ThaiPublica > เกาะกระแส > ครม. เพิ่มสิทธิประกันสังคมดึงลูกจ้างเข้าระบบ-ไม่แถลงจัดซื้อเรือดำน้ำ อ้างเอกสารลับ “มุมแดง”

ครม. เพิ่มสิทธิประกันสังคมดึงลูกจ้างเข้าระบบ-ไม่แถลงจัดซื้อเรือดำน้ำ อ้างเอกสารลับ “มุมแดง”

25 เมษายน 2017


พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม
ที่มาภาพ: http://www.thaigov.go.th/

เมื่อวันที่ 25 เมษายน 2560 พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) แทน พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ซึ่งติดภารกิจเดินทางเยือนราชอาณาจักรบาห์เรนอย่างเป็นทางการ ภายหลังการประชุม พล.อ. ประวิตร มอบหมายให้ พล.อ. ศิริชัย ดิษฐกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน, พล.ท. สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และ พ.อ. อธิสิทธิ์ ไชยนุวัติ ผู้ช่วยโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ร่วมแถลงข่าวผลการประชุม ครม. ซึ่งมีสาระสำคัญดังนี้

เพิ่มสิทธิประโยชน์ผู้ประกันตนตาม ม.40

พล.อ. ศิริชัย ดิษฐกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า วันนี้ ครม. อนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกาและร่างกฎกระทรวงรวม 3 ฉบับ ประกอบด้วย 1. ร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดคุณสมบัติของบุคคลซึ่งอาจสมัครเข้าเป็นผู้ประกันตน พ.ศ. …. เพื่อกำหนดคุณสมบัติของบุคคลซึ่งอาจสมัครเข้าเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 40 2. ร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดหลักเกณฑ์และอัตราการจ่ายเงินสมทบ ประเภทของประโยชน์ทดแทน ตลอดจนหลักเกณฑ์และเงื่อนไขแห่งสิทธิในการรับประโยชน์ทดแทน พ.ศ. …. เพื่อกำหนดหลักเกณฑ์และอัตราการจ่ายเงินสมทบ ประเภทของประโยชน์ทดแทน ตลอดจนหลักเกณฑ์และเงื่อนไขแห่งสิทธิในการรับประโยชน์ทดแทน และ 3. ร่างกฎกระทรวงกำหนดอัตราเงินสมทบที่รัฐบาลจ่ายเข้ากองทุนประกันสังคมสำหรับบุคคลซึ่งสมัครเข้าเป็นผู้ประกันตน พ.ศ. …. เพื่อกำหนดอัตราเงินสมทบที่รัฐบาลต้องจ่ายเข้ากองทุนประกันสังคมสำหรับบุคคลซึ่งสมัครเข้าเป็นผู้ประกันตน

สำหรับร่างกฎหมายทั้ง 3 ฉบับ มีสาระสำคัญคือ การเพิ่มสิทธิประโยชน์แก่ผู้ประกันตนตามมาตรา 40 แห่งพระราชบัญญัติประกันสังคม โดยกฎหมาย 2 ฉบับแรกเป็นการปรับปรุงพระราชกฤษฎีกา กำหนดหลักเกณฑ์และอัตราการจ่ายเงินสมทบ ประเภทของประโยชน์ทดแทน ตลอดจนหลักเกณฑ์และเงื่อนไขแห่งสิทธิในการรับประโยชน์ทดแทนของบุคคลซึ่งสมัครเป็นผู้ประกันตน พ.ศ. 2554 โดยเพิ่มเติมคุณสมบัติของบุคคล ซึ่งไม่ใช่ลูกจ้างที่จะสมัครเป็นผู้ประกันตน จากเดิมกำหนดไว้เพียง “มีอายุไม่ต่ำกว่า 15 ปีบริบูรณ์และไม่เกิน 60 ปีบริบูรณ์” เป็น “มีสัญชาติไทย หรือเป็นชนกลุ่มน้อยที่อพยพเข้ามาอาศัยอยู่ในประเทศไทย” โดยมีมติคณะรัฐมนตรีผ่อนผันให้อาศัยอยู่ในประเทศเป็นการชั่วคราวเป็นกรณีพิเศษ หรือเป็นบุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียนที่ได้รับการผ่อนผันให้อาศัยอยู่ในประเทศไทยได้เป็นการชั่วคราวเพื่อรอการส่งกลับ มีอายุไม่ต่ำกว่า 15 ปีบริบูรณ์ และไม่เกิน 60 ปีบริบูรณ์ และไม่เป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 39 (ลูกจ้างที่เคยเป็นผู้ประกันตน) และไม่เป็นสมาชิกกองทุนบำเหน็จบำนาญของข้าราชการ ข้าราชการกรุงเทพมหานคร ข้าราชการส่วนท้องถิ่น หรือของรัฐวิสาหกิจ

