ThaiPublica > เกาะกระแส > อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์คนใหม่ เร่งล้างทุจริต-ยกมาตรฐานกำกับดูแล-แก้ปัญหาสหกรณ์ฯคลองจั่น

อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์คนใหม่ เร่งล้างทุจริต-ยกมาตรฐานกำกับดูแล-แก้ปัญหาสหกรณ์ฯคลองจั่น

10 ตุลาคม 2017


นายพิเชษฐ์ วิริยะพาหะ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์

เมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 2560 นายพิเชษฐ์ วิริยะพาหะ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์คนใหม่ มอบนโยบายการส่งเสริมและพัฒนาระบบสหกรณ์ ปี 2561 ให้กับผู้บริหารระดับสูงของกรมส่งเสริมสหกรณ์ โดยนายพิเชษฐ์กล่าวว่า ตามที่ พล.อ. ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีคำสั่งการเมื่อปี 2558 ให้กรมส่งเสริมสหกรณ์เร่งแก้ไขปัญหาข้อบกพร่องที่เกิดขึ้นในสหกรณ์ ทางกรมส่งเสริมสหกรณ์จึงทำการตรวจสอบสหกรณ์ทั้งระบบ พบว่าสหกรณ์ที่อยู่ในข่ายมีปัญหาข้อบกพร่องทั้งหมด 1,228 แห่ง คิดเป็นมูลค่า 43,566.22 ล้านบาท (ประมาณการมูลค่าความเสียหาย) โดยกรมส่งเสริมสหกรณ์ได้ดำเนินการแก้ไขข้อบกพร่องของสหกรณ์จนถึงวันที่ 30 กันยายน 2560 เหลือสหกรณ์ที่มีปัญหาข้อบกพร่องทั้งสิ้น 202 แห่ง คิดเป็นมูลค่า 13,667 ล้านบาท

ในจำนวนสหกรณ์ที่มีปัญหาข้อบกพร่อง 202 แห่ง ตรวจพบพบว่ามีสหกรณ์ที่มีปัญหาเรื่องทุจริต 52 แห่ง คิดเป็นมูลค่าความเสียหายที่เกิดขึ้นแล้ว 555 ล้านบาท ประกอบด้วยการทุจริตเงินกู้ ปลอมแปลงสัญญาเงินกู้มี 11 แห่ง, ทุจริตเงินสด ยักยอกเงินมี 19 แห่ง, ทุจริตการรับฝากเงินมี 6 แห่ง, ทุจริตรวบรวมผลิตผลทางการเกษตร 3 สหกรณ์, ทุจริตการจัดหาสินค้า จำหน่ายสินค้า 5 แห่ง และทุจริตเงินยืมทดลองจ่ายหรือเบิกค่าใช้จ่ายเป็นเท็จ 3 แห่งส่วนที่เหลืออีก 150 แห่ง ยังไม่เกิดความเสียหาย โดยกรมส่งเสริมสหกรณ์ต้องดำเนินการแก้ไขให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 30 ธันวาคม 2560

นายพิเชษฐ์กล่าวต่อว่า กรณีทุจริต ได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ปฏิบัติตามแนวทางที่กำหนดคือ 1. เมื่อพบการกระทำทุจริต ให้สั่งการให้หยุดหรือเลิกการกระทำทันที หากฝ่าฝืน ให้ร้องทุกข์ต่อ และสั่งให้คณะกรรมการ หรือกรรมการสหกรณ์ พ้นจากตำแหน่ง 2. สั่งการให้คณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์ ตั้งคณะกรรมการสอบสวน เพื่อหาผู้รับผิดชอบความเสียหาย พร้อมรวบรวมพยานหลักฐานที่เกี่ยวข้อง 3. ให้สหกรณ์ร้องทุกข์ดำเนินคดี

กรณีผู้บริหารสหกรณ์ทำนอกกรอบวัตถุประสงค์ ให้ดำเนินการดังนี้ 1. เมื่อพบการกระทำการดังกล่าว ให้สั่งการให้หยุด หรือเลิกการกระทำทันที หากฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามคำสั่งนายทะเบียนสหกรณ์ ให้ร้องทุกข์ และสั่งให้คณะกรรมการ หรือกรรมการพ้นจากตำแหน่ง 2. หาผู้รับผิดชอบกรณีเกิดความเสียหาย 3. ฟ้องดำเนินคดี กรณี พฤติกรรมที่อาจก่อให้เกิดความเสียหาย ให้ดำเนินการดังนี้ 1. เมื่อพบการกระทำดังกล่าว ต้องสั่งการให้ยุติการดำเนินการดังกล่าว และแก้ไข 2. หาผู้รับผิดชอบกรณีเกิดความเสียหาย

ส่วนมาตรการในการกำกับดูแลสหกรณ์ออมทรัพย์และสหกรณ์เครดิตยูเนียน ตามข้อเสนอแนะของกระทรวงการคลังและธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) นายพิเชษฐ์กล่าวว่า ในวันที่ 18 ตุลาคม 2560 ตนจะเชิญชุมนุมสหกรณ์ออมทรัพย์แห่งประเทศไทยและตัวแทนสหกรณ์ขนาดใหญ่มาหารือเป็นครั้งสุดท้าย เพื่อรับฟังความคิดเห็นจากผู้บริหารสหกรณ์ขนาดใหญ่ ก่อนที่กรมส่งเสริมสหกรณ์จะออกประกาศหลักเกณฑ์การกำกับดูแลสหกรณ์ออมทรัพย์และสหกรณ์เครดิตยูเนียนเพิ่มเติมอีก 5 ข้อ ให้มีผลบังคับใช้ภายในเดือนตุลาคม 2560 สาเหตุที่ต้องมีการเปิดรับฟังความคิดเห็น และเจรจาต่อรองกับผู้บริหารของสหกรณ์ขนาดใหญ่ เนื่องจากที่ผ่านมา กรมส่งเสริมสหกรณ์ไม่เคยออกกฎเกณฑ์กำกับดูแลสหกรณ์มาก่อน หากนำกฎระเบียบที่เข้มงวดมาบังคับใช้ทันที โดยหลักเกณฑ์ 5 ข้อตามข้อเสนอของกระทรวงการคลังและ ธปท. มีรายละเอียดดังนี้

