รายงานโดย ปรีดี บุญซื่อ
นิตยสาร The Economist ฉบับวันที่ 7 ธันวาคม 2019 ได้ทำรายงานพิเศษ เรื่อง “เสือแห่งเอเชีย” (Asian Tigers) ที่ประกอบด้วย เกาหลีใต้ ไต้หวัน ฮ่องกง และสิงคโปร์ ซึ่งนับจากปี 1969 หรือกว่า 50 ปีที่ผ่านมา ประสบความสำเร็จอย่างมากในการพัฒนาเศรษฐกิจ โดยเฉพาะการพัฒนาด้านอุตสาหกรรม
ในช่วงทศวรรษ 1960-1990 เศรษฐกิจของ 4 ประเทศนี้เติบโตในอัตราปีหนึ่งกว่า 10% ครอบครัวที่เคยมีอาชีพเป็นชาวนาและผู้ใช้แรงงานได้เห็นลูกหลานของตัวเองกลายเป็นคนที่มีการศึกษามากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก เสือแห่งเอเชียเริ่มต้นจากการผลิตเสื้อผ้า ดอกไม้พลาสติก หลังจากนั้นก็มาสู่การผลิตตัวชิปคอมพิวเตอร์ และคอมพิวเตอร์แลปทอป
แม้ปัจจุบันไต้หวันจะประสบปัญหาค่าแรงไม่เพิ่มขึ้น เกาหลีใต้มีปัญหาเรื่องธุรกิจถูกครอบงำโดยบริษัทยักษ์ใหญ่ สิงคโปร์ต้องอาศัยการนำเข้าแรงงานค่าแรงถูก และฮ่องกงมีปัญหารัฐบาลที่ไม่สนองต่อการเรียกร้องของคนท้องถิ่น แต่ทั้ง 4 ประเทศก็ประสบความสำเร็จทางเศรษฐกิจได้อย่างน่าประทับใจ และสามารถก้าวข้ามกับดักประเทศรายได้ปานกลางมานานแล้ว
รายงานของ The Economist กล่าวว่า เมื่อพิจารณาจากกำลังซื้อ (purchasing-power) รายได้ต่อคนของสิงคโปร์สูงกว่าสหรัฐอเมริกามาตั้งแต่ทศวรรษ 1990 ส่วนฮ่องกงเท่ากับสหรัฐฯ ในปี 2013 ไต้หวันและเกาหลีใต้ก็ขยับขึ้นมาใกล้กับสหรัฐฯ แต่เมื่อเศรษฐกิจก้าวมาถึงจุดที่พัฒนาเต็มที่แล้ว เสือแห่งเอเชียก็เผชิญกับปัญหาแบบเดียวกับที่ประเทศตะวันตกเคยเผชิญมาแล้ว คือจะลดความเหลื่อมล้ำอย่างไร จะเพิ่มผลิตภาพ (productivity) ทางเศรษฐกิจอย่างไร จะรับมือกับสังคมที่มีประชากรสูงอายุอย่างไร และปัญหาใหม่คือ จะรักษาดุลภาพระหว่างสหรัฐฯ กับจีนอย่างไร
ประเทศ “พัฒนาทีหลัง”
เมื่อปี 1991 Ezra F. Vogel จากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด เขียนไว้ในหนังสือ The Four Little Dragons ว่า ประเทศอุตสาหกรรมใหม่ คือ ไต้หวัน เกาหลีใต้ ฮ่องกง และสิงคโปร์ ถือเป็นประเทศอุตสาหกรรมใหม่ที่ “พัฒนาทีหลัง” (late developer) การพัฒนาของ 4 ประเทศนี้จึงมีลักษณะเป็นการไล่ตามประเทศที่เจริญแล้ว
การพัฒนาอุตสาหกรรมของอังกฤษหรือสหรัฐฯ ในศตวรรษที่ 19 เกิดขึ้นแบบค่อยเป็นค่อยไป คนงานพัฒนาทักษะฝีมือจากการทำงาน ไม่ได้มาจากการศึกษาในโรงเรียนฝึกอาชีพ เงินลงทุนด้านอุตสาหกรรมก็มาจากภายในประเทศ ส่วนการพัฒนาอุตสาหกรรมของยุโรปที่เกิดขึ้นต่อมา มีลักษณะไล่ตามอังกฤษหรือสหรัฐฯ ทำให้รัฐของประเทศในยุโรปเข้ามามีบทบาทสำคัญมากกว่าในอังกฤษหรือสหรัฐฯ เช่น การอบรมแรงงาน การลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน และการบริหารจัดการสังคมไม่ให้เกิดความปั่นป่วน ในช่วงของการเปลี่ยนผ่านทางสังคมเดิมสู่ยุคอุตสาหกรรม
