ThaiPublica > เกาะกระแส > ท้องถิ่นไทยกับการสร้างเมืองสำหรับอนาคต หมดยุค “ช่างปะผุ” สู่ “ทุนข้อมูล ทุนทางความรู้”

ท้องถิ่นไทยกับการสร้างเมืองสำหรับอนาคต หมดยุค “ช่างปะผุ” สู่ “ทุนข้อมูล ทุนทางความรู้”

14 พฤศจิกายน 2017


ที่มาภาพ: คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ และสำนักงานคณะกรรมการการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2560 สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ร่วมกับ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดงานประชุม symposium “ท้องถิ่นไทยกับการสร้างเมืองสำหรับอนาคต” โดยถอดบทเรียนจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ที่ได้รับรางวัลบริหารจัดการที่ดีประจำปีงบประมาณ 2560 จากคณะกรรมการการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (ก.ก.ถ.) ผ่านโครงการนวัตกรรมท้องถิ่น

จาก “ช่างปะผุ” สู่ “ผู้จัดการเมือง”

ดร.วีระศักดิ์ เครือเทพ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หัวหน้าคณะที่ปรึกษา และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิใน ก.ก.ถ. กล่าวว่า จากประสบการณ์ศึกษาวิจัยเรื่องท้องถิ่น เรื่องนวัตกรรมท้องถิ่นมากว่า 10 ปี ทำให้เห็นประเด็นการกระจายอำนาจหรือพัฒนาการเรื่องนวัตกรรมท้องถิ่นที่มีรูปแบบ มีชีวิต และมีกระบวนการที่ชัดเจน แต่ก็ยังมีจุดอ่อนและข้อจำกัด ที่ต้องปรับปรุงเพื่อก้าวต่อไปในอนาคต

ทั้งนี้ โจทย์ที่ท้าทายของท้องถิ่นในการเจริญเติบโตต่อไปได้อย่างเข้มแข็งไม่ใช่แค่ท้องถิ่นฝ่ายเดียวเป็นคนทำ แต่ต้องมีทั้งภาครัฐ ภาควิชาการ และภาคส่วนต่างๆ มาช่วยกันทำปัจจัยต่างๆ ให้ครบองค์ประกอบ ประเทศถึงจะเดินต่อไปได้

การประชุมวันนี้จึงพยายามสะท้อนภาพว่า ท้องถิ่นต่อจากนี้ไปไม่ใช่แค่หน่วยงานที่วิ่งไล่ตามแก้ไขปัญหา ถ้าเปรียบเป็นช่างซ่อมรถยนต์ก็คือ “ช่างปะผุ” เจอปัญหาตรงไหนก็ซ่อมทุกครั้ง แต่ซ่อมไม่จบ เพราะปัญหาบ้านเมืองมีเต็มไปหมด

แต่ทำอย่างไรที่จะช่วยกันมองทิศทางของท้องถิ่นในอนาคตเป็นผู้สร้างเมืองหรือผู้สร้างชุมชน ขอใช้คำว่า “ผู้จัดการเมือง” ซึ่งเป็นคำของอดีตนายกเทศมนตรีนครขอนแก่น ท่านบอกว่าบทบาทท้องถิ่นคือคนสร้างเมือง วางแผนว่าทิศทางเมืองจะเป็นอย่างไรต่อไปในอนาคต อย่าปล่อยไปตามยถากรรม ต้องสร้างก่อน ต้องวางแผนก่อน แล้วบริหารให้เป็นไปตามทิศทางที่ต้องการ

ถอดบทเรียน “นวัตกรรมท้องถิ่น”

สำหรับ อปท. ที่ได้รับรางวัลบริหารจัดการที่ดีปีนี้มี 33 แห่ง ผ่านการตรวจประเมินอย่างละเอียดจากเอกสารเชิงลึกและการลงพื้นที่ โดยพบว่าปัจจัยที่ทำให้ อปท. ได้รับรางวัลมี 4 ประเด็น ซึ่งมีนัยเชิงนโยบายและมีนัยต่อการเขียนกฎหมายท้องถิ่นในอนาคต ประกอบด้วย