    1. เรื่องการดำรงสัดส่วนหนี้สินต่อทุน ตามข้อเสนอ ธปท. กำหนดให้มีหนี้สินไม่เกิน 1.5 เท่าของทุนรวมยอดเงินฝากด้วย แต่ชุมนุมสหกรณ์ออมทรัพย์แห่งประเทศไทย มองว่า ไม่ตรงตามเจตนารมณ์ของการจัดตั้งสหกรณ์ เพื่อระดมเงินออม ปัจจุบันสหกรณ์ขนาดใหญ่ที่มีสัดส่วนหนี้สินต่อทุนเกิน 1.5 เท่ามีประมาณ 40 แห่ง หากกำหนดหลักเกณฑ์ให้ดำรงสัดส่วนหนี้สินต่อทุนไม่เกิน 1.5 เท่า อาจมีผลทำให้สหกรณ์ต้องลดบทบาทในการระดมเงินออม ดังนั้น ทางชุมมนุมสหกรณ์ฯ จึงขอให้กำหนดสัดส่วนหนี้สินต่อทุนไว้ที่ 2-3 เท่าของทุนไม่รวมยอดเงินฝากก่อน จากนั้นทยอยปรับลดลงมาเหลือไม่เกิน 1.5 ภายในระยะเวลา 3-5 ปี ทาง ธปท. ยอมผ่อนผันให้เหลือ 2% ของทุน แต่ให้รวมยอดเงินฝากด้วย

    2. เรื่องการกำหนดสัดส่วนเงินลงทุน ข้อเสนอของกระทรวงการคลัง กำหนดให้สหกรณ์สามารถนำเงินไปลงทุนได้ไม่เกิน 20% ของทุน ปัจจุบันสหกรณ์หลายแห่งนำเงินไปลงทุนสูงถึง 40% ของสินทรัพย์รวมทั้งหมด (หนี้สินรวมส่วนของทุน) ทางชุมนุมสหกรณ์ฯ ขอให้ดำรงสัดส่วนเงินลงทุนแค่ 20% ของสินทรัพย์รวม ล่าสุดกรมส่งเสริมสหกรณ์ได้หาหรือกับกระทรวงการคลัง เสนอให้สหกรณ์นำเงินไปลงทุนได้ไม่เกินส่วนของทุน รวมทุนสำรอง ประเด็นนี้จึงยังยังตกลงกันไม่ได้

    3. กระทรวงการคลังเสนอให้ดำรงสินทรัพย์สภาพคล่อง 6% ของสินทรัพย์ ทางชุมนุมสหกรณ์ ไม่เห็นด้วย เพราะปัจจุบันสหกรณ์ทั้งระบบดำรงสินทรัพย์สภาพคล่องแค่ 1% ของสินทรัพย์ หากให้สหกรณ์เพิ่มสัดส่วนสินทรัพย์สภาพคล่องเป็น 6% จะทำให้สหกรณ์มีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น กรมส่งเสริมสหกรณ์ กับชุมนุมสหกรณ์ฯ ได้ข้อสรุปว่า ให้ดำรงสินทรัพย์สภาพคล่องแค่ 3% แบ่งเป็นเงินสด 1% ส่วนที่เหลืออีก 2% เป็นสินทรัพย์มั่นคง เช่น พันธบัตร เงินฝาก เป็นต้น สำหรับหลักเกณฑ์ในการกำกับดูแลสหกรณ์เรื่องนำเงินสภาพคล่องส่วนเกินไปฝากกับสหกรณ์อื่นนั้น กรมส่งเสริมได้ออกประกาศมากำกับดูแลแล้ว โดยสหกรณ์ที่มีทุนจดทะเบียนเกิน 5,000 ล้านบาทจะนำเงินไปฝากกับสหกรณ์อื่นได้ไม่เกินทุนสำรองรวมทุนเรือนหุ้นของตนเอง และนำเงินไปลงทุนในสหกรณ์แต่ละแห่งได้ไม่เกิน 10% ของทุนสำรองรวมทุนเรือนหุ้น

    4. เรื่องการปล่อยกู้สมาชิกวนซ้ำ เช่น สหกรณ์ปล่อยกู้นาย ก. เป็นระยะเวลา 6 ปี ผ่านไป 4 เดือน นาย ก. กลับมากู้ใหม่โดยเปลี่ยนสัญญา แบงก์ชาติได้เสนอให้สหกรณ์ตั้งสำรองเต็ม 100% กรณีที่มีการปล่อยกู้วนซ้ำแก่สมาชิกที่เปลี่ยนสัญญาเงินกู้ภายใน 1 ปี ขณะที่ปัจจุบันมีสหกรณ์หลายแห่งปล่อยกู้วนซ้ำแก่สมาชิกภายใน 4-6 เดือน ซึ่งข้อเสนอ ธปท. ส่วนนี้ไม่ใช่มาตรการบังคับ สหกรณ์ยังคงปล่อยกู้วนซ้ำได้ แต่ถ้าปล่อยกู้วนซ้ำภายใน 1 ปี ต้องตั้งสำรองหนี้ 100% แต่อย่างไรก็ตาม กรมส่งเสริมสหกรณ์ยังไม่มีอำนาจในการออกระเบียบดังกล่าวมาบังคับใช้ ในส่วนนี้ต้องรอ พ.ร.บ.สหกรณ์ฉบับใหม่มีผลบังคับใช้

