ThaiPublica > เกาะกระแส > การล่มสลายที่รวดเร็วของสื่อสิ่งพิมพ์ คุณค่าสื่อสารมวลชนที่ดีจะเปลี่ยนไปหรือไม่

การล่มสลายที่รวดเร็วของสื่อสิ่งพิมพ์ คุณค่าสื่อสารมวลชนที่ดีจะเปลี่ยนไปหรือไม่

14 ธันวาคม 2017


รายงานโดย ปรีดี บุญซื่อ

ปี 2016 สมาชิกดิจิทัลของ New York Times เพิ่ม 5 แสนคน ที่มาภาพ : https://en.wikipedia.org/wiki/The_New_York_Times#/media/File:Nytimes_hq.jpg

หนังสือพิมพ์เป็นธุรกิจที่ประสบปัญหาการชะงักครั้งใหญ่ หรือ Big Bang Disruption แบบเดียวกับธุรกิจดั้งเดิมอีกหลายอย่าง เช่น กล้องถ่ายรูป หรือโทรศัพท์บ้าน การตกต่ำของธุรกิจหนังสือพิมพ์จึงเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ไม่เพียงแต่หนังสือพิมพ์หลายฉบับต้องปิดกิจการลงไปเท่านั้น สิ่งพิมพ์ประเภทนิตยสารก็ทยอยปิดตัวลงเช่นกัน สิ่งที่บ่งชี้อนาคตของสื่อสิ่งพิมพ์ได้ดีที่สุดคือสัดส่วนเวลาที่คนปัจจุบันใช้เสพสื่อสิ่งพิมพ์ และรายได้ของสิ่งพิมพ์จากโฆษณา ในสหรัฐอเมริกา การสำรวจปี 2015 คนอเมริกันใช้เวลาแค่ 4% ให้กับสื่อสิ่งพิมพ์ แต่ 22% กับอินเทอร์เน็ต สิ่งพิมพ์มีส่วนแบ่งโฆษณา 16% ส่วนอินเทอร์เน็ต 23%

ส่วนบริษัทวิจัย Pew Research เปิดเผยผลวิจัยล่าสุดว่า ในปี 2016 ซึ่งมีการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ บรรดาหนังสือพิมพ์ยักษ์ใหญ่สหรัฐฯ มียอดสมาชิกดิจิทัลพุ่งขึ้น New York Times มีสมาชิกดิจิทัลใหม่ 5 แสนคน เพิ่มขึ้น 47% ส่วนสมาชิกดิจิทัลของ Wall Street Journal เพิ่ม 1.5 แสนคน เพิ่มขึ้น 23% หนังสือพิมพ์ยักษ์ใหญ่ดังกล่าวมีชื่อเสียงมาก่อนจะเกิดอินเทอร์เน็ต อินเทอร์เน็ตจึงเข้ามาช่วยขยายฐานคนอ่าน แต่ยอดรวมสมาชิกคนอ่านหนังสือพิมพ์ของสหรัฐฯ ทั้งหมด กลับลดลง 8% ในปี 2016

รายได้จากโฆษณาของสื่อสิ่งพิมพ์ในสหรัฐฯ ก็ลดต่ำลงมากเหมือนกับยอดคนอ่านที่ลดลง ปี 2016 สื่อสิ่งพิมพ์มีรายได้รวมจากโฆษณาเป็นเงิน 18 พันล้านดอลลาร์ ลดลง 10% ในปี 2006 หนังสือพิมพ์มีรายได้โฆษณา 49 พันล้านดอลลาร์ ส่วนรายได้จากค่าสมาชิกของคนอ่านหนังสือพิมพ์ในปี 2016 อยู่ในภาวะคงที่ คือ 10.9 พันล้านดอลลาร์ การที่สามารถรักษารายได้จากค่าสมาชิกให้คงตัว มาจากความพยายามของหนังสือพิมพ์ที่เน้นเรื่อง การหารายได้จากการสมัครเป็นสมาชิกมากกว่ารายได้จากโฆษณา แต่รายได้จากค่าสมาชิกก็ยังไม่สามารถชดเชยรายได้จากโฆษณา ที่หายไป

