ThaiPublica > คอลัมน์ > หนีไม่พ้นเพราะเทคโนโลยี

หนีไม่พ้นเพราะเทคโนโลยี

19 ตุลาคม 2017


วรากรณ์ สามโกเศศ

นานนับแสนปีตั้งแต่มีมนุษย์หน้าตาเช่นปัจจุบัน มนุษย์จำว่าใครเป็นใครด้วยการจดจำใบหน้าเป็นหลัก อีกทั้งพยายามอ่านอารมณ์และความรู้สึกเพื่อสื่อสารถึงกันผ่านใบหน้า อย่างไรก็ดี ในปัจจุบันเทคโนโลยีได้ไล่ทันและกำลังจะแซงหน้าความสามารถมนุษย์ในเรื่องเหล่านี้ ที่กล่าวมามิใช่นิยายแนววิทยาศาสตร์ ของ H. G. Wells หรือ Isaac Asimov หากกำลังเกิดขึ้นจริงและลามไปทั่วโลกโดยมีนัยสำคัญยิ่งต่อสังคมมนุษย์

ในบางเมืองใหญ่ของประเทศจีน และบางประเทศในโลกตะวันตก การเบิกเงินจาก ATM การชำระเงิน การลงโทษคนทำผิดกฎจราจร ตลอดจนการปราบปรามอาชญกรรม ฯลฯ ใช้เทคโนโลยีจดจำและพิสูจน์ใบหน้าอย่างมีประสิทธิภาพ เพียงแค่แสดงใบหน้าในจอของเครื่องมือก็สามารถเบิกเงินและชำระเงินได้อย่างสะดวก ที่เมืองเซินเจิ้นในจีนคนที่ข้ามถนนผิดกฎหมาย ภาพใบหน้าพร้อมชื่อจะปรากฏบนจอใกล้ๆ เพื่อประจาน ที่ทำอย่างนี้ได้ก็เพราะจีนมีฐานข้อมูลของประชาชนพร้อมรูปถ่ายกว่า 700 ล้านคน เพียงกล้องถ่ายใบหน้าก็รู้แล้วว่าเป็นใคร ชื่ออะไร บ้านอยู่ที่ไหน

ในสหรัฐอเมริกามีฐานข้อมูลเช่นนี้กว่าครึ่งหนึ่งของประชากรผู้ใหญ่ (รวมกว่า 100 ล้านคน) โดยภาครัฐเป็นผู้เก็บและหน่วยงานปราบปรามอาชญากรรมต่างๆ ของประเทศสามารถใช้ร่วมกันจนทำให้สถิติอาชญากรรมลดลงไปมาก โดยเฉพาะการขโมยรถยนต์ เพราะเพียงเห็นภาพคนขโมยรถก็รู้ชื่อได้ทันทีพร้อมข้อมูลประกอบอื่นๆ ของบุคคลนี้

ที่มาภาพ : https://www.economist.com/news/leaders/21728617-life-age-facial-recognition-what-machines-can-tell-your-face

นิตยสาร The Economist เล่มเมื่อเร็วๆ นี้ได้ลงเรื่อง “Nowhere to hide” โดยภาพปกเป็นรูปหน้าคนที่มีลายนิ้วมืออยู่เต็มใบหน้า ซึ่งสื่อว่าใบหน้าคนให้ข้อมูลที่มีลักษณะไม่ต่างไปจากลายนิ้วมือเฉพาะของแต่ละคน ผู้เขียนขอนำข้อมูลจากบทความนี้มาสื่อสารต่อ

ปัจจุบันจีนเป็นผู้นำโลกในด้านเทคโนโลยีบันทึกและพิสูจน์ใบหน้า ประเทศในโลกตะวันตกกำลังไล่ตามเพราะตระหนักดีว่าจะแพร่กระจายไปทั่วโลกในเวลาอีกไม่นาน ไอโฟนรุ่น 10 นั้นผู้ใช้เพียงส่องหน้ากับจอเครื่องแม้แต่ในความมืดก็จะเปิดให้ใช้งานโดยไม่ต้องใช้รหัสหรือลายนิ้วมือใดๆ