    5. ข้อเสนอแบงก์ชาติ ให้สหกรณ์ที่มีขนาดเกิน 5,000 ล้านบาท ต้องจ้างผู้สอบบัญชีรับอนุญาต ตามมาตรฐานของสำนักงาน ก.ล.ต. ซึ่งมีอยู่ประมาณ 100 ราย และค่าใช้จ่าย 3-5 ล้านบาทต่อปี ประเด็นนี้จึงยังไม่ได้ข้อยุติ เพราะมีค่าใช้จ่ายสูงเกินไป

ส่วนการเชื่อมข้อมูลเครดิตของสมาชิกสหกรณ์กับ บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ หรือ “เครดิตบูโร” นายพิเชษฐ์ กล่าวว่า ปัจจุบันสหกรณ์ทั้งระบบมีการปล่อยสินเชื่อไปประมาณ 1.2 ล้านล้านบาท เป็นเงินฝาก 7 แสนล้านบาท และนำเงินไปลงทุนในตลาดเงิน-ตลาดทุน 1.8 แสนล้านบาท ขณะนี้รัฐบาลก็มีความเป็นห่วงเรื่องหนี้สินภาคครัวเรือนของประชาชน เกรงว่าจะมีภาระหนี้สินมากเกินไป โดยเป็นหนี้ทั้งสถาบันการเงินและสหกรณ์ แต่อย่างไรก็ตาม กรมส่งเสริมสหกรณ์ไม่มีอำนาจบังคับให้สหกรณ์ทุกประเภทต้องเป็นสมาชิกเครดิตบูโร ต้องรอกฎหมายใหม่มีผลบังคับใช้อีก ระหว่างนี้กรมส่งเสริมใช้วิธีขอความร่วมมือ โดยมีสหกรณ์ขนาดใหญ่เข้าร่วมเป็นสมาชิกเครดิตบูโรแล้ว 7 แห่ง ส่วนร่าง พ.ร.บ.สหกรณ์ฉบับใหม่ ขณะนี้ผ่านการตรวจทานถ้อยคำจากคณะกรรมการกฤษฎีกาเรียบร้อยแล้ว และกรมส่งเสริมกำลังอยู่ระหว่างการจัดทำประชาพิจารณาและรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในช่วงเดือนตุลาคม-เดือนพฤศจิกายน 2560 ก่อนนำเสนอที่ประชุม ครม. เห็นชอบภายในเดือนธันวาคม 2560 เพื่อส่งให้ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พิจารณาต่อไป

ทำไมกรมส่งเสริมสหกรณ์ไม่นำหลักเกณฑ์การกำกับดูแลสถาบันการเงินของแบงก์ชาติมาใช้กับการกำกับดูแลระบบสหกรณ์ทันที นายพิเชษฐ์กล่าวว่า “ปัจจุบันสหกรณ์ไม่ได้ทำธุรกิจการเงินเพียงอย่างเดียว ต้องดูแลสมาชิกทุกด้าน ทั้งในเรื่องของการหารายได้ สร้างเสริมอาชีพ ส่งเสริมการออม ดูแลผลตอบแทนให้กับสมาชิกในระดับที่เหมาะสมด้วย กรมส่งเสริมสหกรณ์จึงนำหลักเกณ์ของ ธปท. มาใช้กำกับดูแลความเสี่ยงทางการเงินและความเสี่ยงในการบริหารจัดการของคณะกรรมการสหกรณ์ จะนำมาใช้ทุกตัวไม่ได้ โดยในช่วง 1-2 ปี คงต้องให้เวลาสหกรณ์ปรับตัวก่อน หากเร่งขึงให้ตึงอาจพังทั้งระบบ เพราะเดิมไม่เคยมีหลักเกณฑ์มากำกับดูแล เงินไหลเข้ามาฝากสหกรณ์เท่าไหร่ ถอนออกไปเท่าไหร่ ลงทุนอะไร ปล่อยกู้ใคร ต่อไปนี้ต้องรู้ มีฐานข้อมูลเพียงพอที่จะใช้ในการกำกับดูแลตรวจสอบได้”

สำหรับความคืบหน้าในการแก้ไขปัญหาของสหกรณ์เครดิตยูเนียนคลองจั่น นายพิเชษฐ์กล่าวว่า เรื่องการจัดหาแหล่งทุนใหม่เข้ามาเสริมสภาพคล่องให้กับสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น ตอนนี้ขอกู้ยืมเงินจากแบงก์ไหนก็ไม่มีใครปล่อยกู้ ใช้เงินงบประมาณแผ่นดินก็ไม่ได้ เหลือวิธีเดียว คือ ให้สหกรณ์ที่เป็นเจ้าหนี้ของสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น เฉพาะรายที่มีศักยภาพ ไปกู้เงินจากสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐมาใช้ในการดำเนินธุรกิจปกติ โดยมีเงื่อนไขว่าต้องกันเงิน 1-2% ของวงเงินสินเชื่อที่ได้รับส่งเข้าบัญชีร่วม เพื่อนำเงินไปลงทุนในหลักทรัพย์ที่ไม่มีความเสี่ยง การใช้จ่ายเงินมีวัตถุประสงค์ 2 ประการ คือ 1. ใช้เสริมสภาพคล่องสหกรณ์ 31 แห่ง 2. นำเงินเสริมสภาพคล่องให้กับสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น

