ThaiPublica > เกาะกระแส > “บิ๊กตู่” ยอมรับรัฐบาลขาลง – ไม่สืบทอดอำนาจ – มติ ครม.ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 5-22 บาท/วัน เริ่ม 1 เม.ย.นี้

“บิ๊กตู่” ยอมรับรัฐบาลขาลง – ไม่สืบทอดอำนาจ – มติ ครม.ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 5-22 บาท/วัน เริ่ม 1 เม.ย.นี้

30 มกราคม 2018


พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ
ที่มาภาพ : www.thaigov.go.th/

เมื่อวันที่ 30 มกราคม 2561 ที่ทำเนียบรัฐบาล มีการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดยมี พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นประธาน หลังจากเผชิญกระแส “รัฐบาลขาลง” ในช่วงที่ผ่านมา

ภายหลังตอบคำถามสื่อมวลชนเสร็จ นายกรัฐมนตรีกล่าวทิ้งท้ายว่า ขอให้ดูต่อไป อย่าเพิ่งหมดกำลังใจกับตนและรัฐบาล คสช. ตนพยายามทำอย่างเต็มที่ ประเด็นของตนไม่ใช่คำแก้ตัว ขอเวลาให้ตนได้วางรากฐานของประเทศอีกสักระยะหนึ่งก่อนเท่านั้นเอง จะมากจะน้อยก็เป็นไปตามกฎหมายนั่นแหละ

ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ – นายกฯห่วงผู้ประกอบการรายย่อย

พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวถึงการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำว่า วันนี้มติ ครม. ได้รับทราบในประเด็นดังกล่าวตามที่ได้มีการเสนอเข้ามา แต่ก็ต้องมีมาตรการทางการเงินการคลังเพื่อดูแลช่วยเหลือให้กับธุรกิจและผู้ประกอบการเอสเอ็มอีต่างๆ ซึ่งตนกังวลเกี่ยวกับเรื่องเศรษฐกิจระดับล่างที่มีผู้ประกอบการรายย่อยหลายรายไม่ได้ขึ้นทะเบียน เช่น ร้านก๋วยเตี๋ยว

“ทุกคนก็กลัวว่าจะเสียภาษี หากขึ้นบัญชีรัฐบาลก็จะได้รู้ว่ามีคนอยู่สักเท่าไรที่รัฐบาลจะมีมาตรการมาช่วยได้ หากไม่ช่วยกันตรงนี้แล้วรัฐบาลจะแก้ได้อย่างไร มันก็ต้อง 2 ทาง เอสเอ็มอีก็เช่นกัน มีทั้งหมด 3 ล้านราย แต่ขึ้นทะเบียนยังไม่ถึง 1 ล้านรายเลย ก็ต้องไปดู เพราะทุกคนก็กลัวภาษี แต่ขณะเดียวกันก็อยากได้ความช่วยเหลือจากรัฐบาล แต่ไม่มีบัญชีแล้วจะช่วยอย่างไร ซึ่งหากรายได้ไม่ถึงก็ไม่ต้องเสียอยู่แล้ว เพียงแต่อยู่ในระบบไว้ก่อนเท่านั้นเอง นี่จะเป็นข้อมูลที่แก้ปัญหาระยะยาวในอนาคต อย่าให้เป็นแบบเดิมเลยที่ไม่มีข้อมูล ต่างคนต่างก็ทำกันไป ขอให้เห็นใจรัฐบาลและข้าราชการบ้าง เขาก็เหน็ดเหนื่อยมหาศาลมา 3-4 ปี เปลี่ยนแปลงมาหลายอย่าง” นายกรัฐมนตรีกล่าว

สั่ง เกษตรฯ-สธ.-พณ. หาสารอื่นทดแทน “พาราควอส”

พล.อ. ประยุทธ์ ตอบคำถามกรณีการขอให้ยกเลิกการนำเข้าสารพาราควอสว่า ตนได้สั่งการไปแล้ว ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการปรึกษาหารือกัน ซึ่งจะต้องฟังภาคเกษตรกรด้วยเนื่องจากเมื่อยกเลิกแล้วอาจต้องประสบปัญหากับการกำจัดวัชพืช ทั้งนี้ตนได้รับฟังจากทั้งทางคณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุข และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ แล้วจำเป็นจะต้องหาสารอื่นมาทดแทน ซึ่งขณะนี้ยังหาสารทดแทนนี้ไม่ได้

“ผมก็เป็นห่วงพี่น้องเกษตรกรและผู้บริโภค ฉะนั้นก็อยู่ที่การใช้จะใช้อย่างไรหากมีความจำเป็นจะต้องใช้อยู่ แต่ขณะนี้ผมก็ให้เขาหาทางอยู่ว่าจะลดได้อย่างไร หากไม่นำเข้าจะใช้วิธีการไหน ขณะเดียวกันเราก็ต้องเพิ่มมาตรการในการป้องกันว่า การใช้สารพาราควอสนั้นจะทำอย่างไรให้เกิดความปลอดภัยในการป้องกันตนเอง ไม่ใช้จนมากเกินไปจนเกินขีดความจำเป็น เหล่านี้จะต้องสร้างความรับรู้ไปพร้อมกันด้วยขณะที่เรากำลังหาสารอื่นมาทดแทน โดยทางกระทรวงเกษตรฯ กระทรวงสาธารณสุข และกระทรวงพาณิชย์ กำลังไปดูอยู่” นายกรัฐมนตรีกล่าว

ยอมรับรัฐบาลขาลงเป็นเรื่องธรรมชาติ – ย้ำไม่สืบทอดอำนาจ

พล.อ. ประยุทธ์ ตอบคำถามถึงกรณีมีผู้เคลื่อนไหวต้าน คสช. เรียกร้องให้มีการเลือกตั้ง หลังสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ทำโรดแมปเลื่อน 90 วันว่า เรื่องการเคลื่อนไหวอาจด้วยเหตุผลหลายอย่าง ความจำเป็น และหลักการที่แตกต่างกันออกไป ซึ่งตนรับฟังจากทุกส่วน ซึ่งจะต้องทำความเข้าใจกันว่าผลดีผลเสียเป็นอย่างไร เกิดกับใครบ้าง และตนทราบดีอยู่แล้ว ว่าไม่ได้เป็นผลดีกับรัฐบาล  แต่จะทำอย่างไรเพราะเป็นเรื่องของกฎหมาย ต้องไปดูว่าในกรณีเช่นนี้จะแก้ปัญหาได้อย่างไร

