ThaiPublica > เกาะกระแส > “ประสาร ไตรรัตน์วรกุล” ศิษย์เก่ามองการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์จุฬาฯ …“มหาวิทยาลัยในโลกที่ไม่เหมือนเดิม”

“ประสาร ไตรรัตน์วรกุล” ศิษย์เก่ามองการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์จุฬาฯ …“มหาวิทยาลัยในโลกที่ไม่เหมือนเดิม”

20 สิงหาคม 2016


เมื่อวันศุกร์ที่ 19 สิงหาคม 2559 ที่ผ่านมา ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ได้ปาฐกถาเรื่อง “มหาวิทยาลัยในโลกที่ไม่เหมือนเดิม” ในสัมมนาผู้บริหารจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เรื่อง “การขับเคลื่อนยุทธศาสตร์จุฬาฯ”โดยมีรายละเอียดดังนี้

บทนำ

ขอบคุณท่านอธิการบดี คณะผู้บริหาร และคณาจารย์ที่ให้เกียรติผมมาแลกเปลี่ยนประสบการณ์เพื่อเตรียมการก้าวเข้าสู่ศตวรรษใหม่ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทั้งที่ผมไม่ได้เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษา และให้โอกาสผมตอบแทนสถาบันแห่งนี้ในฐานะ “ศิษย์เก่า” อีกทางหนึ่งด้วย การบ้านครั้งนี้ จึงไม่เป็นเพียงการส่งผ่านข้อคิดเห็นผ่านมุมมองจากประสบการณ์ในฐานะที่เคยเป็นผู้บริหารองค์กรภาครัฐและเอกชน แต่ยังรวมถึงฐานะศิษย์เก่าซึ่งมีความมุ่งหมายส่วนตัวอยากเห็นสถาบันที่ผมภาคภูมิใจแห่งนี้ดำรงเกียรติภูมิข้ามศตวรรษแห่งการเปลี่ยนแปลงได้อย่างสง่างาม

ศตวรรษที่ผ่านมา จุฬาฯ ได้ทำหน้าที่สมพระราชปณิธานของรัชกาลที่ 5 และรัชกาลที่ 6 รวมถึงตอบโจทย์ประเทศได้ดีระดับหนึ่ง กล่าวคือ ในช่วงแรกของการพัฒนาประเทศ จุฬาฯ ได้มีส่วนผลิตบุคลากรเพื่อสนับสนุนระบบราชการ และเมื่อต่อมากิจการภาครัฐและเอกชนขยายตัว จุฬาฯ ก็ได้ขยายคณะต่างๆ เพื่อตอบสนองความต้องการบุคลากรของประเทศ ศิษย์เก่าของจุฬาฯ มีส่วนสร้างความสำเร็จในหลายองค์กร และในหลากหลายสาขาอาชีพ

อย่างไรก็ดี บริบทต่างๆ ในศตวรรษใหม่ที่เรากำลังเผชิญต่างจากโลกในศตวรรษที่ผ่านมาในหลายมิติ นับเป็นความท้าทายสำหรับทุกคนและทุกสถาบันที่จะต้องปรับตัวอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ในโอกาสนี้ ผมขอร่วมเสนอมุมมองใน 3 ประเด็นคือ

(1) โลกที่ไม่เหมือนเดิม
(2) โอกาสและความท้าทายของมหาวิทยาลัยในโลกที่ไม่เคยหยุดนิ่ง
(3) การขับเคลื่อนจุฬาฯ สู่ศตวรรษใหม่

1. โลกที่ไม่เหมือนเดิม

โลกของเราไม่เคยหยุดนิ่ง เนื่องจากมนุษย์มีสติปัญญา ความคิด จินตนาการ และปรับตัวได้ จึงทำให้มนุษย์สามารถก้าวออกจากถ้ำ จนไปยืนอยู่บนดวงจันทร์ได้ และ สามารถคิดค้นนวัตกรรมใหม่ๆ ได้อย่างต่อเนื่อง จนทำให้สิ่งที่เคยอยู่ในจินตนาการเป็นจริงได้อย่างไม่น่าเชื่อ ที่สำคัญ ความพร้อมด้านเทคโนโลยีจะยิ่งทำให้การเปลี่ยนแปลงในอนาคต รวดเร็วและคาดเดาได้ยากยิ่งขึ้น
มองไปข้างหน้า ความไม่เหมือนเดิมของโลกที่จะมีนัยต่อมหาวิทยาลัยในระยะต่อไป ผมคิดว่ามี 3 มิติสำคัญ

มิติแรก คือ โลกไร้พรมแดน

พัฒนาการของเทคโนโลยีด้านการคมนาคมและการสื่อสาร ทำให้ โลกที่เคยกว้างใหญ่กลับเล็กและแคบลง (world is flatter) เสมือนประชาคมโลกเป็นชุมชนเดียวกันและผู้คนเดินทางไปมาหาสู่กันมากขึ้น ข้อมูลล่าสุดของ UN World Tourism Organization (UNWTO) ระบุว่าคนที่เดินทางออกนอกประเทศมีเกือบ 20% ของประชากรโลก

และ Internet Smartphone และ social media ทำให้ข้อมูลข่าวสารเดินทางข้ามพรมแดนได้อย่างรวดเร็ว เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในที่หนึ่ง ผู้คนทั่วโลกสามารถรับรู้และตอบโต้กันได้อย่างฉับพลัน ประเมินกันว่าปัจจุบันเกือบร้อยละ 70 ของประชากรโลกสามารถใช้เทคโนโลยี 3G ได้แล้ว

นักวิเคราะห์หลายท่านมองว่า สังคมและวัฒนธรรมทั่วโลกจะถูกหลอมรวมเป็นหนึ่ง ตัวอย่างง่ายๆ คือ ในเวลาเพียง 1 ทศวรรษ กระแส K-pop หรือเกาหลีฟีเวอร์ สามารถแทรกตัวไปทั่วทุกมุมโลกอย่างไม่น่าเชื่อ หรือภาพผู้อพยพที่หนีตายอัดแน่นในเรือเล็กๆ ข้ามมหาสมุทรแต่เมื่อรอดชีวิตขึ้นฝั่งได้กลับถูกรังแกจากประเทศปลายทางที่ถูกถ่ายทอดออกมาได้สร้างความสะเทือนใจแก่ผู้คนทั่วโลกจนเรื่องสิทธิมนุษยชนที่พูดกันมาหลายสิบปีได้รับการดูแลในฐานะกติกาของโลกและมีการบังคับใช้อย่างจริงจัง

