที่จะให้สหกรณ์พัฒนาตนเองในหลายเรื่อง เราไปพัฒนาบุคลากร ฯลฯ ให้เขาเข้มแข็ง

แต่ถามว่าคนพอหรือไม่จะเข้าไปดูทุกวัน คนไม่พอ แต่ถ้าเราสร้างจิตสำนึกให้เคลื่อนไปด้วยธรรมาภิบาลเป็นอันดับแรก ถ้าดูแลตัวเองด้วยกลไกธรรมาภิบาลได้ เชื่อว่าอยู่ได้

ไทยพับลิก้า: ในแง่การพัฒนาบทบาทสหกรณ์ให้เป็นไมโครไฟแนนซ์จริงๆ

อธิบดี: ตอนนี้เรียนได้ว่าคณะรัฐมนตรีมีมติวันที่ 7 มีนาคม 2560 เห็นชอบตามที่กระทรวงการคลังเสนอ เรื่องของการวางแนวทางการกำกับดูแลสหกรณ์ออมทรัพย์และสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน ตอนนี้ท่านรองอธิบดีฯ ประชุมกับกระทรวงการคลังและ ธปท. อย่างสม่ำเสมอในการที่จะออกแนวทางการกำกับเพื่อให้สหกรณ์ขับเคลื่อนไปในทิศทางที่เหมาะสม และคิดว่าเรื่องของเกณฑ์กำกับน่าจะออกได้ภายในต้นเดือนมิถุนายนนี้

อีกเรื่องคือ การจัดตั้งหน่วยงานใหม่มากำกับดูแลเฉพาะสหกรณ์การเงินให้เข้มแข็ง เรากำลังวางโครงเรื่องการสร้างสถาบันนี้ขึ้นมา ซึ่งเราถือว่าเป็นสถาบันที่เชี่ยวชาญเฉพาะทางที่ดูแลได้เริ่มดำเนินการแล้ว

ไทยพับลิก้า: ทำไมตอนนั้นไม่โอนไปให้กระทรวงการคลังกำกับดูแลเพราะเป็นสถาบันการเงิน

อธิบดี: ตอนนั้นมันมีหลายความเห็น แต่ ณ เวลานั้นความเห็นทุกฝ่ายเห็นว่าในขณะนี้ยังคงให้อยู่ที่นี่ไปก่อน (กระทรวงเกษตรและสหกรณ์การเกษตร) ส่วนในอนาคต ถ้าเราวางหลักเกณฑ์ วางแผนให้ชัดเจนขึ้น คงจะเห็นภาพชัดเจนอีกครั้ง ตอนนี้เห็นคล้ายๆ กันว่าอยู่ไปก่อน

ไทยพับลิก้า: 1,000 แห่งที่เลิกกิจการเป็นเพราะมีการทุจริตและเปิดเผยชื่อได้หรือไม่

รองอธิบดี: กลุ่มนี้ไม่ใช่ทุจริต แต่เป็นเลิกกิจการเพราะอาจจะทำธุรกิจแล้วไปไม่ไหว หรืออาจจะเป็นขนาดเล็ก ซึ่งปัญหาสะสมมาหลายปีและยังชำระบัญชีไม่เสร็จ เราจึงหยิบที่เหลือมาดู ปีนี้ต้องทำให้เสร็จ ไม่เช่นนั้นก็จะคาอยู่ในระบบแบบนี้

สำหรับกลุ่มสหกรณ์กลุ่มเสี่ยง คือไม่สามารถจะไประบุได้ชัดเจนว่าเป็นกลุ่มเสี่ยง เพราะการจัดชั้นออกมามันก็ไม่เชิงว่าจะเป็นกลุ่มเสี่ยงตรงๆ เนื่องจากการให้คะแนนในการวัด อย่างเช่น เรื่องความเข้มแข็งของการให้บริการกับสมาชิก เรื่องควบคุมภายในดีแค่ไหน เรื่องความมั่นคงทางการเงิน เรื่องมีข้อบกพร่องหรือไม่ มันไม่ได้บอกว่าส่อไปในทางทุจริตหรือไม่ ไม่ได้จับผิดตรงนั้น

ไทยพับลิก้า: แล้วควรเปิดเผยให้สาธารณะทราบหรือไม่ หรือจำเป็นต้องจัดเครดิตเรทติ้งหรือไม่

อธิบดี: อันนี้เรียนว่าเป็นแนวคิดที่เรากำลังจะทำอยู่ อาจจะต้องมีประกาศว่าสหกรณ์ในแต่ละชั้นมีอยู่ที่ไหนบ้าง กำลังวางแนวทางประกาศอยู่ เพราะว่าบางครั้งการประกาศไป ความเข้าใจของสมาชิกจะเป็นอย่างไร ถ้าเราบอกไปว่าสหกรณ์เป็นชั้น 3 แต่จริงๆ อาจจะบกพร่องว่าเอาเงินสหกรณ์ไปลงทุนในหุ้นที่มีความเสี่ยงสูง ซึ่งเป็นข้อบกพร่องเหมือนกัน แบบนี้ก็กลายเป็นชั้น 3 หรือกรณีการปฏิบัติไม่ถูกต้อง ก็เป็นความบกพร่องเหมือนกัน เพราะฉะนั้น บางครั้งสหกรณ์ปฏิบัติไม่ถูกต้องในเรื่องเล็กน้อย เราไปบอกว่าเป็นสหกรณ์ที่มีปัญหา สมาชิกจะไม่ไว้ใจ แต่กลไกที่เราดู เราพยายามให้ผู้ตรวจการสหกรณ์เข้าไปแก้ไข และยกระดับให้เข้มแข็งมากกว่า

