ThaiPublica > Sustainability > Contributor > การปฏิรูปประเทศที่เรากำลังจะได้สัมผัสจากรากจนถึงใบ : ตอนที่ 3

การปฏิรูปประเทศที่เรากำลังจะได้สัมผัสจากรากจนถึงใบ : ตอนที่ 3

9 สิงหาคม 2020


วีระศักดิ์ โควสุรัตน์ รองประธานกรรมาธิการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของวุฒิสภา

ป่าเขาใหญ่ใกล้ทางเชื่อมไปอุทยานทับลาน

ต่อจากตอนที่ 2

กรณีตัวอย่างที่อุทยานแห่งชาติทับลานกับกฎหมายอุทยานฉบับใหม่ 2562

อุทยานแห่งชาติทับลาน เป็นอุทยานไซส์ใหญ่อันดับสองของประเทศ มีขนาดพื้นที่เป็นรองแค่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานเท่านั้น ใหญ่กว่าอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่แถมเชื่อมติดกับอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ นับเป็นส่วนหนึ่งของพื้นที่มรดกโลกป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ที่ยูเนสโกรับรองไปตั้งนานแล้วด้วย

ด้วยความที่อุทยานนี้ใกล้แนวชายแดนจึงมีที่มาที่ไปย้อนไปถึงยุคสงครามรบพุ่งในกัมพูชา และยังมีประวัติเชื่อมเกี่ยวกับกลุ่มจับอาวุธของพลพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยด้วย

เกร็ดลึกบางตอนของเรื่องนี้ต้องฟังเอาจากพลเอก สนั่น มะเริงสิทธิ์ อดีตราชองครักษ์พิเศษที่ตามเสด็จในหลวง ร.9 นานถึง 30 ปี!! และเคยเป็นแม่ทัพภาคที่สอง

ที่นี่จึงมี…ราก!!…ที่ยาวกว่าเรื่องนิเวศของพืชและสัตว์ป่า
ทุกอุทยานในไทยเผชิญปัญหาพิพาทกับชาวบ้านหลายๆ แบบ
พื้นที่กว้างใหญ่ เจ้าหน้าที่มีน้อย
อุทยานทับลานมีความท้าทายในการรักษาครบทุกแบบ…เจอทุกอย่าง

ปัญหาขัดแย้งระหว่างอุดมการณ์ การรุกรานของกำลังติดอาวุธ ความขัดแย้งระหว่างหน่วยงานในไทย ความขัดแย้งระหว่างชาวบ้านที่ชายป่ากับเจ้าหน้าที่รัฐ…จึงสะสมมาพูนไว้ได้กองใหญ่…นานกว่าสามสี่สิบปี

เรื่องนี้โทษเจ้าหน้าที่ป่าไม่ได้ เพราะเจ้าหน้าที่ไม่เคยได้เป็นคนออกกฎหมายและไม่ได้เป็นคนขีดเส้นในแผนที่ท้ายกฎหมาย

ก่อนสิ้นเดือนมิถุนายน 2563 ที่ผ่านมา หัวหน้าอุทยานทับลาน ร่วมทีมกับเจ้าหน้าที่หลายๆ ฝ่าย มารายงานต่อคณะอนุกรรมาธิการทรัพยากรธรรมชาติทางบก ที่พลเอก จีระศักดิ์ ชมประสพ เป็นประธาน ว่า คณะเจ้าหน้าที่ได้สำรวจการครอบครองที่ดิน ตามพื้นที่ชายขอบในเขตอุทยานแห่งชาติทับลาน ไปแล้ว 86.71%

พบว่ามีราษฎรแจ้งการครอบครอง 15,540 ราย 23,846 แปลง

เหลืออีก 35,074ไร่ ที่ยังไม่ยอมแจ้งการครอบครอง คิดเป็น 13.29%

โดยในนี้จำแนกคร่าวๆ ได้ว่ามีที่ดินที่ราษฎรยังไม่ยอมเข้าร่วมแจ้งการครอบครอง นอกนั้นก็มีที่ดินที่อ้างเป็นที่ราชพัสดุ ที่ดินที่อ้างการเป็น ส.ป.ก. ที่ดินที่อ้างว่ามีเอกสารสิทธิ ที่ดินซ้อนทับกับเขตของกรมป่าไม้ ที่ดินที่อ้างว่าเป็นสวนป่า รวมทั้งที่ดินที่มีการจับกุมดำเนินคดีอยู่เดิม ฯลฯ

