ThaiPublica > เกาะกระแส > “Thai-PAN” เผยผลตรวจผักชี้ “บัวบก” ติดอันดับสารตกค้างสูง – อัตราตกค้างแบบ “ค็อกเทล” กินหลากหลายยังเสี่ยง

“Thai-PAN” เผยผลตรวจผักชี้ “บัวบก” ติดอันดับสารตกค้างสูง – อัตราตกค้างแบบ “ค็อกเทล” กินหลากหลายยังเสี่ยง

25 พฤศจิกายน 2017


นางสาวปรกชล อู๋ทรัพย์ ผู้ประสานงานเครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช (ซ้าย) และนางสาวกิ่งกร นรินทรกุล ณ อยุธยา รองผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี (BIOTHAI) (ขวา)

เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2560 เครือข่ายเตือนภัยสารกำจัดศัตรูพืช (Thai-PAN) ได้แถลงผลการตรวจสอบสารพิษตกค้างในผัก-ผลไม้ ครั้งที่ 1 ประจำปี 2560 ที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค โดยครั้งนี้มีการตรวจสอบเพิ่มเติมไปถึงสารกำจัดวัชพืชหรือยาฆ่าหญ้า พบตกค้างในผักและผลไม้ในระดับสูงถึง 55% จากจำนวนตัวอย่างที่ส่งตรวจทั้งหมด 76 ตัวอย่าง และมีการสุ่มตรวจกลุ่มของผักพื้นบ้านเพิ่มเข้ามา พบว่า “ใบบัวบก” เป็นผักที่มีสารพิษตกค้างอยู่ในอันดับต้นๆ โดยพบสารพิษตกค้าง 5-18 ชนิด ที่ตกค้างร่วมกันต่อ 1 ตัวอย่าง และพบทั้งกลุ่มสารกำจัดแมลงไปจนถึงสารกำจัดวัชพืช

ผลตรวจผักชี้ “บัวบก” ติดอันดับสารตกค้างสูง

นางสาวปรกชล อู๋ทรัพย์ ผู้ประสานงาน Thai-PAN กล่าวว่า ภาพรวมการสุ่มตรวจในระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมานั้นมีแนวโน้มที่ดีขึ้น หากดูสินค้าที่ติดตราคือพบตกค้างน้อยลง หากเทียบเป็นแหล่งจำหน่ายยังทรงตัว ซึ่งการเก็บตัวอย่างผัก-ผลไม้ครั้งนี้สุ่มจากทั่วประเทศจำนวน 150 ตัวอย่างเมื่อเดือนสิงหาคม 2560

ครอบคลุมผักยอดนิยม 5 ชนิด (ได้แก่ ถั่วฝักยาว คะน้า พริกแดง กะเพรา และกะหล่ำปลี) ผักพื้นบ้านยอดฮิต 5 ชนิด (ได้แก่ ใบบัวบก ชะอม ตำลึง และสายบัว) และผลไม้ 6 ชนิด (องุ่น แก้วมังกร มะละกอ กล้วย มะพร้าว สับปะรด) ครอบคลุมตลาดจำนวน 9 ตลาดในจังหวัดเชียงใหม่ ขอนแก่น ปทุมธานี ราชบุรี และสงขลา รวมทั้งจากห้างค้าปลีกยักษ์ใหญ่ 3 ห้าง และซูเปอร์มาร์เก็ต 4 แห่ง โดยส่งไปวิเคราะห์ที่แล็บในประเทศอังกฤษ ส่วนสารกำจัดวัชพืชตรวจสอบที่ห้องทดลองของมหาวิทยาลัยเนรศวร พบว่าโดยภาพรวมมีสารพิษปนเปื้อนในผักและผลไม้เกินมาตรฐานถึง 46% แต่ก็ดีกว่าปีที่แล้วเล็กน้อย