ในขณะเดียวกัน ที่ทำคู่ขนานกันไปคือการให้ความรู้กับสมาชิกด้วยว่าต้องเข้าไปดูแลด้วย กลไกสหกรณ์ไม่ใช่ภาครัฐดูแลอย่างเดียว สมาชิกสามารถตั้งผู้แทนเข้าไปทำหน้าที่ผู้ตรวจสอบกิจการได้ตามมาตรา 53 ของพระราชบัญญัติสหกรณ์ เราพยายามจะทำความเข้าใจว่าคุณ (สมาชิก) ต้องเลือกคนที่คุณไว้วางใจได้ไปเป็นผู้ตรวจสอบกิจการ มีหน้าที่ไปตรวจสอบสหกรณ์ตามกฎหมายเลย ดูได้ทุกอย่าง บัญชี การใช้เงินทดรอง อันนี้คือสิ่งที่เราต้องการสร้างให้เข้มแข็ง คือการสร้าง Internal Audit ของสหกรณ์เอง เขาจะเป็นหูเป็นตาให้สหกรณ์ให้ภาครัฐได้ เพราะเขาอยู่กับสหกรณ์ เป็นสมาชิกอยู่ในสหกรณ์นั้น และเขาทำหน้าที่ตรวจสอบชั้นต้นให้กับภาครัฐ ถ้าเขาพบปัญหาแล้วรายงานมา เราก็จะลงไปตรวจสอบได้ ตรงนี้เป็นหมุดตรงกลาง เป็นหมุดที่เราต้องพัฒนาให้เข้มแข็งที่สุดในการควบคุมภายในสำหรับสหกรณ์ให้ได้ ถ้าเข้มแข็งได้ สหกรณ์จะมีกลไกตรวจสอบหลายชั้นและจะเดินไปในทิศทางที่เข้มแข็งได้แน่นอน

แต่ ณ วันนี้ ผู้ตรวจสอบกิจการยังอยู่ในการพัฒนาอยู่ และมีหลายอย่างที่เป็นปัญหาอุปสรรคอยู่ เรื่องขององค์ความรู้ ความเข้าใจกลไกสหกรณ์ บางที่สมาชิกอาจจะเลือกคนที่เขารักขึ้นมาเป็น แต่คนนั้นมีความรู้เรื่องของการตรวจสอบขนาดไหน เราก็ต้องไปพัฒนาเขา เพราะเราหวังว่าในอนาคตผู้ตรวจสอบจะต้องมีความรู้เรื่องกฎหมาย บัญชี การบริหารจัดการเป็นพื้นฐาน เพื่อให้สามารถดูแลได้อย่างเข้มแข็งได้ ส่วน Credit Rating จำเป็น เป็นคำสั่งรัฐมนตรีแล้ว

นายพิเชษฐ์ วิริยะพาหะ รองอธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์

รองอธิบดี: ตัวสหกรณ์อีกด้านมันก็เป็นเรื่องของคนในองค์กรของเขา เราจึงควรจะสร้างให้คนในองค์กรเขารู้มากกว่าให้คนภายนอกรู้ เพราะว่าสิ่งที่เราไม่พึงประสงค์คือคนเห็นว่าสหกรณ์เป็นแหล่งระดมทุน เราไม่ต้องการเห็นตรงนั้นเลย เพราะว่าเกณฑ์ที่ออกมาใหม่เขาจะกำกับตรงนี้เลยว่า แม้แต่สมาชิกสมทบจะต้องได้เฉพาะญาติพี่น้องใกล้ชิดเท่านั้น ต่างจากที่ผ่านมาสมาชิกสมทบจะเป็นคนภายนอกถ้วนหน้าเลย และที่ผ่านมาสหกรณ์ชูว่าเป็นแหล่งให้คนมาลงทุน ดังนั้น ประชาชนในชาติต้องไม่เห็นว่าสหกรณ์เป็นแหล่งลงทุน ตัวสหกรณ์จะต้องเป็นแหล่งที่มาช่วยเหลือกันเท่านั้น คืออยู่บนพื้นฐานอุดมการณ์สหกรณ์

ดังนั้น การจัดเครดิตเรทติ้งอาจจะจัดเฉพาะภายในของเขาเอง ให้สมาชิกรู้ว่าวันนี้สถานการณ์สหกรณ์ของเขาเป็นอย่างไร ตรงนี้มันจะถูกบรรจุในเกณฑ์กำกับใหม่ว่าสหกรณ์จะต้องเปิดเผยข้อมูลต่างๆ ให้สมาชิกรับรู้ เรื่องงบการเงิน เป็นงบการเงินอย่างย่อ เปิดเผยรายได้ ผลตอบแทนกรรมการและผู้จัดการ ฯลฯ ให้สมาชิกมีส่วนร่วมตรวจสอบสหกรณ์ได้ เดิมปีหนึ่งประชุมใหญ่ครั้งเดียว มีงบการเงินเล่มใหญ่ ดูไม่รู้เรื่อง ต่อไปจะต้องมีงบการเงินแบบย่อ ให้เห็นว่ามีหนี้สิน มีทุน ใครบ้าง เอาไปทำอะไรบ้าง ต้องรู้ แล้ววันนั้นกลไกสมาชิกจะแข็งแรงขึ้น เขาจะคานอำนาจกันเองได้

ส่วนเรื่องการจัดเรทติ้งคือการจัดเป็นข้อมูลของสหกรณ์ภายใน ถ้าเป็นบริษัทเอกชนอาจจะจัดเพื่อให้คนอื่นเข้ามาลงทุนในบริษัท แต่ของสหกรณ์คือให้สมาชิกเขารับรู้และสร้างความแข็งแรงของเขาเอง เราจะดึงสหกรณ์กลับมาตรงนี้ให้ได้

อธิบดี: จริงๆมันมีหลายกลไกกำกับดูแล เรื่องของการมีส่วนร่วมของสมาชิก ตัวกรรมการ… คือที่กำลังจะออกเกณฑ์กำกับ ต้องอธิบายว่าเงินทุกบาททุกสตางค์ในรอบปีเอาไปบริหารทำอะไร โบนัสได้กี่บาท เงินทดรองจ่ายรายเดือนของกรรมการ เงินที่จ่ายออกไปเอาไปทำอะไรบ้าง อำนาจควรจะจ่ายได้เท่าไหร่

