ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > สำรวจราคาอาหาร ห้างฯ ดังใจกลางกรุง VS สนามบินสุวรรณภูมิ แพงเกิน 25% จริงหรือ?

สำรวจราคาอาหาร ห้างฯ ดังใจกลางกรุง VS สนามบินสุวรรณภูมิ แพงเกิน 25% จริงหรือ?

21 มกราคม 2018


ปัญหาร้านค้าในท่าอากาศยานสุวรรณภูมิขายอาหารและเครื่องดื่มราคาแพงกลับมาเป็นประเด็นร้อนอีกครั้งในช่วงต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา หลังจากนายชาญชัย อิสระเสนารักษ์ อดีต ส.ส. จังหวัดนครนายก พรรคประชาธิปัตย์ นำประเด็นร้องเรียนของนักท่องเที่ยวชาวญี่ปุ่นมาขยายผลถึงต้นตอที่ทำให้ราคาอาหารและเครื่องดื่มในท่าอากาศยานมีราคาแพงนั้น เกิดจากบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. ปล่อยให้ผู้รับสัมปทานไปเรียกเก็บ “แป๊ะเจี๊ยะ” และทำสัญญาเช่าช่วงต่อ เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ราคาอาหารและเครื่องดื่มที่สนามบินแห่งนี้มีราคาแพงมาตลอด 10 ปี

เมื่อวันที่ 16 มกราคม 2561 เวลา 14.00 น. นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ลงพื้นที่สำรวจราคาอาหารและเครื่องดื่ม ศูนย์อาหาร Magic Food Court ชั้น 1 อาคารผู้โดยสาร สนามบินสุวรรณภูมิ

วันที่ 16 มกราคม 2561 เวลา 14.00 น. นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม นัดสื่อมวลชน บริเวณด้านหน้าศูนย์อาหาร Magic Food Court ชั้น 1 อาคารผู้โดยสาร ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ลงพื้นที่สำรวจราคาอาหารและเครื่องดื่มในอาคารผู้โดยสาร สนามบินสุวรรณภูมิ ว่ามีราคาแพงตามข้อร้องเรียนจริงหรือไม่?

เริ่มจากศูนย์อาหาร Magic Food Court ชั้น 1 นายไพรินทร์กล่าวว่า “หลายคนอาจจะเข้าใจผิด คิดว่าศูนย์อาหารฯ เป็นร้านค้าสวัสดิการ ขายให้เฉพาะพนักงาน ทอท. เท่านั้น แต่ข้อเท็จจริง ร้านค้าที่นี่ขายให้ลูกค้าทุกคน โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวชาวจีน พอลงจากเคลื่อนบิน ไกด์ก็จะพามารับประทานอาหารที่นี่ ก่อนที่จะเดินทางเข้าเมือง ราคาอาหารที่นี่เริ่มต้นที่จานละ 35 บาท ไปจนถึงจานละ 65 บาท ส่วนราคาเครื่องดื่มก็มีตั้งแต่ขวดละ 10 บาทไปจนถึง 25 บาท ราคาใกล้เคียงกับศูนย์อาหารของห้างสรรพสินค้าชั้นนำในเมือง หากใครเคยเดินทางไปต่างประเทศจะทราบว่าอาหารราคา 2 เหรียญ ที่ขายในสนามบินประเทศอื่น ส่วนใหญ่จะเป็นอาหารสำเร็จรูป ต้องอุ่นด้วยเครื่องไมโครเวฟก่อนรับประทาน แต่ที่ศูนย์อาหาร Magic Food Court ปรุงกันสด ขึ้นจากเตาร้อนๆ เปิดให้บริการตลอด 24 ชั่วโมง”

หลังสำรวจราคาอาหารที่ Magic Food Court เสร็จเรียบร้อย นายไพรินทร์สั่งให้นายนิตินัย ศิริสมรรถการ ผู้อำนวยการใหญ่ ทอท. จัดทำป้ายประชาสัมพันธ์ ติดประกาศแจ้งนักท่องเที่ยวทราบว่าภายในสนามบินสุวรรณภูมิมีร้านขายอาหารและเครื่องดื่มราคาถูกอยู่ที่ชั้น 1 พร้อมกับแนะนำให้นายนิตินัยเปลี่ยนชื่อศูนย์อาหาร Magic Food Court เป็น “Street Food” ซึ่งกำลังได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวในขณะนี้

