ThaiPublica > คอลัมน์ > ร่วมวิเคราะห์นโยบาย 2 สูง

ร่วมวิเคราะห์นโยบาย 2 สูง

3 กันยายน 2011


ภาวิน ศิริประภานุกูล

ไม่ว่าจะด้วยเหตุบังเอิญหรือเป็นความตั้งใจมาตั้งแต่ต้นก็ตาม นโยบายเศรษฐกิจสำคัญของรัฐบาลที่นำโดยนายกฯ หญิง ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ดูเหมือนจะมีความสอดคล้องกับ “ทฤษฎี 2 สูง” ของเจ้าสัว ธนินท์ เจียรวนนท์ เจ้าของเครือบริษัทซีพีอยู่ไม่น้อยครับ โดยเจ้าสัวธนินทร์เคยอธิบายทฤษฎีของตนเองเอาไว้ว่า สูงแรก คือ ราคาสินค้าเกษตรจะต้องสูง และสูงที่สอง คือ รายได้หรือค่าจ้างของประชาชนจะต้องสูง ซึ่งถึงแม้ว่าจะมีรายละเอียดบางประเด็นแตกต่างออกไปบ้าง แต่เมื่อดูในภาพรวมแล้วก็มีความสอดคล้องกับชุดนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาลชุดนี้เป็นอย่างยิ่ง

โดยชุดนโยบายที่ผมกำลังพูดถึงนั้น นับรวม นโยบายปรับเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำ (หรือรายได้ขั้นต่ำก็ตามครับ) ให้เป็นวันละ 300 บาทต่อคนต่อวัน นโยบายปรับเพิ่มอัตราเงินเดือนเริ่มต้นของผู้จบปริญญาตรีให้เป็น 15,000 บาทต่อคนต่อเดือน และนโยบายรับจำนำข้าวขาวและข้าวหอมมะลิในระดับราคา 15,000–20,000 บาทต่อตันครับ ดังนั้น ในที่นี้ผมจึงขอเรียกนโยบายชุดนี้รวมๆ กันว่าเป็น “นโยบาย 2 สูง”

ไม่ว่าจะด้วยเหตุบังเอิญหรือเป็นความตั้งใจมาตั้งแต่ต้นก็ตาม ผมคิดว่าความน่าสนใจของนโยบาย 2 สูงของรัฐบาลชุดนี้อยู่ที่ความแปลกใหม่ในตัวเป้าหมายของนโยบาย โดยนโยบาย 2 สูงนี้มีความสอดคล้องต้องกันกับแนวคิดการสร้างการเติบโตของประเทศที่เป็นมิตรกับคนจนเป็นอย่างยิ่ง นโยบาย 2 สูงไม่ได้มุ่งให้ความสำคัญกับประสิทธิภาพและการเติบโตของระบบเศรษฐกิจแต่เพียงอย่างเดียว แต่กลับให้ความสนใจต่อการกระจายประโยชน์ของการเติบโตของระบบเศรษฐกิจไปสู่คนจน

คุณกิตติรัตน์ ณ ระนอง เคยให้สัมภาษณ์กับนักข่าวในช่วงแถลงนโยบายต่อสภา ในวันที่ 16 สิงหาคมที่ผ่านมา โดยส่วนที่สร้างความสนใจให้กับผมมากที่สุดอยู่ในประโยคที่ว่า “ …โดยรัฐบาลจะให้ความสำคัญกับการกระจายรายได้เป็นเรื่องแรก มีแนวทางให้ผู้มีรายได้น้อยมีความเจริญเติบโตเรื่องรายได้มากกว่ากลุ่มที่มีรายได้สูงอยู่แล้ว…” โดยประเด็นการกระจายรายได้เป็นประเด็นที่ถูกละเลยมานานครับ สำหรับนโยบายของรัฐบาลไทย และถ้ารัฐบาลชุดนี้มีความตั้งใจที่จะทำตามคำให้สัมภาษณ์ของคุณกิตติรัตน์จริงก็เป็นเรื่องที่น่ายินดีครับ