1. ท้องถิ่นที่ได้รับรางวัลหรือผ่านเข้ารอบ ขึ้นอยู่กับ “ประสบการณ์การทำงานของผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น” ยิ่งอยู่นาน ยิ่งมีโอกาสได้รับรางวัลสูงขึ้น หมายความถึงความต่อเนื่องในการริเริ่มนโยบาย ความมั่นคงในงาน ความกล้าที่จะตัดสินใจเปลี่ยนแปลงไปสู่การบริหารจัดการที่ดี

นัยนี้เป็นการบอกว่า ถ้าอนาคตจะเขียนกฎหมายจำกัดวาระผู้บริหารท้องถิ่น อาจจะต้องคิดใหม่ ถ้าจะจำกัดวาระหมายความว่า เรากำลังจะแลกกับความกล้าที่จะริเริ่มนโยบาย แลกกับโครงการนวัตกรรมอีกหลายๆ โครงการ คุ้มหรือไม่ นี่คือโจทย์เชิงนโยบาย ฉะนั้นสิ่งที่เห็นคือ ท้องถิ่นที่ได้รับรางวัลมักจะมีผู้บริหารท้องถิ่นที่อยู่ในตำแหน่งโดยเฉลี่ยนานกว่าคนอื่น

2. มีความสัมพันธ์ที่ดีกับข้าราชการประจำ เช่น นายกฯ ท้องถิ่นกับข้าราชการประจำ นายกฯ ท้องถิ่นกับปลัด แต่ถ้าคนละทีมกัน ค้านกันเมื่อไหร่ โอกาสจะทำงานประสานกันน้อยลง โอกาสที่ผ่านเข้ารอบหรือได้รางวัลก็น้อยลง ฉะนั้นความเป็นทีมระหว่างฝ่ายบริหารกับฝ่ายประจำเป็นข้อคิดที่สำคัญ

3. แต่ในทางกลับกัน เสียงเดียวกันทั้งหมดก็ไม่ดี โดยเฉพาะฝ่ายสภาท้องถิ่น สิ่งที่พบคือ ถ้าสภาทำงานแล้วไม่แย้ง ไม่ซักถามฝ่ายประจำ ฝ่ายบริหารก็ไปไม่รอด ซึ่งท้องถิ่นที่เข้ารอบหรือมีโอกาสได้รับรางวัล อย่างน้อยสภาท้องถิ่นจะทำหน้าที่เป็นตัวแทนประชาชนในการซักถาม สงสัย ตั้งข้อสังเกตกับการทำงานของฝ่ายบริหาร แบบนี้จะช่วยหนุนเสริมกันให้ทำงานเข้มแข็ง และมีโอกาสเข้าสู่การได้รับรางวัล

4. ความบ่อยครั้งในการเข้าตรวจสอบ อปท. โดยองค์กรอิสระ คือถ้าหาก อปท. นั้นเรียกแขก แขกก็คือ สตง. (สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน), ป.ป.ช. (สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ) ใครมีประเด็นถูกตรวจบ่อย ก็มีความน่าจะเป็นน้อยลงที่จะได้รับรางวัล

อย่างไรก็ตาม มีข้อสังเกตว่าท้องถิ่นที่ได้รับรางวัลถูกตรวจสอบน้อยลง อาจจะด้วยฝีมือการทำงานพิสูจน์ให้เห็น ซึ่งสะท้อนความเป็นอิสระของท้องถิ่น ถ้าหากท้องถิ่นสามารถคิดได้อย่างอิสระภายใต้กรอบกฎหมาย ก็คิดนวัตกรรมไปได้ ดังนั้น ในเชิงนโยบายการตรวจสอบ ต้องสร้างความสมดุลที่ดี ให้อิสระกับท้องถิ่นพอสมควร ไม่อย่างนั้นจะไม่สามารถริเริ่มนวัตกรรมหรือบริหารจัดการที่ดีได้

อย่างไรก็ตาม มีวงจรจุดอ่อนของ อปท. ที่ยังพบอยู่ก็คือ

1. วิสัยทัศน์ไม่เป็นจริง เป้าหมายเลื่อนลอย คือฝันเป็น แต่ฝันแล้วทำไม่ค่อยได้ วิสัยทัศน์สวยหรู โครงการนวัตกรรมสวยหรู แต่กำหนดเป้าหมายไม่ชัด กำหนดวิธีไม่ชัด ส่งผลให้ทิศทางการทำงานไม่ชัดเจน

