เมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2558 ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ถึงกรณีสำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้ส่งหนังสือถึงกระทรวงการคลังและกระทรวงพาณิชย์ให้มีการพิจารณาฟ้องคดีแพ่ง เรียกค่าเสียหายกว่า 600,000 ล้านบาท สำหรับโครงการรับจำนำข้าว ต่อนางสาวยิ่งลัษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ว่าได้มอบหมายให้นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายกฎหมาย ตรวจสอบว่ากรณีดังกล่าวมีการเกี่ยวข้องกับรัฐบาลอย่างไร ซึ่งส่วนนี้นั้นเป็นเรื่องของกฎหมาย นายกรัฐมนตรีกล่าวต่อไปว่า ไม่กังวลเกี่ยวกับกระแสข่าวที่อาจพาดพิงมาถึงตน
“ผมไม่ได้ไปเกี่ยวข้อง ไม่ได้ไปนั่งอยู่ในศาล การดำเนินการนั้นเป็นเรื่องของกระบวนการ ป.ป.ช. ก็ทำการสอบสวนเรื่องนี้มาก่อนที่ผมเป็นรัฐบาล เพราะฉะนั้นอะไรจะตามออกมา ก็เป็นเรื่องของกฎหมาย”
โดยให้ความเห็นต่อไปว่า หากนางสาวยิ่งลักษณ์หนีไปต่างประเทศก็ไม่เกิดประโยชน์อะไรกับใครทั้งสิ้น หนีไปก็ไม่มีความสุข หากอยู่ก็ต้องสู้คดี ซึ่งสำหรับค่าเสียหายนั้นต้องไปดูตัวเลขว่ามูลค่าที่ใช้ไปในโครงการรับจำนำข้าวนั้นเป็นเท่าใด ขายไปแล้วได้เท่าไร ที่เหลือก็จะเป็นตัวเลขขาดทุน ซึ่งปัจจุบันต้องเร่งระบายข้าวหากเก็บไว้ในคลังนานๆ ตัวเลขขาดทุนก็จะยิ่งสูงขึ้นตามต้นทุนค่าเช่าคลังและค่าเสื่อมราคาของข้าว
ขณะเดียวกัน นายกรัฐมนตรีกล่าวถึงเรื่องการยกเลิกการประมูลข้าวจำนวน 4 แสนตัน เนื่องจากบริษัทที่เข้ามาประมูลไม่ผ่านมาตรฐานที่รัฐบาลกำหนด โดยอาจมีส่วนเกี่ยวโยงกับบริษัทที่เคยเป็นปัญหา จึงต้องดำเนินการอย่างรอบครอบ
ส่วนกรณีที่สื่อต่างชาติโจมตรีรัฐบาลไทยว่าไม่ดูแลในเรื่องการค้ามนุษย์ นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า กรณีดังกล่าวนั้นรัฐบาลดำเนินการอยู่ตลอด เนื่องจากปัญหาทุกอย่างนั้นเป็นปัญหาสะสมมาตั้งแต่รัฐบาลชุดก่อนๆ มีการดำเนินการตั้งคณะอนุกรรมการ การออกกฎหมาย ปัจจุบันกำลังเร่งรัดการสำรวจ การจดทะเบียนเพื่อขึ้นทะเบียนแรงงาน ซึ่งต้องดำเนินการโดยอย่างเร่งด่วนเนื่องจากมีผลกระทบต่อเรื่องเศรษฐกิจของประเทศด้วย
สำหรับกรณีความร่วมมือด้านรถไฟระหว่างไทย–จีน นายกรัฐมนตรีเปิดเผยว่า ยังคงอยู่ระหว่างการเจรจาที่ไทยจะขอลดดอกเบี้ยจากธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย ว่าให้อยู่ในอัตราที่ต่ำกว่า 2% ได้หรือไม่ ซึ่งงบประมาณบางส่วนต้องอาศัยการระดมทุนจากในประเทศ ทั้งนี้ยังคงต้องใช้เวลาอีกนานต้องผ่านการประเมินรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) และการทำประชาพิจารณ์ต่างๆ เสียก่อน ซึ่งนายกรัฐมนตรีกล่าวย้ำว่า ทุกอย่างอยู่ที่การเจรจา สิ่งไหนตกลงได้ก็คือได้ ขออย่าได้กังวล
“กว่าจะได้เริ่มดำเนินการสร้างก็เดือนกันยายน 2558 ซึ่งกว่าจะถึงตอนนั้นต้องติดปัญหาจากการประเมินต่างๆ แน่นอน ซึ่งเรื่องดอกเบี้ยก็ยังตกลงกันไม่ได้ ยังคงต้องหาแหล่งเงินกู้ที่เหมาะสม ดอกเบี้ยที่ไหนถูกก็กู้ที่นั่น เป็นมิตรกันก็ต้องมีการแบ่งปันผลประโยชน์ที่เท่าเทียม ซึ่งปัญหาไม่ได้อยู่ที่เรื่องผลประโยชน์ แต่อยู่ที่การเลือกบริษัทก่อสร้างที่จะมาร่วมทุนกับบริษัทไทย”