ยุคข่าวสารหลายช่องทาง

ทุกวันนี้ ข่าวสารมีปรากฏให้เราเห็นอยู่ทั่วไป ไม่เพียงแต่ตามสื่อเดิมๆ เช่น หนังสือพิมพ์ โทรทัศน์ หรือวิทยุ เท่านั้น แต่ข่าวสารยังมีแหล่งที่มาจากโซเชียลมีเดียต่างๆ เช่น Facebook, YouTube ตามเว็บไซต์ในอินเทอร์เน็ต “ข่าวสาร” คือสิ่งที่ให้ข้อมูลกับเราในเรื่องที่น่าสนใจ แต่ปัจจุบัน เราแต่ละคนสามารถกำหนดได้เองว่าอะไรคือข่าวสารโดยไม่ต้องไปพึ่งพาสื่อมวลชนดั้งเดิ่มอีกต่อไป และข่าวสารก็สามารถผลิตขึ้นมาจากใครก็ตามที่มีอุปกรณ์ดิจิทัล และเข้าถึงอินเทอร์เน็ตกับโชเชียลมีเดีย

แต่ก็ไม่จำเป็นว่าข่าวสารทุกข่าวนั้นคือสื่อสารมวลชน (journalism) สื่อสารมวลชนคือข่าวสารและทัศนะความเห็นที่ถูกประมวลขึ้นมา มีการกลั่นกรองและตรวจสอบ ก่อนที่จะนำเสนอในรูปแบบที่น่าเชื่อถือ ไม่ว่าจะเป็นในรูปของข้อเขียน ภาพถ่าย วีดีโอ หรือกราฟิก สื่อสารมวลชนที่ดีที่สุดจึงเป็นข่าวสารที่มีบริบท (context) เป็นข่าวสารที่เกิดจากการค้นหาข้อเท็จจริง ตรวจสอบข้อเท็จจริง และการวิเคราะห์ สื่อสารมวลชนจึงเป็นข่าวสารที่มีการพินิจพิเคราะห์แล้ว เพื่อประโยชน์สาธารณะ

ดิจิทัลเทคโนโลยีกับข่าวสาร

ทุกวันนี้ เมื่อมีข่าวเกิดขึ้น การรายงานข่าวเบื้องต้นจะเข้ามายังห้องข่าวหนังสือพิมพ์ หรือปรากฏบนโทรศัพท์มือถือของคนทั่วไป โดยผ่านทางโซเซียลมีเดีย ซึ่งอาจเป็นการส่งข่าวของนักข่าวเองหรือจากคนทั่วไปที่อยู่ในเหตุการณ์นั้น นักข่าวเองใช้โซเซียลมีเดียเพื่อหาข้อมูลจากคนที่อยู่ในเหตุการณ์ อาศัยอินเทอร์เน็ตเพื่อหาข้อมูลที่เป็นเบื้องหลังเหตุการณ์หรือข้อมูลอื่นๆ นักข่าวถึงใช้เครื่องมือดิจิทัลมากขึ้น ในการรวบรวมข่าวสาร วิเคราะห์ และนำเสนอ

ที่มาภาพ : https://upload.wikimedia.org/

ข่าวสารที่ผ่านการรวบรวมข้อมูล มีการตรวจสอบแล้ว นักข่าวหรือหนังสือพิมพ์สามารถนำไปเผยแพร่ในอินเทอร์เน็ตได้ทันที โดยไม่ต้องรอเก็บไว้พิมพ์ในหนังสือพิมพ์ฉบับต่อไป ข่าวที่นำเสนอในเว็บไซต์หนังสือพิมพ์สามารถเผยแพร่ไปไกลกว่าพื้นที่ที่หนังสือพิมพ์วางจำหน่าย คนอ่านก็สามารถเลือกช่องทางการอ่านจากโซเชียลมีเดียต่างๆ และสามารถนำไปเผยแพร่ต่อโดยการแชร์ทางโซเชียลมีเดีย