พล.อ. ศิริชัย ดิษฐกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน (กลาง)

ร่างกฎหมายทั้ง 3 ฉบับมีการเพิ่มทางเลือกใหม่ (ทางเลือกที่ 3) ให้กับผู้ประกันตนตามมาตรา 40 เพื่อให้ได้รับสิทธิใกล้เคียงกับผู้ประกันตนตามมาตรา 39 ดังนี้ ทางเลือกที่ 1 ผู้ประกันตนจ่ายเงินสมทบในอัตราเดือนละ 70 บาท (เดิมเดือนละ 100 บาท) จะมีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนกรณีประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย กรณีทุพพลภาพ และกรณีตาย หากจ่ายเงินสมทบในทางเลือกที่ 2 เป็นอัตราเดือนละ 100 บาท (เดิมเดือนละ 150 บาท) จะครอบคลุมกรณีชราภาพด้วย และทางเลือกที่ 3 หากผู้ประกันตนเลือกจ่ายเงินสมทบในอัตราเดือนละ 300 บาท จะมีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีสงเคราะห์บุตรด้วย

สำหรับผู้ประกันตนที่เลือกทางเลือกที่ 1 และ 2 จะได้รับเงินทดแทนการขาดรายได้เพิ่มขึ้นในกรณีประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย จากวันละ 200 บาท เป็นวันละ 300 บาท ปีละไม่เกิน 30 วัน, เพิ่มสิทธิการได้รับเงินทดแทนการขาดรายได้แม้จะไม่ใช่ผู้ป่วยในและมีใบรับรองแพทย์ตั้งแต่ 3 วันขึ้นไป จะได้รับเงินทดแทนวันละ 200 บาท ปีละไม่เกิน 30 วัน, หากมีใบรับรองแพทย์ตั้งแต่ 1-2 วัน ให้ชดเชยให้วันละ 50 บาท แต่ไม่เกินคนละ 3 ครั้งต่อปี, เพิ่มเงินสงเคราะห์กรณีตายเป็น 3,000 บาท หากส่งเงินสมทบมาแล้ว 60 เดือน

ส่วนผู้ประกันตนที่เลือกทางเลือกที่ 3 จะกำหนดอัตราเงินทดแทนการขาดรายได้กรณีประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยวันละ 300 บาท ปีละไม่เกิน 90 วัน และในกรณีไม่ใช่ผู้ป่วยในและมีใบรับรองแพทย์ตั้งแต่ 3 วันขึ้นไป ได้รับเงินทดแทนวันละ 200 บาท ปีละไม่เกิน 90 วันเช่นเดียวกัน นอกจากนี้ได้เพิ่มค่าทำศพกรณีตายเป็น 40,000 บาท ค่าสงเคราะห์บุตรคนละ 200 บาทต่อเดือน คราวละ 2 คน กรณีชราภาพ หากส่งเงินสมทบครบ 180 เดือน จะได้รับเงินเพิ่มอีกจำนวน 10,000 บาท

ขณะที่กฎหมายอีกฉบับเป็นการกำหนดอัตราเงินสมทบที่รัฐบาลต้องจ่ายเข้ากองทุนประกันสังคม โดยมีอัตราที่แตกต่างกันตามประเภทประโยชน์ทดแทน ซึ่งไม่เกินกึ่งหนึ่งที่ผู้ประกันตนได้จ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคม โดยรัฐบาลจะจ่ายสมทบ 30, 50 และ 150 บาท ในทางเลือกที่ 1, 2 และ 3 ตามลำดับ

“มาตรการดังกล่าวก็คาดว่าในปีแรกจะมีแรงงานนอกระบบเข้ามาสมัครเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 40 อีก 3 ล้านราย และจะครอบคลุมทั้งหมดภายใน 20 ปี 21 ล้านราย ซึ่งรัฐบาลจะมีค่าใช้จ่ายปีแรก 400 ล้านบาท ส่วนในระยะยาวจะใช้ประมาณ 3,000 ล้านบาทต่อปี ยืนยันว่างบประมาณดังกล่าวเพียงพอต่อการดูแล” พล.อ. ศิริชัย กล่าว