จากนั้น นายไพรินทร์พาผู้สื่อข่าวเดินขึ้นชั้น 3 ผ่านเครื่อง Body Scan เพื่อเข้าไปสำรวจราคาอาหารและเครื่องดื่มในพื้นที่ร้านค้าปลอดอากร (Duty Free Zone) ซึ่งตามสัญญาสัมปทานกำหนดให้ผู้รับสัมปทานต้องควบคุมราคาสินค้าและค่าบริการในท่าอากาศยานสุวรรณภูมิไม่ให้เกิน 25% ของราคาสินค้าที่วางขายตามห้างสรรพสินค้าชั้นนำในกรุงเทพมหานคร หรือบวกได้ไม่เกิน 25% ส่วนที่ท่าอากาศยานดอนเมือง ควบคุมราคาขายไม่ให้สูงเกิน 20% ของราคาสินค้าที่ขายในห้างสรรพสินค้าชั้นนำในกรุงเทพมหานคร

สาเหตุที่ ทอท. ต้องควบคุมราคาสินค้าและบริการไม่ให้มีราคาแพงเกิน 25% ของราคาสินค้าและบริการที่ขายในห้างสรรพสินค้าชั้นนำในกรุงเทพฯ โดยกำหนดไว้ในสัญญาบริหารจัดการพื้นที่เชิงพาณิชย์ นายไพรินทร์ กล่าวว่า “ต้องเข้าใจว่าที่สนามบินสุวรรณภูมิมีเครื่องบินจำนวนมากขึ้นลงตลอด 24 ชั่วโมง ร้านค้าที่สนามบินจึงต้องรับภาระหนักกว่าร้านค้าในเมืองทั่วไป เพราะต้องจัดหาพนักงานที่พูดภาษาอังกฤษได้ไว้บริการลูกค้าตลอดเวลา การทำงานแบ่งเป็นกะ และมีต้นทุนสูงกว่าร้านค้าทั่วไป เพื่อความเป็นธรรมแก่ผู้ประกอบการ ในสัญญาฯ จึงกำหนดให้ผู้ประกอบการที่นี่ตั้งราคาขายแพงกว่าร้านค้าในเมืองได้ไม่เกิน 25%”

ร้านอาหารญี่ปุ่น ชั้น 3 อาคารผู้โดยสารขาออก ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ

อย่างเช่นที่ร้านอาหารญี่ปุ่น ติดป้ายบอกราคาข้าวหน้าหมูทอด (Katsu Don) จานละ 350-400 บาท ข้าวราดแกงกะหรี่ (Kare Raisu) จานละ 265-320 บาท ในความรู้สึกของคนไทยราคานี้ถือว่าแพง แต่อย่างไรก็ตาม ทางร้านอาหารญี่ปุ่นก็ได้เตรียมเมนูอาหารราคาถูก เป็นข้าวราดไข่เจียวจานละ 60 บาทไว้บริการลูกค้าด้วย

ส่วนที่ร้าน Mango Tree ตามที่ปรากฏเป็นข่าวขึ้นมา มีพนักงานของร้านนำเมนูรายการอาหารของร้าน Mango Tree สาขาเซ็นทรัลเวิลด์ มาให้นายไพรินทร์ตรวจสอบ เพื่อเปรียบเทียบราคาขายระหว่างสาขาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิกับสาขาเซ็นทรัลเวิลด์ ยกตัวอย่าง ผัดไทยกุ้งสด Mango Tree สาขาเซ็นทรัลเวิลด์ ตั้งราคาขายจานละ 200 บาท ส่วนสาขาสนามบินสุวรรณภูมิขายจานละ 233 บาท ราคาผัดไทยกุ้งสดที่นี่แตกต่างกันไม่ถึง 25% ตามที่กำหนดไว้ในสัญญา