“ขณะนี้มีสหกรณ์เจ้าหนี้ 31 แห่ง ยื่นความจำนงจะขอกู้เงินจากสถานบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐวงเงิน 30,000 ล้านบาท ซึ่งทางกรมส่งเสริมสหกรณ์กำลังจะหารือกับนายสมชัย สัจจพงษ์ ปลัดกระทรวงการคลัง ขอให้ช่วยเจรจากับแบงก์รัฐให้ช่วยสนับสนุนสินเชื่อแก่สหกรณ์เจ้าหนี้ ซึ่งเป็นการปล่อยกู้ตามปกติ ไม่มีความเสี่ยงใดๆ วงเงินสินเชื่อที่สหกรณ์เจ้าหนี้ได้รับการอนุมัติส่วนใหญ่นำไปใช้ประกอบธุรกิจ มีเพียง 1-2% ของวงเงินกู้ที่นำมาเก็บไว้เป็นกองกลางเพื่อลงทุนในหลักทรัพย์ที่มั่นคง เช่น กองทุน Thailand Future Fund และนำดอกผลไปใช้ฟื้นฟูสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น” นายพิเชษฐ์กล่าว

นายพิเชษฐ์กล่าวต่อว่า แต่สิ่งที่กรมส่งเสริมสหกรณ์เป็นห่วง คือ สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่นอาจจะไม่สามารถชำระหนี้ให้กับเจ้าหนี้ได้ ตามแผนฟื้นฟูฯ กำหนดให้ชำระหนี้ปีละ 2 ครั้ง ครั้งละประมาณ 500-600 ล้านบาท โดยครั้งที่ 3 กำหนดชำระภายในเดือนธันวาคม 2560 หากรอเงินสนับสนุนตามที่กล่าวข้างต้นคงไม่ทัน ขณะนี้สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่นมีเงินสดเหลือประมาณ 100 ล้านบาท และคาดว่าสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่นจะได้รับเงินจากการขายทอดตลาดที่ดินจังหวัดสมุทรปราการและกาญจนบุรีไม่ต่ำกว่า 300-400 ล้านบาท ตนจึงนัดหารือกับอธิบดีกรมบังคับคดีในวันที่ 10 ตุลาคม 2560 โดยจะขอเร่งรัดกระบวนการขายทอดตลาดที่ดินทั้ง 2 แปลงให้เร็วขึ้น เพื่อให้สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่นนำเงินไปจ่ายให้กับเจ้าหนี้ได้ตามแผนฟื้นฟูฯ ส่วนที่ดินของสหกรณ์ที่ถูกกรมสอบสวนคดีพิเศษสั่งอายัด มูลค่า 3,800 ล้านบาท ขณะนี้ได้ส่งเรื่องคืนสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) คาดว่าจะถอนอายัดได้ในช่วงเดือนธันวาคม 2560 จากนั้น ทั้งสมาชิกสหกรณ์และสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่นต้องไปยื่นคำร้องต่อศาลแพ่ง เพื่อพิพากษาว่าที่ดินแปลงดังกล่าวเป็นกรรมสิทธิ์ของสมาชิกหรือสหกรณ์ฯ

นโยบายใช้”สหกรณ์”เป็นเครื่องมือยกระดับคุณภาพชีวิต

นับตั้งแต่ปี 2559 ซึ่งเป็นปีแห่งการเริ่มต้นนโยบายการยกระดับความเข้มแข็งสหกรณ์ ภายหลังจากที่ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี สั่งการให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เร่งดำเนินการพัฒนาสหกรณ์ให้เป็นองค์กรที่ช่วยขับเคลื่อนนโยบายต่างๆ ของรัฐบาล เพื่อช่วยยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนในพื้นที่ต่างๆ และนำไปสู่การพัฒนาเศรษฐกิจระดับฐานรากของประเทศ

กระทรวงเกษตรและสหกรณ์จึงได้มอบหมายให้กรมส่งเสริมสหกรณ์วิเคราะห์และกำหนดเกณฑ์การจัดระดับมาตรฐานสหกรณ์ และประเมินสถานภาพสหกรณ์ เพื่อจัดทำแผนพัฒนาสหกรณ์ตามสถานภาพ โดยแบ่งสหกรณ์ออกเป็น 4 ระดับ ได้แก่

สหกรณ์ระดับชั้นที่ 1 การมีส่วนร่วมของสมาชิกทำธุรกิจกับสหกรณ์ต้องเกิน 70% มีประสิทธิภาพในการดำเนินธุรกิจ มีความมั่นคงเข้มแข็งและมีระบบการควบคุมภายในระดับดีถึงดีมาก ข้อบกพร่องไม่มีหรือมีแต่แก้ไขเรียบร้อยแล้ว

สหกรณ์ชั้นที่ 2 การมีส่วนร่วมของสมาชิกทำธุรกิจกับสหกรณ์ 60-69% ประสิทธิภาพการดำเนินธุรกิจ ระดับยังต่ำกว่ามาตรฐาน การควบคุมภายในระดับพอใช้ ข้อบกพร่องอยู่ระหว่างการแก้ไขแต่ยังไม่แล้วเสร็จ

