ThaiPublica > เกาะกระแส > 70 ปีแบงก์ชาติ ยึดหลัก “ประโยชน์ส่วนรวม-ปลอดการเมือง-ไม่หวังกำไร”

70 ปีแบงก์ชาติ ยึดหลัก “ประโยชน์ส่วนรวม-ปลอดการเมือง-ไม่หวังกำไร”

25 กันยายน 2012


ดร. ประสาร ไตรรัตน์วรกุล  ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย  เป็นประธานกล่าวเปิดงานสัมมนาวิชาการธนาคารแห่งประเทศไทย ประจำปี 2555 (BOT Symposium 2012) "บทบาทหน้าที่ของธนาคารกลาง ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลง" ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 24-25 กันยายน นี้  ณ โรงแรม Centara Grand at Central World
ดร. ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย เป็นประธานกล่าวเปิดงานสัมมนาวิชาการธนาคารแห่งประเทศไทย ประจำปี 2555 (BOT Symposium 2012) “บทบาทหน้าที่ของธนาคารกลาง ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลง” ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 24-25 กันยายน นี้ ณ โรงแรม Centara Grand at Central World

“ประสาร ไตรรัตน์วรกุล” เปรียบวิกฤติการเงินโลกเหมือนแผ่นดินไหว เกิดขึ้นถี่และแรงขึ้น แต่ป้องกันได้โดยการดำเนินนโยบายการเงินต้องอิสระ ไม่คำนึงถึงความพอใจของคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง และการประเมินความสำเร็จต้องไม่วัดจากผลกำไร ยอมขาดทุนเพื่อให้เศรษฐกิจชาติไปต่อได้”

การสัมมนาวิชาการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ประจำปี 2555 หรือครั้งที่ 13 ในปีนี้ถูกจัดขึ้นภายใต้หัวข้อ “บทบาทหน้าที่ของธนาคารกลางท่ามกลางความเปลี่ยนแปลง” ซึ่งเข้ากับสถานการณ์เศรษฐกิจการเงินโลกที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว และยังเป็นวาระพิเศษครบรอบ 70 ปี ธนาคารแห่งประเทศไทย ภายใต้หัวข้อสัมมนาจึงเปรียบเสมือนเป็นการทบทวนบทบาทหน้าที่ของ ธปท. ด้วย

ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการ ธปท. กล่าวเปิดงานสัมมนาครั้งนี้เมื่อวันที่ 24 กันยายน 2555 ว่า ในอดีตเรามักคิดว่าวิกฤติเศรษฐกิจการเงินโลกจะเกิดขึ้นทุกๆ 10 ปี แต่ระยะหลังมานี้เราเผชิญกับวิกฤติเศรษฐกิจแทบทุกปี และแต่ละครั้งดูเหมือนจะทวีความรุนแรงมากขึ้น

หากเปรียบวิกฤติเศรษฐกิจกับภัยธรรมชาติ เสมือนการเกิดแผ่นดินไหวที่ถี่และรุนแรงขึ้นโดยเฉพาะในบริเวณแผ่นเปลือกโลกที่ไม่เสถียร ซึ่งเราอาจเคยมองว่าเป็นเรื่องไกลตัว และคงจะไม่ส่งผลกระทบกับเราเท่าใดนัก

แต่การเกิดแผ่นดินไหวในบริเวณที่เริ่มใกล้เข้ามาเรื่อยๆ ทำให้หลายคนต้องเปลี่ยนทัศนคติเรื่องแผ่นดินไหวในประเทศไทย และหันมาให้ความสำคัญเพื่อเตรียมความพร้อมกันมากขึ้น เช่นเดียวกับวิกฤติเศรษฐกิจที่ผ่านมา ที่ส่งผลต่อเศรษฐกิจในภาพรวม ทั้งการดำเนินธุรกิจของภาคเอกชน และความเป็นอยู่ของประชาชน

ความแตกต่างจากการเกิดแผ่นดินไหวคือ เราอาจสามารถป้องกันวิกฤติเศรษฐกิจได้ ด้วยการรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจการเงินและสถาบันการเงินของประเทศ รวมทั้งการเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับระบบการเงิน ซึ่งเป็นบทบาทสำคัญของธนาคารกลาง

ไม่ว่าเศรษฐกิจจะเผชิญกับปัญหาใด สิ่งหนึ่งที่ไม่เคยเปลี่ยนแปลงนั้นคือ ความคาดหวังของสาธารณชนต่อบทบาทของธนาคารกลาง ที่จะเป็นผู้ทำหน้าที่รักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจ และมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาให้ประเทศพ้นปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจในที่สุด จนบางครั้งเกิดเป็นความคาดหวังที่สูงเกินไป ดังที่เราเห็นจากเหตุการณ์ในประเทศตะวันตกขณะนี้

