“ธนินท์ เจียรวนนท์” ได้รับการยกย่องจากแวดวงธุรกิจทั่วโลกว่าเป็นหนึ่งในบรรดาสุดยอดนักธุรกิจที่มีเส้นทางสู่ความสำเร็จน่าสนใจควรค่าแก่การศึกษา ดังปรากฏให้เห็นจากซีรีส์บทความของนิตยสาร Nikkei Asian Review “My Personal History” และรายการโทรทัศน์ NHK 10 “นักธุรกิจดีเด่นแห่งเอเชีย” เมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้
ธนินท์ถือกำเนิดเป็นเด็กชายตัวน้อยสัญชาติไทย บนตึกแถว 3 ชั้นของ “ร้านเจียไต๋” ย่านเยาวราช ถนนเก่าแก่สายหนึ่งของกรุงเทพมหานครที่ยังทรงเสน่ห์จนถึงปัจจุบัน เขาเคยเล่าว่าครั้งเป็นเด็ก ก่อนข้ามทะเลไปเรียนต่อที่เกาะฮ่องกง เขาไม่เคยคาดคิดจะมีอาชีพ “นักธุรกิจ” เลย เพราะใฝ่ฝันอยากเป็นผู้กำกับภาพยนตร์ แต่วันนี้ เขาคือนักธุรกิจผู้สร้างตำนานระดับโลก เป็น “บุคคลแห่งเอเชีย” เช่นเดียวกับ ลีกาชิง หรือลี่จ๊าเฉิง หรือเหลก๊าเส่ง หรือลี่เกียเซ้ง ผู้ได้รับฉายาว่า “มังกรแห่งเกาะฮ่องกง” และอาจเปรียบได้ว่า เขาคือ “มังกรแห่งเจ้าพระยา”
รู้ลึกจากประสบการณ์
ช่วงปลายทศวรรษ 2500 “เจียไต๋” ซึ่งขยายกิจการไปสู่ “เจริญโภคภัณฑ์” ดำเนินธุรกิจขนาดกลาง ธนินท์ได้รับมอบหมายจากครอบครัวให้รับผิดชอบบริหารงานส่วนอาหารสัตว์ ที่เน้นขายอาหารเลี้ยงไก่และหมู เช่น ข้าวโพด แป้ง ถั่ว รำ ข้าว และปลาป่น รวมถึงงานสำคัญคือ ขนส่งหมูทางเรือไปขายฮ่องกง ซึ่งเวลานั้น ยังไม่มีเทคโนโลยีทันสมัยที่ช่วยให้หมูมีสุขอนามัยดีระหว่างการเคลื่อนย้าย เมื่อธนินท์สังเกตจนค้นพบว่า แรงลมและคลื่นสามารถทำให้หมูบอบช้ำจากแรงกระแทก เขาจึงศึกษาทิศทางกระแสลมและคลื่นในแต่ละฤดู แล้วปรับการจัดตำแหน่งหมูให้สอดคล้องกับเวลา นั่นคือ ฤดูร้อนระหว่างเดือนพฤษภาคมถึงกันยายน เขาจัดวางหมูไว้กลางลำเรือ ส่วนฤดูหนาวจัดวางหมูไว้ท้ายเรือ การเคลื่อนย้ายหมูทางเรือจึงเป็นไปด้วยความราบรื่น
ตื่นตัวรับการเปลี่ยนแปลงเสมอ
ธนินท์ ผู้ซึ่งปัจจุบันเป็นประธานอาวุโสกลุ่มธุรกิจเครือเจริญโภคภัณฑ์ ขึ้นดำรงตำแหน่งกรรมการผู้จัดการใหญ่ของบริษัทเจริญโภคภัณฑ์อย่างเต็มตัวใน พ.ศ. 2512 โดยต่อยอดแนวทางบริหารของครอบครัว ขยายเครือข่ายกิจการทั้งในประเทศและต่างประเทศอย่างคึกคัก
ภายใต้การบริหารของธนินท์ เครือเจริญโภคภัณฑ์เข้าไปลงทุนใน 20 ประเทศทั่วโลก และผลิตสินค้าส่งออกไปยังประเทศต่างๆ อีกกว่า 100 ประเทศ จนได้ชื่อว่าเป็นบริษัทข้ามชาติที่มีขนาดใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ความสามารถในการรุกทางธุรกิจของธนินท์ เกิดจากวิสัยทัศน์ “คิดก่อน ทำก่อน” ที่เป็นผลของความมุ่งมั่น พากเพียรเรียนรู้ ขยันอดทน พร้อมปรับตัวเท่าทันสถานการณ์โลกที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา เขาเปิดรับนวัตกรรมใหม่ๆ และยังกล้าลงทุนนำเทคโนโลยีทันสมัยมาพัฒนาธุรกิจหลัก 3 กลุ่มของเครือ ได้แก่ กลุ่มเกษตรอุตสาหกรรม กลุ่มธุรกิจค้าปลีก และกลุ่มธุรกิจโทรคมนาคม