สหกรณ์ระดับชั้นที่ 3 เรื่องการมีส่วนร่วมของสมาชิกที่ทำธุรกิจกับสหกรณ์ยังต่ำกว่า 60% ประสิทธิภาพการดำเนินธุรกิจอยู่ในระดับต้องปรับปรุงและแก้ไขอย่างเร่งด่วน ระบบการควบคุมภายในต้องมีปรับปรุงและไม่มีระบบการควบคุมภายในเลย มีข้อบกพร่องและยังไม่ได้รับการแก้ไข

สหกรณ์ชั้นที่ 4 เป็นสหกรณ์ที่นายทะเบียนสั่งยกเลิกกิจการแล้ว และอยู่ระหว่างการชำระบัญชี

ปี 2560 กรมส่งเสริมสหกรณ์เข้าไปส่งเสริมให้สหกรณ์ทุกระดับชั้นมีการพัฒนาในแต่ละด้านทีละขั้น เพื่อก้าวสู่การเป็นสหกรณ์ระดับชั้นที่ 1 โดยการเข้าไปแนะนำให้พัฒนาในด้านการบริหารจัดการ การสร้างการมีส่วนร่วมของสมาชิกและการแก้ไขข้อบกพร่องต่างๆ ให้ลดลงจนหมดไปในที่สุด

ในช่วงเวลาที่มีการพัฒนาและยกระดับความเข้มแข็งของระบบสหกรณ์ทั้งประเทศ เป็นช่วงเวลาเดียวกันกับที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ริเริ่มแนวทางในการปฏิรูปภาคการเกษตร และเพิ่มบทบาทของสหกรณ์ภาคการเกษตรให้เป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนนโยบายต่างๆ ลงสู่ตัวเกษตรกรซึ่งเป็นสมาชิก โดยในปี 2559 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์กำหนดให้เป็นปีแห่งการลดต้นทุนการผลิตและเพิ่มโอกาสในการแข่งขันสินค้าเกษตร โดยมีการพัฒนาภาคเกษตรกรให้ก้าวหน้าตามลำดับ จนถึงในปี 2560 เป็นปีแห่งการยกระดับมาตรฐานการเกษตรสู่ความยั่งยืน ด้วยนโยบายยกกระดาษ A4 โดยมีเป้าหมายคือ ยกระดับคุณภาพชีวิตเกษตรกรให้ดีขึ้น เกษตรกรมีความภาคภูมิใจในอาชีพเกษตรและมีรายได้เพิ่มขึ้นและมีหนี้สินลดลง โดยมีนโยบายที่ต้องดำเนินการ 9 เรื่อง 13 แผนงาน เช่น ศพก. การส่งเสริมการเกษตรแปลงใหญ่ Zoning by Agri-Map มาตรฐานสินค้าเกษตร/GAP เกษตรทฤษฎีใหม่ผสมผสาน ธนาคารสินค้าเกษตร แผนผลิตข้าวครบวงจร การจัดที่ดินทำกินของ ส.ป.ก. เป็นต้น ทั้งหมดนี้ จะขับเคลื่อนโดยบูรณาการงานตาม Agenda และ Area Based นำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาใชและอาศัยเทคโนโลยีและนวัตกรรมเข้ามาช่วยเพื่อใหบรรลุเป้าหมายดังกล่าว

ดังนั้น ปี 2561 จึงเป็นช่วงเวลาของการผลักดันให้สหกรณ์ที่มีศักยภาพในการดำเนินงานและผ่านการยกระดับความเข้มแข็งแล้ว เตรียมพร้อมสำหรับการทำหน้าที่เป็นกลไกในการขับเคลื่อนโยบายพัฒนาภาคการเกษตรของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รวมถึงนโยบายต่างๆ ของรัฐบาลที่มุ่งหวังจะส่งเสริมการรวมกลุ่มประชาชนในพื้นที่ต่างๆ สร้างความกินดีอยู่ดีและความเข้มแข็ง ซึ่งนับจากนี้สหกรณ์จะมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในการเสริมสร้างความเจริญทางด้านเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ

ปี 2561 กำหนดให้ปีแห่งการพัฒนาคนและยกระดับการบริหารจัดการ กรมส่งเสริมสหกรณ์จึงกำหนดนโยบายการพัฒนาระบบสหกรณ์ในปี 2561 ใน 4 ด้าน ได้แก่

1. การยกระดับความเข้มแข็งสหกรณ์

การดำเนินงานตามมาตรการยกระดับความเข้มแข็งสหกรณ์ ส่งผลทำให้สหกรณ์ทุกแห่งมีข้อมูลที่ถูกต้องเพื่อใช้ในการบริหารกิจการและการตัดสินใจ ทำให้เกิดความโปร่งใสในการดำเนินงาน ซึ่งกรมส่งสหกรณ์ยังคงเดินหน้ายกระดับความเข้มแข็งของสหกรณ์ทั่วประเทศอย่างต่อเนื่อง เน้นการพัฒนาระบบการบริหารจัดการภายในสหกรณ์ ซึ่งแบ่งเป็นแนวทางการพัฒนาทั้งสหกรณ์นอกภาคการเกษตรและสหกรณ์ในภาคการเกษตร

สหกรณ์ภาคออมทรัพย์และเครดิตยูเนี่ยน

    1.1 ดำเนินการตาม 5 มาตรการหลัก ประกอบด้วย การสร้างความเข้มแข็งของสมาชิกให้เป็นรากฐานที่มั่นคงของสหกรณ์ การเพิ่มขีดความสามารถในการดำเนินธุรกิจแบบสหกรณ์ การพัฒนาการบริหารจัดการและเสริมสร้างธรรมาภิบาล มาตรการในการกำกับและตรวจสอบ และมาตรการสนับสนุน เช่น การพัฒนาบุคลากร การนำเทคโนโลยีมาใช้ในการพัฒนาระบบฐานข้อมูลของสหกรณ์

