ThaiPublica > คนในข่าว > “วีระศักดิ์ โควสุรัตน์” ชวนเที่ยวเมืองรอง วิ่ง-ปั่น ซ่อม-สร้าง แหล่งท่องเที่ยว ยกระดับมาตรฐานสะดวก สะอาด ปลอดภัย

“วีระศักดิ์ โควสุรัตน์” ชวนเที่ยวเมืองรอง วิ่ง-ปั่น ซ่อม-สร้าง แหล่งท่องเที่ยว ยกระดับมาตรฐานสะดวก สะอาด ปลอดภัย

29 มกราคม 2018


นายวีระศักดิ์ โควสุรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา

“วีระศักดิ์ โควสุรัตน์” กลับเข้ามาเป็นรัฐมนตรีกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาเป็นครั้งที่ 3 ในยุครัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) หลังจากเคยนั่งเก้าอี้มาแล้วในสมัยรัฐบาลนายสมัคร สุนทรเวช และรัฐบาลนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ เมื่อปี 2551

ทว่า เมื่อ 9 ปีก่อน วีระศักดิ์ แทบไม่ได้ทำงานอย่างที่ตั้งใจไว้มากนัก เนื่องจากเกิดปัญหาความวุ่นวายทางการเมือง จนกระทั่งถูกตัดสิทธิทางการเมืองเป็นเวลา 5 ปี จากคดียุบพรรคชาติไทย ที่เขาเป็นหนึ่งในกรรมการบริหารพรรค

อย่างไรก็ตาม ช่วงเวลาที่ถูกตัดสิทธิทางการเมือง ดูเหมือนวีระศักดิ์ยังคงโลดแล่นอยู่ในแวดวงอุตสาหกรรมท่องเที่ยวอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นการดำรงตำแหน่งเลขาธิการสมาพันธ์สมาคมภาพยนตร์แห่งชาติ, เป็นประธานคณะกรรมการสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ สสปน., เป็นประธานกรรมการคณะกรรมการบริหารพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (กพท.), รวมทั้งดำรงตำแหน่งอธิการวิทยาลัยการท่องเที่ยวและการบริการ มหาวิทยาลัยรังสิต จนกระทั่งได้รับแต่งตั้งเป็น รมว.ท่องเที่ยว ครั้งล่าสุด

การกลับมาครั้งนี้ วีระศักดิ์บอกกับไทยพับลิก้าว่า เขามีภารกิจหลักชัดเจนคือการ “ผ่าตัด” โครงสร้างกระทรวงที่มีอายุ 15 ปีแห่งนี้ ให้เข้ารูปเข้ารอยเป็นรูปธรรม รวมทั้งทำให้การท่องเที่ยวเป็นเครื่องมือในการช่วยลดความเหลื่อมล้ำ เพื่อก้าวไปสู่ความยั่งยืน มากกว่าจะไปเป็นแค่ “นางกวัก” โปรโมทการท่องเที่ยว เหมือนที่ผ่านมา

“ท่องเที่ยวไทย” โตแบบธรรมชาติ ทะลุ 35 ล้านคน

รัฐมนตรีท่องเที่ยววิเคราะห์ถึงสถานการณ์นักท่องเที่ยวว่า “ก่อนปีใหม่ที่ผ่านมา ผมเป็นคนไปรับนักท่องเที่ยวคนที่ 35 ล้าน เป็นสถิติสูงที่สุดที่ประเทศไทยเคยมี ถามว่า 35 ล้าน น่าตื่นเต้นยังไง ทำไมถึงน่าตื่นเต้นกว่าคนที่ 34 ล้าน”

เพราะว่าหนึ่งสัปดาห์ก่อนหน้านั้นในช่วงคริสต์มาส คนที่ 34 ล้านเข้ามา ผมไม่ไปรับ แต่ผมไปรับคนที่ 35 ล้าน เพราะ 35 เป็นตัวเลขครึ่งหนึ่งของ 70 ล้านคนของประเทศไทย มีไม่กี่ประเทศในโลกนี้ที่สามารถบอกได้ว่ามีนักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศเข้ามาเป็นปริมาณเท่ากับครึ่งหนึ่งของประชาชกรของประเทศนั้น ญี่ปุ่นที่ว่าเก๋ๆ มีนักท่องเที่ยวเยอะแยะ ปีนี้เขาเพิ่งฉลองสูงสุดของเขาเหมือนกัน 24 ล้านคน แต่เขามีประชากร 123 ล้านคน

และขณะนี้จำนวนนักท่องเที่ยวก็โตขึ้นต่อไปอีก เพราะฉะนั้น เราคาดการณ์ได้ว่าปี 2561 ก็ยังโตต่อเนื่อง

ดังนั้น เมื่อเทียบเขากับเรา นักท่องเที่ยวของไทยครึ่งหนึ่งของประชากรแล้วนะ ซึ่งเราจะใช้โครงสร้างและวิธีคิดแบบสมัยโบราณไม่ได้

ในอดีต คนที่มาเที่ยวประเทศไทย เขามาก็เพราะว่า “ยิ้มแย้ม” และ “ยืดหยุ่น” จนบัดนี้ก็ยังยิ้มแย้มและยืนหยุ่นอยู่ แต่นานเข้ามันมีคำว่าหย่อนยาน พอหย่อนยานไปๆ มาๆ มันชักไม่ยั่งยืน

“คำว่ายิ้มแย้มและยืดหยุ่นมีความหมายว่าอะไร ผมบอกว่าท่านที่ชอบไปญี่ปุ่นคนเขายิ้มแย้มมากเลยนะ แต่เขาไม่ยืดหยุ่นหรอก ท่านลองไปสั่งอาหารนอกเมนูดูสิครับ เวลาเข้าร้านอาหารในญี่ปุ่น เขาจะยิ้มแย้มหมดเลย แต่เขายืดหยุ่นให้ท่านไม่ได้ เพราะทุกอย่างกำหนดมาแล้วว่าต้องเป็นอย่างนี้ แยกน้ำซุปกับแยกเนื้อไม่ได้ ยิ้มแย้มแต่ไม่ยืดหยุ่น”

ถ้าไปยุโรป ยืดหยุ่นแต่ไม่ยิ้มแย้ม อย่างท่านไปเยอรมัน ท่านสั่งสเต็กมารับประทาน แล้วท่านบอกว่าขอซอสมะเขือเทศหน่อย เขาก็จะไม่ยิ้มแย้มกับท่านแล้ว เพราะเขารู้สึกว่าท่านขาดวัฒนธรรมบางอย่าง เขาเอามาให้ แต่อาจจะมีหน้าตาหยันๆ นิดหน่อย

แต่เราไปทานก๋วยเตี๋ยวเรือ หนึ่งโต๊ะ 6 คน ไม่มีใครสั่งเหมือนกันสักคนเดียว อาเฮียก็ยิ้มแย้มและยืดหยุ่นส่งให้ครบทุกอย่าง ยิ้มแย้มและยืดหยุ่นแบบนี้ในโลกไม่ได้มีกันทั่วไป สั่งก็ไม่ได้ ซื้อก็ไม่ได้ สอนก็ไม่ได้ นี่คือเสน่ห์ที่เมืองไทยมีมานาน

แล้วไทยมีโฆษณาฟรีมา 30 ปีที่แล้ว ในวันที่มีทีวีขาวดำ เป็นช่วงที่สงครามโลกจบลง แต่สงครามเวียดนามเริ่มพอดี ซึ่งมันเป็นช่วงที่คนชั้นกลางในยุโรปซึ่งกลายเป็นนักท่องเที่ยวใหญ่ของโลก ได้รู้จักรายงานข่าวสงครามเวียดนามผ่านประเทศไทย เพราะเป็นพื้นที่ปลอดภัยในการรายงานข่าว รีพอร์ตฟรอมแบงคอก ฉะนั้นแบงคอกไทยแลนด์ไม่ได้ทำอะไรกับสงครามเลย แต่ไปเป็นที่รู้จักของคนชั้นกลางในยุโรปและอเมริกา

หรือทหารในกองทัพที่มาอยู่ในสงครามอินโดจีน ก็ได้พบความยิ้มแย้มยืดหยุ่น ชื่นชมในความยิ้มแย้มยืดหยุ่น หลายคนมีภรรยาเป็นคนไทย แล้วก็กลับมาผูกพันกับประเทศไทย เพราะฉะนั้นใครๆ ก็พูดถึงเมืองไทย โดยเราไม่เคยซื้อโฆษณาเลย เราจึงเป็นที่รู้จัก

ในขณะที่ประเทศเพื่อนบ้านเขาผ่านพ้นภัยสงครามมา แต่ก็ยังเกิดเหตุการณ์ปัญหาในบ้านเมืองของเขา ปิดประเทศ กลายเป็นสังคมนิยม ไม่มีรายงานข่าวอะไรออกมาเลย เราจึงเป็นผู้จุดเทียนอยู่กลางป่าอยู่คนเดียว เพราะฉะนั้น พอฟ้ามืด เราสว่างโล่งอยู่คนเดียว ทั้งๆ ที่มันก็แค่เทียนเล่มเดียวนั่นแหละ

อันนี้คือที่มาเพื่อจะอธิบายว่า ท่องเที่ยวไทยมันโผล่มายังไง เราไม่ได้โตด้วยการออกแบบ แต่รุ่งเรืองโดยธรรมชาติ

ประเทศไทยอยู่ในพื้นที่ที่ถ้าไม่นับว่าแดดร้อนไปหน่อยอย่างอื่นแจ๋วหมดเลย มีประเทศไหนบ้างที่มีมหาสมุทร 2 มหาสมุทร ที่ไม่มีขนาดใหญ่เท่าทวีป มีอเมริกากับออสเตรเลียเท่านั้น ที่มีมหาสมุทร 2 มหาสมุทร แต่ก็อยู่ไกลมาก มีเราคนเดียว ท่านอยากมาเห็นมหาสมุทรอินเดียท่านได้เห็น อยากเห็นทะเลแปซิฟิกท่านได้เห็น

