ThaiPublica > เกาะกระแส > เก่าไป ใหม่มา (ตอนที่1): 50 ปีเศรษฐกิจไทยไม่เคยขาด “นวัตกรรม” แต่โตไม่เต็มศักยภาพ

เก่าไป ใหม่มา (ตอนที่1): 50 ปีเศรษฐกิจไทยไม่เคยขาด “นวัตกรรม” แต่โตไม่เต็มศักยภาพ

25 กันยายน 2017


เมื่อวันที่ 17 กันยายน 2560 ดร.ณชา อนันต์โชติกุล หัวหน้ากลุ่มงานวิจัย สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ (PIER) และนายทศพล อภัยทาน หัวหน้ากลุ่มงานวิจัยด้านเศรษฐกิจจริง PIER ได้นำเสนอรายงานวิจัย “เก่าไป ใหม่มา นวัตกรรมสินค้ากับโครงสร้างเศรษฐกิจไทย” หรือ “Structural Transformation in Thailand: A Perspective Through Product Innovation” ในงานสัมมนาวิชาการธนาคารแห่งประเทศไทยประจำปี 2560 “เศรษฐกิจ คิดใหม่” (BOT Symposium 2017: Innovating Thailand)

เมื่อวันที่ 17 กันยายน 2560 ดร.ณชา อนันต์โชติกุล หัวหน้ากลุ่มงานวิจัย สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ (PIER) และนายทศพล อภัยทาน หัวหน้ากลุ่มงานวิจัยด้านเศรษฐกิจจริง PIER ได้นำเสนอรายงานวิจัย “เก่าไป ใหม่มา นวัตกรรมสินค้ากับโครงสร้างเศรษฐกิจไทย” หรือ “Structural Transformation in Thailand: A Perspective Through Product Innovation” ในงานสัมมนาวิชาการธนาคารแห่งประเทศไทยประจำปี 2560 “เศรษฐกิจ คิดใหม่” (BOT Symposium 2017: Innovating Thailand)

รายงานวิจัยดังกล่าวได้ศึกษา “การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างเศรษฐกิจไทย” ในช่วง 40 ปีที่ผ่านมา อาศัยตัวชี้วัดและแรงขับเคลื่อนหลักจาก 1) การกระจายตัวของเศรษฐกิจจากการเกิดขึ้นของอุตสาหกรรมใหม่ๆ ซึ่งช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยข้างหน้า และ 2) การเคลื่อนย้ายทรัพยากรจากภาคเศรษฐกิจเดิมไปยังภาคเศรษฐกิจใหม่ที่มีประสิทธิภาพมากกว่า ซึ่งช่วยกระจายผลประโยชน์จากผลิตภาพลงไปยังภาคเศรษฐกิจโดยรวม

ทั้งนี้ รายงานวิจัยได้ประยุกต์วิธีการศึกษาและแนวคิดของ Hausmann and Hidalgo ที่มองว่าการผลิตสินค้าเกิดจากการรวบรวม “ความรู้และศักยภาพ” ที่มีอยู่ในเศรษฐกิจนั้นๆ รวมไปถึงปัจจัยเชิงสถาบันต่างๆ เช่น โครงสร้างพื้นฐานของเศรษฐกิจ ปัจจัยการผลิตที่มี ดังนั้น เศรษฐกิจที่มีความซับซ้อนมากกว่า มีความรู้มากกว่า ย่อมสามารถผลิตสินค้าได้หลากหลายกว่า และสะท้อนถึงผลิตภาพของเศรษฐกิจนั้น โดยอาศัยข้อมูลความสามารถในการแข่งขันของแต่ละประเทศและสินค้าในการค้าระหว่างประเทศเป็นตัวชี้วัดความซับซ้อนดังกล่าว

“เปรียบเทียบเหมือนตัวต่อเลโก้ สินค้าเปรียบเสมือนตัวต่อเลโก้ ขณะที่ประเทศเหมือนกล่องใส่ตัวต่อเลโก้ ยิ่งประเทศมีตัวต่อเลโก้ที่หลากหลายมากเท่าใด ประเทศนั้นย่อมสามารถผลิตสินค้าได้หลากหลายมากกว่า และการผลิตสินค้าที่มีความซับซ้อนมากขึ้น ประเทศนั้นยิ่งต้องการตัวต่อที่มีความพิเศษไม่เหมือนใครมากขึ้น ซึ่งเชื่อมโยงไปถึงความสามารถในการส่งออกสินค้าของประเทศนั้นๆ โดยมองว่าประเทศหนึ่งๆ มีตัวต่อเลโก้ที่หลากหลายแค่ไหนและมีความพิเศษแค่ไหน”