อนุมัติ 26 ต.ค. 60 เป็นวันหยุด-จัดงานพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพฯ

พ.อ. อธิสิทธิ์ ไชยนุวัติ ผู้ช่วยโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ครม. มีมติเห็นชอบกำหนดให้วันพฤหัสบดีที่ 26 ตุลาคม 2560 เป็นวันหยุดราชการ ซึ่งเป็นวันพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช โดยที่ประชุมคณะกรรมการอำนวยการจัดงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ครั้งที่ 1/2560 เมื่อวันพุธที่ 1 มีนาคม 2560 ได้พิจารณาร่างหมายกำหนดการพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ตั้งแต่การพระราชกุศลออกพระเมรุมาศเชิญพระบรมศพไปพระเมรุมาศ ถวายพระเพลิงพระบรมศพ เก็บพระบรมอัฐิ พระราชกุศลพระบรมอัฐิเลี้ยงพระ เชิญพระโกศพระบรมอัฐิขึ้นประดิษฐานพระวิมาน และบรรจุพระบรมราชสรีรางคาร

ตามหมายกำหนดการพระราชพิธีฯ มี 5 วัน (วันที่ 25-29 ตุลาคม 2560) รวมทั้งพิจารณาการจัดสร้างซุ้มถวายดอกไม้จันทน์ของประชาชนเพื่อให้ประชาชนทั้งที่อยู่ในส่วนกลาง ในส่วนภูมิภาค และในต่างประเทศได้มีส่วนร่วมในการถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ซึ่งซุ้มถวายดอกไม้จันทน์ให้จัดทำภาพประดับเป็นภาพพระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พร้อมภาพพระบรมโกศ และขอพระราชทานพระราชานุญาตการบันทึกภาพพระบรมโกศบนพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท เพื่อนำภาพมาประกอบร่วมกับภาพพระบรมฉายาลักษณ์ ซึ่งกรมศิลปากรรับผิดชอบการออกแบบให้สง่างามและสมพระเกียรติ ตลอดจนพิจารณาให้มีการจัดนิทรรศการภายหลังงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนได้ศึกษาศิลปวัฒนธรรม เครื่องประกอบพระเมรุมาศด้านช่างสิบหมู่และชมความงดงามของสิ่งปลูกสร้าง และส่วนประกอบทั้งหลายที่ใช้ในงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชโดยกำหนดจัดนิทรรศการ 30 วัน ระหว่างวันที่ 1-30 พฤศจิกายน 2560 ซึ่งกระทรวงวัฒนธรรมเป็นหน่วยงานหลักในการดำเนินงาน ได้รับแจ้งจากสำนักราชเลขาธิการว่าได้นำความกราบบังคมทูลพระกรุณาทรงทราบฝ่าละอองธุลีพระบาทแล้ว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เป็นไปตามมติที่ประชุมฯ และพระราชทานตามที่ขอรับพระมหากรุณา

พล.ท. สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี

แจงไม่แถลงจัดซื้อเรือดำน้ำ อ้าง “ข้อมูลลับ”

พล.ท. สรรเสริญ กล่าวว่า ในการประชุม ครม. จะแบ่งเป็นหลายประเภท ทั้งเรื่องพิจารณาและเรื่องเพื่อทราบ หากไม่มีข้อทักท้วงใดๆ ให้ถือเป็นมติ ครม. โดยบางวันมีเรื่องเข้ามามากถึง 70 เรื่อง จึงไม่สามารถแถลงต่อสาธารณชนได้ทั้งหมด ต้องเลือกเฉพาะเรื่องที่มีประเด็นสำคัญ สำหรับเรื่องการจัดซื้อเรือดำน้ำนั้น หน่วยงานต้นสังกัด คือ กองทัพเรือ ได้เสนอเรื่องเข้า ครม. โดยจัดชั้นความลับ หรือที่เรียกว่า “มุมแดง” ซึ่งปกติเอกสารที่เป็นชั้นความลับ เมื่อประชุมเสร็จ หน่วยงานที่นำเสนอก็จะขอนำเรื่องกลับไปด้วย เป็นธรรมเนียม ประกอบกับวันนั้นไม่มีสื่อมวลชนซักถามเรื่องนี้ จึงไม่ได้แถลง