มิติที่สอง คือ โลกซับซ้อนมากขึ้น

ดร.ประสาร  ไตรรัตน์วรกุล อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย
ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย

ด้านหนึ่งดูเหมือนโลกเล็กและแคบลง แต่หลายเรื่องก็ชี้ว่าโลกที่เราอยู่นี้ซับซ้อนมากขึ้น ทั้งในแง่ความกว้างและความลึกของเรื่องราวที่เชื่อมโยงระหว่างผู้เกี่ยวข้อง เช่น ผลวิกฤติการเงินโลกที่ผ่านมา สะท้อนความซับซ้อนเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจการเงินของโลกจนยากจะคาดการณ์ ขนาด Queen Elizabeth ที่ 2 ทรงเอ่ยถาม Professors ที่ London School of Economics ในคราวที่เสด็จไปเยือนว่า “Why no one saw credit crunch coming?” พูดง่ายๆ คือ ทำไมไม่มีใครเห็นว่า วิกฤตจะเกิดขึ้น?

ปัญหาการก่อการร้าย ที่เริ่มมีถี่ขึ้นในยุคหลังสงครามเย็น หรือ ปัญหาการอพยพของผู้ลี้ภัย ก็ทำให้เห็นความเชื่อมโยงที่แยกกันไม่ออกของปัจจัยทางการเมือง วัฒนธรรม สังคม เศรษฐกิจ

และเมื่อไม่นานมานี้สหประชาชาติได้ประกาศเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนหรือ Sustainable Development Goals ของโลก 17 เรื่อง ครอบคลุมหลากหลายประเด็น อาทิ Gender Equality, Sustainable Cities and Community, Peace and Justice, Quality Education ซึ่งก็สะท้อนปัญหาที่หลากหลายของโลกที่เรากำลังเผชิญอยู่

มิติที่สาม คือ โลกเปลี่ยนแปลงรวดเร็วและคาดเดายาก

แน่นอนว่า การเปลี่ยนแปลงเป็นสัจธรรมของชีวิต แต่การเปลี่ยนแปลงทุกวันนี้เกิดใน “speed ที่เร็ว” ขึ้นมาก อีกทั้งยัง “คาดเดายาก” ว่าทิศทางจะเป็นอย่างไร ย้อนไป 5 ปีก่อน เราจะเชื่อหรือไม่ถ้ามีใครมาบอกว่า

– อัตราดอกเบี้ยเงินฝากจะติดลบชนิดธนาคารในบางประเทศต้องคิดค่าฝากเงินจากลูกค้า
– ราคาน้ำมันในตลาดโลก ที่เคยอยู่ระดับ 100 เหรียญต่อบาเรลและใครๆ ก็มองว่า เราจะไม่มีทางได้ใช้น้ำมันราคาถูกอีกแล้ว กลับเหลือแค่ 25 เหรียญต่อบาเรล ในช่วงต้นปีนี้
– บริษัทที่ไม่มี taxi หรือ โรงแรม เป็นของตัวเองเลย เช่น UBER และ AiRBnB จะกลายเป็นหนึ่งใน operator ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลกได้

ผู้รู้หลายท่านบอกว่า ความจริงใหม่ หรือ new normal ของโลก คือ เราจะเจอกับเรื่อง surprise บ่อยและถี่ขึ้นเรื่อยๆ และนี่เพิ่งจะเป็นช่วงเริ่มต้น

Disruptive Technology จะกระทบความเป็นอยู่ ไม่ว่าจะระดับบุคคล องค์กร สังคม McKinsey คาดการณ์ว่าเทคโนโลยีจะมาทดแทนสิ่งที่มนุษย์ทำได้เกือบครึ่งหนึ่ง นัยคือคนในยุคต่อไปกว่าจะเกษียณ อาจจะต้องเปลี่ยนงาน 4-5 อย่าง

ท่านคณาจารย์และผู้มีเกียรติครับ

นอกจากโลกที่ไม่เหมือนเดิมแล้ว มองมาใกล้ตัว ไทยมีความก้าวหน้าไม่น้อย แต่ภูมิต้านทานต่อการเปลี่ยนแปลงในหลายเรื่องกลับเปราะบางอย่างน่ากังวล

การพัฒนาของประเทศในช่วง 50 ปีที่ผ่านมา ช่วยทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ของคนไทยดีขึ้นอย่างชัดเจน เศรษฐกิจขยายตัวประมาณ 14 เท่า ผู้คนจำนวนมากพ้นความยากจน พัฒนาการทางการแพทย์ทำให้คนไทยมีสุขอนามัยที่ดีและชีวิตยืนยาวขึ้น ประชาชนสามารถเข้าถึงการศึกษาได้มากขึ้น

แต่อีกมุมหนึ่งเราคงปฏิเสธไม่ได้ว่า ประเทศเรามีโจทย์หลายเรื่องที่รอการแก้ไข อาทิ

– ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคม ปี 2556 Credit Suisse จัดอันดับให้ไทยอยู่อันดับ 6 ของประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำมากที่สุด สิ่งนี้สะท้อนว่าคนไทยได้รับอานิสงส์จากการพัฒนาไม่เท่ากัน และ ถ้าดู “อัตราการพัฒนาเขตเมือง” หรือ urbanization rate ของไทยยังอยู่ต่ำแค่ร้อยละ 30 กว่าๆ ใกล้เคียงกับกัมพูชา ลาว เวียดนาม ทั้งๆ ที่เราเริ่มพัฒนามาก่อน ที่แย่ไปกว่านั้น ร้อยละ 80 ของ urbanization กระจุกตัวอยู่ในเขตกรุงเทพฯ ยิ่งตอกย้ำให้เห็นว่าประโยชน์ของการพัฒนาที่ผ่านมากระจุกที่ส่วนกลาง

– ศักยภาพการเติบโตลดลง พบว่าทศวรรษก่อนปี 2540 เคยโตเฉลี่ยร้อยละ 9 ต่อปี แต่ปี 2543-56 เราโตเฉลี่ยแค่ประมาณร้อยละ 4 และหลังๆ ก็ดูต่ำลง

– คุณภาพของระบบการศึกษา ของเราด้อยลง ดูจากดัชนี Quality of Education System ปัจจุบันอยู่อันดับที่ 78 ต่ำกว่าฟิลิปปินส์ และหลายประเทศที่เคยตามหลังเรากลับนำเราไปชนิดไม่เห็นฝุ่น

