ThaiPublica > เกาะกระแส > “บิ๊กตู่” แจง “ประชาธิปไตยไทยนิยม” ยันไม่คิดหาเสียง-นั่งนายกฯต่อ – มติ ครม. จัด “งบกลางปี 61” เพิ่ม 1.5 แสนล้าน

“บิ๊กตู่” แจง “ประชาธิปไตยไทยนิยม” ยันไม่คิดหาเสียง-นั่งนายกฯต่อ – มติ ครม. จัด “งบกลางปี 61” เพิ่ม 1.5 แสนล้าน

16 มกราคม 2018


พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ
ที่มาภาพ: www.thaigov.go.th

เมื่อวันที่ 16 มกราคม 2560 ที่ทำเนียบรัฐบาลมีการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดยมี พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นประธาน โดยในช่วงเช้าก่อนการประชุม ครม. นายกรัฐมนตรีได้เป็นประธานในพิธีงานวันครูที่กระทรวงศึกษาธิการ

แจง “ประชาธิปไตยไทยนิยม” ไม่ทิ้งหลักสากล

พล.อ. ประยุทธ์ ตอบคำถามถึงนิยามของคำว่า “ประชาธิปไตยไทยนิยม” ที่กล่าวเมื่องานวันเด็กที่ผ่านมาว่า เรื่องประชาธิปไตยไทยนิยม มีหลายคนไปบิดเบือนว่าจะเป็นการไม่ไปสู่ประชาธิปไตยสากลหรือไม่ หรือจะเป็นแบบที่เป็นอยู่ในวันนี้ ไม่ใช่เลยนะครับ เพราะไม่ว่าประชาธิปไตยแบบใดก็ตามจะต้องไม่ทิ้งกลไกหรือทิ้งสาระสำคัญของประชาธิปไตยอันเป็นสากล ไม่ว่าจะเป็นการเลือกตั้ง การได้รัฐบาลที่มีธรรมาภิบาล โปร่งใสและเป็นธรรม เพราะเราเป็นประเทศที่มีประชาธิปไตยโดยมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข เพราะฉะนั้น อย่าไปกังวลว่าไทยนิยมคือไทยนิยมของตน ตนยืนยันว่า ไทยนิยม นี้คือคนไทยทั้งหมดที่นิยมประชาธิปไตยที่ถูกต้อง

“ที่ผมต่อเติมว่าเป็นแบบ ‘ไทยนิยม’ นั้นเพราะประเทศไทย ต้องสังเกตดูว่าประเทศไทยหากจะทำอะไรให้สำเร็จจะต้องสร้างจุดร่วมกันให้ได้ จึงได้ใช้แนวคิดของผมว่า คนไทยนั้นคืออะไรที่ชอบก็ชอบ สนับสนุนตลอดทุกอย่าง อะไรที่ไม่ชอบก็ไม่สนับสนุน ดังนั้นจึงต้องหาประชาธิปไตยที่คนไทยทั้งหมดทุกกลุ่ม ทุกฝ่ายเข้าใจ และมีอุดมการณ์อันเดียวกันที่จะทำให้ประเทศชาติเรามั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน นี่คือประชาธิปไตยแบบไทยนิยมของผม” นายกรัฐมนตรีกล่าว

พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวต่อไปว่า ตนในนามหัวหน้ารัฐบาล ในนามหัวหน้า คสช. ตนมีตำแหน่งเยอะ แต่ตนก็คือตน มีเจตนาอันบริสุทธิ์ที่จะทำให้บ้านเมืองปลอดภัย ใครคิดว่าปลอดภัยอยู่แล้วก็โอเค ใครที่คิดยังไม่ปลอดภัยตนก็ทำให้ ก็แล้วแต่คนจะคิด ห้ามความคิดคนไม่ได้

ยันไม่เคยคิดหาเสียง – หวังนั่งนายกฯต่อ

พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวว่า ตัวเองไม่เคยคิดหาเสียง เพื่อให้ได้เป็นนายกรัฐมนตรีต่อ แต่ที่ทำก็เพื่อความสุขของประชาชนไม่ใช่การเมือง ซึ่งช่วงนี้มีหลายปัญหา และล่าสุดได้มีการตั้งคณะทำงานดำเนินการเชื่อมโยงกันทั้งในเรื่องปรองดอง แก้ไขความยากจน โดยใช้ชุดแบบสอบถามกว่า 7,000 ชุด ซึ่งใช้สูตรเดียวกับประเทศจีน พร้อมชี้แจงว่าโครงการลงทะเบียนผู้มีรายได้น้อยเฟส 2 นั้นไม่ใช่เป็นการจ่ายเงิน แต่ทุกคนต้องมาแจ้งความประสงค์ว่าจะทำอะไรจึงจะเพิ่มเงินได้ โดยยืนยันว่าไม่เคยทำเพื่อเป็นเรื่องการเมือง และไม่ได้เป็นการจ่ายเงินเพื่อประชาชน แต่เป็นการสร้างแรงจูงใจให้ประชาชนมาลงทะเบียน

นอกจากนี้ พล.อ. ประยุทธ์ ได้กล่าวถึงการใช้จ่ายงบประมาณประจำปี เนื่องจากวันนี้ ครม. มีมติเห็นชอบการจัดทำงบประมาณเพิ่มเติม (งบกลางปี) อีก 1.5 แสนล้านบาท โดยยืนยันว่าจะใช้งบประมาณของแผ่นดินอย่างคุ้มค่าและโปร่งใสที่สุด รวมถึงการตั้งวงเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2562 นั้นทุกอย่างตนได้ปรึกษาหารือฝ่ายกฎหมาย กฤษฎีกากระทรวงการคลังทั้งหมด สามารถทำได้ พร้อมยืนยันอีกครั้งว่าจะใช้จ่ายอย่างคุ้มค่าและโปร่งใส

เมื่อถามถึงกรณีที่สื่อโซเชียลวิพากษ์วิจารณ์กระเป๋าถือของนางนราพร จันทร์โอชา ภริยาของตนเอง ว่าเป็นกระเป๋าแอร์เมส ราคากว่า 2 ล้านบาท พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวว่า “ก็เป็นกระเป๋าของศูนย์ศิลปาชีพไง”