เมื่อผู้สื่อข่าวสอบถามถึงการปรับคณะรัฐมนตรีว่าจะมีหรือไม่ นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ในการดำเนินงานของคณะรัฐมนตรีนั้นตนให้ผ่านทุกคน พร้อมกล่าวย้ำว่า ยังไม่มีแนวคิดในการปรับคณะรัฐมนตรี เนื่องจากที่ผ่านมาทุกกระทรวงได้ดำเนินงานต่างๆ อย่างเต็มที่แล้ว ซึ่งผลงานที่ประเมินก็คือ การนำพาประเทศผ่านพ้นวิกฤติ ทำประเทศไม่ให้ล้ม อันเป็นผลงานที่จับต้องได้ ก่อนหน้าที่รัฐบาลชุดนี้จะเข้ามาถือว่าประเทศได้ล้มไปแล้ว เมื่อรัฐบาลชุดนี้เข้ามาบริหารงานก็ได้ดำเนินการแก้ไขปัญหาต่างๆ มาจนถึงปัจจุบัน รัฐมนตรีทุกท่านก็ต่างทำหน้าที่ของตนเองอย่างเต็มที่
ขณะเดียวกัน นายกรัฐมนตรีกล่าวถึงเวทีเรื่องสัมปทานปิโตรเลียมที่รัฐบาล จะจัดขึ้นในวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2558 ว่า ส่วนตัวไม่ได้เข้าร่วมรับฟัง การจัดเวทีที่ทำเนียบรัฐบาลถือเป็นการให้เกียรติแก่ทุกฝ่าย โดยเวทีดังกล่าว จะมีนายณรงค์ชัย อัครเศรณี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานร่วมรับฟัง และจะทำการรวบรวมแนวทาง รวมทั้งข้อเสนอต่างๆ เพื่อนำมาพิจารณา
ในตอนท้าย นายกรัฐมนตรีได้กล่าวอวยพรเนื่องในเทศกาลตรุษจีนว่า “ซินเจียยู่อี่ ซินนี้ฮวดไช้ ขอให้ร่ำให้รวย มีความสุข สุขภาพแข็งแรง ในช่วงเทศกาลวันตรุษจีน เราเป็นคนไทยด้วยกัน ไม่ว่าจะเชื้อชาติใด ศาสนาใด เราคือคนไทย อยู่ใต้ร่มพระบารมี ขอให้ทุกคนใช้สติในการแก้ปัญหา และช่วยรัฐบาลทำในสิ่งที่ดี อันไหนไม่ดีก็ติเตือนว่ากันมา ให้กำลังใจกันบ้าง ปีใหม่ไม่ขออะไรเลย ผมมีความปรารถนาดีกับคนไทยทุกคน”
ด้าน ร.อ. นพ.ยงยุทธ มัยลาภ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และ พล.ต. สรรเสริญ แก้วกำเนิด รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้ร่วมกันแถลงเรื่องที่นายกรัฐมนตรีปรารภและสั่งการ รวมถึงผลการประชุม ครม. ซึ่งมีการอนุมัติงบประมาณ แผนงาน และโครงการ โดยสรุปมีสาระสำคัญดังนี้
จี้จ่ายงบลงทุนตามเป้า 87% หลังหลุดเป้าไป 26.77% – พร้อมประเมินหัวหน้าส่วนราชการ
นายสมศักดิ์ โชติรัตนะศิริ ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ แถลงมาตรการเร่งรัดการเบิกจ่ายงบลงทุนและผลการดำเนินการเบิกจ่ายงบประมาณล่าสุด ภายหลังการประชุม ครม. จากที่ก่อนหน้านี้ พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในฐานะประธานคณะกรรมการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ของ คสช. ได้สั่งการให้เร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณโดยเฉพาะงบลงทุน รวมไปถึงการออกมติ ครม. เมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2558 ให้เร่งรัดการผูกพันงบประมาณต่างๆ ภายในเดือนมีนาคม 2558 รวมทั้งให้สำนักงบประมาณติดตามผลและรวบรวมมาตรการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้จ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำปี ของหน่วยงานที่มีงบลงทุนสูงสุด 9 หน่วยงาน ซึ่งมีงบลงทุนรวมกันมากกว่าครึ่งหนึ่งของงบลงทุนทั้งหมด เนื่องจากปัจจุบันส่วนราชการเบิกจ่ายงบลงทุนหลุดเป้าหมายไปกว่า 26.77%