แล้วการบินจากยุโรปมาเมืองไทย หลับมาหนึ่งตื่นก็ถึงแล้ว เรียกว่าลองออลไฟลต์ และเป็นช่วงเวลาที่เป็นวันหยุดของเขาพอดี เขาไม่ได้มาเมืองไทยเพราะเป็นหน้าหนาว แต่มันเป็นวันหยุดของเขา

แล้ววันหยุดของคนยุโรปผมทองมีทางเลือกไป 3 แบบ 1. เที่ยวในยุโรป ซึ่งแพงมาก 2. ข้ามฝั่งไปทวีปอเมริกา จะเป็นอเมริกาเหนือ-อเมริกาใต้ แต่ก็บินไกล แล้วก็ไปเจอวัฒนธรรมที่ก็ไม่ได้ต่างกันมาก เพราะเป็นวัฒนธรรมคริสเตียนเป็นพื้นฐาน แต่ 3. ถ้าบินมาทางนี้วัฒนธรรมแตกต่าง ผู้คนหน้าตาแตกต่าง ในราคาที่ถูกกว่ามาก

ดังนั้น ในหนึ่งปีเขาก็ให้รางวัลตัวเอง มีฤดูกาลหยุดงานของเขา เขาก็มาพักผ่อนเมืองไทยแล้วแฮปปี้ แล้วก็ยิ้มแย้มยืดหยุ่น บางช่วงถ้ามีความหย่อนยาน ก็เป็นเสน่ห์ไปอีกแบบหนึ่ง เขาก็พอใจกับความหย่อนยาน เพราะในเมืองเขามันตึงไปหมด เขาจึงมาที่นี่ เหตุการณ์เป็นอย่างนี้มา 30-40 ปี

กระทรวงท่องเที่ยวท้องในห้องคลอด

วีระศักดิ์เล่าว่า จนกระทั่งช่วงที่เริ่มฉลอง 10 ล้านคนแรกของนักท่องเที่ยว ประมาณปี 2543-2544 ก่อนที่จะมีการเลือกตั้งครั้งใหญ่ จนมีรัฐบาลได้ครองเสียงข้างมาก ซึ่งเราก็เริ่มเห็นว่า ของที่มันเป็นแค่ขนมชั้นหลังอาหารเย็น มันค่อยๆ เข้ามาเป็นช็อกโกแลตข้างถ้วยกาแฟ เริ่มเห็นว่ามีประโยชน์ อย่าไปโยนทิ้ง

แต่ตอนนั้นไม่มีใครมีจินตนาการว่า “อุตสาหกรรมท่องเที่ยว” จะกลายมาเป็นอาหารจานแรก หนักๆ เข้าเกือบจะกลายเป็นอาหารจานเดียวอยู่แล้ว เพราะจานอื่นค่อยๆ ลดแรงขับดันลงไป แต่จานนี้กำลังดีวันดีคืน

แต่ “โครงสร้างกระทรวง” ที่มันถูกออกมาแบบในปี 2544-2545 นั้น มันเป็น “กระทรวงที่ท้องในห้องคลอด” ไม่มีงานวิจัยรองรับ ถามว่าเป็นความชุ่ยหรือเปล่า คงไม่ใช่ แต่มันเป็นอุบัติเหตุ

เพราะรัฐบาลเมื่อปี 2544-2545 คิดจะมีกระทรวงใหม่เกิดขึ้น เขาจะมี 5 กระทรวง ได้แก่ กระทรวงไอซีที กระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงวัฒนธรรม กระทรวงพลังงาน แต่ไม่มีกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา

“จนได้เสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) แต่ไปเจอสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) เบรกว่า ถ้าไม่คลอดกระทรวงที่ 6 ให้ 5 คนแรกจะเจ็บท้องนาน รัฐบาลตอนนั้นเขาก็ต้องมีศักดิ์ศรี เขาก็ต้องทำ 5 คลอด และเดิมพันบอกว่าถ้าต้องท้องคนที่ 6 ในห้องคลอด ท้องก็ได้ ก็ท้องกระทรวงกีฬาขึ้นมาให้ เพราะ ส.ว. บอกว่าต้องการกระทรวงกีฬา”

“แต่พอนั่งดูแล้วรู้สึกว่า กระทรวงกีฬาจะมีขนาดเล็กไปหน่อยหรือเปล่า ถ้าออกมาแล้วทำแต่เฉพาะกีฬา แล้วในเวลานั้นก็ไม่ได้มีใครมีจินตนาการว่าจะมีมวยไทยไฟต์ หรือมีฟุตบอลไทยพรีเมียร์ลีกได้ ก็เห็นมีแต่ขอเงินๆ คงไม่ค่อยรุ่งเรืองเท่าไหร่ ก็เอาหน่วยหาเงินแปะเข้าไปด้วยเลย เลยเรียกกระทรวงกีฬาและท่องเที่ยว แล้วส่งเข้าไปที่ ส.ว. เขาก็พอใจ แต่ขอเปลี่ยนเป็นกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา นี่คือที่มา ฉะนั้นจึงเกิดในห้องคลอด ท้องในห้องคลอด ไม่ได้วางแผนครอบครัว อยู่ดีๆ ก็พรวดออกมา พ่อแม่ไม่มีความพร้อม ไปรู้อีกทีคือตอนที่คลอดแล้ว”

พอมีกระทรวงแล้ว เป็นนิติบุคคลแล้ว แต่ไม่มีข้าราชการ ทำยังไงดี ก็ต้องมีข้าราชการกีฬา สอนพลศึกษากันอยู่ ก็ถูกให้ออกมาจากกระทรวงศึกษาธิการ ให้มานั่งอยู่ที่กระทรวงกีฬา ส่วนท่องเที่ยวไปกวาดใครมา ก็หาไม่เจอ เพราะเพิ่งรู้ ข้าราชการไทย 2 ล้านคนไม่เคยมีใครเทรนและทำเรื่องท่องเที่ยวมาก่อนเลยใน 50 ปีนี้ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เป็นคนเดียวที่ทำ แต่การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยเป็นรัฐวิสาหกิจไม่ใช่ข้าราชการ

เพราะฉะนั้น รัฐบาลเวลานั้นก็เลยบอกการท่องเที่ยวว่า ลาออกจากความเป็นรัฐวิสาหกิจ แล้วมาเป็นข้าราชการ เขาก็ไม่มีใครมา เพราะเขาเงินเดือนสูงกว่าข้าราชการ แล้วก็ไม่ได้เรียกร้องขอตั้งกระทรวง ตั้งมาแล้วแต่จะมาบังคับให้ไปรับเงินเดือนต่ำลง คงไม่รับ

“รัฐบาลเวลานั้น กระทรวงเกิดแล้ว มีข้าราชการกีฬา แต่ไม่มีข้าราชการท่องเที่ยว ทำยังไงดี ไม่มีใครมา เพราะฉะนั้นพวกกรมพละที่มาทั้งหลายจึงทำท่องเที่ยวไปด้วยเลย ถ้าเทียบให้คนเข้าใจง่ายที่สุด คือท่านไปกวาดต้อนเป็ดกับไก่มา แล้วท่านก็ให้ไก่ทำงานของเป็ด เพราะท่านไม่สามารถเอาเป็ดมาทำงานในกระทรวงได้ ท่านก็เลยบอกให้คนกรมพละ ซึ่งไม่เคยทำท่องเที่ยวและไม่มีความปรารถนาจะทำท่องเที่ยว ให้มาทำท่องเที่ยว แปลว่าให้ไก่ไปว่ายน้ำ ไก่ก็เดือดร้อน แล้วมันก็ได้งานแบบที่เขาทำ”

“นี่คือที่มาว่า การมาเป็นรัฐมนตรีครั้งนี้ของผม มี mandate ชัดเจน ผมมาเพื่อทำเรื่องโครงสร้าง และนี่คือสิ่งที่แม้กระทั่งกระทรวงเกิดมาตั้งแต่ 2545 มาถึงวันนี้ 2561 แปลว่า 15 ปี มีใครเคยรู้ข้อเท็จจริงนี้บ้าง”

15 ปีรัฐมนตรีเป็น “นางกวัก” โปรโมทท่องเที่ยว

เพราะถ้าสังเกตดู ไม่ว่าจะเป็นรัฐมนตรีรุ่นไหน รวมทั้งผมด้วย มากี่คนๆ ก็ไปทำอาชีพ “นางกวัก” ไปโปรโมทท่องเที่ยว ประชาชนก็บอกว่าถูกต้อง ก็ดี เพราะอยากจะได้ตัวเลขนักท่องเที่ยวเยอะๆ

“แล้วจะให้แยกบทบาทระหว่างประธานบอร์ดท่องเที่ยว, ผู้ว่าฯ ท่องเที่ยว, รัฐมนตรีท่องเที่ยว, ปลัดท่องเที่ยวได้ยังไง ถ้าทุกคนไปทำเรื่องเดียวกัน ทุกคนไปช่วยกันกวักเหรอ ผมว่าไม่ใช่มั้ง”

แล้วปรากฏว่า พอตั้งกระทรวงท่องเที่ยว รัฐบาล ณ ปี 2545 ก็กลัวว่าตั้งมาแล้วจะไม่มีอะไรทำ เลยไปสกัดการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ว่าต่อไปนี้ให้ทำเฉพาะนางกวัก เขาก็กวักใหญ่เลย บัดนี้ก็กวักได้สำเร็จ

แต่กวักมาเสร็จแล้ว ไม่มีใครถูพื้น ไม่มีใครทำส้วม ไม่มีใครทำลานจอด ไม่ใครทำป้ายบอกทาง นักท่องเที่ยวมา แต่มาแล้วประทับใจมั้ย …เอ่อ เจ้าของบ้านรู้สึกประทับใจมั้ย …เอ่อ ชักเอ่อๆ ไปเรื่อยๆ

