ThaiPublica > เกาะกระแส > การเดินทางเยือนเอเชีย 12 วันของโดนัลด์ ทรัมป์ กับภาระกิจที่มีเป้าหมายสำคัญ 3 ประการ

การเดินทางเยือนเอเชีย 12 วันของโดนัลด์ ทรัมป์ กับภาระกิจที่มีเป้าหมายสำคัญ 3 ประการ

5 พฤศจิกายน 2017


รายงานโดย ปรีดี บุญซื่อ

ที่มาภาพ : https://www.theguardian.com/us-news/2017/nov/04/north-korea-looms-large-as-donald-trump-embarks-on-asia-trip

ทำเนียบขาวได้เปิดเผยรายละเอียดการเดินทางเยือนเอเชียของประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ในช่วงระหว่างวันที่ 5-14 พฤศจิกายน ว่า ประธานาธิบดีสหรัฐ อเมริกาจะไปเยือนญี่ปุ่น เกาหลีใต้ จีน เวียดนาม และฟิลิปปินส์ การเดินทางเยือนครั้งนี้ เป็นการตอกย้ำถึงบทบาทนำของสหรัฐฯ ที่จะส่งเสริมภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก (Indo-Pacific Region) ให้เป็นพื้นที่เสรีและเปิดกว้าง

การเดินทางเยือนเอเชียครั้งนี้ นอกจากทรัมป์จะได้พบปะเจรจากับผู้นำญี่ปุ่น เกาหลีใต้ จีน เวียดนาม และฟิลิปปินส์แล้ว ยังจะเข้าร่วมการประชุมผู้นำกลุ่ม APEC (Asia-Pacific Economic Cooperation) ที่จะมีขึ้นในวันที่ 10 พฤศจิกายน ที่เมืองดานัง เวียดนาม กล่าวสุนทรพจน์ต่อที่ประชุม APEC CEO Summit เพื่อแสดงวิสัยทัศน์ของสหรัฐฯต่อภูมิภาคเอเชีย ในวันที่ 12-13 พฤศจิกายน ทรัมป์จะเข้าร่วมงานเลี้ยงฉลองวาระครบรอบ 50 ปีของสมาคมอาเซียน และการประชุมสุดยอดระหว่างสหรัฐฯ-อาเซียน

นายพลแม็กมาสเตอร์ ที่ปรึกษาด้านความมั่นคง ของทำเนียบขาว บอกกับผู้สื่อข่าวว่า ในการเดินทางเยือนเอเชีย ทรัมป์จะเน้นหนักในเป้าหมายสำคัญ 3 อย่าง คือ “ประการแรก เสริมความมุ่งมั่นของนานาชาติ ที่จะทำให้เกาหลีเหนือปลอดอาวุธนิวเคลียร์ ประการที่ 2 ส่งเสริมให้อินโด-แปซิฟิกเป็นภูมิภาคที่เสรีและเปิดกว้าง และประการที่ 3 ผลักดันความรุ่งเรืองของสหรัฐฯ ด้วยวิธีการค้าและเศรษฐกิจ ที่เป็นธรรมและต่างตอบแทน”

แนวคิด “ภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก”

กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ กล่าวว่า สาระสำคัญหลักในการเยือนเอเชียของทรัมป์คือ สิ่งที่เรียกว่า “อินโด-แปซิฟิก ที่เสรีและเปิดกว้าง” (Free and Open Indo-Pacific) แนวคิดนี้เป็นกรอบทางยุทธศาสตร์ ที่สหรัฐฯเข้ามาเกี่ยวพันกับเอเชีย จริงๆแล้ว แนวคิดนี้เป็นของญี่ปุ่น นายกรัฐมนตรี ชินโซ อาเบะ เป็นคนริเริ่มพัฒนาแนวคิดนี้ขึ้นมา โดยญี่ปุ่นจะวางยุทธศาสตร์ไว้กับอินเดีย ออสเตรเลีย และสหรัฐฯ ในฐานะประเทศคาบสมุทรประชาธิปไตยขนาดใหญ่

