ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > รายงานติดตามความโปร่งใสโครงการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ 11 เดือนปีงบ2560 “1,610,190 โครงการ มูลค่าสัญญา 699,030.87 ล้าน”

รายงานติดตามความโปร่งใสโครงการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ 11 เดือนปีงบ2560 “1,610,190 โครงการ มูลค่าสัญญา 699,030.87 ล้าน”

21 กันยายน 2017


รายงานโดย Hesse004

รายงานติดตามความโปร่งใสโครงการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ ประจำเดือนกันยายน 2560 ประกอบด้วย 2 ส่วน ส่วนที่ 1 นำเสนอภาพรวมของข้อมูลการจัดซื้อจัดจ้างของปีงบประมาณ 2560 (ต.ค. 2559 ถึงปัจจุบัน) ที่ปรากฏในฐานข้อมูลภาษีไปไหน ในส่วนที่ 2 แสดงประเด็นที่สังคมควรให้ความสนใจ (Public Procurement Focus) เช่น ข้อมูล ข้อสังเกตต่างๆ ที่น่าสนใจซึ่งจะนำไปสู่การติดตามตรวจสอบโครงการจัดซื้อจัดจ้างเหล่านี้ต่อไปในอนาคต

1. ภาพรวมของการจัดซื้อจัดจ้างปีงบประมาณ 2560 (ส.ค. 60)

1.1 ปีงบประมาณ 2560 ระบบฐานข้อมูลของเว็บไซด์ภาษีไปไหนรายงานความคืบหน้าของโครงการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐตั้งแต่เดือน ต.ค. 2559 – ส.ค. 2560 โดยข้อมูลล่าสุดพบว่า รัฐดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างไปแล้ว 1,610,190 โครงการ มูลค่าสัญญารวมทั้งหมด 699,030.87 ล้านบาท

1.2 โครงการจ้างสร้างเรือดำน้ำ (25.11.17.01) ของกองทัพเรือ ยังคงเป็นโครงการที่มีมูลค่าสูงสุดอันดับ 1 มูลค่าสัญญา 13,481,863,800 บาท กองทัพเรือลงนามในสัญญาจ้างบริษัท China Shipbuilding & Offshore International Co., Ltd. (CSOC) บริษัทต่อเรือของประเทศจีน จ้างสร้างเรือดำน้ำ โดยใช้วิธีกรณีพิเศษจัดหาผู้รับจ้าง ซึ่งราคากลางที่ประมาณไว้ 13,500,000,000 บาท และลงนามในสัญญาจ้างตั้งแต่วันที่ 5 พ.ค. 2560 กำหนดสิ้นสุดสัญญา 30 ก.ย. 2560 โดยหน่วยงานย่อยที่ทำหน้าที่รับผิดชอบเรื่องนี้โดยตรง คือ สำนักงานจัดหายุทโธปกรณ์ทหารเรือ (สยป.ทร.)

โครงการก่อสร้างทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองสายบางปะอิน-สระบุรี-นครราชสีมา หรือรู้จักในชื่อโครงการมอเตอร์เวย์สายบางปะอิน-โคราช ที่มาภาพ : http://www.doh.go.th/doh/th/services/news/news-1/532-th-126.html

1.3 หน่วยงานที่มีมูลค่าจัดซื้อจัดจ้างมากที่สุด คือ กรมทางหลวง โดยตั้งแต่ต้นปีงบประมาณจนถึงเดือน ส.ค. 2560 กรมทางหลวง ลงนามในสัญญาไปแล้ว 40,572 โครงการ มูลค่าสัญญารวมทั้งสิ้น 106,620.72 ล้านบาท

1.4 สัญญาของกรมทางหลวงที่มีมูลค่าสูงสุดยังคงเป็นสัญญาก่อสร้างทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองสายบางปะอิน-สระบุรี-นครราชสีมา ช่วง กม.188+800.000 – กม.195+943.000 (รวมทางแยกต่างระดับนครราชสีมา) มูลค่าสัญญา 1,994,000,000 บาท คู่สัญญา คือ บริษัท ยิ่งเจริญก่อสร้างบุรีรัมย์ โดยกรมทางหลวงใช้วิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ (e-bidding) ประมาณราคากลางไว้ที่ 2,000,000,000 บาท และลงนามในสัญญาจ้างตั้งแต่วันที่ 15 มี.ค. 2560 สิ้นสุดสัญญา 31 ต.ค. 2562