“ปกติปีก่อนๆ จะมีการไปปรับแผนหลังเดือนมีนาคม และเสนอแผนให้ ครม. พิจารณาช่วงเดือนพฤษภาคม-มิถุนายนของแต่ละปี แต่ครั้งนี้เนื่องจากมีการเบิกจ่ายล่าช้าและมีความจำเป็นในการกระตุ้นเศรษฐกิจ จึงเร่งรัดในการจัดซื้อจัดจ้างและลงนามสัญญา เพื่อให้มีการเบิกจ่ายที่เร็วขึ้นในปีงบประมาณนี้ ซึ่งจากการที่คุยกับ 9 หน่วยงาน เกิดความมั่นใจว่าจะเบิกจ่ายได้สูงกว่าเป้า ส่วนหน่วยราชการอื่นอีก 197 กรมนั้น จะเอาแนวนี้เป็นตัวแบบด้วย เพื่อให้สอดคล้องกับเป้าหมาย 87% ได้” นายสมศักดิ์กล่าว
ทั้งนี้ มาตรการดังกล่าวแบ่งเป็น 1) กรณีส่วนราชการ ยังมีความจำเป็นต้องดำเนินการตามแผนปฏิบัติงานและมีความพร้อมที่จะเริ่มดำเนินการก่อหนี้ผูกพันโครงการได้ภายในเดือนมีนาคม 2558 ให้เร่งดำเนินการและเบิกจ่ายให้แล้วเสร็จภายในปีงบประมาณ 2) กรณีที่ส่วนราชการคาดว่าจะไม่สามารถเริ่มดำเนินการก่อหนี้ผูกพันโครงการได้ภายในเดือนมีนาคม 2558 และพิจารณาว่าหมดความจำเป็น, ซ้ำซ้อน, ไม่สามารถดำเนินการได้, ดำเนินการแล้วมีงบประมาณเหลือจ่าย หรือคาดว่าจะไม่สามารถเบิกจ่ายได้ทันปีงบประมาณ ให้พิจารณาปรับแผนปฏิบัติงานและการใช้จ่ายงบประมาณจากโครงการเดิม เพื่อดำเนินการดังนี้
1) ดำเนินการตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ, นโยบายรัฐบาล 11 ประการ, ยุทธศาสตร์คณะรักษาความสงบแห่งชาติ 9 ด้าน, นโยบายความมั่นคง หรือนโยบายเร่งด่วนที่จำเป็นต้องแก้ 11 ด้าน (ค้ามนุษย์, ยาเสพติด, การจัดระเบียบพื้นที่สาธารณะ, ปัญหาการบุกรุก, การแก้ไขกฎหมาย, การปฏิรูป, สาธารณูปโภคพื้นฐาน, การท่องเที่ยว, การศึกษา, การเชื่อมโยงเศรษฐกิจ และเขตเศรษฐกิจพิเศษ)
2) เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนและตอบสนองความต้องการของประชาชนกรณีเร่งด่วน เช่น ช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติ การซ่อมแซมสิ่งสาธารณประโยชน์ เป็นต้น
3) เป็นรายการงบประมาณที่ก่อให้เกิดประโยชน์ทางเศรษฐกิจ ที่ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้อย่างชัดเจน
4) เพื่อแก้ไขปัญหาของหน่วยงานในกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น หรือสมทบในรายการที่งบประมาณไม่เพียงพอ หรือดำเนินการได้เร็วกว่าแผน
5) ชำระหนี้สาธารณูปโภค หรือชดเชยค่างานสิ่งก่อสร้างตามสัญญาแบบปรับราคาได้ (ค่า K) หรือดำเนินโครงการที่มีข้อผูกพันตามกฎหมาย
6) เป็นรายการที่มีความจำเป็นเร่งด่วน หากไม่ดำเนินการจะเกิดความเสียหายต่อทางราชการ รวมถึงรายการสำรวจออกแบบ เพื่อให้มีความพร้อมในการเสนอตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2559