ดิจิทัลเทคโนโลยีจึงทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างมากต่อตัวข่าวสารและสื่อสารมวลชน ทำให้การรายงานข่าวสารรวดเร็วมากขึ้น กว้างขวางมากขึ้น ลึกมากขึ้น และการมีส่วนร่วมมากขึ้น ข่าวสารเองก็มีการนำเสนอในรูปแบบใหม่ โดยเป็นการบูรณาการเนื้อหา ภาพ วีดีโอ แผนที่ กราฟิก หรือการเชื่อมต่อไปยังแหล่งข้อมูลอื่นๆ เข้ามารวมกันในการนำเสนอ

แต่ดิจิทัลเทคโนโลยีก็สั่นคลอนองค์กรสถาบันข่าวสารที่ทำหน้าที่มายาวนานในการผลิตข่าวสาร และสร้างกฏเกณฑ์ที่กำหนดมาตรฐานของสื่อสารมวลชน สื่อดิจิทัลทำให้เกิดกลุ่มคนอ่านที่กระจัดกระจาย และบั่นทอนโมเดลเศรษฐกิจของสื่อสารมวลชนเดิมที่อิงอาศัยรายได้จากโฆษณา เมื่อรายได้จากโฆษณาหดตัวลงมาเป็นลำดับ หนังสือพิมพ์ต่างๆ จึงลดจำนวนนักข่าว และกำหนดขอบเขตการทำข่าวให้แคบลง ในปี 2005 หนังสือพิมพ์ในอเมริกาจ้างนักข่าวทั้งหมด 54,100 คน ปี 2015 เหลือแค่ 32,900 คน

ขณะเดียวกัน สตาร์ทอัพด้านดิจิทัลมีเดียก็เพิ่มขึ้นอย่างมาก เพราะเป็นสื่อที่ไม่มีภาระต้นทุนด้านการผลิตและจัดจำหน่ายของสื่อแบบดังเดิม รวมทั้งค่าใช้จ่ายของพนักงานที่เคยทำงานในหน้าที่เหล่านี้ ดิจิทัลเทคโนโลยีทำให้ธุรกจสตาร์ทอัพของเว็บไซต์ข่าวสาร สามารถทำงานแบบผู้ประกอบการ และลองผิดลองถูกในการสร้างรูปแบบใหม่ของสื่อสารมวลชน โดยการเข้ามาอุดช่องว่าง เพราะสื่อสารมวลชนแบบดั่งเดิมสูญหายไป แต่สื่อมวลชนรูปแบบใหม่ก็ต้องต่อสู้ เพื่อสร้างโมเดลธุรกิจที่จะอยู่รอดได้อย่างยั่งยืน

ดิจิทัลเทคโนโลยีทำให้สื่อสารมวลชน ทั้งเก่าและใหม่ มีลู่ทางสร้างรายได้แบบใหม่ๆ ขึ้นมา หนังสือพิมพ์ชั้นนำของโลกหลายฉบับ เก็บค่าสมาชิกในการเข้าไปอ่านข่าวดิจิทัล เพื่อดึงดูดโฆษณา หนังสือพิมพ์จะตั้งฝ่ายการตลาดดิจิทัล โดยการให้ข้อมูลดิจิทัลของกลุ่มคนอ่านแก่ธุรกิจท้องถิ่น สื่อบางแห่งขายโฆษณาดิจิทัลในรูปรายงานข่าวที่ปรากฏบนหน้าเว็บไซต์ ทำให้คนอ่านจำแนกยากว่าอะไรคือข่าวดิจิทัล และอะไรคือโฆษณาดิจิทัล แต่รายได้ของหนังสือพิมพ์ดิจิทัลก็มีสัดส่วนไม่มากเมื่อเทียบกับรายได้โฆษณาที่สื่อสิ่งพิมพ์เคยได้รับ