ต่อคำถามสถานการณ์ที่เกิดขึ้นกับคำเตือนของ พล.อ. เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองค์มนตรี ที่เคยเตือนเรื่อง “กองหนุนกำลังจะหมด” พล.อ. ประยุทธ์ ตอบว่า ในเรื่องของคำเตือน “กองหนุน” ตนคิดว่าเป็นธรรมชาติ การเป็นรัฐบาลมากว่า 3 ปีก็มีปัญหาแบบนี้กันทุกรัฐบาล เมื่อถึงเวลาก็อาจจะมีจุดอ่อนมากขึ้น ยิ่งทำงานมากปัญหาก็มากขึ้น ฉะนั้น สิ่งเหล่านี้ก็ต้องไปดูเหตุผลว่าจะแก้ไขตรงนี้ได้อย่างไร คนที่เคยสนับสนุนอาจจะอยู่ตรงกลาง คนในระดับกลางไม่เข้าฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดก็เห็นชอบกับการทำงานของรัฐบาล แต่บางครั้งเมื่อมีเหตุการณ์เกิดขึ้นคนเหล่านี้ก็อยากจะให้ทุกอย่างราบรื่นเป็นไปในทางที่ดีที่สุด เขาก็อาจจะมีความรู้สึกที่ไม่ดีกับรัฐบาล ก็เป็นธรรมดาที่ทุกรัฐบาลต้องเผชิญเมื่อเข้าปีที่ 4 แต่เราก็ยืนยันว่าเราจะทำทุกอย่างให้ดีที่สุด

พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวต่อไปถึงมุมมองว่ารัฐบาลอยู่ในขาลงว่า ตนเข้าใจถึงประเด็น ดังที่กล่าวไปแล้วเรื่องระยะเวลา การทำงานของรัฐบาลอาจเข้าสู่ช่วงที่มีความขัดแย้งสูง อาจมีคนได้ประโยชน์ เสียประโยชน์ ทุกคนก็อยากจะมีการเปลี่ยนแปลงแล้วตลอดเวลา 3 ปีที่ผ่านมา ก็ต้องไปดูว่า กลุ่มไหนที่เดือดร้อน กลุ่มไหนที่เป็นตัวตั้งตัวตีมากในเรื่องเหล่านี้ เข้าใจว่าท่านหากันเจออยู่แล้ว แต่ผมไม่ขอไปขัดแย้งด้วยแล้วกัน รัฐบาลยืนยันที่จะมุ่งมั่นทำงานดูแลพี่น้องประชาชนทั้งหมด

“นโยบายต่างๆ ในช่วงปีนี้อย่าไปมองว่ารัฐบาลนี้ทำเพื่อสืบทอดอำนาจเลย เพราะเป็นการทำงานต่อเนื่องมาจากปีที่ 1 2 และ 3 ตามลำดับ ตามโรดแมปของผม ฉะนั้น ขั้นตอนนี้ปีนี้ปีสุดท้ายตามโรดแมป ก็คือมีโครงการ ‘ไทยนิยมยั่งยืน’ ลงไป คำว่าไทยนิยมคือนิยมความดี ความงาม นี่คือความหมายไทยนิยมของผมในทุกๆ เรื่อง เพราะความดี ความงาม เป็นเรื่องของคนไทยทุกคน จะมุ่งมั่นในการกระทำความดีเพื่อประเทศชาติ เพื่อลูกหลานของตนเองในอนาคต รัฐบาลนี้เพียงวางพื้นฐานของประเทศไว้ให้ ก็สุดแล้วแต่ว่ารัฐบาลต่อไปจะดำเนินการอย่างไรต่อ ผมยังไม่เห็นประโยชน์ที่ผมจะได้รับจากการเลื่อนหรือไม่เลื่อนการเลือกตั้งนี้เลย ผมยืนยันโรดแมปของผม ถ้าไม่มีปัญหาอะไรเกิดขึ้นมาทางกฎหมายก็เป็นไปตามนั้น และผมไม่ไปก้าวล่วงใครทั้งสิ้น” นายกรัฐมนตรีกล่าว

ชะลอโรงไฟฟ้าถ่านหิน – สั่ง “ศิริ” หาพลังงานทดแทน

พล.อ. ประยุทธ์ ตอบคำถามกรณีกลุ่มชาวบ้านคัดค้านโรงไฟฟ้าถ่านหินว่า ตนได้สั่งการให้นายศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ไปดำเนินการอยู่ ซึ่งเท่าที่ทราบนั้นจะต้องชะลอโครงการดังกล่าวไปก่อน ขณะเดียวกันก็ต้องแก้ไขปัญหาการขาดแคลนพลังงาน ทั้งเรื่องสายส่ง แหล่งพลังงานไฟฟ้าที่จะเข้าทดแทนในพื้นที่ จะต้องดูในทุกมิติ ทั้งนี้จะมีการชี้แจงอย่างเป็นทางการอีกครั้งหนึ่ง

“ฝากไปถึงพี่น้องที่คัดค้านกันอยู่ในคณะนี้ด้วย รวมถึงผู้ที่เห็นด้วย ตราบใดที่ยังมีคน 2 ฝ่ายอยู่เสมอรัฐบาลก็ทำอะไรได้ยาก ซึ่งไม่อยากจะใช้กฎหมายเต็มที่ ไม่ว่าอย่างไรต้องคำนึงถึงเรื่องความมั่นคงด้านพลังงานด้วย ได้สอบถามทางรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานไปว่ามีวิธีการอื่นหรือไม่ ที่จะทำให้ไม่เกิดปัญหาการขาดแคลนพลังงานในภาคใต้ ได้รับคำตอบว่ามีวิธีแก้ไขในช่วงเวลาระยะหนึ่งก่อน แต่จะอีกกี่ปีต้องไปฟังรายละเอียดกันดูอีกครั้ง ยืนยันรัฐบาลนี้รับฟังทุกประเด็น” นายกรัฐมนตรีกล่าว