แต่ ณ เวลาที่ผมมาเป็นรัฐมนตรีปี 2550-2551 นกหวีดกีฬาสีก็เริ่มแล้ว ยึดทำเนียบไปทำนาแล้ว ปิดสนามบินโชว์แล้ว อะไรต่อมิอะไร ผ่าตัดไม่ทันหรอกครับ ปีนั้นเราก็ลุ้นกันว่า เป้าหมายที่อยากได้นักท่องเที่ยวต่างประเทศสัก 14 ล้านคน และคนไทยออกมาเที่ยวให้ได้สัก 4-5 แสนล้านบาทไหวมั้ย

เพราะฉะนั้น รัฐมนตรีท่องเที่ยว 9 ปีที่แล้วคือผม ไม่มีทางเลือกอะไรเลย ต้องไปเป็นนางกวักกับเขาด้วย เพื่อจะกวักให้มีพลังที่สุด ในที่สุดก็ทำสำเร็จ มีเวลาประมาณ 9 เดือน ได้ 14 ล้านคน ขณะที่ไทยเที่ยวไทยได้ประมาณ 4 แสนล้านบาท 9 ปีผ่านไป พอผมกลับเข้ามา จาก 14 ล้าน เป็น 35 ล้าน แต่โครงสร้างกระทรวงหน้าตาเหมือนเดิม

เดิมกรมการท่องเที่ยวเป็นกรมที่ถูกดีไซน์มาตั้งแต่ตอนต้นให้เป็นกรมที่ดูแลการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยว ให้เป็นคนพัฒนาบริการท่องเที่ยว ให้ดูเรื่องการดึงดูดกองถ่ายภาพยนตร์ต่างประเทศเข้ามาในประเทศไทย ซึ่งมีประมาณ 700 กองถ่ายต่อปี แล้วก็ให้เป็นคนทำเรื่องนายทะเบียนบริษัทนำเที่ยว และมัคคุเทศก์แห่งชาติ

กรมนี้น่าจะมีคนสัก 1 หมื่นคน รัฐบาล ณ ปี 2545 ให้คนมา 130 อัตรา ก็ตัดออกมาจากกรมพละ แต่ทั้งหมดนั่งทำงานอยู่ที่กรุงเทพฯ เพราะฉะนั้น กรมการท่องเที่ยวจะไปทำเรื่องแม่น้ำลำคลอง ท่องเที่ยวทางเรือ น้ำตก ภูเขา ชายทะเล ชายแดน ไปได้เหรอ อย่างมากก็ตีรถไปทำงานแล้วก็วิ่งกลับมา มันก็ไม่ยั่งยืน เพราะมันไม่ได้นอนเฝ้างานในพื้นที่ 15 ปีผ่านไปก็ยังคงเป็นอย่างนั้นอยู่

“130 คนนั้น 80% เอาไว้ทำเรื่องทะเบียนบริษัทนำเที่ยวและมัคคุเทศก์ คืองานกระดาษ แล้วถามว่ามันพัฒนาประเทศยังไง 15 ปีผ่านไป ก็ยังทำอย่างนั้นอยู่ แล้วก็ไปทำเรื่องสถิติตินักท่องเที่ยว ก็ไม่ให้ ททท. ทำ แต่มาให้ข้าราชการทำ ข้าราชการไม่ได้มีความชำนาญเรื่องนี้”

ถ้างานท่องเที่ยวยังคงเป็นแค่ขนมหวาน ขนมชั้นหลังอาหาร ผมก็จะพอทนรับไปได้ แต่วันนี้มันกลายเป็นเมนคอร์ส มันเป็น 20% ของจีดีพีประเทศแล้ว มันใหญ่กว่าการส่งออกทั้งมวลรวมกัน

และในแง่จีดีพีต่อรายได้ประชาชาติ นับเป็นที่ 3 ของโลก แปลว่าไม่มีตำราเดินมั่วมา ได้ที่ 3 ของโลก เก่งมาก แต่ท่านจะให้ความสำเร็จนี้วางอยู่บนพื้นฐานของความมั่วจริงๆ เหรอ

ภารกิจ “ผ่าตัด” โครงสร้าง-ลดความเหลื่อมล้ำ-สู่ความยั่งยืน

“วีระศักดิ์” กล่าวว่า “ฉะนั้น ผมคิดว่ามาครั้งนี้ผมถึงได้กล้าพูดประกาศตั้งแต่วันแรกว่า กรุณาอย่าพยายามเชิญผมไปกดปุ่มเปิดงาน ตัดป้ายริบบิ้นมากนัก ผมจะไม่ปฏิเสธงานท่านเพราะความขี้เกียจ แต่ผมปฏิเสธงานท่านเพราะผมต้องมานั่งทำงานผ่าตัดนี่แหละ แล้วงานผ่าตัดต้องใช้คนทรีอินวัน”

1. ต้องเล็งระบบราชการให้เป็น เพราะถ้าเล็งไม่เป็น ท่านจะถูกราชการตั้งเงื่อนไขกับท่านจนทำอะไรไม่ค่อยออก “…อันนั้นก็ไม่ได้ครับนาย อันนี้ก็ไม่เหมาะครับ อันนั้นเราไม่เคยทำ อันนี้เขาไม่ให้ทำ”

คุณต้องเข้าใจวัฒนธรรมราชการ และเข้าใจวิธีการทำงานของราชการตามสมควร ผมไม่ได้เป็นผู้เชี่ยวชาญ แต่ผมพอจะเข้าใจ เพราะวุ่นวายกับเรื่องนโยบายสาธารณะของราชการมา 30 ปี

2. หลายเรื่องมันไปติดขัดที่ข้อ “กฎหมาย” จะมีใครสักกี่คนที่บอกได้ว่า มันติดที่กฎกระทรวงตอนแบ่งส่วนราชการ กรมการท่องเที่ยวทำตั้ง 8 ภารกิจ เพราะฉะนั้นต้องซอยภารกิจนั้นออกด้วยกฎกระทรวง เพราะถ้าท่านมัวแต่พูด มันไม่ซอยออกหรอก

แปลว่าท่านต้องการนักกฎหมายที่ไม่กลัวกฎหมาย เพราะถ้าท่านกลัวกฎหมายท่านจะเป็นบุคลากรที่ยอมรับ เคารพนบนอบต่อกฎหมายจนกระทั่งกฎหมายว่าอะไรก็ถูกหมด ไม่หรอกครับ กฎหมายผิดก็เยอะ ต้องแก้กฎหมายเป็น

3. ท่านต้อง “รู้เรื่องโครงสร้างอุตสาหกรรมท่องเที่ยว” ถ้าท่านเป็นนักกฎหมายแต่ไม่รู้จักอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ก็ไม่รู้ว่าจะผ่าตัด แล้วออกมาตกแต่งใหม่ยังไง

“นี่คือสิ่งที่ผมคิดว่า ผมจะใช้พลังทั้งหมด ความรู้ และประสบการณ์ที่ผมมีมาทำ ผมไม่ได้เชี่ยวชาญที่สุด แต่เชื่อว่าถ้าทำแบบนี้ และไม่ได้ทำคนเดียว เราจะได้ไปควานหาคนที่พอจะรู้เรื่องแบบนี้มาช่วยกันทำ ทำแบบทั้งรู้และทั้งกล้า บางทีมีคนกล้าแต่ไม่รู้ บางทีมีคนรู้แต่ไม่กล้า ก็จะได้ไปชวนกันมา”

การทำนโยบายสาธารณะนั้น คนทำนโยบายสาธารณะจะเข้าใจเรื่อง “public policy participatory process” (4P) ซึ่งเราอยู่ในแวดวงนี้มา เราก็เห็นว่าทำอะไรอย่าทำคนเดียว ทำช้าลงนิดหน่อยได้ แต่อย่าอืด แต่ทำแล้วต้องอธิบายให้คนแย้งได้ ค้านได้ ท้วงได้ทัน แล้วค่อยๆ ไปด้วยกัน นั่นคือภารกิจที่หนึ่ง

ภารกิจที่สอง คือการทำให้ท่องเที่ยวไม่ใช่แค่ช้อนตักเงินตักทอง เพระมันตักได้เห็นๆ อยู่แล้ว แต่ที่มันตักอยู่นั้น มันตักไปโปะอยู่ที่เมืองหลักๆ แต่ “เมืองรอง” ถามว่าจะทำยังไง

“ผมก็บอกว่าถ้าอย่างนั้น ท่องเที่ยวต้องเป็นเครื่องมือหลัก เครืองมือใหม่ ในการลดความเหลื่อมล้ำ ผมไม่ได้คิดว่าท่องเที่ยวควรจะเป็นวาระแห่งชาติ แต่ผมคิดว่าท่องเที่ยวควรจะเป็นเครื่องมือใหม่แห่งชาติ ในการช่วยลดความเหลื่อมล้ำ”

ภาพคณะของบริษัทนำเที่ยวยุโรปที่สำนักงาน ททท.ปราก นำไปเที่ยววิถีชุมชนเกษตรกรที่บ่อสวก จ.น่าน

เพราะซัพพลายเชนด้านการท่องเที่ยวนั้นมันยาวไกล กว้างขวาง และไปถึงซอกเล็กซอกน้อย สิ่งที่มันขายมากที่สุดคือ “วัฒนธรรม” มันไม่ใช่เรื่องรำ และไม่ใช่เรื่องผ้า นั่นเป็นแค่ส่วนหนึ่ง

แต่ยืดหยุ่นยิ้มแย้ม เรื่องชีวิตการเป็นการอยู่ ชาวบ้านไม่ต้องเปลี่ยนวิธีอยู่ วิธีกิน เป็นอย่างที่ท่านเป็นนั่นแหละ แล้วเดี๋ยวคนก็จะชอบมาดู เพราะเขาต้องการเห็นความจริงแท้