ในการกล่าวสุนทรพจน์เมื่อเร็วๆนี้ ที่ Center for Strategic & International Studies (CSIS) นายเร็กซ์ ทิลเลอร์สัน รัฐมนตรีต่างประเทศ สหรัฐฯ อธิบายแนวคิดนี้ว่า สหรัฐฯจะต้องส่งเสริมความรุ่งเรืองและความมั่นคงมากขึ้น ด้วยเป้าหมายที่ทำให้อินโด-แปซิฟิก เป็นภูมิภาคที่เสรีและเปิดกว้าง ภูมิภาคนี้ประกอบด้วยมหาสมุทรอินเดียทั้งหมด แปซิฟิกตะวันตก และประเทศต่างๆที่อยู่รอบๆ พื้นที่นี้จะเป็นส่วนสำคัญที่สุดของโลกในศตวรรษที่ 21 ภูมิภาคนี้มีประชากรรวมกันกว่า 3 พันล้านคน เป็นศูนย์กลางเส้นทางการค้าและพลังงานของโลก 40% ของเส้นทางลำเลียงน้ำมันโลก ต้องผ่านมหาสมุทรอินเดีย ในกลางศตวรรษที่ 21 เศรษฐกิจเอเชียจะมีสัดส่วนมากกว่า 50% ของโลก

แต่นักวิเคราะห์ของ CSIS วิจารณ์ว่า แนวคิดนี้ทำให้เกิดคำถาม 2 คำถาม ประการแรก ภูมิภาคอินโด-แปซิฟิกจะเสรีและเปิดกว้างได้อย่างไร หากว่าสหรัฐฯไม่มีความคิดเรื่อง การค้าเสรีและเปิดกว้างของภูมิภาคนี้ ในเรื่องการค้า รัฐบาลทรัมป์หันมาใช้นโยบายอเมริกาต้องมาก่อน มุ่งที่จะลดการเสียเปรียบทางการค้าของสหรัฐฯ ไม่ได้ให้ความสำคัญต่อการสร้างระเบียบกฏเกณฑ์ที่ประเทศต่างๆจะรวมตัวทางเศรษฐกิจมากขึ้น ประการที่ 2 จากแนวคิดอินโด-แปซิฟิก ทำให้สหรัฐฯมีความสัมพันธ์ที่ดีกับอินเดียและญี่ปุ่น แต่ไม่ชัดเจนว่า สหรัฐฯมีท่าทีอย่างไรต่อเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

วิกฤติเกาหลีเหนือ

เกาหลีเหนือเป็นปัญหาเร่งด่วนที่สุดของทรัมป์ เพราะกำลังจะบรรลุขีดความสามารถในการพัฒนาขีปนาวุธข้ามทวีปติดหัวรบนิวเคลียร์ ที่สามารถยิงไปถึงแผ่นดินใหญ่สหรัฐฯ เป้าหมายของสหรัฐฯต้องการให้เกาหลีใต้และจีน เห็นพ้องที่จะใช้มาตรการกดดันสูงสุดต่อเกาหลีเหนือ เจ้าหน้าที่สหรัฐฯบอกกับ politico.com ว่า ทรัมป์ต้องการผนึกกำลังนานาชาติต่อต้านอาวุธนิวเคลียร์เกาหลีเหนือ เพื่อแสดงให้เห็นว่า ไม่ได้มีเพียงสหรัฐฯ ที่ต่อต้านเกาหลีเหนือในเรื่องนี้

ที่มาภาพ : https://www.japantimes.co.jp/wp-content/uploads/2017/10/n-trumpabe-a-20171025-1.jpg
ที่มาภาพ : https://theconservativetreehouse.files.wordpress.com/2017/11/trump-abe-12.jpg