– วัฒนธรรมที่เปลี่ยนและปัญหาสังคมมากขึ้น สถิติอันหนึ่งที่น่าสนใจ จำนวนการฆ่าตัวตายของคนไทย ปี 2557 สูง 4,000 รายต่อปี หรือกว่า 300 รายต่อเดือน ที่น่าตกใจคือ เด็กเพียง 10 ขวบก็คิดฆ่าตัวตายแล้ว แสดงถึงภูมิต้านทานชีวิตของคนไทยอยู่ในระดับต่ำอย่างน่ากังวล

– ปัญหาสังคมผู้สูงอายุกำลังคุกคามไทย World Bank คาดว่าภายในปี 2583 จะมีคนอายุ 65 ปีขึ้นไปถึง 17 ล้านคนมากกว่า 1 ใน 4 ของประชากรทั้งประเทศ แต่คนในวัยทำงานกลับลดลงมากกว่าร้อยละ 10

– ปัญหาการคอรัปชัน ที่ยังไม่ได้รับการแก้ไขอย่างจริงจัง และที่น่าหนักใจคือ กลไกภาครัฐที่ควรมีบทบาทในการแก้ไขปัญหาหรือขับเคลื่อนประเทศกลับไม่สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ และในหลายกรณีกลับเป็นตัวเหนี่ยวรั้งศักยภาพภาคเอกชนจากกฎระเบียบที่มีอยู่มากมายจนเกินพอดี

2. โอกาสและความท้าทายของมหาวิทยาลัยในโลกที่ไม่เคยหยุดนิ่ง

ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล
ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย

ท่านคณาจารย์และผู้มีเกียรติครับ

บริบทโลกที่ไม่เหมือนเดิมและปัญหาที่รุมเร้าประเทศขณะนี้ นับเป็นโอกาสและความท้าทายของมหาวิทยาลัยในฐานะที่เป็น “เสาหลัก” ที่จะช่วยประเทศเผชิญกับความท้าทายและก้าวข้ามปัญหาข้างต้นได้ เพราะมหาวิทยาลัยยังเป็นศูนย์รวมบุคลากรคุณภาพ องค์ความรู้และนวัตกรรมที่สำคัญที่จะช่วยให้เกิดความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจ สังคม และช่วยวางรากฐานความรู้ ความคิด ทักษะและจริยธรรมให้แก่นิสิตนักศึกษา ซึ่งจะเป็นกำลังสำคัญของประเทศต่อไป ผมคิดว่า ทุกท่านในที่นี้มีโอกาสดีที่ได้ทำหน้าที่สร้างอนาคตของประเทศอย่างแท้จริง และเชื่อว่า โจทย์ใหญ่ในหัวใจของทุกท่านคือ ทำอย่างไรให้ประเทศและโลกได้รับประโยชน์จากผลผลิตและทรัพยากรเหล่านี้ได้เต็มศักยภาพ มิฉะนั้น การสัมมนาวันนี้คงไม่เกิดขึ้น และผมคงไม่ได้มายืนอยู่ตรงนี้

พวกเราคงปฏิเสธไม่ได้ว่า เทคโนโลยีทำให้เกิด Platform และการเชื่อมโยงของความรู้ ข้อมูล และข่าวสารให้ประชาคมโลกนำมาใช้ประโยชน์ในวงกว้างผ่าน Internet ที่สำคัญ ทฤษฎีและความรู้ที่เคยทันสมัยอาจจะล้าสมัยได้ในเวลาไม่นาน ผมจึงคิดว่า โลกที่ไม่เหมือนเดิมมีนัยต่อบทบาทของมหาวิทยาลัยใน 3 ด้าน ได้แก่

1. การสร้างคน
2. การสร้างองค์ความรู้ และนวัตกรรม
3. การนำองค์ความรู้ไปอำนวยประโยชน์ต่อสังคม

(1) การสร้างคน ต้องยอมรับว่า คนมีความหลากหลายเปรียบเหมือนต้นไม้ในป่าที่ต้องมีทั้งไม้ใหญ่ ไม้เล็ก ไม้เลื้อย ต้นหญ้า ที่รวมกันแล้วล้วนทำให้ป่าเกิดความสมบูรณ์ การจะพัฒนาคนที่หลากหลายให้สามารถใช้ศักยภาพได้เต็มที่ เป็นภารกิจที่ท้าทายของมหาวิทยาลัยในการตอบโจทย์เหล่านี้

1. ปรับกระบวนการเรียนรู้อย่างไร?

ทุกท่านคงเห็นด้วยว่าระบบ Lecture ลักษณะผู้เรียนเป็น Passive Learner ซึ่งเป็นวิถีหลักในการบ่มเพาะบัณฑิตไทยเป็นระบบที่ไม่สามารถดึงศักยภาพเด็กออกมาได้เต็มที่ ความรู้ที่ได้ในห้องแทบไม่อยู่ในความทรงจำเมื่อสอบเสร็จ ดังนั้น การเผชิญกับโลกที่ไม่เหมือนเดิม การช่วยให้เด็กค้นหาตนเอง และการให้เครื่องมือและปลูกฝังหลักคิดเพื่อสนับสนุนให้เด็กสามารถเรียนรู้ด้วยตัวเองตลอดชีวิตจึงเป็นสิ่งสำคัญมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อก้าวสู่วัยทำงาน ความรู้และทักษะที่นำมาใช้ส่วนใหญ่กลับเป็นสิ่งที่อยู่นอกห้องเรียน

2. สอนอะไร? เพียงพอหรือไม่?

ท่านอดีตนายกรัฐมนตรีคุณอานันท์ ปันยารชุน กล่าวว่า “เด็กที่เริ่มเรียนประถม 1 ในปีนี้ (ปี 2558) จะเกษียณอายุในปี 2612 ไม่มีใครที่สามารถจะคาดเดาได้ว่าโลกในปีนั้นจะเป็นอย่างไร เราต้องสอนอะไรเด็กเหล่านั้นเพื่อให้สามารถอยู่ในโลกใบนี้ แก้ปัญหาที่เกิดขึ้นได้”

ดังนั้น การ “สอนอะไร” คงไม่เพียงพอ ซึ่งประเด็นนี้ได้รับการยอมรับจากนักการศึกษาทั่วโลก มหาวิทยาลัยควรปลูกฝัง “ทักษะและอุปนิสัยที่จำเป็น” ในการอยู่ในโลกที่ไร้พรมแดน ซับซ้อนได้และเปลี่ยนแปลงรวดเร็วชนิดคาดเดายาก ซึ่งได้แก่