“ผมก็ไม่ค่อยชอบเวลาที่มีงานเถิดเทิงกลองยาว แล้วทุกคนใส่ชุดมา แต่วันธรรมดาก็ไม่ได้ใส่ชุดนี้ ผ้าต่วนสีเงาวับ ไม่ใส่หรอก แต่จริงๆ แล้วเขานุ่งผ้าฝ้าย ผ้าท้องถิ่น ถึงจะใช่… ก็ไปบอกชาวบ้านว่าอย่าตามใจอุตสาหกรรมท่องเที่ยวนะ จงเป็นตัวของท่านเอง ท่านปลูกปอก็ปลูกไป ท่านปลูกข้าวก็ปลูกไป แต่จงปลูกอย่าง “ยั่งยืน” ทำยั่งยืนของท่านนั่นแหละ แล้วคนจะมาเรียนรู้ความยั่งยืนของท่านจากมิติต่างๆ “

เขามาเที่ยว ดูท่านเคี่ยวน้ำตาล มาเที่ยวดูท่านทำเหมืองเกลือ มาดูท่านปลูกปอกระเจา ท่านไม่ต้องไปรำโชว์เลย ท่านปลูกอย่างที่ท่านปลูกนั่นแหละ อยู่อย่างที่ท่านอยู่ แล้วนักท่องเที่ยวจะมาซาบซึ้ง เพราะนักท่องเที่ยวทั่วโลกคือคนชั้นกลาง

สมัยก่อนเป็นคนชั้นกลางระดับสูง ที่จะบินได้ แต่พอมีโลว์คอสต์แอร์ไลน์บินเข้ามาในโลกนี้ คนชั้นกลางระดับกลางและระดับล่างเขาก็มาได้ ผู้หญิงจึงออกเดินทางได้เยอะขึ้น แล้วผู้หญิงเป็นคนที่ซาบซึ้งกับเรื่องแบบนี้

เราไม่ได้มองเขาแค่เป็นนักช้อปปิ้ง เพราะเขาเป็นโดยธรรมชาติอยู่แล้ว แต่สิ่งที่เขาเป็นคือ “นักบริบาล” ความเป็นนักบริบาลของเขา เวลาเดินทางไปไหน เขาจะคอยสังเกตดูเรื่องการบริบาล แม่คนนั้นเลี้ยงลูกยังไง เมืองนี้ดูแลเด็กอ่อนยังไง เมืองนี้ดูแลคนแก่ยังไง ผมถึงทำเรื่องส้วม

สะดวก สะอาด ปลอดภัย ได้เอกลักษณ์ และยั่งยืน

พร้อมย้ำว่า “ผมเป็นรัฐมนตรีแล้วผมบอกว่า “สะดวก สะอาด ปลอดภัย ได้เอกลักษณ์ และทำเรื่องความยั่งยืน”

1. ในเรื่อง “สะดวก” มันเป็นเรื่องที่รัฐต้องทำ ท่ารถ ท่าเรือ ท่าน้ำ ท่าอากาศ รัฐทำทั้งนั้น

เพราะฉะนั้นก็อาศัยความเป็นรัฐมนตรีไปเชื่อมกระบวนการทำความสะดวก ล่าสุดในฐานะที่เป็นนักกฎหมายด้วย ผมทำคำสั่งร่วมกระทรวงการท่องเที่ยวและกระทรวงคมนาคม ไม่ผิดกฎหมาย เซ็นโดยรัฐมนตรี 2 คนพร้อมกัน มีประธานร่วม มีฝ่ายเลขาร่วม รัฐมนตรีไปนั่งเป็นที่ปรึกษาของทั้ง 2 คณะกรรมการนี้ แล้วใช้เลขที่เดียวกัน เรียกว่าที่พิเศษร่วม เพราะระเบียบสารบัญไม่ได้ห้าม อะไรที่กฎหมายไม่ห้ามก็ทำเลย ถ้ามันจะสร้างให้เกิดสิ่งใหม่ๆ ได้ จะได้เกิดความสะดวกสักที

ผู้โดยสารแท็กซี่เมื่อก่อนเป็นแค่คนในเมือง เดี๋ยวนี้เป็นนักท่องเที่ยวจำนวนมาก แต่ใช้บริการแล้วบ่นกันทุกคน เราจะเป็นแค่คนบ่นหรือเป็นคนแก้กันดี มาร่วมกันแก้มั้ย เพื่อความสะดวก

เครื่องบินลงที่ จ.สุราษฎร์ธานี อยากจะไปเกาะสมุย ทำไมไม่ทำให้ตารางบินกับตารางเรือมันเชื่อมกัน เอาอย่างนั้นมั้ย เพราะสำหรับคนลงเครื่องบิน เวลามันสำคัญ อย่าให้เขาต้องรอ เดินทางเหนื่อยเพราะรอ เราทำยังไงถึงจะใช้ประโยชน์จากการที่มีอะไรให้เขาไปทำมั้ย

“เครื่องบินลงส่วนใหญ่เวลาตี 4 สนามบินไทยแน่นมาก แต่เข้าห้องพักยังไม่ได้ เพราะโรงแรมบอกว่าเข้าพักได้ตอนเที่ยง หรือไม่ก็บ่ายสอง แล้วจะให้ทำอะไร ลากกระเป๋าไปไหน ผมมีประสบการณ์เดินทางต่างประเทศแล้วพบว่า เดินทางเหนื่อยแค่ไหนขออย่างเดียว ล้างเนื้อล้างตัว อาบน้ำ ล้างเท้า จะรู้สึกดีขึ้นทันที”

ผมไปญี่ปุ่น เขาให้ผมไปแช่ในลำธารน้ำร้อน ก็ชื่นใจ ผมนึกในใจถ้าเขาลงตี 4 เราไปหาที่ไหนให้นักท่องเที่ยวลงไปนั่งแช่น้ำร้อนซะหน่อย หรือมีที่ให้อาบน้ำ ล้างตัว เปลี่ยนเสื้อผ้า สดชื่น เอาเงินออกจากกระเป๋า เริ่มจ่ายแล้ว แล้วสามารถไปทำนั่นทำนี่ได้ พอถึงเที่ยงกินข้าว บ่ายๆ เข้านอนโรงแรม แล้วเย็นๆ ค่อยออกมาเที่ยวใหม่ นี่คือทำเรื่อง “สะดวก”

รมต.การท่องเที่ยวและกีฬาสำรวจห้องน้ำสาธารณะที่เอกชนสร้างและเปิดใช้งานที่สุขุมวิท22เป็นแบบคอนเทนเนอร์ซ้อนกันสองตู้ข้างล่างมีทางลาดให้วีลแชร์ขึ้นไปใช้บริการได้

2. เรื่อง “สะอาด” เราบอกว่าอยากให้นักท่องเที่ยวไปกินสตรีทฟู้ด อยากให้กระจายรายได้ไปสู่ชาวบ้าน สู่ชุมชน แต่ไม่มีห้องน้ำให้เข้า ล้างมือก็ยังไม่ได้เลย แล้วล้างจานที่ไหน ล้างจานด้วยถังจุ่มเนี่ยเหรอ มันจะไหวเหรอ

ฉะนั้นก็เลยไปไล่ดูเรื่อง “ห้องน้ำ” ผมบอกว่าสร้างห้องน้ำไม่ยากเท่ากับรักษาห้องน้ำ เพราะฉะนั้นผมก็ไปสร้างโมเดลใหม่ๆ ขึ้นมา ทำอย่างไรถึงจะมีห้องน้ำได้ ก็ไปพบมืออาชีพด้านห้องน้ำ เป็นเอกชน ทำไปแล้วประมาณ 10 แห่งในประเทศไทย

เขาบอกว่ายินดีจ่ายค่าเช่าตามสมควร โดยเอาตู้คอนเทนเนอร์ไปปรับปรุงภายในให้สะอาด ติดแอร์ แล้วทุกอย่างไม่ต้องเอามือจับ เดินผ่านก็มีน้ำไหล ถังขยะก็ไม่ต้องกระทืบ แค่เอามือปาดผ่านอินฟาเรด ฝามันก็ค่อยๆ เปิดขึ้นมา

แล้วเขาก็ไปอ่านวัฒนธรรมวิถีชีวิตของคนเราอีกว่าขี้อาย เลยต้องหย่อนผ้าอนามัยลงชักโครก ฉะนั้นส้วมต้องตันแน่ เขาก็มีใบพัดเป็นใบมีด เหมือนเครื่องปั่นอยู่ข้างหลังห้องน้ำ ทุกอย่างที่ผ่านชักโครกออกไป จะไปผ่านใบพัด ตัดแหลก ก่อนจะเข้าไปสู่ถังแซท

ก็ถามว่าคุณเปิดอย่างนี้มีคนเข้าใช้ประมาณเท่าไหร่ เขาบอกว่าประมาณ 600-800 คนต่อวัน แล้วสูบส้วมปีละ 2 ครั้ง ถามว่าทำไมทำได้ ก็เพราะปั่นโดยใบมีดตัด เราก็เจอมืออาชีพที่เขาทำแบบนี้ มาจากสวิตเซอร์แลนด์ เรื่องเล็กๆ ระดับนี้เขาทำเป็น แต่เราทำมั่วอยู่ตั้งนาน

ประธานาธิบดี สี จิ้นผิง เปลี่ยนประเทศจีนด้วยการประกาศนโยบายห้องส้วม ผมก็เห็นด้วยว่า นักท่องเที่ยวมาเมืองไทย แล้วคนไทยอยู่เมืองไทย ต้องมีส้วมสาธารณะใช้ ขนาดผมลงบีทีเอส ลงรถไฟฟ้าใต้ดิน ผมอั้นแหลกลาญ เพราะไม่มีที่ให้เข้า เราเลิกอั้นกันดีมั้ย แล้วยิ่งเราบอกให้ไปท่องเที่ยวชุมชน ไปเดินตลาด ย่านซอยเล็กซอยน้อย แล้วจะเข้าห้องน้ำตรงไหน

