ThaiPublica > สู่อาเซียน > งานวิจัยธนาคารโลกชี้เอเชียตะวันออกลดความยากจนได้ดีสุดแต่ความเหลื่อมล้ำเพิ่ม แนะ 3 โมเดลรับมือโลกใหม่ที่ท้าทายแบบ Inclusive Growth

งานวิจัยธนาคารโลกชี้เอเชียตะวันออกลดความยากจนได้ดีสุดแต่ความเหลื่อมล้ำเพิ่ม แนะ 3 โมเดลรับมือโลกใหม่ที่ท้าทายแบบ Inclusive Growth

8 ธันวาคม 2017


เสวนาการเติบโตทางเศรษฐกิจและความเหลื่อมล้ำต่อเนื่องจากการนำเสนอรายงานวิจัย

ภูมิภาคเอเชียตะวันออกและหมู่เกาะแปซิฟิกประสบความสำเร็จในการลดความยากจน ชนชั้นกลางมีจำนวนเพิ่มขึ้น แต่กลับมีปัญหาความเหลื่อมล้ำมากขึ้น ธนาคารโลกเสนอ 3 โมเดลใหม่แก้ไขปัญหาความยากจนลดความเหลื่อมล้ำเพื่อการเติบโตแบบมีส่วนร่วม Inclusive Growth โดยเฉพาะการให้โอกาสทางเศรษฐกิจและการสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจ

รายงานธนาคารโลกฉบับใหม่ Riding the Wave: An East Asian for the 21st Century ให้ข้อมูลว่า เอเชียตะวันออกเป็นภูมิภาคที่ประสบความสำเร็จสูงที่สุดในโลกในการลดความยากจนและเพิ่มคุณภาพชีวิต โดยสามารถหลุดพ้นจากกลุ่มประเทศยากจนมากในทศวรรษ 1980 มาสู่ประเทศที่มีรายได้ปานกลาง (Middle Income Countries) ที่ประกอบด้วยประชากรซึ่งมีสถานะทางเศรษฐกิจแตกต่างกันหลายกลุ่ม

“ภูมิภาคนี้ประสบความสำเร็จในการพัฒนาทางเศรษฐกิจที่ส่งผลให้ประชากรเกือบ 1 พันล้านคนหลุดพ้นความยากจนสุดๆ ในระยะเวลาเพียงหนึ่งชั่วอายุคนเท่านั้น (Generation) แต่หากต้องการที่จะเติบโตแบบยั่งยืนและเติบโตแบบมีส่วนร่วม ลดความยากจนได้หมดสิ้น ต้องมีนโยบายหรือโมเดลทางเศรษฐกิจใหม่ที่สามารถรับมือกับความท้าทายใหม่ที่เกิดขึ้น เนื่องจากโลกเปลี่ยนแปลงไปมาก” เอกสารข่าวของธนาคารโลกอ้างอิง Victoria Kwakwa รองประธานธนาคารโลกประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก

เอกสารข่าวของธนาคารโลกระบุว่า เอเชียตะวันออกได้ยกระดับตัวเองจากภูมิภาคที่ประกอบไปด้วยประเทศที่ยากจนสุดๆ ในช่วงปี 1980 มาเป็นภูมิภาคที่ประกอบด้วยประเทศที่มีรายได้ระดับปานกลางซึ่งมีประชากรหลายกลุ่ม โดยในปี 2015 ประชากรที่จัดอยู่ในกลุ่มที่มีความมั่นคงทางเศรษฐกิจ หรือชนชั้นกลาง มีสัดส่วน 2 ใน 3 ของประชากรทั้งหมด เพิ่มขึ้นจาก 20% ในปี 2002 ขณะที่สัดส่วนของประชากรกลุ่มยากจนสุดกับกลุ่มยากจนเล็กน้อยลดลงอย่างเห็นได้ชัดจากเกือบ 50% ของประชากรทั้งหมดมาเหลือราว 12%

อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่ปี 2002-2015 สัดส่วนประชากรที่มีความเสี่ยงที่จะถอยกลับไปอยู่ในกลุ่มยากจน ซึ่งหมายถึงคนที่มีรายได้ในระดับ 3.10-5.50 ดอลลาร์ต่อวันนั้น ยังทรงตัวที่ระดับ 25% ของประชากรทั้งหมด