เรียกว่า…นุงนังมานาน …
ถ้าว่าตามตัวบทกฎหมายเดิม ก็คงต้องมีคดีจับกุม มีคดีแจ้งเอาผิดกันไปเรื่อยๆ อีกราวสามหมื่นคดี!!
นี่อุทยานเดียวนะครับ
ลองคิดดูว่าจะมีกี่แสนกี่ล้านคดีที่หากท่องตัวหนังสือเดิมลุยดะไปในอุทยานแห่งชาติที่เหลืออีก 130 แห่ง
จะมีกี่ล้านครอบครัวที่ต้องระทมใจไปตลอดกระบวนการทางคดี

คำว่าครอบครัวระทมนั้น ผมยังไม่นับรวมครอบครัวเจ้าหน้าที่ ที่ต้องระแวงระวังความโกรธเคืองคับแค้น จากผู้ถูกดำเนินคดีด้วยซ้ำ

นี่คือสภาพจิตของคนไทยนับแสนนับล้าน ที่ไม่รู้จะหาทางออกกันยังไงมาครึ่งศตวรรษ

แต่วันนี้ ปัญหาพิพาทที่คากันมาจะได้เข้าสู่กระบวนการสะสางแบบอ้างอิงกฎหมาย “คนอยู่กับป่า” ได้จริงๆ จังๆ เสียที

นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

21 กรกฎาคม 2563 ที่ผ่านมา เป็นวันที่อุทยาน “ทุกแห่ง” ของไทย จะต้องทำการสำรวจการถือครองที่อยู่ที่ทำกินของราษฎรในเขตพื้นที่อุทยานแห่งชาติ “ทุกแห่ง” ให้แล้วเสร็จ…ตามความในมาตรา 64 อันเป็นบทเฉพาะกาลของ พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ 2562

ผลคือ กรมอุทยานจะสามารถเสนอข้อมูลนี้ให้คณะกรรมการอุทยานตามกฎหมายนี้ ซึ่งรัฐมนตรีวราวุธ ศิลปอาชา เป็นประธานโดยตำแหน่งให้ทราบ…

และจะสามารถจัดทำโครงการเกี่ยวกับการอนุรักษ์และดูแลทรัพยากรธรรมชาติในเขตอุทยาน ให้ผู้ที่เคยถูกตราว่าเป็นผู้รุกป่าแต่มีคุณสมบัติว่าไม่ได้เข้ามารุกก่อน พ.ศ. 2557 สามารถเข้าร่วมโครงการที่ได้สำรวจไว้หนนี้เพื่ออยู่ป่าต่อไปได้ อย่างชอบด้วยกฎหมายเป็นครั้งแรกในชีวิต!!

โดย “มิได้สิทธิในที่ดินนั้น”

ขีดเส้นใต้คำนี้ได้หลายๆ เส้น เพราะนี่คือคำในมาตรา 64

โดยกฎหมายใหม่นี้ให้คณะกรรมการอุทยานแห่งชาติกำหนดหลักเกณฑ์พิจารณาและคุณสมบัติของผู้จะอยู่ภายใต้โครงการ

รวมทั้งจะกำหนดหน้าที่ผู้อยู่อาศัย ในการอนุรักษ์ดูแลระบบนิเวศและความหลากหลายทางชีวภาพในเขตพื้นที่ ตลอดจนกำหนดเงื่อนไขว่าคนที่อยู่ในเขตนี้ จะอยู่ได้คราวละเท่าไหร่

กฎหมายระบุไว้ว่ายังไงก็จะอนุญาตได้ไม่เกิน 20 ปีในแต่ละคราว

ใช่ครับ ยังมีอะไรท้าทายในการจัดการต่ออีกมาก กว่าจะจบลงให้งดงามได้
คงไม่หมายความว่าจะไม่มีคดีอะไรเหลือกันแล้ว แต่คงเบาบางลงไปแยะแน่
เป็นก้าวย่างสำคัญยิ่งสำหรับทุกฝ่าย ที่ไม่ต้องถูกบังคับให้ประจัญบานกันเป็นหมื่นเป็นแสนคดี
เพียงเพราะ กฎหมายอุทยาน 2504 ไม่เคยเชื่อเด็ดขาด เรื่อง คนอยู่กับป่าได้

มาตรา 63 ในบทเฉพาะกาลของ พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ 2562 ซึ่งทำให้เป็นข้อบ่งชี้อีกเรื่องว่า การยึดอำนาจมาเมื่อปี 2557 นั้น “ไม่เสียของ” บอกต่อไปว่า คณะกรรมการอุทยานแห่งชาติ สามารถเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อให้ออก พระราชกฤษฎีกาอนุญาตให้ “คนอยู่กับป่า” ได้

เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์กฎหมายไทย!!