ดังนั้นก็อาจจะขออนุญาตวางตู้คอนเทนเนอร์ เก็บเงินหัวละ 10 บาท แล้วก็เสียแวตของเขาไป แต่ว่าเราได้ใช้ห้องน้ำสะอาด มันเป็นสุขอนามัย

เรื่องนี้ประกาศเป็นนโยบาย แต่ไม่ได้หมายความว่าต้องเป็นเอกชนเจ้านี้คนเดียว คนไทยคนไหน คิดโมเดลคล้ายๆ แบบนี้ได้บอกมาเลย เราจะได้ไปเชิญชวนส่วนราชการที่มีที่หลวง ถ้าให้เขาวางได้ก็ให้วางเถอะ เขาจ่ายค่าเช่าให้ แต่ก็อย่าไปรีดเขา ให้เขาพออยู่ได้ ช่วยให้เขารอดได้ นี่คือนโยบายสุขาภิบาล

“มันจะเปลี่ยนไปเลยนะ หลวงไม่ได้ทำเอง แน่นอนบางพื้นที่มีคนน้อย เขาลงทุนยังไงก็ไม่คุ้ม อันนั้นหลวงต้องลงทุน แต่ลงทุนเสร็จแล้ว จ้างเขาบริหารมั้ย มีคนรับบริหารมั้ย ก็เกิดการจ้างงาน”

หรือในเรื่องขยะ ผมไปปีนภูเขาเก็บขยะมาเป็นตัวอย่าง แล้วผมก็ได้เห็นว่าขยะภูเขามันมีคาแรคเตอร์ของมัน ขยะทะเล ขยะสระน้ำ ขยะคลอง มีคาแรกเตอร์ของมัน ซึ่งผมจะชวนจิตอาสาทั้งหลายไปทำด้วยกัน

ผมบอกว่าพวกที่เล่นกิจกรรมกีฬา มีกิจกรรมต่อไปนั้นดี แต่ผมอยากจะเห็นนักปั่นจักรยานจำนวนหนึ่งวิ่งออกไปพร้อมกับมีฝาชักโครกติดบั้นเอวไปด้วย อาจจะมีเป้าหมาย 50 กิโลเมตรต่อวัน พอวิ่งไปถึงหลักหมุดที่ 14 เราจะจอดแล้วช่วยกันซ่อมชักโครกในห้องน้ำที่เริ่มจะพังแล้ว หรือวิ่งเพื่อไปทำทางลาดสำหรับวีลแชร์

ผมไม่ได้พูดเฉพาะคนพิการนะครับ แต่ยังมีผู้สูงอายุ หรือใครลากกระเป๋ามีล้อ ได้ใช้ทางลาดทุกคน ก็เริ่มคิดเวลาท่านลากกระเป๋า เจอบันได ก็ต้องยกกันไป

คิดต่อไปอีกถึงเด็กแต่ละช่วงอายุ ขาของเด็กความยาวไม่เท่ากัน แต่ถ้าทำเป็นทางลาด ทุกคนจะก้าวเท้าได้เอง เพราะไม่มีขั้นบันได แม่บางคนจูงลูกเล็กลงบันไดอาจจะไม่สะดวก หรือคนใช้ไม้เท้า คนใส่เฝือก ผู้หญิงใส่ส้นสูง เดินบันไดยาก เมืองไทยอยากได้นักท่องเที่ยวผู้หญิงเพิ่ม เราก็ต้องทำเรื่องความสะดวกและความสะอาดให้ดี

3. “ปลอดภัย” สวยแค่ไหน ถ้าไม่ปลอดภัยก็ไม่มีใครไป เวลาท่านไปญี่ปุ่นรู้สึกสนุกปลอดภัย ไปไหนก็ได้ บางหมู่บ้านอาจจะไม่ได้สวยมาก แต่ท่านก็สนุกในการเดิน เพราะปลอดภัยและสะอาด

ถ้าทำสะอาด ปลอดภัย คนจะรู้สึกว่าเริ่มมีพื้นฐานสำคัญ ปลอดภัยในเรื่องแสงส่องสว่าง มีป้ายบอกทาง หรือการที่ทำให้มีอาสาสมัครดูแลกันก็ปลอดภัย ทำให้คนมีทัศนคติของความเป็นเจ้าบ้านที่ดี

ชุมชนท่องเที่ยวบ้านท่าขันทองตั้งอยู่ที่ ตำบลบ้านแซว อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย มีหมู่บ้าน 160 หลังคาเรือน ประชากร 600 คน ร่วมกลุ่มโฮมสเตย์ 17 หลังคาเรือน มีประชากรร่วมในกิจกรรมท่องเที่ยวชุมชน 300 คน มีกิจกรรมการท่องเที่ยว อาทิการทำอาหารพื้นบ้าน เช่น การทำข้าวจี่ ล่องเรือแม่น้ำโขง ชมการละเล่นการเป่าแคน มีนักท่องเที่ยว ประมาณ 1,000-1,500 คนต่อเดือน รายได้เฉลี่ยจากการท่องเที่ยว ประมาณ 200,000 บาท / เดือน

4. ได้ “เอกลักษณ์” ก็คืออย่าไปเปลี่ยนชาวบ้าน ให้เขาเป็นอย่างเขา ถ้าเขาเป็นชุมชนเมือง ก็ให้เขาเป็นชุมชนเมือง เพราะในที่สุดคนมาเที่ยว มาดูเอกลักษณ์ของความจริงแท้ เขาจะอยู่บ้านนอกหรือเขาจะอยู่ในเมือง เขาก็เป็นได้

อย่างเช่นงานวัดของเราเสน่ห์ดีมาก ขอให้จัดเถอะ ไม่ต้องไปคิดอะไรมาก ไม่ต้องไปเอาชิงช้าสวรรค์ใหญ่ที่สุดในโลกมาตั้งก็ได้ เอาชิงช้าแบบเรานี่แหละ แบบบ้านๆ นี่แหละ เปิดเพลงลูกทุ่ง ความเป็นบ้านๆ นี่แหละมันมีเสน่ห์

5. ส่วนเรื่อง “ยั่งยืน” ผมก็กลัวไปตีความคำว่ายั่งยืน ต่างคนต่างตีความ แต่ในฐานะที่เคยมีประสบการณ์เป็นประธานบอร์ด อพท. (องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน) ก็มีเกณฑ์ GSTC (Global Sustainable Tourism Council Index) มี 41 ตัวชี้วัดที่เป็นสากล เขาตกลงกันมาเรียบร้อยแล้ว ใครๆ ก็ใช้

ก็บอกว่าเอา 41 ตัวชี้วัดนี้ ซีร็อกซ์เป็นภาษาไทยแปะติดฝาผนังไว้ เวลาที่ใครจะไปพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวก็แปะเข้าไป มันเข้าเกณฑ์มั้ย ถ้าเข้าก็ทำ ถ้าไม่เข้าอย่าไปทำ ไม่อย่างนั้นมันไม่ยั่งยืน

แล้วผมก็ไปรับปากกับบอร์ดการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย โดยถามว่าท่านทำงานตามเคพีไอใช่มั้ย เขาบอกว่าใช่ แต่เคพีไอท่านมักจะถูกเงื่อนไขจากหน่วยกำกับว่าปีนี้จะต้องได้กี่ล้านคน ได้กี่แสนล้านบาท ใช่มั้ย ก็บอกว่าใช่

ผมก็บอกว่า ผมจะรับผิดชอบเอง ท่านไม่ต้องบ้าตัวเลข ท่านต้องบ้า “รอยยิ้ม” สังเกตรอยยิ้ม 2 อย่าง คือรอยยิ้มของเจ้าบ้าน กับรอยยิ้มของแขก ถ้าเมื่อไหร่รอยยิ้มเป็นของแขกแต่เจ้าบ้านไม่ยิ้ม แปลว่าเราทำผิดแล้ว

ถ้าเจ้าบ้านยิ้มแฉ่ง แต่แขกไม่ยิ้ม แปลว่าเราก็ผิดอีกเหมือนกัน เราต้องทำให้ยิ้มพอกันทั้งคู่ อย่างนั้นจึงจะยั่งยืน แล้วถ้าตัวเลขมันจะตก มันจะต่ำไปบ้าง ให้มาจัดการผมแล้วกัน แต่ขอให้ได้รอยยิ้ม

นี่คือสาระใหญ่ที่ผมจะทำ 1. คือโครงสร้าง 2. เรื่องการลดความเหลื่อมล้ำ และ 3. คือก้าวไปสู่ความยั่งยืน

สังคมเห็นด้วย แล้วค่อยผ่าตัด

ทั้งนี้ในการปรับโครงสร้าง ทำให้คนเข้าใจก่อน การสื่อสารสังคมขนาดใหญ่นั้น อย่าใจร้อน มาแล้วทำแน่ เปิดแผลผ่าไปแล้วเลือดสาดไปแล้ว มีคนร้องขึ้นมา ถอยหลังก็ไม่ได้ อาจจะยุ่งกันใหญ่ ดังนั้นตั้งหลักอธิบายอย่างมีหลักมีเกณฑ์ แล้วให้คนเห็นว่า เอางานเป็ดมาให้ไก่ทำ ไก่ก็เดือดร้อน เป็ดก็เสียดายของ แต่หากงานเป็ดให้เป็ดทำ งานไก่ให้ไก่ทำ ไม่ดีกว่าเหรอ

คนกีฬาเขาเก่งนะ เขาทำเรื่องแรงบันดาลใจได้ดี ไม่ว่าจะเป็นกีฬาอาชีพ วันนี้เราเห็นนักกีฬาอาชีพก้าวไปสู่ระดับโลก เราเห็นผู้บริหารวงการกีฬาไทยไปเป็นประธานสหพันธ์กีฬานานาชาติ หรือถูกเชิญไปเป็นกรรมการโอลิมปิกสากล แสดงว่ามีความสามารถในการบริหารที่ดี

