ThaiPublica > เกาะกระแส > เมื่อภาครัฐ – กรมวิชาการเกษตร-คณะกรรมการวัตถุอันตราย- เกษตรกร เอื้อให้ “ผัก ผลไม้ มีพิษ”

เมื่อภาครัฐ – กรมวิชาการเกษตร-คณะกรรมการวัตถุอันตราย- เกษตรกร เอื้อให้ “ผัก ผลไม้ มีพิษ”

26 สิงหาคม 2014


ผักและผลไม้ที่มกอช นำมาแสดง  ในวงกลมสีแดงเป็นเครื่องหมาย Qที่ไม่ถูกต้อง
ผักและผลไม้ที่มกอช. นำมาแสดง ในวงกลมสีแดงเป็นเครื่องหมาย Qที่ไม่ถูกต้อง

จากที่สำนักข่าวไทยพับลิก้าได้เปิดเผยผลสำรวจการสุ่มตรวจผักผลไม้โดยเครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช (Thai-PAN) ทำให้เห็นว่าพืชผัก และผลไม้ที่คนไทยบริโภคกว่าร้อยละ 40 มีสารเคมีตกค้าง หรือสะสมเกินค่ามาตรฐาน MRL (Maximum Residue Limits) ซึ่งเป็นค่าที่บ่งบอกปริมาณสารพิษตกค้างที่มีได้ในสินค้า

หลังจากที่ได้เสนอข่าวไปแล้วหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรวมทั้งห้างสรรพสินค้าที่มีชื่อต่างออกมาร่วมกันแสดงความคิดเห็น ตามที่ได้เสนอเป็นข่าว“มกอช. – กรมวิชาการเกษตร – โมเดิร์นเทรด”หารือเครียดแนวทางคัดกรองสินค้า ยัน “Q” ได้มาตรฐาน – ขอข้อมูล Thai-PAN สอบข้อเท็จจริง

แต่อย่างไรก็ตามไม่ว่าข้อถกเถียงในเรื่องมาตรฐานสารตกค้างจะใช้มาตรฐานของใครวัด แต่ ข้อมูลที่ปรากฏคือผักผลไม้มีสารเคมีที่มีพิษตกค้างอยู่ และจากผลสุ่มเจาะเลือดเพื่อหาสารพิษตกค้างจากผู้มาเดินงาน “งานมหกรรมอาหารและสุขภาพ วิถีไท” เมื่อวันที่ 24-27 กรกฎาคม 2557 โดย Thai-PAN จำนวน 963 คน กว่าร้อยละ 60 อยู่ในภาวะเสี่ยง และมีผู้ที่อยู่ในเกณฑ์ปลอดภัยเพียงร้อยละ 1.17 เท่านั้น

จึงเป็นที่มาของคำถามที่ว่า ทำไมถึงมีสารพิษตกค้างในพืชผักเกินค่ามาตรฐาน แล้วขบวนการ ขั้นตอนการกำกับดูแล และการตรวจสอบมันบิดเบี้ยวอย่างไร

จากข้อมูลของสมาคมผู้ประกอบธุรกิจสารเคมีกำจัดศัตรูพืชเปิดเผยว่าในปี 2556 ประเทศไทยมีการนำเข้าสารเคมีที่ใช้ในภาคเกษตร โดยแบ่งเป็นสารเคมีที่ใช้กำจัดวัชพืช 137,000 ตัน คิดเป็น 73.37% สารเคมีกำจัดแมลง 21,000 ตัน คิดเป็น 12.44% ที่เหลือเป็นสารเคมีกำจัดโรคพืชและอื่นๆ และคาดว่าปี 2557 จะมีการนำเข้าสารเคมีกำจัดวัชพืช 140,000 ตัน หรือ 80% และสารเคมีกำจัดแมลง โรคพืช และอื่นๆ 35,000 ตันหรือประมาณ 20% รวมการนำเข้่าสารเคมีเกษตร 175,000 ตัน

เมื่อภาครัฐเอื้ออำนวยให้ “ผักมีพิษ”

ประเทศไทยมีกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับสารเคมีเกษตรตั้งแต่ปี 2510 โดยใช้ชื่อว่า พระราชบัญญัติวัตถุมีพิษ พ.ศ. 2510 อยู่ในการดูแลของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เนื่องจากวัตถุมีพิษที่ต้องควบคุมคือสารเคมีเกษตร

ต่อมาในปี 2535 ได้มีการตรา พ.ร.บ.วัตถุอันตราย พ.ศ. 2535 ขึ้นแทน พ.ร.บ.วัตถุมีพิษมีการขยายขอบเขตความของ “วัตถุอันตราย” ออกไป พร้อมทั้งทำการรวบรวม จัดระบบงานให้มีการประสานงานระหว่างหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวกับการควบคุมดูแลวัตถุอันตรายให้ครอบคลุมและชัดเจน ความรับผิดชอบหลักตาม พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าวจึงโอนย้ายมาอยู่ที่กระทรวงอุตสาหกรรม

ส่วนกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เป็นผู้รับผิดชอบในเรื่องของวัตถุอันตรายที่ใช้ทางการเกษตร แบ่งออกเป็น วัตถุอันตายที่ใช้กับพืช สัตว์น้ำ และปศุสัตว์ โดยกรมวิชาการเกษตรดูแลในส่วนของวัตถุอันตรายทางการเกษตรที่ใช้กับพืช ซึ่งเป็นส่วนที่มีการนำเข้าและใช้สูงที่สุดในกลุ่มของวัตถุอันตรายทางการเกษตร และมีแนวโน้มที่จะเพิ่มสูงขึ้นในทุกๆ ปี (คลิ๊กที่ภาพเพื่อขยาย)

ปริมาณการนำเข้าสารเคมีเกษตร

ตาม พ.ร.บ.วัตถุอันตราย 2535 ต้องมีคณะกรรมการวัตถุอันตราย ซึ่งกฎหมายได้กำหนดหน้าที่และความรับผิดชอบของคณะกรรมการชุดนี้ไว้อย่างกว้างขวาง ตั้งแต่การเสนอหรือกำหนดนโยบายเกี่ยวกับวัตถุอันตรายต่างๆ ไปจนถึงเรื่องปลีกย่อยอย่างการกำหนดชื่อของวัตถุอันตราย จนถึงการพิจารณาอนุมัติการขึ้นทะเบียนเพื่อนำเข้า

จากการแบ่งความรับผิดชอบในการดูแลสารเคมีเกษตร หน่วยงานที่อยู่ต้องเป็นกรรมการโดยตำแหน่งในคณะกรรมการวัตถุอันตราย คือ “กรมวิชาการเกษตร” เป็นหน่วยงานหลักในการกำกับดูแลสารเคมีเกษตร ดังนั้นปัญหาสารเคมีตกค้างในพืช และผลกระทบจากการใช้เคมีต่างๆ กรมวิชาการเกษตรจะต้องรับรู้เรื่องราวทั้งหมด

ขณะที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างกรมการข้าว ซึ่งดูแลเรื่องข้าวได้รายงานผลการวิจัยเรื่องสารเคมี 37 ชนิด ที่ไม่ควรใช้ในนาข้าว เพราะเป็นสารที่ก่อให้เกิดการระบาดซ้ำของเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล และสารบางตัวอาจไปทำลายระบบนิเวศ อาทิ เป็นพิษต่อปลา เป็นต้น กรมการข้าวได้เสนอเรื่องผ่านทางกรมวิชาการเกษตร เพื่อเสนอเรื่องนี้ต่อคณะกรรมการวัตถุอันตราย เนื่องจากพื้นที่เกษตรของไทยทั้งหมด ครึ่งหนึ่งเป็นพื้นที่ “นาข้าว”