2. ใช้เงินทำงานมากกว่าใช้ฝีมือ ผลที่เกิดขึ้นต่อมาระหว่างท้องถิ่นที่ได้รับรางวัลกับไม่ได้รับรางวัล คือ ท้องถิ่นที่ได้รับรางวัลใช้ “กึ๋น” ใช้ “ฝีมือ” ใช้สมองในการจัดการ มากกว่าใช้เงินให้ทำงาน ซึ่งนวัตกรรมที่ได้รับรางวัลส่วนใหญ่จะใช้งบประมาณไม่มากแต่ได้ผล แสดงว่าผ่านกระบวนการคิด สังเคราะห์ มากกว่าเอาเงินไปทุ่ม

ยกตัวอย่างเช่น ท้องถิ่นหลายแห่งทำเรื่องส่งเสริมอาชีพ วิธีง่ายๆ ที่พบคือ เอาเงินไปอุดหนุนกลุ่มต่างๆ แล้วปล่อยให้ทำงาน ซึ่งก็พบว่าไม่ค่อยได้ผล แต่กลุ่มที่สำเร็จจะเติมเรื่องการจัดการเข้าไป ทำให้กลุ่มอาชีพเหล่านั้นเกิดผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรม

หรืออย่างเช่นเทศบาลเมืองลำพูน ทำเรื่องทักษะใหม่ในการฝึกภาษาอังกฤษ เขาไม่ได้จ้างคนนอกมาสอนแล้วไป แต่เขาหาวิธีทให้บุคลากรเทศบาลทำงานเป็น ทำงานได้ สอนทักษะภาษาอังกฤษให้กับเด็กได้เอง แล้วองค์ความรู้นี้ก็จะอยู่ในเทศบาล ใช้ฝีมือจัดการ นี่คือความแตกต่าง

3. picking the winner คือท้องถิ่นสนับสนุนอาชีพ ให้เงินอุดหนุนหว่านไปทั่ว รอว่ากลุ่มไหนสำเร็จแล้วค่อยคว้ากลุ่มนั้นมาประกวดรางวัล ซึ่งโครงการลักษณะนี้ไปเจอใครเป็นผู้ชนะโดยตัวเองอยู่แล้วก็ไปหยิบขึ้นมาแล้วส่งมาประกวด แต่นั่นเป็นแค่ส่วนย่อยๆ ส่วนเล็กๆ ของชุมชน ไม่ได้สะท้อนบทบาทที่เข้มข้นของท้องถิ่นมากนัก

แต่สิ่งที่ดีกว่านั้นคือ “making all the winner” ต้องทำให้ทุกกลุ่มสำเร็จหรือชนะเหมือนกัน ไม่ใช่ไปหยอดเงินให้กลุ่มอาชีพแล้วหวังให้สักกลุ่มหนึ่งได้รางวัล แต่ทำให้ทุกกลุ่มให้ได้ผล เป็นความสำเร็จแบบยั่งยืน ทุกคนเป็นผู้ชนะทั้งหมด สร้าง making all the winner ให้เกิดขึ้นในชุมชน

4. เขียนโครงการไม่เป็น เช่น เขียนว่าจะทำโครงการกระจายโอกาส เขียนว่าจะทำโครงการดูแลคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุ แต่ทำเสร็จแล้วบอกได้เพียงแค่ว่ามีโรงเรียนผู้สูงอายุ แล้วก็จบ มันคนละเรื่องกัน

การทำให้คุณภาพผู้สูงอายุดีขึ้น อาจจะต้องมีกิจกรรมจำนวนมาก ตั้งแต่ดูแลฐานข้อมูล สำรวจดูแต่ละคน อาการเป็นอย่างไร ดำเนินชีวิตได้ปกติไหม แล้วค่อยมาหาวิธีจัดการ โรงเรียนผู้สูงอายุเป็นเพียงส่วนหนึ่งในระบบดูแลผู้สูงอายุ แล้วคนที่ไม่ได้มาโรงเรียนผู้สูงอายุเขาอยู่ตรงไหน ปล่อยไว้ตรงไหน ทิ้งไว้ตรงไหน ฉะนั้น เขียนโครงการต้องคิดให้ครอบคลุมองค์รวม หรือเขียนอย่าให้กลุ่มเป้าหมายเล็กเกินไป