ในกรณีของประเทศไทยพบว่า ในช่วง 52 ปี ตั้งแต่ปี 2507-2558 ความซับซ้อนของเศรษฐกิจได้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง สะท้อนความสำเร็จของประเทศไทยในการสร้างอุตสาหกรรมและสินค้าใหม่ๆ เริ่มต้นตั้งแต่สมัยการผลิตเพื่อทดแทนการนำเข้าจนไปถึงการส่งเสริมการส่งออก และทำให้ประเทศไทยมีความซับซ้อนของเศรษฐกิจในอันดับที่ 25 ของโลกในปี 2558 เท่ากับประเทศมาเลเซียและมากกว่าหลายประเทศใน OECD

อย่างไรก็ตาม หากเทียบความซับซ้อนของเศรษฐกิจไทยกับรายได้ต่อหัว (ซึ่งความสัมพันธ์ไปในทิศทางเดียวกันอย่างชัดเจน) จะพบว่าระดับรายได้ต่อหัวของประเทศไทยเทียบกับความซับซ้อนของเศรษฐกิจยังต่ำกว่าที่ควรจะเป็น สะท้อนให้เห็นว่าแม้ประเทศไทยจะสามารถเติบโตอย่างก้าวกระโดดได้จากองค์ความรู้ที่สะสมมาในระดับสูง แต่ยังมีปัจจัยบางอย่างที่ทำให้เศรษฐกิจไทยไม่สามารถเติบโตได้เต็มศักยภาพอย่างที่ควรจะเป็น

ความซับซ้อนของเศรษฐกิจไทยในช่วง 52 ปี

ขณะเดียวกัน ในแง่พัฒนาการของระบบเศรษฐกิจ Hidalgo ได้พัฒนาตัวชี้วัดโดยอาศัยแนวคิดว่าการผลิตสินค้าในอุตสาหกรรมใหม่ที่ไม่เคยมีมาก่อนยากกว่าการต่อยอดความรู้ไปยังประเภทสินค้าที่ใกล้เคียงกัน  ดังนั้น ถ้าประเทศหนึ่งสามารถส่งออกหรือมีความสามารถในการส่งออกสินค้า 2 ประเภทได้พร้อมกัน ก็แปลว่าสินค้า 2 ประเภทนั้นมีแนวโน้มที่จะต้องการองค์ประกอบของความรู้ที่ใกล้เคียงกัน ตัวอย่างเช่น การผลิตเสื้อเชิ้ตย่อมต้องการองค์ความรู้ที่ใกล้เคียงกับการผลิตสูทมากกว่าการผลิตเครื่องยนต์ และการจับคู่ประเภทสินค้าต่างๆ ทั้งหมดในข้อมูลของประเทศไทยทำให้สามารถสร้างความเชื่อมโยงหรือ “เส้นทาง” ของสินค้าหรืออุตสากรรมต่างๆ เข้าด้วยกันในแง่ขององค์ความรู้ที่ต้องการในการผลิตสินค้าหรือสร้างอุตสาหกรรมนั้นๆ เรียกว่า “Product Space” โดยขนาดของวงกลมสะท้อนสัดส่วนของมูลค่าการส่งออกสินค้าหนึ่งๆ ต่อมูลค่าส่งออกทั้งหมด

ในกรณีของประเทศไทย ประเภทสินค้าที่ส่งออกได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างมากในช่วง 41 ปีที่ผ่านมาตั้งแต่ปี 2518-2558 จากเน้นการส่งออกสินค้าเกษตรกรรมมาเป็นสินค้าอุตสาหกรรม ไม่ว่าจะเป็นสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องจักร เครื่องยนต์ โดยปัจจุบันสินค้าอุตสาหกรรมคิดเป็นกว่า 46% ของมูลค่าส่งออกทั้งหมด ขณะที่สินค้าเกษตรกรรมคิดเป็นเพียง 12%