แอพลิเคชั่น ชื่อ VKontakte ของรัสเซีย สามารถพิสูจน์รูปภาพบุคคลหนึ่งที่ถ่ายมาโดยเอาไปเทียบกับรูปภาพในฐานข้อมูล หากมีรูปอยู่ในฐานก็สามารถพิสูจน์ได้ถูกถึงร้อยละ 70 นอกจากนี้คนที่เล่น Facebook จะรู้สึกแปลกใจที่มีการค้นหารูปที่มีอยู่มากมายมาจัดให้เป็นหมวดหมู่ บางครั้งแค่แท็กชื่อ ใบหน้าของเขาก็จะปรากฏอย่างถูกต้องทันที

สองคำถามในใจคือ (1) หากมีศัลยกรรมตกแต่งใบหน้าแล้วจะยังแม่นยำอยู่หรือไม่ และ (2) คอมพิวเตอร์ทำงานอย่างไรจึงสามารถสร้างสิ่งอัศจรรย์นี้ขึ้นมาได้

สำหรับคำถามแรก การจดจำใบหน้ากระทำโดยบันทึกข้อมูลหลากหลายของใบหน้า เช่น ระยะห่างระหว่างปลายจมูกกับใบหู ภาพเรขาคณิตที่เชื่อมต่อจุดต่างๆ บนใบหน้าและแปรเป็นค่าตัวเลข พร้อมกับใช้คณิตศาสตร์ขั้นสูงมาประยุกต์หาค่าเฉพาะของแต่ละจุด และใช้วิชาสถิติในการพิสูจน์ว่าข้อมูลบนใบหน้าที่บันทึกไว้ตรงกับใบหน้าที่นำมาเทียบเคียง ถึงแม้จะทำศัลยกรรมไปบางส่วนแต่ข้อมูลระยะห่างระหว่างอวัยวะต่างๆ บนใบหน้าก็ยังไม่เปลี่ยนแปลงโดยเฉพาะดวงตา ดังนั้นคอมพิวเตอร์จะสามารถทำงานด้วยความแม่นยำที่สูง

สำหรับคำถามที่สองนั้น สิ่งที่เรียกว่า Algorithm เป็นตัวอธิบาย ในภาษาชาวบ้าน Algorithm คือชุดของขั้นตอนเพื่อให้ทำงานได้สำเร็จ ตัวอย่างเช่น ลืมรหัส 3 ตัวของกระเป๋าเอกสาร ในการค้นหารหัสต้องดำเนินงานทีละขั้นตอนโดยไล่ตัวเลขจาก 001 ถึง 999 ก็คือ Algorithm ซึ่งให้ความแม่นยำในการเปิดกระเป๋า แต่เป็น Algorithm ที่ขาดประสิทธิภาพเพราะใช้เวลานานมาก หากจะพัฒนา Algorithm นี้ต้องทดลองกับตัวเลขต่างๆ ที่มีความเป็นไปได้ก่อน เช่นบ้านเลขที่ เบอร์โทรศัพท์ วันเกิด ฯลฯ หากล้มเหลวแล้วจึงมาไล่ตัวเลขอื่นๆ จนสามารถเปิดได้

การทำกับข้าวก็เป็น Algorithm โดยเริ่มทีละขั้นตอนของการปรุงอาหารจนสำเร็จ หมอตรวจคนไข้เพื่อค้นหาสาเหตุของโรคก็เป็น Algorithm เช่นกัน

Algorithm เพื่อพิสูจน์ใบหน้าก็คือชุดของขั้นตอนสำหรับให้คอมพิวเตอร์โปรแกรมทำงานจนสำเร็จ ในการทำงานของเทคโนโลยีพิสูจน์ใบหน้า ซอฟต์แวร์โปรแกรมก็จะทำไปทีละขั้นตอน ตรวจสอบจุดต่างๆ ที่สำคัญของใบหน้า ตรวจสอบค่าตัวเลขจากสมการคณิตศาสตร์ที่สร้างไว้โดยเฉพาะ โดยไล่ไปทีละขั้นตอนจนสำเร็จออกมาเป็นคำตอบว่าใช่ใบหน้าของคนที่มีข้อมูลบันทึกไว้ก่อนในฐานข้อมูลหรือไม่ ตรงกับชื่อใด มีเลขประจำตัวใด