ปฏิเสธพักงาน “บิ๊กป้อม” รอกลไกการตรวจสอบ

พล.อ. ประยุทธ์  ตอบคำถามกรณีนายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย เสนอให้พักงาน พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เพื่อให้มีการตรวจสอบเรื่องนาฬิกาหรู รวมทั้งนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ก็เสนอให้ดูตัวอย่างนายวิทยา แก้วภราดัย และนายวิฑูรย์ นามบุตร ที่ลาออกให้ตรวจสอบ เพื่อไม่ให้เป็นภาระของรัฐบาล ว่า เรื่องนาฬิกาหรืออะไรต่างๆ ที่มีนักการเมืองออกมาพูดด้วยนั้น ต้องให้กลไกดำเนินการตรวจสอบให้ชัดเจน ดังนั้นช่วงนี้อย่าใช้วาทกรรมเหล่านี้มาสร้างเวทีทางการเมือง และ พล.อ. ประวิตร ก็พร้อมที่จะตอบเรื่องเหล่านี้ด้วยตัวเอง ฉะนั้นอย่ามาถามตน

ปัดส่ง “ประจิณ” เจรจาพักโทษกำนันเป๊าะ

พล.อ. ประยุทธ์ ตอบคำถามกรณีที่มีกระแสข่าวว่า พล.อ.อ. ประจิณ จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เข้าหารือกับกลุ่มพลังชลเพื่อต่อรองให้สนับสนุน พล.อ. ประยุทธ์ เป็นนายกฯ โดยมีเงื่อนไขเรื่องการพักโทษกำนันเป๊าะ โดยปฏิเสธว่า “เรื่องหารือกับกลุ่มการเมืองเพื่อต่อรองเงื่อนไขต่างๆ นั้นไม่จริง  ใครจะไปทำแบบนั้น ขอให้ไปดูกติกาหลักเกณฑ์ในการพักโทษว่าเป็นอย่างไร เขามีกติกาอยู่ ใครจะเอาเรื่องเหล่านี้ไปเจรจาได้”

งัดกม.ค้ามนุษย์เอาผิดอาบอบนวด-ขรก. – หวังสหรัฐฯ ปรับไทยขึ้น “เทียร์2”

พล.อ. ประยุทธ์ ตอบคำถามกรณีที่เจ้าหน้าที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) บุกจับสถานอาบ อบ นวด วิคตอเรียซีเครท ซอยศูนย์วิจัย 4 ถนนพระราม 9 พบมีการค้ามนุษย์ โดยบังคับหญิงชาวเมียนมาค้าประเวณีว่า ตนได้ให้แนวทางไปแล้วว่า ให้ทุกหน่วยงานทำตามกฎหมายให้ชัดเจน โดยเฉพาะกฎหมายเกี่ยวกับการค้ามนุษย์ ซึ่งมีความผิดทั้งผู้ประกอบการและผู้สนับสนุนผู้ประกอบการจะต้องถูกลงโทษหมด รวมไปถึงเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องก็ต้องถูกลงโทษหมด

“วันนี้ผมสั่งไปแล้วให้ย้ายเจ้าหน้าที่ออกมาก่อน แล้วทำการสอบสวนทุกเรื่อง เราต้องให้เกิดความชัดเจน ขณะนี้ก็กำลังให้เขาตรวจสอบทั้งหมดและขยายผล ขอเตือนที่อื่นด้วยอย่าให้มี ส่วนเรื่องของสถานการณ์การค้ามนุษย์ที่ไทยจะขอปรับจากเทียร์ 2.5 เป็นเทียร์ 2 นั้นเป็นเรื่องที่น่ายินดี ซึ่งเราก็มีความคาดหวัง แต่เราก็ต้องทำของเราให้ดีที่สุด เราก็คาดหวังได้ แต่เรื่องนี้ก็เป็นเรื่องของคณะกรรมการ และเรื่องของต่างประเทศ” นายกรัฐมนตรีกล่าว

พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวต่อไปว่า อีกเรื่องที่น่ายินดีคือ กรณีที่สำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐอเมริกา (USTR) ได้ออกรายงานทบทวนรายชื่อตลาดที่มีการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาสูงทั่วโลก ประจำปี 2560 ซึ่งไม่ปรากฏย่านการค้าและศูนย์การค้าในประเทศไทยเป็นตลาดที่มีการละเมิดสูงแม้แต่แห่งเดียว แสดงให้เห็นผลงานของรัฐบาลในการจับกุม การกวาดล้างต่างๆ ที่ผ่านมาไม่มีใครทำได้เลย การปราบปรามการทำผิดต่างๆ รวมทั้งการค้ามนุษย์ทุกอย่างต้องเดินหน้าไปทั้งหมด

ชี้ ปชช. ล่ารายชื่อไม่ได้ยกเลิก คำสั่ง คสช. ทุกฉบับ

พล.อ. ประยุทธ์ ตอบคำถามกรณี 24 เครือข่ายภาคประชาสังคมเตรียมล่ารายชื่อ 1 หมื่นรายชื่อ เพื่อยกเลิกประกาศและคำสั่ง คสช. 35 ฉบับว่า กรณีดังกล่าวต้องไปดูว่าจะยกเลิกประกาศและคำสั่ง คสช. ฉบับใดบ้าง เพราะมีกำสั่ง คสช. ออกมากว่า 100 เรื่อง

“เขาไม่ได้เสนอยกเลิกทุกเรื่อง แต่เสนอยกเลิกประกาศ หรือ คำสั่งที่เข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ต้องไปดูตรงนั้น ไปดูว่ากฎหมายที่ออกมามีวัตถุประสงค์เพื่ออะไร ใครเป็นผู้ได้ประโยชน์ เสียประโยชน์ ก็มีเยอะแยะ เราต้องมีหลักคิด” นายกรัฐมนตรีกล่าว

แจง ตั้งอดีต 8 รมต. นั่งที่ปรึกษาช่วยงานรัฐบาล

พล.อ. ประยุทธ์ ตอบคำถามถึงบทบาทหน้าที่ของอดีต 8 รัฐมนตรีที่นายกรัฐมนตรีแต่งตั้งเป็นคณะกรรมการที่ปรึกษาผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษว่า กรณีดังกล่าวเป็นการใช้ความรู้ความสามารถของคนเหล่านี้ที่ทำงานร่วมกันมา เนื่องจากเป็นคนที่เคยร่วมงานกัน เขารับทราบปัญหาต่างๆ ดี จึงเป็นการให้ความช่วยเหลือและสนับสนุนการทำงานของรัฐบาลและนายกรัฐมนตรี ในการชี้แจง การทำความเข้าใจ ในการประชาสัมพันธ์

“ก็ถือว่าทุกคนเป็นครอบครัวของผม และเป็นครอบครัวในการทำงานของผม ซึ่งไม่ใช่เพื่อผลประโยชน์ใดๆ ทั้งสิ้น เท่าที่ผ่านมาดูแล้วก็ไม่เคยมีใครได้ผลประโยชน์จากการเป็นรัฐมนตรีของผมแม้แต่ครั้งเดียว” นายกรัฐมนตรีกล่าว

มอบ “วีรชัย” ประชุมหารือ เพิ่มแรงกดดัน “โสมแดง”