ดิจิทัลเทคโนโลยียังทำให้ข่าวลือ ข่าวปลอม ข่าวที่มีความจริงครึ่งเดียว และข่าวลวง เผยแพร่รวดเร็วมากในอินเทอร์เน็ต โดยที่ข่าวจริงไม่สามารถไล่ตามได้ทัน แต่ดิจิทัลเทคโนโลยีก็ช่วยให้สื่อมวลชน มีเครื่องมือใหม่ๆ ในการตรวจสอบข้อมูล แก้ไขเนื้อหาที่คลาดเคลื่อน ปรับปรุงเนื้อหาให้ตรงกับข้อมูลล่าสุด หรือช่วยให้คนที่ทำข่าวสารในอินเทอร์เน็ตสามารถเชื่อมไปยังแหล่งที่มาของข้อมูล ทำให้คนอ่านมองเห็นว่าสื่อมวลชนนั้นทำข่าวอย่างไร และคนอ่านก็มีส่วนในการปรับปรุงเนื้อหาข่าวด้วย

สิ่งที่ไม่ควรจะเปลี่ยนไป

ที่มาภาพ : https://i.gr-assets.com/images/

ในหนังสือ The New Media: What Everyone Needs to Know (2016) ได้อ้างความเห็นของ Leonard Downie Jr. และ Robert G Kaiser ที่เขียนไว้ในหนังสือชื่อ The News About the News (2002) ว่า “สื่อสารมวลชนที่ดี ที่ปรากฏอยู่ในหนังสือพิมพ์ วารสาร โทรทัศน์ วิทยุ หรือ อินเทอร์เน็ต สร้างคุณภาพให้กับคนอเมริกัน โดยการให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อชีวิตประจำวัน และความสำนึกของการมีส่วนร่วมในโลกที่กว้างขึ้น สื่อสารมวลชนที่ดีทำให้เกิดความเป็นไปได้ในเรื่อง ความร่วมมือของพลเมือง ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญของสังคมที่มีอารยะ พลเมืองไม่สามารถทำงานร่วมกันในชุมชน หากไม่มีข้อมูลร่วมกันเกี่ยวกับสภาพแวดล้อมต่างๆ”

สื่อสารมวลชนที่ดีจึงทำหน้าที่ให้ข้อมูล ตรวจสอบ อธิบาย วิเคราะห์ ตีความ สร้างความเข้าใจ ทำการสืบสวน และเปิดเผยเรื่องราว ที่สำคัญคือการค้นหาความจริง ดังนั้น ไม่ว่าสื่อสารมวลชนในยุคดิจิทัลจะมีการผลิตออกมาในรูปแบบอย่างไร ก็ไม่สามารถเปลี่ยนความหมายของคำว่า “สื่อสารมวลชนที่ดี” คุณค่าของข่าวสารก็ยังเป็นเรื่องที่สำคัญ คุณค่าของข่าวสารประกอบด้วย ความถูกต้อง ความเที่ยงธรรม การเปิดกว้าง เป็นอิสระจากอำนาจและอุดมการณ์ มีความโปร่งใสในเรื่อง แหล่งที่มาและวิธีการหาข่าว มีความรับผิดต่อการนำเสนอ และการนำเสนอมุ่งประโยชน์สาธารณะ

การตกต่ำและการเผชิญอนาคตที่ไม่แน่นอนของหนังสือพิมพ์ เป็นเรื่องที่สังคมทั่วไปควรจะวิตกกังวล การตกต่ำของหนังสือพิมพ์เกิดจากการพุ่งขึ้นมามีบทบาทของสื่อดิจิทัล จากแรงกดดันทางเศรษฐกิจ เพราะรายได้จากโฆษณาหายไป ต้นทุนการผลิตและจำหน่ายเพิ่มสูงขึ้น ส่วนยอดขายก็ตกลงอย่างมาก ความวิตกกังวลต่อการตกต่ำของหนังสือพิมพ์อยู่ที่ว่า สังคมประชาธิปไตยนั้นต้องอาศัยสื่อมวลชนที่ดี เพื่อให้ประชาชนทั่วไป สามารถเข้าถึงข่าวสารที่สมบูรณ์และหลากหลาย

เอกสารประกอบ
The New Media: What Everyone Needs to Know. C.W. Anderson, Leonard Downie Jr., Michael Schudson, Oxford University Press, 2016.