ThaiPublica > เกาะกระแส > Muhammad Yunus ผู้ก่อตั้ง Grameen Bank กับโลกเราที่มีภาวะ “เป็นศูนย์” 3 อย่าง

Muhammad Yunus ผู้ก่อตั้ง Grameen Bank กับโลกเราที่มีภาวะ “เป็นศูนย์” 3 อย่าง

25 ธันวาคม 2017


รายงานโดย ปรีดี บุญซื่อ

หนังสือเล่มล่าสุดของ Muhammad Yunis ผู้ก่อตั้ง Grameen Bank ที่มาภาพ : https://www.youtube.com/watch?v=5xo9t3nxFBo

ในยามที่เศรษฐกิจและธุรกิจกระแสหลัก เช่น ตลาดหุ้น หรือการลงทุนขนาดใหญ่ ยังดำเนินธุรกรรมไปตามปกตินั้น ก็มีการปฏิวัติเกิดขึ้นกับเศรษฐกิจทุนนิยม ที่กำลังก่อตัวขึ้นมาจากระดับฐานราก อย่างเช่น กระบวนการสินเชื่อรายย่อย (microcredit) และโมเดลการทำธุรกิจเพื่อสังคม (social business) ที่มีเป้าหมายการทำธุรกรรมเพื่อปรับปรุงชีวิตความเป็นอยู่ของคนส่วนใหญ่ มากกว่าเรื่องการแสวงหาผลกำไร โมเดลธุรกิจเพื่อสังคมจึงเป็นธุรกรรมที่พยายามประสานทั้งประโยชน์ทางธุรกิจกับประโยชน์ส่วนรวม

มูฮัมมัด ยูนุส (Muhammad Yunus) นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบล ปี 2006 ที่ริเริ่มและก่อตั้งธนาคารคนจนที่มีชื่อเสียงคือ Grameen Bank ของบังกลาเทศ สถาบันการเงินที่บุกเบิกโครงการสินเชื่อรายย่อยให้กับคนที่ยากจนที่สุด ทำให้คนยากจนในบังกลาเทศและทั่วโลกหลุดพ้นจากความยากจนสุดขั้ว ล่าสุด ยูนุสเขียนหนังสือเล่มใหม่ออกมาชื่อ “โลกที่เป็นศูนย์ 3 อย่าง” คือ โลกที่ความยากจนเป็นศูนย์ การว่างงานเป็นศูนย์ และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์

ความล้มเหลวของทุนนิยม

ยูนุสกล่าวว่า ชีวิตที่ผ่านมาทำงานกับคนยากจนที่สุดมาตลอด ในปี 1976 ได้ริเริ่มโครงการสินเชื่อรายย่อยขึ้นมาในบังกลาเทศ เรียกว่า Grameen Bank เพื่อให้คนยากจน โดยเฉพาะผู้หญิงในชนบท ได้เข้าถึงแหล่งเงินทุน ทุกวันนี้ สินเชื่อรายย่อยช่วยคนยากจนทั่วโลกกว่า 300 ล้านคนให้สามารถมีเงินทุนเพื่อประกอบธุรกรรมต่างๆ ช่วยให้คนจนเหล่านี้ได้หลุดพ้นจากห่วงโซ่ของความยากจน

ความสำเร็จของโครงการสินเชื่อรายย่อยแก่คนจน แสดงให้เห็นถึงจุดอ่อนของระบบธนาคารที่เป็นอยู่ดั้งเดิม คือเป็นสถาบันการเงินที่ปฏิเสธการให้บริการแก่คนที่มีความต้องการด้านสินเชื่อมากที่สุด ซึ่งก็คือบรรดาคนยากจนทั้งหลาย การขาดสินเชื่อไม่ใช่ปัญหาเดียวที่คนยากจนต้องประสบ ยังมีปัญหาการขาดแคลนอื่นๆ เช่น น้ำดื่มที่สะอาด การดูแลสุขภาพ การศึกษา ที่อยู่อาศัยที่ต่ำกว่ามาตรฐาน และอื่นๆ