ปัญหาความเหลื่อมล้ำกลับเพิ่มขึ้นในภูมิภาคนี้ ความเหลื่อมล้ำเป็นประเด็นที่หลายคนรับรู้และตระหนักกันมากขึ้น โดยประชากรมากกว่า 90% ในจีนและมากกว่าครึ่งหนึ่งของประชากรในฟิลิปปินส์เห็นว่า ช่องว่างรายได้ในประเทศนั้นกว้างมาก ส่วนในอินโดนีเซียประชากรเกือบ 90% คิดว่าเป็นเรื่องเร่งด่วนที่จะแก้ไขความเหลื่อมล้ำ และประชากร 8 ใน 10 คนที่อาศัยในเขตเมืองของเวียดนามกังวลถึงความไม่เท่าเทียมกันของคุณภาพชีวิต

แนะ 3 โมเดลรับมือโลกใหม่ที่ท้าทาย

ดร.ชูเดีย แชตตี้ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก ธนาคารโลก

ดร.ชูเดีย แชตตี้ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก ธนาคารโลกกล่าวว่า ไม่มีภูมิภาคไหนในโลกที่ประสบความสำเร็จในการสร้างความเติบโตให้กับเศรษฐกิจและทำให้ประชากรหลุดพ้นความยากจนได้ดีเท่ากับเอเชียตะวันออก หากภูมิภาคอื่นในโลกประสบความสำเร็จเช่นดียวกับเอเชียตะวันออก โลกก็จะดีกว่านี้อีกมาก

แม้ภูมิภาคนี้มีการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างมาก ประชากรก้าวพ้นความยากจน เห็นได้ชัดจากจีน แต่ก็มีความท้าทายในหลายประเด็นให้จัดการ คนยากจนยังมีอีกมาก คำถามจึงมีว่า จะเติบโตแบบเดิมได้อีกต่อไปหรือไม่ เพราะโลกเปลี่ยนแปลงไปแล้ว

ธนาคารโลกมีข้อเสนอแนะด้านนโยบาย 3 ข้อด้วยกัน ได้แก่

หนึ่ง Economic Mobility ให้โอกาสทางเศรษฐกิจกับกลุ่มที่ขาดโอกาส กลุ่มที่มีรายได้น้อย ต้องมีการปิดช่องว่างในการเข้าถึงการจ้างงานและบริการ ปรับปรุงคุณภาพของงานที่ทำ รวมทั้งส่งเสริมให้มีการเข้าถึงบริการทางการเงิน และการส่งเสริมด้านการศึกษา

สอง Providing Greater Economic Security การมีระบบดูแลสังคม เพื่อเสริมความมั่นคงทางเศรษฐกิจ ทั้งในด้านการให้คงวามช่วยเหลือ การสร้างหลักประกันต่างๆ และการจัดให้มีระบบบริหารความเสี่ยงเพื่อบรรเทาผลกระทบจากเหตุการณ์หรือการเปลี่ยนแปลงที่รุนแรง (Shock)

สาม Strengthening Institutions การส่งเสริมสถาบันให้มีความเข้มแข็งมากขึ้น การมีเครื่องมือให้มีการบริหารจัดการงบประมาณให้มีประสิทธิภาพมีคุณภาพ เนื่องจากการเงินจะสนับสนุนการเติบโตที่ดีในอนาคต รวมไปถึงนโยบายด้านภาษีที่จะเพิ่มงบประมาณให้เพียงพอ การบริหารจัดการกับประชากรสูงวัยและการขยายตัวของเมือง

“วาระนโยบายสำหรับการเติบโตแบบมีส่วนร่วมจะทำให้เกิดสัญญาประชาคมหรือความตกลงร่วมกันของประชาชนกับรัฐบาลในทั่วภูมิภาคนี้ โดยที่องค์ประกอบของนโยบายจะช่วยจัดการกับความต้องการของแต่ละกลุ่มเศรษฐกิจ ขณะเดียวกันยังรักษาความรับผิดชอบทางการคลัง เพิ่มรายได้อย่างมีประสิทธิภาพและถูกต้อง” ดร.แชตตี้กล่าว

จัดนโยบายให้ตรงกลุ่ม

ดร.แคทเธอลีนา เลเดอร์ซิ นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส ธนาคารโลก