“ต้องเรียนว่าการจัดชั้นความลับไม่ได้แปลว่าจะต้องเป็นความลับตลอดไป หลายครั้งพอเหตุการณ์ต่างๆ ผ่านไป เช่น การขึ้นภาษี เมื่อมีประกาศใช้ ชั้นความลับดังกล่าวก็ถูกยกเลิก เรือดำน้ำก็เช่นกัน แม้จะผ่าน ครม. ไปแล้วก็เรื่องหนึ่ง แต่ในขั้นตอนต่อไปก็ต้องเปิดเผยต่อสาธารณชน การจัดซื้อเรือดำน้ำครั้งนี้ กองทัพเรือตกลงสั่งซื้อจากประเทศจีน 1 ลำ วงเงินประมาณ 13,000 ล้านบาท เป็นการจัดซื้อแบบรัฐต่อรัฐ หรือ G To G โดยกองทัพเรือตั้งเป็นงบผูกพัน ทยอยจ่ายประมาณ 3-4 ปี ยืนยันว่าการดำเนินการในขั้นตอนต่างๆ มีความโปร่งใสและตรวจสอบได้ ส่วนเรื่องความจำเป็นของเรือดำน้ำก็เป็นไปตามแผนยุทธศาสตร์เรื่องภัยคุกคามของประเทศ”พล.ท. สรรเสริญ กล่าว

ชี้โครงการพัฒนาเส้นทางเดินเรือล้านช้าง-แม่โขง ยังอยู่ระหว่างศึกษา

พล.ท. สรรเสริญ กล่าวว่า แผนพัฒนาทางเดินเรือ 4 ประเทศล้านช้าง-แม่น้ำโขง ซึ่งอนุมัติไปเมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2559 และปัจจุบันมีเรือของประเทศจีนเข้ามาจอดเทียบท่าที่แขวงบ่อแก้ว ประเทศลาว และเริ่มเข้ามาติดต่อกรมเจ้าท่าที่เชียงรายเกี่ยวกับการตรวจคนเข้าเมือง พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี แสดงความกังวลว่า ประชาชน รวมไปถึงนักอนุรักษ์บางกลุ่ม เกรงว่ารัฐบาลจะเริ่มดำเนินการโครงการดังกล่าวแล้ว ซึ่งในความเป็นจริงยังอยู่ในขั้นตอนการสำรวจและศึกษาความเป็นไปได้ว่ามีข้อดีข้อเสียและคุ้มค่าหรือไม่อย่างไร โดยหลังจากการศึกษาแล้วเสร็จ ขั้นตอนต่อไปจะมีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนอีกครั้งหนึ่ง รวมถึงต้องนำผลการศึกษาส่งให้ที่ประชุม ครม. พิจารณาก่อนที่จะดำเนินโครงการดังกล่าวอย่างเป็นทางการ ดังนั้น จึงอยากให้ประชาชนเปิดใจรับฟังผลการศึกษาว่าโครงการนี้มีข้อดี ข้อเสียอย่างไร ก่อนที่จะออกมาเคลื่อนไหว

เห็นชอบร่างแถลงการณ์ร่วมแผนพัฒนา ศก. อินโด-มาเล-ไทย

พ.อ. อธิสิทธิ์ กล่าวว่า ครม. มีมติเห็นชอบร่างแถลงการณ์ร่วมการประชุมระดับผู้นำ ครั้งที่ 10 แผนงานการพัฒนาเขตเศรษฐกิจ 3 ฝ่าย อินโดนีเซีย-มาเลเซีย-ไทย (Indonesia-Malaysia-Thailand Growth Triangle: IMT-GT) ตามที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เสนอ และให้ สศช. ปรับปรุงถ้อยคำในแถลงการณ์ร่วมฯ ได้กรณีที่มิใช่การเปลี่ยนแปลงสาระสำคัญ โดย สศช. จะได้นำเสนอคณะรัฐมนตรี เพื่อให้ความเห็นชอบการปรับปรุงแก้ไขพร้อมด้วยเหตุผลประกอบอีกครั้งหนึ่ง

ทั้งนี้ ร่างแถลงการณ์ร่วมการประชุมระดับผู้นำ ครั้งที่ 10 แผนงาน IMT-GT มีสาระสำคัญโดยสรุป ดังนี้