สำหรับชาวบ้านผู้ชุมนุมที่ถูกดำเนินคดีเมื่อครั้งการประชุม ครม.สัญจรที่ จ.สงขลา พล.อ. ประยุทธ์ ระบุว่า เรื่องการดำเนินคดีต่างๆ ต้องว่ากันตามกระบวนการยุติธรรม ซึ่งตนก็ดูแลอยู่แล้ว แต่อะไรที่เข้าไปเป็นคดีความแล้วจะแก้ยาก อย่างไรก็ตามยืนยันว่าให้ความเป็นธรรม

ยันไม่เคยปิดกั้น ปชช. – เปิดรับฟังทุกปัญหา แก้แล้วกว่า 90%

พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวว่า สิ่งหนึ่งที่หลายคนอาจมองว่ารัฐบาลนี้เป็นรัฐบาลที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง และมีอำนาจสิทธิ์ขาดในการบริหารประเทศ จริงๆ แล้วไม่ใช่ข้อเท็จจริงทั้งหมด เพราะรัฐบาลก็ฟังทุกวัน โดยขอให้คิดย้อนกลับไปดูว่าปัญหาต่างๆ ที่เข้ามาจากประชาชน สิ่งแรกที่เป็นช่องทางติดต่อที่รัฐบาลอื่นไม่เคยมีมาก่อนคือ “ศูนย์ดำรงธรรม” มีหลายล้านเรื่องที่รัฐบาลได้แก้ไขไปกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ แล้วจะบอกว่ารัฐบาลทำไม่ตรงกับความต้องการประชาชนได้อย่างไร  อีกช่องทางหนึ่งคือทางโซเชียลมีเดีย ได้เปิดช่องทางให้ส่งเรื่องเข้ามาแล้วจะมีผู้ลงไปตรวจสอบว่าใช่หรือไม่ หากเดือดร้อนจริงก็จะแก้ไขให้ทุกประเด็น

“ที่บอกว่ารัฐบาลนี้ปิดกั้นประชาชน ไม่ได้ปิดกั้นเลย แม้กระทั่งสื่อวันนี้เขียนบทความต่างๆ มามากมาย คอลัมนิสต์ก็วิพากษ์วิจารณ์ ผมก็ไม่เคยไปห้ามท่านเลย ฉะนั้นอย่าไปสร้างความเข้าใจที่ไม่ถูกต้อง เพราะมันไปถึงต่างประเทศ กลายเป็นว่ารัฐบาลไปปิดกั้นทุกคน แต่การจะทำอะไรก็ตามที่มีผลกระทบกับความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง จะต้องใช้กลไกทางการบวนทางยุติธรรมดู จะเห็นว่าไม่ว่าจะทำอะไรก็ตาม ศาลปกครองก็คุ้มครองให้ชั่วระยะเวลาหนึ่ง แต่อย่าทำผิดกฎหมายแล้วกัน เพราะฉะนั้นต้องมอง 2 ด้าน ต้องมองคนที่เขาไม่เห็นด้วย คนที่เขาเดือดร้อน ต้องไปดูเจตนาในเรื่องต่างๆ ให้ชัดเจนขึ้น ผมไม่ไปขัดแย้งกับใครหรอก หลายคนอยากให้ใช้กฎหมายแรงๆ เพื่อยุติให้ได้ หลายพวกบอกว่าใช้แรงๆ ก็ดีจะได้ขยายความขัดแย้งมากขึ้น มันก็มี 2 ฝ่ายเสมอ” นายกรัฐมนตรีกล่าว

ปัดเอี่ยวแทรกแซง “นิด้าโพล” วอนอย่าโยนความผิดรัฐบาล

พล.อ. ประยุทธ์ ตอบคำถามเรื่องโพลว่า ตนยืนยันว่าไม่เคยเข้าไปเกี่ยวข้อง เพราะการสำรวจความคิดเห็นหรือการทำโพลนั้นก็มีหลายสำนัก เมื่อมีโพลออกมาตนก็อ่านดูเท่านั้น ซึ่งโพลก็เป็นเพียงอีกช่องทางหนึ่งในการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชน แต่ประเด็นปัญหาคือ ต้องไปดูจุดมุ่งหมายโพล ซึ่งหากอ่านคำถามก็พอจะได้คำตอบว่าทำมาเพื่ออะไร ด้วยเจตนาบริสุทธิ์หรือไม่ ซึ่งตนไม่ก้าวล่วงอยู่แล้ว

“ผมเคยบอกแล้วไม่ใช่หรือว่าช่องทางรับความคิดเห็นได้มีหลายช่องทางอยู่แล้ว ไม่ว่าจะศูนย์ดำรงธรรม และวันนี้ก็กำลังทำเรื่องบิกเดตา (big data) ออกมา เพื่อให้ทุกภาคส่วนได้รับฟังความคิดเห็นได้จากประชาชนโดยตรง และเรื่องที่ผมทำการรับฟังประชาชนจากคำถาม 4+6 ของผม วันนี้มีผู้แสดงความคิดเห็นมา 1.4 ล้านคนแล้ว เป็นข้อน่าสังเกตว่าผู้มาแสดงความคิดเห็นส่วนใหญ่มีระดับการศึกษาที่ประถมศึกษา ประกอบอาชีพเกษตรกร ซึ่งบางอย่างที่เชียร์รัฐบาลผมก็ไม่อยากพูด แต่ในส่วนที่เขาแนะนำมีมากมาย ส่วนโพลนิด้าผมก็ไม่ได้รู้จักใครเป็นการส่วนตัว และผมก็ไม่บังอาจไปสั่งท่าน ผู้อำนวยการนิด้าโพลไม่รู้จักท่านเป็นการส่วนตัว และรัฐบาลไม่เคยสั่งอยู่แล้ว ผมบอกแล้วผมเคยสั่งอะไรที่ไหนเกี่ยวกับเรื่องสื่อ เรื่องโพลพวกนี้ นายกรัฐมนตรีกล่าว

พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวต่อไปว่า ผลโพลนั้นจะมองว่าเป็นความคิดเห็นคนทั้งประเทศหรือไม่ก็อาจจะไม่ใช่ เพราะมีผู้มาตอบคำถามเพียงแต่ไม่กี่พันคนเท่านั้น มีหลากหลายอาชีพ และเมื่อนำคำถามเรื่องเศรษฐกิจไปถามคนอีกระดับหนึ่งคำตอบที่ได้จะขัดแย้งกันหรือไม่ ทางหลักวิชาการตนก็ไม่ทราบ แต่ที่ตนฟังคือคน 1.4 ล้านคน ก็มีเหตุมีผลในการตอบ นั่นคือคำถามของตนเป็นคำถามปลายเปิด ขอให้ไปดูแล้วกัน ตนทราบดีว่าทุกคนมีเจตนาดี เพียงขออย่าโยนว่ารัฐบาลไปบังคับ ตนนั้นไม่สามารถบังคับใครได้

ย้ำทำตาม “สัญญาคืนความสุข ปชช.” ที่เหลือต่อรัฐบาลหน้า

พล.อ. ประยุทธ์ ตอบคำถามกรณีที่ประชาชนเริ่มทวงถาม “สัญญา” ของนายกรัฐมนตรีมากขึ้นและมีการนำไปเปรียบเทียบกับเพลงที่นายกฯ แต่งขึ้นเมื่อปี 2557 “เราจะทำตามสัญญา ขอเวลาอีกไม่นาน” ว่า เรื่องสัญญา เรื่องเนื้อเพลง สัญญาคืนความสุขของตนก็คือ คืนความสุขแก่ประชาชนทุกหมู่เหล่า ทุกกลุ่มทุกฝ่าย บางกลุ่มก็คืนให้ได้ทันที แต่บางกลุ่มก็ยังไม่ได้ ก็เป็นเรื่องกลไกในการแก้ปัญหา ในการคืนความสุขต่อๆ ไปรัฐบาลนี้ รัฐบาลหน้า  และหากจะพูดถึงเพลง ท่านไปเอาเฉพาะตอน “เวลาอีกไม่นาน” แต่ตนจะขอเอาตอนจบ “แผ่นดินที่งดงาม จะคืนกลับมา” ความหมายมีสมบูรณ์ในนั้นอยู่แล้ว

“แล้วบอกว่าผมไม่เห็นคืนความสุข แล้วคืนได้ไหมปัญหาร้อยแปดพันเก้า ทุกคนก็ต้องไปช่วยกันแก้สิ ให้เข้าใจผมไม่ได้แก้ตัวอะไรทั้งสิ้น บ้านเมืองสงบเรียบร้อยขึ้นไหมตอนนี้ มีความสุขไหม เศรษฐกิจขนาดใหญ่ ขนาดกลาง ดีขึ้นไหม ขนาดเล็กกำลังแก้ไขอยู่หรือเปล่า ปัญหาสะสมได้รับการแก้ไขไหมทุกอัน ค่าจ้างแรงงานก็กำลังดูให้ อันนี้ไม่ใช่ความสุขหรือ ถึงแม้จะไม่มากนักแต่ก็เป็นความสุขแล้วไง นี่คือสัญญาของผม ผมก็ให้ในสิ่งที่ให้ได้ก่อน อันไหนยังไม่ได้รัฐบาลต่อไปก็ต้องไปทำต่อ ไม่ใช่มาโจมตีกันไปมาวันนี้” นายกรัฐมนตรีกล่าว

พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวต่อไปว่า รัฐบาลเราเอาทุกอย่างเปิดเผยหมด เรื่องโครงการไทยนิยมยั่งยืนนั้นก็สอดคล้องกับการพัฒนาอย่างยั่งยืนของสหประชาชาติด้วย ว่าจะดูแลผู้มีรายได้น้อยอย่างไร ขณะเดียวกันก็ไม่ทิ้งพื้นที่ทุกพื้นที่ ไม่ใช่เพื่อสร้างคะแนนเสียง หากสร้างคะแนนเสียงไม่ทำให้ยากเช่นนี้หรอก ให้เงินไปเลยก็จบ แต่ก็จะกลับมาเป็นปัญหาแบบเดิมที่แก้ไม่ได้เสียที

“วันนี้จะต้องสอบถามประชาชนว่าเขาต้องการอะไร วันหน้ารัฐบาลใหม่เข้ามาท่านจะทำอะไรต่อไป ท่านไม่เคยเสนอให้ผมเห็นเลยว่าท่านจะทำอะไรต่อ ท่านตีรัฐบาลนี้อย่างเดียว ผมว่าไม่เป็นธรรมเท่าไร” นายกรัฐมนตรีกล่าว

แจงปมทุจริตโครงการ 9101 – ใครมีหลักฐานส่งมา

พล.อ. ประยุทธ์ ตอบคำถามถึงความคืบหน้าในการตรวจสอบทุจริตโครงการ 9101 ว่า มีข่าวมาตลอดเรื่องการแบ่งเค้กระหว่างทาง ซึ่งจะแบ่งระหว่างทางได้อย่างไรตนก็ไม่ทราบ เพราะงบประมาณนั้นโอนลงไปถึงข้างล่างในการดำเนินการ สำหรับผู้ปฏิบัติข้างล่าง เท่าที่ทราบจากการสอบสวนมาข้างตนเป็นปัญหาจากความขัดแย้งในการจัดซื้อจัดจ้าง

“ในการซื้อของต่างๆ จะต้องมีเวทีประชาคม ก็มี 2 กลุ่ม กลุ่มนี้ต้องการยี่ห้อนี้ อีกกลุ่มต้องการอีกอย่าง แต่ส่วนใหญ่เขาต้องการอันนี้เขาเลยซื้ออันนี้ พวกที่ไม่ได้ก็ไม่รู้ว่าเพราะอะไร เขาก็บอกว่ามีการทุจริตไปซื้อของแพง แต่กลุ่มที่ซื้อก็อธิบายว่าของแพงแต่คุณภาพดี อีกฝ่ายก็บอกว่าทำไมไม่ซื้อของถูก ซึ่งเป็นคนละเรื่องกันหมด และไม่อยากให้มองว่าทุจริตไปเสียทุกเรื่อง ต้องไปดูว่ามีปัญหาตรงไหนขั้นตอนเป็นอย่างไร แล้วการทำประชาคมหมู่บ้านว่าอย่างไร หากไม่เข้าใจก็จะกลายเป็นทุจริตไปทั้งหมด เพราะทุกอย่างมีทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วยเสมอ” นายกรัฐมนตรีกล่าว

