ThaiPublica > Native Ad > Advertorial > สร้างสังคมยั่งยืนยุคใหม่ ต้องมองด้าน “เศรษฐกิจ บริการ และเทคโนโลยี”

สร้างสังคมยั่งยืนยุคใหม่ ต้องมองด้าน “เศรษฐกิจ บริการ และเทคโนโลยี”

26 กันยายน 2017


นายธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานกรรมการอาวุโส เครือเจริญโภคภัณฑ์

เจ้าสัวธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานกรรมการอาวุโส เครือเจริญโภคภัณฑ์ ได้ชื่อว่าเป็นคนมองการณ์ไกลมากที่สุดคนหนึ่ง ในแง่ของนักธุรกิจ เจ้าสัวเคยกล่าวว่า ต้องทำเรื่องยากให้ง่าย ถ้าทำให้ง่ายไม่ได้ ไม่ทำดีกว่า

หนึ่งในการลงทุนที่เจ้าสัวธนินท์ทุ่มเท “เต็มที่” มาตลอดชีวิต คือลงทุนสร้างคน

ต้องสร้างคน

ในมุมมองของเจ้าสัวธนินท์ เครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) เติบโตขึ้นได้จนขยายไปถึง 16 ประเทศทั่วโลกก็เพราะ “คน”

ถ้าไม่มีคน ก็ไม่มีโอกาสการสร้างงาน ไม่มีอาชีพ ไม่มีธุรกิจ ไม่มีเงินหมุนเวียน แม้แต่เงินตรา คนก็เป็นผู้สร้าง

เครือซีพีเป็นเพียงส่วนเล็กๆ ส่วนหนึ่งของประเทศไทย ที่ได้อาศัยคนดีคนเก่งของไทยมาทำงานด้วย

สำหรับเจ้าสัวธนินท์แล้ว ซีพีกำลังแข่งกับองค์กรธุรกิจระดับโลกอื่นๆ ในการนำสินค้าไปขายตลาดโลก ตลาดไหนดีไปขายที่นั่น ไปลงทุนประเทศไหนคือทำประโยชน์ให้ประเทศนั้น เอาคนเก่งคนดีของประเทศนั้นมาทำงานด้วย และใช้เงินของประเทศต่างๆ หรือของโลกกลับมาทำประโยชน์ให้เครือซีพีและประเทศไทย ไม่ใช่ขายแต่ในประเทศไทย ใช้แต่เงินในประเทศไทย

จะทำอย่างนั้นได้ ซีพีต้องมีคนดี คนเก่ง และสังคมไทยก็ต้องการคนดี คนเก่ง ซึ่งจำเป็นต้องสร้างขึ้นมา

การสร้างคนไม่เหมือนกับการสร้างสินค้าที่สามารถประเมินราคาได้ เพราะคนเก่งคนดีมีคุณค่าเกินกว่าจะประเมินราคา

ไม่ยั่งยืน ไม่ทำ

คำพูดจากปากเจ้าสัวธนินท์ที่คนใกล้ชิดมักจะได้ยินอยู่เสมอก็คือ “ผมเป็นนักธุรกิจ ทำอะไรต้องยั่งยืน ถ้าดีชั่วคราว แล้วจบไป ผมไม่ทำ เมื่อทุ่มเทแล้วก็ต้องได้ผลที่ยั่งยืน”

คำว่ายั่งยืนของเจ้าสัวคือ อยู่ได้ยาวนาน เลี้ยงตัวเองได้ และขยายให้ใหญ่โตออกไปได้อีก

ครั้งหนึ่ง ในยุคจีนมีผู้นำคือ เติ้ง เสี่ยวผิง ที่พยายามปฏิรูปเศรษฐกิจจีนนำสู่ความทันสมัย เจ้าสัวธนินท์เคยช่วยมหาวิทยาลัยปักกิ่งเพิ่มรายได้ ด้วยการไปสร้างโรงแรมในกรุงปักกิ่ง บริหารจัดการโรงแรมแบบธุรกิจ แล้วแบ่งรายได้ให้มหาวิทยาลัยซึ่งถูกทิ้งให้ทรุดโทรมในยุคของเหมา เจ๋อตง กลับมาเป็นมหาวิทยาลัยที่มีชีวิตชีวาและคุณภาพ

ในประเทศไทยก็เช่นกัน เมื่อ พ.ศ. 2520 เจ้าสัวธนินท์ได้ริเริ่มโครงการหมู่บ้านเกษตรกรรมหนองหว้า ที่จังหวัดฉะเชิงเทรา เพื่อช่วยเกษตรกรไร้ที่ทำกิน โดยซื้อที่ดินแล้วแบ่งให้ชาวบ้านสร้างบ้าน เลี้ยงหมู ปลูกผักคนละ 24 ไร่ มีซีพีช่วยดูแลเรื่องเทคนิคและการตลาด จนปัจจุบัน ชาวบ้านสามารถรวมตัวจัดตั้งกันเป็นนิติบุคคลในนาม “หมู่บ้านเกษตรกรรมหนองหว้า จำกัด” บริหารจัดการกันเองอย่างมีประสิทธิภาพ