โดยผักยอดนิยมทั่วไปมีสารเคมีตกค้างเกินมาตรฐาน 64% ผักพื้นบ้านยอดนิยม 43% และผลไม้ 33% ตามลำดับ ผักผลไม้ที่มีความเสี่ยงสูง ได้แก่ ถั่วฝักยาว คะน้า ใบบัวบก กะเพรา พริกแดง องุ่น แก้วมังกร เพราะพบการตกค้างเกินมาตรฐานตั้งแต่ 7-9 ตัวอย่างจาก 10 ตัวอย่าง

ในปีนี้มีการเพิ่มส่วนของค่าดีฟอลต์ลิมิต ขึ้นมาสำหรับกรณีที่ตรวจสอบทั้งค่า MRL ที่ประเทศไทยอนุญาตให้มีการตกค้าง ภายใต้ประกาศกระทรวงสาธารณสุขที่ 387 เรื่องอาหารที่มีสารพิษตกค้าง 2560 และตรวจสอบค่าสากลคือ Codex แล้วไม่พบจะนำมาเทียบกับค่าดีฟอลต์ลิมิตนี้ ซึ่งจากการสุ่มตรวจใน 150 ตัวอย่างพบว่ามีผัก-ผลไม้ 46% คิดเป็นส่วนที่ตกในค่าลิมิต 81% และพบตกค้างเกินมาตรฐานในสัดส่วนที่สูงมาก อาทิ ใบบัวบก เกินค่าดีฟอลต์ลิมิตถึง 310 เท่า

“ปีนี้เป็นปีแรกที่ Thai-PAN สุ่มตรวจผักพื้นบ้านยอดนิยมเพื่อเปรียบเทียบกับผักทั่วไปและผลไม้ และอีกสิ่งที่น่าเป็นกังวลมากที่สุดคือการพบสารเคมีกำจัดวัชพืชตกค้างในผักและผลไม้ในระดับสูงถึง 55% ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องใหญ่มาก เพราะเท่าที่ผ่านมาแทบไม่เคยมีการสุ่มตรวจหาสารพิษกลุ่มนี้อย่างจริงจังมาก่อนเลย โดยผลการตรวจพบพาราควอตตกค้างในระดับเกินมาตรฐานสูงถึง 38 ตัวอย่างจาก 76 ตัวอย่างที่ส่งตรวจ รองลงมาคือไกลโฟเซต ตรวจพบ 6 ตัวอย่าง และอะทราซีน 4 ตัวอย่าง” นางสาวปรกชลกล่าว

นางสาวปรกชลกล่าวต่อไปว่า ในการตรวจผัก-ผลไม้ ทั้ง 16 ชนิด พบการตกค้างสารพิษรวม 76 ชนิด โดยสารที่พบตกค้างมากที่สุดคือ ไซเปอร์เมทริน รองลงมาคือ คาร์เบนดาซิม ซึ่งเป็นสารประเภทดูดซึม และคลอร์ไพริฟอส สารที่ยังไม่ได้รับการขึ้นทะเบียนที่ทางเครือข่ายเฝ้าระวังกลับมาพบมากอีกครั้ง คือ คาร์บูโฟรานกับเมโทมิล นอกจากนี้ยังพบสารที่อยู่ในกลุ่มของวัตถุอันตรายที่ยกเลิกไปแล้ว คือ อีพีเอ็นและเมทามิโดฟอส ใน 4 ตัวอย่าง สิ่งนี้ทำให้ต้องพูดคุยกันในเรื่องการควบคุมสารเหล่านี้ด้วยอีกครั้ง

“ในการตรวจสอบค่าตกค้างของสารเคมีกำจัดศัตรูพืช ที่พบว่ากะเพราพบสารตกค้างทั้งหมด 13 ชนิด มากกว่ากะหล่ำปลี จากผลรายงานที่เป็นแบบนี้มา 3 ปีแล้ว ที่กะหล่ำปลีค่อนข้างปลอดภัย คือพบสารพิษน้อยกว่า ถั่วฝักยาวตกมาตรฐานไป 9 ใน 10 ตัวอย่าง และเป็นที่น่าตกใจที่เราพบสารกำจัดวัชพืชตกค้างเกินมาตรฐานมากว่าสารกำจัดศัตรูพืชเสียอีก โดยพบสารกำจัดวัชพืชตกค้างเกินมาตรฐานในกะหล่ำปลีด้วย และในผักพื้นบ้านยอดฮิตอย่างใบบัวบกก็พบสารประเภทดังกล่าวเกินมาตรฐานในทุกตัวอย่างที่ส่งตรวจ” นางสาวปรกชลกล่าว