ทั้งนี้ หากมีข้อมูลในเรื่องนี้ขอให้ไปแจ้งได้เลยที่ศูนย์ดำรงธรรม หรือผู้ว่าราชการจังหวัด ขออย่ากลัว เพราะตนได้สั่งการไปแล้วว่าให้รับทุกเรื่อง หากตนลงพื้นที่เองก็ส่งมาให้ตนก็ได้ ตนจะเปิดอ่านเอง ถ้าทุจริตแล้วมีหลักฐานชัดเจน มีกฎหมายถูกต้อง ตนจะดูแลให้

มติ ครม. มีดังนี้ 

พล.ท. สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และนายณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์
ที่มาภาพ: www.thaigov.go.th

ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำทั่วปท. 5-22 บาท/วัน เริ่ม 1 เม.ย.นี้

นายณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า ครม. มีมติรับทราบการกำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำตามมติคณะกรรมการค่าจ้าง ที่มีมติปรับขึ้น 5-22 บาทต่อวันมาอยู่ที่ 308-330 บาทตามความต้องการของแต่ละจังหวัด เริ่มมีผลตั้งแต่ 1 เมษายน 2561 และมอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงการคลัง กระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงอุตสาหกรรม ดำเนินมาตรการเพื่อลดผลกระทบจากการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำต่อไป โดยเบื้องต้นมีออกมา 3 มาตรการในวันนี้ ได้แก่

    1) มาตรการลดหย่อนภาษี โดยให้ผู้ประกอบการนำรายจ่ายที่จ่ายเป็นค่าแรงให้ลูกจ้างมาลดหย่อนภาษีได้ไม่เกิน 1.15 เท่า หรือคิดเป็นการลดหย่อนประมาณ 3% ของค่าจ้าง 300 บาท โดยให้มีผลบังคับใช้สำหรับค่าแรงตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2561 จนถึง 31 ธันวาคม 2561 ทั้งนี้ เงื่อนไขสำหรับผู้ประกอบการที่จะลดหย่อนได้คือ บริษัทต้องมีรายได้ไม่เกิน 100 ล้านบาทและมีลูกจ้างไม่เกิน 200 คน รวมทั้งต้องไม่เป็นรายจ่ายค่าจ้างที่ได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีตามพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร อนึ่ง กระทรวงการคลังคาดว่ารัฐจะเสียงบประมาณ 5,400 ล้านบาท แต่คาดว่าจะช่วยบรรเทาผลกระทบแก่ผู้ประกอบการรายย่อยได้

    2) มาตรการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและการบริหารธุรกิจ สำหรับผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม หรือเอสเอ็มอี วงเงิน 5,000 ล้านบาท ตั้งแต่ปี 2561-2563 แบ่งเป็นปีแรก 500 ล้านบาท ปีที่สอง 2,500 ล้านบาท และปีสุดท้าย 2,000 ล้านบาท โดยให้มีการจัดตั้งคณะทำงานซึ่งประกอบด้วยหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องลงพื้นที่คัดเลือกผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเข้าร่วมโครงการจัดสัมมนาและอบรมในการพัฒนาสถานประกอบการ ทั้งนี้ มีการประเมินพบว่าการขึ้นค่าแรงจะส่งผลต่อต้นทุนของผู้ประกอบการเอสเอ็มอี 0.5-1% แต่จากการอบรมเข้าโครงการจะช่วยลดต้นทุนเอสเอ็มอี 10% คาดว่าจะมีเอสเอ็มอีเข้าร่วมทั้ง 3 ปี 50,000 แห่งและมีผู้ประกอบการรวมถึงแรงงานที่จะยกระดับอีกประมาณ 250,000 คน ทั้งนี้ไม่จำกัดว่าต้องเป็นเอสเอ็มอีที่อยู่ในระบบเท่านั้น

    3) มาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการเพื่อลดผลกระทบด้านแรงงาน ประกอบด้วย 1) การปรับปรุงมาตรการปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตเพื่อปรับเปลี่ยนเครื่องจักร โดยขยายขอบข่ายให้ครอบคลุมถึงการนำระบบด้านดิจิทัลมาใช้ในกิจการเพื่อยกระดับการบริหารจัดการ ให้สามารถยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล ระยะเวลา 3 ปี สูงสุดไม่เกิน 50% ของมูลค่าเครื่องจักรที่นำมาปรับปรุงได้ และ 2) การปรับปรุงมาตรการให้สิทธิและประโยชน์เพิ่มเติมเพื่อพัฒนาความสามารถในการแข่งขัน โดยขยายให้ครอบคลุมถึงการอบรมบุคลากรให้มีทักษะเฉพาะทางสูงขึ้น เช่นงาน Big Data หรือ Internet of Things ให้สามารถยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเพิ่มเติม 200% ของเงินลงทุนหรือค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้น

บริจาคเงินกองทุนวิจัย-พัฒนานวตกรรม หักภาษี 2 เท่าถึงสิ้นปี 62

นายณัฐพรกล่าวว่า ครม. มีมติเห็นชอบให้บุคคลธรรมดาและนิติบุคคลสามารถหักจ่ายค่าใช้จ่ายจากการบริจาคในกองทุนวิจัย พัฒนา และนวัตกรรม 4 กองทุน ได้แก่ กองทุนเพื่อการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ กองทุนสนับสนุนการวิจัย กองทุนเพื่อการพัฒนาระบบมาตรวิทยา และกองทุนเพื่อการพัฒนาระบบสาธารณสุข รายละเอียดดังนี้ (สำหรับการบริจาคที่ได้กระทำตั้งแต่วันที่กฎหมายมีผลใช้บังคับถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2562)

– กำหนดให้บุคคลธรรมดาสามารถนำเงินบริจาคมาหักลดหย่อนได้ 2 เท่าของจำนวนเงินที่บริจาค แต่เมื่อรวมกับค่าใช้จ่ายเพื่อสนับสนุนการศึกษาสำหรับโครงการที่กระทรวงศึกษาธิการให้ความเห็นชอบแล้ว ต้องไม่เกิน 10% ของเงินได้พึงประเมินหลังจากหักค่าใช้จ่ายและหักลดหย่อนอื่นๆ แล้ว