พล.อ. ประยุทธ์ ตอบคำถามกรณีการเข้าร่วมประชุมเพื่อหารือแนวทางการเพิ่มแรงกดดันต่อเกาหลีเหนือของรัฐมนตรีต่างประเทศ ณ นครแวนคูเวอร์ ประเทศแคนาดา ว่า ได้มอบหมายให้นายวีรชัย พลาศรัย เอกอัครราชทูต และคณะผู้แทนถาวรไทย ประจำสหประชาชาติ ณ นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา เป็นผู้แทนในการเข้าร่วมการประชุมครั้งนี้ เนื่องจากนายดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ มีกำหนดการเดินทางเยือนบรูไนดารุสซาลามอย่างเป็นทางการ และมีกำหนดเข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท สมเด็จพระราชาธิบดีแห่งบรูไนฯ จึงไม่สามารถเข้าร่วมในการประชุมได้ อย่างไรก็ตาม นายกรัฐมนตรีได้กำชับว่า แนวทางจัดการความขัดแย้งต่างๆ ต้องเป็นไปโดยสันติวิธี

ชี้อำนาจตีความกฎหมายป.ป.ช.เป็นเรื่องของ สนช.

พล.อ. ประยุทธ์ ตอบคำถามกรณีที่มีการร้องเรียนให้นายกรัฐมนตรีส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. …. ในเรื่องของอายุคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ว่าขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ว่า เรื่องดังกล่าวขั้นตอนยังไม่มาสู่ขั้นตอนของตน ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.)

“เรื่องนี้ สนช. เขาทำเองได้ ก็ฟ้องได้ เว้นแต่ว่า หากส่งกลับมาที่ตนเพื่อเสนอโปรดเกล้าฯ ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง ซึ่งผมต้องพิจารณาอีกครั้ง เพราะเป็นเรื่องสำคัญ” นายกรัฐมนตรี กล่าว

ปัดไม่รู้ ปลูกกัญชา 5,000 ไร่ ย้ำต้องศึกษาให้รอบครอบ

พล.อ. ประยุทธ์ ตอบคำถามกรณีการปลูกกัญชา 5,000 ไร่ ใน จ.สกลนคร เพื่อใช้สกัดยา ว่า ตนเองก็เพิ่งจะทราบเรื่องวันนี้ และไม่รู้ว่ามาได้อย่างไร ทั้งนี้ตนได้สอบถามไปยังกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) แล้วเขาบอกว่าไม่มีการออกประกาศ หรือ กฎกระทรวงในเรื่องที่ว่านี้เลย ส่วนเป็นเรื่องที่ใครไปคิดเองหรือไม่นั้นตนไม่รู้ อย่างไรก็ตาม เราต้องไปดูว่าในต่างประเทศทำเรื่องที่เกี่ยวกับกัญชาอย่างไรบ้าง ก็ขอให้ไปติดตามดูแล้วกัน ทั้งการปลูกกัญชาและกัญชง

“กรณีของกัญชง แม้ได้มีการอนุญาตให้ปลูกเพื่อนำมาทำเครื่องนุ่งห่ม แต่ต้องมีการควบคุมให้ได้ด้วย เพราะเป็นพืชที่มีสารเสพติด ซึ่งกัญชงมีสารเสพติดน้อยกว่ากัญชา แต่ในต่างประเทศ เช่น ประเทศสหรัฐอเมริกา มีการปลูกกัญชากันมากเพื่อนำไปใช้ทำยารักษาโรค แต่ในส่วนของไทย การจะทำอะไรนั้นต้องมีมาตรการควบคุมชัดเจนในการป้องกันการแพร่ระบาดของยาเสพติดทุกประเภท และในเมื่อตอนนี้การอนุญาตให้ปลูกกัญชายังเป็นสิ่งที่คนไทยยังรับไม่ได้ ตนคิดว่าต้องมีการศึกษาไปเรื่อยๆ ก่อน” นายกรัฐมนตรีกล่าว

มติ ครม. มีดังนี้

นายณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์, นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และ พ.อ. อธิสิทธิ์ ไชยนุวัติ ผู้ช่วยโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ที่มาภาพ: www.thaigov.go.th

ผ่อนผันแรงงานต่างด้าวอยู่รอพิสูจน์สัญชาติถึง มิ.ย.นี้

นายอนุรักษ์ ทศรัตน์ อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าวว่า ครม. มีมติขยายระยะเวลาพำนักของแรงต่างด้าวออกไปเป็นภายในเดือนมิถุนายน 2561 เพื่อให้สามารดำเนินการพิสูจน์สัญชาติจนแล้วเสร็จ โดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 17 แห่งพระราชบัญญัติคนเข้าเมืองผ่อนผันชั่วคราว โดยแรงงานจะต้องไปลงทะเบียนหรือปรับปรุงทะเบียนกับกรมการปกครองตามศูนย์ one-stop ที่รัฐบาลจะจัดตั้งในทุกจังหวัด ก่อนจะเร่งดำเนินการพิสูจน์สัญชาติต่อไป

ทั้งนี้ ในปีที่ผ่านมากระทรวงต้องพิสูจน์สัญชาติของแรงงานต่างด้าวจำนวน 2 ล้านคน แต่ตั้งแต่เดือนกรกฎาคมถึงเดือนธันวาคม 2560 สามารถพิสูจน์ได้เพียง 1,187,411 รายเท่านั้น และเหลือแรงงานอีก 811,829 ราย โดยเป็นคนกัมพูชา ประมาณ 400,000 ราย คนเมียนมา 300,000 ราย และคนลาว 130,000 ราย ซึ่งส่วนใหญ่ติดปัญหาด้านเอกสารจากประเทศต้นทางที่ขาดความพร้อมด้านบุคคลากรและเครื่องมือต่างๆ จึงต้องขยายระยะเวลาผ่อนผันการพำนักในประเทศต่อไป โดยหลังจากนี้กระทรวงจะร่วมมือประสานงานกับประเทศต้นทางเรื่องทรัพยากรที่ต้องใช้ในการพิสูจน์สัญชาติและเชื่อว่าจะแล้วเสร็จก่อนระยะเวลาผ่อนผัน 6 เดือน

“กรอบการทำงานคือตอนนี้แรงงานต่างด้าวที่รอพิสูจน์สัญชาติมีสถานะเข้าเมืองอย่างผิดกฎหมาย จึงต้องให้มาขึ้นหรือปรับปรุงทะเบียนกับกรมการปกครองเพื่อผ่อนผันตามกฎหมายคนเข้าเมือง พอพิสูจน์สัญชาติแล้วเสร็จจะสามารขอวีซ่าได้ถูกต้องและมีสถานะเข้าเมืองอย่างถูกกฎหมาย หลังจากนั้นจะสามารถขอใบอนุญาติทำงานอย่างถูกกฎหมายต่อไป โดยจะอนุญาตจนถึงมีนาคม 2563 หรืออีก 2 ปี” นายอนุรักษ์กล่าว