ดร.แคทเธอลีนา เลเดอร์ซิ นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส ธนาคารโลก บรรยายสรุปผลวิจัยว่า ประชากรในสัดส่วน 40% ของประชากรทั้งหมดของเอเชียตะวันออกในปี 2002 ได้หลุดพ้นจากความยากจน โดยปัจจัยหลักที่ทำให้ยกระดับรายได้ของประชากรและส่งผลให้หลุดพ้นจากความยากจนในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา คือ การส่งออก อุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานสูง รวมทั้งมีการลงทุนในทรัพยากรมนุษย์ หมายถึงการลงทุนในด้านการศึกษา

ปัจจุบันโลกมีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก การค้าโลกชะลอตัวลง เศรษฐกิจของภูมิภาคนี้เติบโตสูงขึ้น อีกทั้งยังมีความท้าทายใหม่เพิ่มขึ้นอีกหลายด้าน ได้แก่ จำนวนประชากรสูงวัย (Aging People) ที่เพิ่มขึ้นเร็วมาก ประชากรมีอายุมากขึ้น และการขยายตัวของความเป็นเมือง (Urbanization) ที่เพิ่มมากขึ้น

แม้จะประสบความสำเร็จในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา แต่รูปแบบเดิมที่สร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจ ยกระดับคนให้พ้นจากความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำนั้นอาจจะใช้ไม่ได้อีกแล้ว เอเชียตะวันออกต้องแสวงหาโมเดลใหม่ๆ เพื่อทำให้เป็นการเติบโตแบบมีส่วนร่วม

การเติบโตแบบมีส่วนร่วมเป็นส่วนหนึ่งที่จะลดความยากจน และขณะเดียวกันจะมีส่วนในการเพิ่มโอกาสทางเศรษฐกิจ การสร้างรายได้ และสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจสำหรับทุกคนนั้น จำเป็นที่จะต้องทำมากกว่าเดิมที่มุ่งการเติบโตแบบเท่าเทียมที่ผ่านมา

การเปิดโอกาสทางเศรษฐกิจนำมาซึ่งรายได้ที่เพิ่มขึ้น ความมั่งคั่งที่เพิ่มขึ้น แต่กลับพบว่ามีการกระจุกตัว การเข้าถึงบริการพื้นฐานทางสังคมทำได้ยากและมีคุณภาพต่ำ การที่สร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจให้กับทุกคนทำได้ยาก

รายงานวิจัยเสนอแนะว่า การที่จะทำให้เศรษฐกิจเติบโตอย่างมีส่วนร่วม (Inclusive Growth) และทุกคนได้รับประโยชน์ ด้วยข้อเสนอ Model ใหม่ 3 ข้อนั้น การดำเนินโยบายกับแต่ละกลุ่มต้องแตกต่างกัน

งานวิจัยนี้ได้แบ่งประชากรระดับครัวเรือนออกเป็น 5 กลุ่ม ได้แก่

  • หนึ่ง Extreme Poor ยากจนสุดๆ ใช้ชีวิตด้วยเงินน้อยกว่า 1.90 ดอลลาร์ต่อวัน
  • สอง Moderate Poor กลุ่มยากจนเล็กน้อย ใช้ชีวิตด้วยเงิน 1.90-3.10 ดอลลาร์ต่อวัน
  • สาม Economically Vulnerable กลุ่มที่มีความเสี่ยงที่จะกลับไปยากจนอีกหากได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงที่รุนแรง ใช้ชีวิตด้วยเงิน 3.10-5.50 ดอลลาร์ต่อวัน
  • สี่ Economically Secure กลุ่มที่มีความมั่นคงทางเศรษฐกิจ ใช้ชีวิตด้วยเงิน 5.50-15.00 ดอลลาร์ต่อวัน
  • ห้า Middle Class ชนชั้นกลาง ใช้ชีวิตด้วยเงิน 15.00 ดอลลาร์ต่อวันหรือมากกว่า
กลุ่มครัวเรือนแยกตามรายได้

นอกจากนี้ การดำเนินนโยบายของแต่ละประเทศก็ย่อมแตกต่างกัน เนื่องจากแต่ละประเทศมีระดับการก้าวพ้นความยากจนที่ไม่เหมือนกัน โดยสามารถออกได้เป็น 5 กลุ่มหลัก