5. ไม่กล้าคิด ไม่กล้าทดลอง ไม่ใช้ข้อมูล คือใช้ความเคยชินในการจัดการ อันนี้ต้องเปลี่ยน ซึ่งนวัตกรรมที่ได้รับรางวัลล้วนต้องอาศัยความกล้า กล้าที่จะทดลอง กล้าที่จะล้มเหลว ใช้ข้อมูลประกอบการตัดสินใจวิเคราะห์ นี่คือทิศทางใหม่ที่จะต้องก้าวข้ามจุดอ่อน

6. ข้อจำกัดต่อมาคือ ไม่กล้าทำใหญ่ ทำแต่เล็กๆ ประกวดจัดการขยะก็เอาแค่หมู่บ้านต้นแบบ คิดเป็น 10% ของชุมชน แล้วอีก 90% อยู่ไหน อย่างนี้จะตอบได้อย่างไรว่าชุมชนสะอาดอย่างแท้จริง ดังนั้นท้องถิ่นถึงจุดที่ต้องคิดใหญ่ คิดเล็กๆ ไม่พออีกต่อไป

7. มีผลงานไม่สะท้อนผลสำเร็จ หลายท้องถิ่นเป็นแบบนี้ ทำงานเสร็จได้ output ทำโรงเรียนผู้สูงอายุได้จำนวนผู้สูงอายุที่เข้าร่วมโครงการ แต่คำถามเกี่ยวกับผลสำเร็จคือ สุขภาพจิตผู้สูงอายุดีขึ้นไหม ทำให้การเคลื่อนไหวร่างกายดีขึ้นไหม หรือทำให้อัตราความเสี่ยงฆ่าตัวตายผู้สูงอายุลดลงไหม นั่นคือผลสำเร็จ แต่หลายที่ มองไปไม่ถึงจุดนั้น มองได้แค่ output จบแค่จำนวนคนที่เข้าร่วมโครงการ ซึ่งต้องเปลี่ยนกระบวนทัศน์

ดร.วีระศักดิ์ เครือเทพ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่มาภาพ: คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ และ สำนักงานคณะกรรมการการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

สร้างนวัตกรรมยุคใหม่บน “ฐานความรู้-ข้อมูล”

ดร.วีระศักดิ์ กล่าวว่า หลังจากที่ได้ตรวจและวิจัยเรื่องนวัตกรรมท้องถิ่นมากว่า 10 ปี ก็พอจะเห็นพัฒนาการของนวัตกรรมท้องถิ่น ซึ่งสรุปได้ว่าในยุคแรกที่เราพูดถึงการกระจายอำนาจ (2542-2553) พบว่ามีนวัตกรรมเบ่งบาน มีอัตราเติบโตเร็วในช่วงแรก ทุนทางสังคมเข้มแข็งมาก ตื่นตัวกับการกระจายอำนาจ

ดังนั้น นวัตกรรมในยุคแรกเป็นนวัตกรรมที่อาศัยฐานชุมชนเข้มแข็งเป็นหลัก ชุมชนเข้มแข็งมาร่วมทำ ดูแลสวัสดิการ ดูแลคุณภาพชีวิต จัดการขยะชุมชน ฯลฯ ภาคประชาชนเข้ามาร่วมมือมากมาย

แต่ต่อมาช่วงที่สอง (2554-2560) การเพิ่มขึ้นของนวัตกรรมมีน้อยลง เพราะมีเรื่องท้าทาย 3-4 เรื่อง คือ 1. ปัญหาพื้นที่สะสมความรุนแรงมากขึ้น คือที่ทำในยุคแรกๆ ได้ผล เช่น เรื่องจัดการขยะชุมชน แต่ไม่ยั่งยืน ขยะก็ยังล้นชุมชนอยู่ ซึ่งมันยังมีรากฝังลึกอยู่ ยังสั่งสมแก่นของปัญหาอยู่

2. ถูกท้าท้ายเรื่องความเป็นอิสระของ อปท. ภาครัฐก็ดี ราชการก็ดี หน่วยงานตรวจสอบก็ดี ท้าทายท้องถิ่นมากขึ้น เช่น จะขออนุมัติโครงการต้องทำให้ชัด ไม่อย่างนั้นอาจถูกตรวจสอบ ซึ่งมีความท้าทายแบบนี้จำนวนมากจน อปท. เริ่มรู้สึกอยู่เฉยไม่ได้ ทำงานแบบเดิมไม่พอแล้ว ต้องคิดไปอีกขั้นหนึ่ง