ทั้งนี้ เมื่อปรับแผนแล้วเสร็จ ให้ส่วนราชการเสนอรัฐมนตรีที่รับผิดชอบเพื่อพิจารณาเห็นชอบภายในเดือนเมษายน 2558 ก่อนที่ส่วนราชการจะต้องไปดำเนินการก่อหนี้ผูกพันภายในเดือนพฤษภาคม 2558 และต้องเบิกจ่ายให้ทันในปีงบประมาณ 2558 ทั้งนี้ การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวไม่ควรเป็นการโอนไปเป็นค่าใช้จ่ายในการจัดซื้อยานพาหนะ, การจ้างบุคลากรที่จะก่อภาระผูกพันในอนาคต และค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปราชการต่างประเทศ ยกเว้นกรณีเดินทางไปปฏิบัติหน้าที่ตามสนธิสัญญาหรือหน้าที่มีข้อผูกพันทางกฎหมาย
ส่วนงบประมาณรายจ่ายส่วนงบกลาง ที่ได้นำไปดำเนินการเสร็จแล้วเหลือจ่าย ต้องส่งคืนสำนักงบประมาณ แต่หากมีความจำเป็นเร่งด่วนในรายการอื่น ให้เสนอรัฐมนตรีที่รับผิดชอบพิจารณาเห็นชอบ นอกจากนี้ ผลการเบิกจ่ายทั้งหมดจะถูกนำไปใช้ประกอบการจัดทำงบประมาณในปีถัดไป รวมทั้งการประเมินผลงานการเบิกจ่ายตามเป้าหมายอย่างมีประสิทธิภาพของส่วนราชการต่างๆ ด้วย
“หลักเกณฑ์ในการจัดสรรงบประมาณในปีถัดไป เราต้องดูขีดความสามารถในการเบิกจ่ายว่าทำได้ดีแค่ไหน ถ้าไม่สูงคงต้องจัดสรรงบให้สอดคล้องกับการเบิกจ่ายของปีนั้นๆ ด้วย ไม่เช่นนั้นการตั้งงบประมาณจะไม่มีประสิทธิภาพในการเบิกจ่าย” นายสมศักดิ์กล่าว
นายสมศักดิ์กล่าวอีกว่า มาตรการดังกล่าวต้องได้รับความร่วมมือจากส่วนราชการด้วย ซึ่งคาดว่าจะได้รับความร่วมมือตามแผนปฏิบัติการเดิมของแต่ละกระทรวง แต่ต้องยอมรับว่าบางครั้งจะเป็นการแก้ปัญหาอุปสรรคมากกว่าปรับแผนใหม่
“ที่ผ่านมาไม่เคยได้ตามเป้าหมาย แต่ถ้าปีนี้รัฐมนตรีเจ้ากระทรวง และส่วนอื่นๆ ช่วยกัน ก็สามารถเป็นไปตามแผนได้ ตามมติวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2558 การเบิกจ่ายจะเป็นตัวชี้วัดหนึ่งของหัวหน้าส่วนราชการด้วย ครม. มีมติไว้แบบนั้น” นายสมศักดิ์กล่าว
ทั้งนี้ ผลการเบิกจากงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2558 วงเงิน 2.575 ล้านล้านบาท ณ 13 กุมภาพันธ์ 2558 เบิกจ่ายแล้ว 1.0197 ล้านล้านบาท คิดเป็น 39.6% แบ่งเป็นงบรายจ่ายประจำ 951,857 ล้านบาท คิดเป็น 44.8% ของงบประมาณรายจ่ายทั้งหมด ทำให้ปัจจุบันงบรายจ่ายประจำเกินเป้า 0.81% และคาดว่าจะเบิกจ่ายได้ตามเป้าหมาย ส่วนงบลงทุนเบิกจ่ายได้เพียง 67,593 ล้านบาท คิดเป็น 15% ของงบลงทุนทั้งหมด เทียบกับเป้าหมายของการเบิกจ่ายงบรายจ่ายประจำที่ 43.99% และงบลงทุนที่ 41.8% ทำให้งบลงทุนหลุดเป้าหมายไป 120,000 ล้านบาท โดยทั้งปีมีเป้าหมายเบิกจ่ายงบลงทุนทั้งสิ้น 87%
ขณะที่ 9 หน่วยงานที่มีงบลงทุนสูงสุดประกอบด้วย 1) สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข 2) กรมโยธาธิการและผังเมือง 3) กรมทางหลวง 4) สำนักงานตำรวจแห่งชาติ 5) กรมชลประทาน 6) กรมทรัพยากรน้ำ 7) กรมทางหลวงชนบท 8) สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน และ 9) กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น มีวงเงินลงทุนรวม 244,652 ล้านบาท เบิกจ่ายแล้ว 12.73% ณ วันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2558 ขณะที่หลังการปรับแผนจะเบิกจ่ายเพิ่ม 170,922.51 ล้านบาท คิดเป็น 69.86% ของงบลงทุน รวมทั้งปีจะเบิกจ่ายได้ 202,059 ล้านบาท คิดเป็น 82.59%
ไฟเขียวเพิ่มงบกองทุนมูลภัณฑ์กันชน 6,000 ล้านบาท พร้อมขยายเวลาชำระหนี้คืน ธ.ก.ส.