ในทศวรรษ 1960 เมื่อ 4 ประเทศในเอเชีย พัฒนาเพื่อไล่ตามประเทศที่เจริญแล้ว ช่องว่างการพัฒนามีอยู่อย่างมาก ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ทำให้ประเทศที่พัฒนาทีหลังต้องนำเอาระบบการผลิตที่ซับซ้อนมาใช้ ต้องอาศัยเงินกู้จำนวนมากมาลงทุน ต้องเรียนรู้การดูดซับเทคโนโลยีสมัยใหม่ และต้องสร้างเครือข่ายตลาดโลกเพื่อรองรับสินค้าที่ผลิตออกมา แต่ญี่ปุ่นเป็นแบบอย่างของการบริหารจัดการเรื่องการพัฒนาที่ไล่ตามชาติตะวันตก
Ezra F. Vogel บอกว่า เทคโนโลยีเป็นตัวกำหนดการพัฒนาอุตสาหกรรม การพัฒนาอุตสาหกรรมของอังกฤษเกิดจากอุตสาหกรรมสิ่งทอ ที่นำเครื่องจักรมาใช้แทนแรงงาน คลื่นลูกที่ 2 ของการพัฒนาอุตสาหกรรมคือการผลิตเหล็กหล้า คลื่นลูกที่ 3 คือการประดิษฐ์เครื่องยนต์สันดาปภายในที่ใช้ในรถยนต์ ทำให้เกิดการเติบโตด้านอุตสาหกรรมน้ำมันและโครงสร้างคมนาคม คลื่นลูกที่ 4 คืออุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ที่เกิดขึ้นในช่วงที่เสือแห่งเอเชียเริ่มพัฒนาอุตสาหกรรม และคลื่นลูกที่ 5 คือคอมพิวเตอร์และโทรคมนาคม ที่เกิดขึ้นช่วงเศรษฐกิจของเสือแห่งเอเชียกำลังพุ่งทะยานขึ้น
ปัญหาที่เกิดจากผลสำเร็จ
รายงานของ The Economist กล่าวว่า สภาพเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงไป ทำให้เสือแห่งเอเชียประสบปัญหาสำคัญ 4 อย่าง
ประการแรก คือ ปัญหาที่เกิดจากความสำเร็จทางเศรษฐกิจ เช่น แม้ค่าแรงและที่ดินจะสูงขึ้น ก็ต้องหาทางปกป้องส่วนแบ่งตลาดการส่งออก อุตสาหกรรมหลายอย่างเดินมาถึงจุดที่เป็นข้อจำกัดทางเทคโนโลยี ทำให้การปรับปรุงการผลิตให้สูงขึ้นเป็นเรื่องยาก เพราะไม่ใช่เรื่องการไล่ตามประเทศอื่นอีกต่อไป
ประการที่ 2 คือ เมื่อประชาชนมีชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้นและการศึกษาสูงขึ้น จะมีทัศนะที่ว่า ความเที่ยงธรรมคือเงื่อนไขของความเป็นเอกภาพและเสถียรภาพของสังคม แม้การเมืองแบบประชาธิปไตยของเกาหลีใต้จะมีปัญหาคอร์รัปชันระดับสูง ส่วนประชาธิปไตยของไต้หวันมีปัญหาความขัดแย้ง แต่กรณีของฮ่องกงแสดงว่า การขาดประชาธิปไตยกลายเป็นสิ่งที่สร้างปัญหา ทำให้ประชาชนเกิดความไม่พอใจและไม่ไว้วางใจ