3. งบประมาณไม่ได้มามากเหมือนเดิม นี่คือโจทย์ใหญ่ เรื่องการกระจายอำนาจก็กำลังเคลียร์กันอยู่ รัฐบาลจะจัดสรรงบประมาณอย่างไร ถ้าหากท้องถิ่นพูดมาก ก็อาจจะได้มาตรา 44 ไปรับประทาน

และ 4. อปท.โตขึ้น ศักยภาพเยอะขึ้น

ดังนั้นจุดเปลี่ยนสำคัญคือ คิดนวัตกรรมออกมา เป็นนวัตกรรมบน “ฐานความรู้” คิดใช้ “ข้อมูล” ประกอบการตัดสินใจ คิดนวัตกรรมเป็นวงจรเป็นห่วงโซ่นวัตกรรม ซึ่งเป็นอีกรูปแบบหนึ่ง เป็นพัฒนาการอีกขั้นหนึ่ง ไม่ได้เน้นแค่ทุนทางสังคม แต่เริ่มเป็น “ทุนทางความรู้” และ “ทุนทางข้อมูล” ประกอบการคิดในการดำเนินนวัตกรรม นี่คือยุคใหม่ที่เห็น และหวังว่าจะเป็นทิศทางของนวัตกรรมท้องถิ่นในอนาคต

ฉะนั้น ในเชิงนวัตกรรมยุคแรกเรียกว่ายุค “สร้าง” ยุคที่สองคือ ยุค “สรรค์” คือสรรค์สร้างคุณภาพของนวัตกรรมให้เข้มข้นขึ้น นี่คือสิ่งที่ท้าทาย และอยากเรียกร้องให้นวัตกรรมยุคใหม่เป็นอย่างนี้ต่อไป

โจทย์ท้าทายท้องถิ่นกับการสร้างเมืองในอนาคต

ดร.วีระศักดิ์ กล่าวว่า ขณะนี้นวัตกรรมท้องถิ่นได้สะท้อนทิศทางที่ควรจะเป็นของเมืองหรือชุมชน ฉะนั้น ทำอย่างไรที่จะทำให้เราเป็นผู้สร้างเมือง สร้างชุมชนที่ต้องการในอนาคต

โจทย์ที่ท้าทายคือ ทุกวันนี้หลายท้องถิ่นเจริญขึ้น จากชุมชนชนบทเริ่มเป็นชุมชนเมือง โจทย์ของชุมชนเกษตรง่ายๆ ที่อาศัยทุนทางสังคมจัดการได้ เริ่มไม่ใช่อีกต่อไป แต่กลายมาเป็น “โจทย์ของเมือง” คนเริ่มซับซ้อน เริ่มมีความหลากหลาย เริ่มมีวิธีคิดเฉพาะ ต้องการการจัดการที่แยบยลมากขึ้นจากท้องถิ่น ทั้งโจทย์เรื่องประชากร โจทย์เรื่องปัญหาทางสังคม เรื่องอาชญากรรม ซึ่งเกิดขึ้นตามความเจริญของเมือง

ฉะนั้น ต้องการความทุ่มเทของท้องถิ่น ต้องการบทบาทของท้องถิ่นที่เข้มข้นขึ้น ทำอย่างไรที่จะจัดการเมือง ชุมชน หรือจังหวัด ให้เป็นไปในทิศทางที่เราอยากเห็น ไม่ใช่ช่างปะผุ ไม่ใช่รอวิ่งไล่ตามแก้ไขปัญหา สิ่งที่ทำคือต้องวางแผน จัดการตั้งแต่ตั้น

สิ่งที่คณะที่ปรึกษาฯ เห็นก็คือ นวัตกรรมท้องถิ่นที่กล่าวมานี้จะสะท้อนถึงความเป็นไปได้ สะท้อนถึงสิ่งที่เกิดขึ้นกับท้องถิ่นที่เกิดขึ้นแล้ว ว่าท้องถิ่นไทยวันนี้กำลังเดินไปสู่ความหวังเป็นองค์กรที่พึ่งได้ เดินไปสู่การเป็นผู้จัดการเมือง