ทักษะ การรู้จักแก้ปัญหา มีความคิดริเริ่ม รู้จักสื่อสาร และทำงานร่วมกับคนอื่นได้

นิสัย ใฝ่รู้ สร้างสรรค์ ขยันอดทน รู้จักปรับตัว มีภาวะผู้นำ เปิดใจยอมรับความแตกต่าง มีความเห็นอกเห็นใจผู้อื่น และมีจิตสาธารณะ (Public Mind)

แต่ในบริบทของไทย ผมคิดว่า การมีสติ และการอ่อนน้อมถ่อมตนสำคัญมาก

สติ มีความสำคัญ บรรพบุรุษเราจึงสอนว่า “สติเป็นหางเสือ” ที่จำเป็นต้องฝึกไว้ให้มั่นคง โดยเฉพาะในภาวะที่ข้อมูลมีมากมาย และบ้างก็เผยแพร่กันอย่างไม่รับผิดชอบ

สติจะช่วยเด็กเข้าใจ และแยกแยะว่า จะใช้หรือเชื่อถือข้อมูลที่รับมาได้เพียงใด

การอ่อนน้อมถ่อมตน เป็นคุณสมบัติหนึ่งของคนไทย ซึ่งที่ผ่านมาถูกตีความในเชิง “เชื่อฟัง หรือยอมจำนน” และทำให้เรานำนัยที่แท้จริงของคุณสมบัตินี้มาใช้ได้ไม่ดีนัก

ประธานาธิบดีเนลสัน มันเดล่า เคยกล่าวว่า “การอ่อนน้อมถ่อมตน (Humility) เป็นลักษณะนิสัยที่มีค่าที่สุดที่มนุษย์พึงจะมี เพราะจะทำให้เราเห็นคุณค่าของคนอื่น” ผมคิดว่า ในยุคนี้ยิ่งสำคัญ เพราะถ้าเราเห็นคุณค่า ไม่ตัดสินคนอื่น จะเปิดโอกาสให้เราเรียนรู้ และใช้ประโยชน์จากความแตกต่างของผู้คนที่เราเข้าไปมีปฏิสัมพันธ์ด้วย

3. บทบาทของครูควรเป็นอย่างไร?

ไม่ว่าโลกจะไม่เหมือนเดิม หรือก้าวหน้าอย่างไร ความเป็นครูอาจารย์ที่เมตตาพร้อมจะเข้าใจเด็กยังคงเป็นสิ่งสำคัญที่สุดที่จะดึงศักยภาพเขาออกมาได้เต็มที่

ผมขอตั้งคำถามแบบมองย้อนกลับ

“ท่านจำครูที่ผ่านเข้ามาในชีวิตท่านใดได้บ้าง? และทำไมท่านจึงจำได้?”

ผมมักจำ “ครูที่ช่วยกระตุ้นความคิด สร้างแรงบันดาลใจ ทำให้ผมเห็นโลกกว้าง” และครูท่านหนึ่งเคยบอกผมว่า “We cannot create leader, we could only help them”

แต่การจะดึงหรือช่วยเขาให้ใช้ศักยภาพได้เต็มที่ ครูวันนี้อาจต้องเปลี่ยนบทบาทเป็นหุ้นส่วนการเรียนรู้ เป็นคนตั้งคำถามดีๆ ให้เด็กขบคิด เป็น Coordinator ให้กับนิสิตนักศึกษา ซึ่งจะทำให้บรรยากาศในห้องเรียนหรือกิจกรรมต่างๆ ในหลักสูตรเป็นไปอย่างมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้เรียน ผู้สอน และยืดหยุ่นในวิธีวัดผล ไม่อย่างนั้น เราอาจต้องแพ้อาจารย์ Youtube

4. บรรยากาศแบบไหนที่จะเปิดศักยภาพเด็กได้มากที่สุด?

มหาวิทยาลัย จะต้องสร้างบรรยากาศให้เด็กได้แสดงออกทางความคิดและการกระทำอย่างเสรี เพราะเป็นขั้นตอนสำคัญในการพัฒนากระบวนทัศน์ต่างๆ ของเด็กให้เปิดกว้างในมิติต่างๆ ซึ่งจะขยายมุมมองต่อโลกและชีวิต

อาจารย์ป๋วย อึ๊งภากรณ์เคยให้ข้อคิดไว้อย่างน่าสนใจว่า

“เราต้องสนับสนุนให้มนุษย์แต่ละคนใช้ความคิดอย่างมีเสรีภาพชนิดที่ไม่ต้องพึงหวาดหวั่นว่า จะเป็นความคิดนอกลู่นอกทาง นั่นแหละจึงจะเป็นการสนับสนุนอุดมคติให้ถือกำเนิดได้ แม่น้ำลำห้วยยังเปลี่ยนแนวเดินได้ สมองมนุษย์อันประเสริฐจะแหวกแนวบ้างมิได้หรือ ในเมื่อไม่เป็นพิษ ไม่เป็นภัยต่อสังคม”

(2) การสร้างองค์ความรู้ และนวัตกรรม คงต้องยอมรับว่า พัฒนาการความรู้ก้าวหน้าไปไกล และปัญหาหลายอย่างเกินขอบเขตที่ประเทศใดประเทศหนึ่ง หรือศาสตร์ใดศาสตร์หนึ่งจะแก้ปัญหาด้วยตัวเอง การแสวงหาความร่วมมือและการบูรณาการความรู้ ความเข้าใจเป็นแนวทางที่จะนำไปสู่การแก้ปัญหาหรือสร้างนวัตกรรมที่ตอบโจทย์คนในวงกว้างได้

1. การเปิดประตูสู่สากล ใช้โอกาสจากโลกที่ไม่มีพรมแดน สร้างความร่วมมือกับต่างประเทศ (International Collaboration) การทำวิจัยร่วมกับสถาบันหรือมหาวิทยาลัยต่างประเทศ มีความสำคัญมากสำหรับโลกในปัจจุบัน และไม่ใช่เพราะหลงแนวคิดตะวันตก แต่เป็นการเปิดประตูความคิดผสมผสานองค์ความรู้ของโลกจะช่วยตอบโจทย์ร่วมที่ยากและสำคัญ