ประการที่ 3 รัฐสวัสดิการแบบอ่อนๆ ของ 4 ประเทศกลายเป็นอุปสรรค ผู้นำของประเทศเหล่านี้เห็นว่า การสร้างรัฐสวัสดิการมากขึ้นจะทำให้ประชาชนขาดแรงจูงใจที่จะทำงาน แต่ความไม่มั่นคงด้านการประกันสังคมก็เสี่ยงที่จะทำให้ประชาชนไม่ยินดีที่จะยอมรับการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีใหม่ๆ เมื่อประชากรสูงอายุมากขึ้น รัฐจะถูกกดกันให้ใช้จ่ายเงินมากขึ้นด้านบำนาญและหลักประกันสุขภาพ เสือแห่งเอเชียจะต้องเปลี่ยนจาก “รัฐพัฒนามุ่งการเติบโต” มาเป็น “รัฐสวัสดิการที่เป็นมิตรต่อการเติบโต”
ประการสุดท้าย สถานการณ์ของเสือแห่งเอเชีย เป็นตัวดัชนีชี้วัดสำคัญของภาวะเศรษฐกิจโลก เพราะจะได้รับผลกระทบสูงจากวัฏจักรเศรษฐกิจโลก ไม่ว่าจะด้านเทคโนโลยี การเงิน หรือภูมิรัฐศาสตร์ เสือแห่งเอเชียครอบครองตลาดห่วงโซ่อุปทานโลกด้านเทคโนโลยี เช่น ตัวชิปสำหรับเครือข่ายโทรคมนาคม 5G หรือสำหรับระบบประมวลผล big data ส่วนฮ่องกงและสิงคโปร์เป็นสะพานทางการเงินเชื่อมจีนกับโลก เพราะเหตุนี้ สงครามเย็นใหม่ระหว่างจีนกับสหรัฐฯ จึงเป็นภัยคุกคามสำคัญสุดต่อความมั่งคั่งของ 4 ประเทศนี้
ยุคที่ยากจะรุ่งเรืองจากการส่งออก
รายงาน The Economist กล่าวว่า เป็นเรื่องยากลำบากมากขึ้น ที่เศรษฐกิจของเสือแห่งเอเชียจะรุ่งเรืองจากการส่งออก แม้สงครามการค้าสหรัฐฯกับจีนจะทำให้บริษัท Giant ของไต้หวัน ที่เป็นผู้ผลิตจักรยานรายใหญ่สุดของโลก ต้องลดการผลิตในจีน และไปเพิ่มการผลิตมากขึ้นในไต้หวันเอง
เหตุการณ์ทำนองนี้อาจทำให้คนทั่วไปคิดว่า เสือแห่งเอเชีย 4 ประเทศได้ประโยชน์จากสงครามการค้า แต่จริงๆ แล้ว สงครามการค้าทำให้เศรษฐกิจของ 4 ประเทศเกิดชะงักงัน เพราะส่งผลกระทบที่สำคัญใน 3 ด้าน ที่เศรษฐกิจของเสือแห่งเอเชียต้องอาศัยพึ่งพิงเป็นอย่างมาก คือ การมีระบบการค้าโลกที่เปิดเสรี การมีฐานการผลิตในเอเชีย และการอิงอาศัยจีนเป็นตลาดใหญ่สุด
ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา แม้จีนจะกลายเป็นยักษ์ใหญ่การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม แต่การส่งออกของเสือแห่งเอเชียก็ยังสามารถรักษาสัดส่วนที่ 10% ของการส่งออกด้านอุตสาหกรรมของโลก ธุรกิจของ 4 ประเทศเอเชียย้ายการผลิตแบบพื้นฐานไปจีนแล้วยกระดับการผลิตของตัวเองให้สูงขึ้น เกาหลีใต้กลายเป็นประเทศผู้ผลิตชิปความจำรายใหญ่สุดของโลก ส่วนไต้หวันก็เป็นผู้ผลิตเซมิคอนดักเตอร์รายใหญ่สุดของโลก