แต่ความหวังก็ยังมีข้อจำกัดหรือมีปัจจัยบางประการที่ขาดหายไป จึงอยากเรียกร้องว่า นวัตกรรมที่เกิดขึ้น กว่าจะทำสำเร็จต้องฟันฝ่าอุปสรรคมากมาย โดยเฉพาะอุปสรรคที่เป็นกฎเกณฑ์ กฎระเบียบ หรือกฎหมายภาครัฐ

สิ่งที่จำเป็นมากที่จะทำให้นวัตกรรมเติบโตต่อไปได้ คือภาครัฐต้องเอาจริง ท้องถิ่นพัฒนานวัตกรรมได้รับรางวัลมา ภาครัฐจะรับไม้ต่อนวัตกรรมนั้นอย่างไร หากภาครัฐสามารถสนับสนุนให้ท้องถิ่นทำนวัตกรรมได้อย่างสบายใจ คาดว่าจะเกิดนวัตกรรมเต็มพื้นที่ทั่วประเทศไทยในอนาคต

และคาดหวังว่าองค์ความรู้ท้องถิ่น ไม่ควรจะจบแค่ในห้องประชุม ทำอย่างไรจะสร้างเครือข่ายส่งเสริมการเรียนรู้ โจทย์นี้สำคัญมาก ซึ่งภาครัฐควรจะตั้ง กระบวนการส่งเสริมการเรียนรู้จากนวัตกรรมท้องถิ่นอย่างจริงจัง

ตัวอย่างนวัตกรรมท้องถิ่นกับการสร้างเมือง

ทั้งนี้ ภายในงานดังกล่าวยังมีการอภิปรายแลกเปลี่ยนประสบการณ์เรื่อง “นวัตกรรมท้องถิ่นกับการสร้างเมืองสำหรับอนาคต” โดยนายสัมฤทธิ์ เลียงประสิทธิ์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสตูล จังหวัดสตูล กล่าวถึงนวัตกรรมชาวสวนยางฟื้นชีวิตด้วยเศรษฐกิจพอเพียงว่า เดิมเกษตรกรในพื้นที่นิยมปลูกพืชเชิงเดี่ยว คือ ยางพารา แต่เมื่อประสบปัญหาราคายางตกต่ำ จึงส่งผลกระทบต่อรายได้ของ ชาวสวนยางโดยตรง

หลังจากนั้น อบจ.สตูล จึงได้ร่วมมือกับภาคส่วนต่างๆ เพื่อส่งเสริมการเกษตรตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง โดยเปลี่ยนแนวคิดเกษตรกรจากการพึ่งพิงพืชเชิงเดี่ยวมาปลูกพืชผสมผสาน จัดตั้งสภาพัฒนาการเกษตรระดับจังหวัด และจัดอบรมเผยแพร่ความรู้ให้กับประชาชนในวงกว้าง

ในที่สุดโครงการนี้มีชาวสวนยางเข้าร่วมกว่า 1,000 ครัวเรือน ทำให้สามารถปรับเปลี่ยนพฤติกรรมจากการปลูกยางพาราอย่างเดียวมาปลูกพืชชนิดอื่นหรือเลี้ยงสัตว์เสริมรายได้

โดยปัจจัยที่ทำให้นวัตกรรมนี้ประสบความสำเร็จ ได้แก่ การนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาเป็นกรอบดำเนินงาน, มีกระบวนการกำหนดกรอบวิธีดำเนินงานที่ละเอียด นำอดีตที่ล้มเหลวมาปรับปรุงแก้ไข, รวมถึงเกิดการบูรณาการร่วมกันของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างเต็มที่ ทำให้การจัดโครงการเป็นเอกภาพ ฯลฯ ส่งผลให้เกษตรกรหลายคน หลายครอบครัว สามารถสร้างอาชีพใหม่ได้

นายจุลนพ ทองโสภิต รองนายกเทศมนตรีนครขอนแก่น จังหวัดขอนแก่น กล่าวถึงนวัตกรรมการแปรรูปขยะมูลฝอยเป็นพลังงานไฟฟ้าว่า หลังจากเทศบาลฯ ประสบปัญหาสถานที่กำจัดขยะเต็มพื้นที่ จึงเริ่มผลักดันโครงการดังกล่าวผ่านบทบาทของเทศบาลในการเป็นผู้ประสานงานและผู้จัดการให้เกิดความร่วมมือจากหลายฝ่าย จนสามารถร่วมมือกับภาคเอกชนในการลงทุนก่อสร้างโรงไฟฟ้าจากขยะ