หนึ่ง Progressive Prosperity กลุ่มที่มีความเจริญรุ่งเรือง คือ ประเทศที่สามารถขจัดความยากจนในเชิงรายได้ (Income Poverty) ลงได้และสัดส่วนครัวเรือนชนชั้นกลางเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน ประเทศในกลุ่มนี้ ได้แก่ ไทยกับมาเลเซีย นโยบายที่ควรให้ความสำคัญลำดับแรกคือ ตอบสนองความต้องการของชนชั้นกลาง ขณะเดียวกันก็ระดมงบประมาณและใช้งบประมาณไปกับการลดความเหลื่อมล้ำที่มีอยู่

สอง Out-of-poverty-into-prosperity กลุ่มที่ก้าวพ้นความยากจนและกำลังเข้าสู่ความรุ่งเรือง คือ ประเทศที่ประชากรส่วนใหญ่อย่างน้อยมีความมั่นคงทางเศรษฐกิจและชนชั้นกลางกำลังเพิ่มจำนวนขึ้น ประเทศในกลุ่มนี้ ได้แก่ จีน เวียดนาม มองโกเลีย นโยบายที่ควรดำเนินการของประเทศกลุ่มนี้ควรตอบสนองต่อความต้องการของชนชั้นกลางและประชากรที่กลุ่มยังมีความเสี่ยงทางเศรษฐกิจ และเตรียมรับมือกับประชากรสูงวัยที่กำลังเพิ่มจำนวนขึ้นอย่างรวดเร็ว

สาม Out-of-extreme-poverty กลุ่มที่หลุดพ้นความยากจนสุดๆ คือ ประเทศที่สัดส่วนประชากรในยากจนสุดๆ อยู่ในระดับต่ำมากแต่สัดส่วนของชนชั้นกลางก็มีไม่มากเหมือนกัน ประเทศในกลุ่มนี้ได้แก่ กัมพูชา อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ นโยบายที่ควรดำเนินการคือ การเร่งสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจและการบูรณาการโครงการการคุ้มครองทางสังคม

สี่ Lagging-progress กลุ่มที่ยังไม่คืบหน้า คือ ประเทศที่ยังมีประชากรในกลุ่มยากจนสุดในสัดส่วนสูง ประเทศในกลุ่มนี้ได้แก่ ลาว ปาปัวนิวกินี นโยบายที่ควรดำเนินการคือ เร่งพยายามอย่างหนักเพื่อลดความยากจนด้วยการลงทุนในการศึกษาขั้นพื้นฐานและส่งเสริมการเข้าถึงบริการทางการเงิน ขณะเดียวกันก็เสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับการดูแลสังคม การมีภูมิคุ้มกัน

ห้า Pacific Island กลุ่มประเทศหมู่เกาะ ที่มีความหลากหลายของประชากรและแปลกแยกจากภูมิภาคอื่น
นโยบายที่ควรดำเนินการคือ มุ่งใช้โอกาสทางเศรษฐกิจที่มีอยู่ เช่น การท่องเที่ยว การประมง การใช้ประโยชน์จากการโยกย้ายแรงงาน และลงทุนเพื่อป้องกันและบรรเทาผลกระทบจากภัยพิบัติ

กลุ่มประเทศที่ลดความยากจน

ในรายงาน Riding the Wave ยังระบุอีกว่า นโยบายที่จะมีผลให้การเติบโตแบบมีส่วนร่วม จำเป็นที่จะต้องตระหนักถึงข้อจำกัดที่มีและแก้ไขข้อจำกัดที่แต่ละกลุ่มกำลังประสบ โดยนโยบายสำหรับประชากรที่ยังอยู่ในกลุ่มที่ยากจนสุดๆ ต้องลดอุปสรรคในการเข้าถึงโอกาสทางเศรษฐกิจ ควบคู่ไปกับการรักษาการเติบโตแบบกระจาย เพื่อที่จะให้กลุ่มนี้เลื่อนชั้นทางเศรษฐกิจขึ้นมาได้

สำหรับกลุ่มที่มีความเสี่ยงที่จะถดถอยกลับไปอยู่ในกลุ่มยากจนนั้น ต้องมีการปรับปรุงการเข้าถึงบริการ เช่น สุขภาพและสาธารณูปโภค รวมทั้งการมีกลไกสำหรับบริหารความเสี่ยง ขณะที่กลุ่มที่มีความมั่นคงทางเศรษฐกิจ (Economically Secure) และกลุ่มคนชั้นกลางนั้น การจัดให้มีบริการสาธารณะและเป็นบริการที่มีคุณภาพเป็นสิ่งจำเป็น เช่น การจัดให้มีที่อยู่อาศัย การจัดระบบน้ำและระบบสุขอนามัย