นายปีติพงศ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ครม. อนุมัติขยายเวลาชำระคืนเงินกู้โครงการสร้างมูลภัณฑ์กันชนขององค์การสวนยาง (อ.ส.ย.) โดยให้กระทรวงการคลังขยายระยะเวลาค้ำประกัน พร้อมชดเชยดอกเบี้ยเงินกู้ที่อัตรา FDR+1 และอนุมัติวงเงินเพิ่มเติมจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) วงเงิน 6,000 ล้านบาท เพื่อนำไปซื้อยางแผ่นดิบและยางแผ่นดิบรมควันเข้ากองทุนมูลภัณฑ์กันชน (บัฟเฟอร์ฟันด์) วงเงิน 4,000 ล้านบาท โดย อ.ส.ย. เป็นผู้รับซื้อจนกว่าจะปิดกรีดยาง ส่วนวงเงินอีก 2,000 ล้านบาท จะนำไปซื้อน้ำยางสดและยางก้อนถ้วยจากเกษตรกรเพื่อพยุงราคาให้สูงขึ้น โดยราคาเป้าหมายสำหรับฤดูเปิดกรีดหน้าหรืออีกประมาณ 3 เดือน สำหรับยางแผ่นดิบเป้าหมายอยู่ที่ 60 บาท/กก. ยางแผ่นรมควันอยู่ที่ 65 บาท/กก. และน้ำยางดิบอยู่ที่ 50 บาท/กก. ซึ่งในรายละเอียดและวิธีดำเนินการจะนำเข้าหารือกับคณะกรรมการนโยบายยางธรรมชาติ (กนย.) ในวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2558 ต่อไป
นายอำนวย ปะติเส รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรฯ กล่าวว่า ครม. อนุมัติวาระ 3 เรื่องตามที่กระทรวงเกษตรฯ ขอ คือ 1) การยืดอายุโครงการรักษาเสถียรภาพราคายาง ที่เป็นโครงการของรัฐบาลซึ่งซื้อยางมาเก็บไว้ 2.1 แสนล้านบาท เพื่อให้มีเวลาในการบริหารจัดยางยางในสต็อกรัฐบาลก่อนที่จะปิดบัญชีและระบายยางออก 2) อนุมัติวงเงิน 4,000 ล้านบาทให้กองทุนมูลภัณฑ์กันชนซื้อยางแผ่นและยางแผ่นรมควันเข้าสต็อก อ.ส.ย. เพื่อแปรรูปและระบายขายยางออกในเวลาที่เหมาะสม โครงการมูลภัณฑ์กันชนนี้ เดิมได้เบิกงบประมาณมาแล้ว 6,000 ล้านบาท และครั้งนี้เพิ่มอีก 4,000 ล้านบาท ทั้งนี้คาดว่า เมื่อถึงฤดูปิดกรีดยางในวันที่ 28 กุมภาพันธ์นี้น่าจะได้ยางปริมาณ 2.3-2.5 แสนตัน และ 3) ครม. ยังให้นำเงินอีก 2,000 ล้านบาทเพื่อเข้าซื้อน้ำยางสดและยางก้อนถ้วย เพื่อดึงราคายางให้สูงขึ้น แก้ปัญหาในส่วนของเกษตรกรที่ไม่มีศักยภาพที่จะแปรรูปน้ำยางสด มาเป็นยางแผ่นรมควัน เพราะขณะนี้ชาวสวนยางมีปัญหาขายน้ำยางได้ต่ำกว่าราคา 40 บาทต่อกิโลกรัม
ทั้งนี้ หลังจากฤดูปิดกรีดยาง กระทรวงเกษตรฯ จะมีเวลาประมาณ 2 เดือนครึ่ง ซึ่งจะเป็นฤดูผลัดใบที่จะไม่กรีดยาง รัฐบาลจะหารือและทำความเข้าใจกับชาวสวนและทบทวนมาตรการต่างๆ ที่ทำไปว่าเกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผลมากน้อยเพียงใด เพื่อปรับปรุงมาตรการต่างๆ ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น
ส่วนเรื่องที่มีการร้องเรียนเรื่องนายทุนรายใหญ่มาฉวยโอกาสรับเงินหรือเข้าร่วมโครงการยางพาราของรัฐบาลแทนที่ชาวสวนจะได้ประโยชน์ กระทรวงเกษตรฯ ได้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาเพื่อลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงและขอความร่วมมือกับทหารเพื่อร่วมทำงานลงพื้นที่กับเจ้าหน้าที่ของกระทรวงเกษตรฯ เพื่อหาข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น
ปรับลดวงเงินแผนจัดการน้ำ 900 ล้านบาท
ครม.เห็นชอบปรับแผนบริหารจัดการน้ำบางส่วนในส่วนวงเงินงบกลาง จำนวน 1,633 โครงการ มูลค่า 8,700 ล้านบาท โดยปรับเพิ่มเป็น 1,712 โครงการ มูลค่า 7,800 ล้านบาท ทำให้งบประมาณลดลง 900 ล้านบาท ขณะที่ส่วนงบกลางที่เหลืออยู่ 8,200 ล้านบาท จะปรึกษากับส่วนที่เกี่ยวข้องก่อนทำรายละเอียดเสนอครม.ต่อไป
ทั้งนี้ เดิม ครม. ได้อนุมัติเห็นชอบโครงการบริหารจัดการน้ำ ประมาณ 1 แสนล้านบาท จัดสรรงบประมาณแล้วประมาณ 60,000 ล้านบาท ต้องหาเงินเพิ่มประมาณ 50,000 ล้านบาท แบ่งเป็นเงินกู้ 30,000 ล้านบาท และงบกลาง 16,000 ล้านบาท
“จำนวนโครงการเพิ่มขึ้น แต่มีการทำรายละเอียดแต่ละโครงการ เพื่อให้การใช้งบประมาณและการตรวจสอบเป็นไปด้วยความสะดวก แต่ขณะเดียวกัน งบประมาณลดลง” พล.ต. สรรเสริญกล่าว
ตั้ง “คณะกรรมการเตรียมการดิจิทัล” ลุยงาน หลัง พ.ร.บ.ดิจิทัลผ่าน สนช.