    1.2 การกำกับดูแลสหกรณ์ตามเกณฑ์กำกับสหกรณ์ออมทรัพย์และเครดิตยูเนี่ยน ปฏิรูปการบริหารจัดการและการกำกับดูแลกิจการสหกรณ์ออมทรัพย์และสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน ออกหลักเกณฑ์ให้ครอบคลุมความเสี่ยงที่เกิดจากการประกอบกิจการทางการเงินของสหกรณ์ 4 ด้าน คือ ด้านธรรมาภิบาล ด้านสภาพคล่อง ด้านเครดิตและด้านการปฏิบัติการ และให้มีการพัฒนาบุคลากรของหน่วยงานกำกับดูแล รวมทั้งพัฒนาระบบสารสนเทศระบบการเงินของสหกรณ์ให้ทันสมัย

    1.3 การส่งเสริมธรรมาภิบาลในสหกรณ์ ภายใต้โครงการสหกรณ์สีขาวด้วยธรรมาภิบาล ในเบื้องต้น กรมส่งเสริมสหกรณ์ได้จัดทำโครงการสหกรณ์สีขาวด้วยธรรมาภิบาล โดยส่งเสริมให้สหกรณ์ออมทรัพย์ที่มีทุนดำเนินงานเกินกว่า 1,000 ล้านบาท นำหลักธรรมาภิบาลเข้ามาใช้ในการบริหารงานสหกรณ์ โดยได้กำหนดหลักเกณฑ์การประเมินสหกรณ์สีขาวด้วยธรรมาภิบาลนั้น ประกอบด้วยหลักสำคัญ 9 ประการด้วยกัน 1. หลักประสิทธิผล 2. หลักประสิทธิภาพ 3. หลักการตอบสนอง 4. หลักภาระรับผิดชอบ 5. หลักความโปร่งใส 6. หลักการมีส่วนร่วม 7. หลักการมอบอำนาจ 8. หลักนิติธรรม และ 9. หลักความเสมอภาค

    1.4 การดูแลและบรรเทาปัญหาหนี้สินของสมาชิก ปัจจุบันอัตราหนี้สินของสมาชิกสหกรณ์ออมทรัพย์มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น สหกรณ์จำเป็นต้องจัดสมดุลระหว่างหนี้สินกับเงินออมของสมาชิกให้อยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกัน โดยจะต้องส่งเสริมให้สมาชิกสหกรณ์ออมทรัพย์และเครดิตยูเนี่ยนให้ความสำคัญและมีการออมเงินกับสหกรณ์เพิ่มมากขึ้น เป็นการเพิ่มสัดส่วนการออมและช่วยลดปัญหาหนี้สินให้กับสมาชิก และเป็นการช่วยวางแผนทางการเงินให้กับสมาชิกสหกรณ์ได้มีเงินออมเหลือไว้ใช้จ่ายในช่วงวัยเกษียน ขณะเดียวกัน เงินออมของสมาชิกยังเป็นเงินทุนที่ช่วยเพิ่มสภาพคล่องให้กับสหกรณ์ ที่จะช่วยป้องกันวิกฤติทางการเงินอันอาจจะเกิดขึ้นในอนาคตด้วย

    1.5 การพัฒนาบุคลากรสหกรณ์ภาคออมทรัพย์ จะมีการยกร่างหลักสูตรฝึกอบรมต่างๆ ให้เนื้อหามีความทันสมัย อบรมอย่างเข้มข้น โดยเฉพาะการอบรมให้ความรู้ด้านการบริหารจัดการสหกรณ์ออมทรัพย์ มุ่งเน้นที่จะพัฒนาบุคลากรของสหกรณ์ออมทรัพย์ให้ปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ มีความรู้ความชำนาญทางด้านการเงินการบัญชี สามารถวิเคราะห์วางแผนการดำเนินธุรกิจทางการเงินของสหกรณ์ รวมถึงรู้จักป้องกันปัญหาความเสี่ยงต่างๆ ไม่ให้เกิดขึ้นกับสหกรณ์ของตนเองได้

สหกรณ์ภาคการเกษตร

ส่งเสริมการสร้างรายได้เกษตรกรและบรรเทาปัญหาหนี้สินของสมาชิกสหกรณ์ภาคการเกษตร เนื่องจากในปัจจุบันสมาชิกสหกรณ์การเกษตรส่วนใหญ่มีหนี้ค้างชำระกับสหกรณ์จำนวนมาก แต่ที่ผ่านมา สหกรณ์สามารถช่วยเหลือสมาชิกได้เพียงการปรับโครงสร้างหนี้ โดยขยายเวลาชำระหนี้ให้แก่สมาชิก ซึ่งเป็นการแก้ไขปัญหาที่ปลายเหตุ ส่งผลให้ปัญหาหนี้สินของเกษตรกรยังไม่ลดลงเท่าที่ควร

ดังนั้น กรมส่งเสริมสหกรณ์จะสนับสนุนให้สหกรณ์ภาคการเกษตรดูแลทุกข์สุขและมีความใกล้ชิดกับสมาชิกมากยิ่งขึ้น มีการดำเนินโครงการต่างๆ ที่จะช่วยการส่งเสริมรายได้ให้กับสมาชิก เน้นการลดต้นทุนค่าใช้จ่ายการทำการเกษตรให้กับสมาชิก เพื่อให้สมาชิกสหกรณ์มีรายได้เหลือเพียงพอที่จะชำระหนี้คืนสหกรณ์ได้เพิ่มมากขึ้น