ทำไมคำในมาตรา64 ของบทเฉพาะกาลของ พ.ร.บ. ฉบับนี้จึงสามารถผุดเข้ามาเป็นกฎหมายได้ ทั้งที่ก่อนหน้านี้ การอาศัยอยู่ในอุทยาน ไม่มีทางต่อรองทางกฎหมายได้เลย

รัฐบาลแต่ละยุคใน 50 ปีที่ผ่านๆ มา แม้อยากลดความขัดแย้ง แต่ทำได้อย่างมากแค่ “หรี่ตา” จะอ้างกฎหมายอะไรก็ไม่ได้ เพราะไม่มีช่องในกฎหมายอุทยานให้เจรจาเลย

แต่บทเฉพาะกาลนี้ถูกบรรจุใน พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ 2562 ได้เพราะบรรยากาศและเป้าหมาย “การปฏิรูปประเทศ”

ดร.วีระศักดิ์ โควสุรัตน์ กับการพูดคุย “คนอยู่กับป่า” ที่ห้วยปลาหลด จังหวัดตาก

ที่เริ่มทำกันจริงจังในภาวะพิเศษเมื่อ 5 ปีที่ผ่านมา…

ผมเคยช่วยงานคณะกรรมการค้นหาความจริงเพื่อการปรองดอง (คอป.) สมัยศาสตราจารย์ ดร.คณิต ณ นคร เป็นประธาน ในช่วงที่กีฬาการเมืองสีรุนแรงสูงสุด

เคยติดตามงานเอกสารตำราย้อนไปสมัย ศาสตราจารย์ ดร. ม.ร.ว.อคิน รพีพัฒน์ และศาสตราจารย์ ดร.เสน่ห์ จามริก ทำงานวิจัยท้องถิ่นพัฒนาก็เคยเห็นเรื่องข้อพิพาท ข้อเสนอลดความเหลื่อมล้ำแก้ความยากจน คนอยู่กับป่า มานานแล้ว แต่ก็ติดที่ตัวกฎหมายนี่แหละ

ที่ผ่านมา 50ปี ยังไม่มีฝ่ายนโยบายการเมืองยุคไหนแกะและแก้ไขอะไรในกฎหมายนี้ได้ แม้เจ้านายท่านจะทรงเคยพระราชทานพระราชดำรัส พระราชกระแสรับสั่งเรื่องคนอยู่กับป่าหลายต่อหลายหน และพระราชทานจากหลายๆ พระองค์

ในช่วงปี 2560-62 รัฐาบลพลเอก ประยุทธ์ โดยพลเอก สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ เสนอร่างพระราชบัญญัติราว 13 ฉบับ เป็นพวงใหญ่ ด้วยเชื่อเรื่องคนอยู่กับป่านี้เข้าสู่สภานิติบัญญัติเพื่อตราเป็นกฎหมาย 13 ฉบับ

ถ้าไม่นับว่านี่เป็นการปฏิรูป ก็คงไม่แฟร์ล่ะครับ

ในชั้นกรรมาธิการของ สนช. พลเอก จีระศักดิ์ ชมประสพ อดีตแม่ทัพภาค 2 ซึ่งรู้เรื่องชาวเผ่าปกาเกอะญอ 7 หมู่บ้านว่ารักษาและอยู่กับป่าได้ดี ได้รับการวางตัวมาช่วยคัดท้ายรับไม้ต่อ เป็นประธานกรรมาธิการให้หลายฉบับจนร่างกฎหมายทั้งหมดผ่านออกมาแบบไม่ให้เพี้ยนไปจากเจตนาตั้งต้น