ร้านอาหาร Mango Tree
เปรียบเทียบราคาอาหารที่ร้าน Mango Tree สาขาเซ็นทรัลเวิลด์

เรื่องราคาถูกหรือราคาแพง นายไพรินทร์บอกว่าเป็นเรื่องของความรู้สึกของคนมากกว่า แต่ก็ต้องยอมรับว่าในการบริหารจัดการร้านค้าที่นี่เป็นรูปแบบสากลเหมือนกับท่าอากาศยานนานาชาติทั่วไป ราคาอาหารและเครื่องดื่มมีให้ผู้โดยสารเลือกซื้อ ตั้งแต่ราคาถูกไปจนถึงราคาแพง โดยเฉพาะร้านอาหารแบรนด์ดัง แต่ที่สำคัญต้องมีทางเลือกให้กับผู้โดยสาร ดังนั้น ในการมาสำรวจราคาอาหารและเครื่องดื่มที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิครั้งนี้ จึงมีประเด็นที่ต้องพิจารณา ดังนี้

ประเด็นแรก เรื่องราคาอาหารและเครื่องดื่มภายในท่าอากาศยานสุวรรณภูมิมีราคาถูกหรือราคาแพง? ประเด็นนี้นายไพรินทร์ตอบว่ามีทั้งราคาถูกและแพง เหมือนกับสนามบินนานาชาติทั่วไป ส่วนข้อร้องเรียนที่ว่าร้านค้าไม่ยอมขายน้ำเปล่าขวดละ 10 บาท เน้นขายเฉพาะน้ำแร่ขวดละ 40 บาท ประเด็นนี้นายไพรินทร์ตอบว่าไม่จริง จากการสำรวจราคาเครื่องดื่มที่วางขายตามร้านสะดวกซื้อ อย่างเช่น เซเว่น-อีเลฟเว่น หรือ แฟมิลีมาร์ท จะเห็นว่ามีขายตั้งแต่ราคาขวดละ 7 บาทขึ้นไป หลังผ่านพิธีการตรวจคนเข้าเมือง (ตม.) มาแล้ว ทาง ทอท. ได้จัดเตรียมตู้กดน้ำดื่มทั้งน้ำร้อนและน้ำเย็นเอาไว้บริการผู้โดยสารในบริเวณพื้นที่ใกล้ประตูทางออก (Gate) ก่อนขึ้นเครื่องบิน โดยไม่คิดเงิน แต่ถ้าผู้โดยสารอยากดื่มน้ำอัดลมหรือขนมขบเคี้ยว สามารถไปกดได้ที่ตู้หยอดเหรียญ ซึ่งราคาน้ำอัดลมนั้นใกล้เคียงกับร้านสะดวกซื้อทั่วไป

ประเด็นที่ 2 ร้านขายอาหาร และเครื่องดื่มปฏิบัติตามเงื่อนไขของสัญญาฯ หรือไม่ นายไพรินทร์กล่าวว่า วิธีการตรวจสอบราคาอาหารและเครื่องดื่มที่ขายในร้านอาหารแบรนด์เนมนั้นง่ายนิดเดียว คือ เจ้าหน้าที่ ทอท. ก็ต้องไปถ่ายรูปรายการอาหาร (เมนู) ของร้านอาหารแบนด์เนมในท่าอากาศยานสุวรรณภูมิมาเปรียบเทียบกับรายการอาหารที่ขายอยู่ในห้างสรรพสินค้าชั้นนำในกรุงเทพฯ ก็จะทราบว่าขายแพงกว่าร้านอาหารในเมืองเกิน 25% หรือไม่ ประเด็นนี้ผมได้สั่งการให้นายนิตินัย แต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นมาตรวจสอบราคาอาหารในท่าอากาศยานเปรียบเทียบกับร้านอาหารในเมืองเป็นไปตามเงื่อนไขของสัญญาหรือไม่ โดยให้จัดทำรายงานผลการสำรวจราคาอาหารและสำรวจความพึงพอใจของลูกค้าทุกเดือน

