ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > 20 ปี จากทักษิณ ชินวัตร ถึงประยุทธ์ จันทร์โอชา ใช้ “งบกลาง” 5 ล้านล้าน 14.5% ของงบฯ รวม

20 ปี จากทักษิณ ชินวัตร ถึงประยุทธ์ จันทร์โอชา ใช้ “งบกลาง” 5 ล้านล้าน 14.5% ของงบฯ รวม

21 พฤศจิกายน 2016


thaipublica-cover_งบกลางปี41-60-1

ก่อนหน้านี้มีนักวิชาการจากสถาบันวิจัยเศรษฐกิจการเงินการคลังหลายสำนักออกมาชี้เรื่องการใช้จ่ายเงินจาก “งบกลาง” ในรายการเงินสำรองจ่ายกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็นของรัฐบาลว่าเป็นการใช้จ่ายเงินที่ขัดต่อหลักวินัยการเงินการคลัง เริ่มจากการตั้งวงเงินงบกลาง หากไปดูในเอกสารงบประมาณประจำปี งบฯ กลุ่มนี้มีความแตกต่างจากงบฯ ทั่วไป ตรงที่งบกลางจะโชว์ให้เห็นเฉพาะตัวเลขวงเงินรวมเท่านั้น ส่วนรายชื่อโครงการและรายละเอียดของแผนการใช้จ่ายเงินจะไม่ได้กำหนดไว้ในเอกสารงบประมาณ สาเหตุที่ไม่กำหนดแผนการใช้จ่ายเงินไว้ในเอกสารงบประมาณเพราะไม่มีใครรู้ล่วงหน้าว่าจะมีเหตุการณ์ฉุกเฉินจำเป็นเร่งด่วนขึ้นในอนาคต ดังนั้น เพื่อความยืดหยุ่นในการบริหารประเทศ ทุกรัฐบาลจึงจำเป็นต้องตั้งวงเงินงบกลางเอาไว้ใช้จ่ายในยามฉุกเฉิน จำเป็นเร่งด่วน เช่น กรณีเกิดปัญหาภัยพิบัติ น้ำท่วม ภัยแล้ง แผ่นดินไหว งบกลางจึงเปรียบเสมือนการ “ตีเช็คเปล่า” เพียงแค่กรอกตัวเลขจำนวนเงิน ก็สามารถนำไปใช้จ่ายอะไรก็ได้

ประเภท งบกลาง

แต่สิ่งที่นักวิชาการเป็นห่วงก็คือ งบฯ กลุ่มนี้นับวันจะมีขนาดและสัดส่วนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากปีงบประมาณ 2541 งบกลางตั้งวงเงินไว้ที่ 77,000 ล้านบาท มีสัดส่วนแค่ 9.2% ของวงเงินงบประมาณรายจ่าย 9.23 แสนล้านบาท ปีงบประมาณ 2559 เพิ่มเป็น 4.55 แสนล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 16.4% ของวงเงินงบประมาณรายจ่าย 2.78 ล้านล้านบาท ปีงบประมาณ 2560 ลดลงมาอยู่ที่ 4.01 แสนล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 14.7% ของวงเงินงบประมาณรายจ่าย 2.73 ล้านล้านบาท และที่น่าเป็นห่วงมาก คือ มีบางรัฐบาลที่นำเงินงบกลางไปใช้ไม่ตรงตามวัตถุประสงค์

จากการสำรวจการใช้จ่ายเงิน “งบกลาง” ในรอบ 20 ปีที่ผ่านมา พบว่า มีการใช้จ่ายเงินจากงบกลางไปทั้งสิ้น 4.89 ล้านล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 14.5% ของงบประมาณรายจ่ายรวม 33.75 ล้านล้านบาท โดยในปีที่มีการใช้งบกลางในสัดส่วนที่สูงที่สุดเมื่อเปรียบเทียบกับวงเงินงบประมาณรายจ่ายโดยรวม 5 อันดับแรก

  • เริ่มต้นขึ้นในยุคสมัยของพรรคไทยรักไทยเป็นรัฐบาล ปีงบประมาณ 2547 ตั้งวงเงินงบกลางไว้ที่ 2.66 แสนล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 22.8% ของงบประมาณรายจ่าย 1.16 ล้านล้านบาท
  • อันดับ 2 ปีงบประมา
  • ณ 2548 ตั้งวงเงินงบกลางไว้ที่ 2.5 แสนล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 20% ของวงเงินงบประมาณรายจ่าย 1.25 ล้านล้านบาท