ตัวอย่างที่อยากจะพูดถึง คือ ศูนย์วิจัยโรคเอดส์ สภากาชาดไทย ซึ่งมีการประสานความร่วมมือกับผู้เชี่ยวชาญจากออสเตรเลียและฮอลแลนด์ในการทำวิจัยกว่า 20 ปีที่ผ่านมา ซึ่งมีส่วนอย่างมากในการค้นพบตัวยารักษาที่ใช้กันอยู่ปัจจุบัน คุณูปการที่เกิดขึ้นไม่ได้จำกัดเฉพาะคนไทยแต่ยังประโยชน์ต่อประชาคมโลกด้วย และที่ต้องกล่าวถึงเป็นพิเศษ คือ โครงการนี้เกิดขึ้นในสมัยที่คนส่วนใหญ่ยังไม่เข้าใจ รังเกียจผู้ติดเชื้อ ไม่อยากมีส่วนร่วม

แต่ความสำเร็จที่เกิดขึ้นได้เพราะความกล้าหาญทางจริยธรรม ความมีผู้นำและวิสัยทัศน์ ของผู้ที่ริเริ่ม และความเสียสละของผู้เกี่ยวข้อง

2. การสร้างนวัตกรรม ผ่านการทำวิจัย และพัฒนางานวิจัยไปสู่นวัตกรรมเพื่อนำมาใช้ประโยชน์ได้จริง ที่สำคัญ นวัตกรรมไม่ได้จำกัดแค่สิ่งประดิษฐ์ทางเทคโนโลยีอย่างที่หลายคนเข้าใจ แต่นวัตกรรมอาจเป็นความคิดหรือวิธีการปฏิบัติใหม่ที่นำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ได้ อาทิ การผสมผสานวิชาต่างๆ จนเกิดนวัตกรรมด้านหลักสูตร การคิดระบบ Voting ใหม่ก็ถือเป็นนวัตกรรมด้านนโยบาย ดังนั้น ไม่ว่าอยู่คณะใด สาขาใด ย่อมมีโอกาสสร้างนวัตกรรมดีๆ ให้กับประเทศไทยได้

3. การขยายหลักสูตรที่มีลักษณะสหวิชา (Multi-disciplinary) – โลกที่ซับซ้อน ทำให้ไม่สามารถใช้เพียงศาสตร์ใดศาสตร์หนึ่งในการสร้างความเข้าใจและคลายปมได้ อีกทั้งโลกมีการเปลี่ยนแปลงเร็วเป็นการเตรียมพร้อมนิสิตนักศึกษาในการเปลี่ยนอาชีพใหม่ๆ ได้ ผู้รู้หลายคนถึงกับเสนอว่า เส้นแบ่งระหว่างคณะ (faculties) และสาขาวิชา (subjects) อย่างที่มีอยู่ในปัจจุบัน อาจจะต้องทบทวนใหม่

Paul Volcker อดีตประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ กล่าวว่า วิกฤตการเงินเกิดขึ้นเพราะเราพยายามเข้าใจโลกด้วยสิ่งประดิษฐ์ทางคณิตศาสตร์ ทั้งที่การนำคณิตศาสตร์เข้ามาช่วยวิเคราะห์พฤติกรรมมนุษย์ทำได้เพียงระดับหนึ่ง บนความไม่สมบูรณ์ของข้อมูลและภายใต้เงื่อนไขอีกมากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการคิดว่า มนุษย์คิดอย่างมีเหตุมีผล แล้วใช้ตัดสินใจเท่ากับเราเปิดหลุมพรางให้ตัวเองต้องตกลงไปในที่สุด เพราะความคิดที่แท้จริงของมนุษย์เป็น non-linear

ตัวอย่าง แนวคิดในการพัฒนาหลักสูตร STEM (Science Technology Engineering Mathematics) เป็นการผสานศาสตร์จะทำให้ผู้เรียนมีพื้นฐานที่จำเป็นในทางวิทยาศาสตร์ หรือ PPE (Philosophy Politics and Economics) ได้รับความนิยมเพราะเป็นสาขาวิชาที่ช่วยให้สามารถเข้าใจพฤติกรรมของมนุษย์

4. ไม่ควรมองข้ามศาสตร์แห่งความเข้าใจมนุษย์ ที่ผ่านมาพูดถึงโลกในอนาคตและประเด็นทางวิทยาศาสตร์มาก แต่ไม่ได้หมายความว่า มหาวิทยาลัยจะสามารถละเลย หรือมองข้ามความสำคัญขององค์ความรู้ด้านมนุษยศาสตร์ สังคมศาสตร์ วัฒนธรรม และจิตใจ ไม่ว่าโลกจะก้าวหน้าเพียงใด มนุษย์ยังอยู่และไม่ได้หายไปไหน เรายังจำเป็นที่ต้องมีความเข้าใจพฤติกรรมของมนุษย์ และในยุคที่โลกหมุนเร็ว ดูเหมือนเราสื่อสารกันมากขึ้น แต่เรากลับเข้าใจกันน้อยลง ทำให้เรายิ่งอยากจะ connect กับคนอื่น ความต้องการสุนทรีย์ทางจิตใจยิ่งดูจะมากขึ้นด้วยซ้ำไป หรือองค์ความรู้ด้านประวัติศาสตร์ ที่ทำให้เห็นบทเรียนหรือข้อคิดต่างๆ ที่เกิดขึ้น ที่สำคัญ ประวัติศาสตร์มักซ้ำรอยเสมอ ไม่ว่าโลกจะหมุนเร็วขึ้นอีกกี่รอบ

ที่สำคัญ เราจะสร้างรากที่แข็งแรงให้กับนิสิตนักศึกษา หรือสร้างภูมิต้านทานให้มหาวิทยาลัยได้เพียงใด ขึ้นกับว่า บุคคลหรือองค์กรนั้นเข้าใจรากเหง้าความเป็นมาในอดีตได้ดีพอหรือยัง เมื่อผนวกกับการตั้งใจคิดและทำภารกิจในปัจจุบันให้ดี ย่อมเป็นการวางรากฐานที่ดีสำหรับอนาคต


(3) การนำองค์ความรู้ไปอำนวยประโยชน์ต่อสังคม มหาวิทยาลัยไม่ได้มีบทบาทเพียงแค่สร้างคน และองค์ความรู้ แต่โจทย์ที่กว้างขึ้นไปกว่านั้นคือ จะทำให้คนและองค์ความรู้ที่มีมาอำนวยประโยชน์แก่สังคมส่วนใหญ่ได้อย่างไร บทบาทของมหาวิทยาลัยทั้งสามด้านนี้ มีความเกี่ยวเนื่องเกื้อกูล ส่งเสริมกัน