“แม้กระทั่งในอนาคต สมมติสหกรณ์ผมมีเงินเยอะๆ แล้วจะไปทุ่มเงินใส่สหกรณ์อื่นเพื่อลงทุน ต่อไปทำไม่ได้แล้ว ผมจะต้องลงทุนได้เฉพาะกำลังที่สหกรณ์นั้นสามารถคืนเงินได้ แล้วจะสั่งจ่ายไปได้ไม่เกินสัดส่วนที่กำหนดไว้ด้วย มิฉะนั้นสหกรณ์จะกลายเป็นองค์กรค้าเงิน คุณไปฝากธนาคารได้ดอกเบี้ยน้อย แต่เอามาฝากสหกรณ์ สหกรณ์ก็เปิดรับทั่วไปหมด สุดท้ายตกหนักที่การบริหารจัดการ ขนาดธนาคารมืออาชีพบริหารเขายังให้ดอกเบี้ยได้แค่นั้น แล้วสหกรณ์ทำอะไรขนาดไหนถึงจะให้ได้มากขนาดนั้น ซึ่งมันผิดกลไกเรื่องการเงินอยู่แล้ว

ตอนนี้รัฐมนตรีก็สั่งว่าทำอย่างไรให้กลไกสหกรณ์มันนิ่งและเป็นไปตามกลไกสหกรณ์จริงๆ สหกรณ์สร้างมาเพื่อดูแลสมาชิกไม่ใช่คนอื่น คนที่อยากให้สหกรณ์ดูแลจะต้องเป็นสมาชิก ที่ผ่านมาอาจจะบิดเบี้ยวมานาน เราพยายามแก้ไขเข้ามาในสิ่งที่ถูกต้อง หลายที่ที่เราไปดู หลายๆ เรื่องเราก็ห้าม เพราะสหกรณ์ออมทรัพย์เริ่มต้นด้วยปรัชญาการออม ทำให้ชุมชนเข้มแข็งจากการรวมเงินเพื่อสร้างโอกาสให้คนที่อ่อนแอกว่า คนที่อ่อนแอกว่ามากู้เงิน วัตถุประสงค์ก็มี 2 อย่างเท่านั้น อันแรกเดือดร้อนจำเป็น อีกอันคือไปทำให้งอกเงย ไม่ใช่ไปทำอะไรที่นอกเหนือออกไป เราก็พยายามทำให้คนในสหกรณ์เข้าใจและไม่ให้ใครเข้ามาหาประโยชน์จากกลไกของเรา ไม่เช่นนั้นเราต้องมาแบกรับ

รองอธิบดี: “ของสหกรณ์ตำรวจที่เขาจัดเรทติ้ง เข้าใจว่าจัดเพื่อสหกรณ์ เพราะมีระบบฝากเงินระหว่างสหกรณ์ มันก็เชื่อมโยงเป็นโครงข่ายอย่างที่เราเห็นสหกรณ์หนึ่งล้ม มันก็ระเนระนาดไปหมด ทีนี้เข้าใจว่าไปจัดเพื่อให้คนมั่นใจว่าเอาเงินมาฝากแล้วนำไปทำให้เกิดผลประโยชน์ ได้ผลตอบแทนกับปันผลให้สมาชิก ตรงนี้ถามว่าเกณฑ์กำกับที่ออกใหม่จะกำกับเลยว่าต้องมีสัดส่วนธุรกรรมต่างๆ เท่าไหร่ อย่างไร คุณภาพที่ไปลงทุนเป็นอย่างไร จะกำกับหมดเลย เพื่อตบเข้ารูปเข้ารอย”

อีกเรื่องคือ การก่อหนี้ของสหกรณ์ บางสหกรณ์สมมติว่ามีทุน 1 บาท ที่ผ่านมากลับไปก่อหนี้เป็น 10 เท่า 16 เท่า แบบนี้ไม่ได้ ถ้าเกิดอะไรขึ้นไม่สามารถจ่ายคืนเจ้าหนี้ได้ เป็นความเสี่ยง ดังนั้นเกณฑ์ที่กำหนดใหม่จะให้แค่ 1.5 เท่าของทุน และการจัดเรทติ้งจะไม่มีประโยชน์อะไรเลยถ้าเราทำเรื่องพวกนี้ได้ เพราะว่ามันจะไม่เป็นตัวล่อให้ใครเข้ามาลงทุน (เอาเงินมาฝาก) ในสหกรณ์

อธิบดี: การรับฝากเงิน อนาคตจะเอาจากคนภายนอกไม่ได้แล้ว มันจะได้แค่สมาชิก แล้วเราจะตามดูอีก 2 เรื่อง คือ 1) เงินสำรองในสหกรณ์ตามมาตรา 60 ดูว่าวันนี้สหกรณ์สร้างระบบเงินสำรองถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ เอาเงินสำรองไปปล่อยกู้ต่อหรือไม่ เงินสำรองใช้ได้แค่ 2 เรื่อง คือ ชดเชยขาดทุนและแยกสหกรณ์ออกไปตั้งเพิ่ม ก็จะปันเงินออกไปได้ แต่วันนี้สหกรณ์บอกเราได้หรือไม่ว่ามีเงินสำรองชดเชยขาดทุนเท่าไหร่ในระยะสั้น ตามสัดส่วนที่เรากำหนดหรือไม่

2) เรื่องกองทุนเพื่อป้องกันความเสี่ยงและความเสียหายที่เกิดขึ้นในสหกรณ์ ยกตัวอย่างในสหกรณ์การเกษตร รัฐมนตรีสั่งการให้รณรงค์ให้เกิดขึ้น วันนี้เกิดขึ้นแล้วที่สหกรณ์นิคมบ้านสร้างพัฒนา เขาทำเรื่องประมง เขาปันเงินกำไร 1% ไปตั้งกองทุนป้องกันความเสี่ยงวิกฤติราคา กรณีราคาสินค้าตกต่ำกับเรื่องของสิ่งแวดล้อม ใช้กรณีว่าถ้าวันนี้ค้าขายสัตว์น้ำราคาดีอยู่ก็ไม่เป็นไร กำไรก็เก็บไป แต่ถ้าวันหนึ่งทำแล้วราคาต่ำกว่าทุน เขาก็จะมีกองทุนนี้ไปชดเชยให้สมาชิกโดยที่ไม่ต้องรอความช่วยเหลือจากรัฐบาล ใช้ได้ทันที เพราะเงินช่วยเหลือของรัฐบาลมันมีเวลา แต่ภาระหนี้ ดอกเบี้ยมันเดินไป ถ้ามีกองทุนฯ มาชดเชยทันที เงินต้นคืน ปิดดอกเบี้ย ทำงานใหม่ต่อไปได้ มีกำไรมาใส่กองทุนต่อไป นี่คือที่เรารณรงค์ให้เกิดขึ้น