เราได้เห็นกีฬาเป็นเลิศ ไปคว้าเหรีญมาเรื่อย แล้วเราก็ได้เห็นว่าการออกกำลังกายมันมีคุณค่ามาก เพราะการออกกำลังกายสมัยก่อน ออกมาให้ตัวเองหุ่นดี ไม่เจ็บ ไม่ป่วย แต่ไม่มีใครคิดถึงว่า การที่คุณไม่เจ็บป่วย เป็นการช่วยคนจนด้วยนะ

กรณีตูน (อาทิวราห์ คงมาลัย) ได้สร้างแรงบันดาลใจสำคัญมาก เขาบอกว่าไม่ต้องมาวิ่งพร้อมกับผมก็ได้ แต่ออกกำลังกายในแบบของท่าน ไปออกเหงื่อ มีวินัย ผมวิ่ง ผมเจ็บผมก็หยุด แต่ผมมีความมุ่งมั่นที่จะไปต่อ ท่านก็มีความมุ่งมั่นได้ ไปทำให้ตัวเองแข็งแรง จะได้ไม่ป่วย คนจนจะได้ใช้โรงพยาบาล ผมเห็นแล้วว่า งานกีฬานี่แหละที่จะทำแบบนี้ได้

ถ้าไก่ได้มาทำงานแบบนี้ แล้วไก่จะได้บอกว่าเรามาทำงานเพื่อเป้าประสงค์ดีกว่า อย่าไปทำงานเพื่อกิจกรรมเลย จัดกิจกรรมเพื่อมีกิจกรรมเฉยๆ ไม่มีประโยชน์ เช่น เราสอนเด็กไทยว่ายน้ำดีมั้ย ดีครับ แต่เราสอนเด็กไทยลอยตัวในน้ำเป็นดีกว่ามั้ย

ผมเป็นนักกีฬาว่ายน้ำ แต่ถ้าผมตกลงไปในแม่น้ำ ผมว่ายท่าในสระน้ำไม่ได้ ผมต้องว่ายท่าหมาท่าเดียว ต้องลอยคอ เพราะกว่าเรือจะเข้ามาช่วย เด็กไทยลอยตัวเป็นมั้ย สัก 20 นาที แต่วันนี้ยังมีเด็กไทยจมน้ำตายจำนวนมาก

ถ้าอย่างนั้น งานกรมพละ ฤดูร้อนที่จะถึงนี้ผมสั่งไปแล้ว ให้อธิบดีกรมพละทำโครงการสอนเด็กให้ไม่จมน้ำ ไม่ใช่สอนเด็กฟรีสไตล์ ถ้าเก่งแล้วอยากจะเรียนฟรีสไตล์ สอนได้ ไม่มีปัญหา แต่เริ่มต้นสอนให้เด็กไม่จมน้ำ ถ้าอย่างนั้นเราจะมีคนว่ายน้ำเป็นที่มีความหมายต่อชีวิต

เพื่อให้คนที่เขาเก่งอะไรได้ทำเรื่องนั้น ค่อยๆ อธิบายเรื่องนี้ไปสัก 5-6 เดือน พอสังคมเห็นพ้อง ค่อยผ่าตัดให้เรียบร้อยแล้ว

เปิดศูนย์ “ซ่อม-สร้าง” แหล่งท่องเที่ยว

ส่วนที่บอกว่าทำการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยว และลดความเหลื่อมล้ำจะทำยังไง ใช้เป็นเครื่องมือยังไง ผมก็บอกว่า ผมใช้ไลน์ แล้วคนไทยก็ชอบใช้ไลน์ เพราะประเทศไทยคนไม่อยากไปหาส่วนราชการ

แล้วบางครั้งเวลาส่วนราชการตั้งงบประมาณเพื่อพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวหรือพัฒนาอะไรก็ตาม ตั้งตามใจระบบราชการ หรือไม่ก็ตามใจข้าราชการการเมือง ชาวบ้านได้แต่ทำตาปริบๆ

แต่ผมบอกว่า “ชาวบ้านเป็นคนสั่งสร้าง-สั่งซ่อม” ก็เลยตั้ง @Tourism หมายเลข 1 ไปจนถึงหมายเลข 9 ซึ่ง@Tourism หมายเลข 1 เป็นศูนย์แจ้งซ่อม ชาวบ้านก็แค่กดไอดีไลน์ ขอเป็นเพื่อนกับ @Tourism หมายเลข 1

ต่อไปนี้ชาวบ้านไปเที่ยวที่ไหน จะเป็นคนไทยหรือชาวต่างประเทศ ไปเห็นอะไรมาถ่ายรูปเลย ส้วมแย่มาก โถหลุดแล้ว บันไดตรงนี้พัง ป้ายบอกทางกลับหัว หรือทางลาดไม่มี เขาห้องน้ำไม่ได้ ร้องเรียนมาเลย ถ่ายรูปแล้วส่งกดโลเคชัน ผมรู้แล้วว่าเกิดอะไรขึ้นที่ไหน

แล้วทุกอย่างเป็นดิจิทัล ผมไม่ต้องเก็บกระดาษ ประหยัดพลังงาน ท่านส่งฟรี ผมก็รับฟรี รับมาผมก็คาดหวังว่า ททท. จะเป็นเซิร์ฟเวอร์ที่เก็บภาพสวยของประเทศไทยมากที่สุด ก็ดีแล้ว เอาไว้ทำการตลาด

แต่ของผมเอาไว้มีแต่ภาพไม่สวยทั้งนั้นเลย ผมอยากจะสะสมภาพไม่สวย นั่นคือบทบาทที่แตกต่างกันระหว่าง ททท. กับกระทรวงการท่องเที่ยว เรารักษาภาพไม่สวย เราสะสมภาพไม่สวย แล้วจะได้ตั้งงบฯ ซ่อม ตามสิ่งที่ประชาชนและนักท่องเที่ยวแจ้งมา

เพียงแต่เราต้องตรวจสอบยืนยันความจริง พอมีเข้ามา ผมก็สั่งให้มี “คลินิกท่องเที่ยว” แต่ละจังหวัด ก็คืออาสาสมัครหรือตำรวจท่องเที่ยวที่อยู่ในแหล่งท่องเที่ยวนั้นๆ อยู่แล้ว ให้ไปดูหน่อยว่าที่เขาถ่ายมาในโลเคชันนั้นมันจริงมั้ย

ถ้าจริงผมให้เลข 13 หลักเลย ของแต่ละรูป แล้วขึ้นเหมือนกับวิกิพีเดีย ใครจะจองกฐินมั้ย ท่านจะทำซีเอสอาร์มั้ย ท่านปลูกป่าก็ทำไป แต่แหล่งท่องเที่ยวที่เสื่อมโทรมที่อยู่ใกล้บ้านท่าน หรือเป็นแหล่งท่องเที่ยวผูกจิตใจท่าน ท่านจองผ้าป่ากับผมมั้ย จองว่าปีหน้าจะมาทำอะไรกับมันมั้ย

ท่านไม่ต้องทำให้หมดจนหรอก ทำตามศักยภาพตามพลังของท่าน แต่ทำแล้วส่งภาพมาหน่อย มันก็จะมีบีฟอร์แอนด์อาฟเตอร์ เป็นหมื่นๆ ภาพ มันก็จะมีคนจองทั้งไทยและต่างประเทศ ฝรั่งก็จองกฐินได้ คนจีนก็จองได้ ไม่ใช่แค่มาแล้วชิมชมแชะ แต่มีอะไรอวดด้วยว่าทำดีมา

หลักการออกแบบให้เป็นอย่างนั้น ตอนนี้เพิ่งให้รับมาได้หลักร้อยหลักพัน แต่ต้องรับมาให้เยอะสักหลักหมื่น เพื่อจะได้ตั้งงบประมาณกลางปีไปซ่อมแซมมัน แล้วงบกลางปีอย่าเสนอเป็นเมกะโปรเจกต์ ผมไม่เอา แต่ผมอยากจะทำเรื่องทางลาด ถนนลาดยาง เป็นสิ่งที่ชาวบ้านในพื้นที่ใช้วัสดุท้องที่ทำได้

อยากจะได้แสงส่องสว่างตรงนั้นตรงนี้ อยากได้ป้ายบอกทาง อยากได้ห้องน้ำที่มันพัฒนาขึ้นอีกหน่อย เอาเลย บอกมา เพราะเงินหลวงลงไปมันจะได้ตกที่ท้องถิ่น

แล้วพอมันมีของชัดเจนว่าเราจะไปลงอะไร ผู้ลงทุนท่องเที่ยวในระดับเอกชนเขาก็จะลงทุนตามมาสอดรับกัน มันก็จะเกิดการเคลื่อนไหวทางเศรษฐกิจ มันก็ลดความเหลื่อมล้ำ

หรือมติคณะรัฐมนตรี ที่ออกไปแล้วบอกว่า ถ้าบริษัทใดภายในปี 2561 นำพนักงานไปอบรม ไปประชุมสัมมนา ไปไมซ์กันที่ไหนใน 55 เมืองรองทางการท่องเที่ยว เก็บใบเสร็จไว้เลย จะใช้จ่ายไปกี่บาทก็ตาม ปลายปีเสียภาษีเอาใบเสร็จนั้นมาวาง ก็ลดไปตามที่ใช้จริง