ถ้ามหาวิทยาลัยซึ่งเป็นที่รวมของบุคลากรที่มีความสามารถ และเป็นผู้นำองค์ความรู้ด้านต่างๆ ไม่สามารถใช้ทรัพยากรในการตอบโจทย์ของบ้านเมืองส่วนรวมหรือของโลก ก็เท่ากับยังทำหน้าที่ได้ไม่เต็มศักยภาพนัก อีกด้านหนึ่ง ถ้ามหาวิทยาลัยสามารถทำหน้าที่นี้ได้ดีจะทำให้ประชาชนเกิดความศรัทธาเป็นทุนทางสังคมที่จะย้อนกลับมาตอบแทนและช่วยให้มหาวิทยาลัยทำหน้าที่ในส่วนที่ 1 และ 2 ได้ดีขึ้นอีก ที่ผ่านมาผมคิดว่ามหาวิทยาลัยสามารถที่จะทำหน้าที่ส่วนนี้ได้ดียิ่งขึ้น

1. คิดถึงปัญหาของบ้านเมือง ปัญหาของประเทศในบางเรื่อง เช่น ปัญหาเรื่องความเลื่อมล้ำทางสังคม เป็นเรื่องที่สำคัญมากเกี่ยวเนื่องหลายด้านกับหลายมิติ ทั้งเศรษฐกิจ การศึกษา ความขัดแย้ง การกระจายอำนาจ ภาษี ที่ดิน สาธารณสุข ประชากร หรือแม้แต่เรื่อง urbanization และเป็นเหตุพื้นฐานของความขัดแย้งทางสังคมที่มีอยู่ในปัจจุบัน

มหาวิทยาลัยเป็นที่ที่จะสามารถผสานทรัพยากร ทั้งคนและองค์ความรู้ที่หลากหลาย และนำเสนอนโยบายสาธารณะ (public policy) ที่จะเป็นประโยชน์ต่อบ้านเมืองได้ดี และเป็นกลางมากที่สุด ในฐานะสถาบันที่เป็นเสาหลักของประเทศ ควรมีบทบาทในฐานะผู้นำทางความคิดและเป็นที่พึ่งให้ประชาชน ในการนำเสนอจุดยืนที่จะนำส่วนรวมไปสู่สังคมที่พึงปรารถนา

2. เข้าหาและเข้าใจผู้มีส่วนได้เสีย (Stakeholders) ผู้มีส่วนได้เสียของมหาวิทยาลัยไม่ได้หมายความเฉพาะ นิสิตนักศึกษา อาจารย์ บุคลากร หรือชุมชนโดยรอบมหาวิทยาลัย ซึ่งล้วนเป็นผู้มีส่วนได้เสียต้นทาง แต่หมายถึงประชาชน ผู้มีส่วนได้เสียปลายทางด้วย แล้วเราจะเข้าใจพวกเขาได้อย่างไร

อาจารย์หมอประเวศ วะสี ได้กรุณาให้คำตอบไว้อย่างชัดเจนว่า

“สิ่งที่มหาวิทยาลัยควรทำคือ ควรส่งนักเรียน นักศึกษาไปอยู่กับชาวบ้าน บ้านละคน เพื่อไปซึมซับวิถีชีวิต ทำให้เด็กมีจิตสำนึกซึ่งมีพลังมากกว่าความรู้ เจ้าชายสิทธัตถะไปสัมผัสคนแก่ เห็นคนเจ็บ คนตาย เกิดจิตสำนึกใหม่ เกิดฉันทะวิริยะอย่างแรงกล้า เกิดจากการไปสัมผัสความจริงของชีวิต กำแพงวังกั้นเจ้าชายสิทธัตถะ เท่ากับกำแพงการศึกษากั้นนักศึกษาออกจากความจริงของชีวิต”

3. การขับเคลื่อนจุฬาฯ สู่ศตวรรษใหม่

ดร.ประสาร  ไตรรัตน์วรกุล อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย
ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย

ท่านคณาจารย์และผู้มีเกียรติครับ

มาถึงส่วนสุดท้ายของปาฐกถา การขับเคลื่อนจุฬาฯสู่ศตวรรษใหม่ อย่างที่ผมได้ออกตัวไว้ในช่วงต้น ผมไม่มีประสบการณ์ด้านการบริหารสถานศึกษา ท่านคณาจารย์ทั้งหลายในที่นี้น่าจะรู้ดีกว่าผมว่าจะขับเคลื่อนจุฬาฯ ในเชิงเทคนิควิธีการและรายละเอียด อย่างไรก็ดี ผมขอใช้โอกาสนี้ร่วมเสนอมุมมองอีกเล็กน้อยในภาพกว้างดังนี้

เมื่อสองเดือนก่อนผมได้รับเชิญจากหนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่งให้ไปพูดในหัวข้อ “โลกที่ไม่เหมือนเดิม” ในตอนจบผมสรุปไว้ว่า โลกที่เราอยู่นี้ไม่เหมือนเดิม แต่การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นเป็นสัจธรรมของชีวิต ที่เป็นปกติธรรมดา ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลง ผู้ที่เกี่ยวข้องจำเป็นต้องปรับตัว โดยสิ่งสำคัญคือ (1) ต้องยอมรับและมองโลกตามความเป็นจริง (2) ทำปัจจุบันให้ดี (3) มองโลกในแง่บวก และ (4) มีสติรู้เท่าทันการเปลี่ยนแปลง

(1) ยอมรับและมองโลกตามความเป็นจริง

เรากำลังก้าวไปสู่โลกที่ไม่เหมือนเดิม ไร้พรมแดน ซับซ้อน และเปลี่ยนแปลงรวดเร็วยากจะคาดเดา ในภาวะเช่นนี้ผมคิดว่า
การอยู่ใน status quo หรือ ทำอย่างที่เคยทำ ไม่ใช่ทางเลือกของจุฬาฯ ไม่ใช่ทางเลือกของประเทศ
การเปลี่ยนแปลงไม่ใช่ choice แต่ เป็นสิ่งที่มีความจำเป็น

Sir Charles Darwin เขียนไว้ในหนังสือ Origin of Species (1859)

It is not the strongest or the most intelligent who will survive but those who can best manage change

คนที่จะอยู่รอดไม่ใช่ คนที่แข็งแรงหรือฉลาดที่สุด แต่คือคนที่สามารถจัดการและยอมรับการเปลี่ยนแปลงได้ดีที่สุด