ตั้งคณะกรรมการแก้จน – ลดเหลื่อมล้ำ จัดทีมลงพื้นที่ทุกตำบล

ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าว ครม. มีมติแต่งตั้งคณะกรรมการอำนวยการขับเคลื่อนการมีส่วนร่วมเพื่อพัฒนาประเทศไทยไปสู่ความยั่งยืน เพื่อแก้ปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำ มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน และรองนายกรัฐมนตรีทุกคนเป็นรองประธาน ทั้งนี้ คณะกรรมการชุดนี้จะขับเคลื่อนประเทศไทยไปสู่การมีส่วนร่วม โดยเน้น 8 เรื่องสำคัญ คือ

1) การดำเนินการตามสัญญาประชาคม

2) คนไทยไม่ทิ้งกัน โดยเฉพาะการลงทะเบียนผู้มีรายได้น้อย

3) เมืองไทยน่าอยู่ พัฒนาความเป็นอยู่ อาชีพที่นำไปสู่รายได้ต่างๆ

4) วิถีไทยพอเพียง

5) การรู้สิทธิ รู้หน้าที่

6) การรู้กลไกบริหารราชการ

7) รู้รักประชาธิปไตย

8) รู้เท่าทันเทคโนโลยี ซึ่งการดำเนินงานจะลงไปสู่ ตำบล อำเภอ หมู่บ้าน และมีทีมขับเคลื่อนไทยยั่งยืนจำนวน 7,463 ทีม ตามจำนวนตำบลและเทศบาล ซึ่งจะมีการดำเนินการหารือกันเพิ่มเติมในสัปดาห์หน้า และจะเร่งดำเนินการในช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์เป็นต้นไป นอกจากนี้ ครม. ได้หารือเรื่องงบประมาณเกี่ยวกับคณะกรรมการดังกล่าว ซึ่งได้ตัดสินใจว่าจะมีงบกลางปี เป็นงบการจ่ายเพิ่มเติมปี 2561 ซึ่งรายละเอียดนายณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์จะเป็นผู้แถลงรายละเอียด

อนุมัติ VISA ใหม่ ดึงต่างชาติ พัฒนาอุตสาหกรรมไทย

ดร.กอบศักดิ์กล่าวว่า ครม. มีมติเห็นชอบในรายละเอียดของโครงการ Smart VISA เพื่อดึงดูดบุคลากรต่างชาติที่มีความสามารถเข้ามาวิจัยหรือพัฒนาอุตสาหกรรมตามอุตสาหกรรมเป้าหมาย 10 อุตสาหกรรมของรัฐบาล โดยแบ่งเป็น 4 ประเภท ได้แก่

    1) T สำหรับกลุ่มผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน หรือ Talent ที่ผ่านหลักเกณฑ์มาวิจัยพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ โดยจะได้รับ VISA อย่างมากสุด 4 ปีต่อครั้งและเพิ่มระยะเวลารายงานตัวจากทุก 90 วันเป็นทุกปีและสามารถทำงานได้โดยไม่ต้องขอใบอนุญาติทำงาน แต่ห้ามประกอบอาชีพที่กำหนดไว้ในประกาศแนบท้าย นอกจากนี้ ยังได้สิทธิที่ไม่ต้องขอ re-entry permit ในกรณีที่เดินทางออกและจะกลับข้ามาในประเทศใหม่ รวมทั้งยังให้ VISA แก่คู่สมรสและบุตรธิดาด้วย

    2) I สำหรับนักลงทุน หรือ Investor โดยมีหลักเกณฑ์เบื้องต้นว่าต้องมาลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายอย่างน้อย 20 ล้านบาท โดยให้สิทธิเหมือน VISA แบบ T แต่ยกเว้นสิทธิการทำงานแก่ครอบครัว โดยจะต้องอนุญาตใหม่ผ่านช่องทางพิเศษ หรือ Fast Track

    3) E สำหรับผู้บริหาร หรือ Executive โดยมีหลักเกณฑ์เบื้องต้นว่าจะต้องมีประสบการณ์บริหารมากกว่า 10 ปี ดำรงตำแหน่งประธานกรรมการ กรรมการผู้จัดการ โดยให้สิทธิเหมือน VISA แบบ T แต่ยกเว้นสิทธิการทำงานแก่ครอบครัว โดยจะต้องอนุญาตใหม่ผ่านช่องทางพิเศษ หรือ Fast Track เช่นเดียวกัน

    4) S สำหรับผู้ประกอบการสตาร์ทอัพ หรือ Startup โดยมีหลักเกณฑ์ว่าจะต้องมีเงินฝากในประเทศอย่างน้อย 600,000 บาท มีประกันสุขภาพ ต้องเข้าร่วมโครงการบ่มเพาะ Startup หรือ Startup accelerator ตามที่รัฐบาลรับรอง และต้องตั้งบริษัทภายใน 1 ปีและถือหุ้นมากกว่า 25% โดยจะได้ VISA ครั้งแรก 1 ปีและต่ออายุครั้งละ 2 ปี รวมถึงสิทธิอื่นๆ โดยไม่ได้ให้สิทธิแก่ครอบครัวเช่นกัน

“ที่ผ่านมาชาวต่างชาติจะมีปัญหาว่าต้องคอยมารายงานตัวทุก 90 วัน ซึ่งสร้างภาระแก่นักลงทุนและบุคลากรที่มีความสามารถต่างๆ ในประเทศ ครั้งนี้จึงเป็นการแก้ไขเพื่อดึงดูดบุคลากรเก่งๆ มาช่วยพัฒนาประเทศไทย โดยคาดว่าจะมีมาประมาณ 1,000 คน และไม่น่าจะกระทบกับการทำงานของคนไทย เนื่องจากมีประกาศท้ายอาชีพที่สงวนไว้ด้วย ทั้งนี้คาดว่าจะเริ่มได้ในเดือนกุมภาพันธ์นี้” ดร.กอบศักดิ์กล่าว

เน้นสื่อสารเชิงรุก จัดงาน meet the press

ดร.กอบศักดิ์กล่าวอีกว่า รัฐบาลจะยกระดับการสื่อสารด้วยการจัดงาน Meet the Press เป็นครั้งแรก โดยจะเชิญรัฐมนตรีกระทรวงต่างๆ มาพบปะกับสื่อมวลชนให้ได้ซักถามประเด็นต่างๆ ทั้งนี้ รูปแบบการจัดงานจะให้สื่อมวลชนคัดเลือกตัวแทนขึ้นมานำการซักถามพูดคุยบนเวที ขณะที่สื่อมวลชนรายอื่นๆ จะร่วมพูดคุยได้ด้วยเช่นกัน อนึ่ง งาน Meet the Press ครั้งแรกจะจัดขึ้นในวันที่ 18 มกราคม 2561 กับ ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม

ยันไม่ลดบทบาท ปตท.-กฟผ.