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบในหลักการร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยคณะกรรมการเตรียมการด้านดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม พ.ศ. …. โดยกำหนดให้มีคณะกรรมการ เรียกว่า “คณะกรรมการเตรียมการด้านดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม” มีอำนาจหน้าที่ ได้แก่ การจัดทำนโยบายและแผนระดับชาติ การให้ข้อเสนอแนะต่อคณะรัฐมนตรีเกี่ยวกับนโยบายและแผนระดับชาติ การติดตาม ตรวจสอบ และประเมินผลการดำเนินงานของหน่วยงานของรัฐ รวมทั้งประสานความร่วมมือกับคณะกรรมการระดับชาติชุดต่างๆ ที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายอื่น ให้ข้อเสนอแนะต่อคณะรัฐมนตรีในการปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม การเสนอแนะต่อคณะรัฐมนตรีในการบูรณาการการกำหนดนโยบายและทิศทางด้านการเงินการคลัง การลงทุนฯ ตลอดจนบูรณาการการพิจารณาอนุมัติโครงการที่เป็นการร่วมลงทุนระหว่างหน่วยงานของรัฐและเอกชนในกิจการของรัฐที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม
ทั้งนี้ จุดประสงค์ของการจัดตั้งคณะกรรมการ สืบเนื่องจากการรอร่างกฎหมาย 10 ฉบับที่ ครม. อนุมัติก่อนหน้า ซึ่งเป็นกฎหมายในระดับพระราชบัญญัติ จะต้องมีการดำเนินการตามกระบวนการยาวนาน รวมไปถึงกฎหมายบางฉบับยังมีประเด็นอ่อนไหวต่อสาธารณชนบางกลุ่ม ซึ่งต้องจำเป็นสร้างการรับรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับการใช้อำนาจหน้าที่ในการกำกับดูแลของหน่วยงานภาครัฐ โดยให้ประชาชนมีส่วนร่วม
ดังนั้น เพื่อให้ดำเนินงานตามนโยบายที่รัฐบาลได้แถลงต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติเมื่อวันที่ 12 กันยายน 2557 ที่มีจุดมุ่งหมายสำคัญในการเพิ่มศักยภาพทางเศรษฐกิจของประเทศ โดยการผลักดันนโยบายการส่งเสริมภาคเศรษฐกิจดิจิทัล จึงจำเป็นต้องจัดให้มีคณะกรรมการระดับชาติขึ้นคณะหนึ่ง เพื่อดำเนินการขับเคลื่อนงานในเชิงนโยบายที่จะส่งเสริมภาคเศรษฐกิจ
เห็นชอบขึ้นทะเบียน “ซิมเติมเงิน” และ “ผู้ใช้ free Wi-Fi” ภายใน 6 เดือน
ครม. มีมติเห็นชอบตามที่สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เสนอ ดังนี้
1. ให้ประชาชนผู้ใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ระบบเติมเงินทุกคนที่ยังไม่ได้ลงทะเบียนให้ลงทะเบียนให้เสร็จสิ้นภายใน 6 เดือน นับตั้งแต่คณะรัฐมนตรีมีมติให้ความเห็นชอบและให้สำนักงาน กสทช. ติดตามและประเมินผล หากไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนด ให้สำนักงาน กสทช. เสนอมาตรการการบังคับการทางกฎหมายที่เหมาะสมต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาต่อไป
2. ให้ประชาชนลงทะเบียนแสดงตัวตนในการใช้งานอินเทอร์เน็ตแบบ free Wi-Fi และให้ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต รวมทั้งผู้จัดให้มีบริการอินเทอร์เน็ตแบบ free Wi-Fi สนับสนุนการลงทะเบียนผู้ใช้บริการดังกล่าว
ทั้งนี้ ให้สำนักงาน กสทช. เป็นหน่วยงานหลักผู้รับผิดชอบในการดำเนินงาน โดยให้ส่วนราชการ หน่วยงานของรัฐ และภาคเอกชน ให้การสนับสนุนตามที่สำนักงาน กสทช. ร้องขอ โดยการดำเนินงานในส่วนของสำนักงาน กสทช. นั้นจะดำเนินการภายใต้กรอบงบประมาณของสำนักงาน กสทช. แล้วนำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อทราบต่อไป