1) ยืนยันบทบาทสำคัญของ IMT-GT ในการสร้างประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน โดยในช่วงเศรษฐกิจโลกซบเซาที่ผ่านมา เศรษฐกิจ IMT-GT ยังคงเข้มแข็งมีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจถึงร้อยละ 6.9 ระหว่างปี 2554-2558 ขณะที่ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศต่อประชากรเพิ่มสูงขึ้นเป็น 13,844 ดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2558 ซึ่งสูงกว่าอาเซียนที่เติบโตเท่ากับ 11,009 ดอลลาร์สหรัฐ

2) รับทราบความสำเร็จของการดำเนินงานภายใต้แผนดำเนินงานระยะ 5 ปี แผนที่ 2 ปี 2555-2559 (Implementation Blueprint: 2012-2016) ยินดีต่อความก้าวหน้าอย่างมีนัยสำคัญในการเชื่อมโยงทางกายภาพตามแนวระเบียงเศรษฐกิจและความริเริ่มในการสร้างเขตเศรษฐกิจพิเศษต่างๆ ซึ่งจะสนับสนุนทางการค้าและการตลาด ความก้าวหน้าการสนับสนุนเมืองสีเขียว และการลงนามจัดตั้งมหาวิทยาลัยเครือข่าย IMT-GT รวมทั้งรับทราบการเติบโตอย่างต่อเนื่องของการท่องเที่ยวด้วยการเปิดเส้นทางการบินใหม่กว่า 10 เส้นทางในอนุภูมิภาค

3) รับรองแนวทางการพัฒนาที่สนับสนุนซึ่งกันและกัน 3 ประการ เพื่อมุ่งไปสู่เป้าหมายของ IMT-GT ได้แก่

3.1) การกำหนดและดำเนินการโครงการ ซึ่งมีลักษณะที่ขยายการดำเนินการต่อไปอีกได้ และนำมาเป็นแบบอย่างเพื่อดำเนินการที่อื่นอีกได้และมีความยั่งยืน

3.2) ปรับเปลี่ยนกฎระเบียบ เพื่อให้ความสำคัญเกี่ยวกับโครงการ และดำเนินกิจกรรมในพื้นที่ที่เฉพาะเจาะจง เพื่อเร่งรัดการขับเคลื่อนโครงการ

3.3) ใช้แนวทางการพัฒนาเชิงพื้นที่ เพื่อก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดจากแนวระเบียงเศรษฐกิจที่มีลำดับความสำคัญสูงทั้ง 5 แนวระเบียง โดยมีการปรับปรุงการเชื่อมโยงโครงสร้างพื้นฐานทางกายภาพ สร้างความแข็งแกร่งให้กับกลไกเชิงสถาบันและความเชื่อมโยงในด้านกฎระเบียบ ผสมผสานนวัตกรรม และสร้างความเชื่อมโยงห่วงโซ่คุณค่าข้ามพรมแดนและการพัฒนากลุ่มอุตสาหกรรม และเนื่องจากประเทศสมาชิก IMT-GT มีพื้นที่ทางทะเลและชายฝั่ง ป่าไม้ และแหล่งน้ำ ที่เชื่อมโยงกันทางกายภาพ จึงควรมีการปรับใช้แนวทางเชิงพื้นที่ที่มุ่งสู่การบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมร่วมกัน

3.4) ยืนยันข้อผูกพันในการดำเนินโครงการ เพื่อการเชื่อมโยงกันทางกายภาพ มูลค่ากว่า 23,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อสนับสนุนการเชื่อมโยงใน IMT-GT ภายใต้แผนดำเนินงานระยะห้าปีฉบับใหม่และฉบับต่อไป โดยจะเสริมสร้างความร่วมมือกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียและระดมทรัพยากรที่เหมาะสมเพื่อดำเนินการตามแผนดำเนินงานระยะ 5 ปี ปี 2560-2564 เพื่อบรรลุวิสัยทัศน์ 2579 และย้ำถึงการมีส่วนร่วมของภาคเอกชนในการลงทุนและดำเนินโครงการภายใต้ IMT-GT รวมถึงการดำเนินความร่วมมือภาครัฐ-ภาคเอกชน (Public-Private Partnership: PPP)

อ่านแถลงข่าวประชุม ครม. ที่นี่