โดยประโยชน์ที่เห็นได้อย่างชัดเจนสำหรับนโยบาย 2 สูงนี้ ก็คือ การสร้างสภาพความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นให้กับกลุ่มคนใช้แรงงานและกลุ่มเกษตรกร ซึ่งจะมีรายได้มากขึ้นจากนโยบายดังกล่าว แน่นอนครับว่าในทางเศรษฐศาสตร์แล้วสภาพความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นนี้จะต้องเกิดจากการที่ “รายได้ที่แท้จริง” ของคนกลุ่มนี้อยู่ในระดับที่สูงขึ้น ถ้าจะแปลเป็นภาษาปกติ ก็คือ รายได้ที่เป็นตัวเงินที่เพิ่มสูงขึ้นนี้จะต้องทำให้สามารถซื้อหาสินค้าและบริการได้ในปริมาณที่เพิ่มสูงขึ้นด้วย มิเช่นนั้น การเพิ่มรายได้ที่เป็นตัวเงินจะไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ใดๆ เลยแก่ตัวผู้รับ

สมมุติว่านายแดงและครอบครัวดำรงชีพได้ด้วยการกินข้าวหมูแดงแต่เพียงอย่างเดียวนะครับ ในช่วงก่อนการดำเนินนโยบาย 2 สูง ถ้านายแดงได้รับค่าจ้างอยู่ที่ 220 บาทต่อวัน แต่ราคาข้าวหมูแดงอยู่ที่จานละ 22 บาท นายแดงจะมีรายได้ที่แท้จริงเทียบเท่ากับข้าวหมูแดง 10 จาน ซึ่งเป็นสิ่งที่จะเป็นประโยชน์อย่างแท้จริงต่อนายแดงและครอบครัว

ทีนี้สมมุติว่าภายหลังการดำเนินนโยบาย 2 สูงแล้ว นายแดงได้รับค่าจ้างที่ 300 บาทต่อวัน แต่ราคาของข้าวหมูแดงพุ่งสูงขึ้นไปอยู่ที่จานละ 30 บาท รายได้ที่แท้จริงของนายแดงก็ยังคงเทียบเท่ากับข้าวหมูแดง 10 จาน ซึ่งในมุมมองของนายแดงและครอบครัวแล้ว พวกเขาไม่ได้รวยขึ้นแต่อย่างใด เคยได้กินข้าวหมูแดงวันจะกี่จานก็ยังคงได้กินเป็นปริมาณเท่าเดิม ถึงแม้ว่ารายได้ที่เป็นตัวเงินจะเพิ่มสูงขึ้นจาก 220 บาทต่อวัน มาเป็น 300 บาทต่อวันก็ตาม

นโยบาย 2 สูงมีแนวโน้มที่จะทำให้ราคาข้าวของเครื่องใช้ต่างๆ แพงมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งสินค้าการเกษตรและอาหาร ซึ่งอาจจะลดทอนประโยชน์ของนโยบายดังกล่าวลงไปได้ โดยในกรณีที่มีการจำนำข้าวในระดับราคาที่สูงกว่าในปัจจุบันมากดังกล่าวก็อาจจะทำให้เกิดเหตุการณ์ในลักษณะเดียวกันกับนายแดงในตัวอย่างที่ผ่านมาได้ครับ

อย่างไรก็ตาม ในความเป็นจริงนั้นผู้คนดำรงชีวิตอยู่ได้ด้วยการบริโภคสินค้าหลากหลายประเภท ในส่วนของสินค้าประเภทอื่นๆ ที่ไม่ใช่สินค้าเกษตรนั้น มีข้อโต้แย้งมาจากอาจารย์แล ดิลกวิทยรัตน์ ส่วนหนึ่งว่า ถ้าคิดคร่าวๆ แล้วต้นทุนค่าจ้างจะอยู่ที่ระดับราวร้อยละ 10 ของต้นทุนการผลิตทั้งหมดเพียงเท่านั้น ซึ่งหมายความว่า ถ้าหากต้นทุนในการผลิตสินค้าในปัจจุบันอยู่ที่ระดับ 100 บาท ต้นทุนค่าจ้างในปัจจุบันจะอยู่ที่ระดับ 10 บาท ถ้าต้นทุนค่าจ้างปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 40 ไปเป็น 14 บาท ในขณะที่ต้นทุนอื่นๆอยู่ในระดับคงที่ ต้นทุนการผลิตสินค้าทั้งหมดจะยังอยู่ที่ระดับ 104 บาท (90 + 14 บาท) ซึ่งถือเป็นการปรับตัวเพิ่มขึ้นของต้นทุนในระดับเพียงร้อยละ 4 เท่านั้น