ดร.กอบศักดิ์กล่าวถึงกรณีที่มีการวิพากษ์วิจารณ์ว่ารัฐบาลมีเป้าหมายในการลดบทบาทของบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ว่า ขอยืนยันว่าเรื่องดังกล่าวไม่เป็นความจริงอย่างแน่นอน เพราะรัฐบาลยังตั้งใจที่จะให้ทั้งสองหน่วยงานทำงานตามหน้าที่อย่างเข้มแข็งเหมือนเดิม โดยต้องการให้เป็นการทำธุรกิจที่มีการแข่งขันกันในตลาดอย่างเหมาะสม ไม่ผูกขาด เพื่อให้ประชาชนได้รับบริการที่ดีมากขึ้น

“ยืนยันว่ารัฐบาลไม่มีนโยบายที่จะลดบทบาทของ ปตท. และ กฟผ. แต่อย่างใด จึงไม่อยากให้มีการนำไปพูดต่อกันแบบนั้น คงมีการนำมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ปีก่อนไปตีความ แต่รัฐบาลอยากจะชี้แจงในส่วนนี้ว่า ปตท. และ กฟผ. ยังคงทำหน้าที่ต่ออย่างเข้มแข็ง แต่เพียงอยากให้มีการแข่งขันกันในธุรกิจที่เหมาะสม อาจจะมีผู้บริการรายใหม่ขึ้นมา ตรงนี้ก็ต้องไปดูว่าเป็นไง การมีผู้ให้บริการที่หลากหลาย จะทำให้ประชาชนได้รับบริการที่หลากหลายด้วย” ดร.กอบศักดิ์กล่าว

เพิ่มลดหย่อนภาษีบุตรตั้งแต่คนที่ 2 คนละ 30,000 บาท

นายณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า ครม. มีมติเห็นชอบมาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการมีบุตร โดยอนุมัติหลักการร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร และร่างกฎกระทรวงออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร ทั้งนี้ สาระสำคัญของร่าง พ.ร.บ.แก้ไขประมวลรัษฎากร คือกำหนดให้ปรับเพิ่มค่าลดหย่อนบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายตั้งแต่คนที่ 2 เป็นต้นไปของผู้มีเงินได้หรือของสามีหรือภริยาของผู้มีเงินได้ ซึ่งเกิดตั้งแต่ปี 2561 เป็นต้นไป โดยให้หักลดหย่อนได้เพิ่มอีก 30,000 บาทต่อคนต่อปีภาษี และให้ใช้บังคับสำหรับเงินได้พึงประเมินประจำปีภาษี 2561 ที่ต้องยื่นรายการในปี 2562 เป็นต้นไป ขณะที่ร่างกฎกระทรวงฯ มีสาระสำคัญเป็นการกำหนดให้ผู้มีเงินได้หรือคู่สมรสสามารถนำค่าฝากครรภ์หรือค่าคลอดบุตรไปหักค่าลดหย่อนในการคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตามจำนวนที่จ่ายจริงสำหรับการตั้งครรภ์แต่ละคราว แต่ไม่เกิน 60,000 บาท สำหรับค่าฝากครรภ์และค่าตลอดบุตรที่จ่ายไปตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2561 เป็นต้นไป อย่างไรก็ตาม สิทธิการหักลดหย่อนดังกล่าวให้เฉพาะผู้ที่ไม่ได้มีการเบิกจ่ายค่าใช้จ่ายในการฝากครรภ์ หรือคลอดบุตรจากแหล่งอื่น ๆ เช่น สิทธิประกันสังคม สิทธิข้าราชการ เป็นต้น

“มาตรการดังกล่าวเพื่อจูงใจให้คนไทยมีบุตรเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มเป้าหมายที่เป็นผู้มีรายได้และอยู่ในระบบภาษี และยังเป็นการสนับสนุนให้บุตรได้รับการเลี้ยงดูและเติบโตอย่างมีคุณภาพ อันจะทำให้ประเทศไทยมีกำลังแรงงานที่มีคุณภาพในการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศในระยะยาว รวมทั้งยังเป็นการเป็นการเตรียมพร้อมเพื่อเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ทั้งนี้ กระทรวงการคลังประเมินว่ามาตรการดังกล่าวจะส่งผลทำให้รัฐสูญเสียรายได้ประมาณปีละ 2,500 ล้านบาทต่อปี แบ่งเป็นค่าลดหย่อนบุตรประมาณปีละ 1,500 ล้านบาท และค่าฝากครรภ์ ค่าคลอดบุตรปีละ 1,000 ล้านบาท” นายณัฐพรกล่าว

หนุนบริษัทตั้งศูนย์เลี้ยงเด็ก – หักภาษี 2 เท่า ไม่เกิน 1 ล้าน

นายณัฐพรกล่าวว่า ครม. มีมติเห็นชอบมาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการจัดตั้งศูนย์รับเลี้ยงเด็กเพื่อเป็นสวัสดิการของลูกจ้าง สำหรับสถานประกอบการของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล โดยกำหนดให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลสามารถนำค่าใช้จ่ายในการจัดตั้งศูนย์รับเลี้ยงเด็กในสถานประกอบการมาหักเป็นรายจ่ายได้ตามที่จ่ายจริงและสามารถหักได้เพิ่มขึ้นอีก 1 เท่าตามที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 1 ล้านบาท เพื่อจูงใจให้ผู้ประกอบการจัดตั้งศูนย์รับเลี้ยงเด็กเพื่อเป็นสวัสดิการขั้นพื้นฐานให้แก่ลูกจ้างและถือเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานของลูกจ้างด้วย โดยให้สามารถนำค่าใช้จ่ายในรอบระยะบัญชีที่เริ่มวันที่ 1 มกราคม 2561 ถึง 31 ธันวาคม 2563 โดยคาดว่ามาตรการดังกล่าวจะส่งผลให้รัฐสูญรายได้ไม่เกิน 20 ล้านบาทต่อปี หรือไม่เกิน 60 ล้านบาทในช่วง 3 ปีของมาตรการดังกล่าว