โครงการนี้สามารถรองรับการกำจัดขยะชุมชนในเขตเทศบาลและพื้นที่ใกล้เคียงได้ในระยะยาว โดยเป็นโครงการที่เกิดจากความต้องการแก้ไขปัญหาโดยท้องถิ่นเอง ไม่ใช่โครงการที่สั่งการนโยบายมาจากส่วนกลาง ไม่ใช้งบประมาณภาครัฐ มุ่งพึ่งพาตนเอง เป็นโครงการที่สนับสนุนเอกชนไทย เข้ามาดำเนินการในกิจการของรัฐ และบริหารได้ดีด้วยข้อจำกัดด้านงบประมาณและบุคลากร นอกจากนี้ยังเปิดโอกาสให้ประชาชน หน่วยงานภูมิภาค นักวิชาการ เข้ามามีส่วนร่วม พูดคุย กำหนดแนวทางขั้นตอน เพื่อให้โครงการบรรลุผลสำเร็จ จนสามารถเผาขยะได้ 450-600 ตัน/วัน ได้พลังงานไฟฟ้าที่ 6 เมกะวัตต์/วัน การไฟฟ้ารับซื้อหน่วยละ 7 บาท การประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมก็ผ่านทั้งหมด

“ผลจากโครงการนี้ ทำให้การกำจัดขยะโดยเทศบาลไม่เสียเงินมากไปกว่าเดิม ไม่ต้องขอเงินจากส่วนกลาง และเกิดความยั่งยืน โดยเอกชนสามารถดูแลจัดการโรงงานตนเองได้ โดยไม่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม”

“และที่จะตอบโจทย์ให้กับชุมชนคือ จะกำจัดขยะในพื้นที่เกือบ 100 ไร่ ที่เคยสูงเกินเพดานให้หายไปให้หมด เพื่อทำเป็นสวนสาธารณะคืนชุมชน ขณะที่เทศบาลก็มีความมั่นคงเรื่องการกำจัดขยะ ไม่ต้องไปหาที่ทิ้งอีกแล้ว เพราะโรงงานดังกล่าวสามารถรองรับปริมาณขยะที่เกิดขึ้นได้ทั้งหมด”

นายกฤตภพ เฉื่อยฉ่ำ นายกองค์กรบริหารส่วนตำบลทับน้ำ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา กล่าวถึงนวัตกรรมการบริหารจัดการน้ำสู้วิกฤติภัยแล้งอย่างยั่งยืนด้วยเทคโนโลยีสารสนเทศว่า ก่อนหน้านี้ในพื้นที่เกิดปัญหาภัยแล้ง ประชาชนไม่มีน้ำใช้เพื่อการเกษตรและอุปโภค อบต. จึงได้ประยุกต์ใช้องค์ความรู้และสร้างระบบข้อมูลเพื่อการจัดการน้ำ วิเคราะห์ปริมาณน้ำต้นทุน เปรียบเทียบความต้องการใช้น้ำเพื่อการเกษตรและการอุปโภคบริโภคโดยรวมของตำบล รวมทั้งเก็บข้อมูลเกษตรกร พื้นที่เพาะปลูก

หลังจากนั้น นำไปคาดการณ์ปริมาณน้ำที่ต้องการใช้ในแต่ละช่วงเวลา ส่วน อบต. ได้บริหารจัดการปริมาณน้ำให้เพียงพอ โดยการจัดตั้งเครื่องสูบน้ำ แผ่นวัดระดับน้ำ และพัฒนาแอปพลิเคชัน เพื่อติดตามสถานการณ์น้ำ โดยสามารถสั่งการเปิด-ปิดเครื่องสูบน้ำด้วยไฟฟ้าผ่านสมาร์ทโฟน มีฐานข้อมูลเพื่อใช้สนับสนุนการคำนวณปริมาณการใช้น้ำ ทำให้ครัวเรือนมีน้ำใช้ทำการเกษตรและอุปโภค

“หลักในการจัดการท้องถิ่นเรื่องนวัตกรรมต่างๆ ถือเป็นองค์ความรู้ ไม่ว่าจะเป็นการจัดการน้ำ การใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วย ซึ่งวิธีการดำเนินงานต่อไปคือ เมื่อเราใช้เทคโนโลยีมาช่วย รู้ดีมานด์ซัพพลายในการจัดการแล้ว เรากำลังจะนำน้ำ นำแผ่นดิน นำองค์ความรู้ไปให้ประชาชนปรับปรุง แก้ไข เปลี่ยนแปลงตัวเขาเอง เพื่อไปสู่ความสุขที่ยั่งยืนให้ได้”