อาจมีคนโต้แย้งอาจารย์แล กลับว่าราคาสินค้าประเภทต่างๆ ไม่ได้ถูกกำหนดมาจากต้นทุนแต่เพียงอย่างเดียว แต่จะถูกกำหนดโดยอุปสงค์และอุปทานในตลาด ซึ่งถ้าอุปสงค์ในตลาดเติบโตรวดเร็วมาก ในขณะที่อุปทานในตลาดเติบโตไม่ทัน ก็จะส่งผลให้ราคาสินค้าปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นได้ อย่างไรก็ตาม ผมคิดว่าผู้ที่จะมีรายได้เพิ่มมากขึ้นจากนโยบาย 2 สูงจะไม่ได้ครอบคลุมประชาชนทั้งหมดของประเทศไทย ซึ่งทำให้การปรับตัวของราคาสินค้าตามอุปสงค์และอุปทานจะไม่อยู่ในระดับเดียวกันกับการปรับตัวเพิ่มขึ้นของค่าจ้างขั้นต่ำและราคารับจำนำข้าวครับ

นอกจากนั้นเรายังอาจมองไปที่สินค้านำเข้ามาจากต่างประเทศ ซึ่งเป็นส่วนประกอบที่สำคัญส่วนหนึ่งของการบริโภคของภาคครัวเรือนไทย การปรับค่าจ้างขั้นต่ำเพิ่มสูงขึ้นในประเทศไทยไม่น่าจะมีส่วนทำให้ราคาสินค้านำเข้าจากต่างประเทศเพิ่มสูงขึ้นมากนัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งสินค้าที่มีลักษณะมาตรฐานเหมือนๆ กันหมดไม่ว่าจะผลิตในประเทศใด หรือแม้กระทั่งสินค้าเทคโนโลยี ซึ่งนับวันจะมีแต่ลดราคาลงไปเรื่อยๆ

เมื่อสรุปในภาพรวม โดยมองไปที่องค์ประกอบการบริโภคทั้งหมดของครัวเรือนไทยแล้ว ก็เป็นไปได้ว่านโยบาย 2 สูงน่าจะมีส่วนทำให้สภาพชีวิตความเป็นอยู่ของแรงงานและเกษตรกรอยู่ในระดับที่ดีขึ้น ประเด็นคำถามที่เหลืออยู่จึงอยู่ที่ว่านโยบาย 2 สูงดังกล่าวเป็นนโยบายที่มีความเป็นไปได้ในทางปฏิบัติมากน้อยเพียงใด และมีองค์ประกอบอะไรไหมที่ควรจะต้องมีอยู่ในช่วงดำเนินนโยบายดังกล่าว แต่ยังไม่ได้เกิดขึ้นหรือยังไม่น่าจะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้

ผมขอข้ามประเด็นความเป็นไปได้ในทางปฏิบัติ และขอเอาใจช่วยให้รัฐบาลสามารถนำชุดนโยบายดังกล่าวนี้มาทำให้เป็นรูปธรรมให้ได้ ภายในระยะเวลาไม่นานนักครับ

สำหรับในส่วนของประเด็นหลังนั้น ผมขอร่วมแสดงความคิดเห็นครับ ดังนี้ นโยบาย 2 สูงเป็นนโยบายที่จะปรับเปลี่ยนโครงสร้างแรงจูงใจในตลาดในระดับสูง นั่นคือ ระดับค่าจ้างต่ำสุดในระบบตลาดจริงๆ น่าจะอยู่ในระดับที่ต่ำกว่า 300 บาทต่อวันอยู่พอสมควร รายได้เริ่มต้นที่กำหนดโดยตลาดแรงงานของนักศึกษาที่จบปริญญาตรีจากมหาวิทยาลัยราชภัฏในต่างจังหวัด ก็น่าที่จะอยู่ในระดับที่ต่ำกว่า 15,000 บาทต่อเดือนอยู่มาก นอกจากนั้น ราคาข้าวในตลาดโลกปัจจุบันยังอยู่ห่างไกลจากระดับที่รัฐบาลกำหนดอยู่อย่างชัดเจน