ส่วนคนธรรมดาทั้งหลายที่อยากจะไปเที่ยว ถ้าไปเที่ยวเมืองรอง แล้วเก็บค่าใบเสร็จที่พัก ไม่ว่าจะเป็นโฮมสเตย์ที่ได้รับรองแล้วจากกระทรวงการท่องเที่ยว หรือจะเป็นโรงแรมที่จดทะเบียนถูกต้องตามกฎหมาย จะไปกี่รอบ จะไปตอนไหนก็ได้ เพราะเมืองรองพร้อมรับนักท่องเที่ยวทั้งปี สามารถหักลดหย่อนภาษีปลายปีได้ 15,000 บาทดังนั้น @Tourism หมายเลข 1 จึงเป็นศูนย์แจ้งซ่อม
ส่วน @Tourism หมายเลข 2 เป็น “ศูนย์แจ้งสร้าง” เช่น เมืองรองยังไม่ดัง แต่กะปิเมืองนี้อร่อย แต่ไม่มีใครรู้จัก ให้บอกมาที่ @Tourism 2 จะทำให้ดังให้ หรือปลูกแปลงดอกไม้ ไม่ได้ปลูกทั้งปี แต่ปลูกช่วงนี้ แล้วไปออกดอกบานในฤดูฝน สวยงามมาก แต่ตะโกนเท่าไหร่ไม่มีใครได้ยิน บอกมา @Tourism 2 จะทำให้ดังให้ เป็นต้น ก็เป็นศูนย์แจ้งสร้าง ผมเรียกว่า “ศูนย์ซ่อมสร้าง” 1 กับ 2

พัฒนา “บุคลากร” ด้านท่องเที่ยว

ส่วน 3 นั้นออกแบบมาเพื่อการ “พัฒนาบุคลากรด้านการท่องเที่ยว” เพราะนี่เป็นปัญหาเก่าแก่ของเรามานาน เราต้องการเติมคนเข้ามาในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวประมาณเกือบ 2 แสนคนต่อปี แต่หาคนไม่ได้ เราต้องการคนทุกแนว ขอให้ทำเป็น

แต่ปรากฏว่าเวลานี้คนไปเรียนด้านท่องเที่ยว จบมาอยากจะได้ปริญญา พอมีปริญญาก็ไม่ล้างจาน พอไม่ล้างจานก็ไม่มีทักษะ พอจะไปรับงานก็งอแง ถามว่าเรียนแล้วได้งานไม่ดีเหรอ แล้วไม่ต้องเรียน 3 ปี 4 ปี เรียนน้อยกว่านั้น แต่มีความชำนาญในเรื่องนั้นๆ เลย ผมไม่ได้บอกให้ไปเรียนล้างจาน แต่ก็ต้องเรียนนะ เพราะจะได้มีความเข้าใจในสนามจริง

ผมก็เลยมี @Tourism 3 ใครมีเทคนิควิธีดีๆ ในการสร้างหลักสูตร สร้างความรู้ ผมจะนัดประชุมเจอคณบดีทั้งประเทศที่สอนเรื่องนี้ จะเรียกชื่อคณะอะไรก็แล้วแต่ ที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและบริการได้มาเจอกัน

เมื่อมาแล้ว ให้เทของดีออกมากองกัน ของดีจริงๆ นะ ประเภทที่มีไปอย่างนั้นไม่ต้องเท พอเทเสร็จแล้ว มันคือตลาดกองของดี มีจริง มีครูจริง มีวิชาจริง จะอยู่ที่ไหนไม่ว่า ซึ่งสต็อกนี้ประเทศไทยยังไม่เคยรู้เลยว่าของดีมีอยู่ที่ไหน ไม่เคยทำข้อมูลไว้

และเมื่อมีข้อมูลแล้ว ผมก็จะเชิญผู้ว่าจ้างทั้งหลาย เช่น อบจ.ส่วนท้องถิ่น เขาอยากได้มากนะ แต่มีหลักสูตรอะไรบ้าง เขาไม่รู้เลย สายการบิน สายการเดินเรือ โรงแรม ภัตตาคาร ร้านอาหาร บริษัทเดินรถ ก็มาดูเลย

ทีนี้มันก็เหมือนไลน์บุฟเฟต์ ทุกคนถือตะกร้าตัวเองมา แล้วไปหยิบของดีนั้น แล้วปิดนามบัตรตัวเองไว้ เช่น ถ้าเรียนอย่างนี้มา อบต.หางดงชอบมาก ก็แปะไว้ ผมก็จะเก็บข้อมูลนี้ไว้เป็นข้อมูลใหญ่ ว่าเรามีของดีรวม แล้วพอมาแยกแล้ว พวกติดทะเลอยากให้เรียนอย่างนี้ พวกติดภูเขาชอบแบบนี้ พวกเข้าป่าชอบอย่างนี้ ว่ามาให้หมด เราก็จะได้ตะกร้าที่นายจ้างเขาบอกว่า ฉันอยากได้อย่างนี้

ไม่ว่าจะเป็นนักเรียน นักศึกษา หรือพนักงานโรงงานที่อาจจะกำลังถูกเลย์ออฟ เพราะว่าหุ่นยนต์กำลังจะมาแทนที่ เมื่อก่อนจะกลับไปทำงานเกษตรกร แต่เดี๋ยวนี้เกษตรกรฟาร์มหลุดมือหมดแล้ว จะกลับไปไหน ต้องมางานบริการแหงๆ

จะไปเรียนใหม่ 4 ปีก็ไม่ทันแล้ว ก็มาดูในตะกร้านี้ บางตะกร้าใหญ่ บางตะกร้าเล็ก ถ้ามีเวลาสั้นก็เอาตะกร้าเล็ก ก็ไปฝึกแบบตะกร้าเล็ก ถามว่าจะไปเรียนที่ไหน เรียนทางไกล ทางใกล้ หรือเรียนออนไลน์ก็เยอะแยะไป เรียนเสร็จแล้วก็มีที่ให้ฝึก ฝึกออกมาทำเป็นแล้ว มีคนจ้างแน่นอน

ถ้าเป็นแบบนี้แล้ว ถามว่าเสร็จสมัยนายวีระศักดิ์มั้ย ผมไม่แน่ใจ แต่ว่าตั้งหลักแบบนี้ มันคืองานฐานราก ไม่ว่าจะ @Tourism 1, 2, 3 ที่ว่ามา มันก็จะทำให้เกิดการท่องเที่ยวทางด้าน supply side ที่มีพลังของมันเอง พัฒนาตัวเอง

ถ้าทางด้าน marketing side ก็คือ การตลาดพาเข้าสู่เมืองรอง เข้าสู่ชุมชน แต่ไม่กวักด้วยตัวเลข เพราะถ้ากวักด้วยตัวเลข จะมีการทำทุกวิถีทางเพื่อให้ได้ตัวเลขนั้น แล้วใครจะย่ำใครพังไม่รู้เลย

ผมถึงกล้าการันตีว่าขอดูเรื่องรอยยิ้ม ไม่ใช่จำนวนเงิน ไม่ใช่จำนวนคน ผมไม่ติดใจจำนวนหัว นี่คือเรื่องของการลดความเหลื่อมล้ำ

ไอเดียสร้างความยั่งยืน

ในส่วนการสร้างความยั่งยืน ที่ทำอยู่นี้เรียกว่าความยั่งยืนมั้ยล่ะ มันก็ใช่ แล้วยิ่งเอา GSTC แปะหน้าฐานเข้าไปด้วย มันก็น่าจะการันตีความยั่งยืนได้ในระดับที่น่าพึงพอใจ

ที่พูดมาทั้งหมด ผมคิดว่าในเชิงนโยบาย ผมพอใจกับส่งที่ผมประกาศพอสมควร แต่ผมพร้อม เพราะเป็นนโยบายสาธารณะ ต้องสามารถยื่นออกไปให้ประชาชนและคนสนใจเอาตะไบมาขัดได้ เขาจะได้เป็นเจ้าของร่วมกับเรา ไม่ใช่นโยบายวีระศักดิ์ แต่เป็นนโยบายที่ทุกคนเห็นว่าได้ ฉันเอา พอฉันเอาแล้ว คนก็จะเริ่มเสียสละได้ เพราะเห็นว่า มันจะไปสู่เป้าหมายนี้

“วีระศักดิ์” เล่าว่า “ตอนผมเป็นประธานบอร์ด สสปน. (สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ) ผมไปที่สวนสามพราน ทำ “สามพรานโมเดล” คือ ศูนย์ประชุมแห่งชาติทั้งหมดไม่ว่า จะที่ไหนก็ตาม ตกลงกันว่าเราจะไม่ซื้อข้าวจากพ่อค้าคนกลางอีกต่อไป แต่จะสั่งซื้อโดยตรงจากสหกรณ์การเกษตรในชุมชน ที่ทำเรื่องออร์แกนิก

อย่างน้อยเราพูดได้เต็มปากว่า ข้าวทุกเม็ดที่คนมาตักกินในศูนย์การประชุมทั้งหมดของเรานั้น เป็นข้าวปลอดภัย นี่คือสตอรีที่ 1
2. แปลว่าเงินทั้งหมดที่ท่านจ่ายกินข้าวของเรานั้น ไปตรงสู่เกษตรกร ไม่ตกหล่นอยู่ที่ไหน 3. เราตกลงกันว่าในอนาคตจะพัฒนาไปสู่การขอรูปถ่ายของเกษตรกร เพื่อไปแปะข้างๆ หม้อหุงข้าว เวลาที่ท่านเดินมาตักข้าว ท่านตักข้าวจากคนนี้ คนนี้ปลูกให้คุณกิน คนนี้เขาก็จะรู้สึกว่า มีรูปฉันอยู่ที่ศูนย์สิริกิติ์ด้วย มีรูปอยู่ที่ไบเทคบางนาด้วย มีรูปอยู่ที่อิมแพ็ค

เรื่องนี้แม้จะยังไม่ได้ทำ เพราะผมพ้นตำแหน่งประธานบอร์ด สสปน. มาแล้ว แต่ผมขายไอเดียนี้ไว้แล้ว ผู้บริหารรุ่นถัดไปเขาจะทำหรือไม่ทำก็ไม่ว่า แต่ผมจะทำต่อในเรื่องโรงแรมท่องเที่ยวของผมแน่นอน ดังนั้นมันก็ทำให้ลดความเหลื่อมล้ำทางศักดิ์ศรี เขามีตัวตน