อีกตัวอย่างเช่น เลี้ยงปลาไปนานๆ อาจจะต้องลอกบ่อ ต้องดูแลสิ่งแวดล้อม สมาชิกอาจจะไม่มีเงิน ก็เอาเงินกองทุนมาให้สมาชิกใช้ได้ตรงนี้มากน้อยไม่ว่า แต่ขอให้มีเงินกองทุนไว้ก่อน เพื่อช่วยตัวเองในยามที่ตัวเองมีปัญหา บางทีถ้ารอกลไกของรัฐบาล ถ้ามีเงินก็ช่วยได้เร็ว แต่ถ้ากำลังเปลี่ยนงบประมาณก็ต้องใช้เวลา สิ่งเหล่านี้ต้องเกิดในสหกรณ์ เพื่อดูแลตัวเองในระดับหนึ่งตามปรัชญาพึ่งตัวเองของสหกรณ์

ไทยพับลิก้า: อันนี้ทำเป็นนโยบายหรือเป็นเงื่อนไขให้ทำ

อธิบดี: มันไม่มีคำสั่งไปบังคับให้เขาทำ แต่เชิญชวนให้เห็นประโยชน์ อยากให้เกิดขึ้นมาเอง สิ่งหนึ่งที่ไม่อยากจะทำคือบังคับ อะไรก็บังคับๆ มันเป็นอะไรที่ต้องทำให้สหกรณ์และชุมชนแข็งแรง

รองอธิบดี: ให้สหกรณ์ดูแลสมาชิกเขาเอง ถ้าตรงนี้ทำได้สำเร็จ มันจะสุดยอดแล้ว

ไทยพับลิก้า: ในแง่สหกรณ์ที่เป็นปัญหากรณีที่สหกรณ์จุฬาฯ

กรณีของสหกรณ์จุฬาฯ ปัญหาที่เกิดไม่ใช่ที่ตัวสหกรณ์ แต่เป็นตัวบุคคล เพียงแต่ว่าบุคคลที่ทำเคยเป็นพี่บิ๊กในสหกรณ์ และมีชื่อเสียง เคยได้รับรางวัลมากมาย คนเชื่อ คนให้ความไว้วางใจ เชื่อว่าคนคนนี้สามารถจะช่วยเขาลงทุนให้เกิดรายได้ได้ โดยไม่รู้ว่าเอาไปลงทุนอะไร ความไว้วางใจเท่านั้นที่ทำเกิดปัญหา แต่สหกรณ์จุฬาฯ ไม่ได้เข้าดำเนินการในเรื่องนี้เลย จุฬาฯ เป็นเรื่องของคน เราพยายามแยกแยะให้สังคมได้รับรู้ วันนี้จุฬาฯ มีการเลือกตั้งมีประธานคนใหม่แล้ว และเข้ามาเป็นกลไกช่วยสหกรณ์ยูเนี่ยนคลองจั่นด้วย เป็นหนึ่งในเจ้าหนี้ที่พร้อมจะช่วย

ส่วนสหกรณ์ฯ คลองจั่น ท่านรองพิเชษฐ์เป็นแม่งาน

รองอธิบดี: ตามแผนฟื้นฟูกิจการของสหกรณ์ฯ คลองจั่น ที่ขอให้รัฐเข้ามาช่วย 10,000 ล้านบาท เราก็นั่งหารือกันว่าจะทำอย่างไร จะเอาเงินงบประมาณรัฐมาช่วยได้ไหม ก็ติด เพราะสหกรณ์ฯ คลองจั่นเป็นนิติบุคคล เราก็ไปติดต่อสถาบันการเงินของรัฐ เช่น ออมสิน ธนาคารอาคารสงเคราะห์ ว่าสามารถปล่อยเงินกู้ให้สหกรณ์ฯ คลองจั่นได้ไหม ก็ไม่ได้ เพราะเป็นเอ็นพีแอลมีความเสี่ยงสูงสุด หากเขาปล่อย เขาต้องตั้งสำรองหนี้สูญตามนั้น

สุดท้ายเราก็มาตกลงกันว่าให้เจ้าหนี้ 77 ราย ถ้าสหกรณ์ฯ คลองจั่นไป เจ้าหนี้กลุ่มนี้จมน้ำไปด้วย ซึ่งมีเงินฝากที่สหกรณ์คลองจั่นประมาณ 17,000 ล้านบาท ให้เขาเข้ามาช่วยเพื่อฟื้นฟูสหกรณ์ฯ คลองจั่น ถ้าคลองจั่นเดินได้ ตัวเจ้าหนี้ก็จะเดินได้ด้วย จึงตกลงกันว่าทางรัฐอาจจะไปหาแหล่งเงินจากสถาบันการเงิน ให้สหกรณ์ 77 แห่งนี้มากู้เงินจากสถาบันการเงิน จากนั้นสหกรณ์ 77 แห่งนำเงินเหล่านี้ไปปล่อยให้สมาชิกกู้เพื่อได้ดอกผลมา อีกส่วนอาจจะไปลงทุนในกองทุนไทยแลนด์ฟิวเจอร์ฟันด์ที่จะขายในปีนี้ ซึ่งกองทุนไทยแลนด์ฟิวเจอร์ฟันด์ กระทรวงการคลังเป็นคนออกและค้ำประกัน 100% การันตีผลตอบแทน ถ้าสหกรณ์เหล่านี้นำเงินไปลงทุน เมื่อได้ผลตอบแทนกลับมา เงินที่ได้จะแบ่งออกเป็น 3 ส่วน 1. กลับไปให้สหกรณ์ของเขาในส่วนที่ลงทุน 2. คืนเจ้าหนี้ที่กู้มา 3. ตั้งบัญชีร่วมของเจ้าหนี้ 77 แห่ง เอาเงินส่วนนี้ทำได้ 2 ทาง คือ เพื่อเอาไปช่วยเหลือสหกรณ์กลุ่มเขา 77 แห่ง อีกทางหนึ่งไปฟื้นฟูคลองจั่น โดยที่รัฐไม่ต้องควักเงิน แต่ให้สหกรณ์เขาเข้ามาช่วยกันเอง เรามีหน้าที่อำนวยความสะดวกในเรื่องหาแหล่งเงินกู้ และชี้ช่องทางการลงทุนให้ได้ดอกผล พร้อมตั้งคณะกรรมการกำกับในบัญชีร่วมตรงนี้