2. ส่งเสริมให้สหกรณ์และกลุ่มเกษตรกรที่เข้มแข็งมีบทบาทในการขับเคลื่อนนโยบายรัฐ สนับสนุนให้สหกรณ์ภาคการเกษตรที่มีศักยภาพมีบทบาทรองรับการขับเคลื่อนงานพัฒนาภาคการเกษตร

2.1 การขับเคลื่อนงานนโยบายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ คัดเลือกสหกรณ์ที่มีศักยภาพพร้อมในการทำหน้าที่ขับเคลื่อนงานพัฒนาภาคการเกษตร โดยการนำนโยบายที่สำคัญและเร่งด่วนของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เข้าไปส่งเสริมให้สหกรณ์เหล่านี้ดำเนินการ ทั้งนโยบายด้านการส่งเสริมการเกษตรแบบแปลงใหญ่ ศพก. การบริหารจัดการพื้นที่เกษตรกรรมด้วย Agri-Map ธนาคารสินค้าเกษตร โครงการส่งเสริมและพัฒนาอาชีพเกษตรกรที่ได้รับการจัดสรรที่ดินในพื้นที่ ส.ป.ก. แผนการผลิตข้าวครบวงจร โครงการเกษตรทฤษฎีใหม่ ตลาดสินค้าเกษตรและโครงการยกระดับความเข้มแข็งของสหกรณ์ รวมถึงงานริเริ่มใหม่ของกรมส่งเสริมสหกรณ์อีก 12 โครงการและงานตามภารกิจทั่วไป เพื่อเดินหน้าสู่เป้าหมายในการปฏิรูปภาคการเกษตรทั้งระบบ ตั้งแต่การผลิต การแปรรูปไปจนถึงการตลาด และนำไปสู่เป้าหมายของการลดต้นทุนและเพิ่มรายได้ให้แก่เกษตรกร อันจะนำมาซึ่งความกินดีอยู่ดี มีความมั่นคง ยั่งยืน ตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง

2.2 การขับเคลื่อนงานนโยบายรัฐบาล

    2.2.1 การจัดสรรที่ดินทำกินให้กับชุมชนตามนโยบายรัฐบาล ภายใต้การกำกับดูแลของคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.) เป็นนโยบายที่มีเป้าหมายในการแก้ไขปัญหาบุกรุกที่ป่าสงวนหวงห้ามของรัฐ เพื่อนำที่ดินดังกล่าวมาจัดสรรให้กับเกษตรกรผู้มีรายได้น้อยและไม่มีที่ดินทำกินเป็นของตัวเองได้เข้าอยู่อาศัย พร้อมทั้งนำระบบสหกรณ์เข้ามาพัฒนาพื้นที่ การจัดการเรื่องสาธารณูปโภค ดูแลความเป็นอยู่ พัฒนาคุณภาพชีวิตและส่งเสริมด้านอาชีพให้กับชาวบ้านที่เข้าไปอยู่อาศัยในที่ดินที่ได้รับการจัดสรรจาก คทช. ตามแนวทางที่คณะอนุกรรมการส่งเสริมและพัฒนาอาชีพซึ่งมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เป็นประธาน และอธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์เป็นเลขานุการ

    2.2.2 นโยบายประชารัฐ ภายใต้โครงการ 1 สหกรณ์การเกษตร 1 หอการค้ามีเป้าหมายในการสนับสนุนให้สหกรณ์ภาคการเกษตรได้รับการพัฒนาด้วยกลไกประชารัฐ โดยสร้างความร่วมมือระหว่างสหกรณ์การเกษตรกับหอการค้าจังหวัดทั่วประเทศ ใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีต่างๆ เข้ามาพัฒนาในด้านการบริหารจัดการและการทำตลาดสินค้าให้กับสหกรณ์ โดยยึดหลัก “การตลาดนำการผลิต”

หอการค้านำองค์ความรู้และประสบการณ์ในด้านการบริหารจัดการของภาคธุรกิจเข้าไปสนับสนุนและพัฒนาด้านต่างๆ ให้กับสหกรณ์การเกษตร โดยร่วมมือกับสถาบันการศึกษาในพื้นที่ ทำการวิจัยและนำนวัตกรรมใหม่ๆ มาใช้เพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าเกษตร และทำให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น ซึ่งหากสหกรณ์มีความเข้มแข็งและสามารถดูแลชีวิตความเป็นอยู่ให้กับสมาชิกของตนเองได้แล้ว สหกรณ์จะเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ สอดคล้องกับนโยบายในการพัฒนาเศรษฐกิจระดับฐานรากของรัฐบาลชุดปัจจุบัน

3. สนับสนุนให้สหกรณ์ที่มีศักยภาพทำหน้าที่ในการยกระดับคุณภาพสินค้าการเกษตร สนับสนุนให้สหกรณ์การเกษตรที่มีศักยภาพในการบริหารจัดการสินค้าเกษตรที่สำคัญแบบครบวงจร โดยนำเทคโนโลยีนวัตกรรมและองค์ความรู้ต่างๆ เข้ามาใช้ในการบริหารจัดการในรูปแบบธุรกิจเกษตรที่สมบูรณ์แบบ โดยกรมฯ จะคัดเลือกสหกรณ์ที่มีศักยภาพ พร้อมสำหรับการทำหน้าที่เป็นองค์กรที่จะช่วยยกระดับคุณภาพสินค้าการเกษตรให้แก่เกษตรกรสมาชิก ส่งเสริมให้สมาชิกผลิตสินค้าการเกษตรที่ได้มาตรฐานเป็นที่ยอมรับ ทั้งผลผลิตประเภทพืชผัก ผลไม้ ข้าว นม ไข่ไก่ ยางพารา ปาล์มน้ำมัน และสินค้าเกษตรแปรรูป เมื่อการผลิตสินค้าเหล่านี้ได้มาตรฐานแล้ว จะต้องสร้างมูลค่าเพิ่มด้วยการนำไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีหลากหลาย ตรงกับความต้องการของตลาด และมีการพัฒนาเรื่องบรรจุภัณฑ์ให้สวยงามและมีความทันสมัย ซึ่งนอกจากบรรจุภัณฑ์ที่สวยงามจะช่วยดึงดูดความสนใจจากผู้บริโภคแล้ว ยังต้องช่วยรักษาคุณภาพของสินค้าให้คงทนไม่เกิดความเสียหายระหว่างการขนส่งด้วย