ทั้งนี้ทางกรมการข้าวได้ยกตัวอย่าง กรณี สารคาร์โบฟูราน ที่กรมการข้าวยืนยันผลการศึกษาของกรมเอง และอ้างอิงงานวิจัยจากต่างประเทศที่ชี้ให้เห็นว่าสารชนิดนี้ไม่ควรใช้ในนาข้าว แต่กรมวิชาการเกษตรเห็นควรให้มีการขึ้นทะเบียน โดยที่กรมวิชาการเกษตรได้ทำการวิจัยขึ้นมาอีกชุดและอ้างอิงงานวิจัยศึกษาดังกล่าวว่าสารคาร์โบฟูรานที่ใช้ในนาข้าวว่า สารชนิดนี้ไม่มีผลกระทบร้ายแรง ตกค้างก็ไม่นาน ไม่มีแมลงศัตรูที่เป็นประโยชน์ได้รับผลกระทบ และนำข้อมูลดังกล่าวมาเสนอคณะกรรมการวัตถุอันตราย

นายวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี กล่าวว่า สำหรับคาร์โบฟูราน เรียกได้ว่าเป็นสารเคมีกำจัดแมลงในนาข้าวที่ขายดีที่สุด ในประเทศอเมริกา ประเทศจีน ประเทศเวียดนาม ประเทศในสหภาพยุโรป (EU) ได้ประกาศยกเลิกการใช้สารเคมีดังกล่าวแล้ว แต่ไทยยังมีการนำเข้าอยู่ โดยพบว่าตัวแทนที่นำเข้าสารนี้เป็นบรรษัทสัญชาติอเมริกัน ซึ่งเป็นประเทศผู้ผลิตสารดังกล่าว (ข้อมูลการนำเข้าสารเคมี)

สำหรับขั้นตอนการนำเข้า เมื่อผ่านการขึ้นทะเบียนซึ่งถือเป็นการอนุญาตให้มีการนำเข้า สามารถจำหน่ายสารเคมีอย่างถูกกฎหมาย และการขึ้นทะเบียนแต่ละครั้งจะมีอายุ 6 ปี

“ในบางประเทศ เช่น ประเทศเคนยา มีการนำสารชนิดนี้ (คาร์โบฟูราน/ฟูราดาน) ไปใช้ และสารเคมีนี้เป็นเม็ด ลักษณะเหมือนเมล็ดธัญพืช เมื่อนำไปหว่าน แล้วนกเข้าใจว่าเป็นเมล็ดพืชจึงมาจิกกินและตายในที่สุด รัฐบาลเคนยาสั่งให้ส่งสารฟูราดานกลับประเทศผู้นำเข้า แต่หน่วยงานราชการไทยกลับพยายามผลักดันให้เกิดการขึ้นทะเบียนสารชนิดนี้”นายวิฑูรย์กล่าว

ที่ผ่านมาทางด้าน Thai-PAN ได้เสนอให้ยกเลิกสารเคมี 4 ชนิด ได้แก่ คาร์บูโฟราน เมทโทมิล ไดโครโตฟอส และอีพีเอ็น และมีองค์กรทั้งภาครัฐและประชาสังคมเข้าร่วมขับเคลื่อน จนทำให้ไม่มีการขึ้นทะเบียนสารทั้ง 4 ชนิด และถูกจัดอยู่ในสารเคมีเฝ้าระวัง

การแทรกแซงจากบริษัทผู้นำเข้า

นายวิฑูรย์ได้กล่าวต่อว่าหลังจากพลังผลักดันของหน่วยงานและองค์กรต่างๆ ส่งผลให้สารเคมี 4 ชนิดไม่ได้รับการขึ้นทะเบียน ทางด้านกรมวิชาการเกษตรจึงได้จัดทำประชาพิจารณ์ในช่วงต้นปี 2556 เพื่อหาข้อสรุปให้แก่สารทั้ง 4 ชนิด ในการทำประชาพิจารณ์ครั้งนั้น ได้มีการเชิญบุคคลจากบริษัทนำเข้าสารเคมีมาเป็นจำนวนมาก รวมถึงบริษัทนำเข้าสารเคมีได้นำตัวแทนขายมาพูดในนามเกษตรกร

