ThaiPublica > เกาะกระแส > ขอต้อนรับ “โลกที่ไม่มีการเกษียณ” ยุคสมัยที่เวลาของมันใกล้จะมาถึงแล้ว

ขอต้อนรับ “โลกที่ไม่มีการเกษียณ” ยุคสมัยที่เวลาของมันใกล้จะมาถึงแล้ว

18 ตุลาคม 2017


รายงานโดย ปรีดี บุญซื่อ

เมื่อไม่นานมานี้ หนังสือพิมพ์ The Guardian ของอังกฤษ ได้พิมพ์บทรายงาน 9 ตอน เรื่องที่สังคมในปัจจุบันกำลังเข้าสู่ “โลกที่ไม่มีการเกษียณ” (A world without retirement) เพราะในอนาคตอันใกล้นี้ สังคมจะมีประชากรที่สูงอายุมากขึ้น ขณะเดียวกัน มาตรการรัฐสวัสดิการก็ไม่สามารถแบกรับภาระกับสภาพดังกล่าว โดยเฉพาะเงินบำนาญที่จ่ายให้แก่คนเกษียณ ในประเทศตะวันตก คนรุ่นแรกที่จะเข้าสู่ยุคที่ไม่มีการเกษียณคือคนในปัจจุบันที่มีอายุ 40 ปีและ 50 ปีขึ้นไป คนกลุ่มนี้ล้วนคาดหวังไว้ว่า เมื่อเกษียณจากงานที่อายุ 65 ปีแล้ว รายได้จากบำนาญก็พอที่จะเลี้ยงชีพของชีวิตหลังเกษียณ

The Guardian กล่าวว่า ในปี 2010 สตรีชาวอังกฤษได้รับบำนาญจากรัฐเมื่ออายุ 60 ปี ส่วนผู้ชายที่อายุ 65 ปี ในปี 2020 ทั้งผู้หญิงและผู้ชายจะต้องรอไปจนถึงอายุ 66 ปี ในปี 2028 ที่อายุ 67 ปี และก็จะสูงขึ้นเรื่อยๆ นับจากปี 2060 เป็นต้นไป หากต้องการจะรักษามาตรฐานความเป็นอยู่เหมือนกับคนรุ่นพ่อแม่ คนอังกฤษจะยังต้องทำงาน แม้อายุจะสูงย่างเข้าสู่ 70 ปีแล้ว

ที่มาภาพ : https://www.washingtonpost.com/graphics/2017/national/seniors-financial-insecurity/?utm_term=.6af2042ecb04

เมื่อเร็วๆ นี้ The Washington Post ก็มีบทรายงานเรื่อง The New Reality of Old Age in America ที่กล่าวว่า คนอเมริกันมีอายุยืนมากขึ้น ค่าใช้จ่ายการครองชีพก็สูงขึ้น และก็ไม่มีสวัสดิการสังคมอะไรมาก ทำให้คนอเมริกันที่มีอายุกว่า 65 ปีขึ้นไปยังต้องทำงานอยู่เป็นจำนวนมากขึ้น ปี 1986 คนอเมริกันอายุมากกว่า 65 ปีที่ยังทำงานอยู่มีสัดส่วน 10% ของคนสูงอายุทั้งหมด ปี 2000 สัดส่วนเพิ่มเป็น 12.5% และปี 2016 เพิ่มเป็น 18.6% หรือประมาณ 9 ล้านคน ผลการสำรวจความเห็นปรากฏว่า คนสูงอายุและคนเกษียณวิตกกังวลเรื่องเงินไม่พอใช้มากกว่าการเสียชีวิต