ประเด็นที่ 3 ราคาอาหารแพงเพราะ ทอท. ปล่อยผู้รับสัมปทานเก็บ “ค่าแป๊ะเจี๊ยะ” และทำสัญญาเช่าช่วง นายไพรินทร์ชี้แจงว่า สนามบินสุวรรณภูมิเปิดให้บริการมาตั้งแต่ปี 2549 แนวความคิดในการบริหารจัดการที่นี่ ทอท. ใช้วิธีการคัดเลือก ผู้ชนะการประมูลจะได้สิทธิในการบริหารทั้งพื้นที่เชิงพาณิชย์และดิวตี้ฟรี หากไม่ใช้วิธีการประมูล ทอท. ดำเนินการเอง โดยการเปิดให้ผู้ประกอบการเข้ามาประมูลที่ละร้าน คงจะไม่สะดวก และที่สำคัญต้องเก็บค่าเช่าในอัตราเท่ากัน ยกตัวอย่าง ร้านขายน้ำดื่ม ก็ต้องเก็บค่าเช่าเท่ากับร้านขายอาหาร หากใช้รูปแบบนี้ร้านขายน้ำดื่มก็อยู่ไม่ได้ เพราะกำไรน้อยกว่าร้านขายอาหาร แต่ถ้า ทอท. เก็บค่าเช่าหรือค่าตอบแทนจากร้านค้าไม่เท่ากัน ก็ต้องตอบคำถามเจ้าหน้าที่สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินให้ได้ ดังนั้นช่วงปี 2549 ทอท. จึงใช้วิธีการคัดเลือก ผู้ชนะการประมูลก็ได้สิทธิในการบริหารจัดการพื้นที่ทั้งหมด จากนั้นก็มีการนำพื้นที่ไปให้เช่าช่วงต่อ หากประชาชนส่วนใหญ่ไม่ชอบรูปแบบนี้ รออีก 2-3 ปี เมื่อสัญญาสัมปทานสิ้นสุด ก็สามารถเปลี่ยนรูปแบบการบริหารจัดการร้านค้าของที่นี่ได้ แต่ผมคิดว่ารูปแบบที่ใช้อยู่ในปัจจุบันนี้เป็นทางเลือกที่ดีที่สุดแล้ว ผู้โดยสารสามารถเลือกรับประทานอาหารและเครื่องดื่มได้อย่างหลากหลายรูปแบบ มีทั้งอาหารราคาถูกวางขายในร้านสะดวกซื้อไปจนถึงราคาแพง วางขายในร้านอาหารแบรนด์เนม

ต่อคำถามที่ว่ามีการเรียกเก็บค่าแป๊ะเจี๊ยะจริงหรือไม่ นายไพรินทร์ตอบว่า มันเป็นเรื่องระหว่างผู้ชนะการประมูลกับผู้เช่า ซึ่ง ทอท. อนุญาตให้ผู้ชนะการประมูลหาคนมาเช่าช่วงต่อเพื่อบริหารจัดการร้านค้า แต่ละร้านจะมีเจ้าของร้านคนละคนกัน ตรงนี้เป็นเรื่องการบริหารจัดการภายในของผู้ชนะการประมูลเอง ในส่วน ทอท. มีหน้าที่กำกับดูแลราคาอาหารและเครื่องดื่มไม่ให้มีราคาแพงเกินกว่าที่ 25% ของราคาอาหารที่ขายในห้างสรรพสินค้าชั้นนำในกรุงเทพมหานคร ซึ่งผมได้แต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นมาตรวจสอบราคาแล้ว หากตรวจพบว่าผิด ก็ต้องดำเนินการตามที่กำหนดไว้ในสัญญา

