ThaiPublica > เกาะกระแส > คณะกรรมการปฏิรูปเศรษฐกิจ 20 ปีเดินหน้ารับฟังความคิดเห็น – จับยุทธศาสตร์ “แข่งขันได้-กระจายไปสู่ทุกคน-ยั่งยืน”

คณะกรรมการปฏิรูปเศรษฐกิจ 20 ปีเดินหน้ารับฟังความคิดเห็น – จับยุทธศาสตร์ “แข่งขันได้-กระจายไปสู่ทุกคน-ยั่งยืน”

6 พฤศจิกายน 2017


ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย และประธานคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านเศรษฐกิจ

ตามที่ประกาศสํานักนายกรัฐมนตรีเรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการจัดทํายุทธศาสตร์ชาติด้านต่างๆ ล่าสุด วันที่ 6 พฤศจิกายน 2560 ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ประธานคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านเศรษฐกิจ แถลงข่าวความคืบหน้าในการดำเนินการของคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านเศรษฐกิจและหลักการของคณะกรรมการว่ามีเป้าหมายหลักหรือยุทธศาสตร์ภาพรวมคือการพัฒนาเศรษฐกิจที่แท้จริง กล่าวคือเป็นการพัฒนาอย่างยั่งยืนและโดยเน้นประโยชน์และการสร้างศักยภาพของภาคประชาชน โดยแบ่งเป็นเป้าหมายรอง 3 ด้าน

    1) กระตุ้นความเร็วในการเติบโตของไทย (Speed of Growth)
    2) การกระจายโอกาสเศรษฐกิจฐานราก (Quality of Growth)
    3) การสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืน (Sustainability of Growth) หรือเรียกว่าเศรษฐกิจไทยจะต้อง “แข่งขันได้-กระจายไปสู่ทุกคน-ยั่งยืน”

เป้าหมายแรก แบ่งเป็นเป้าหมายระยะสั้น กลาง และยาว

  • ระยะสั้น – การเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมต่างๆ ที่เรามีความได้เปรียบโดยเปรียบเทียบ Comparative Advantages) อย่างแท้จริง เช่น เกษตรแปรรูป อาหาร ท่องเที่ยว สุขภาพ ยานยนต์ การค้า SMEs และการวิจัยและพัฒนา รวมทั้งสร้างอุตสาหกรรมใหม่ที่จะมาต่อยอดขึ้นไป เช่น เทคโนโลยีดิจิทัล และเทคโนโลยีชีวภาพ ซึ่งเรื่องนี้ ต้องใช้เวลา 1-5 ปี ในการขจัดอุปสรรคในด้านต่างๆ เพื่อให้ภาคเอกชนสามารถแข่งขันได้ดียิ่งขึ้น เพื่อสร้างรายได้ให้ประเทศ ขณะที่รัฐบาลกำลังดำเนินการในระยะกลางและยาว
  • ระยะกลาง – การพัฒนาตลาดให้มีความต่อเนื่องกัน (Regional Integration) เป็นฐานการผลิตเดียว เนื่องจากประเทศในกลุ่ม CLMVT มีขนาดตลาด 230 ล้านคน และหากรวมประเทศบังกลาเทศอีกประมาณ 160 ล้านคน จะทำให้ตลาดมีขนาดถึง 400 ล้านคน ซึ่งมีอัตราการขยายตัวสูงถึง 6-8% ต่อปี โดยมีการเชื่อมโยงกันผ่านโครงข่ายคมนาคมที่จะเอื้อให้บริษัทต่างๆ เลือกใช้ไทยเป็นฐานในการบริหารจัดการห่วงโซ่อุปทานของภูมิภาค (Regional Supply Chain) และกิจกรรมต่างๆ ซึ่งเรื่องนี้ต้องใช้เวลา 7-10 ปี ในการสร้าง Hard/Soft Infrastructure ในด้านต่างๆ ก่อนที่จะออกดอกผลอย่างแท้จริง
  • ระยะยาว – การก้าวเป็น Innovation Hub และ Startup Nation ที่รายได้หลักจะมาจากการสร้างนวัตกรรมของเราเอง และเป็นผู้นำและแหล่งกำเนิดของ Startup ในภูมิภาค รวมถึงส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาเพื่อเพิ่มการเจริญเติบโตของประเทศ ซึ่งเรื่องนี้ต้องใช้เวลา 15-20 ปี ในการสร้าง Ecosystem ก่อนที่จะเห็นผลที่ชัดเจน

นอกจากนี้ คณะกรรมการฯ ยังให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับการพัฒนาปัจจัยต่างๆ ที่จะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศในระยะยาวอย่างยั่งยืน (Sustained Competitive Advantage) ซึ่งรวมไปถึงการเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต การพัฒนาบุคลากร การปฏิรูปกฎหมายและกฎระเบียบ เพื่อให้ง่ายต่อการประกอบธุรกิจ การพัฒนาระบบข้อมูลและ Big data ตลอดจนดำเนินการให้เกิดการแข่งขันตามระบบตลาดเสรีให้มากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคบริการ

เป้าหมายที่ 2 แบ่งเป็นระดับประเทศ ชุมชน และปัจเจกบุคคล

  • ระดับประเทศสังคม – ต้องมุ่งสู่การเป็นสังคมที่สมดุล มีการจัดสรรประโยชน์ใหม่ ในระดับประเทศ โดยมีหน่วยงานดูแลจากส่วนกลางอย่างเหมาะสม ในการยกระดับประชาชนในกลุ่มต่างๆ ให้อยู่ร่วมกันอย่างเป็นสุข ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ซึ่งกรอบนโยบายในส่วนนี้รวมไปถึงการกำหนดยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศที่เน้นการพัฒนาหัวเมืองใหญ่ในภาคต่างๆ ควบคู่ไปกับการพัฒนากรุงเทพฯ การจัดสรรงบประมาณให้กับจังหวัดที่ยากจน การสร้างระบบสวัสดิการพื้นฐาน การปฏิรูประบบภาษี การเร่งดำเนินการตามโครงการประชารัฐ เพื่อให้กลุ่มธุรกิจที่ประสบความสำเร็จช่วยเหลือทุกคนให้เข้มแข็งมากขึ้น
  • ระดับชุมชน – ต้องสร้างชุมชนที่เข้มแข็งที่จะเป็นเสาหลักสนับสนุนให้พี่น้องประชาชนในพื้นที่ต่างๆ มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดี และสามารถร่วมกันพัฒนาความเข้มแข็งจากฐานราก ซึ่งนโยบายในส่วนนี้ รวมไปถึงการจัดให้มีสถาบันการเงินในชุมชนต่างๆ การพัฒนาระบบสวัสดิการชุมชนการส่งเสริมให้มีวิสาหกิจชุมชน ตลอดจนการวางกรอบเพื่อสนับสนุนวิสาหกิจเพื่อสังคม (Social Enterprise) เป็นต้น
  • ระดับบุคคล – ต้องเพิ่มรายได้ให้กับทุกคนอย่างยั่งยืน โดยเฉพาะเกษตรกรและกลุ่มแรงงานที่ยากจน โดยเปิดโอกาสทางเศรษฐกิจให้กับคนกลุ่มนั้นอย่างเป็นระบบ เพื่อให้เขาสามารถยืนอยู่บนขาของตนเองได้

เป้าหมายที่ 3 จะเป็นการปรับปรุงกลไกที่มีอยู่และสร้างกลไกใหม่ให้กับการบริหารจัดการเศรษฐกิจของประเทศในด้านต่างๆ

แบ่งเป็นระดับยุทธศาสตร์ การนำสู่การปฏิบัติ และการติดตามประเมินผล ดังนี้

  • หน่วยงานยุทธศาสตร์ (Strategic Unit) – ที่จะทำหน้าที่ต้นหน กำหนดทิศทางการพัฒนาประเทศในระยะยาวที่จะเป็นสมองของประเทศ
  • ฐานข้อมูลและระบบข้อมูล (National Statistical Office Reform and National Data Unit) – ที่จะทำหน้าที่ในการสร้างข้อมูล ที่ประกอบการตัดสินใจ รวมทั้งนำไปสู่การสร้าง Big Data ที่จะสามารถนำไปสู่การวิเคราะห์และใช้ในการกำหนดนโยบายของภาครัฐต่อไป
  • หน่วยงานด้านงบประมาณ (Budgetary Unit) – ที่จะทำหน้าที่จัดสรรงบประมาณที่จะไปสู่ Unit ต่างๆ อย่างมีประสิทธิภาพ
  • การปฏิรูปนโยบายการคลัง (Fiscal Policy Reform) – ที่จะรักษาความยั่งยืนทางการคลัง ตลอดจนความยั่งยืนของระบบประกันสังคมและประกันสุขภาพ
  • หน่วยงานบริหารจัดการสินทรัพย์ (Asset Management Unit) – ที่จะทำหน้าที่พัฒนา Asset ของภาครัฐให้เต็มศักยภาพ
  • กลไกการนำสู่ปฏิบัติ (Execution Mechanism) – ที่จะยกระดับในการดำเนินการตามที่แนวทางที่รัฐกำหนดไว้อย่างเป็นระบบ ไม่ล่าช้า
  • กลไกการติดตามประเมินผล (Monitoring and Evaluation Unit)

“กรอบระยะเวลาการดำเนินการเบื้องต้นต้องเสร็จร่างแรกในวันที่ 24 ธันวาคม 2560 นี้ ก่อนที่จะนำไปรวมกับคณะกรรมการอื่นๆ อีก 12 คณะ ปลายมกราคม 2561 น่าจะเห็นเป็นรูปร่าง หลังจากนั้นคาดว่าจะมีประกาศตามที่กฎหมายกำหนดในเดือนเมษายน 2561 แต่คณะกรรมการมีอายุ 5 ปี ดังนั้นคงไม่ใช่ว่าส่งเข้าไปแล้วอยู่นิ่งๆ แต่จะมีการใส่เพิ่ม ติดตาม ปรับเปลี่ยนอะไรหากจำเป็นตามพลวัตของเศรษฐกิจโลกด้วยระหว่างทาง อันนี้เป็นแค่จังหวะแรกก่อน ส่วนรายละเอียดอื่นๆ หากคืบหน้าชัดเจนจะแถลงข่าวเป็นระยะต่อไป” ดร.ประสารกล่าว

ทั้งนี้ ประชาชนสามารถร่วมแสดงความคิดเห็นหรือนำส่งข้อมูลต่างๆ ได้ที่  www.econreform.or.th โดยเริ่มเปิดรับความคิดเห็นได้ในวันที่ 13 พ.ย. 2560 ซึ่งคณะกรรมการจะรวบรวมเป็นฐานข้อมูลมาพิจารณาต่อไป