ตรา Q-ออร์แกนิก ยังพบสารเคมีเกินมาตรฐาน

นางสาวปรกชลกล่าวว่า การตรวจสอบผัก-ผลไม้ ในส่วนที่ได้รับตรามาตรฐานที่แสดงอยู่บนฉลากสินค้า ได้แก่ มาตรฐาน GAP ซึ่งเป็นมาตรฐานระดับฟาร์ม GMP เป็นมาตรฐานโรงตัดแต่งคัดบรรจุ และออร์แกนิกมาตฐานการผลิตในระบบเกษตรอินทรีย์ พบว่า ผัก-ผลไม้ที่ได้มาตรฐาน GAP 19 ตัวอย่าง พบสารเคมีตกค้างเกินค่ามาตรฐาน 5 ตัวอย่าง ต่ำกว่ามาตรฐาน 4 ตัวอย่าง ไม่พบ 10 ตัวอย่าง โดยที่พบเกินค่ามาตรฐานจะเป็นส่วนของมาตรฐาน Q และส่วนที่ไม่ได้ระบุแหล่งรับรอง

สำหรับมาตรฐานออร์แกนิก 8 ตัวอย่าง มาตรฐานออร์แกนิกสหรัฐฯ มาตรฐานออร์แกนิกไทย และไอโฟม โดยภาพรวมพบตกค้างเกินมาตรฐาน 4 ตัวอย่าง ไม่พบ 4 ตัวอย่าง ในส่วนที่เกินค่ามาตรฐาน เช่น กะเพรา ยี่ห้อริมปิง มีการจำหน่ายที่ศูนย์การค้าเดอะมอลล์งามวงศ์วาน ระบุเลขที่มาตรฐานชัดเจนว่าเป็นออร์แกนิกไทยแลนด์ พบสารคือไซเปอร์เมทินสูงกว่าค่ากำหนด 70 เท่า ใบบัวบกของยี่ห้อ ออร์แกนิกแอนด์กรีนฟาร์ม จำหนายที่เดอะมอล์งามวงศ์วาน เป็นออร์แกนิกไทย พบสารตกค้างรวมกันหลายชนิด ซึ่งทางกรมวิชาการเกษตรตรวจสอบเบื้องต้นไม่พบข้อมูลของผู้ใช้รายนี้

“ภาพรวมของมาตรฐานที่รวมไว้ในฉลาก GAP พบเกินค่ามาตรฐาน 5 ใน 19 ตัวอย่าง GMP พบเกิน 3 ใน 5 ตัวอย่าง ออร์แกนิกพบ 4 ใน 8 ตัวอย่าง ถ้าเปรียบเทียบเป็นแหล่งจำหน่ายเป็นห้างและตลาด แม็คโคร เดอะมอลล์ มากที่สุด 9 ใน 15 เทสโก้ บิ๊กซี ท็อปส์ ตามลำดับ ตลาดที่ จ.ขอนแก่น และปทุมธานีมากสุด รองลงมาคือ ราชบุรี สงขลา และเชียงใหม่ จะเห็นว่าสินค้าที่ซื้อจากตลาดดูจะผ่านมาตรฐานมากกว่า” นางสาวปรกชลกล่าว

กินหลากหลายยังเสี่ยง

ด้านนางสาวกิ่งกร นรินทรกุล ณ อยุธยา ผู้ประสานงานโครงการรณรงค์ “กินเปลี่ยนโลก” มูลนิธิชีววิถี ซึ่งเข้าร่วมการเฝ้าระวังครั้งนี้ร่วมกับเครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือกและเครือข่ายความมั่นคงทางอาหารใน 5 จังหวัด ระบุว่า เมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 2560 ที่ผ่านมา Thai-PAN ได้ประชุมร่วมกับหน่วยงานของรัฐและภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง เช่น  สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) กรมวิชาการเกษตร กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ สำนักอาหาร คณะกรรมการอาหารและยา กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (บก.ปคบ.) พร้อมได้มอบข้อมูลทั้งหมดให้มีการดำเนินการตามขั้นตอนและกฎหมายของแต่ละหน่วยงาน