ที่มาภาพ: คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ และสำนักงานคณะกรรมการการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

ท้องถิ่นกับการบริหารจัดการเมือง

ดร.จรัส สุวรรณมาลา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ก.ก.ถ. กล่าวว่า การสร้างเมืองสำหรับอนาคตไม่ได้หมายความว่าต้องเป็นเมืองแบบกรุงเทพฯ พัทยา หรือเชียงใหม่ ที่ต้องมีประชากรหนาแน่น มีตึกระฟ้า

แต่เมืองในที่นี้มีหลายแบบ เช่น เมืองเกษตรแบบตำบลทับน้ำ อยุธยา ก็ถือเป็นเมืองเล็กๆ หรือเป็นเมืองการค้าบริการขนาดใหญ่แบบขอนแก่น เมืองท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมแบบสงขลา เมืองท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์แบบเชียงราย ฯลฯ ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นเมืองทั้งนั้น

ส่วนการพัฒนาเมือง ต้องเริ่มจากการมีวิสัยทัศน์ ว่าอยากเป็นเมืองแบบไหน แล้วก็ต้องเลือกแบบโดยคนทั้งเมือง ไม่ใช่นายกฯ ท้องถิ่นเป็นคนเลือก เมื่อได้วิสัยทัศน์แล้วก็มาดูว่าหากจะเป็นเมืองเกษตร จะต้องมีองค์ประกอบอะไรบ้าง แล้ววางแผนเพื่อทำไปทีละอย่างให้สำเร็จ

เช่น การส่งเสริมอาชีพที่สตูล การสร้างโรงไฟฟ้าขยะที่ขอนแก่น หรือการจัดการน้ำที่อยุธยา หากฟังเป็นงานๆ ไป จะไม่เห็นการพัฒนาเมือง เพราะเป็นโครงการเล็กๆ

แต่เมื่อไปศึกษาเบื้องหลังของงานก็จะพบว่า ทั้ง 3 แห่งนั้นเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาเมืองในอนาคต อย่างที่สตูล เกษตรกรที่เป็นเจ้าของสวนสามารถอยู่ได้ในช่วงวิกฤติยางพาราตกต่ำ และเมื่อข้ามวิกฤติไปได้ก็จะพบว่า มีเกษตรกรรายใหม่ที่มีเทคโนโลยีการผลิตใหม่ มีรายได้จากฐานความรู้ใหม่เกิดขึ้นอีกมากมาย ถือเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาเศรษฐกิจ และเป็นงานพัฒนาเมืองด้านหนึ่ง

หรืออย่างที่อยุธยา ก็เห็นภาพชัดว่าต้องการสร้างเมืองเกษตรเป็นเมืองเกษตรที่อยู่ได้ พึ่งตนเองได้ และมีความต่อเนื่อง เพราะลักษณะเมืองที่ดีจะต้องเป็นเมืองที่พึ่งตัวเองได้ โดยมีองค์ประกอบหลายอย่างประกอบกัน

ดังนั้น นวัตกรรมที่สร้างขึ้น บางครั้งอาจเป็นเพียงการแก้ปัญหาเล็กๆ แต่ความจริงแล้ว งานที่แต่ละแห่งทำ มีกำลังมากกว่าแค่การปะผุ เช่น หลังจากนี้ขอนแก่นไม่ต้องไปแก้ปัญหาการจัดการขยะอีกแล้ว และยังช่วยพื้นที่รอบข้างชุมชนได้อีกมาก ค่าใช้จ่ายก็ลดลง เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม สามารถคืนพื้นที่สาธารณะให้ประชาชน กลายเป็นสวนสาธารณะได้

หรือที่สตูล ไม่ได้แก้ปัญหาเฉพาะวิกฤติยางพาราตกต่ำ แต่ยังสร้างเกษตรกรรายใหม่ ด้วยฐานอาชีพใหม่ ฐานรายได้ใหม่มากมายในอนาคต ซึ่งจะเป็นการสร้างเมืองขึ้นมาในอนาคต