“ตอนนั้นดีลเลอร์(ตัวแทนขายสารเคมี)ที่มาจากสุพรรณบุรีเขาพูดว่า ผมเป็นชาวนา แต่ว่าผมก็มีร้านขายยาด้วย เขาก็บอกว่ามัน(คาร์บูโฟรานหรือฟูราดาน)ไม่มีปัญหา และระหว่างที่พูดอยู่ก็นำเกษตรกรที่ปลูกมะม่วงมาบอกว่า หากไม่ใช้สารเมทโทมิล ก็ส่งออกไม่ได้แน่ เพราะว่ามะม่วงผิวจะไม่สวย ก็เอามะม่วงมาชูให้ดูว่าสวยต้องอย่างนี้ ไม่อย่างนั้นจะส่งออกไม่ได้”นายวิฑูรย์กล่าว

อย่างไรก็ตาม ประชาพิจารณ์ครั้งนั้นยังคงเปิดโอกาสให้แต่ละฝ่ายถกเถียงกัน จากนั้นกรมวิชาการเกษตรรวบรวมความเห็นเสนอไปยังคณะกรรมการวัตถุอันตราย ระบุว่าข้อเสนอที่จะให้ยกเลิกสาร 4 ชนิดยังไม่ชัดเจน เพราะมติของผู้เข้าร่วมประชุมในครั้งนั้นแตกเป็นครึ่งต่อครึ่ง (คลิ๊กที่ภาพเพื่อขยาย)

คณะกรรมการวัตถุอันตราย

นอกจากนี้นายวิฑูรย์ได้ตั้งข้อสังเกตุว่า ในส่วนของโครงสร้างคณะกรรมการวัตถุอันตรายตาม พ.ร.บ.วัตถุอันตราย (ฉบับที่ 3) 2551 ต้องมีกรรมการที่มาจากตัวแทน “ผู้ทรงคุณวุฒิ” ที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ มีผลงานและประสบการณ์ที่เกี่ยวข้องกับสาขาวิชาเคมี วิทยาศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์ เกษตรศาสตร์ หรือกฎหมาย อย่างน้อย 5 คน และให้แต่งตั้งจากผู้ทรงคุณวุฒิที่เป็นตัวแทนขององค์การสาธารณประโยชน์ และมีประสบการณ์ดำเนินงานด้านการคุ้มครองสุขภาพอนามัย ด้านการคุ้มครองผู้บริโภค ด้านการเกษตรกรรมยั่งยืน ด้านการจัดการปัญหาวัตถุอันตรายในท้องถิ่น หรือด้านสิ่งแวดล้อม อีก 5 คน รวมเป็น 10 คน

“ปรากฏว่ามีการแต่งตั้งกรรมการที่มีคุณสมบัติไม่ตรงตามเงื่อนไขที่กำหนด โดยมีตัวแทนจากผู้ประกอบการจำหน่ายสารเคมีเข้ามาเป็นกรรมการโดยระบุว่าเป็นตัวแทนจากกลุ่มผู้ทรงคุณวุฒิ ทาง Thai-PAN ได้ยื่นเรื่องต่อศาล ว่าคณะกรรมการได้มาโดยมิชอบ ขัดกับเจตนารมณ์ของกฎหมาย และฟ้องให้ศาลคุ้มครองชั่วคราว แต่ศาลเห็นว่าไม่ใช่เรื่องเร่งด่วนจึงไม่ได้คุ้มครองชั่วคราว ทำให้คณะกรรมการชุดดังกล่าวยังทำหน้าที่ต่อไปจนหมดวาระเมื่อไม่นานมานี้ จะเห็นได้ว่าเรื่องนี้เป็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่ปล่อยให้คนจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในการพิจารณาระงับหรือไม่ระงับการขึ้นทะเบียนสารเคมี เข้ามานั่งเป็นกรรมการ”นายวิฑูรย์กล่าว

นายวิฑูรย์กล่าวต่อว่าไม่เพียงแค่กลุ่มของผู้ประกอบการเท่านั้นที่เข้ามาเป็นกรรมการในนามของ “ผู้ทรงคุณวุฒิ” ในคณะกรรมการวัตถุอันตราย เมื่อตรวจดูในเอกสารอันเป็นข้อเสนอของกรมวิชาการเกษตรที่พิจารณาเรื่องการระงับการขึ้นทะเบียนหรือไม่นั้น พบว่ามีนักวิชาการด้านสารเคมีที่ใกล้ชิดกับกรรมการ(จากผู้ประกอบการ)ที่เป็นตัวแทนจากผู้ทรงคุณวุฒิ เข้ามาเป็นคณะอนุกรรมการเพื่อพิจารณาเรื่องการยื่นขอให้ระงับการขึ้นทะเบียนสารเคมีทั้ง 4 ชนิดนี้ด้วย