ที่น่าสนใจคือ มีนักประวัติศาสตร์กล่าวไว้ว่า ถ้ามองย้อนกลับไปเมื่อ 500 ปีที่ผ่านมา มี “สถาบัน” ที่สามารถดำรงอยู่จนถึงปัจจุบันมีประมาณ 80 แห่ง อาทิ Roman Catholic รัฐสภาของอังกฤษ แต่ที่น่าสนใจคือ สถาบัน 70 จาก 80 แห่งที่ยังดำรงอยู่ได้ คือ มหาวิทยาลัย

ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น? เป็นอะไรที่ชวนคิด

ผมคิดว่า อาจจะเพราะมหาวิทยาลัยเป็นที่รวมของปราชญ์ที่มีปัญญาจำนวนมากที่ตระหนักว่า ต้องเปลี่ยนแปลงไปตามบริบทของโลกที่ไม่หยุดนิ่ง มองอีกมุมหนึ่งถ้ามีแต่ปราชญ์แต่ไม่ยอมเปลี่ยนแปลง มหาวิทยาลัยก็คงไม่สามารถดำรงอยู่จนถึงทุกวันนี้
ตามที่กล่าวมาแล้ว ในโลกที่ไม่เหมือนเดิมมหาวิทยาลัยจำเป็นต้องทบทวนบทบาทสำคัญ ทั้งการสร้างคน การสร้างองค์ความรู้ และการนำองค์ความรู้ไปอำนวยประโยชน์ต่อสังคม

(2)ทำปัจจุบันให้ดี

ในการก้าวสู่ศตวรรษใหม่ ผมคิดว่าจุฬาฯ อยู่ในสถานะที่พร้อมเมื่อเทียบกับที่อื่น เพราะมีชื่อเสียง ประสบการณ์ มีทรัพยากร มีนิสิตที่มีคุณภาพสูง รวมทั้งมีคณะและสถาบันต่างๆ ที่ว่าด้วยศาสตร์และศิลป์มากกว่า 40 แห่ง จึงสามารถพัฒนาหลักสูตรได้หลากหลาย และตอบโจทย์ประเทศได้มาก ขอเพียงมีเป้าหมายร่วมกัน ซึ่งปัจจุบันได้วางวิสัยทัศน์ “มหาวิทยาลัยแห่งชาติในระดับโลกที่สร้างสรรค์ องค์ความรู้และนวัตกรรม เพื่อเสริมสร้างสังคมไทยสู่การพัฒนาที่สร้างสรรค์” สะท้อนความพยายามที่จะเดินหน้าไปกับโลกที่ไม่หยุดนิ่ง และ Contribute ให้กับประเทศ

อย่างไรก็ดี การผลักดันแนวคิดให้เกิดผลในทางปฏิบัติจริงเป็นความท้าทายที่สำคัญ การผลักดันองค์กรที่มีคนกว่า 3 หมื่นคนเป็นเรื่องไม่ง่าย แต่ภารกิจที่ท่านทั้งหลายกำลังทำอยู่มีความสำคัญต่อการวางรากฐานการศึกษา และอนาคตของประเทศในระยะยาว ผมคิดว่าการปรับรูปแบบองค์กร และกระบวนการสนับสนุน หรือการวางระบบแรงจูงใจ เอื้อให้เกิดการปรับเปลี่ยนได้ทันกาลมีความสำคัญ ซึ่งจุฬาฯ เป็นสถาบันขนาดใหญ่ ประกอบไปด้วยคณะและหน่วยงานที่หลากหลาย คณะด้านวิทยาศาสตร์ สังคมศาสตร์ และมนุษย์ศาสตร์ แต่ละแห่งอาจจะมีธรรมชาติและวิธีการทำงานที่ไม่เหมือนกัน การจัดการแบบ one size fits all อาจจะมีข้อจำกัด และขาดความยืดหยุ่น

– การปรับเปลี่ยนที่จะช่วยให้การประสานร่วมมือกันทั้งในระดับภาควิชา คณะ หรือ กับองค์กรต่างประเทศ เช่น การทำหลักสูตรหรือการทำวิจัย เกิดขึ้นได้จริงมีความสำคัญ
– การสร้างแรงจูงใจควรทำให้เกิดความสมดุลระหว่างการสร้างองค์ความรู้และการสร้างจิตวิญญาณของความเป็นครู
-การปลดปล่อยตัวเองจากพันธนาการของกฎระเบียบที่มากมายเกินจำเป็นเพื่อสนับสนุนการขับเคลื่อนองค์กรเป็นสิ่งจำเป็น ซึ่งผมเชื่อในพลังมันสมองของท่านคณาจารย์ทั้งหลายว่าจะสามารถคิดนวัตกรรมด้านการบริหารใหม่ๆ ที่จะช่วยให้องค์กรทำงานได้คล่องตัวขึ้น

นอกจากนี้ ความเข้าใจและความร่วมมือผู้มีส่วนได้เสีย (Stakeholders) ไม่ว่า นิสิต อาจารย์ เจ้าหน้าที่ ประชาชน และสังคมโดยรวมก็มีความสำคัญ มหาวิทยาลัยหลายแห่งมีการระดมความคิดเปิดโอกาสให้ผู้เกี่ยวข้อง สามารถให้ความเห็น เกี่ยวกับสิ่งที่เขาต้องการอย่างกว้างขวางทาง Social Networks และ Stakeholders ที่สำคัญที่สุดคือ นิสิตนักศึกษา และเราต้องไม่มองเขาว่า “เป็นเด็ก” แต่ต้องมองว่า “เขาคืออนาคตของจุฬาฯ อนาคตของประเทศ และอนาคตของโลกใบนี้”

(3) คิดบวก

ท่านคณาจารย์และผู้มีเกียรติครับ

ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงที่กำลังเกิดขึ้น หลายท่านอาจจะกังวลใจ หวั่นไหว หรือรู้สึกกลัวกับอนาคต ผมคิดว่า พลังความคิดบวกมีความสำคัญ เมื่อประกอบกับเทคโนโลยีที่สร้างความเป็นไปได้แทบไม่มีขีดจำกัด ย่อมเป็นโอกาสเราจะสามารถออกแบบปฏิรูประบบการศึกษา และพัฒนาสถาบันที่เรารักให้เป็นที่ยอมรับและเข้าถึงประชาชนอย่างแท้จริง

ตัวอย่างเช่น จากเดิมที่การกระจายองค์ความรู้ของจุฬาฯ จำกัดเฉพาะกลุ่มเด็กเก่งที่สอบเข้ามาได้ แต่ทุกวันนี้ เราสามารถนำ Lecture บทความและงานวิจัยเผยแพร่ใน Website ให้ประชาชนในวงกว้าง และเพิ่มโอกาสในการสร้างปฏิสัมพันธ์ในห้องเรียนระหว่างครูและนิสิตนักศึกษามากขึ้น และในมุมกลับที่มีผลดีไม่น้อย คือ จุฬาฯ สามารถรับ Feedback จากผู้รู้ทั้งในและต่างประเทศ เพื่อนำมาปรับปรุงองค์ความรู้ให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น