นโยบายในลักษณะนี้จะนำมาซึ่งการปรับตัวของภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเพื่อตอบสนองต่อโครงสร้างแรงจูงใจที่เปลี่ยนแปลงไป แน่นอนว่าค่าแรงที่เพิ่มสูงขึ้นจะทำให้นายจ้างปรับตัวไปหาทางเลือกที่จะลดผลกระทบต่อตัวเองลง โดยที่ผ่านมาเราจะสังเกตเห็นแนวโน้มการปรับตัวหลักๆ ในสามรูปแบบ นั่นคือ การย้ายฐานการผลิตไปยังพื้นที่ซึ่งจะใช้ประโยชน์จากแรงงานต่างด้าวได้ การนำเอาเครื่องจักรเข้ามาทำงานทดแทนแรงงานบางส่วน และการเลิกกิจการไปเนื่องจากไม่สามารถปรับตัวรับกับค่าแรงที่เพิ่มสูงขึ้นได้ทัน โดยการปรับตัวของนายจ้างในทุกๆ รูปแบบนั้นจะนำมาซึ่งระดับการจ้างงานที่ลดต่ำลง

ในทางตรงกันข้าม กำลังแรงงานที่มีความสนใจจะเข้ามาทำงานจะมีจำนวนมากขึ้น เนื่องจากค่าแรงที่ได้อยู่ในระดับที่สูงขึ้น แรงงานที่แต่เดิมเคยทำงานบ้านอยู่ที่บ้านอาจจะเริ่มออกมาหางานทำ ในขณะที่จะมีแรงงานจากภาคเกษตรอีกส่วนหนึ่งจะมีความสนใจเข้ามาหางานในระบบทำมากยิ่งขึ้น เมื่ออุปสงค์ในการจ้างงานลดลง ในขณะที่อุปทานปรับตัวเพิ่มขึ้น สิ่งที่จะติดตามมาก็คืออัตราการว่างงานที่เพิ่มสูงขึ้น

ประเทศไทยยังไม่มีโครงสร้างที่ดีพอที่จะรองรับคนที่ว่างงาน โดยระบบผลตอบแทนผู้ที่ถูกเลิกจ้าง และระบบประกันสังคมของเรายังไม่เพียงพอที่จะรองรับจำนวนคนว่างงานที่จะปรับตัวเพิ่มสูงมากขึ้นได้ และในทุกๆ ครั้งของการเปลี่ยนแปลง คนที่จนที่สุดก็มักจะเป็นกลุ่มที่ต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วที่สุด ทั้งๆ ที่พวกเขาไม่มีทรัพยากรที่มากพอในการรองรับการเปลี่ยนแปลงใดๆ คนกลุ่มนี้น่าจะเป็นแรงงานไร้ฝีมือ สูงอายุ ที่ไม่มีที่ทำกินใดๆ มารองรับ รัฐบาลจำเป็นจะต้องสร้างระบบขึ้นมาช่วยสนับสนุนพวกเขาให้สามารถผ่านพ้นช่วงเวลาของการเปลี่ยนแปลงไปให้ได้ ไม่ว่าจะอยู่ในรูปแบบของสถานเลี้ยงดูชั่วคราว หน่วยงานในการจัดหางาน หน่วยงานพัฒนาฝีมือแรงงาน หรือหน่วยงานให้ข้อมูลความรู้ในลักษณะอื่นๆ ก็ตาม

นอกจากนั้น เนื่องจากนโยบาย 2 สูงน่าจะส่งผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของคนจนในระยะสั้นเพียงเท่านั้น ถ้ารัฐบาลคำนึงถึงการเปลี่ยนแปลงในระยะยาวแล้ว รัฐบาลควรที่จะจัดหาองค์ประกอบต่างๆ ที่เอื้อต่อการพัฒนาตนเองของคนจน หรือลูกหลานของพวกเขา ทั้งในรูปแบบของสถานศึกษาคุณภาพดีราคาถูก การให้ความช่วยเหลือทางด้านการเงินหรือการเข้าถึงแหล่งเงินกู้ ความช่วยเหลือด้านการให้ความรู้ หรือการเข้าถึงข้อมูลสำคัญในการประกอบกิจการในลักษณะต่างๆ รวมทั้งการให้ความช่วยเหลือเพื่อให้พวกเขาเข้าถึงตลาดโลกให้ได้อีกด้วย

โดยนโยบายในระยะยาวนี้น่าจะมุ่งเน้นไปที่การสร้างความแข็งแกร่งให้กับกลุ่มคนจน ให้พวกเขาสามารถพึ่งพาตนเองได้ โดยไม่จำเป็นจะต้องหันกลับมาพึ่งพารัฐบาลอีกในอนาคต

ผมหวังเป็นอย่างยิ่งครับว่ารัฐบาลชุดใหม่นี้จะเป็นที่พึ่งพาของคนจนได้ ทั้งในระยะสั้นและระยะยาวอย่างยั่งยืน