1.5 เมื่อวันที่ 31 ส.ค. ที่ผ่านมา สนช.ได้พิจารณาผ่านร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2561 จำนวน 65 มาตรา ในวาระ 2-3 วงเงินงบประมาณแผ่นดินปี 2561 รวมทั้งสิ้น 2.9 ล้านล้านบาท โดยกระทรวงกลาโหมได้รับงบประมาณ 111,962 ล้านบาท นับว่าสูงที่สุดในประวัติศาสตร์

2. ประเด็นน่าสนใจ (Public Procurement Focus)

2.1 โครงการก่อสร้างทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองสายบางปะอิน-สระบุรี-นครราชสีมา หรือรู้จักในชื่อโครงการมอเตอร์เวย์สายบางปะอิน-โคราช นับเป็นโครงการสำคัญของรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา โครงการนี้ ครม. อนุมัติให้กรมทางหลวงก่อสร้างทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองสายบางปะอิน-สระบุรี-นครราชสีมา รวม 40 ช่วง ระยะทาง 196 กม. วงเงินลงทุนรวม 76,600 ล้านบาท แบ่งเป็นค่าจัดสรรกรรมสิทธิ์ที่ดินวงเงิน 6,330 ล้านบาท และค่าก่อสร้างอีก 69,970 ล้านบาท นับเป็นเมกะโปรเจกต์ที่ผู้รับเหมาก่อสร้างระดับ “บิ๊กเนม” เข้าร่วมประมูล เช่น บริษัท กรุงธนเอ็นจิเนียนริ่ง ชนะการประมูลงานก่อสร้าง 4 ช่วง ได้แก่ ช่วงที่ 4, 19, 20 และ 21 มูลค่าสัญญารวม 7,163 ล้านบาท บริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น ชนะประมูลงานก่อสร้างช่วงที่ 1 17 และ 18 มูลค่าสัญญารวม 4,313 ล้านบาท ขณะที่บริษัท ช.การช่าง ชนะการประมูลงานก่อสร้างช่วงที่ 3 มูลค่าสัญญา 1,581 ล้านบาท…หากจะว่ากันตามตรง บริษัทเหล่านี้ล้วนมีสายสัมพันธ์ที่ดีกับอำนาจรัฐมาตั้งแต่อดีตไม่ว่าจะโดยทางตรงหรือทางอ้อม

2.2 แม้ที่ผ่านมาโครงการนี้จะดำเนินการไปได้ด้วยดี เนื่องจาก ครม. “ไฟเขียว” อนุมัติให้ดำเนินการก่อสร้างโดยเร็ว ทำให้โครงการที่ประมูลแต่ละช่วงทางเป็นไปตามแผน จะมีบ้างในบางช่วงทางที่ล่าช้า เพราะประสบปัญหาความผันผวนของราคาวัสดุก่อสร้าง อย่างไรก็ดี ยังปรากฏข่าวที่สะท้อนถึงปัญหาการดำเนินงานที่อาจเกิดต่อไปในอนาคต เช่น เมื่อต้นปีที่ผ่านมา ชาวบ้านอำเภอปากช่อง เรียกร้องให้กรมทางหลวงปรับย้ายพื้นที่ก่อสร้างด่านเก็บเงินและจุดพักรถของโครงการมอเตอร์เวย์ สายบางปะอิน-โคราช หลังพบว่ามีพื้นที่ว่างเปล่าเหมาะสมกว่าการใช้พื้นที่ชุมชน และพื้นที่ที่มีความเป็นธรรมชาติอุดมสมบูรณ์(รายละเอียดโปรดดูในคลิป) น่าสนใจว่า ประเด็นนี้เป็นเรื่องที่ชาวบ้านในพื้นที่ให้ความสำคัญเพราะกระทบกับพวกเขาโดยตรง แม้พวกเขาไม่ได้คัดค้านโครงการ แต่ก็ได้ให้รายละเอียดข้อมูลต่างๆ ในฐานะคนในพื้นที่หวังว่าความเห็นเหล่านี้จะถูกรับฟังและได้รับการเยียวยาอย่างดีที่สุด เพื่อไม่ให้บานปลายจนกลายเป็นชนวนทำให้โครงการต้องหยุดชะงักหรือล้มเลิกไป