ตั้งครม.เศรษฐกิจ
แต่งตั้งคณะกรรมการรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจที่ได้ลงนามแต่งตั้งไปเมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2558 และได้เริ่มประชุมไปเมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2558 ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานกรรมการ รองประธานประกอบด้วย พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และหม่อมราชวงศ์ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรี
กรรมการประกอบด้วย นายสมหมาย ภาษี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง, พล.อ. ประจิน จั่นตอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม, พล.อ. ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์, นายณรงค์ชัย อัครเศรณี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน, นายปีติพงศ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์การเกษตร, นายจักรมล ผาสุกวนิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม, พล.อ. อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย, นางกอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา, พล.อ. อนันตพร กาญจนรัตน์ ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี,ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ, เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา โดยมีเลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กับเลขาธิการคณะรัฐมนตรี เป็นเลขนุการร่วม
สำหรับอำนาจหน้าที่ ให้พิจารณาประเมินและวิเคราะห์สถานการณ์ ปัญหาที่มีความจำเป็นเร่งด่วน หรือมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจในภาพรวม ทั้งด้านการเงิน การคลัง การลงทุน การผลิต การนำเข้าและส่งออก การท่องเที่ยวและโครงสร้งพื้นฐาน และให้ข้อเสนอแนะมาตรการและแนวทางในการตัดสินใจเชิงรุกแก่ ครม. พร้อมทังให้เสนอแนวทางในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ของแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติและนโยบายของรัฐบาลให้เกิดขึ้นเป็นรูปธรรมเพื่อเสนอต่อ ครม.
ลดภาษีวัตถุดิบ อุ้มผู้ประกอบการ
คณะรัฐมนตรีรับทราบตามที่นายกรัฐมนตรีสั่งการ ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาการลดอัตราภาษีวัตถุดิบต่างๆ เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการรายย่อยลดต้นทุนในการนำวัตถุดิบมาใช้ผลิตสินค้าต่างๆ รวมถึงสินค้าแบรนด์เนม เครื่องสำอาง และเครื่องประดับ เพื่อสนับสนุนผู้ผลิตของไทยให้มีผลกำไรและรายได้เพิ่มมากขึ้น
รวมไปถึงได้ฝากไปในเรื่องสนับสนุนปัจจัยการผลิต ไม่ว่าจะเป็น เครื่องมือการผลิตทางการเกษตร รถไถ รถหว่าน เป็นต้น และยังได้ฝากไปพิจารณาในส่วนของทหารด้วย โดยเฉพาะทหารช่างที่ให้การช่วยเหลือประชาชนในหลายพื้นที่ อุปการณ์ของฝ่ายทหารช่างอาจมีการชำรุดทรุดโทรม ก็ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปพิจารณาในเรื่องของการปรับปรุงแก้ไข และหากมีงบประมาณที่จำเป็นที่จะต้องใช้จ่ายในเรื่องนี้ก็ขอให้นำเสนอขึ้นมาต่อไป