เมื่อสัญญาบริหารจัดการพื้นที่เชิงพาณิชย์สิ้นสุดลง หากมีการเปิดประมูลพื้นที่กันใหม่จะเลือกรูปแบบไหน นายไพรินทร์กล่าวว่า “ถึงวันนั้น ผมก็อยากจะถามผู้ที่ออกมาวิพากษ์วิจารณ์เรื่องนี้ว่าต้องการรูปแบบไหน หากต้องการให้ร้านค้าในท่าอากาศยานขายอาหารและเครื่องดื่มราคาเดียวกันทั้งสนามบิน ถ้าเลือกรูปแบบนี้ก็น่าจะทำได้ไม่ยาก คือ เปิดให้ผู้ประกอบการในศูนย์อาหาร Magic Food Court ขึ้นมาทำอาหารขายทั้งสนามบิน ขอถามว่ารูปแบบนี้เป็นรูปแบบที่ใช้กับในสนามบินนานาชาติทั่วไปหรือไม่ แต่ถ้าเลือกรูปแบบนี้ทาง ทอท. ก็ไม่มีปัญหาอะไร ซึ่งปัจจุบันผู้โดยสารมีทางเลือกหลากหลายรูปแบบ มีทั้งไปซื้ออาหารสำเร็จรูปแล้วมาเติมน้ำร้อนเอง หรือ นั่งอยู่เฉยๆ แล้วมีคนมาเสิร์ฟ นี่คือรูปแบบการรับประทานอาหารที่แตกต่างกัน แน่นอนราคาก็ย่อมแตกต่างกันไปด้วย ส่วนเรื่องการเปิดประมูลพื้นที่เชิงพาณิชย์และพื้นที่ร้านค้าปลอดอากรเป็นอำนาจหน้าที่ของบอร์ด ทอท. รัฐมนตรีไม่ได้เข้าไปเกี่ยวข้อง แต่ตนได้มอบนโยบายให้กับบอร์ด ทอท. ไปแล้วว่าการดำเนินการในเรื่องนี้ต้องคำนึงถึงความต้องการของประชาชนและผลประโยชน์ของประเทศชาติเป็นสำคัญ”

burger king สาขาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ
burger king สาขาสยาม พารากอน

หลังจากเสร็จสิ้นภารกิจลงพื้นที่สำรวจราคาอาหารในสนามบินสุวรรณภูมิ วันที่ 17 มกราคม 2561 ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้าส่งทีมงานไปสำรวจราคาอาหารในห้างสรรพสินค้าชั้นนำ เพื่อนำมาเปรียบเทียบ ตามคำแนะนำของนายไพรินทร์ โดยเริ่มที่ร้านเบอร์เกอร์คิง สาขาสยามพารากอน ตั้งราคาขาย “ดับเบิล วอปเปอร์ เบคอน ชีส” รวมโค้ก 1 แก้ว เฟรนช์ฟรายส์ชุดละ 355 บาท ส่วนที่สาขาสนามบินสุวรรณภูมิ ตั้งราคาขาย “ดับเบิล วอปเปอร์ เบคอน ชีส” ราคาเท่ากัน แต่ไม่มีโค้ก และเฟรนช์ฟรายส์ ส่วน”ดับเบิลชีสเบอร์เกอร์” สาขาสยาม พารากอน ขายรวมโค๊ก และเฟรนช์ฟรายส์ ชุดละ 229 บาท สาขาสุวรรณภูมิขาย “ดับเบิลชีสเบอร์เกอร์มีเบคอนเพิ่ม” ราคา 245 บาท แต่ไม่มีโค้ก และเฟรนช์ฟรายส์

ร้าน Mango Tree สาขา เซ็นทรัลเวิลด์
บอนชอน ชิคเกน (BonChon Chicken) สาขาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ
รายการอาหาร ร้านบอนชอน ชิคเกน สาขาเซ็นทรัลเวิลด์

จากนั้นผู้สื่อข่าวเดินทางไปสำรวจราคาอาหารที่ร้าน Mango Tree สาขาเซ็นทรัลเวิลด์ พบว่าราคาผัดไทยกุ้งที่สาขาเซ็นทรัลเวิลด์ขายจานละ 200 บาท เปรียบเทียบกับราคาที่สาขาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิขายจานละ 233 บาท แพงกว่า 33 บาท หรือสาขาสุวรรณภูมิแพงกว่า 16.5% ส่วนที่ร้านร้าน Bon Chon Chicken สาขาเซ็นทรัลเวิลด์ ขายปีกไก่ทอดบอนชอน ไซส์ S จำนวน 6 ชิ้น ราคา 150 บาท แต่ที่สนามบินสุวรรณภูมิขาย 199 บาท แพงกว่าที่เซ็นทรัลเวิลด์ 49 บาท หรือแพงกว่าที่สนามบินสุวรรณภูมิ 32.66% ไซส์ M จำนวน 10 ชิ้น สาขาเซ็นทรัลเวิลด์ขาย 230 บาท สาขาสนามบินสุวรรณภูมิขาย 299 บาท แพงกว่าที่เซ็นทรัลเวิลด์ 69 บาท แพงกว่าที่สนามบินสุวรรณภูมิ 30% เป็นต้น