– กำหนดให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลสามารถนำเงินที่บริจาคมาหักรายจ่ายได้ 2 เท่าของจำนวนเงินที่บริจาค แต่เมื่อรวมกับรายจ่ายที่จ่ายไปเป็นค่าใช้จ่ายเพื่อสนับสนุนการศึกษาสำหรับโครงการที่กระทรวงศึกษาธิการให้ความเห็นชอบ และรายจ่ายในการจัดสร้างและการบำรุงรักษาสนามเด็กเล่น สวนสาธารณะ หรือสนามกีฬาของเอกชนที่เปิดให้ประชาชนใช้เป็นการทั่วไป โดยไม่เก็บค่าบริการใดๆ หรือสนามเด็กเล่น สวนสาธารณะหรือสนามกีฬาของทางราชการแล้ว ต้องไม่เกิน 10% ของกำไรสุทธิก่อนหักรายจ่ายเพื่อการกุศลสาธารณะหรือเพื่อการสาธารณประโยชน์ และรายจ่ายเพื่อการศึกษาหรือเพื่อการกีฬาตามมาตรา 65 ตรี (3) แห่งประมวลรัษฎากร ทั้งนี้ กระทรวงการคลังคาดว่ามาตรการยกเว้นภาษีดังกล่าวจะทำให้รัฐสูญเสียรายได้ราว 60 ล้านบาท

“เพื่อให้เป็นช่องทางในการระดมทุนสนับสนุนจากภาคเอกชนเพื่อใช้ในการทำวิจัย พัฒนา และนวัตกรรมให้มากยิ่งขึ้น และเป็นการสร้างแรงจูงใจในการบริจาคเข้ากองทุนภาครัฐที่ดำเนินการหรือสนับสนุนการวิจัย พัฒนา และนวัตกรรม อันจะทำให้ประเทศสามารถยกระดับขีดความสามารถทางด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม เพื่อก้าวไปสู่การเป็นประเทศที่มีความก้าวหน้าทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และทัดเทียมกับประเทศพัฒนาอื่นๆ โดยปัจจุบันประเทศไทยมีงบวิจัยประมาณ 0.7% ของจีดีพี เทียบกับประเทศที่พัฒนาแล้วหลายประเทศที่มีงบดังกล่าวสูงถึง 3-4% ของจีดีพี” นายณัฐพรกล่าว

ซื้อหุ้นกลุ่ม “Angel Investor” หักภาษีไม่เกิน 1 แสน

นายณัฐพรกล่าวว่า ครม. มีมติเห็นชอบยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาให้กับผู้ที่จ่ายเงินลงทุนในหุ้น เพื่อจัดตั้งหรือเงินลงทุนในหุ้นเพิ่มทุนของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลในวิสาหกิจเริ่มต้น (Startup) หรือ มาตรการภาษีสำหรับกลุ่ม Angel Investor จากเดิมที่ผ่าน ครม. มีมติเห็นชอบมาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมผู้ประกอบการรายใหม่ โดยยกเว้นภาษีเงินได้เป็นระเวลา 5 ปีเท่านั้น โดยบุคคลธรรมดาจะต้องเป็นบุคคลที่ลงทุนในหุ้น เพื่อจัดตั้ง หรือ ในหุ้นเพิ่มทุนของวิสาหกิจเริ่มต้น และจะต้องถือหุ้นนั้นอย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลาไม่น้อยกว่า 2 ปีนับแต่วันที่ลงทุนในหุ้น จึงจะได้รับสิทธิประโยชน์สามารถนำเงินลงทุนมาหักลดหย่อนได้ตามจำนวนที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 100,000 บาทสำหรับปีภาษีนั้น ระยะเวลาตั้งแต่ 1 มกราคม 2561 ถึง 31 ธันาคม 2562

ส่วนบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลต้องมีคุณสมบัติดังนี้ จัดตั้งตามกฎหมายไทย จดทะเบียนตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2558 ถึง 31 ธันวาคม 2562 มีทุนชำระแล้วในวันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชีไม่เกิน 5 ล้านบาท และมีรายได้จากการขายสินค้าและบริการในรอบระยะเวลาบัญชีไม่เกิน 30 ล้านบาท และจะต้องประกอบกิจการในอุตสาหกรรมเป้าหมาย 10 กลุ่ม เช่น อุตสาหกรรมเพื่อประหยัดพลังงาน อุตสาหกรรมวัสดุก้าวหน้า อุตสาหกรรมฐานการวิจัยพัฒนานวัตกรรม โดยใช้เทคโนโลยีหลักเป็นฐานในกระบวนการผลิตและการให้บริการตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดและได้รับการรับรอง นอกจากนี้ ยังต้องมีรายได้จากการขายสินค้าและการให้บริการหรือรายได้เกี่ยวเนื่องกับอุตสาหกรรมเป้าหมายรวมกันไม่น้อยกว่า 80% ของรายได้ทั้งหมด

จัดงบกลาง 2,105 ล้านบาท เสริมความเข้มแข็งศก. 7 โครงการ

นายณัฐพร กล่าวว่า ครม. มีมติเห็นชอบงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2560 งบกลาง รายการค่าใช้จ่ายส่งเสริมและสร้างความเข้มแข็งเศรษฐกิจภายในประเทศ ครั้งที่ 3 วงเงิน 2,105 ล้านบาทเศษ จากที่เสนอขอมาทั้งสิ้น 2,255 ล้านบาทเศษ เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน 7 โครงการ 7 หน่วยงาน ประกอบด้วย

    1) โครงการอนุรักษ์ 24 เมืองเก่าของกระทรวงมหาดไทย วงเงิน 110.4 ล้านบาท

    2) โครงการต่อยอดนวัตกรรมของกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งดำเนินการโดยมหาวิทยาลัย 3 แห่ง วงเงิน 1,106.24 ล้านบาท

    3) โครงการจัดซื้อระบบเอ็กซเรย์ตรวจหาวัตถุระเบิดที่จังหวัดภูเก็ตของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ วงเงิน 183 ล้านบาท

    4) โครงการหมู่บ้านโอทอปเพื่อการท่องเที่ยว 8 เส้นทางของกรมการพัฒนาชุมชน วงเงิน 641.53 ล้านบาท

