วีระชาติ กิเลนทอง [email protected]
วรุตม์ สามารถ [email protected]
สถาบันวิจัยเพื่อการประเมินและออกแบบนโยบาย มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย
บทความนี้กลั่นกรองเนื้อหาจากบทความ aBRIDGEd ฉบับเต็มเรื่อง “การจัดสรรเวลาเรียนของประเทศไทยเหมาะสมแล้วหรือยัง?” เผยแพร่ใน website ของสถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์
ประเทศไทยได้ทุ่มเทงบประมาณจำนวนมหาศาลเพื่อเพิ่มทักษะความสามารถของนักเรียนไทยมาโดยตลอด แต่หากพิจารณาจากผลการทดสอบ PISA ในช่วงสิบปีที่ผ่านมากลับยังไม่เห็นผลที่ดีขึ้นแต่อย่างใด ผลการทดสอบของนักเรียนไทยยังไม่เป็นที่น่าพอใจนัก โดยหากเปรียบเทียบคะแนน PISA ของไทยและประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาคอาเซียนด้วยกันจะพบว่า ประเทศที่มีผลงานได้น่าประทับใจอย่างมากคือ ประเทศเวียดนาม ซึ่งมีระดับจีดีพีต่ำกว่าไทยเล็กน้อยแต่มีคะแนนสอบ PISA ก้าวกระโดดไปอยู่ในระดับเดียวกับประเทศพัฒนาแล้ว ไม่ว่าจะเป็น ฟินแลนด์ เยอรมัน หรือแคนาดา ดังแสดงในรูปที่ 1 ปรากฏการณ์นี้ชวนให้สงสัยอย่างยิ่งว่า อะไรคือปัจจัยที่ทำให้คะแนนสอบของเวียดนามสูงถึงขนาดนั้น
หากมองย้อนกลับไปถึงปัจจัยที่มีผลต่อการเรียนรู้ของนักเรียน จะพบว่าสิ่งหนึ่งที่มีความสำคัญอย่างแน่นอนคือ เวลาที่ใช้ในการเรียนในแต่ละวิชา กล่าวคือ นักเรียนที่ใช้เวลาในการเรียนวิชาใดวิชาหนึ่งมากกว่าอีกคนหนึ่ง ย่อมมีโอกาสที่จะได้ความรู้และทักษะที่เกี่ยวกับวิชานั้นมากกว่า
ดังนั้น ผู้เขียนจึงได้นำสัดส่วนเวลาที่ใช้เรียนวิชาหลักของนักเรียนไทยกับนักเรียนเวียดนามมาเปรียบเทียบกัน ผลการเปรียบเทียบพบว่าสัดส่วนเวลาเรียนวิชาหลักของนักเรียนเวียดนามนั้น สูงกว่านักเรียนไทยถึงเกือบร้อยละ 20 นั่นคือ ประเทศเวียดนามให้ความสำคัญกับการเรียนวิชาหลักมากกว่าเรานั่นเอง และเพื่อให้เกิดความมั่นใจในข้อสรุปข้างต้นมากขึ้น ผู้เขียนจึงได้นำเอาข้อมูลของประเทศสิงคโปร์มาเปรียบเทียบร่วมกัน ซึ่งผลการเปรียบเทียบได้สนับสนุนข้อสรุปข้างต้น โดยจะเห็นได้จากรูปที่ 2 ว่า เวลาเรียนวิชาหลักของสิงคโปร์ มีสัดส่วนสูงสุด รองลงมาคือ เวียดนาม และไทย โดยสอดคล้องกับอันดับคะแนน PISA ของทั้งสามประเทศ
ทั้งนี้แม้ว่าในปัจจุบันเรายังไม่มีงานหลักฐานงานวิจัยที่ยืนยันว่า คะแนนสอบ PISA สะท้อนถึงศักยภาพในการทำงานเมื่อเติบโตเป็นผู้ใหญ่หรือไม่ แต่หากเราเชื่อว่าวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นปัจจัยสำคัญต่อการพัฒนาประเทศ และการทดสอบ PISA สามารถประเมินทักษะและความสามารถที่ส่งผลต่อการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแล้ว เราคงไม่สามารถละเลยผลการทดสอบ PISA และคงต้องให้ความสำคัญกับปัจจัยที่มีผลต่อผลการทดสอบดังกล่าวให้มากขึ้น
ผู้เขียนหวังเป็นอย่างยิ่งว่า บทความนี้จะมีส่วนกระตุ้นให้สังคมหันมาถกเถียงกันอย่างจริงจังว่า เด็กไทยจำเป็นต้องให้ความสำคัญกับทุกสาระวิชาดังเช่นที่เป็นอยู่ในปัจจุบันหรือไม่ หรือว่าควรจะตั้งใจเรียนวิชาหลักด้านคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และภาษา มากกว่าวิชาอื่น แน่นอนว่า การจัดลำดับความสำคัญของแต่ละสาระวิชาใหม่คงไม่สามารถแก้ปัญหาของการศึกษาไทยได้ทั้งหมด แต่ก็น่าจะเป็นก้าวแรกที่สำคัญและจำเป็นที่จะช่วยให้เราสามารถสร้างกระบวนการเรียนรู้ที่เหมาะสมให้แก่ลูกหลานเราได้
หมายเหตุ: ข้อคิดเห็นที่ปรากฏในบทความนี้เป็นความเห็นของผู้เขียน ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับความเห็นของสถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์