ในที่ประชุมคณะรัฐมนตรีปลายปี 2561 พลเอก สุรศักดิ์ รัฐมนตรีทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม อธิบายเรื่องคนอยู่กับป่า และอุปมาข้อกฎหมายและมติ ครม. เก่าที่จำแนกคนในเขตป่า ว่า ไทยต้องมีรถไฟอีก 5 ขบวน เพื่อนำพื้นที่ปัญหาเหล่านี้ออกมาดำเนินวิธีทางนิติบัญญัติต่างวิธีกันไป

เป็นที่มาของมติ ครม. 26 พฤศจิกายน 2561 จำแนกวิธีจัดการเรื่อง คนในพื้นที่ป่า 5 แบบ ตั้งแต่พื้นที่ป่าสงวนในชั้นคุณภาพลุ่มที่ 1-5 พื้นที่ในเขตป่าอนุรักษ์ พื้นที่อุทยาน พื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ไปจนแม้แต่พื้นที่ป่าชายเลน

นับว่าครอบคลุมปัญหาการทำนโยบายที่ดินแห่งชาติมากที่สุดเท่าที่เคยมีมา

สมาชิก สนช. ในช่วงดังกล่าวก็สนับสนุนหลักการของชุดกฎหมายกันอย่างเข้าใจ

แล้วนามบุคคลที่ผมเอ่ยมาทั้งหมดข้างต้นในตอนที่ 3 นี้ รวมทั้งผมเอง ก็จึงได้โคจรมาพบกันใหม่ในฐานะสมาชิกกรรมาธิการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม วุฒิสภา ในปัจจุบัน โดยมีพลเอก สุรศักดิ์ กาญจรัตน์ เป็นประธาน

สำหรับผมนั้น นับว่าโชคดีมากที่ได้เห็นความพยายามของแนวคิดคนอยู่กับป่ามาตั้งแต่ยุคที่ยังทำงานที่บ้านพิษณุโลกสมัยพลเอก ชาติชาย ชุณหะวัณ เรื่อยมาจนถึงสมัยรัฐบาลนายกฯ บรรหาร ศิลปอาชา ซึ่งเป็น ครม. แรกที่มีมติเห็นชอบหลักการป่าชุมชน (โดยผมในฐานะรองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีเป็นผู้ลงนามเสนอนายกฯ บรรหารนำเรื่องเข้า ครม. ตามงานศึกษาของศาสตราจารย์ ดร.บวรศักดิ์ อุวรรณโณ ในเวลานั้น)

แล้วเมล็ดพันธุ์เรื่องคนอยู่กับป่าก็ถูกบ่มเพาะรอวันลงดินได้ ในยุค ปยป. (ปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความสามัคคีปรองดอง) จนงอกเป็นต้นไม้ใหญ่ที่มีกิ่งก้าน แข็งแรง มีกฎหมายระดับพระราชบัญญัติค้ำยันมั่นคง

พื้นที่คนอยู่กับป่า ที่ห้วยปลาหลด จ.ตาก

และต้นไม้ใหญ่นี้กำลัง “ระบัดใบ”

อยากชวนคนไทยเรามาร่วมกันติดตาม “พาหนะ” แห่งการปฏิรูปต่างๆ

มาช่วยกันติดตามเร่ง “ดอก” เพื่อออกอนุบัญญัติ ตามกฎหมายแม่บทให้ทำงานในสนามได้จริงๆ

และร่วมกับวุฒิสภา เสนอแนะวิธีประเมินการปฏิรูปประเทศให้เกิดเป็น “ผล” ได้อีกหลายๆ เรื่อง

คนอยู่กับป่าได้…ถ้ายอมเข้าใจและเคารพข้อจำกัดของกันและกัน
ชาวบ้านที่อยู่กับป่าอย่างผูกพัน จะเป็น “รั้วคุ้มครองป่า”
ชุมชนจะเป็นไกด์ผู้นำทางพวกเรา ให้ได้เที่ยวเดินป่าอย่างรู้รักและรับผิดชอบ
“ไม้มีค่า ป่าชุมชน คนอยู่กับป่า” เป็นหนังยาวที่น่าติดตามอีกหนึ่งซีรีส์ยาวๆ ไป

สอดรับกับที่สหประชาชาติแนะนำหลักความสัมพันธ์เพื่อมุ่งความยั่งยืนไว้ 5P คือ partnership-people-planet-peace-prosperity

ขอบคุณที่ติดตามอ่านงานเขียนซีรีส์สามตอนจบในครั้งนี้ครับ