เมื่อสมาชิกสหกรณ์ผลิตสินค้าดีมีคุณภาพและผ่านการรับรองมาตรฐานจากหน่วยงานต่างๆ แล้ว สหกรณ์จะทำหน้าที่ในการหาช่องทางตลาดในการจำหน่ายสินค้าให้ถึงมือผู้บริโภคอย่างทั่วถึงและสะดวกรวดเร็ว รู้จักวิธีการบริหารการตลาด ด้วยการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาใช้ในการประชาสัมพันธ์สินค้าสหกรณ์ให้เป็นที่รู้จัก มีการโปรโมทสินค้าด้วยช่องทางสื่อต่างๆ อย่างกว้างขวาง เป็นการเข้าสู่ยุคการค้าสมัยใหม่ และสามารถเชื่อมโยงสินค้าสหกรณ์ไทยไปสู่ตลาดโลก

4. พัฒนาข้าราชการ ระบบการทำงานของกรมฯ ให้รองรับการยกระดับงานด้านสหกรณ์ พัฒนาเจ้าหน้าที่ส่งเสริมสหกรณ์ให้เป็น Smart Officer เพื่อทำหน้าที่ทั้งด้านการส่งเสริมสหกรณ์ และการติดตามกำกับดูแลสหกรณ์ โดยจะนำองค์ความรู้ งานวิจัยและนวัตกรรมต่างๆ เข้ามาถ่ายทอดเพื่อเตรียมความพร้อมและพัฒนาศักยภาพให้แก่ข้าราชการ ให้มีความรู้ที่จำเป็นสำหรับการทำหน้าที่ดูแลและสนับสนุนการดำเนินงานสหกรณ์ในด้านต่างๆ เพื่อส่งเสริมให้สหกรณ์มีการดำเนินงานที่เข้มแข็งและสามารถพึ่งพาตนเองได้ในที่สุด

เป้าหมายของการพัฒนาระบบสหกรณ์ในภาพรวมทั้งประเทศ

กรมส่งเสริมสหกรณ์คาดหวังว่าเมื่อมีการขับเคลื่อนนโยบายต่างๆ ควบคู่กันแล้ว จะส่งผลต่อการพัฒนาระบบสหกรณ์ในภาพรวมทั้งประเทศให้มีความเจริญก้าวหน้า ดังนี้

    1. ข้อบกพร่องของสหกรณ์ที่มีอยู่เดิมมีจำนวนลดลง ปัญหาในการดำเนินงานของสหกรณ์ลดลง

    2. ป้องกันปัญหาข้อบกพร่องของสหกรณ์ไม่ให้เกิดขึ้นใหม่

    3. สามารถการแก้ไขปัญหาหนี้สินของสมาชิกสหกรณ์ภาคออมทรัพย์และเครดิตยูเนี่ยนลดลงได้โดยการจัดความสมดุลระหว่างการออมกับหนี้สินให้มีความใกล้เคียงกัน

    4. การบริหารงานของสหกรณ์จะต้องยึดหลักธรรมาภิบาล มีความเป็นมืออาชีพในการบริหารงาน คำนึงถึงหลักการสหกรณ์เพื่อประโยชน์ของสมาชิกสหกรณ์เป็นหลัก

    5. สหกรณ์ภาคการเกษตรทำหน้าที่เป็นกลไกสำคัญในการช่วยดูแลเกษตรกรที่เป็นสมาชิกในการพัฒนาอาชีพการเกษตร ดูแลตั้งแต่เริ่มจากการผลิตสินค้าการเกษตรให้ได้มาตรฐาน การรวบรวมผลผลิตจากสมาชิกเข้าสู่กระบวนการแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่า จนถึงการจัดหาตลาดทั้งในและต่างประเทศมารองรับผลผลิตของสมาชิกสหกรณ์

    6. สินค้าสหกรณ์ในอนาคตจะต้องเป็นสินค้าที่มีคุณภาพผ่านผลิตที่ได้มาตรฐาน ปลอดภัยต่อผู้บริโภค ซึ่งสหกรณ์ยังเป็นองค์กรหลักในการผลิตสินค้าการเกษตรที่สำคัญ ได้แก่ ผัก ผลไม้ ข้าว นม ไข่ไก่ ยางพารา ข้าวโพด ปาล์มน้ำมัน และอาหารทะเล

    7. เจ้าหน้าที่ส่งเสริมสหกรณ์จะต้องได้รับการพัฒนาความรู้ที่จำเป็นสำหรับการนำไปกำกับดูแลและให้คำแนะนำแก่สหกรณ์ต่างๆ มีมาตรฐานในการปฏิบัติงาน สร้างความเชื่อมั่นและการยอมรับจากขบวนการสหกรณ์