หากเจาะลึกลงไปใน Product Space จะพบว่าในปี 2518 ประเทศไทยมีความสามารถในการส่งออกสินค้าประเภทเกษตรกรรมเป็นหลัก และมีบางส่วนที่ส่งออกยางธรรมชาติและเสื้อผ้า ขณะที่ต่อมาอีก 20 ปีในปี 2538 สินค้าเสื้อผ้าและยางธรรมชาติขยายตัวอย่างชัดเจน รวมไปถึงการเกิดขึ้นของกลุ่มสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ โดยเฉพาะการผลิตฮาร์ดดิกส์ไดรฟ์ นอกจากนี้ ยังเห็นการขยับเข้ามาตรงกลางมากขึ้นของ Product Space อย่างสินค้าชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ของเครื่องยนต์และยางรถยนต์ ซึ่งสะท้อนความซับซ้อนขององค์ความรู้ของประเทศที่มีมากขึ้น

สุดท้ายในปี 2558 จะเห็นการเติบโตขึ้นของความซับซ้อนในการผลิต ไม่ว่าจะเป็นยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ พลาสติก เคมีภัณฑ์และผลิตภัณฑ์ยาง รวมทั้งเห็นการลดลงของอุตสาหกรรมอย่างสินค้าเกษตรและสินค้าเสื้อผ้า ทำให้สถานะปัจจุบันของประเทศไทยมีการกระจุกตัวเข้าสู่ศูนย์กลางของ Product Space มากขึ้น ประกอบการเกิดขึ้นของกลุ่มอุตสาหกรรมต่างๆ เช่น เคมีภัณฑ์ ช่วยสะท้อนให้เห็นศักยภาพในอนาคตของประเทศไทยในการยกระดับการผลิตสินค้าที่มีความซับซ้อนสูงได้

นอกจากนี้ หากดูประเภทสินค้าที่ส่งออกในช่วง 20 ปีที่ผ่านมาตั้งแต่ 2538-2558 จะพบว่ามูลค่าการส่งออกสินค้าที่มีความซับซ้อนต่ำได้ลดลงอย่างต่อเนื่อง สวนทางกับมูลค่าการส่งออกสินค้าที่มีความซับซ้อนสูงที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งในปี 2550 ที่เริ่มคงที่ และเมื่อเทียบกับประเทศจีนและเวียดนามพบว่าทั้ง 2 ประเทศมีการเปลี่ยนโครงสร้างอย่างรวดเร็ว โดยเวียดนามปัจจุบันมีโครงสร้างเศรษฐกิจแบบไทยในปี 2538 ขณะที่จีนได้แซงหน้าไทยไปแล้วเล็กน้อย อนึ่ง ในแง่ของนวัตกรรมของการส่งออกสินค้า ซึ่งวัดจากสัดส่วนสินค้าส่งออกที่มีความสามารถในการแข่งขันกับคู่ค้าเป็นครั้งแรกในช่วง 25 ปีตั้งแต่ปี 2533-2558 จะพบว่าเวียดนามมีมากกว่า 60 % ของสินค้าส่งออกที่เกิดความสามารถในการแข่งขันในช่วง 25 ปีที่ผ่านมา ขณะที่ประเทศไทยมีเพียงประมาณ 40%

สุดท้าย ในแง่ของจำนวนสินค้าพบว่า ประเทศไทยมีจำนวนสินค้าที่มีความสามารถในการแข่งขันเพิ่มขึ้นในช่วงปี 2543 และช่วงปี 2556 โดยหดตัวในช่วงระหว่างนั้น ขณะที่หากเทียบสินค้าที่เข้าและออกจากตลาดส่งออกพบว่าสินค้าที่เข้ามาในตลาดหรือมีความสามารถในการแข่งขันจะเป็นสินค้าที่มีความซับซ้อนสูงกว่าสินค้าที่สูญเสียความสามารถในการแข่งขันไป

ดูพาวเวอร์พ้อนท์ประกอบที่นี่

(ตอนที่ 2 อะไรขัดขวางศักยภาพการเติบโตของเศรษฐกิจไทย)

แก้ไขล่าสุด 26 กันยายน 2560