  • อันดับ 3 ปีงบประมาณ 2545 ตั้งวงเงินงบกลาง 1.84 แสนล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 18% ของวงเงินงบประมาณรายจ่าย 1.02 ล้านล้านบาท
  • อันดับ 4 ปีงบประมาณ 2549 ตั้งวงเงินงบกลาง 2.43 แสนล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 17.9% ของวงเงินงบประมาณรายจ่าย 1.36 ล้านล้านบาท
  • อันดับ 5 ปีงบประมาณ 2555 ตั้งวงเงินงบกลาง 4.22 แสนล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 17.7% ของวงเงินงบประมาณรายจ่าย 2.38 ล้านล้านบาท

20 ปี งบกลาง

ข้อสังเกต การใช้งบกลางในสัดส่วนที่สูงเมื่อเปรียบเทียบกับงบประมาณรายจ่ายโดยรวม 4 อันดับแรกอยู่ในช่วงปี 2545-2549 ตรงสมัยกับของรัฐบาลไทยรักไทย ใช้นโยบายประชานิยมในการหาเสียงเลือกตั้ง ยุคนี้มีการนำเงินจากงบกลางไปใช้ในการจัด “ทัวร์นกขมิ้น” ออกเดินสายประชุม ครม. สัญจรไปเกือบทั่วประเทศ ซึ่งไม่สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของการใช้งบกลาง

สำหรับรัฐบาล พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ตั้งวงเงินงบกลางในสัดส่วนที่สูง (เปรียบเทียบกับงบฯ รวม) เป็นอันดับที่ 6 โดยรัฐบาล พล.อ. ประยุทธ์ เข้ามาบริหารประเทศต่อจากรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2557 เป็นช่วงที่เกิดปัญหาความไม่สงบทางการเมือง ส่งผลทำให้การจัดทำงบประมาณปี 2558 และการเบิกจ่ายเงินเกิดความล่าช้ากว่าปกติ ปีนี้จึงมีการตั้งวงเงินงบประมาณรายจ่ายไว้ที่ 3.65 แสนล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 13.6% ของวงเงินงบประมาณรายจ่าย 2.525 ล้านล้านบาท พอถึงปีงบประมาณ 2559 รัฐบาล พล.อ. ประยุทธ์ ตัดสินใจปรับเพิ่มวงเงินงบกลางขึ้นไปอีก 9 หมื่นบ้านบาท ทำให้งบกลางปีนี้มีวงเงิน 4.55 แสนล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 16.4% ของวงเงินงบประมาณ 2.78 ล้านล้านบาท ปีนี้ถือเป็นปีที่มีการกำหนดกรอบวงเงินงบประมาณรายจ่ายโดยรวมและงบกลางมากที่สุดในประวัติการณ์ เนื่องจากปีนี้มีการเบ่งทั้งจีดีพีและประมาณการรายได้ขึ้นไปสูงกว่าปกติ เพื่อกำหนดกรอบวงเงินงบประมาณรายจ่ายให้ได้มากที่สุด ผลที่ตามมาคือปีนี้กระทรวงการคลังเก็บภาษีหลุดเป้า 1.25 แสนล้านบาท

เฉพาะในสมัยรัฐบาล พล.อ. ประยุทธ์ มีการอนุมัติเงินจากงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็นที่สำคัญ อาทิ

ปีงบประมาณ 2559

1. ครม. อนุมัติวงเงินงบกลาง 35,000 ล้านบาท ให้กองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง 79,556 แห่ง กองทุนละไม่เกิน 5 แสนบาท ใช้ในโครงการเพิ่มความเข้มแข็งของเศรษฐกิจฐานรากตามแนวทางประชารัฐ

2. อนุมัติงบกลาง 1,370.8 ล้านบาท ให้กองบัญชาการกองทัพไทยและกองทัพบก เป็นค่าใช้จ่ายในการขุดลอกแหล่งน้ำ

3. อนุมัติงบกลาง 931.9 ล้านบาท ให้กองทัพบกเป็นค่าใช้จ่ายในการซ่อมแซมถนนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้และ 4 อำเภอในจังหวัดสงขลา

4. อนุมัติงบกลางวงเงิน 1,300.3 ล้านบาท ให้กองบัญชาการกองทัพไทย 157.9 ล้านบาท และกองทัพบก 1,142.3 ล้านบาท ใช้ในโครงการการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ

5. อนุมัติงบกลาง 277.4 ล้านบาท ให้สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นค่าใช้จ่ายในการก่อสร้างอาคารหอประชุมกองทัพบกและอาคารกรมสวัสดิการทหารบก

6. อนุมัติงบกลาง 1,953.7 ล้านบาท ให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์จ่ายเงินเยี่ยวยาเกษตรกรที่ประสบอุทกภัยปี 2559/2560 ครอบครัวละ 3,000 บาท

7. อนุมัติเงินงบกลาง 217.5 ล้านบาท ช่วยเหลือเกษตรกรผู้ประสบภัยฝนแล้งด้านพืชในจังหวัดน่านและจังหวัดเพชรบูรณ์ (ช่วงเดือนพฤษภาคม-กันยายน 2558)