“ตอนนี้คุยกันจบแล้วในหลักการ เรารอให้สหกรณ์ทั้ง 77 รายตอบรับเข้ามา วันสุดท้าย 15 พฤษภาคม 2560 ว่าจะมีสักกี่แห่งที่จะเข้าร่วม และวงเงินที่ต้องการทั้งหมดเท่าไหร่ จะทำให้เรารู้ว่าเงินที่จะมาหย่อนให้คลองจั่น จะได้เท่าไหร่ ตอนนี้สหกรณ์ฯ คลองจั่นเขามีสินทรัพย์ที่ไปขายที่ดินได้มา 1,000 ล้านบาท ที่จะมีเงินบริหารในช่วงนี้ไปได้ หากได้เงินที่กล่าวมา ก็จะเดินต่อได้ นี่คือสุดท้ายการหารือจบตรงนี้ อย่างไรก็ตามในปีที่ผ่านมา กระทรวงเกษตรฯ ได้ทำเต็มที่ วิ่งเพื่อหาทางช่วยเหลือเพื่อให้เป็นไปตามแผนฟื้นฟูฯ แต่ก็เจอทางตันทุกเรื่อง”

“กรณีที่กองทุนไทยแลนด์ฟิวเจอร์ฟันด์ยังไม่เกิด ก็ไปปล่อยกู้ให้สมาชิกของเขาก่อน เพราะสหกรณ์เจ้าหนี้เหล่านี้เป็นสหกรณ์ใหญ่มีสินทรัพย์เป็น 10,000-20,000 ล้านบาท เราก็บอกเจ้าหนี้ว่าถ้าคลองจั่นตาย คุณตายด้วย แต่วันนี้คลองจั่นอยู่ คุณอยู่ แต่คลองจั่นจะอยู่ยาวแค่ไหน”

อธิบดี: “ณ เวลานี้ เจ้าหนี้ได้ประโยชน์จากคลองจั่นไปเยอะแล้ว วันนี้ต้องกลับมาช่วยเขา เพราะเราก็ร่วมหัวจมท้ายกันมาตั้งแต่แรก กรณีนี้เจ้าหนี้ก็ต้องลงมาช่วยกันบ้าง ก็เป็นการมาช่วยแบบสมัครใจ”

ไทยพับลิก้า: ถือว่าเป็นความเสี่ยงของสหกรณ์เจ้าหนี้ 77 รายไหม ถ้าคลองจั่นไม่ฟื้น จะล้มทั้งระบบไหม

รองอธิบดี: ไม่ล้ม เพราะขนาดวงเงินที่อยู่ในที่สหกรณ์คลองจั่นไม่เยอะ บางสหกรณ์ฯ มาฝากเงินไว้ 300 ล้านบาท เมื่อเทียบกับสินทรัพย์ของเขา 20,000 ล้านบาท แต่จะมีความอ่อนไหวของสมาชิกจะมาถอนเงิน

อธิบดี: ตอนนี้แต่ละสหกรณ์เจ้าหนี้ยังมีกำลังในการดูแลสมาชิก เงินฝากของเจ้าหนี้ 17,000 ล้านบาท ขณะที่เงินฝากของสหกรณ์ออมทรัพย์และสหกรณ์ยูเนี่ยนทั้งระบบมีกว่า 1 ล้านล้านบาท เทียบแล้วมันนิดเดียว

รองอธิบดี: สิ่งที่เราทำต้องการช่วยรายย่อยเป็นหลัก

ไทยพับลิก้า: ช่วงนั้นที่ตามข่าวทำไมปล่อยให้สหกรณ์ฯ คลองจั่นมาถึงขนาดนั้นได้

อธิบดี: โอ…ตอบยาก ผมยังอยู่กระทรวงอยู่เลย ก็มีการตามเรื่องนี้กันอยู่

ไทยพับลิก้า: มีการลงโทษหรือไม่

อธิบดี: มีแน่นอน กระทรวงตั้งคณะกรรมการสอบสวนแล้ว ตอนนี้คดียังไม่จบ การลงโทษผู้ที่เกี่ยวข้องเมื่อคดีสิ้นสุด และเกิดความเสียหาย ทั้งคดีแพ่งคดีอาญา จะต้องดูว่าสิ้นสุดแล้วต้องชดใช้จริงๆ ก็มาใช้ พ.ร.บ.ละเมิด ไล่เบี้ย และมาดูเรื่องวินัย และอะไรหลายอย่างที่เกี่ยวข้องทั้งหมดว่าปล่อยปละเลยหรือไม่ ไม่ดำเนินการให้เป็นไปตามอำนาจหน้าที่อย่างสมเหตุสมผลหรือไม่ หรือไม่ได้เข้าไปทำหน้าที่เลย ก่อให้เกิดความเสียหาย ก็ต้องรับผิดตามสถานะ

“เราต้องตอบสังคมให้ได้ว่าที่ผ่านมากรมได้ทำหน้าที่เต็มที่แล้ว เพียงแต่ว่ากลไกบางกลไก กฎหมายไม่ได้ไปคุมถึง เขาใช้ช่องว่างเคลื่อนออกไป ตอนนี้เรากำลังแก้กฎหมายให้อำนาจนายทะเบียนออกประกาศคำสั่งที่คุมไปถึงที่กฎหมายบางอย่างที่อาจจะไปไม่ถึง ตอนนี้อยู่ที่กฤษฎีกา เข้าสภา หากออกมาทางกรมฯ ก็เตรียมร่างข้อบังคับ ร่างการกำกับสอดเข้าไปแล้ว และรัฐธรรมนูญอ้างถึงพวกเราหลายมาตรา เราก็ต้องทำ”