“ประเด็นคือการไม่ได้กำหนดค่ามาตรฐานที่ชัดเจน กำหนดไว้เพียงเป็นดีฟอลต์ลิมิตว่า 0.01 นั่นเป็นเพราะยังไม่มีข้อมูลทางวิชาการเพียงพอที่จะไปสนับสนุนว่าควรกำหนดการตกค้างที่ยอมรับได้ ดังนั้น เมื่อไม่ได้กำหนด จึงเป็นข้อจำกัดในการประเมินความเสี่ยง เมื่อพบเกินมาตรฐานดีฟอลต์ลิมิต มีการตกค้างรวมๆ เยอะมาก คำถามคือเราจะประเมินความเสี่ยงต่อสุขภาพของผู้บริโภคในเรื่องนี้อย่างไร การกินผัก 1 ชนิด ใน 1 วัน และหากไม่ได้กินเพียง 1 ชนิด เพราะขณะนี้มีการตกค้างแบบค็อกเทล คือผสมหลายสารในผัก 1 ชนิด ที่เป็นผักที่กินกันเป็นประจำ ฉะนั้น ในการประเมินความเสี่ยงแบบปริมาณที่รับเข้าไปรายวัน (daily intake) ที่เราทานเข้าไปในแต่ละวันนั้นยังไม่มีหลักวิชาการเพียงพอในการประเมิน ดังนั้น ข้อเท็จจริงที่เห็นตรงนี้มีความเสี่ยงมากน้อยแค่ไหนยังไม่มีใครสามารถระบุได้ บอกว่าตกดีฟอลต์ไม่เป็นไร แต่ดูแล้วมันเกินไปเยอะมาก” นางสาวกิ่งกรกล่าว

การตกค้างแบบค็อกเทลในบัวบก

หน่วยงานต่างๆ และผู้ประกอบการก็จะได้นำข้อมูลระบุแหล่งที่มาแหล่งผลิตและแหล่งจำหน่ายที่เป็นปัญหาไปดำเนินการแก้ปัญหาต่อไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งการพบว่ายังมีการตรวจพบสารที่แบนและไม่อนุญาตให้ขึ้นทะเบียนแล้ว เช่น เมทามิโดฟอส อีพีเอ็น คาร์โบฟูราน และเมโทมิล รวมทั้งมีการพบว่าผักผลไม้ราคาแพงซึ่งประทับตรารับรองต่างๆ ยังมีสารพิษตกค้างเกินมาตรฐานในระดับสูงกว่าที่จะยอมรับได้

และในระยะ 5-6 ปีที่ผ่านมา การกวดขันในมาตรฐาน Q ในความดูแลของ มกอช. และกรมวิชาการเกษตร นั้นพบการแอบอ้างตรา Q น้อยลง แต่ก็จะเห็นมาตรฐาน Q ในตลาดน้อยลงด้วย ดังนั้น ในการหารือ มกอช. ก็ได้แนะผู้บริโภคให้ช่วยตรวจสอบด้วยว่ามีปลอมไหม ตรวจผ่านแอปพลิเคชัน ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญ เพราะการรับรู้ปัญหาทำให้การแอบอ้างตราลดลง ในการทำให้สินค้ามีมูลค่าสูงขึ้นโดยไม่ใช้อะไร หากมีการรายงานข้อมูลถึงกรมวิชาการเกษตร จะมีการตรวจสอบให้เบื้องต้น หากพบว่าตรารับรองบางส่วนหมดอายุ บางส่วนไม่มีชื่อในฐานข้อมูล หน่วยงานรัฐจะดำเนินการตามกฎหมายต่อไป ซึ่งที่ผ่านมาจะเห็นแนวโน้มว่าเมื่อมีการตรวจสอบเฝ้าระวัง ผู้คนก็ระวังมากขึ้นในทุกส่วนของห่วงโซ่อาหาร ก็น่าจะมีการหารือให้การแอบอ้างลด และการตรวจสอบมาตรฐานควรเป็นไปอย่างตรงไปตรงมา และรอบคอบรัดกุมมากขึ้น