รายงานสรุปว่า ประเทศที่กำลังพัฒนาในเอเชียตะวันออกนั้นได้แสดงให้เห็นว่า การเติบโตที่รวดเร็วและเป็นการเติบโตที่กระจายได้มีส่วนทำให้ประชากรหลุดพ้นความยากจนได้ และหากดำเนินตามนโยยายที่ได้เสนอแนะได้ ประเทศในภูมิภาคนี้จะสามารถเผชิญกับความท้าทายใหม่ได้อย่างมีประสิทธิภาพไปพร้อมๆ กับการเติบโตแบบมีส่วนร่วม

ยุทธศาสตร์ไทยตั้งเป้าลดเหลื่อมล้ำ

ดร.ปรเมธี วิมลศิริ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สคช.)

ดร.ปรเมธี วิมลศิริ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) กล่าวว่า รายงานวิจัยของธนาคารมีประโยชน์และมีประเด็นที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ของไทย ทั้งยุทธศาสตร์ของชาติและแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 12 ที่มุ่งสร้างความเติบโตที่มากขึ้นและลดความเหลื่อมล้ำลง ประเทศไทยตั้งเป้าหมายชัดเจนและจัดลำดับชัดเจนและได้ดำเนินการตามแนวนี้มาตลอด ส่งผลให้ความยากจนในไทยลดลงต่อเนื่อง ส่วนความเหลื่อมล้ำลดลงบ้าง แต่ยังไม่เร็วนัก ส่วนความเหลื่อมล้ำก็มีลดลงบ้าง ค่า GINI Coefficient หรือค่าสัมประสิทธิ์ที่ใช้วัดการกระจายรายได้อยู่ที่ราว 0.45

หากวัดจากเส้นความยากจนในระดับสากลที่ 1.90 ดอลลาร์ต่อวัน คนยากจนของไทยหมดไปแล้วและลดลงต่อเนื่อง ในรอบ 20 ปีลดคนยากจนลง 30 ล้านคน และในช่วง 4-5 ปีลดลงจาก 10 ล้านคน เหลือคนที่ใกล้เส้นความยากจนจำนวน 7 ล้านคนในปัจจุบัน ส่วนหนึ่งมาจากโครงสร้างเศรษฐกิจที่เอื้ออำนวยให้สามารถเติบโตและลดความยากจนลง

ไทยมีนโยบายครอบคลุมประเด็นเป้าหมายในแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 12 คือ การลดความเหลื่อมล้ำ การกระจายความเจริญในภูมิภาคในเชิงพื้นที่ หากเร่งกระจายความเจริญก็จะลดความเหลื่อมล้ำลงได้เร็วขึ้นอีก ทั้งนี้ เป้าหมายการลดความเหลื่อมล้ำเป็นเป้าหมายระดับชาติตามแผนพัฒนาฯ ฉบับ 12 วางไว้โดยใช้ตัวเลขจากค่า Gini Coefficient ที่ 0.424

รายงานของธนาคารโลกมีประโยชน์มากที่ช่วยให้เห็นภาพและมีข้อเสนอจะทำให้การทำงานสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีและแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 12 ที่มีเป้าหมายลดความเหลื่อมล้ำ แต่ความท้าทายคือ การทำนโยบายให้ตรงกับกลุ่มเป้าหมาย เดิมประชากรกลุ่มยากจนมีจำนวน 30 ล้านคน การดำเนินนโยบายที่กระจายออกไปมากมายมีคนได้รับประโยชน์ แต่ปัจจุบันมีคนใกล้เส้นความยากจน 7 ล้านคน อาจจะต้องมีมาตรการที่เฉพาะเจาะจง ต้องหาคนยากจนให้เจอ ซึ่งภาครัฐเองได้พยายามแก้ไข เช่น ได้เปิดให้มีการลงทะเบียนคนยากจน ใช้ Big Data มาวิเคราะห์ข้อมูลคนยากจน