ไทยพับลิก้า: ผลการสอบสวนเสร็จเมื่อไหร่

อธิบดี: อยู่ที่สำนักกฎหมายของกระทรวงเกษตรฯ ที่ดำเนินการเรื่องนี้

ไทยพับลิก้า: มีเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับสหกรณ์เข้ามาที่กอง บก. พอสมควร

อธิบดี: ถ้ามีแจ้งมาที่กรมฯ เราจะลงไปทำให้ บางทีผู้บริหารสหกรณ์เขาไปอ้างสหกรณ์แล้วไปทำธุรกรรมกัน ไม่เกี่ยวกับสหกรณ์ ส่วนใหญ่ฉ้อโกงจริงๆ เป็นคนต่อคน อย่างกรณีของจุฬาฯ เป็นบุคคล

รองอธิบดี: ในส่วนที่เราเข้าไม่ถึงคือ เวลากรรมการไปทำธุรกรรมกับสมาชิก บางครั้งเป็นเรื่องของนิติบุคคลเขา ก็ยากที่เราจะไปเจาะได้ทุกราย เราไปตรวจสอบก็ทำเชิงระบบ หากมีเรื่องร้องเรียนเข้ามา เราเข้าไปทันที เป็นเบาะแสให้เราเข้าไปจัดการ

ไทยพับลิก้า: ในเรื่องความโปร่งใส สหกรณ์มีการเปิดเผยข้อมูลแค่ไหน

อธิบดี: จริงๆ สมาชิกเข้าถึงได้หมด สหกรณ์เป็นระบบปิด บุคคลภายนอกไม่สามารถเข้ามาตรวจสอบสอหกรณ์ได้ถ้าไม่มีอำนาจตามกฎหมาย ยกเว้นสมาชิกและผู้มีส่วนได้เสีย เพราะฉะนั้น หลักเกณฑ์กำกับใหม่ กรรมการต้องบอกทุกบาททุกสตางค์ว่าเอาทำอะไร ถ้าสมาชิกสงสัยต้องสอบถามได้ว่าเงินตัวเองถูกเอาไปปู้ยี้ปู้ยำอะไรหรือไม่ หรือเอาไปลงทุนอะไร

“ผมจึงอยากจะเรียนว่า เวลาประชุมใหญ่สามัญประจำปี พยายามเข้าประชุมกันหน่อย และก็อ่านรายงานที่เขาส่งให้สมาชิกดู สงสัยก็ถาม เรามีเจ้าหน้าที่เข้าไป มีผู้สอบบัญชีเข้าไป ถ้าสงสัยส่งข้อมูลกลับมา ตอนนี้เราทำ MOU กับ ปปง. (สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน) DSI เราพร้อมส่งข้อมูลให้ได้ ต่อไป ปปง. หรือ DSI จะเข้าไปรื้อเส้นทางการเงินได้ ถ้ามีอะไรที่คิดว่าไม่ถูกต้อง”

รองอธิบดี: ขอเพิ่มเติมเรื่องรายงานธุรกรรมทางการเงิน ต่อไปเราจะให้สหกรณ์รายงานธุรกรรมการเงินเข้ามาในระบบด้วย เหมือนกับที่รายงานเข้าระบบกรมส่งเสริมฯ ปกติ เสร็จแล้ววิเคราะห์ทุกเดือน รายงานออกมาทุกเดือนได้ ทางธนาคารแห่งประเทศไทยและกระทรวงการคลังได้มาช่วยเหลือฝึกคนอยู่ ที่ผ่านมาเราไม่มีระบบพวกนี้ที่จะเตือนสหกรณ์เลย ณ วันนี้เราจะดูทุกมิติ ถ้าสหกรณ์ไหนเห็นว่าสภาพคล่องไม่ดี เครดิตไม่ดี หรือเงินเข้าเงินออกอย่างไร ถ้าเราเห็นว่าสภาพคล่องไม่ดี เราจะเข้าไปดูแลสหกรณ์นั้นทันที เพื่อไม่ให้กระทบถึงตัวสมาชิก คิดว่าเราจะรายงานรอบแรกน่าจะออกได้สิ้นเดือนมิถุนายนนี้ แบบฟอร์มทาง ธปท. ได้ช่วยออกแบบให้ เป็นเรื่องหนึ่งที่น่าจะช่วยให้เราสามารถบริหารจัดการเรื่องข้อมูลของสหกรณ์ได้เร็ว ซึ่งเป็นดำริของท่านอธิบดีว่าเราอยู่กันมาตั้งนานทำไมไม่มีระบบรายงานแบบนี้เลย ทำไมไม่ทำ

อธิบดี: ตอนนี้เราเริ่มโครงการทำฐานทะเบียนสมาชิกสหกรณ์ทั้งประเทศแล้ว และโครงการที่จะเชื่อมโยงธุรกรรมทางการเงิน ว่าเวลาที่สหกรณ์มีธุรกรรมทางการเงิน มันจะต้องไหลเข้ามาแบบแบงก์ชาติทำ โครงการนี้เราเริ่มกับสหกรณ์ขนาดใหญ่ก่อน ทุนมากกว่า 5,000 ล้านบาทขึ้นไป 100 กว่าแห่ง แล้วภายใน 3 ปีต้องเข้ามาครบทุกสหกรณ์ ไม่เช่นนั้นเราตามไม่ได้