“ปัญหาเดิมของมาตรการนี้คือพบว่าหลักเกณฑ์ที่กำหนดเกี่ยวกับมาตรฐานอาจจะสูงเกินไปจนไม่มีคนสนใจมาใช้สิทธิ ดังนั้นเพื่อให้ได้ผลในทางปฏิบัติรัฐบาลก็ได้แก้ไขให้หลักเกณฑ์ผ่อนปรนลง เพื่อให้เอกชนจัดตั้งศูนย์รับเลี้ยงเด็กเพื่อเป็นสวัสดิการของลูกจ้างเกิดขึ้นได้จริง ทั้งนี้สถิติในปี 2560 พบว่ามีศูนย์รับเลี้ยงเด็กประมาณ 440,000 แห่ง โดยเป็นการจัดตั้งเพื่อเป็นสวัสดิการของลูกจ้างเพียง 82 แห่งเท่านั้น และใน 82 แห่งได้รับอนุญาตถูกต้องตามกฎหมายเพียง 11 แห่ง การผ่อนปรนครั้งนี้จะช่วยจูงให้เอกชนหันมาจัดตั้งได้มากขึ้นเป็นสวัสดิการขั้นพื้นฐานแก่ลูกจ้างและเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของลูกจ้าง” นายณัฐพรกล่าว

บริจาคโรงพยาบาลหักภาษีได้ 2 เท่า – แย้มคิดก่อน “ตูน” วิ่ง

นายณัฐพรกล่าวว่า ครม. มีมติเห็นชอบมาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการบริจาคให้แก่สถานพยาบาล ตาม พระราชบัญญัติสถานพยาบาล พ.ศ. 2541 สาระสำคัญคือผู้เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา สามารถหักลดหย่อนภาษีได้ 2 เท่าของจำนวนเงินที่บริจาค แต่เมื่อรวมกับค่าใช้จ่ายที่สนับสนุนการศึกษาสำหรับโครงการที่กระทรวงศึกษาให้ความเห็นชอบไม่เกิน 10% ของเงินได้พึงประเมิน ส่วนห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลจะได้รับการลดหย่อนภาษี 2 เท่า แต่เมื่อรวมกับรายจ่ายค่าสนับสนุนการศึกษาสำหรับโครงการที่กระทรวงศึกษาธิการให้ความเห็นชอบและรายจ่ายที่เป็นค่าใช้จ่ายการจัดสร้างบำรุงรักษาสนามเด็กเล่น สวนสาธารณะ หรือสนามกีฬาเอกชนที่ไม่เก็บค่าบริการต้องไม่เกิน 10% ของกำไรสุทธิ โดยเงื่อนไขต้องเป็นการบริจาคให้กับสถานพยาบาล ที่ดำเนินการโดยกระทรวง ทบวงกรม หน่วยงานของรัฐ ตั้งแต่ 1 มกราคม 2561 เป็นต้นไป

“ทั้งนี้ แนวคิดมาตรการนี้ได้คิดมาตั้งแต่ก่อนตูนจะวิ่งรับบริจาคแล้ว” นายณัฐพรกล่าว

จัด “งบกลางปี 61” เพิ่ม 1.5 แสนล้าน – พร้อมงบฯ 62 วงเงิน 3 ล้านล้าน

นายณัฐพรกล่าวว่า ครม. มีมติอนุมัติการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2562 วงเงิน 3 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2561 จำนวน 100,000 ล้านบาทเพิ่มขึ้น 3.4% แบ่งเป็นรายจ่ายประจำ 2.25 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 4.7%, งบลงทุน 660,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 0.9% และชำระคืนต้นเงินกู้ 78,500 ล้านบาท ลดลง 9.7% ทั้งนี้ ไม่มีรายการที่เสนอตั้งงบรายจ่ายเพื่อชดใช้เงินคงคลัง นอกจากนี้ รัฐบาลยังคาดว่าจะจัดเก็บรายได้ที่ 2.55 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 4.1% โดยเป็นการจัดทำงบประมาณขาดดุลวงเงิน 450,000 ล้านบาทเท่ากับปีที่ผ่านมา คิดเป็นสัดส่วน 2.6% ของจีดีพี และมีสมมติฐานคาดการณ์เศรษฐกิจไทยขยายตัวที่ 4.2% และอัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ 2.5%

นอกจากนี้ ที่ประชุมยังอนุมัติการจัดทำงบกลางปี 2561 วงเงิน 150,000 ล้านบาท แบ่งเป็นค่าใช้จ่ายดำเนินการตามนโยบายรัฐบาล 100,358.1 ล้านบาท และรายจ่ายเพื่อชดใช้เงินคงคลัง 49,641.9 ล้านบาท ทั้งนี้ ค่าใช้จ่ายตามนโยบายรัฐบาลแบ่งเป็น 3 เรื่อง คือ 1) การพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากยกระดับสวัสดิการส่งเสริมสร้างโอกาสทางอาชีพการจ้างงานผู้มีรายได้น้อย วงเงิน 35,000 ล้านบาท ดำเนินงานโดยกระทรวงการคลัง กระทรวงแรงงาน กระทรวงมหาดไทย และกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ 2) การพัฒนาพื้นที่ผ่านกระบวนการประชาคม สร้างโอกาสการเข้าถึงแหล่งเงินทุนหมุนเวียน ในการพัฒนาและสร้างอาชีพในชุมชน สนับสนุนวิสาหกิจชุมชน การท่องเที่ยวชุมชน วงเงิน 35,358.1 ล้านบาท ดำเนินงานโดยกระทรวงมหาดไทย กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และกองทุนหมู่บ้าน 3) การปฏิรูปภาคการเกษตรทั้งระบบ เพื่อพัฒนาศักยภาพการผลิตให้สอดคล้องกับตลาด ลดต้นทุนการผลิต เพิ่มรายได้แก่เกษตรกรรายย่อย ส่งเสริมตลาดสมัยใหม่แก้ปัญหาราคาสินค้าเกษตร วงเงิน 30,000 ล้านบาท ดำเนินงานโดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงอุตสาหกรรม และกระทรวงมหาดไทย

พาณิชย์คุมราคาสินค้าเพิ่ม 6 รายการ

นายณัฐพรกล่าวว่า ครม. มีมติเห็นชอบการกำหนดสินค้าและบริการควบคุม ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการบริการและสินค้าควบคุม พ.ศ. 2542 โดยรายการสินค้าและบริการล่าสุดจะหมดอายุในวันที่ 23 มกราคม 2561 จึงมีการออกประกาศฉบับใหม่ โดยคงรายการสินค้าและบริการควบคุม 47 รายการ แบ่งเป็น 42 สินค้าและ 5 บริการไว้คงเดิม และเพิ่ม “รายละเอียด” สินค้าและบริการ 1 รายการคือผงซักฟอก ปรับเพิ่มเป็นผงซักฟอกและน้ำยาซักฟอก ให้เกิดความชัดเจนเนื่องจากปัจจุบันได้มีการใช้น้ำยาซักฟอก อีกทั้งยังได้รับการร้องเรียนว่าผงซักฟอกและน้ำยาซักฟอกมีการลดขนาดบรรจุแต่จำหน่ายในราคาเดิม รวมถึงเพิ่มรายการสินค้าควบคุม 6 รายการ ได้แก่ สบู่, แชมพู, น้ำยาปรับผ้านุ่ม, ผลิตภัณฑ์ล้างจาน เนื่องจากได้รับการร้องเรียนว่ามีการลดขนาดบรรจุแต่ราคาเท่าเดิม, ผ้าอ้อมสำหรับเด็กและผู้ใหญ่ เนื่องจากปัจจุบันเป็นสินค้าที่จำเป็นสำหรับเด็กและผู้สูงอายุ และยางพารา ทั้งน้ำยางสด ยางก้อน เศษยาง น้ำยางข้น ยางแผ่น ยางแท่ง ยางเครป เพื่อเพิ่มความเป็นธรรมให้กับเกษตรกรผู้ปลูกยางพาราด้วย