ระบบบำนาญรัฐเหมือนแชร์ลูกโซ่

จำนวนประชากรที่สูงอายุมากขึ้นทำให้ประเทศพัฒนาแล้วกำลังประสบปัญหาทางเศรษฐกิจเกี่ยวกับระบบบำนาญของรัฐ ส่วนใหญ่แล้วประเทศตะวันตกที่มั่งคั่งมีระบบเงินบำนาญของรัฐที่ให้กับคนเกษียณ เรียกว่าระบบ Pay As You Go หรือ Pay As You Earn โดยรัฐภาษีหัก ณ ที่จ่ายกับคนที่ยังอยู่ในวัยทำงาน ระบบบำนาญ Pay As You Go จึงเป็นเงินภาษีของปีปัจจุบันเพื่อจ่ายบำนาญของปีปัจจุบัน ระบบบำนาญรัฐ Pay As You Go จึงแตกต่างจากกองทุนบำนาญต่างๆ ที่เงินสะสมจากสมาชิกถูกนำไปลงทุนเพื่อให้เกิดดอกผล การจ่ายบำนาญของกองทุน จึงขึ้นกับดอกผลจากการลงทุนและเงินสมทบของสมาชิก

ปัญหาระบบบำนาญรัฐ Pay As You Go อยู่ที่ว่า ประชากรมีอายุยืนมากขึ้น แต่อัตราการเกิดลดลง เมื่ออัตราการเกิดลดลง หมายความว่าจำนวนแรงงานที่จะเข้าสู่เศรษฐกิจน้อยลง เมื่อเทียบกับคนที่กำลังเกษียณจะมีจำนวนมากกว่า ผลลัพธ์ก็คือว่า รายได้จากภาษีลดน้อยลง แต่รายจ่ายการด้านบำนาญเกษียณเพิ่มมากขึ้น หากไม่มีการเปลี่ยนนโยบายการจ่ายเงินบำนาญ ฐานะการคลังของรัฐก็จะตกต่ำจากสภาพที่เป็นอยู่ และรัฐก็จะต้องกู้เงินมากขึ้น

วงการแพทย์ญี่ปุ่นกำลังรณรงค์ ให้คนอายุ 75 ปีขึ้นไป เป็นคนสูงอายุ

ญี่ปุ่นเป็นตัวอย่างประเทศที่กำลังประสบปัญหานี้ เมื่อคนญี่ปุ่นมีอายุยืนมากขึ้น และอัตราการเกิดลดลง ปัญหาดังกล่าวนี้เรียกว่า อัตราการพึ่งพิงของคนสูงอายุ (old age dependency ration) ที่เทียบสัดส่วนระหว่างคนวัยเกษียณกับคนที่ยังอยู่ในวัยทำงาน ในปี 1960 ญี่ปุ่นมีคนในวัยทำงาน 10 คนต่อคนเกษียณ 1 คน อัตราการพึ่งพิงจึงอยู่ที่ 10% ระบบบำนาญรัฐ Pay As You Go หมายความว่า คนทำงาน 10 คนแบ่งกันรับผิดชอบคนเกษียณ 1 คน ปี 2050 คาดกันว่า อัตราการพึ่งพิงของญี่ปุ่นจะสูงถึง 70% คือ มีคนเกษียณ 7 คนต่อคนวัยทำงาน 10 คน

หากแนวโน้มเป็นไปอย่างที่คาดการณ์กันไว้ ระบบบำนาญรัฐ Pay As You Go จะไปไม่รอด เพราะมันถูกออกแบบมาในยุคที่คนทำงาน 10 คน จ่ายภาษี 3-4% ของรายได้ เพื่อดูแลคนเกษียณ 1 คน ที่ได้บำนาญ 30-40% ของเงินเดือนสุดท้าย เมื่อแรงงานในระบบลดลง แต่จำนวนคนที่รับบำนาญเพิ่มมากขึ้น ระบบบำนาญ Pay As You Go ก็จะประสบปัญหามาก เพราะระบบบำนาญ Pay As You Go ดำเนินงานคล้ายกับระบบแชร์ลูกโซ่ ระบบนี้จะยังอยู่ได้หากว่ามีสมาชิกใหม่เข้ามาในระบบเพิ่มมากขึ้น แต่ประเทศเจริญแล้วสภาพไม่ได้เป็นไปแบบนี้ เพราะอัตราการเกิดลดลง มีเพียงแคนาดาและออสเตรเลียที่คาดกันว่าระบบบำนาญ Pay As You Go จะยังดำเนินการต่อไปได้ เพราะ 2 ประเทศนี้อาศัยการรับผู้อพยพเข้ามาเป็นแรงงานเพิ่มมากขึ้น