ในกลไกสหกรณ์สมาชิกทุกคนได้รับรายงานประจำปีอยู่แล้ว สิ่งหนึ่งที่เราอยากเห็นคือทำอย่างไรให้สมาชิกอ่านรายงานประจำปีแล้วรู้ว่ามันคือปัญหา ไม่เข้าท่าแล้ว นี่คือหลักใหญ่ แต่สมาชิกมักจะอ่านว่ากำไรเท่าไหร่ มีปันผลเท่าไหร่ เท่านั้น คือเราต้องการให้สมาชิกเข้าถึงว่าเวลาอ่านรายงานประจำปี งบเริ่มพิลึกพิลั่นแล้วนะ ไปปล่อยกู้มากเกินกว่าทุนแล้วนะ ไปถามกรรมการให้ชี้แจงหน่อยว่าไปลงทุนอะไร นี่คือสิ่งที่เราปรารถนาอยากจะเห็น หากเราทำให้สมาชิกถึงระดับนี้ได้ พวกเราสบายที่สุด เพราะสมาชิกเขารู้แล้วว่าเขาคือเจ้าของตัวจริง

“เหมือนเราอยู่บ้าน ใครใช้จ่ายเงินไปกี่บาท ใช้ไปซื้อกับข้าว หรือซื้อกับข้าวมาเต็มโต๊ะ แต่มีอยู่ 2 คน จะซื้อมาทำไม กินไม่หมด แบบนี้ นี่คือสำนึกที่อยากให้เกิดในสมาชิก ทำไมไม่ซื้อมา 2 อย่าง กินแค่ 2 คน ซื้อมาทำไมตั้ง 5-6 อย่าง เหมือนสหกรณ์ คุณไปลงทุนอะไรมากมายขนาดนั้น แล้วก็เน่า ทำไมไม่ลงทุนแค่นี้ แต่ผมไม่รู้ว่าจะถึงเมื่อไร ผมเกษียณแล้วจะถึงหรือยังก็ไม่รู้ อยากให้สมาชิกทุกคนรู้สึกถึงความเป็นเจ้าของ จะต้องถาม”

รองอธิบดี: ช่วงนี้อาจจะเห็นกระแสข่าวว่าสหกรณ์ที่โน่นที่นี่มีปัญหา เพราะว่าเป็นช่วงเปลี่ยนผ่าน ที่ผ่านมาไม่มีกฏเกณฑ์การกำกับสหกรณ์ หากวันนี้ถ้ามันเกิดมีข่าวสหกรณ์มีปัญหา มันอาจจะเกิดขึ้นจากผลก่อนหน้านี้ และเพิ่งมาปูดตอนนี้ ดังนั้นถ้าเห็นอย่าเพิ่งตกใจ เพราะเป็นของเก่าที่ทำกันมา อย่างที่เรารู้กันอยู่ว่าที่ผ่านมาสหกรณ์ต่างๆ ต่างคนอยากจะทำอะไรก็ทำ อยากจะลงทุนอะไรก็ลงทุน มันไม่มีอะไรกำกับดูแล แต่อนาคตต่อไปมีเกณฑ์กำกับชัดเจน

อธิบดี: บางที่เราตัดสินใจเลิกสหกรณ์ก็มีเพราะดูแล้วไม่จบแน่ๆ สั่งเลิกกิจการ ที่ผ่านมาปล่อยเอาไว้ 4-5 ปี อาจจะไม่เลิก แต่วันนี้เห็นแล้วหลายๆ ที่ นายทะเบียนสั่งเลิก เคลียร์หนี้ ชำระบัญชี ก็จะเห็นคนออกมาโหวกเหวกโวยวาย นี่คือผลที่เราทำ แต่เราต้องทำ ถ้าคนไข้ไม่เข้าไปรักษา คงตายอย่างเดียว แต่ถ้าเรารักษาอาจจะฟื้นคืนมาเป็นมนุษย์ปกติได้ แล้วกลไกการรักษาอาจจะแรงหน่อย มันก็เกิดแรงกระเพื่อม

รองอธิบดี: บางคนบอก เอ้า…ไหนบอกว่ารัฐบาลมีเกณฑ์ออกมาแล้ว ทำไมยังมีสหกรณ์ที่มีปัญหาพวกนี้อีก อย่างที่ว่ามาข้างต้น มันเป็นผลจากยาเรา ที่กรมส่งเสริมฯ ไปขุด(ตรวจสอบ)ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาเราวางระบบตรวจสอบที่ค่อนข้างจะลงไปทั้งระบบ เราแบ่งการตรวจสอบสหกรณ์เป็น 3 ปี 30% 30% 30% ตั้งแต่ปี 2558-2560 เราจะเข้าไปตรวจให้ครบทุกสหกรณ์ ช่วงนี้จึงเจอเรื่องขึ้นมา พอเจอขึ้นมา ก็ต้องเข้าแก้ไข มันก็กระทบ เอกชนตรวจสอบไม่เจอ แต่รัฐตรวจสอบแล้วเจอ มันก็ปูดออกมา พอเจอเราก็สั่งแก้ไข

อธิบดี: “เป็นช่วงที่ขุดเอง ไม่งั้นเราไม่รู้ว่าสหกรณ์ไหนโอเค ไม่โอเค ถามว่าทำไมมาปูดช่วงนี้ เราทำใจอยู่แล้วว่ายังไงก็ต้องปูด เดิมอาจจะนั่งทับกันไปๆ ถามว่าเหนื่อยหรือไม่ช่วงนี้ เหนื่อยมาก ต้องไปแก้ที่นั่นที่นี่”

ไทยพับลิก้า: สิ่งที่อยากจะเห็นบทบาทของสหกรณ์กับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศในอนาคตคืออะไร

อธิบดี: จริงๆ สหกรณ์เป็นระบบปิด เรามีสมาชิก 12 ล้านราย ต้องได้รับการดูแลโดยระบบสหกรณ์อย่างสมบูรณ์ และ 12 ล้านราย เท่ากับ 12 ล้านครอบครัว คูณกันง่ายๆ 3 คนต่อครอบครัวก็ 36 ล้านคน ครึ่งประเทศไปแล้ว

ดังนั้น กลไกสหกรณ์เข้มแข็ง การบริโภคมีกำลัง มันกระทบกับข้างนอกแน่นอน เรื่องท่องเที่ยว เรื่องสินค้าอุปโภคบริโภค ผมเชื่อว่าถ้าทำให้ตรงนี้แข็งแรงได้ วิกฤติอะไรมา ถ้าตัวกลางนี้ยังอยู่ กินเรายาก