ปัญหาที่คนจนทั่วโลกประสบอยู่ สะท้อนปัญหาใหญ่ทางด้านเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งก็คือความเหลื่อมล้ำที่เพิ่มมากขึ้น เพราะการกระจุกตัวของความมั่งคั่ง เศรษฐกิจยิ่งเติบโต ความมั่งคั่งก็ยิ่งกระจุกตัวตามไปด้วย แม้โครงการสินเชื่อรายย่อยจะช่วยให้คนจนจำนวนมากหลุดออกจากความยากจน แต่เวลาเดียวกัน คนที่มั่งคั่งก็ยังครองสัดส่วนความมั่งคั่งของสังคมเพิ่มมากขึ้น

ยูนุสเห็นว่า ภายใต้ระบบเศรษฐกิจที่เป็นอยู่ การกระจุกตัวของความมั่งคั่งเป็นกระบวนการที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ระบบทุนนิยมสมัยใหม่เกิดขึ้นครั้งแรกเมื่อ 250 ปีมาแล้ว ความคิดที่ได้รับการยอมรับทั่วไปก็คือ เศรษฐกิจเสรีและ “มือที่มองไม่เห็น” เป็นสิ่งที่ทำให้เกิดการแข่งขันและสร้างประโยชน์แก่สังคม ทำให้คนทุกคนได้ส่วนแบ่งและมีมาตรฐานชีวิตที่ดีขึ้น เหมือนกับคำพูดที่ว่า “การเติบโตทางเศรษฐกิจคือคลื่นที่จะยกเรือทั้งหมดให้สูงขึ้น”

แต่เป็นเรื่องที่ต้องยอมรับว่า ระบบทุนนิยมเสรีแบบนีโอคลาสสิกไม่ได้ให้ทางออกแก่ปัญหาเศรษฐกิจที่เราเผชิญอยู่ในปัจจุบัน ทุนนิยมทำให้เกิดทั้งความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี และการกระจุกตัวทางเศรษฐกิจ แต่ก็ด้วยต้นทุนของการสร้างความเหลื่อมล้ำ และปัญหาที่เกิดตามมาจากความเหลื่อมล้ำ อันได้แก่ปัญหาสังคมต่างๆ และปัญหาการแบ่งขั้วทางการเมือง

จากปัญหาที่เกิดจากระบบทุนนิยมที่เป็นอยู่ ยูนุสเห็นว่า จำเป็นที่จะต้องมีการออกแบบเครื่องยนต์ใหม่ให้กับเศรษฐกิจทุนนิยม ประสบการณ์จาก Grameen Bank ทำให้มองเห็นว่า เครื่องยนต์ใหม่ทางเศรษฐกิจจะมีลักษณะอย่างไร ประการแรก เราต้องยอมรับแนวคิดเรื่อง ธุรกิจเพื่อสังคม (social business) ประการที่ 2 เปลี่ยนจากการมองคนวัยทำงาน จากคนหางาน มาเป็นผู้ประกอบการแทน และประการที่ 3 ออกแบบสถาบันการเงิน เพื่อให้เป็นกลไกที่ทำงานรับใช้คนที่อยู่ที่บันไดการพัฒนาเศรษฐกิจก้าวแรกๆ

ความยากจนเป็นศูนย์

เมื่อพูดคำว่า “ผู้ประกอบการ” คนทั่วไปมักหมายถึงบริษัทไฮเทค บริษัทพัฒนาแอปพลิเคชัน หรือบริษัทพัฒนาซอฟต์แวร์ บริษัทพวกนี้มักตั้งอยู่ที่ซิลิคอนวัลเลย์ หรือที่เมืองบังกาลอร์ อินเดีย คงจะไม่มีใครเคยได้ยินว่า ปี 2015 องค์กร Global Entrepreneurship Monitor (GEM) ยกให้ยูกันดาเป็นประเทศที่ทำธุรกิจแบบผู้ประกอบการมากที่สุดของโลก ในปี 2016 ธนาคารโลกระบุว่า ยูกันดามีรายได้ต่อคน 615 ดอลลาร์ แต่ช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ประชาชนยูกันดากว่า 28% ทำธุรกิจโดยประกอบการอย่างใดอย่างหนึ่ง