ปรับโครงสร้างสภาพัฒน์ฯ รองรับงานใหม่

นายณัฐพรกล่าวว่า ครม. มีมติเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติและร่างกฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ โดยปรับปรุงบทบาทหน้าที่ให้ครอบคลุมภารกิจงานด้านยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูปประเทศ เพื่อรองรับบริบทที่มีผลกระทบต่อการพัฒนาในอนาคต และให้สามารถชี้นำทิศทางการพัฒนาประเทศและออกแบบนโยบายที่ตอบโจทย์การพัฒนาประเทศ โดยจะมีการพัฒนารูปแบบและกลไกขององค์กรที่สามารถผลิตการศึกษาวิจัยเชิงลึก และเชื่อมโยงองค์ความรู้กับหน่วยงานอื่นทั้งในและต่างประเทศ ทั้งนี้ ได้กำหนดให้มีการแบ่งส่วนราชการเพิ่มอีก 4 กอง ได้แก่

    1) กองยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูปประเทศ เพื่อบูรณาการยุทธศาสตร์ชาติ 6 ด้าน และแผนปฏิรูปประเทศทั้ง 11 ด้าน โดยจะเป็นกลไกที่เชื่อมโยงกับหน่วยงานอื่นๆ ภายในและภายนอกสภาพัฒน์ โดยที่กองดังกล่าวจะทำหน้าที่ศึกษา รวบรวม และวิเคราะห์ข้อมูล ที่เกี่ยวข้องกับสถานการณ์ของโลก สถานการณ์ของประเทศที่เปลี่ยนแปลงไปในอนาคต เพื่อเป็นประโยชน์ในการจัดทำและทบทวนยุทธศาสตร์และแนวทางการพัฒนาประเทศ

    2) กองยุทธศาสตร์การพัฒนาเมือง เพื่อประสาน และสนับสนุนการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การพัฒนาเมืองให้มีประสิทธิภาพ และคุ้มค่าทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ไปสู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม และบูรณาการ

    3) กองยุทธศาสตร์และประสานความร่วมมือระหว่างประเทศ เพื่อจัดทำยุทธศาสตร์และขับเคลื่อนการพัฒนาความร่วมมือทางเศรษฐกิจและสังคมระหว่างประเทศอย่างบูรณาการในภาพรวม เพื่อให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์และทิศทางในการพัฒนาประเทศ

    4) ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศ เพื่อที่จะทำหน้าที่พัฒนางานเทคโนโลยีสารสนเทศที่เกี่ยวข้องกับการนำข้อมูลมาวิเคราะห์และจัดลำดับข้อมูลที่จำเป็นและสำคัญต่อการวางแผนยุทธศาสตร์และการพัฒนาประเทศ

เห็นชอบทุนเรียนต่อด้านเทคโนโลยีวงเงิน 11,090 ล้าน

นายณัฐพรกล่าวว่า ครม. เห็นชอบโครงการสนับสนุนนักเรียนทุนรัฐบาลทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ระยะที่ 4 วงเงิน 11,090 ล้านบาท จำนวน 1,500 ทุน เป็นทุนการศึกษาในประเทศ 100 ทุน และต่างประเทศ 1,400 ทุนระยะเวลาดำเนินงาน 15 ปี ตั้งแต่ปี 2561-2575 ใน 10 สาขาวิชา ได้แก่ สาขาเทคโนโลยีโลหะและวัสดุ, เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์, เทคโนโลยีชีวภาพและสิ่งแวดล้อม, นิวเคลียร์เทคโนโลยี, การบริหารจัดการเทคโนโลยี, ทรัพย์สินทางปัญญาและกฎหมายสิทธิบัตร, วิทยาศาสตร์พื้นฐานทุกสาขา, เทคโนโลยีทางทะเล (Marine Technology), นาโนเทคโนโลยี และเทคโนโลยีระบบขนส่งทางราง ทั้งนี้ ผลการดำเนินงานของโครงการใน 3 ระยะแรกตั้งแต่ปี 2533 เป็นต้นมา พบว่าได้ใช้งบประมาณไปทั้งสิ้น 33,410.26 ล้านบาท เป็นทุนจำนวน 4,688 ทุน ในประเทศ 300 ทุนและต่างประเทศ 4,388 ทุน ซึ่งพบว่า 99% ของนักเรียนสามารถเรียนจบและกลับมาทำงานตามเป้าหมายของโครงการ

นายกฯประชุม อาเซียน-อินเดียวันที่ 25-26 ม.ค.นี้

พ.อ. อธิสิทธิ์ ไชยนุวัติ ผู้ช่วยโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า นายกรัฐมนตรีได้ตอบรับเข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียน-อินเดีย ในโอกาสครบรอบ 25 ปีความสัมพันธ์อาเซียน-อินเดีย (ASEAN-India Commemorative Summit) ณ กรุงนิวเดลี สาธารณรัฐอินเดีย ระหว่างวันที่ 25-26 มกราคม 2561 โดยถือเป็นการร่วมฉลองสถาปนาสาธารณรัฐอินเดียครั้งที่ 69 สำหรับการประชุมดังกล่าวจะมีการเห็นชอบร่างปฏิญญาเดลี เพื่อแสดงเจตนารมณ์ในด้านต่างๆ ทั้งการเมือง ความมั่นคง ในภูมิภาคและระหว่างประเทศ ยืนยันถึงความสำคัญการธำรงรักษาสันติภาพ ความปลอดภัยและความมั่นคงทางทะเล และการเดินเรือรวมไปถึงการบินผ่านในภูมิภาค