นางสาวปรกชลกล่าวเพิ่มเติมว่า สิ่งที่เกิดขึ้นนี้ชี้ให้เห็นว่า 1) ควรมีการกำหนดค่า MRL ให้ครอบคลุมมากขึ้น 2) การตกค้างร่วมกันของสารเคมีที่ออกฤทธิ์ร่วมกันในกลุ่มเดียวกัน เช่น  คลอร์ไพริฟอส โพไฟริฟอส ที่ออกฤทธิ์ต่อระบบประสาท ถ้าเกินค่า 800 กว่าเท่าอยากเห็นการประเมินความเสี่ยงว่ามีผลกระทบต่อสุขภาพหรือไม่อย่างไร 2) ใน 1 ตัวอย่างเจอสารพิษตกค้างร่วม 16 ชนิด อยากจะทราบว่าจะออกฤทธิ์ร่วมกันอย่างไร และสุดท้ายแล้วการที่เราบริโภคทุกวันในระยะยาวนั้นก่อโรคอะไรบ้าง เป็นคำถามที่ต้องมีการคุยกันต่อไป

การขายการตรวจสอบไปถึงกลุ่มผักพื้นบ้านและพบการตกค้างสูงในใบบัวบก เป็นข้อบ่งชี้ว่า ผัก-ผลไม้ที่ได้รับความนิยมมากขึ้นนำไปสู่การผลิตให้ได้ปริมาณมากเพื่อตอบสนองตลาด ส่งผลต่อการใช้เทคโนโลยีการผลิตที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพมนุษย์ ดังนั้น เรื่องการแนะนำ กินให้หลากหลายดีไหม นั้นอาจไม่ได้ผล เช่น ไซเปอร์เมทิน มีการตกค้างในผัก-ผลไม้แทบทุกชนิดที่ตรวจ คือไม่ว่าเราจะกินหลากหลายอย่างไร ก็จะเจอสารเดิมๆ กระจายอยู่ ดังนั้น หากเปลี่ยนจะจากคะน้าไปกินถั่วฝักยาวก็ยังเจอ มีสารที่พบว่าไม่ได้ขึ้นทะเบียนใน 76 ชนิด มี 17 ชนิดเป็นสารประเภทดูดซึมไม่น้อยกว่าครึ่งหนึ่ง แปลว่าล้างอย่างเดียวแทบจะไม่ออก

นางสาวกิ่งกรกล่าวทิ้งท้ายว่า “ผลการตรวจครั้งนี้เป็นการเปิดเผยความจริง และชี้ให้เห็นว่าปัญหาของยาฆ่าหญ้าได้กลายเป็นปัญหาระดับชาติที่เกี่ยวข้องกับผู้บริโภคทุกคนอย่างไม่อาจปฏิเสธได้อีกต่อไป ทั้งนี้ นอกเหนือจากผลักดันให้หน่วยงานรัฐและเอกชนแก้ปัญหาข้างต้นแล้ว เครือข่ายที่ติดตามปัญหาสารเคมีกำจัดศัตรูพืชได้ประสานงานกับองค์กรคุ้มครองผู้บริโภคและองค์กรสิ่งแวดล้อมหลายองค์กร ได้หารือจนได้ข้อยุติแล้วว่าจะร่วมกันฟ้องร้องกรมวิชาการเกษตรซึ่งอนุญาตให้มีการต่อทะเบียนพาราควอต และเป็นไปได้ว่าอาจมีการต่อทะเบียนคลอร์ไพริฟอสด้วย ทั้งๆ ที่กระทรวงสาธารณสุขและคณะทำงาน 4 กระทรวงหลักได้เสนอต่อกรมวิชาการเกษตรให้ยุติการต่อทะเบียนและดำเนินการแบนสารทั้งสองชนิดดังกล่าว”

ดูรายละเอียดเพิ่มเติม