มูฮัมมัด ยูนุส กล่าวว่า ยูกันดาเป็น 1 ใน 7 ประเทศ ที่องค์กร Yunus Social Business (YSE) มีการดำเนินงานด้านธุรกิจเพื่อสังคม โดยสนับสนุนการตั้งบริษัทธุรกิจ ที่จะมีส่วนในการแก้ปัญหาความยากจน การว่างงาน และการเสื่อมโทรมของสภาพแวดล้อม ที่ยูกันดา องค์กร YSE มีส่วนร่วมในการตั้งบริษัทธุรกิจเพื่อสังคม ชื่อ Golden Bees ที่มีสำนักงานใหญ่อยู่ที่คัมพาลา เมืองหลวงยูกันดา

จนถึงกลางปี 2016 Golden Bees ได้สร้างเครือข่ายคนเลี้ยงผึ้งชาวยูกันดาแล้ว 1,200 ราย รายเล็กสุดเลี้ยงรังผึ้ง 3 รัง รายใหญ่สุดมี 500 รัง บริษัท Golden Bees มีร้านขายผลิตภัณฑ์ 3 แห่งในพื้นที่เลี้ยงผึ้ง โดยขายน้ำผึ้งและผลิตภัณฑ์จากผึ้งอื่นๆ นอกจากนี้ ร้านค้ายังทำหน้าที่ฝึกอบรมและสนับสนุนคนเลี้ยงผึ้งในท้องถิ่น เช่น ขายอุปกรณ์เลี้ยงผึ้ง และทำหน้าที่เป็นศูนย์รับน้ำผึ้งจากคนเลี้ยงก่อนที่จะนำไปดำเนินการต่อ

ผลิตภัณฑ์น้ำผึ้งของ Golden Bees วางขายตามเครือข่ายซูเปอร์มาร์เก็ต 80 แห่งของยูกันดา และบริษัทนี้ยังพยายามขยายธุรกิจสู่ตลาดต่างประเทศ คำสั่งซื้อขี้ผึ้ง (beewax) เริ่มมีมาจากญี่ปุ่น จีน และเดนมาร์ก ห้องทดลองการพัฒนายาจากที่ต่างๆ ทั่วโลก ก็ต้องการกาวชันผึ้ง (bee propolis) สารที่ผึ้งได้จากพืชต่างๆ เพื่อไปสร้างรัง ทำให้ Golden Bees ต้องพัฒนาผลิตภัณฑ์จากผึ้งให้ได้มาตรฐานสากล ซึ่งการปรับปรุงคุณภาพผลิตภัณฑ์ดังกล่าว เป็นเรื่องที่คนเลี้ยงผึ้งเป็นรายๆ ไม่สามารถทำเองได้

ยูนุสกล่าวว่า Golden Bees เป็นตัวอย่างของโมเดลธุรกิจเพื่อสังคม ในการช่วยเหลือทั้งคนยากจนและชุมชนให้หลุดจากความยากจน ที่ผ่านมา คนยากจนเหล่านี้ขาดเครื่องมือและข้อมูลที่จะเริ่มต้นธุรกรรม ขาดโครงสร้างธุรกิจที่จะเชื่อมโยงพวกเขากับตลาดในประเทศและตลาดโลก องค์กรธุรกิจ Golden Bees ให้สิ่งที่คนเหล่านี้ขาด แล้วปล่อยให้พวกเขาทำงานในส่วนที่เหลือ