“ขบวนการมีการรับช่วงต่อกันมาเป็นทอดๆ เพื่อที่จะไม่ให้มีการระงับการขึ้นทะเบียน กลุ่มบริษัทผู้นำเข้าสารเคมีได้ดำเนินการยื่นขออุทธรณ์ต่อกระทรวงอุตสาหกรรม ขอให้คณะกรรมการวัตถุอันตรายรับฟังความคิดเห็น โดยเชิญและนำข้อมูลจากบริษัทเหล่านี้มาพิจารณาอีกครั้ง แต่มิได้มีการขอข้อมูลประกอบการพิจารณาจากองค์กรที่ขอให้มีการระงับการขึ้นทะเบียนเลย”นายวิฑูรย์กล่าว

กระทั่งปลายปี 2556 ได้มีการระงับการขึ้นทะเบียนของสารเคมี 2 ชนิด คือ อีพีเอ็น และไดโครโตฟอส ส่งผลให้การสุ่มตรวจสารตกค้างในผัก และผลไม้ในช่วงที่ผ่านมาไม่พบสาร 3 ชนิดนี้ตกค้างในผัก

อย่างไรก็ตาม นายวิฑูรย์ระบุว่า การระงับการขึ้นทะเบียนในครั้งนี้ไม่ได้มีผลอะไร เนื่องจากสารทั้ง 2 ชนิดไม่มีการนำเข้ามาระยะหนึ่งแล้ว กล่าวคือ ผู้นำเข้าสาร 2 ชนิดนี้ สมัครใจถอน (voluntarily withdraw)เพราะยอมรับว่าเป็นสารอันตราย แต่สารเคมีอีก 2 ชนิด มติของกรรมการวัตถุอันตรายระบุว่าให้คงการควบคุมเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 3 ต่อไป คือเป็นสารเคมีเฝ้าระวัง ที่ต้องได้รับการอนุญาตจากเจ้าหน้าที่ (วัตถุอันตรายชนิดที่ 4 คือชนิดร้ายแรง ห้ามมีไว้ในครอบครอง) โดยที่ระหว่างนี้ก็ขอให้มีการจับตาเฝ้าระวังเรื่องพิษภัยความเป็นอันตรายของคาร์โบฟูรานและเมโทมิล

“เรื่องนี้จะยังคงต่อสู้ต่อไป ต้องทำเรื่องนี้ให้เป็นประเด็นสาธารณะ ให้ภาคประชาชนเป็นผู้ตระหนักรู้ และลุกขึ้นมาต่อสู้จึงจะเห็นผล”นายวิฑูรย์กล่าว

วาทกรรม “Misuse” ผลักเกษตรกรให้ตกเป็นจำเลย

ส่วนประเด็นข้อกล่าวหาต่อเกษตรกรในเรื่องการใช้สารเคมีผิดประเภท นายวิฑูรย์กล่าวว่าอำนาจในการอนุญาตให้มีการนำเข้าสารเคมีเกษตรอันตรายทั้งหลายขึ้นกับกรมวิชาการเกษตรเป็นสำคัญ หากต้องการลดปริมาณสารตกค้างในพืชผัก เพื่อความปลอดภัยของเกษตรกร และผู้บริโภค การ “ไม่อนุญาต” ให้มีการขึ้นทะเบียนสารเคมีถือเป็นการยับยั้งปัญหาของเรื่องนี้ที่ต้นตอของปัญหา

แต่ปัญหายังคงอยู่ที่ผู้นำเข้าสารเคมี ที่พยายามหลบเลี่ยงข้อกฏหมาย กล่าวคือ แทนที่ผู้ประกอบการจะขอขึ้นทะเบียนสารเคมีในพืชอาหารซึ่งขอขึ้นทะเบียนยาก ก็เปลี่ยนไปขอขึ้นในพืชประเภทไม้ประดับแทน เช่น ดาวเรือง เมื่อเป็นเช่นนี้หน่วยงานรัฐก็จะไม่สนใจเรื่องพิษวิทยาอะไรมากนัก เมื่อขึ้นทะเบียนแล้วก็หมายความว่า ในทางกฎหมาย สารชนิดนี้จะต้องใช้กับดาวเรืองเท่านั้น แต่กลับนำไปขายเพื่อใช้ในการปลูกผักผลไม้และในนาข้าว