การเยือนญี่ปุ่นของทรัมป์เป็นเวลา 2 วัน ในช่วง 5-6 พฤศจิกายน จะเน้นหนักในเรื่องเกาหลีเหนือ นายกรัฐมนตรี ชินโซ อาเบะ ถูก New York Times เรียกว่าเป็น “คู่หูทางโทรศัพย์ของทรัมป์เรื่องวิกฤติเกาหลีเหนือ” เพราะผู้นำทั้ง 2 หารือกันทางโทรศัพย์บ่อยครั้งมาก นักวิเคราะห์บางคนบอกว่า ชินโซ อาเบะ ไม่ควรทำตัวเป็นผู้ช่วยทรัมป์ การที่สหรัฐฯถอนตัวจากข้อตกลง Trans-Pacific Partnership (TPP) ที่อาเบะลงแรงไปมากในเรื่องนี้ เท่ากับเปิดโอกาสให้ญี่ปุ่นจะก้าวขึ้นมามีบทบาทนำในภูมิภาคนี้ แต่ที่แน่นอนก็คือ การเยือนญี่ปุ่นของทรัมป์ครั้งนี้ ทางชินโซ่ อาเบะ คงจะสร้างความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกับทรัมป์มากยิ่งขึ้น วันแรกที่ทรัมป์ไปถึง อาเบะเชิญทรัมป์ไปเล่นกอล์ฟ ผู้นำทั้ง 2 คงจะเลี่ยงประเด็นที่เห็นต่างกันเรื่องการค้า เพื่อไม่ให้เป็นผลเสียต่อความร่วมมือกันในการกดดันต่อเกาหลีเหนือ

หากว่าชินโซ อาเบะมีท่าทีแข็งกร้าว เป็นพวกเหยี่ยวในเรื่องเกาหลีเหนือ มุน แจ-อิน ประธานาธิบดีเกาหลีใต้ กลับมีท่าทีสายกลาง มุน แจ-อินคงจะได้รับการต้อนรับฉันท์มิตรต่อทรัมป์ แต่ก็วางตัวแบบระมัดระวัง แม้จะเห็นด้วยกับทรัมป์ว่า ยังไม่ถึงเวลาที่จะเจรจาระดับสูงกับเกาหลีเหนือ แต่มุน แจ-อินก็คัดค้านที่สหรัฐฯจะเปิดฉากปฏิบัติการทางทหารก่อน โดยบอกกับรัฐสภาเกาหลีใต้ว่า “ไม่ควรมีปฏิบัติการทางทหารในคาบสมุทรนี้ โดยที่เราไม่ได้ให้ความเห็นชอบก่อน”

รัฐบาลเกาหลีใต้รู้สึกโล่งใจมาก ที่สหรัฐฯยกเลิกแผนการที่ทรัมป์จะไปเยือนเขตปลอดทหาร (DMZ) เพราะเห็นว่า ในช่วงที่กำลังมีวิกฤติกันอยู่ การที่ทรัมป์จะไปเยือนเขตปลอดทหาร เท่ากับเป็นการยั่วยุที่ไม่จำเป็น แต่ในวันที่ 8 พฤศจิกายน ทุกคนจะจับตามองไปที่ทรัมป์ ที่จะกล่าวสุนทรพจน์ต่อรัฐสภาเกาหลีใต้ ซึ่งเนื้อหาส่วนใหญจะเป็นเรื่องวิกฤติเกาหลีเหนือ

ความสัมพันธ์กับจีน

ทรัมป์จะไปเยือนจีน ในช่วง 8-10 พฤศจิกายน สี จิ้นผิงคงจะให้การต้อนรับทรัมป์แบบปูพรมแดง และอาจเป็นมัคคุเทศน์พาทรัมป์ไปเยือนกำแพงเมืองจีน เพราะทรัมป์สนใจเรื่องการสร้างกำแพง เพื่อป้องกันพวกลักลอบเข้าสหรัฐฯ แต่การพบปะกันครั้งนี้ ทรัมป์จะได้พบกับสี จิ้นผิง ที่หลังการประชุมสมัชชาพรรคคอมมิวนิสต์จีน ได้รับการยอมรับว่าเป็นผู้นำที่มีอำนาจมากสุดของจีน มีฐานะเทียบเท่ากับเหมา เจ๋อตุง ความคิดของสี จิ้นผิงถูกเขียนไว้ในธรรมนูญของพรรคคอมมิวนิสต์จีนว่า เป็นความคิดของจีนในยุคใหม่

