ThaiPublica > Native Ad > Advertorial > อุปนิสัย 7 ประการของ “ธนินท์ เจียรวนนท์”

อุปนิสัย 7 ประการของ “ธนินท์ เจียรวนนท์”

17 พฤศจิกายน 2017


ธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานอาวุโสเครือเจริญโภคภัณฑ์

เชื่อกันว่ามี “DNA” แห่งความสำเร็จที่ฝังอยู่ในผู้ประสบความสำเร็จในชีวิต หน้าที่ การงาน และส่วนตัว ซี่งหากเราสามารถ “ถอดรหัส” ออกมาและปฏิบัติตามเยี่ยงอย่างได้ เราก็จะสามารถมีผลสำเร็จได้เช่นกัน

DNA ที่ว่านี้ หาใช่ยีนหรือรหัสพันธุกรรมที่ติดตัวกันมาแต่กำเนิดแต่อย่างใด แต่คืออุปนิสัย ใจคอ ทัศนคติ ค่านิยม (Values) ที่คนคนนั้นเชื่อและยึดถือ ดังเช่นที่สะท้อนอยู่ในหนังสือ “7 อุปนิสัยสำหรับผู้ทรงประสิทธิผลยิ่ง” (7 Habits of Highly Effective People) ของ สตีเฟน โควีย์ ที่ได้รับการตีพิมพ์และปฏิบัติตามจากคนหลายล้านคนทั่วโลก

สำหรับตัวอย่างในประเทศไทยนั้น หากเราจะลองถอดรหัสความสำเร็จของ ธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานอาวุโสเครือเจริญโภคภัณฑ์ ผู้ได้รับการจัดอันดับโดยนิตยสารฟอร์บส จากสหรัฐอเมริกา ให้เป็นผู้มีความมั่งคั่งมากที่สุดเป็นอันดับ 2 ของไทย จะพบว่ามีอุปนิสัยอย่างน้อย 7 ประการของเขาที่อาจจะไม่ตรงกับของ สตีเฟน โควีย์ เสียทีเดียว แต่บุคคลทั่วไปอาจจะสามารถนำมาปรับใช้เพื่อประสบความสำเร็จได้ด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบริบทของคนไทยและเอเชีย ดังต่อไปนี้

1. ความกตัญญู

ความกตัญญูกตเวทิตาต่อผู้มีพระคุณ เป็นคุณสมบัติอันประเสริฐที่ชาวจีนยึดถือมาก ในรายงานพิเศษ “My Personal History” ของนิตยสาร Nikkei Asia Review ลงตีพิมพ์เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2557 ระบุว่า เมื่อธนินท์มีโอกาสได้กลับเข้าไปประเทศจีนในปี พ.ศ. 2522 เพื่อเจรจาธุรกิจที่กวางเจา หลังจากที่ไม่สามารถกลับเข้าไปจีนเป็นเวลากว่า 20 ปีเนื่องจากจีนปิดประเทศ เขาได้ฉวยโอกาสนั้นเดินทางไปซัวเถาเพื่อเยี่ยมเยียนนาง เฉิน ซือฟู่ ครูสมัยประถมของเขา และเมื่อทราบว่าครูต้องอาศัยอยู่ในห้องพักเล็กๆ ขนาดเพียง 6-7 ตารางเมตรเบียดเสียดกับสมาชิกอื่นๆ ในครอบครัวของท่าน เขาจึงยกบ้านหลังเก่าของเขาที่ซัวเถาให้ครูเป็นที่พักอาศัย และได้ซื้อห้องชุดให้ครูในเวลาต่อมา

นับจากนั้นมาธนินท์จะหาโอกาสมาเยี่ยมเยียนคารวะคุณครูผู้มีพระคุณของเขาทุกครั้งที่เขาเดินทางไปซัวเถา

ความกตัญญูของธนินท์ไม่ได้จำกัดอยู่แต่ทิศเบื้องบนของท่าน อันได้แก่ บิดา มารดา และครูบาอาจารย์เท่านั้น แต่ยังเผื่อแผ่มาถึงลูกน้องและเพื่อนร่วมงานของท่าน ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีว่าที่ซีพี ผู้บริหารระดับอาวุโสที่ร่วมหัวจมท้ายกับท่านมาตั้งแต่ยุคแรกๆ จะได้ทำงานไปจนตลอดชีพ ไม่มีคำว่าเกษียณอายุ

2. การให้

ในบทความตอนหนึ่งของ Nikkei ได้เปิดเผยถึงอุปนิสัยสำคัญที่ธนินท์ได้ซึมซับมาจากแม่ของเขา คือ “การให้” การชอบช่วยเหลือผู้อื่น และนึกถึงผู้อื่นอยู่เสมอ ธนินท์มองว่าการให้เป็นพื้นฐานสำคัญของผู้บริหาร ผู้ซึ่งจะต้องรู้จักเอาใจเขามาใส่ใจเรา รู้จักเข้าใจผู้อื่น และให้โอกาสแก่เพื่อนร่วมงาน ลูกน้อง หรือแม้กระทั่งลูกค้า

อย่างไรก็ตาม ธนินท์จะถือหลักการให้แบบยั่งยืน ที่สามารถช่วยให้ผู้รับสามารถพัฒนาและยืดหยัดขึ้นมาได้ด้วยตัวเองได้ในที่สุด มากกว่าการให้แบบให้เปล่าที่ไม่เปิดโอกาสให้มีการพัฒนา