“พอถึงเวลาก็ไปชี้ว่าเกษตรกร misuse ว่าไม่ดูฉลาก ว่าเขาให้ใช้กับดาวเรืองเท่านั้น แต่ผู้ประกอบการเองที่มีเจตนาที่จะหลีกเลี่ยง เพื่อที่จะเอาสารเคมีที่ไม่อนุญาตให้ใช้กับบางพืช สามารถขายได้ในทุกพืช เมื่อพ่อค้าร้านขายสารเคมีแนะนำ เกษตรกรก็ใช้ ทั้งที่ไม่ได้ดูฉลากหรอกว่าเขาอนุญาตให้ใช้เฉพาะกับดาวเรือง เวลามีปัญหาสารตกค้าง ก็โทษแต่ชาวบ้าน แต่ไม่โทษผู้ที่เอาไปขึ้นทะเบียนกับดาวเรือง หรือกล่าวโทษหน่วยงานราชการที่รู้ทั้งรู้ว่าจริงๆแล้ว มันไม่ได้เอามาใช้กับดาวเรือง แต่เอามาใช้กับนาข้าว ก็ตะบี้ตะบันให้ขึ้นทะเบียน” นายวิฑูรย์กล่าว

ปัจจุบันได้มีประกาศหยุดรับขึ้นทะเบียนสารเคมีสำหรับดาวเรืองแล้ว ซึ่งมีหลายชนิดที่ถูกนำไปขึ้นทะเบียนในดาวเรือง อาทิ คาร์โบฟูราน ซึ่งส่วนใหญ่แล้วสารเคมีชนิดนี้ใช้ในนาข้าว(คลิ๊กที่ภาพเพื่อขยาย)

ขั้นตอนการขอขึ้นทะเบียนสารเคมีอันตราย

ดังนั้น เมื่อการขึ้นทะเบียนเพื่อให้ใช้กับนาข้าวทำไม่ได้ จึงไปใช้กับอย่างอื่นแทน เช่น ไม้ยืนต้น ซึ่งการใช้กับพวกไม้ผลไม้ล้มลุกก็มีปัญหาเช่นกัน เพราะคาร์โบฟูรานมันเป็นสารดูดซึม มันตกค้าง ขณะที่ด้านผู้ประกอบการร้านค้าเองก็มีการลักลอบนำเข้าสารเคมีข้ามชายแดนมาขาย ซึ่งเรียกสารเคมีเหล่านี้ว่า “ยาหลังร้าน” เนื่องจากเป็นสารเคมีที่ไม่ผ่านการขึ้นทะเบียน รวมทั้งการนำสารที่ถูกระงับการใช้แล้วมาขาย เหล่านี้ล้วนอยู่ที่ความรับผิดชอบของผู้ขาย จะโทษเพียงเกษตรกรผู้ใช้เสียทีเดียวก็ไม่ถูกต้องนัก

“แม้จะมีเกษตรกรใช้สารเคมีไม่ถูกต้องอยู่จริง แต่เมื่อดูจากกระบวนการทั้งระบบแล้วจะเห็นได้ว่า เกษตรกรเป็นเพียงจุดเล็กๆ เท่านั้น หากกระบวนการต้นทางตั้งแต่การพิจารณาการขึ้นทะเบียน ทำอย่างถูกต้องโปร่งใสแล้ว คงสามารถบรรเทาปัญหาการใช้สารเคมีของเกษตรกรอย่างผิดๆ ไปได้ไม่น้อย ซึ่งก็จะส่งผลดีต่อตัวเกษตรกรผู้ใช้สารเคมีและผู้บริโภค ผู้ที่อยู่ท้ายสุดของกระบวนการ”นายวิฑูรย์กล่าว