ถ้าเป็นแบบนั้นแล้ว ผมคิดว่าการลดความเหลื่อมล้ำจึงไม่ใช่แค่เรื่องเงิน มันเป็นเรื่องทางสังคม เป็นเรื่องทางการเมือง ต่อไปนี้เขามีตัวตน มีบทบาท ประสบการณ์ที่ผมไปอยู่ อพท. มาทำให้ผมเรียนรู้หลายเรื่องว่าเสน่ห์ของชุมชนเป็นเรื่องการบริหารจัดการแบบบ้านๆ มันอาจจะดีกว่าไปเอาตำราฝรั่งมาใช้ด้วยซ้ำไป

อย่างเช่น ชุมชนปลาบ่า อ.ภูเรือ จ.เลย เขาไม่เคยทะเลาะกับช้างป่าเลย ทั้งๆ ที่เขาปลูกแก้วมังกรอยู่ริมชายป่าเป็นแนวยาว แล้วเขาก็ไม่เคยบุกรุกป่า เพราะเจ้าหน้าที่ป่าไม้พอใจกับสิ่งที่ชุมชนทำมาก

กำนันเชิด (นายเชิด สิงห์คำป้อง) แกก็ชวนชาวบ้านปลูกแก้วมังกรเป็นแนวริมชายป่า ก็ได้แนวชัดเจนระหว่างป่ากับชาวบ้าน แต่ชาวบ้านไม่ทิ้งแนวนี้ เพราะต้องคอยมารดน้ำก็เกิดความชื้น ซึ่งความชื้นนั้นคือแนวกันไฟ

แต่แนวกันไฟนี้มันดึงดูดช้างป่า มันจะมากิน แกก็ไปเอาไผ่ป่ามาปลูก เพราะมันมีหนาม แล้วก็รดน้ำแก้วมังกรด้วย รดน้ำไผ่ป่าด้วย ไผ่ป่ามันเป็นหญ้า ก็โตเร็ว สูงพอท่วมเอวช้างมันก็ไม่กระโดดแล้ว แต่ช้างป่าก็ไม่ได้กลับไปมือเปล่า มันก็เอางวงขุดกินหน่อไม้ต่อ หน่อไม้พอถูกดึงไป ก็ได้หน่อใหม่ มันก็แทงหน่อ

ต้นไผ่แฮปปี้ ช้างแฮปปี้ ชาวบ้านแฮปปี้ กรมป่าไม้แฮปปี้ นักท่องเที่ยวไปเที่ยวไม่ได้เห็นวิวอะไรเท่าไหร่หรอก แค่เห็นกระบวนการจัดการนี้ นักท่องเที่ยวก็แฮปปี้ เผลอๆ ได้ดูช้างฟรีด้วย แฮปปี้ทุกฝ่ายอย่างนี้เขาเรียกว่ายั่งยืน ไม่รุกป่า ไม่ผิดกฎหมาย มีตัวตน ไม่ลงทุนสูง ทุกอย่างเป็นเรื่องของตัวเอง

หวังสร้างรอยยิ้ม-ไม่ติดใจตัวเลขนักท่องเที่ยว

รมต.การเท่องเที่ยวและกีฬาลงพื้นที่ไปกับผู้ว่าราชการและภาคเอกชนในจ.อุบลราชธานี ไปดูเพื่อจะเปิดพื้นที่ท่องเที่ยว เมืองรองแต่ละเมือง ยังมีพื้นที่ไหนบ้าง ที่น่าสนใจ จะต้องทำยังไง ให้เมืองรองแต่ละแห่ง ยังคงยกย่องรักษาวิถีชีวิตชุมชน และรักษาระบบนิเวศเอาไว้ให้ได้ดี

“วีระศักดิ์” บอกว่า ภารกิจที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ ถือเป็นการลงทุนที่นักท่องเที่ยวจะตามมาจ่ายให้ประเทศไทย แต่ต้องทำให้ดี ทำให้สะดวก สะอาด ปลอดภัย ได้เอกลักษณ์ แต่วันหนึ่งถ้านักท่องเที่ยวไม่มา เราก็อยู่ได้แฮปปี้แบบยั่งยืน

“ที่ผมพูดถึงสะดวก สะอาด ปลอดภัย จริงๆ แล้วผมกำลังพูดถึงวัฒนธรรมคนไทยเรานี่แหละ ทำให้บ้านตัวเองสะอาด แล้ววันที่นักท่องเที่ยวไม่มา เราก็อยู่สบาย ทำไปเถอะ ผมไม่ได้ทำตามใจตลาด ผมกำลังทำในสิ่งที่มันยั่งยืน”

“ส่วนเป้าหมายเรื่องตัวเลข เจ้าหน้าที่เขาตั้งของเขาเอง ยังไงก็มีคนมาสั่ง ผมไปห้ามไม่ให้เขาสั่งไม่ได้หรอก สั่งไปเถอะ ผมไม่ต้องไปสั่งซ้ำ แต่ผมบอกว่า ผมผ่อนคลาย ผมไม่ติดใจ ได้หรือไม่ได้ ไม่ติดใจ ผมสนใจเรื่องรอยยิ้ม”

ถามว่าแล้วผมจะเป็นนางกวัก ผมจะกวักเพื่อไปเมืองรอง กวักเพื่อไปชุมชน แต่ถ้าหากว่างานนี้จะเป็นเกียรติมากถ้าท่านมา ผมมบอกว่า ท่านปล่อยให้ผมทำงานเถอะ อย่าให้ผมไปเป็นเครื่องประดับงานท่านเลย เขาให้มีดผ่าตัดผมมาแล้ว ผมผ่าพลาดไม่ได้ ผมมีเวลาไม่มาก

“และที่เล่ามาทั้งหมด อยากทำให้เสร็จทั้งนั้น ผมถึงไม่หยุดเลย ตั้งแต่เป็นมา ไม่มีเสาร์-อาทิตย์เลย ตื่นตีสี่เข้านอนเที่ยงคืนทุกวัน แต่ผมทำไงได้ ตอนนี้มันพรั่งพรู ก็รีบไปทำ แล้วพูดจริงๆ นะ ให้ผมทำนานกว่านี้ก็ไม่ไหวเหมือนกัน กัดฟันบอกภรรยากับลูกว่า อีกปีหนึ่งเจอกันนะ ขอมาทำเรื่องนี้ก่อน แล้วที่มาทำตรงนี้ ตำแหน่งต่างๆ ผมต้องไปลาออกหมด รายได้ครอบครัวหายไป 4 ใน 5 มาทำเรื่องนี้ แต่ผมก็ถือว่า ถ้ารู้แล้วว่าควรจะทำอะไร ก็ทำ ในเมื่อรู้แล้วก็ทำซะ ทำแล้วคนถูกใจไม่ถูกใจผมไม่ว่า จะด่าก็ได้ จะวิจารณ์ก็ได้ แต่ว่าทำในสิ่งที่ถูก แล้วผมจะไม่กลับมาสู่วงการพรรคการเมืองอีกแล้ว ไม่ต้องกังวล”

“ผมไม่ได้บอกว่าพรรคการเมืองไม่ดี แต่ผมเห็นว่าพรรคการเมืองมันมีพรรคนั้นและพรรคนี้ มันมีพวก แต่ผมไม่เป็นพวกอะไรทั้งนั้น ผมกำลังเป็นคนของประชาชนไปเฉยๆ เลย แล้วก็ทำโดยเอาประชาชน เอาเป้าหมาย เอาความยั่งยืนเป็นที่ตั้ง แล้วทำไปเลย”

วันนี้จึงได้เห็นผมปรากฏตัวตามสื่อต่างๆ เยอะมาก เพราะผมต้องสื่อสารสังคม ผมไม่ได้อยากเป็นข่าว แต่ผมต้องการสื่อสารออกไปว่าผมคิดว่าอะไรบ้าง อย่านำเสนอความเป็นผม จงนำเสนอสิ่งที่ผมเล่า เพื่อให้คนเอาไปวิเคราะห์วิจารณ์

คือของเก่าที่ทำมานั้นไม่ได้ผิด แต่มันยังไม่ได้แก้ เรามีสปอร์ตทัวริซึม (sport tourism) ดีมั้ย ดีมากครับ แต่ถ้าสปอร์ตทัวริซึมเพื่อทำสถิติวิ่งเยอะที่สุดในประเทศไทย มีคนวิ่ง 3 หมื่นคน หรือ 8 หมื่นคน หรือแสนคน ผมเฉยๆ แต่มันก็ดี โปรโมทหน่อย เดี๋ยวมันก็มา

แต่ผมอยากจะวิ่งสร้างส้วม ผมอยากจะวิ่งสร้างแนวกันไฟ ผมอยากจะวิ่งเก็บขยะ ผมอยากปั่นจักรยานทำความดี ซึ่งมันมีความหมายมากกว่านั้นเยอะเลย

ล่าสุดผมไปบ้านห้วยปลาหลด อ.แม่สอด จ.ตาก ก็มีทีมไปเที่ยวห้วยปลาหลดตามผม ก็ดีครับ ที่ห้วยปลาหลดเขาก็ดีใจ แล้วผมก็บอก ททท. แม่สอด ว่าถ้าท่านจะปั่นจักรยาน ท่านอย่าปั่นเปล่าๆ นะ ท่านปั่นไปซ่อมส้วมนะ

ตอนนี้เขาส่งรูปส้วมมาให้ผมดูแล้ว ว่าเขาจะปั่นข้ามแดนไปเมียวดี ประเทศพม่า จะซ่อมส้วมฝั่งไทยที่นึง และซ่อมส้วมฝั่งเมียวดีที่นึง ไม่ได้ปั่นเอามัน ปั่นเอาดี

“แต่ผมคิดว่า ถ้าหากว่าสิ่งที่เราแนะนำไปมันก่อให้เกิดแรงบันดาลใจให้เขาไปทำเรื่องแบบนี้ได้ ผมชื่นชมแล้ว ทำไปเลย”