3. เปิดใจกว้าง ชอบให้โอกาสคน

เพราะเคยได้รับโอกาสจากผู้ใหญ่ ให้ทำงานใหญ่ตั้งแต่อายุยังน้อย ธนินท์จึงมีอุปนิสัยชอบให้โอกาสคน โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนรุ่นใหม่ให้ได้มีโอกาสแสดงฝีมือและโชว์ผลงาน บางโครงการเขาไม่เห็นด้วย แต่เขาก็เปิดโอกาสให้มีการลองผิดลองถูก เช่น การเปิดร้านเบอร์เกอร์ ในโครงการเถ้าแก่น้อยอินเตอร์ของเครือฯ

4. คิดบวก มองการณ์ไกล มองเห็นโอกาสก่อนคนอื่น

คิดบวกเป็นคุณสมบัติของผู้ประกอบกิจการ (Entrepreneur) และผู้ประสบความสำเร็จส่วนใหญ่ ในกรณีของธนินท์ นอกจากการมองโอกาสในวิกฤติอยู่เสมอแล้ว ธุรกิจสำคัญๆ ที่ประสบความสำเร็จเป็นอย่างมากในปัจจุบัน เช่น 7-Eleven หรือ แมคโคร เขาเอาเข้ามาบุกเบิกในประเทศไทย ตั้งแต่ยุคที่ไม่มีใครคิดว่ามันจะประสบความสำเร็จ แม้กระทั่งตัวฝรั่งเจ้าของแฟรนไชส์เอง

5. ขยันและเรียนรู้อยู่เสมอ

เรื่องความขยันของธนินท์เป็นที่รู้กันอยู่ ตั้งแต่สมัยเริ่มทำงานตอนอายุ 18 ปี ที่เขาจะขอติดรถบรรทุกขนส่งวัตถุดิบเพื่อเรียนรู้กระบวนการซื้อวัตถุดิบ การขนส่ง และขั้นตอนการผลิตของโรงงานทุกๆ เช้า ก่อนที่จะเริ่มงานตอน 8 โมงเช้าทุกๆ วันที่บริษัทของครอบครัว

6. คิดแบบไร้พรมแดน (Global Mindset)

ธนินท์มักจะพูดอยู่เสมอว่าเขามองตลาดและวัตถุดิบทั้งโลกเป็นของซีพีและของทุกๆ คน ที่ทุกคนสามารถแสวงหามาใช้ได้ตามความเหมาะสม เพราะธุรกิจไม่ควรจำกัดตัวเองอยู่ที่พรมแดนทางภูมิศาสตร์ แต่ควรที่จะแสวงหาสิ่งที่ดีมีคุณภาพ ราคาเหมาะสม มาใช้เพื่อสนองตอบต่อความต้องการของลูกค้าอย่างเต็มที่

เบื้องลึก เบื้องหลังของความเป็นพลเมืองโลก (global citizen) ของธนินท์ในส่วนหนึ่งนั้น อาจจะมาจากชีวิตในวัยเยาว์ของเขาที่ต้องเปลี่ยนที่อยู่ ที่เรียน อยู่เป็นประจำ ทำให้เขาคุ้นชินกับการปรับตัวเข้าสู่วัฒนธรรมและสภาพแวดล้อมใหม่ๆ อยู่เสมอ (ธนินท์เข้าเรียนชั้นอนุบาลที่โรงเรียนจีนในกรุงเทพฯ แล้วย้ายไปเรียนโรงเรียนประจำที่โรงเรียนสารสิทธิ์พิทยาลัย จ.ราชบุรี ก่อนจะข้ามประเทศไปเรียนประถมที่ซัวเถา ซึ่งใช้ภาษาจีนแต้จิ๋ว จนถึงชั้นมัธยม 1 จึงย้ายไปเรียนที่กวางเจาซึ่งใช้ภาษากวางตุ้ง และอยู่ได้เพียงปีเดียวก็ต้องย้ายไปเรียนภาษาอังกฤษที่ฮ่องกง จนอายุ 17 ปีจึงกลับมาประเทศไทยเพื่อเริ่มทำงาน)

นอกจากนี้ต้องอย่าลืมว่า ซีพีเกิดขึ้นมาเป็นธุรกิจข้ามชาติตั้งแต่วันแรกที่คุณพ่อกับคุณอาของธนินท์เริ่มกิจการในประเทศไทยในปี พ.ศ. 2464 โดยเริ่มจากการทำกิจการในสองประเทศ คือ ไทยและจีน แล้วอาศัยเครือข่ายของคนจีนโพ้นทะเลขยายธุรกิจไปประเทศอื่นๆ ในเอเชีย เช่น อินโดนีเซียและไต้หวัน

7. มองไปข้างหน้าเสมอ

สำหรับธนินท์แล้วขอบฟ้าคือที่สิ้นสุด เขาจะมองไปข้างหน้าเพื่อแสวงหาโอกาสเสมอแม้ในยามวิกฤติที่สุด ไม่หยุดพัฒนา และไม่หลงระเริงไปกับความสำเร็จในอดีตและปัจจุบัน

แต่จะว่าไปแล้ว เรื่องบางอย่างเรารู้ หากการจะทำตามให้ได้ครบทุกข้อไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ก็ไม่ใช่เป็นไม่ได้