สำหรับข้อเสนอด้านนโยยายที่ธนาคารโลกเสนอไว้ 3 ข้อนั้น ในแง่การสร้างความมั่นคงทางด้านสังคม (Social Protection) ประเทศไทยทำได้ค่อนข้างดีมีมาตรการการค่อนข้างมาก เครื่องมือทางสังคมที่ใช้อยู่ก็นับว่ามีความครอบคลุม 2 ด้านอยู่มาก ด้านสุขภาพและด้านการออม ที่เปิดโอกาสให้คนนอกระบบมากขึ้น การออมมีความมั่นคงมากขึ้น เช่น โครงการ 30 บาทรักษาทุกโรคที่ครอบคลุมกลุ่มคนมากขึ้น นอกจากนี้ยังมีมาตรการช่วยเหลือเด็กแรกเกิดให้กับครอบครัวยากจน ตลอดจนยังมีโครงการการประกันสุขภาพ การดูแลผู้สูงอายุ ในด้านการออมก็มีการจัดตั้งกองทุนการออมแห่งชาติ เปิดโอกาสให้คนนอกระบบมีโอกาสออม และในปีหน้าคาดว่าน่าจะจัดตั้งกองทุนบำเหน็จบำนาญแห่งชาติได้ มาตรการในการดูแลการออมประเทศไทยนับว่าครอบคลุม

ในด้าน Economic Mobility อาจจจะต้องทำเพิ่มขึ้น หรือหาส่วนที่จะขับเคลื่อนให้เกิดความเท่าเทียมกันมากขึ้น ซึ่งในยุทธศาสตร์ชาติส่วนหนึ่งได้มีการตั้งเป้าดูแลคนระดับ 40% ล่างเป็นเป้าหมายที่ต้องดูแลในการสร้างรายได้ เพื่อให้โตรวดเร็วเท่าเทียมกับกลุ่มอื่น ต้องมีมาตรการให้กลุ่มนี้เลื่อนชั้นขึ้นมาได้รวดเร็ว

ส่วนนโยบายด้าน Institution ในเรื่องภาษี ไทยได้นำมาตรการภาษีมาใช้บ้าง เช่น การจัดเก็บภาษีที่ดิน ที่พยามยามเก็บภาษีให้เท่าเทียมกัน ดังนั้น รายงานวิจัยฉบับนี้จึงมีประโยชน์คือช่วยให้ทบทวนกรอบมาตรการและคิดเพิ่มเติมได้

ดร.ปรเมธีกล่าวว่า โจทย์โครงสร้างทางเศรษฐกิจที่จะสร้างการเติบโตและลดความเหลื่อมล้ำได้ เป็นสิ่งที่ท้าทายในระยะต่อไป ดังจะเห็นจากภาคอุตสาหกรรมที่ไม่ได้เป็นภาคธุรกิจที่จ้างงานอีกต่อไปแล้ว เพราะมีเครื่องจักร เทคโนโลยี เข้ามาใช้ แต่จากที่เห็นทั่วโลกที่เป็นระบบเศรษฐกิจเสรีมีความเป็นทุนนิยมมากก็ไม่ได้ลดความเหลื่อมล้ำลง ทั้งในอเมริกาเอง หรือประเทศอื่น

ไทยต้องแก้อีกหลายจุด

ดร.สมชัย จิตสุชน ผู้อำนวยการวิจัย ด้านการพัฒนาอย่างทั่วถึง สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย(ทีดีอาร์ไอ)

ดร.สมชัย จิตสุชน ผู้อำนวยการวิจัย ด้านการพัฒนาอย่างทั่วถึง สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ซึ่งมีส่วนร่วมในรายงานมา 2 ปี ตั้งแต่เริ่มแนวคิด กล่าวว่า รายงานวิจัยฉบับนี้มีข้อดีตรงที่เสนอว่า โมเดลเก่าที่ใช้ในภูมิภาคนี้ที่ทำให้ประเทศมีการเติบโตและประสบความสำเร็จในการลดความยากจนนั้นใช้ไม่ได้แล้วเพราะสถานการณ์เปลี่ยนแปลง รวมทั้งมีประเด็นที่ครอบคลุมในเรื่องความเหลื่อมล้ำ เป็นการมองภาพรวมหลายประเด็นที่ค่อนข้างชัด มีพื้นฐานทางวิชาการรองรับ และมีการจัดทำข้อเสนอแยกตามรายกลุ่ม