ประเด็นหารือระหว่างผู้นำ 2 ประเทศ คือ การค้าและเกาหลีเหนือ ทรัมป์ต้องการกลับประเทศแล้ว สามารถเขียนข้อความใน Twitter ว่าไม่ได้กลับมามือเปล่า โดยสามารถกดดันจีนในเรื่องการค้าไม่เป็นธรรม และนำการจ้างงานกับการลงทุนบางส่วนกลับคืนมาสหรัฐฯ ส่วนเรื่องเกาหลีเหนือ สหรัฐฯต้องการให้จีนกดดันมากขึ้น เพื่อยับยั้งโครงการนิวเคลียร์ของเกาหลีเหนือ ที่ผ่านมา แม้แต่คนที่วิพากษ์วิจารณ์ทรัมป์ก็ยอมรับว่า ในสมัยทรัมป์ จีนดำเนินมาตรการกดดันเกาหลีเหนือ มากกว่าสมัยประธานาธิบดีคนอื่นๆของสหรัฐฯ

ที่มาภาพ : https://gdb.voanews.com/11CAF368-DFD6-4C6C-A0DB-E4E96F79E234_w1023_r1_s.jpg

การเยือนเวียดนาม

เมื่อปีที่แล้ว ในการไปเยือนเวียดนาม บารัก โอบามาเอาชนะจิตใจคนเวียดนามมาแล้ว โดยการไปนั่งรับประทานร้านก๋วยเตี๋ยวเวียดนาม ราคาชามละ 6 ดอลลาร์ หลังจากนั้น ก็ไปกล่าวสุนทรพจน์เรื่องสิทธิมนุษยชนให้แก่เยาวชนเวียดนาม แต่ทรัมป์เดินทางตรงไปที่เมืองดานัง เพื่อร่วมประชุมสุดยอดของผู้นำกลุ่ม APEC ที่มีขึ้นช่วงวันที่ 10-11 พฤศจิกายน ที่มีผู้นำโลกหลายคนเข้าร่วมประชุม รวมทั้งประธานาธิบดี วราดิเมียร์ ปูติน

กลุ่ม APEC ตั้งขึ้นมาในปี 1989 สหรัฐฯเป็นประเทศหนึ่งที่ก่อตั้งกลุ่ม APEC เพื่อให้การค้าและการลงทุนเป็นช่องทางหนึ่ง ที่สหรัฐฯจะเข้ามาเกี่ยวพันกับประเทศในเอเชีย แม้สหรัฐฯจะไม่ได้เป็นประเทศในเอเชีย แต่ก็เป็นมหาอำนาจของแปซิฟิก ในปี 1993 ประธานาธิบดีคลินตันยกระดับกลุ่ม APEC ขึ้นมาเป็นการประชุมสุดยอดผู้นำ ทำให้ประธานาธิบดีสหรัฐฯเข้าร่วมประชุมสุดยอด APEC มาตลอด

วาระการประชุมของกลุ่ม APEC มีเนื้อหาที่เป็นมาตรฐาน เช่น เรื่องการเปิดเสรีการค้าและการลงทุน ที่ผ่านมา สหรัฐฯให้ความสำคัญในเรื่อง การค้าแบบดิจิทัล การปรับโครงสร้าง การอำนวยความสะดวกเรื่องการค้า ความสามารถด้านการแข่งขันของการค้าบริการ และบทบาททางเศรษฐกิจของสตรี แต่ไม่มีใครรู้ว่า ทรัมป์จะกล่าวปราศัยเรื่องอะไรต่อที่ประชุมนี้ หากทรัมป์พูดเรื่องการขาดดุลการค้า หรือวิธีการค้าไม่เป็นธรรม เรื่องแบบนี้จะไม่เข้ากับบรรยากาศการประชุมของ APEC หรือทรัมป์อาจจะกล่าวถึงวิสัยทัศน์ของสหรัฐฯเรื่อง การเกี่ยวพันทางเศรษฐกิจที่สหรัฐฯจะมีต่อภูมิภาคนี้ ที่อาจเป็นหัวข้อเรื่อง “ภูมิภาคอินโด-แปซิฟิกที่เสรีและเปิดกว้าง”

