ThaiPublica > คอลัมน์ > เก่าไป ใหม่มา นวัตกรรมสินค้ากับโครงสร้างเศรษฐกิจไทย

เก่าไป ใหม่มา นวัตกรรมสินค้ากับโครงสร้างเศรษฐกิจไทย

24 สิงหาคม 2017


ปิติ ดิษยทัต [email protected], ณชา อนันต์โชติกุล [email protected], ทศพล อภัยทาน [email protected]
สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์

บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของบทความที่จะนำเสนอในการสัมมนาทางวิชาการประจำปี 2560
ของธนาคารแห่งประเทศไทยในหัวข้อ “เศรษฐกิจ คิดใหม่”
ในวันที่ 18-19 กันยายน 2560(ดูรายละเอียดที่นี่)

ที่มา : https://www.pier.or.th/wp-content/uploads/2017/08/shutterstock_529368763_edited.jpg

ทำไมความแตกต่างของระดับรายได้ต่อหัวระหว่างประเทศที่รวยที่สุดกับจนที่สุดในโลกจึงได้เพิ่มขึ้นอย่างมากจากประมาณ 10 เท่าเมื่อ 100 ปีก่อนมาเป็นกว่า 150 เท่าในปัจจุบัน เหตุใดเศรษฐกิจเกิดใหม่หลายต่อหลายประเทศจึงไม่สามารถรักษาอัตราการขยายตัวในระดับสูงได้นานพอที่จะหลุดพ้นจากกับดักรายได้ปานกลางได้สำเร็จ งานวิจัยทั้งในทางทฤษฎีและเชิงประจักษ์ได้ชี้ให้เห็นอย่างชัดแจ้งว่า กุญแจสำคัญที่สุดต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจของแต่ละประเทศในระยะยาวอยู่ที่ความสามารถในการยกระดับ ‘ผลิตภาพ’ ของระบบเศรษฐกิจโดยการใช้ทรัพยากรหรือปัจจัยการผลิตที่มีอยู่อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น หรือสร้างมูลค่าเพิ่มสูงขึ้น

คำถามที่ตามมาคือ แล้วอะไรเป็นตัวกำหนดระดับและพัฒนาการของผลิตภาพของแต่ละประเทศ อะไรเป็นปัจจัยที่ทำให้ประเทศหนึ่งมีความสามารถในการสร้างนวัตกรรมด้านต่างๆ ได้มากกว่าอีกประเทศหนึ่ง และเราจะวัดความสามารถดังกล่าวได้อย่างไร งานวิจัยในช่วงหลังได้ให้ความสำคัญกับ ‘know-how’ หรือองค์ความรู้และทักษะความชำนาญในแขนงต่างๆ ที่เป็นพื้นฐานของการสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ บทบาทหลักของระบบเศรษฐกิจคือการเอื้อให้ความรู้และความสามารถที่กระจัดกระจายอยู่ในแต่ละคน แต่ละองค์กร สามารถรวมตัวและเชื่อมต่อกันได้เพื่อผลิตสินค้าและบริการที่มีความซับซ้อนและมูลค่าเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ

ทั้งนี้ เราสามารถวัดระดับ know-how ของแต่ละระบบเศรษฐกิจได้จากโครงสร้างสินค้าที่แต่ละประเทศผลิตและส่งออก บนแนวคิดที่ว่า สินค้าแต่ละประเภทสะท้อนศักยภาพ ระดับองค์ความรู้ และความสามารถในการบริหารจัดการของระบบเศรษฐกิจที่แตกต่างกัน หากเปรียบเทียบสินค้าสองประเภท เช่น คอมพิวเตอร์กับดินสอ แน่นอนว่าคอมพิวเตอร์มีความซับซ้อนมากกว่าดินสอหลายเท่าตัว ต้องใช้ชิ้นส่วนจำนวนมาก ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง มีการพึ่งเครือข่ายการผลิตที่หลากหลาย ต้องผ่านการทดสอบคุณภาพหลายขั้นตอนกว่าจะประกอบขึ้นมาให้ใช้การได้ ขณะที่ดินสอมีความซับซ้อนในการผลิตน้อยกว่ามาก

ดังนั้น ประเภทและความหลากหลายของสินค้าที่แต่ละประเทศผลิตจึงสะท้อนถึงองค์ความรู้ ทักษะความชำนาญ และระดับศักยภาพในการผลิตที่แตกต่างกัน ซึ่งสามารถคำนวณออกมาเป็นตัวชี้วัดในระดับประเทศที่เรียกว่า Economic Complexity Index หรือ ECI สำหรับสินค้าแต่ละชนิดสามารถคำนวณค่าความซับซ้อนที่มีชื่อเรียกว่า Product Complexity Index หรือ PCI

เมื่อเปรียบเทียบ ECI ของประเทศไทยเทียบกับประเทศต่างๆ (รูปที่ 1) นับได้ว่าประเทศไทยมีพัฒนาการที่ดีมากในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา สะท้อนการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างที่พลิกโฉมเศรษฐกิจไทย จากเศรษฐกิจที่พึ่งการส่งออกผลผลิตด้านการเกษตรเป็นหลัก มาสู่เศรษฐกิจที่มีความสามารถในการแข่งขันสูงในสินค้าประเภทยานยนต์และอิเล็กทรอนิกส์ หลายประเทศในเอเชียไม่ว่าจะเป็นมาเลเซีย จีน เวียดนาม ก็มีความซับซ้อนสูงขึ้นเช่นกัน แต่กล่าวได้ว่าพัฒนาการในระยะยาวของไทยไม่น้อยหน้าใครในภูมิภาคนี้