(4) มีสติรู้เท่าทันความเปลี่ยนแปลง

ไฟแรง บางครั้งก็มอดเร็วก็ต้องระวัง

การเปลี่ยนแปลงเป็นกระบวนการที่อาจจะใช้เวลานาน ต้องอาศัยความเพียร คล้ายการวิ่งมาราธอน ที่เราต้องวิ่งไปพร้อมๆ กับคนในองค์กร ที่สำคัญต้องไม่เบื่อที่จะอธิบายความคิด และโน้มน้าวผู้ที่เกี่ยวข้องให้เข้าใจเป้าหมาย

กระบวนการที่เกี่ยวข้องกับคนจำนวนมาก วิธีคิดต้องยืดหยุ่น ใจกว้าง เปิดรับ ฟังด้วยใจเป็นธรรม และนำความเห็นที่แตกต่างที่มีหลอมรวมมาปรับใช้ สุดท้ายแล้วไม่มีใครที่ได้อะไรที่ต้องการทั้งหมด

พระไพศาล วิสาโล ให้ข้อคิดที่น่าสนใจว่า ผู้นำในการเปลี่ยนแปลงสิ่งสำคัญจะต้องมีจิตวิญญาณเพื่อการเปลี่ยนแปลง กล่าวคือ เห็นความจำเป็น รู้ซึ้งถึงขีดจำกัดหรือความไม่ถูกต้องของสิ่งเดิมๆ และทุ่มเททั้งแรงกาย แรงใจ และชีวิตเพื่อผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างแท้จริง

ความพากเพียรพยายามเท่านั้นที่จะทำให้การต่อสู้เพื่อการเปลี่ยนแปลงมันบังเกิดผล

มหาตมะคานธีกล่าวว่า เมื่อใดก็ตามมีแนวคิดใหม่เกิดขึ้น มันจะมีกระบวนการ 5 ขั้นตอนที่จะตามมา
1. ถูกเยาะเย้ย ถูกหัวเราะเยาะ
2. ถ้ายังสู้ไม่หยุด และเริ่มประสบผล ก็จะถูกต่อต้านขัดขวาง
3. ถ้ายังไม่หยุด อาจถูกทำร้ายอาจถึงชีวิต
4. ถ้าไม่หยุด และประสบความสำเร็จ เขาก็จะเริ่มยอมรับ
5. เขาจะชื่นชม สรรเสริญ

นี่คือ 5 ขั้นตอนที่จะเกิดขึ้นกับผู้ที่พากเพียรพยายามหรือต่อสู้เพื่อการเปลี่ยนแปลง

แต่ประการที่สำคัญที่สุด การเปลี่ยนแปลงจะเกิดขึ้นได้อย่างต่อเนื่อง และมีพลัง และประสบความสำเร็จ มันหนีไม่พ้นที่จะต้องมีการเปลี่ยนแปลงภายใน

ประธานาธิบดี เนลสัน แมนเดล่า เคยพูดไว้ว่า

“สิ่งที่ยากลำบากที่สุดอย่างหนึ่งไม่ใช่เป็นการเปลี่ยนแปลงสังคม แต่เป็นการเปลี่ยนแปลงตนเอง”

ท่านคณาจารย์และผู้มีเกียรติครับ

ที่ผ่านมาจุฬาฯ ได้รับความเมตตาจากประชาชน การเรียนการสอนการทำวิจัยในหลายสาขาวิชาก็ทำได้ดี ถูกจัดอยู่ในลำดับต้นของประเทศ ผมในฐานะศิษย์เก่า ก็อดที่จะรู้สึกภูมิใจไม่ได้ทุกครั้งที่มีโอกาสได้ทราบข่าว หรือ ได้ยินคนพูดถึงสถาบันการศึกษาด้วยความชื่นชม แต่โลกปัจจุบันที่เปลี่ยนแปลงเร็วและยากที่จะคาดเดา ประกอบกับโจทย์ของประเทศในหลายเรื่องเร่งด่วน ต้องได้รับการแก้ไข ทำให้เราไม่อาจชะล่าใจ หยุดนิ่ง ติดอยู่กับความสำเร็จในอดีต

บริบทของโลกที่ไม่เหมือนเดิมเช่นนี้ ไม่ว่า บุคคลหรือองค์กรต้องพัฒนาอยู่ตลอด เปรียบเหมือน “เราต้องวิ่ง เพียงเพื่อให้สามารถยืนอยู่กับที่” ถ้าใครประมาท ไม่ปรับตัว หรือปรับช้า “ไม่ว่าจะใหญ่แค่ไหน” ก็มีโอกาสเพรี้ยงพล้ำได้

ตัวอย่าง “บริษัทโนเกีย” ที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นบริษัทมือถือที่ใหญ่ที่สุด ทั้งที่ทราบว่าโทรศัพท์มือถือกับคอมพิวเตอร์จะถูกหลอมรวมเข้าด้วยกันเป็น smartphone และมีแผนพัฒนาไว้แล้ว แต่ชะล่าใจ ปรับตัวช้า จึงถูกคู่แข่งอย่าง Apple ตัดหน้าพัฒนา iPhone ออกมาก่อน โนเกียกลายเป็นอดีตที่ถูกลืมในช่วงเวลาไม่กี่ปี นี่ก็เป็นอุทาหรณ์ให้เราได้พิจารณา

อีกทั้ง หากมองเพื่อนบ้านของเรา อาทิ สิงคโปร์ หรือ จีน ที่ครั้งหนึ่งมหาวิทยาลัยของเขาเคยล้าหลังหรืออยู่ในระดับใกล้เคียงกับเรา ที่ผ่านมาเขามีพัฒนาการที่เร็วมาก จนได้รับการจัดอันดับให้อยู่ในระดับต้นๆ ของโลก ซึ่งนี่ก็สะท้อนว่า จุฬาฯยังมีศักยภาพที่จะพัฒนา ปรับปรุงการทำหน้าที่ให้ดี มีความเป็นเลิศได้มากขึ้นอีก เพื่อจะได้เป็นเสาหลักของประเทศอย่างแท้จริง

ขอบคุณ และขอเป็นกำลังใจให้ครับ