ฮ่องกงกับสิงคโปร์สร้างตัวเองเป็น “ศูนย์กลางบริหาร” โรงงานในเอเชีย มีบริษัทกว่า 4 พันแห่งที่มีสำนักงานภูมิภาคอยู่ในสิงคโปร์ ขณะที่ฮ่องกงมีอยู่ 1,500 บริษัท แต่ฮ่องกงประสบความสำเร็จในเรื่องการดึงบริษัทจีนเข้ามาจดทะเบียนในตลาดหุ้นที่มีมูลค่า 4 ล้านล้านดอลลาร์ ขณะที่ตลาดหุ้นสิงคโปร์มีมูลค่า 700 พันล้านดอลลาร์
สงครามการค้าสหรัฐฯ กับจีนจึงกระทบต่อโมเดลการผลิตของเสือแห่งเอเชีย ทางออกของปัญหาก็มีไม่มาก ทางเลือกหนึ่งคือการกระจายตลาดไปสู่ลูกค้าใหม่ และกระจายการผลิตสู่สินค้าใหม่ เมื่อเร็วๆ นี้ประธานาธิบดี มูน แจ-อิน ของเกาหลีใต้ก็แสดงความชื่นชมต่ออุตสาหกรรมใหม่ เช่น รถไฟฟ้าและหุ่นยนต์ ส่วนอีกทางเลือกหนึ่งคือ ทำความตกลงการค้าเสรีกับประเทศต่างๆ มากขึ้น
อนาคตของเสือเอเชีย
รายงานของ The Economist กล่าวว่า อนาคตของเสือแห่งเอเชียอาจประสบปัญหาแบบเดียวกับที่ญี่ปุ่นกำลังเผชิญอยู่ คือ เศรษฐกิจชะงักงัน ประชากรญี่ปุ่นมีชีวิตสะดวกสบายและมั่งคั่ง แต่การที่เศรษฐกิจญี่ปุ่นชะลอตัวมานาน เหตุผลหนึ่งคือประชากรสูงอายุ ในทศวรรษข้างหน้า ประชากรของเสือเอเชียจะสูงอายุเร็วกว่าญี่ปุ่น เสือเอเชียจะเลียนแบบความล้มเหลวของญี่ปุ่นหรือไม่ แบบเดียวกับที่เคยเลียนแบบความสำเร็จมาแล้ว
แต่เสือแห่งเอเชียก็มีจุดแข็งหลายอย่างในตัวเอง เกาหลีใต้กลายเป็นประเทศยักษ์ใหญ่ด้านการศึกษาวิจัย ขณะเดียวกันก็สามารถสร้างแบรนด์สินค้าโลกที่เข้มแข็ง ตั้งแต่สมาร์ทโฟนไปจนถึงธุรกิจบันเทิง ไต้หวันกลายเป็นยักษ์ใหญ่สำคัญของระบบการผลิตห่วงโซ่อุปทานโลก และธุรกิจ SME ฮ่องกงเป็นสะพานทางการเงินระหว่างจีนกับโลก ส่วนสิงคโปร์ แม้จะเป็นนครรัฐเล็กๆ แต่ก็มีเศรษฐกิจที่กระจาย
เสือแห่งเอเชียเป็นตัวอย่างให้แก่ประเทศกำลังพัฒนาในหลายๆ ด้าน เช่น การก้าวพ้นจากกับดักรายได้ปานกลาง การบุกเบิกนวัตกรรมใหม่ๆ การรับมือกับประชากรสูงอายุ การรับมือกับผลกระทบของระบบการผลิตอัตโนมัติต่อแรงงาน การเพิ่มผลิตภาพการผลิต และทำอย่างไรที่จะมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดทั้งกับสหรัฐฯ และจีน
ก่อนที่ 4 ประเทศนี้จะถูกเรียกว่าเสือแห่งเอเชีย ก็ได้รับการขนานนามว่า “ฝูงห่านบิน” (Flying Geese) ที่การพัฒนาอาศัยการบินตามรอยญี่ปุ่น หลายทศวรรษที่ผ่านมา เสือแห่งเอเชียนี้บินได้อย่างสบายๆ ตามหลังประเทศพัฒนาแล้ว แต่ปัจจุบัน ไม่มีประเทศไหนเป็นแบบอย่างให้บินตามหลังอีกแล้ว สิ่งนี้อาจเป็นทั้งข่าวดีและข่าวร้าย
เอกสารประกอบ
Special Report: Asian Tigers, The Economist, December 7th, 2019.
The Four Little Dragons, Ezra F. Vogel, Harvard University Press, 1991.