หลังการประชุม APEC ทรัมป์จะเดินทางไปฮานอย และหารือทวิภาคีกับประธานาธิบดีเจิ่น ดั่ย กวาง (Tran Dai Quang) เพื่อส่งเสริมความร่วมมือทางเศรษฐกิจและความมั่นคง รัฐบาลทรัมป์ให้ความสำคัญทางยุทธศาสตร์กับการเป็นหุ้นส่วนกับเวียดนาม เพราะเวียดนามมีปัญหาพิพาทกับจีน เรื่องการอ้างกรรมสิทธิ์ในทะเลจีนใต้ แต่การหารือในเรื่องเศรษฐกิจ ก็เป็นประเด็นสำคัญ เพราะสหรัฐฯถอนตัวจาก TPP ที่เวียดนามเคยคาดหวังว่า ตัวเองจะได้ประโยชน์มากที่สุด เวียดนามเองจึงให้ความสำคัญกับการทำความตกลงทางเศรษฐกิจกับรัฐบาลทรัมป์

การเยือนฟิลิปปินส์

หลังจากเวียดนาม ทรัมป์จะเดินทางไปฟิลิปปินส์ ในช่วง 12-13 พฤศจิกายน เพื่อเข้าร่วมงานฉลองวาระครบรอบ 50 ปี การก่อตั้งสมาคมอาเซียน หลังจากนั้น เป็นการประชุมสุดยอด สหรัฐฯ-อาเซียน และทรัมป์จะหารือกับประธานาธิบดีโรดริโก้ ดูเตอร์เต้ของฟิลิปปินส์ ที่ยังไม่เคยพบปะกันมาก่อน ในทางยุทธศาสตร์ ฟิลิปปินส์มีความสำคัญ เพราะเป็นประเทศที่ตั้งอยู่ในทะเลจีนใต้ ดูเตอร์เต้เองเห็นว่า การพบปะกับทรัมป์ เป็นโอกาสดีที่จะกำหนดความสัมพันธ์ใหม่กับสหรัฐฯ ทรัมป์เคยพูดยกย่องดูเตอร์เต้ว่า “ทำงานได้น่าประทับใจเรื่องปัญหายาเสพติด”

ปัจจุบัน ภูมิทัศน์ของเอเชียกำลังเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ นิตยสาร Economist คาดหมายว่า สัดส่วนเอเชียในผลิตภัณฑ์ทางเศรษฐกิจของโลก จะเพิ่มจากปัจจุบัน 32% เป็น 53% ในปี 2050 หมายความว่า เมื่อถึงเวลานั้น ธุรกรรมเศรษฐกิจของโลก ส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นในเอเชีย การเดินทางเยือนเอเชียของทรัมป์ครั้งนี้ คงจะส่งผลอย่างใดอย่างหนึ่ง เหมือนกับที่เฮนรี่ คิสซิงเกอร์ อดีตรัฐมนตรีต่างประเทศ สหรัฐฯ ได้เคยกล่าวไว้ว่า นโยบายของทรัมป์อาจสร้างลู่ทางโอกาสแบบพิเศษขึ้นมา แต่ก็เพิ่มความไม่แน่นอนให้แก่หลายประเทศในภูมิภาคนี้

เอกสารประกอบ
CSIS Press Briefing: President Trump’s Trip to Asia, Center for Strategic & International Studies.
Trump’s Asia tour: what lies ahead for the president – and the countries he visits, theguardian.com