สำหรับประเทศไทยที่ถูกจัดให้อยู่กลุ่มเดียวกับมาเลเซียนั้น ดร.สมชัยกล่าวว่า “too good to be true” หรือ ดีเกินไป เพราะคนไทยเองก็รู้สึกว่าไทยยังห่างจากมาเลเซียอีกมาก เพราะมีองค์ประกอบที่ต่างกัน ตัวย่างเช่น นโยบายการศึกษา หากพิจารณาจากแง่มุมชนชั้นกลาง ไทยถือว่าล้มเหลวในด้านนโยบายการศึกษา ภาครัฐไม่สามารถตอบสนองความต้องการของคนชั้นกลางรุ่นใหม่ได้ คนชั้นกลางที่มีเงินไม่ต้องการให้ลูกไปโรงเรียนรัฐ การที่ไม่มีการติดตามการดำเนินนโยบายของภาครัฐจากชนชั้นกลางทำให้ทุกคนได้รับการบริการที่ด้อยคุณภาพ จึงควรมีแนวทางที่จะเพิ่มคุณภาพของบริการจากภาครัฐ

ส่วนนโยบายด้านภาษีก็ไม่มีประสิทธิภาพที่ดีพอที่จะเรียกเก็บจากคนรวยให้มากขึ้น โดยเฉพาะคนรวยที่จัดเป็น Bad Rich ที่ร่ำรวยจากการคอร์รัปชัน ทำให้บทบาทของรัฐในการที่จะเป็นช่องทางการกระจายงบประมาณเพื่อลดความเหลื่อมล้ำไม่สามารถทำได้อย่างเต็มที่

ช่องว่างเมืองกับชนบทจากความขัดแย้งทางการเมืองที่เคยเกิดกลับหายไป แต่ความเหลื่อมล้ำยังคงอยู่ตราบใดที่ไทยยังคงใช้นโนบายการส่งออกภาคการผลิตเป็นตัวผลักดันเศรษฐกิจ แทนที่จะเป็นการส่งออกภาคธุรกิจอื่น เช่น ภาคบริการ ทำให้ความเจริญกระจุกตัวที่ภาคตะวันออก หากมีการปรับเปลี่ยนนโยบายการส่งออกก็จะส่งให้มีการพัฒนาไปพื้นที่อื่นมากขึ้น

ประเทศไทยยังมีประชากรกลุ่มที่มีความเสี่ยงอีกจำนวนมาก คนกลุ่มนี้เป็นคนวัยกลางคน การศึกษาต่ำ จบการศึกษาแค่ระดับ เป็นกลุ่มที่ไม่มีที่ไป ไม่มีอนาคต มีที่นาน้อยทำแต่พอกิน ส่วนใหญ่รอเงินช่วยเหลือจากลูกหลานที่ทำงานในเมือง คนกลุ่มนี้มีสัดส่วนราว 30% ของคนในวัยทำงานทั้งหมด เป็นผลจากการพัฒนาในช่วง 30-40 ปีที่ผ่านมาที่ยังตกค้างอยู่ดังนั้นจึงเป็นโจทย์ใหญ่ ของ Social Protection หรือการคุ้มครองทางสังคม ว่าจะเข้าถึงกลุ่มนี้อย่างไร

นอกจากนี้ยังมีประเด็นการปฏิรูปทางการคลังที่มีการพูดมาตลอด การปฏิรูปภาครัฐ การปฎิรูปภาษี แต่ยังไม่ดำเนินการ ส่วนทางด้านทรัพยากรมนุษย์ การพัฒนาโดยพื้นฐานคือการศึกษา แต่นโยบายการศึกษาของไทยน่าจะเป็นนโยบายที่ล้มเหลวมากที่สุด ขณะที่การฝึกอบรมในส่วนของภาครัฐก็จัดให้มีการอบรมตามที่รัฐต้องการ ส่วนภาคเอกชน แม้กฎหมายกำหนดให้ธุรกิจที่มีลูกจ้าง 100 คนขึ้นต้องจัดให้มีการอบรม ยกเว้นเอสเอ็มอี แต่ก็มีความพยายามหาทางเลี่ยง

ดร.สมชัยเสนอให้มีการกระจายอำนาจ ทั้งการกระจายอำนาจทางการเมือง ควรมีการจัดสรรงบประมาณให้ท้องถิ่นได้มากขึ้น รัฐบาลท้องถิ่นควรมีความสามารถในการเก็บภาษีด้วยตัวเอง และการกระจายอำนาจทางเมืองจะช่วยลดความขัดแย้ง เพราะที่ผ่านมาอำนาจกระจุกในกรุงเทพฯ