หลักการของเจ้าสัวธนินท์คือ เมื่อช่วยต้องช่วยถึงที่สุด ซึ่งสำหรับเกษตรกรนั้น ช่วยเงินและความรู้ไม่พอ ต้องช่วยตลาด และปลายทางแล้ว ผู้ได้รับการช่วยเหลือต้องพึ่งตัวเอง ดูแลตัวเองได้ ไม่ต้องให้ผู้ช่วยเหลือทุ่มเงินลงไปทุกปี

อนาคตไทยในโลกยุคใหม่ต้องเก่ง “เศรษฐกิจ บริการ เทคโนโลยี”

เจ้าสัวธนินท์เชื่อว่า โลกยุคใหม่จะมีความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีในระดับที่ต่างฝ่ายต่างสามารถกดปุ่มลบตำแหน่งประเทศคู่ต่อสู้จากแผนที่โลกได้ทันที สงครามประเภทใช้อาวุธทำลายล้างจึงไม่มีประโยชน์อีกแล้ว

ที่จะสู้กันรุนแรงต่อไปคือ “เศรษฐกิจ” เท่านั้น เป็นสงครามแข่งขันในด้านการค้า

ประเทศไทยจึงควรกำหนดนโยบายให้แน่ชัดว่า จะไม่ผลิตคนไปขายแรงงาน เพราะแรงงานราคาถูกกว่าแรงงานไทยยังมีอีกมาก ไทยไม่มีทางสู้ได้ แต่ไทยจะสู้ได้ถ้าผลิตคนรุ่นใหม่ที่มีหัวคิดใหม่ๆ ไปขายความสามารถ โดยเฉพาะในด้านเศรษฐกิจ บริการ และเทคโนโลยี

ต้องพัฒนาศักยภาพคนไทยรุ่นใหม่ให้มีความรู้และความสามารถทัดเทียมระดับนานาชาติ แข่งขันได้อย่างไม่เพลี่ยงพล้ำในเวทีโลก

เจ้าสัวธนินท์ย้ำว่า โลกอนาคตจะเป็นโลกของหุ่นยนต์และไบโอเทคโนโลยี แต่ไม่ต้องกลัวคนตกงาน เพราะหุ่นยนต์จะใช้แรงงานแทนคน ส่วนคนต้องหันไปทำงานที่ใช้ทักษะสูงกว่านั้น และอาจนั่งทำงานในสำนักงานเพียง 4 วันต่อสัปดาห์ก็ได้ เนื่องจากเทคโนโลยีใหม่บังคับคนให้ทำงานทุกวันผ่านเครื่องมือต่างๆ เช่น โทรศัพท์มือถือ อยู่แล้ว

ศึกษาก่อน รู้ก่อน ทำก่อน

จุดเด่นของเครือซีพีที่มีหัวเรือใหญ่อย่างเจ้าสัวธนินท์ ผู้ได้รับยกย่องในแวดวงธุรกิจระดับโลกว่ามีวิสัยทัศน์กว้างไกล คือ ใช้คนเก่งคนดีมาทำงาน โดยทุกครั้งต้องมีการศึกษาจนรู้จริงว่าจะทำอะไร อย่างไร และประสบความสำเร็จเพราะมุ่งมั่นว่าต้องทำให้สำเร็จ

เจ้าสัวย้ำเสมอว่า… ต้องลงมือทำจริง ผ่านประสบการณ์จริง เพื่อให้ประสบการณ์เป็นซอฟต์แวร์ของตัวเอง

ที่สำคัญคือต้องมองตัวเองอยู่ใน “เวทีการแข่งขันระดับโลก” เสมอ เพราะยิ่งอยู่เวทีใหญ่ ต้องยิ่งพัฒนาความสามารถ

การประสบความสำเร็จโดยไม่หยุดอยู่กับที่ หากยังคิดค้นพัฒนาใหม่ ทำใหม่ สร้างใหม่อย่างสืบเนื่อง พร้อมกันไปกับวิวัฒนาการใหม่ของโลก คือการเติบโตอย่างยั่งยืนในทัศนะของเจ้าสัวธนินท์

ซีพีไม่ได้ทิ้งธุรกิจดั้งเดิมของเครือ คือธุรกิจอาหารสัตว์และธุรกิจเลี้ยงไก่ ซึ่งปัจจุบันมีผู้ประกอบการหลายเจ้าร่วมลงสนามแข่งขัน จนบางรายแซงหน้าเครือซีพีไปแล้ว แต่ซีพีกำลังไปไกลกว่านั้นด้วยการลงทุน ศึกษา และลงมือปฏิบัติ ในเรื่องของหุ่นยนต์และไบโอเทคโนโลยี รวมถึงเทคโนโลยีใหม่อื่นๆ ที่กำลังจะมาถึง

พันธมิตรสำคัญที่ร่วมงานกันในด้านไบโอเทคโนโลยีขณะนี้คือมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด

ทั้งหมด คือสิ่งที่ยืนยันคำพูดของเจ้าสัวธนินท์ว่า จะทำงานให้ประสบความสำเร็จอย่างยั่งยืนได้ ต้อง “ศึกษาก่อน รู้ก่อน และทำก่อน ในช่วงเวลาที่คนอื่นยังไม่ได้ทำ”