การว่างงานเป็นศูนย์

องค์กรแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) คาดหมายว่า ในระยะ 10 ปีข้างหน้า จะมีแรงงานใหม่เข้าสู่ตลาดแรงงานอีก 400 ล้านคน หรือปีหนึ่ง 40 ล้านคน เรื่องท้าทายที่เร่งด่วนคือ การสร้างงาน 400 ล้านงานดังกล่าว แต่ปัญหาท้าทายนี้เลวร้ายมากขึ้นไปอีก เพราะการก้าวเข้ามาของของระบบอัตโนมัติ เทคโนโลยีหุ่นยนต์ และปัญญาประดิษฐ์ เทคโนโลยีใหม่ๆ นี้ทำให้ธุรกิจต่างๆ สามารถลดคนทำงานโดยผลผลิตไม่ได้ลดน้อยลงไปเลย ขณะเดียวกัน คนก็มีอายุยืนมากขึ้น จึงจำเป็นต้องทำงานนานมากขึ้น แม้จะเกษียณไปแล้ว เพื่อเลี้ยงดูตัวเอง

มูฮัมมัด ยูนุส เห็นว่า การสร้างงานใหม่ๆ ไม่สามารถอาศัยเฉพาะการจ้างงานของธุรกิจดั้งเดิม แรงงานใหม่ๆ ต้องได้รับการปลูกฝังทัศนคติที่ว่า คนเราสามารถสร้างงานให้กับตัวเอง คนอีกบางส่วนจำเป็นต้องได้รับการช่วยเหลือ เพื่อเอาชนะอุปสรรคที่กีดกั้นการมีงานทำ แต่ธุรกิจเพื่อสังคมแสดงให้เห็นว่า คนเราทุกคนสามารถสร้างมูลค่าเศรษฐกิจให้แก่สังคม

ตัวอย่างความสำเร็จของธุรกิจเพื่อสังคม คือ Human Harbor Corporation ตั้งขึ้นเมื่อปี 2012 ที่เมืองฟุกุโอกะ ญี่ปุ่น คนก่อตั้งคือ Isao Soejima ที่เคยทำงานในเรือนจำของญี่ปุ่น Soejima กังวลต่อปัญหาที่อดีตนักโทษ เมื่อออกจากเรือนจำแล้ว ไม่สามารถหางานทำที่เป็นงานปกติทั่วไป เพราะสังคมมีอคติต่อคนที่เคยเป็นนักโทษ Soejima ต้องการจะตั้งธุรกิจเพื่อสังคมขึ้นมา เพื่อเอามาแก้ปัญหานี้

Soejima ร่วมมือกับอดีตนักโทษคนหนึ่ง ตั้งบริษัทชื่อ Human Harbor Corporation (HH) เป้าหมายก็เพื่อปัญหาสังคม 2 อย่าง คือ การเก็บขยะของเสียทางอุตสาหกรรม แล้วนำกลับมาใช้ใหม่ การดำเนินงานดังกล่าว ช่วยลดปัญหาสภาพแวดล้อมเป็นพิษ และในการดำเนินธุรกิจดังกล่าว อาศัยการจ้างงานคนที่เพิ่งถูกปล่อยตัวออกจากเรือนจำ นักโทษพ้นคดีพวกนี้ ล้วนเป็นพวกที่ถูกกระทำให้ “ไม่มีงานทำ”

บริษัท HH ประสบความสำเร็จในการดำเนินธุรกิจ กลายเป็นบริษัทที่เลี้ยงตัวเองได้ ในปี 2016 มีรายได้ 2.4 ล้านดอลลาร์ และตั้งเป้ารายได้ปี 2017 ที่ 3.5 ล้านดอลลาร์ บริษัทนี้จ้างคนงาน 26 คน คนงาน 9 คนเป็นอดีตนักโทษ ทำธุรกิจในเมืองฟุกุโอกะ โอซาก้า และโตเกียว พนักงานของ HH บางคนลาออกเพื่อแยกตัวออกไปตั้งบริษัทที่ทำธุรกิจแบบเดียวกันในเมืองอื่นๆ ของญี่ปุ่น ความสำเร็จของ HH พิสูจน์ว่า ธุรกิจเพื่อสังคมสามารถเอาชนะอุปสรรคที่กีดกันโอกาสการมีงานทำของคนบางกลุ่ม กลุ่มคนที่สังคมปฏิเสธการจ้างงาน