ทั้งนี้ยังรวมไปถึงความร่วมมือเชิงลึกในการต่อต้านการก่อการร้ายทุกรูปแบบ ด้านเศรษฐกิจ เช่น การใช้ประโยชน์ในเขตพื้นที่การค้าเสรีอาเซียน-อินเดีย เสริมสร้างนโยบายไอซีที การสร้างขีดความสามารถ ปรับปรุงความเชื่อมโยงทางดิจิทัลและบริการ ด้านสังคมและวัฒนธรรมเพื่อให้เกิดความเชื่อมโยงทางอารยธรรมและประวัติศาสตร์ร่วมกันส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม และการช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม รวมไปถึงหารือถึงความเชื่อมโยง การลดช่องว่างในการพัฒนาและนำไปสู่การใช้ประโยชน์กองทุนอาเซียนอินเดีย และกองทุนอาเซียนอินเดียสีเขียว และกองทุนอาเซียนอินเดียเพื่อการพัฒนาวิทยาศาสตร์และ

ครม. เห็นชอบแผนป้องกันการกัดเซาะชายฝั่ง

พ.อ. อธิสิทธิ์ กล่าวว่า วันนี้ ครม. มีมติเห็นชอบแนวทางการจัดทำแผนงานโครงการป้องกันปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง ตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมนำเสนอ โดยแนวทางการจัดทำแผนงาน และโครงการนี้ ประกอบด้วย 4 แนวทาง 3 มาตรการ 8 รูปแบบ ดังนี้

  • มาตรการสีขาว คือ การดำเนินงานเพื่อลดผลกระทบต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนที่อาจะเกิดขึ้นจากการกัดเซาะชายฝั่งซึ่งดำเนินการด้วยรูปแบบการถอนร่น
  • มาตราการสีเขียว เป็นการดำเนินงานที่จะไม่ทำให้เกิดผลกระทบกับพื้นที่ข้างเคียง โดยเหมาะกับบริเวณที่เป็นชายฝั่งทะเลแบบเปิด คลื่นขนาดเล็ก ชายฝั่งมีความลาดชันต่ำ มี 3 รูปแบบในการดำเนินงาน คือ การปลูกป่า การฟื้นฟูชายหาด และการปักเสาแบบตะกอนเพื่อปลูกป่าชายเลน
  • มาตรการสีเทา คือ การดำเนินงานโดยใช้โครงการทางวิศวกรรมให้เหมาะสมกับบริเวณชายฝั่งที่เป็นทะเลเปิด มีคลื่นขนาดใขญ่ ชายฝั่งมีความลาดชันสูง มี 4 รูปแบบ คือ การสร้างเขื่อนกันคลื่นชายฝั่งรอดักทราย เขื่อนป้องกันตลิ่งริมทะเล และกำแพงป้องกันคลื่นดินชายหาด ซึ่งได้มอบหมายให้กระทรววงทรัพยากรธรรมชาติเร่งจัดทำแผนแม่บท และเสนอให้หน่วยงานที่รับผิดชอบหรือเกี่ยวข้องให้ดำเนินงานเป็นระยะเร่งด่วนและระยะกลาง รวมถึงทำในลักษณะบูรณาการหลายหน่วยงาน หลายกระทรวงรวมกัน

17 ม.ค. นายกฯ ลงพื้นที่ แม่ฮ่องสอน

พ.อ.หญิง ทักษดา สังขจันทร์ ผู้ช่วยโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ในวันที่ 17 มกราคม 2561 นายกรัฐมนตรีมีกำหนดการลงพื้นที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน โดยจะเดินทางออกจากกรุงเทพฯ ในเวลา 7.30 นาที และถึงจังหวัดแม่ฮ่องสอนในเวลาประมาณ 9.00 น. โดยนายกรัฐมนตรีจะเดินทางไปเป็นประธานสักขีพยานในการมอบสมุดประจำตัวผู้ได้รับคัดเลือกให้ทำกินในชุมชน ในโครงการจัดที่ดินทำกินให้ชุมชน ให้ผู้แทนประชาชน 3 ตำบล 8 ราย

หลังจากนั้นจะพบปะกับประชาชนชาวจังหวัดแม่ฮ่องสอนประมาณ 700 คน เวลา 11.00 น. นายกรัฐมนตรีจะเดินทางไปยังโครงการพัฒนาลุ่มน้ำปาย ตามพระราชดำริ (ท่าโป้งแดง) โดยนายกรัฐมนตรีจะไปเยี่ยมชมผลผลิตอันเนื่องมาจากพระราชดำริ และรับฟังข้อเสนอแนะแนวทางการพัฒนาอาชีพ การเพิ่มรายได้ของชาวจังหวัดแม่ฮ่องสอน ในโครงการต่างๆ เช่น โครงการคนอยู่ร่วมกับป่า โครงการสร้างป่าสร้างรายได้ตามพระราชดำริ

ส่วนในช่วงบ่าย นายกรัฐมนตรีมีกำหนดเดินทางเป็นประธานการประชุมยุทธศาสตร์การพัฒนาจังหวัดแม่ฮ่องสอน หลังจากนั้นจะเดินทางไปเยี่ยมชมชุมชนคุณธรรมน้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงโครงการศาสตร์พระราชาสะพานข้าวและก้าวเพื่อสุข ซึ่งจะเยี่ยมชมศูนย์การเรียนรู้ชุมชนคุณธรรม การสาธิต การแปรรูปน้ำมันถั่วลิสง และข้าวเพื่อสุขภาพ ชมแปลงนาเกษตรอินทรีย์ และกลุ่มออมทรัพย์เพื่อผลิตบ้านผาบ่อง รวมถึงรับฟังการบรรยายสรุปการดำเนินงานชุมชนคุณธรรมด้วย หลังจากนั้นนายกรัฐมนตรีจะเดินทางไปสักการะพระธาตุดอยกองมู ก่อนที่จะเดินทาง กลับกรุงเทพฯ ในเวลา 17.00 น.

แต่งตั้ง ขรก.ระดับสูง พณ. 5 ตำแหน่ง

พ.อ.หญิง ทักษดา กล่าวว่า วันนี้ที่ประชุม ครม. มีมติเห็นชอบแต่งตั้งตามที่กระทรวงพาณิชย์เสนอให้
1. นายอดุลย์ โชตินิสากรณ์ รองอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ ดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ
2. นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม รองอธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ
3. นายพิทักษ์ อุดมวิชัยวัฒน์ รองอธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา ดำรงตำแหน่งผู้ตรวจราชการกระทรวงพาณิชย์
4. นายสมศักดิ์ เกียรติชัยลักษณ์ รองอธิบดีกรมการค้าภายใน ดำรงตำแหน่งผู้ตรวจราชการกระทรวงพาณิชย์
5. นายสมเด็จ สุสมบูรณ์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ดำรงตำแหน่งผู้ตรวจราชการกระทรวงพาณิชย์

อ่าน มติ ครม. วันที่ 16 มกราคม 2561 ที่นี่