เทคโนโลยีพิสูจน์ใบหน้าใช้ประโยชน์ได้ 2 กลุ่มใหญ่ กล่าวคือ หนึ่ง ใช้สำหรับการพิสูจน์ตัวตนโดยใช้เป็น biometrics อย่างหนึ่งเช่นเดียวกับลายนิ้วมือ ม่านตา DNA ฯลฯ สิ่งที่ได้เปรียบก็คือสามารถใช้ได้ในระยะไกล ไม่จำเป็นต้องเดินเข้าไปใกล้หรือกดนิ้วบนเครื่อง สอง ใช้ประโยชน์ในการบังคับใช้กฎหมายในการค้า สร้างความสะดวกในชีวิต อ่านใจคนอื่น ช่วยให้ทำงานอย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ฯลฯ ดังได้กล่าวแล้วในตอนต้น

ในเรื่องการค้า เทคโนโลยีนี้สามารถสร้างเงินได้มหาศาล นับตั้งแต่รับจ้างสร้าง Algorithm เพื่อการค้า (ถ่ายรูปคนยืนหน้ากระจกดูสินค้าประเภทหนึ่ง เมื่อเอารูปคนนี้ไปจับคู่กับรูปภาพในฐานข้อมูล ต่อจากนี้ไปการโฆษณาสินค้าที่สนใจนั้นก็จะปรากฏบนมือถือบ่อยเป็นพิเศษ) หรือการขายฐานข้อมูลรูปภาพ (Facebook มีอยู่นับเป็นพันล้านรูป) หรือการที่คนขับแท็กซี่ต้องถ่ายภาพตนเองทุกเที่ยวก่อนรับผู้โดยสารเพื่อให้แน่ใจว่าเป็นคนขับรถตัวจริง (ในอินเดีย UBER มีข้อบังคับเช่นนี้) สายการบินใช้การจับคู่ภาพใบหน้ากับหนังสือเดินทางเพื่อพิสูจน์ตัวตนและลดการใช้บัตรระบุเบอร์ที่นั่ง

ที่น่าตื่นเต้นมากก็คือ Dr.Craig Venter ยักษ์ใหญ่ของโลกด้านการค้นคว้า DNA ตีพิมพ์เอกสารวิชาการในฉบับล่าสุดของ Proceedings of the National Academy of Sciences ที่มีเนื้อหาว่าจากการทดลองใช้ฐานข้อมูล DNA และภาพของ 1,061 คน สามารถใช้ลักษณะของพันธุกรรมพยากรณ์หน้าตาของเจ้าของได้แม่นยำขนาด 8 ใน 10 คน นอกจากนี้ Algorithm นี้ยังสามารถผลิตภาพของเจ้าของ DNA เมื่อตอนอายุ 20 ได้ เมื่อเอาภาพนี้กับภาพจริงมาเทียบเคียงกันก็มีความคล้ายคลึงกันอย่างเห็นได้ชัด

เมื่อใช้ DNA ผลิตภาพได้ ในทางกลับกัน หากมีภาพก็สามารถพยากรณ์ลักษณะพันธุกรรมได้เช่นกัน มีการพบว่าร้อยละ 40 ของโรคบกพร่องทางพันธุกรรมสามารถบอกได้จากการใช้ภาพถ่ายเพราะรูปลักษณ์ของผู้ป่วยเหล่านี้จะมีลักษณะเฉพาะอันเกิดจากอิทธิพลของฮอร์โมนตั้งแต่อยู่ในครรภ์โดยมีพันธุกรรมที่บกพร่องเป็นตัวกำหนด

คิดแล้วก็น่าหวาดหวั่นในเรื่องความเป็นส่วนตัว เพียงเห็นภาพก็สามารถมองทะลุเห็น DNA ของเรา บอกได้ว่ามีลักษณะพันธุกรรมซึ่งเป็นข้อมูลส่วนตัวอย่างยิ่งอย่างไร นอกจากนี้ใครปล่อยของเสียส่วนตัวเลอะเทอะในที่สาธารณะก็สามารถรู้ว่าใครเป็นคนทำ เดินไปทางไหนที่มีกล้อง CCTV ก็รู้หมดว่าชื่ออะไร เป็นใคร และมีโอกาสป่วยตายด้วยโรคอะไรตามพันธุกรรม

ต่อนี้ไป นอกจากจะหนีไปไหนไม่พ้นแล้วยังขาดความเป็นส่วนตัวอีกด้วย หนทางรอดทางเดียวคือต้องเป็นคนเถื่อนแต่แรกเกิด และสวมหัวเป็นไอ้โม่งตลอดเวลา

หมายเหตุ: คอลัมน์ “อาหารสมอง”กรุงเทพธุรกิจอังคาร 10 ต.ค. 2560