    5) โครงการก่อสร้างทางจักรยานรอบบึงสีไฟของจังหวัดพิจิตร วงเงิน 65 ล้านบาท

สำหรับงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2560 งบกลาง รายการค่าใช้จ่ายส่งเสริมและสร้างความเข้มแข็งเศรษฐกิจภายในประเทศ มีจำนวนทั้งสิ้น 19,942 ล้านบาทเศษ ก่อนหน้านี้ ครม. มีมติอนุมัติให้ส่วนราชการใช้จ่ายไปแล้ว 6 ครั้ง วงเงินรวม 12,501 ล้านบาทเศษ โดยโครงการที่จะเสนอขอใช้งบประมาณในส่วนนี้จะต้องเป็นโครงการขนาดใหญ่ที่ดำเนินการอย่างครบวงจรตามห่วงโซ่คุณค่า หรือเป็นส่วนเสริมให้โครงการที่ส่วนราชการหรือหน่วยงานของรัฐดำเนินการอยู่แล้วให้มีความสมบูรณ์, เป็นโครงการที่ส่งผลให้เกิดการพัฒนาหรือแก้ไขปัญหาในพื้นที่อย่างเป็นระบบ ต่อเนื่อง และยั่งยืน, ไม่เป็นภารกิจประจำของหน่วยงานที่ดำเนินการต่อเนื่องอยู่แล้ว, ไม่ก่อให้เกิดภาระงบประมาณที่มีลักษณะเป็นรายจ่ายประจำ, ไม่เป็นการแจกวัสดุหรือสิ่งของแก่บุคคล, ดำเนินการถูกต้องตามกฎหมาย ระเบียบ และมติ ครม. ที่เกี่ยวข้อง, เป็นโครงการที่มีความพร้อมสามารถดำเนินการได้ทันที, มีการจัดทำแผนการปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายงบประมาณ

อนุมัติงบกลาง 290 ล้านบาท ซื้อเครื่องรูด “บัตรคนจน”

นายณัฐพรกล่าวว่า ครม. มีมติอนุมัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2560 งบกลาง วงเงิน 290.59 ล้านบาท ที่กระทรวงการคลังได้อนุมัติให้กันไว้เบิกเหลื่อมปีถึงวันทำการสุดท้ายของเดือนมีนาคม 2561 เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินโครงการจัดทำบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ เพิ่มเติมจากที่ ครม. เคยมีมติอนุมัติไว้เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2560 โดยแบ่งเป็นค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับติดตั้งและใช้งานเครื่องรับจ่ายเงิน EDC วงเงิน 288.39 ล้านบาท เนื่องจากร้านค้าที่สมัครเข้าร่วมโครงการฯ แต่ยังไม่ได้รับการวางเครื่องมีจำนวนมาก ซึ่งในปัจจุบันธนาคารกรุงไทยได้ดำเนินสำรองค่าใช้จ่ายไปก่อน และค่าใช้จ่ายในการบันทึกข้อมูลส่วนบุคคลและข้อมูลเพื่อการเติมเงินบัตรแมงมุมตั้งแต่เดือนธันวาคม 2560 – ตุลาคม 2561 วงเงิน 2.2 ล้านบาท ทั้งนี้ ปัจจุบันมีจำนวนร้านค้าธงฟ้าที่เข้าร่วมรายการทั้งสิ้น 18,789 แห่งทั่วประเทศ และมีวงเงินค่าใช้จ่ายจนถึงวันที่ 28 มกราคม 2561 วงเงิน 11,871 ล้านบาท

ไฟเขียวร่างกม.ตั้งกองทุนฯ แก้เหลื่อมล้ำทางการศึกษา

พล.ท. สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. มีมติเห็นชอบการให้ความช่วยเหลือสถานศึกษาของเอกชน ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์อุทกภัย ปี 2559 ตามที่กระทรวงศึกษาธิการเสนอ เนื่องจากเหตุอุทกภัยในพื้นที่ภาคใต้ ช่วงปลายปี 2559 ถึงต้นปี 2560 ก่อให้เกิดความเสียหายต่อสถานที่การศึกษาทั้งของภาครัฐและเอกชนจำนวนมาก ที่ผ่านมารัฐบาลให้ความช่วยเหลือโรงเรียนเอกชนในพื้นที่มาแล้ว 2 ครั้ง จำนวน 143 โรงเรียน ภายใต้งบประมาณ 13 ล้านบาท แต่ยังคงมีโรงเรียนที่ยังไม่ได้รับการช่วยเหลืออีกจำนวน 59 แห่ง วงเงินงบประมาณ 8.9 ล้านบาท

“สำหรับใช้ในการซ่อมแซมโรงเรียนจะใช้งบประมาณกลางรายจ่ายประจำปี พ.ศ. 2560 รายการเงินสำรองกรณีฉุกเฉินหรือกรณีที่จำเป็น และเนื่องจากพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) โรงเรียนเอกชน พ.ศ. 2550 ระบุว่า เมื่อรัฐไม่สามารถจัดโรงเรียนรองรับจำนวนนักเรียนได้ทั้งหมด รัฐต้องพึ่งพาอาศัยโรงเรียนเอกชน เมื่อมีความเสียหายเกิดขึ้น รัฐจึงจำเป็นต้องให้ความช่วยเหลือโรงเรียนเอกชนเหล่านี้ด้วย” พล.ท. สรรเสริญ กล่าว

พล.ท. สรรเสริญ กล่าวต่อไปว่า นอกจากนี้ ได้เห็นชอบร่างพระราชบัญญัติกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา โดยกองทุนดังกล่าวมีเป้าหมายสำคัญคือเป็นกองทุนให้กู้ยืมสำหรับบุคคลที่ไม่มีโอกาสทางการศึกษา แตกต่างจากกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) ที่สนับสนุนเงินทุนให้กับผู้เข้าถึงการศึกษาแต่ไร้เงินทุน โดยรัฐบาลจะเป็นผู้สนับสนุนเงินทุนประเดิม และจัดสรรเงินให้เป็นรายปี อย่างไรก็ตาม ครม. ยังไม่ได้กำหนดกรอบวงเงินสนับสนุนดังกล่าว โดยในส่วนของเงินประเดิมและเงินจัดสรรรายไปนั้นขอให้มีการจัดทำแผนที่ชัดเจนมานำเสนอต่อ ครม. ใหม่อีกครั้งหนึ่งก่อน