ก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์

ที่มาภาพ : https://www.internationalrivers.org/sites/default/files/styles/600-height/public/images/resource/kate_ross/solar-cart.jpg?itok=J4oH7JzE

มูฮัมมัด ยูนุส กล่าวว่า ประเทศที่พัฒนาแล้วอาจคิดว่าประเทศกำลังพัฒนาที่มุ่งจะพัฒนาเศรษฐกิจให้เติบโตอย่างเต็มที่เป็นประเทศที่ไม่สนใจเรื่องผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ในความเป็นจริง ประเทศกำลังพัฒนาที่ใหญ่สุดอย่างจีนกับอินเดียล้วนเข้าร่วมข้อตกลงปารีสเรื่องการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ทุกวันนี้ ประเทศกำลังพัฒนาสามารถก้าวข้ามเทคโนโลยีดั้งเดิม และหันไปใช้เทคโนโลยีสะอาด และมีประสิทธิภาพ ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องพลังงาน เครือข่ายโทรคมนาคม และยานยนต์ต่างๆ

ในบังกลาเทศมีธุรกิจพลังงานเรียกว่าที่ดำเนินงานตั้งแต่ปี 1996 ในปี 2007 Grameen Shakti ติดตั้งแผงโซลาร์ให้กับครัวเรือนทั่วบังกลาเทศ 100,000 แห่ง ต้นปี 2017 จำนวนเพิ่มเป็น 1.8 ล้านครัวเรือน ทำให้ Grameen Shakti กลายเป็นองค์กรที่จัดหาแผงโซลาร์ให้ครัวเรือนรายใหญ่สุดของโลก พลังงานไฟฟ้าจากแผงโซลาร์เซลล์ ทำให้ชนบทบังกลาเทศมีไฟฟ้าใช้ เด็กมีแสงสว่างเพื่อทำการบ้านในยามค่ำคืน ร้านค้า ศูนย์ชุมชน และสุเหร่า สามารถขยายเวลาทำกิจกรรมจนถึงกลางคืน ผู้หญิงสามารถทำงานกับจักรเย็บผ้าไฟฟ้า และช่วยคนบังกลาเทศนับล้านๆ คนเข้าถึงอินเทอร์เน็ต

Grameen Shakti ยังกระจายธุรกิจไปยังผลิตภัณฑ์อื่นๆ แต่ก็มีเป้าหมายอยู่ที่พลังงานสะอาด เช่น ขายเตาเผาแบบใหม่ให้กับครัวเรือนชนบท เตาเผานี้ได้รับการปรับปรุงใหม่เพื่อลดมลพิษและการสูญเสียพลังงาน เมื่อเทียบกับเตาไฟแบบเดิม ตั้งโรงงานไบโอก๊าซนับหมื่นแห่ง ที่จะแปรมูลวัวเป็นก๊าซมีเทน เพื่อนำมาใช้กับเตาเผา โครงการของ Grameen Shakti จึงเป็นธุรกิจเพื่อสังคม ที่ความสำเร็จมาจากการอาศัยเทคโนโลยี ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

โลกที่ไม่มีความยากจน ไม่มีการว่างงาน และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ เป็นวิสัยทัศน์ของมูฮัมมัด ยูนุส ที่ต้องการให้เศรษฐกิจทุนนิยมมีสำนึกต่อสังคม วิธีที่จะขจัดความยากจนให้ได้ผลมากที่สุดคือการปลดปล่อยพลังความสามารถในการประกอบการของประชาชน และการสร้างธุรกิจเพื่อสังคม ความหมายของธุรกิจเพื่อสังคม คือ บริษัทธุรกิจที่ไม่มีเงินปันผล แต่มุ่งแก้ปัญหาให้กับคนในสังคม แต่ไม่ว่าความคิดดังกล่าวจะเป็นไปได้มากน้อยเพียงไร จุดเด่นของยูนุสคือ ความเชื่อมั่นที่มีต่อการริเริ่มในการประกอบการของคนยากจน

เอกสารประกอบ
A World of Three Zeros. Muhammad Yunus, PublicAffairs, New York, 2017.