แต่วันนี้กลไกที่จะสร้างให้แข็งแรงและเป็นวงจรที่สมบูรณ์แบบ เป็นนาฬิกาที่เดินตรงเวลาได้ สำคัญที่สุด อันนี้คือสิ่งที่เรากำลังทำ เพียงแต่ว่ารัฐก็ต้องเข้าไปดูในเรื่องระบบ แต่สิ่งที่เป็นหลักคือสมาชิกต้องรักสหกรณ์ ไม่ใช่รักเงิน ต้องรักสหกรณ์เหมือนบ้านตัวเอง รักที่จะเก็บกวาด รักที่จะจัดมัน รักที่จะรดน้ำพรวนดินเหมือนต้นไม้ ดูแลว่าในบ้านเรา คนดูแลบ้านมันแอบไปทำอะไรแปลกๆ หรือไม่ แอบเอาขโมยเข้าบ้านหรือไม่ เอาเงินในบ้านไปทำอะไรที่ไม่ดีหรือไม่ อันนี้คือสิ่งเราต้องการ ตอนนี้เรามีพันธมิตร เราคุยกับธนาคารแห่งประเทศไทยและกระทรวงการคลังเรื่องเกณฑ์กำกับ นี่คือกลไกที่เราวางไว้ เพียงแต่ว่ามันเป็นภูเขาลูกใหญ่ที่ถูกปล่อยร้างมานาน เคลื่อนยาก แต่เชื่อว่าถ้าทุกคนช่วยกันเคลื่อนก็ไม่ยากที่จะเคลื่อน

“เรื่องราวสหกรณ์ที่เกิดขึ้นทุกวัน เราก็กังวลภาพลักษณ์ของสหกรณ์เหมือนกัน หากเกิดขึ้นมากๆ จะทำให้คนที่มุ่งหวังกับสหกรณ์มีความเชื่อถือลดลงหรือไม่ แต่ถ้าให้ผมเรียนมันเป็นแค่เม็ดเล็กๆ แต่เป็นเม็ดที่สำคัญที่มันดัง หากเทียบขนาดมันเล็ก แต่ผมไม่อยากบอกว่าเม็ดเล็กที่ไม่สำคัญ ทุกเม็ดสำคัญหมด เพียงแต่ว่าจะทำไม่ให้มันเกิด”

ไทยพับลิก้า: ความคาดหวังของการใช้เกณฑ์ใหม่เมื่อไหร่

รองอธิบดี: ประกาศใช้วันที่ 1 มิถุนายนนี้ แต่วันที่ 19 พฤษภาคมนี้ จะรับฟังความคิดเห็น พอเกณฑ์ที่ออกมา บางตัวอาจจะปฏิบัติไม่ได้ทันที จะมีระยะเวลา 1 ปี 2 ปี เพื่อให้เขาปรับตัว แต่ว่าภายใต้เกณฑ์นี้จะต้องประกาศ เราต้องทำตามมติ ครม.

“อยากให้สมาชิกรู้ว่าเกณฑ์ใหม่ทุกเกณฑ์ทำมาเพื่อดูแลสมาชิก”

รองอธิบดี: ฝากนิดหนึ่ง ตอนนี้มีข่าวว่าเกณฑ์นี้ออกมา จะมาหยุดความเจริญเติบโตของสหกรณ์ไหม หลายคนบอกว่าสหกรณ์โตมาขนาดนี้แล้ว ตอนนี้รัฐมาบีบเขา ต้องเรียนว่าเกณฑ์ใหม่ไม่ได้หยุดการเจริญเติบโตของสหกรณ์ แต่ให้เขาเติบโตอย่างสมดุล มีทิศทางที่ถูกต้อง ไม่ใช่โตจากหนี้ บางแห่งมีหนี้ต่อทุนเป็น 10 เท่า มันไม่ถูก มันโตจริง แต่โตบนความเสี่ยง แต่ต่อไปต้องโตคู่ไปกับความสมดุลตามฐานะของเขา พร้อมกับการป้องกันความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้น ทั้งการเอาเงินไปปล่อยกู้ เอาเงินไปลงทุน การเอาสหกรณ์มาหาผลตอบแทนสูงสุด จะต้องไม่เกิด การที่จะกำหนดอัตราดอกเบี้ยชักจูงคนอื่นเข้ามาฝาก จะต้องไม่มี ต้องเป็นการฝากตามปกติ เรื่องธรรมาภิบาลจะต้องถูกกำกับ เรื่องความเสี่ยงด้านปฏิบัติการ เช่น ต้องมีกรรมการตรวจสอบภายในของสหกรณ์ กรรมการบริหารความเสี่ยง กรรมการลงทุน หรือให้มีหน่วยตรวจสอบภายในสหกรณ์เอง จะให้สหกรณ์เติบโตอย่างสมดุล ลดความเสี่ยงลงเพื่อไม่ให้กระทบถึงสมาชิก

อธิบดี: ทุกอย่างจะมีขั้นตอน เพราะเรามีสหกรณ์ขนาดเล็กด้วย ที่เขามีคนน้อยๆ มีกำลังน้อยๆ เราจะค่อยๆ ขยับจากสหกรณ์ขนาดใหญ่ไปหาเล็ก จากวิกฤติมากๆ ไปสู่ปกติ เรามีกลไกในการเคลื่อน ไม่ใช่พอประกาศวันที่ 1 มิถุนายน แล้วทุกคนต้องปฏิบัติ ต้องให้เวลา

ในช่วงเปลี่ยนผ่านเราจะต้องคณะกรรมการร่วม ทางกรมส่งเสริมฯ กรมตรวจบัญชีฯ แบงก์ชาติ กระทรวงการคลัง ที่เข้ามาในช่วงปรับเปลี่ยน คงมีปัญหาแน่ ให้คณะกรรมการชุดนี้เป็นคนขับเคลื่อน ระยะต่อไปที่จะตั้งหน่วยงานอิสระ ในช่วง 2 เดือนมาศึกษารูปแบบหน่วยงาน อีกสัก 3 เดือนจะเร่งยกร่างเป็นพระราชบัญญัติสหกรณ์ คงต้องเร่งทุกอย่าง