เห็นชอบมติ UNSC คว่ำบาตรเกาหลีเหนือต่อเนื่อง

พ.อ. อธิสิทธิ์ ไชยนุวัติ ผู้ช่วยโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ครม. ได้เห็นชอบการดำเนินการตามมติของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (UNSC) กรณีมาตรการลงโทษเกาหลีเหนือ โดยที่ผ่านมา ครม. มีมติเห็นชอบดำเนินการตามมติสหประชาชาติในการคว่ำบาตรเกาหลีเหนือไปแล้ว 10 ฉบับ ตั้งแต่ปี 2549 จนถึงปัจจุบัน และในครั้งนี้เป็นฉบับที่ 11 เพื่อเป็นการตอบโต้การประกาศความสำเร็จของเกาหลีเหนือในการทดลองระเบิดไฮโดรเจน เมื่อวันที่ 28 พ.ย. 2560 และการทดลองขีปนาวุธข้ามทวีปของรัฐบาลเกาหลีเหนือ

โดยมติดังกล่าวมีสาระสำคัญคือ จะมีการอายัดเงิน สินทรัพย์อื่นๆ และทรัพยากรทางเศรษฐกิจของบุคคล หรือองค์กรที่อยู่ในบัญชีรายชื่อตามที่กำหนดไว้ ต้องไม่จัดหา จำหน่าย หรือถ่ายโอนสิ่งของ เช่น น้ำมันดิบ ปิโตรเลียมกลั่น อาหาร ผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร เครื่องจักร เครื่องใช้ไฟฟ้า และแมกนีเซียม ยึดตรวจค้นและอายัดเรือในท่าเรือใดๆ ที่อยู่ภายใต้เขตอำนาจ หรืออยู่ทะเลอาณาเขตของตน หากเรือดังกล่าวเกี่ยวข้องกับกิจกรรม หรือการขนส่งต้องห้ามตามมตินี้ อย่างไรก็ตาม ทางการไทยจะต้องรายงานการปฏิบัติตามมาตรการลงโทษต่อสหประชาชาติภายใน 90 วัน นับแต่วันที่ได้รับรองข้อมตินี้ ขณะที่กระทรวงการต่างประเทศระบุว่า การดำเนินตามมาตรการต่างๆ ของฝ่ายไทยจะต้องสอดคล้องกับกฎหมายภายในประเทศ รวมถึงพันธกรณีกับประเทศที่เกี่ยวข้อง โดยจะเน้นในเรื่องของการเฝ้าระวังและป้องปราม

เดินสายครม.สัญจรจันทบุรี-ตราด 5-6 ก.พ.นี้

พ.อ.หญิง ทักษดา สังขจันทร์ ผู้ช่วยโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า นายกรัฐมนตรีมีกำหนดการที่จะเดินทางไปตรวจราชการจังหวัดตราดและจังหวัดจันทบุรี รวมทั้งประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่ ครั้งที่ 1/2561 ณ จังหวัดจันทบุรี ระหว่างวันจันทร์ที่ 5 – วันอังคารที่ 6 กุมภาพันธ์ 2561 โดยนายกรัฐมนตรี และคณะจะออกเดินทาง เวลา 07.00 น. จากท่าอากาศยานทหาร 2 กองบิน 6 (บน.6) ดอนเมือง กรุงเทพฯ ไปยังท่าอากาศยานตราด ตำบลท่าโสม อำเภอเขาสมิง จังหวัดตราด เพื่อเดินทางต่อไปยังศูนย์การเรียนรู้พิพิธภัณฑ์บริหารจัดการน้ำและป่าชายเลน ชุมชนบ้านเปร็ดใน ตำบลห้วงน้ำขาว อำเภอเมือง จังหวัดตราด ซึ่งเป็นชุมชนตัวอย่างในเรื่องการบริหารจัดการป่าชายเลน การอนุรักษ์พันธุ์สัตว์น้ำด้วยตนเองของชุมชน การท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์อย่างยั่งยืน และชุมชนต้นแบบการบริหารตัดการระบบสัจจะออมทรัพย์ จากนั้นจะเดินทางไปยังศูนย์รักษาความปลอดภัยทางทะเล กองทัพเรือ (เกาะช้าง) เพื่อรับฟังข้อเสนอการพัฒนาเกาะช้าง และเยี่ยมชมจุดท่องเที่ยวและพบปะนักท่องเที่ยว ณ หาดคลองพร้าว

ในช่วงบ่าย นายกรัฐมนตรีจะเดินทางไปยังชุมชนริมน้ำจันทบูร ตำบลวัดใหม่ อำเภอเมือง จังหวัดจันทบุรี เพื่อเยี่ยมชมวิถีชีวิตชุมชนริมน้ำจันทบูรและวิสาหกิจเพื่อสังคม ตลาดเก่าริมน้ำจันทบูร บ้านเรียนรู้ชุมชน บ้านพักประวัติศาสตร์หลวงราชไมตรี และชุมชนท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม จากนั้น นายกรัฐมนตรีจะเดินทางไปเป็นประธานการประชุมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมภาคตะวันออก (Working Dinner) ณ ห้องประชุมแกรนด์บอลรูม โรงแรมมณีจันท์ รีสอร์ท

สำหรับวันอังคารที่ 6 กุมภาพันธ์ 2561 นายกรัฐมนตรีจะเป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่ ครั้งที่ 1/2561 ณ ห้องประชุมแก้ววิทยาการ ชั้น 7 อาคารคณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฏรำไพพรรณี และในช่วงบ่าย นายกรัฐมนตรีและคณะจะเดินทางไปยังสหกรณ์การเกษตรมะขาม จำกัด ตำบลมะขาม อำเภอมะขาม จังหวัดจันทบุรี เพื่อเยี่ยมชมกระบวนการบริหารจัดการผลไม้อย่างครบวงจรเพื่อมุ่งสู่การเป็น “มหานครผลไม้โลก” และพบกลุ่มเกษตรกรผู้ประกอบการแปรรูปผลไม้ ก่อนเดินทางกลับกรุงเทพมหานครในเย็นวันเดียวกัน