ในด้านของการบุกเบิก ต้องบันทึกว่า เขาเป็นนักธุรกิจไทยรายแรก ผู้เดินทางไปถึงสหรัฐอเมริกาเพื่อดูกิจการบริษัทไก่พันธุ์ขนาดใหญ่ที่สุดของสหรัฐฯ ณ ขณะนั้น คือบริษัท อาร์เบอร์ เอเคอร์ส โดยการแนะนำของร็อดแมน ร็อคกี้เฟลเลอร์ แห่งตระกูลรอคกี้เฟลเลอร์ ที่มีบทบาทควบคุมเศรษฐกิจในสหรัฐฯ และทั่วโลก แล้วตัดสินใจนำเข้าไก่พ่อพันธุ์แม่พันธุ์พร้อมเทคโนโลยีใหม่ใน พ.ศ. 2513 โดยให้อาร์เบอร์ เอเคอร์ส เข้ามาบริหารจัดการ และทำข้อตกลงจัดตั้งบริษัทร่วมทุนกับเครือเจริญโภคภัณฑ์ การร่วมมือทำธุรกิจครั้งนั้น ส่งผลให้ธนินท์และครอบครัวมีความสัมพันธ์ที่ดีกับตระกูลร็อคกี้เฟลเลอร์จนถึงปัจจุบัน
เดินหน้าพัฒนา/ลงทุน
“เจียไต๋” ภายใต้การดูแลของธนินท์ คือบริษัทต่างชาติบริษัทแรก และบริษัทสัญชาติไทยบริษัทแรก ที่เข้าไปลงทุนในประเทศจีน ในเขตเศรษฐกิจพิเศษเซินเจิ้น ได้รับทะเบียนใบอนุญาตประกอบการธุรกิจหมายเลข 0001 เมื่อ พ.ศ. 2522
จากนั้น เขาได้นำบริษัทเครือเจริญโภคภัณฑ์ เข้าไปพัฒนาและลงทุนในอีกหลายประเทศของทวีปยุโรป อเมริกา และเอเชีย โดยเฉพาะภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ประสบความสำเร็จอยู่ในอันดับต้นของเอเชียและโลก โดยใน พ.ศ. 2558 มียอดขายทั่วโลกจาก 3 กลุ่มธุรกิจหลัก มูลค่ารวมกว่า 45,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
ล่าสุด เมื่อเร็วๆ นี้ เขายังรุกตลาดอาหารในสหรัฐฯ เข้าซื้อกิจการบริษัทเบลลิซิโอ ฟู้ด อิงค์ ผู้นำด้านการผลิตอาหารแช่แข็งของสหรัฐอเมริกา มีเครือข่ายกระจายสินค้ามากกว่า 5,000 จุดในร้านค้าชั้นนำของสหรัฐฯ เพื่อต่อยอดธุรกิจสินค้าจากประเทศไทยของเครือซีพี
ทุกโอกาสและทุกประสบการณ์ของธนินท์ นำมาซึ่งรางวัล คือความสำเร็จระดับโลก รวมถึงวิกฤติ ที่ทำให้เขาต้องล้มลงไปคลุกฝุ่นมาหลายตลบ แต่สำหรับธนินท์ ทุกโอกาสและประสบการณ์มีคุณค่า เพราะทำให้เขาได้ค้นพบเส้นทางใหม่ๆ ตลอดจนแรงบันดาลใจที่สามารถใช้เป็นกรณีศึกษาเพื่อเรียนรู้เพิ่มเติมเสมอ กระทั่งสามารถยืนผงาดเป็นนักธุรกิจแถวหน้าของโลก
การให้ความสำคัญกับโอกาสและประสบการณ์ ได้กลายมาเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมองค์กรเครือเจริญโภคภัณฑ์สืบมา และพัฒนาเป็นแนวคิด “สร้างโอกาส” ให้แก่คนรุ่นใหม่
ด้วยวัย 79 ปีใน พ.ศ. นี้ ธนินท์ยังคงให้โอกาสเรื่องการพัฒนาคน ทั้ง “คนภายในรุ่นเก่า” ที่เติบโตมาพร้อมองค์กร และ “คนรุ่นใหม่” โดยให้คนรุ่นใหม่ได้เข้าอบรมหลักสูตรการเรียนรู้และฝึกฝนประสบการณ์เพื่อเป็นเจ้าของกิจการเอง ในโครงการ “Young Talent – เถ้าแก่น้อยอินเตอร์” ซึ่งต้องเข้าใจนวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ทันโลกด้วย
ธนินท์ย้ำเสมอว่า ทรัพยากรบุคคลมีความสำคัญยิ่งต่อการช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศให้พร้อมเข้าสู่เวทีแข่งขันระดับสากล ดังนั้น จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องสร้างทรัพยากรบุคคลให้มีคุณภาพ