2.3 สำหรับการจัดซื้อจัดจ้างของกระทรวงกลาโหมในปีงบประมาณ 2560 พบว่า ทั้งสามเหล่าทัพ กองทัพบก กองทัพอากาศ กองทัพเรือ รวมถึงกองบัญชาการกองทัพไทย ติดอันดับหนึ่งในยี่สิบหน่วยงานที่มีมูลค่าสัญญาจัดซื้อจัดจ้างมากที่สุด (รายละเอียดปรากฏตามตาราง)

จากตารางจะเห็นได้ว่า กองทัพเรือมีมูลค่าสัญญาการจัดซื้อจัดจ้างสูงที่สุดเมื่อเทียบกับเหล่าทัพอื่น เฉพาะสัญญาจ้างสร้างเรือดำน้ำจากจีนก็สูงถึง 13,481,863,800 บาท ส่วนกองทัพบกมีจำนวนโครงการจัดซื้อจัดจ้างมากที่สุด 15,809 สัญญา มูลค่าสัญญารวมทั้งหมด 14,725.14 ล้านบาท โดยโครงการจัดซื้อจัดจ้างที่มีมูลค่าสูงสุดของกองทัพมีดังนี้ (ดูตารางที่ 2)

จากตารางที่ 2 ข้อสังเกตน่าสนใจประการหนึ่ง คือ โครงการที่มีมูลค่าสูงสุดของกองทัพทั้งกองทัพบก กองทัพเรือ และกองบัญชาการกองทัพไทยนั้น หน่วยงานจัดหาเลือกใช้วิธีพิเศษและกรณีพิเศษ (สำหรับกรณีจ้างเรือดำน้ำ) ส่วนกองทัพอากาศนั้น โครงการก่อสร้างอาคารใช้วิธี e-bidding ทั้งนี้ โดยทั่วไปวิธีพิเศษเป็นวิธีที่หน่วยงานจัดหาสามารถใช้ดุลยพินิจคัดเลือกผู้ขายผู้รับจ้างได้ โดยไม่จำเป็นต้องเปิดประมูลแข่งขัน หรืออาจมีการแข่งขันระหว่างผู้เสนอราคาในวงจำกัด เนื่องจากสินค้าหรือพัสดุนั้นเป็นสินค้าเฉพาะเจาะจงที่มีผู้ขายผู้รับจ้างเพียงรายเดียว หรือมีการแข่งขันกันน้อยราย

2.4 ข้อเสนอประการหนึ่งสำหรับภาคประชาชนหรือองค์กรภาคประชาสังคม คือ องค์กรเหล่านี้สามารถจับตาโครงการจัดซื้อจัดจ้างที่มีมูลค่าสูงสุดของแต่ละหน่วยงานได้ เช่น สนับสนุนให้กองทัพเปิดเผยข้อมูลรายละเอียดโครงการจัดซื้อจัดจ้างสู่สาธารณะในวงกว้าง ตั้งแต่เหตุผลความจำเป็นในการจัดซื้อจัดจ้างที่ปรากฏในรายงานขอซื้อขอจ้าง ราคากลางที่ดำเนินการจัดหา กระบวนการจัดหาโดยใช้วิธีพิเศษ ตลอดจนข้อมูลความคืบหน้าต่างๆ ในการบริหารสัญญา เช่น รายงานการตรวจรับพัสดุ รายงานการตรวจการจ้าง ทั้งนี้ หากกระบวนการดังกล่าวดำเนินการได้จริง กองทัพไทยจะเป็นตัวอย่างที่ดีในการสร้างความโปร่งใสในการจัดซื้อจัดจ้างต่อไปในอนาคต