คนอายุถึง 100 ปี แล้วจะมีเงินพอใช้หรือไม่

อายุที่ยืนยาวของคนในปัจจุบันส่งผลกระทบในหลายด้าน เช่น ระบบบำนาญ หรือคนในวัยเกษียณยังต้องทำงานอยู่ เพื่อให้มีรายได้พอสำหรับชีวิตที่มีมาตรฐาน ทำให้มีการตั้งคำถามกันว่า ควรจะมีระบบเกษียณอายุที่เป็นทางการหรือไม่ นอกจากนี้ ในยุคที่การลงทุนให้ผลตอบแทนในอัตราที่ต่ำ ส่งผลกระทบอย่างมากต่อเงินบำนาญของคนที่เกษียณ ที่คนทำงานส่งเงินสมทบเข้ากองทุนบำนาญต่างๆ นักวิเคราะห์การลงทุนบางคนเห็นว่า เพื่อให้มีเงินพอหลังเกษียณ พนักงานอาจต้องเพิ่มเงินสมทบกองทุนบำนาญ จากที่เป็นอยู่ 9% เป็น 15% ของเงินเดือน

ในการประชุม World Economic Forum (WEF) เมื่อต้นปีที่ผ่านมา WEF ได้เผยแพร่เอกสารการประชุมมีชื่อว่า “เราจะมีชีวิตถึง 100 ทำอย่างไรเราจึงจะมีเงินพอ” (We’ll Live to 100 – How Can We Afford It?) เอกสารนี้กล่าวว่า ปัญหาท้าทายในปัจจุบัน คือ ทำอย่างไรจะให้สังคมสูงอายุมีระบบเกษียณที่มีความมั่นคงทางการเงิน

เอกสาร WEF กล่าวว่า นับจากกลางศตวรรษที่ 20 ทุกๆ 5 ปี อายุโดยเฉลี่ยของคนเราจะเพิ่ม 1 ปี ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่มีประชากรสูงอายุเพิ่มเร็วที่สุด คนญี่ปุ่นเกษียณจากงานที่อายุ 60 ปี หมายความว่า คนญี่ปุ่นจะมีชีวิตหลังเกษียณอีก 45 ปี ซึ่งเป็นช่วงชีวิตที่มากกว่าช่วงเวลาการทำงาน ปัจจุบันนี้ ตัวเลขสัดส่วนคนทำงานกับคนเกษียณ อยู่ที่ 8:1 ในปี 2050 สัดส่วนจะเหลือแค่ 4:1 ดังนั้น ในอนาคตอันใกล้นี้ จึงเป็นเรื่องที่เลี่ยงไม่พ้นที่อายุการเกษียณที่เป็นทางการจะต้องเพิ่มสูงขึ้น

WEF กล่าวถึงปัจจัยต่างๆ ที่เพิ่มปัญหาและภาระมากขึ้นให้กับระบบการเกษียณในโลกนี้ เช่น คนทำงานจำนวนมากยังไม่สามารถเข้าถึงกองทุนบำนาญ หรือเข้าถึงผลิตภัณฑ์การออมเงินเพื่อเกษียณ สภาพแวดล้อมของการเติบโตเศรษฐกิจในอัตราที่ต่ำอย่างยาวนาน ทำให้ยอดรวมเงินออมสะสมของคนทำงานแต่ละคนเพิ่มในอัตราที่ต่ำ ความรู้ด้านการเงินที่มีต่ำมาก เป็นอุปสรรคต่อระบบการออมเพื่อเกษียณ ที่นับวันประเทศต่างๆ จะหันมาใช้ระบบบำนาญในรูปการจ่ายเงินสมทบของคนทำงานมากขึ้น และคนทำงานจะต้องตัดสินใจสำคัญๆ ด้วยตัวเอง เกี่ยวกับเงินบำนาญ เช่น จะออมปีหนึ่งเท่าไหร่ จะเลือกการลงทุนแบบไหน หรือพร้อมที่จะเกษียณเมื่อไหร่ เป็นต้น