8. อนุมัติงบกลาง 2,027 ล้านบาท เป็นทุนประเดิมในการจัดตั้งธนาคารเพื่อการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานเอเชีย (Asian Infrastructure Investment Bank: AIIB)

9. อนุมัติงบกลางให้กระทรวงเกษตรฯ ใช้จ่ายในโครงการตามแผนพัฒนาอาชีพเกษตรกร ตามความต้องการของชุมชนเพื่อบรรเทาภัยแล้ง ปี 2558/2559 ระยะที่ 2 ครั้งที่ 1 อนุมัติวงเงินงบกลาง 1,814.7 ล้านบาท ครั้งที่ 2 อนุมัติวงเงินงบกลางอีก 2,967.4 ล้านบาท

10. อนุมัติเงินงบกลาง 1,106.3 ล้านบาท ช่วยเหลือเกษตรกรผู้ประสบภัยพิบัติด้านการเกษตร รวม 10 ภัย (ช่วงเดือนมีนาคม 2557 – เดือนมิถุนายน 2558) ได้แก่ อุทกภัย ภัยแล้ง ภัยฝนแล้ง ภัยฝนทิ้งช่วง วาตภัย ศัตรูพืชระบาด โรคพืชระบาด อัคคีภัย โรคระบาดสัตว์ ในพื้นที่ 21 จังหวัด

ปีงบประมาณ 2558

1. อนุมัติงบกลาง 971.9 ล้านบาท เป็นค่าใช้จ่ายโครงการบูรณาการมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้งปี 2558/2559

2. อนุมัติงบกลาง 382 ล้านบาท ให้สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา นำไปจัดสรรให้ศูนย์อาชีวะบริการ 2,000 แห่ง เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินโครงการอาชีวะบริการซ่อมสร้างเพื่อชุมชน ศูนย์ละ 191,000 บาท

3. อนุมัติงบกลาง 1,830 ล้านบาท เป็นค่าใช้จ่ายในโครงการลงทุนขนาดเล็กทั่วประเทศ ปี 2559 ครม. อนุมัติงบกลางเพิ่มเติมให้โครงการนี้อีก 606 ล้านบาท

รวม 3 ปีงบประมาณ รัฐบาล พล.อ. ประยุทธ์ อนุมัติวงเงินงบกลางไปทั้งสิ้น 1.22 ล้านล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 15.1% ของวงเงินงบประมาณรายจ่ายรวม 8.1 ล้านล้านบาท มีการใช้จ่ายเงินจากงบกลางเฉลี่ยปีละ 4.07 แสนล้านบาท

ส่วนรัฐบาลที่มีการจัดสรรวงเงินงบกลางในสัดส่วนที่น้อยที่สุด (เปรียบเทียบกับวงเงินงบประมาณโดยรวม) คือ รัฐบาลนายชวน หลีกภัย หลังจากประเทศเข้าสู่วิกฤติต้มยำกุ้ง พรรคประชาธิปัตย์ชนะการเลือกตั้ง ได้เข้ามาบริหารประเทศต่อจากรัฐบาล พล.อ. ชวลิต ยงใจยุทธ์ ปีงบประมาณ 2542 รัฐบาลชวนตั้งวงเงินงบกลางไว้ที่ 78,000 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 9.5% ของวงเงินงบประมาณ 8.25 แสนล้านบาท ปี 2543 ปรับลดวงเงินงบกลางเหลือ 77,000 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 8.9% ของวงเงิน 8.6 แสนล้านบาท ปี 2552 รัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เข้ามาบริหารประเทศ ซึ่งเป็นช่วงที่เศรษฐกิจไทยได้รับผลกระทบจากวิกฤติการณ์แฮมเบอร์เกอร์ จีดีพีหดตัวลงอย่างรวดเร็ว ทำให้การจัดเก็บรายได้ไม่เป็นไปตามเป้าหมาย ปีงบประมาณ 2552 รัฐบาลอภิสิทธิ์ตั้งวงเงินงบกลางไว้ที่ 2.55 แสนล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 13% ของวงเงินงบประมาณรายจ่าย 1.952 ล้านล้านบาท พอปี 2553 ปรับลดวงเงินงบกลางลงมาอยู่ที่ 2.15 แสนล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 12.6% ของวงเงินงบประมาณ 1.7 ล้านล้านบาท

รวม 6 ปีที่พรรคประชาธิปัตย์เป็นรัฐบาล ได้อนุมัติวงเงินงบกลางรวมทั้งสิ้น 9.78 แสนล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 11% ของวงเงินงบประมาณ 8.42 ล้านล้านบาท มีการใช้จ่ายเงินจากงบกลางเฉลี่ยปีละ 1.63 แสนล้านบาท