“ในปีนี้ ธนาคารแห่งประเทศไทยดำเนินงานมาครบปีที่ 70 พอดี หากเปรียบเทียบกับอายุขัยของคนแล้ว ก็นับว่าผ่านร้อนผ่านหนาวมามากพอที่จะมีเกร็ดชีวิต ความรู้ ประสบการณ์ข้อเตือนใจ ฝากให้ลูกหลานและคนรุ่นต่อๆ ไปได้นำไปใช้ประโยชน์เพื่อพัฒนาตนเองให้ดีขึ้น”

ที่ผ่านมา ดร.ประสารมองว่า การดำเนินงานของ ธปท. ไม่เพียงแต่จะต้องยึดมั่นในหลักการดำเนินงาน เพื่อประโยชน์ของระบบเศรษฐกิจการเงินมาโดยตลอดแล้ว แต่ยังต้องอาศัย “ความมีอิสระในการดำเนินนโยบาย” ซึ่งหมายถึงความสามารถของธนาคารกลางในการดำเนินงานตามพันธกิจของตนอย่างอิสระ ภายใต้กรอบเป้าหมายร่วมกับภาครัฐ

“ความมีอิสระนี้เป็นเรื่องที่สำคัญ เพราะหากธนาคารกลางจะต้องคำนึงถึงความพอใจของคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง โอกาสที่จะคิดนโยบายใหญ่ๆ คิดอย่างมีกลยุทธ์ และหวังผลสัมฤทธิ์ในระยะยาว ก็จะน้อยลง จึงเป็นที่มาของหลักการทำงานของธนาคารกลาง ที่ต้องเป็นอิสระที่ทุก ๆ ประเทศให้การยอมรับ”

อีกประเด็นสำคัญที่ ธปท. ควรตระหนักในการดำเนินงานของธนาคารกลางคือ ความสำเร็จขององค์กรไม่สามารถประเมินได้จากผลกำไรหรือราคาหุ้น ที่กิจการของเอกชนมักใช้เป็นเครื่องสะท้อนผลประกอบการ หรือการชี้วัดความน่าเชื่อถือจากผู้ถือหุ้น หรือสาธารณชน

เนื่องจากวัตถุประสงค์ที่มุ่งรักษาเสถียรภาพโดยรวม มิใช่การดำเนินงานเพื่อแสวงหาผลกำไร และแม้ว่าในปัจจุบัน นักวิเคราะห์เริ่มมีการให้คะแนนผลการดำเนินงานของธนาคารกลางต่างๆ ว่าสอดคล้องกับเป้าหมายที่ตั้งไว้เพียงใด ซึ่ง ธปท. เองก็ไม่ได้รับการยกเว้น

ที่มา: วรสาร "พระสยาม" ฉบับที่ 3 เดือนกรกฎาคม-กันยายน 2555
ที่มา: วรสาร “พระสยาม” ฉบับที่ 3 เดือนกรกฎาคม-กันยายน 2555

ธทป. จึงยึดมั่นในการสร้างคุณค่าของการดำเนินงานและความน่าเชื่อถือ ผ่านการดำเนินนโยบายด้วยความโปร่งใส มุ่งพัฒนาการสื่อสารถึงเป้าหมายของการดำเนินนโยบายอย่างชัดเจน ซึ่งผลข้างเคียงจากการดำเนินพันธกิจหลักของธนาคารกลางก็คือ ต้นทุนในการดูแลเสถียรภาพ ที่ส่งผลต่องบดุลของธนาคารกลาง

ดร.ประสารกล่าวว่า ตลอดช่วง 70 ปีที่ผ่านมา ที่ ธปท. ได้เป็นส่วนสำคัญในการดำเนินนโยบายเพื่อเศรษฐกิจไทย ได้รับทั้งการชื่นชม และบางครั้งก็ได้รับการวิพากษ์วิจารณ์จนเกิดวิกฤติศรัทธาขึ้น แต่ไม่ว่าจะเป็นการตอบรับในด้านใด ธปท. ก็มุ่งมั่นที่จะปรับปรุง ปรับเปลี่ยน และปฏิรูปการดำเนินงาน ให้เหมาะสมในการตอบสนองภาวะแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลง รวมทั้งเรียนรู้จากอดีต เพื่อใช้เป็นบทเรียนในการแก้ไขปรับปรุงและเดินหน้าปฏิรูปการทำงานต่อไป

“ผมหวังเป็นอย่างยิ่งว่า สัมมนาวิชาการในปีนี้ จะเป็นโอกาสดีที่ ธปท. จะทบทวนบทบาทหน้าที่ เครื่องมือในการดำเนินงาน รวมทั้งการพัฒนาระบบการเงินที่ตอบสนองความต้องการในอนาคตร่วมไปกับสาธารณชนว่า เรามีจุดแข็งอะไร สิ่งใดที่เราทำได้ดีแล้ว สิ่งใดที่ต้องมีการเปลี่ยนแปลง และควรเปลี่ยนอย่างไร ในทิศทางใด จึงนำมาสู่หัวข้อการสัมมนาประจำปีนี้ เรื่องบทบาทหน้าที่ของธนาคารกลางท่ามกลางความเปลี่ยนแปลง”

อ่านคำกล่าวเปิดงานฉบับเต็มของ ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ได้ที่นี่