องค์กรระหว่างประเทศ เช่น ธนาคารโลก และกลุ่ม OECD ก็ให้ความสนใจต่อปัญหาระบบบำนาญในประเทศกำลังพัฒนา เพราะประชากรส่วนใหญ่ยังไม่ได้เข้าอยู่ในระบบบำนาญ เนื่องจากปัญหาต่างๆ เช่น การว่างงานที่สูง คนทำงานเป็นจำนวนมากทำงานในภาคเศรษฐกิจไม่เป็นทางการ ทำงานแบบจ้างงานตัวเอง หรือทำงานกับธุรกิจ SME ที่ไม่มีระบบบำนาญ เป็นต้น ทาง OECD กล่าวว่า หลายประเทศในเอเชีย ระบบบำนาญที่เป็นอยู่ไม่สามารถให้หลักประกันที่มั่นคงด้านรายได้เมื่อประชาชนสูงอายุ เพราะระบบบำนาญครอบคลุมประชากรไม่มาก คนทำงานถอนเงินออมออกไปก่อนเกษียณ เงินออมเกษียณจ่ายเป็นเงินก้อน ทำให้คนเกษียณเสี่ยงที่จะมีชีวิตยืนนานกว่าเงินที่ได้มา และเงินเกษียณไม่ได้ปรับเพิ่มตามค่าครองชีพ เป็นต้น

ความคิดเรื่องเกษียณมีมาตั้งแต่สมัยโบราณแล้ว อาณาจักรโรมันเคยขยายเวลาเกษียณของกองทหารและลดเงินบำนาญ ทำให้เกิดการต่อต้านขัดขืนในหมู่พวกทหาร ในปี 1881 Otto von Bismarck นายกรัฐมนตรีเยรมัน เสนอกฎหมายต่อรัฐสภาเยอรมัน ที่รัฐให้เงินสนับสนุนแก่คนพิการที่อายุมากกว่า 70 ปี แต่ทุกวันนี้ ชีวิตคนเรายืนยาวนานมากขึ้น จำนวนคนที่มีอายุเกิน 80 และ 90 ปีมีมากขึ้น ทำให้คนเราต้องหันมามองว่า เราควรจะเลิกคิดเรื่องการเกษียณหรือไม่

ในยุคที่หลังจากเกษียณไปแล้วคนเรามีชีวิตอยู่ได้อีกไม่นาน ความคิดที่ว่าคนเราจะเกษียณจากงานเมื่ออายุเกิน 60 ปี แล้วก็มีชีวิตอยู่ได้ด้วยเงินบำนาญ จึงเป็นเรื่องสมเหตุสมผล แต่ทุกวันนี้ หลังจากเกษียณแล้ว มีคนจำนวนมากขึ้นที่มีชีวิตยืนนานอีก 20 ปีหรือมากกว่านี้ หาก “ยุคสมัยที่ไม่มีการเกษียณ” มาถึงจริง ทุกภาคส่วนของสังคมจะต้องเตรียมตัวรับมือ นายจ้างจะต้องช่วยให้พนักงานสามารถทำงานได้นานมากขึ้น และนโยบายของรัฐ ในฐานะเหล่าหลักเสาแรกของระบบบำนาญ จะต้องหาทางขยายระบบนี้ให้ครอบคลุมประชากรทุกคน

เอกสารประกอบ
We’ll Live to 100 – How Can We Afford It? World Economic Forum, 2017.
A world without retirement. Theguardian.com