งานศึกษาพบว่า การเพิ่มขึ้นของ ECI โดยมากแล้วเกิดจากการที่ประเทศค่อยๆ ผันไปผลิตสินค้าใหม่ที่มีความซับซ้อนมากขึ้นแต่ยังคงมีความเกี่ยวเนื่องกับสินค้าที่ผลิตได้อยู่แล้ว โดยอาศัยการต่อยอดองค์ความรู้ทักษะความชำนาญเดิมที่มีอยู่ การที่ประเทศจะก้าวกระโดดไปผลิตสินค้าที่มีความแตกต่างอย่างมากจากโครงสร้างสินค้าในปัจจุบันไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะการสร้าง know-how และเครือข่ายการผลิตใหม่ๆ ต้องอาศัยเวลา ดังนั้น โครงสร้างสินค้าปัจจุบันจึงเป็นตัวกำหนดที่สำคัญต่อประเภทของสินค้าใหม่ๆ ที่ประเทศจะขยับขยายต่อไปได้ในอนาคต

นอกจากนี้ ECI ยังมีความสัมพันธ์ค่อนข้างมากกับระดับรายได้ของประเทศ โดยประเทศที่มีความซับซ้อนสูงมักมีรายได้ต่อหัวสูงไปด้วย ข้อสังเกตหนึ่งคือ เศรษฐกิจไทยที่ดูเหมือนจะมีศักยภาพการผลิตสูงจากค่า ECI ที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง กลับมีระดับรายได้ต่อหัวที่ค่อนข้างต่ำเมื่อเทียบกับประเทศที่มี ECI ระดับเดียวกัน นำไปสู่คำถามว่า มีปัจจัยบางอย่างที่ฉุดรั้งเศรษฐกิจไทยให้ไม่ได้รับผลประโยชน์อย่างเต็มที่จากศักยภาพของประเทศหรือไม่

สิ่งที่งานวิจัยค้นพบคือ ถึงแม้ประเทศไทยจะมีการเปลี่ยนแปลงด้านโครงสร้างสินค้าที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่องในภาพรวม แต่หากมองลึกลงไปถึงระดับผู้ประกอบการจะเห็นถึงความไม่ทั่วถึงของพัฒนาการเชิงบวกนี้ โดยพบว่า ศักยภาพการผลิตของประเทศที่เพิ่มขึ้นในช่วงที่ผ่านมามีแรงขับเคลื่อนหลักมาจากผู้ประกอบการจำนวนน้อยรายเท่านั้นเมื่อเทียบกับจำนวนบริษัททั้งหมด พูดง่ายๆ คือ มีบริษัทเก่งหรือบริษัทที่เป็นผู้นำด้านนวัตกรรมสินค้าอยู่จำนวนหนึ่งเท่านั้น ขณะที่ผู้ประกอบการและแรงงานอีกจำนวนมากมีส่วนร่วมน้อยในการผลักดันและได้รับประโยชน์จากการพัฒนานวัตกรรมของประเทศ

นอกจากนี้ นวัตกรรมสินค้าและศักยภาพการผลิตยังมีการกระจุกตัวสูงในระดับจังหวัดและภูมิภาค ซึ่งทำให้จังหวัดที่เป็นที่ตั้งของผู้ประกอบการที่ผลิตสินค้าที่มีความซับซ้อนสูงมีระดับรายได้สูงกว่าจังหวัดอื่นๆ ไปด้วย (รูปที่ 2)

ความเหลื่อมล้ำในระดับผู้ประกอบการและในเชิงพื้นที่ที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นนี้ สะท้อนถึงการกระจุกตัวของ know-how ซึ่งจะทำให้การต่อยอดองค์ความรู้ไม่สามารถเกิดขึ้นในวงกว้าง สุดท้ายแล้วก็จะกลายมาเป็นข้อจำกัดต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจในระยะต่อไป การวางแนวนโยบายที่เหมาะสมไม่เพียงต้องทำความเข้าใจถึงโครงสร้างการผลิตของประเทศในปัจจุบัน แต่ต้องคำนึงถึงการกระจายตัวของระดับศักยภาพในระดับผู้ประกอบการและเชิงพื้นที่อีกด้วย

หนทางสู่การเติบโตของเศรษฐกิจในระยะยาวมิใช่เพียงมุ่งที่จะเติบโตแบบเดิมๆ ด้วยการผลิตสินค้าเดิมๆ ให้มากขึ้นเท่านั้น แต่ควรมุ่งที่จะเพิ่มศักยภาพการผลิตของประเทศที่สะท้อนอยู่ในความหลากหลายและระดับความซับซ้อนของสินค้าที่ผลิต ควรเน้นที่การเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างมากกว่าการเปลี่ยนแปลงเชิงปริมาณ ภายใต้บรรยากาศการแข่งขันที่เอื้อต่อการสร้างสรรค์นวัตกรรมด้านสินค้าให้เกิดขึ้นอย่างทั่วถึง

หมายเหตุ: ข้อคิดเห็นที่ปรากฏในบทความนี้เป็นความเห็นของผู้เขียน ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับความเห็นของสถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์