ThaiPublica > คอลัมน์ > Cockroach in The Making ตอนที่ 5: เปิดโลกทัศน์

Cockroach in The Making ตอนที่ 5: เปิดโลกทัศน์

1 เมษายน 2018


ปพนธ์ มังคละธนะกุล
www.facebook.com/Lomyak

ต่อจากตอนที่4

หนึ่งในข้อดีของการออกมาผจญภัยคือ ได้มีโอกาสลองทำอะไรใหม่ๆ ที่ในบทบาทเดิมอาจไม่มีโอกาสได้ทำ เพราะติดนั่นติดนี่

ไม่นานหลังจากออกจากธนาคาร ผมก็ได้รับการชักชวนจาก Regional Head ของ IFC (International Finance Corporation) บริษัทลูกของธนาคารโลก ที่มีพันธกิจคือ ลงทุนทั่วโลกเพื่อให้เกิดการพัฒนาระบบการเงินเพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางสังคมทั่วโลก โดยเฉพาะในประเทศกำลังพัฒนาทั้งหลาย

ผู้บริหารท่านนี้เป็นเพื่อนที่รู้จักมักคุ้นกันอย่างดีตั้งแต่สมัยที่ผมอยู่ TMB แล้ว พอผมส่งข่าวว่าผมจะออกจาก TMB และมาทำธุรกิจส่วนตัว เขาชักชวนให้ผมมาเป็น Board Nominee ของ IFC พูดง่ายๆ คือไปทำหน้าที่เป็นกรรมการในบริษัทที่ IFC ไปลงทุน โดยเป็นตัวแทนของ IFC ในบอร์ด เขาเล็งเห็นว่าประสบการณ์ทางการเงินธนาคาร โดยเฉพาะเกี่ยวกับ SME Banking นั้นเหมาะกับบริษัทที่ IFC เพิ่งไปลงทุนมา

เขาเสนอให้ผมมาเป็นกรรมการที่บริษัทไมโครไฟแนนซ์ลำดับต้นๆ ของเขมรที่ทางเขาเพิ่งลงทุนไป ผมได้ยินข้อเสนอนี้ ผมรีบตอบตกลงในทันที ไม่ต้องคิดมากใดๆ ทั้งสิ้น ทั้งนี้เพราะผมสนใจเกี่ยวการไมโครไฟแนนซ์มานานร่วม 10 ปี

ไมโครไฟแนนซ์คือ สถาบันการเงินที่เน้นปล่อยกู้ให้กับคนยากจน เพื่อนำไปใช้ลงทุนประกอบอาชีพเพื่อการยังชีพ หรือเพื่อปรับปรุงคุณภาพชีวิต ไมโครไฟแนนซ์เป็นที่โด่งดังไปทั่วโลกเพราะนาย Muhammad Yunus ผู้ก่อตั้ง Grameen Bank อันเป็นต้นแบบให้กับไมโครไฟแนนซ์หลายๆ แห่งทั่วโลก

ที่ผมหลงใหลและสนใจเพราะว่า การเกิดของไมโครไฟแนนซ์ในช่วง 20 กว่าปีที่แล้วนั้น นับว่าเป็นนวัตกรรมทางการเงินที่เปลี่ยนแปลงโลกอย่างหนึ่งทีเดียว นอกจากนั้นยังเป็นการให้โอกาสแก่คนที่มีโอกาสน้อยในชีวิตได้มีโอกาสลืมตาอ้าปากได้

หากมองในเชิงของการเงินการธนาคาร เนื่องจากผมคร่ำหวอดในวงการ SME Banking มาไม่ต่ำกว่า 15 ปี ผมเล็งเห็นว่าตลาดของผู้ประกอบการรายจิ๋วย่อยนั้น เป็นตลาดที่ยังไม่ได้รับการดูแล ให้บริการ จากสถาบันการเงินที่มีมาตรฐานและมีความเป็นมืออาชีพ
นั่นจึงเป็นที่มา ว่าผมตอบรับงานนี้โดยไม่ต้องเสียเวลาคิดเลย…

เดือนมิถุนายนที่จะถึงนี้ ก็จะครบรอบปีที่ 3 ที่ผมได้ดำรงตำแหน่งนี้ ยอมรับเลยครับว่าเป็นการตัดสินใจที่เกินคุ้ม ผมได้เรียนรู้มากมายทั้งจากธุรกิจเอง และเพื่อนกรรมการด้วยกัน อย่าเห็นว่าเป็นบริษัทเขมรแล้วจะล้าหลังนะครับ กรรมการเรามีทั้งหมด 7 ท่าน เป็นฝรั่งจากยุโรปเสีย 4 คน (แต่ละคนเวียนว่ายในวงการการธนาคาร โดยเฉพาะไมโครไฟแนนซ์ทั่วโลกไม่ต่ำกว่า 15 ปี) เพื่อนกรรมการชาวเขมรก็ล้วนมีประสบการณ์โชกโชนเช่นเดียวกัน และจบการศึกษาจากต่างประเทศทั้งสิ้น

ช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ผมได้เปิดกะโหลกตัวเองพอสมควร ที่คิดว่าช่ำชองและเชี่ยวชาญ ก็ยังมีที่ให้เรียนรู้ ให้เติมเต็ม ต่อภาพให้ครบองค์

หากมีอะไรที่เราสามารถเรียนรู้จากเขมรได้ ก็มีธุรกิจไมโครไฟแนนซ์นี่แหละครับ ที่เรายังล้าหลังกว่าเขา ทุกวันนี้เขมรต่างหาก กลับเป็นต้นแบบไมโครไฟแนนซ์ให้คนทั้งโลกดูเป็นตัวอย่าง

มีคนเคยบอกว่า เมื่อประตูบานหนึ่งปิด ประตูอีกบานจะเปิดรอรับเรา ขึ้นอยู่กับว่าเราจะเปิดรับสิ่งใหม่ และลองหรือไม่

ลองดูแล้ว ถึงติดใจจนวันนี้ไงครับ…