ฝากไปถึงการส่งเสริมการทำปุ๋ยหมักให้แก่สหกรณ์การเกษตร เพื่อส่งเสริมงานของสหกรณ์ รวมถึงการสนับสนุนเมล็ดพันธุ์พืชที่มีคุณภาพ อีกทั้งยังฝากถึงศูนย์เกษตรกร ทางด้านเครื่องมือการเกษตรกว่า 800 ศูนย์ทั่วประเทศ ในการผลิตวิทยากรและปราชญ์ชาวบ้านเพื่อส่งเสริมการถ่ายทอดความรู้ให้แก่เกษตรกร
ให้การบ้านท่องเที่ยว–วัฒนธรรม รณรงค์ “ห้องน้ำสะอาด”
นายกรัฐมนตรีได้สั่งการไปยังกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และกระทรวงวัฒนธรรม ให้ดูแลเรื่องความสะอาดของพื้นที่ที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวต่างๆ โดยเฉพาะ “ห้องน้ำ” และ “ขยะมูลฝอย” รวมถึงในบางแหล่งท่องเที่ยวสำคัญที่มีความแออัดมาก โดยให้หามาตรการในการลดความแออัด
สำหรับเรื่องการส่งเสริมการส่งออกผลผลิตทางวัฒนธรรม โดยหมายถึงเรื่องของดนตรีและภาพยนตร์ไทย ให้ทั้ง 2 กระทรวงเชิญผู้ประกอบการเอกชนที่ผลิตผลงานต่างๆ เหล่านี้มาหารือเพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาและสร้างความยั่งยืนในเรื่องนี้ โดยเฉพาะการส่งออกผลงานของไทยสู่ตลาดต่างประเทศ
จูงใจนักลงทุน เข้าร่วมเขตเศรษฐกิจพิเศษ – สั่งกระทรวงทรัพย์ฯ เรียกคืน “ที่ดิน” จากนายทุน
เรื่องของเศรษฐกิจพิเศษ ได้ฝากให้ฝ่ายที่เกี่ยวข้องสร้างแรงจูงใจให้ผู้ประกอบการเข้าไปลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษตามแนวชายแดน รวมไปถึงพื้นที่อื่นๆ ที่เป็นพื้นที่เชื่อมโยงกับเขตเศรษฐกิจพิเศษ รัฐบาลก็ยินดีให้การสนับสนุนแก่นักลงทุนเช่นกัน
นายกรัฐมนตรีได้สั่งการถึงเรื่องการจัดสรรที่ดินให้แก่ประชาชนที่ไม่มีที่ดินทำกิน ว่าในอดีตมีวิธีการหลายประการ ไม่ว่าจะเป็นการจัดสรรที่ดิน ส.ป.ก. แต่ในระยะหลังที่ดิน ส.ป.ก. ถูกเปลี่ยนมือไปสู่นายทุนเป็นส่วนใหญ่ จึงได้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยมีกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเป็นหลัก ดำเนินการเรียกคืนที่ดินกลับมา อาจจะมีการฟ้องร้อง แล้วนำมาจัดสรรใหม่ให้เหมาะสมและไม่ให้มีการเปลี่ยนมืออีก
ในขณะเดียวกัน ส่วนที่ถูกบุกรุกต้องมีการจัดระเบียบว่าพื้นที่ใดจะฟื้นฟูกลับมาเป็นป่าได้ พื้นที่ใดที่เสื่อมโทรมจนฟื้นฟูไม่ได้ ต้องจัดระเบียบใหม่ตามความเหมาะสม นอกเหนือจากนี้ พื้นที่ป่าต้นน้ำต้องรีบอพยพประชาชนที่บุกรุกในพื้นที่ออกมา มีการจัดสรรที่ให้อยู่ชั่วคราว และเร่งจัดสรรที่ทำกินต่อไป
นอกจากนี้ จะต้องจัดการเจ้าหน้าที่ราชการบางคนที่มีการให้ข้อมูลที่ผิด จนนำไปสู่การบุกรุกที่ผิดกฎหมายของประชาชน ขณะเดียวกัน ได้มีการเน้นย้ำถึงการจัดสรรพื้นที่ป่าว่าจะสามารถกำหนดพื้นที่ป่าสงวนอย่างไร เพื่อป้องกันการบุกรุก ขณะเดียวกันจะต้องกำหนดพื้นที่ป่าเศรษฐกิจที่ให้ประชาชนเข้ามาใช้ประโยชน์ได้ด้วยเช่นกัน
รับสนอง พระดำรัสสมเด็จพระเทพฯ ดูแล “คนชายขอบ”
นายกรัฐมนตรีได้กล่าวถึงการเดินทางไปร่วมงานเฉลิมพระชนมพรรษาครบ 5 รอบ ของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ที่ จ.น่าน ภายหลังเสร็จสิ้นภารกิจที่ จ.เชียงใหม่ ซึ่งสมเด็จพระเทพฯ ทรงตรัสว่า การดำเนินงานของรัฐบาลปัจจุบันในการช่วยเหลือผู้ยากไร้ทำได้ดีแล้ว แต่ยังเหลือกลุ่มคนชายขอบที่ยังไม่ได้รับโอกาสในการพัฒนา จึงอยากให้รัฐบาลหามาตรการในการดูแลส่งเสริมอาชีพและการศึกษาให้กับกลุ่มคนเหล่านี้ ให้สอดรับกับนโยบายเขตเศรษฐกิจพิเศษการค้าชายแดน และลดอัตราการพึ่งพาแรงงานต่างชาติ