ThaiPublica > เกาะกระแส > Angelina Jolie กับภาพยนตร์ First They Killed My Father โศกนาฏกรรมจากความทรงจำของเด็กหญิงเขมรคนหนึ่ง

Angelina Jolie กับภาพยนตร์ First They Killed My Father โศกนาฏกรรมจากความทรงจำของเด็กหญิงเขมรคนหนึ่ง

24 กันยายน 2017


รายงานโดย ปรีดี บุญซื่อ

ภาพยนตร์ First They Killed My Fathger ผลงานการสร้างของแอนเจลินา โจลี

เมื่อวันที่ 15 กันยายนที่ผ่านมา ภาพยนตร์เรื่อง First They Killed My Father ได้ออกฉายเป็นครั้งแรกในสหรัฐอเมริกา และทั่วโลก ภาพยนตร์เรื่องนี้ได้เคยฉายรอบปฐมฤทธิ์มาแล้วเมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ ที่เมืองเสียมเรียบ

First They Killed My Father เป็นภาพยนตร์ที่เป็นผลงานการกำกับการแสดงของแอนเจลินา โจลี (Angelina Jolie) ดาราภาพยนตร์ฮอลลีวู๊ด ที่มีความผูกพันเป็นการส่วนตัวอย่างมากกับเขมร และเคยเป็นทูตพิเศษของข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยของสหประชาชาติ (UNHCR)

ภาพยนตร์ First They Killed My Father สร้างขึ้นโดยอาศัยเนื้อหาจากหนังสือชื่อเดียวกัน ที่เขียนโดย เลือง อุง (Loung Ung) นักเขียนสตรีชาวเขมร ที่มีชีวิตรอดมาได้ในยุคของพวกเขมรแดง หนังสือเล่มนี้เขียนบรรยายประสบการณ์ในวัยเด็กของเธอ ที่มีชีวิตอยู่ในยุคการฆ่าล้างเผาพันธุ์ของเขมรแดง แอนเจลินา โจลีกล่าวว่า

“หัวใจของภาพยนตร์เรื่องนี้คือเรื่องราวของเลือง อุง โดยมองภาพสงคราม ผ่านมุมมองของเด็กคนหนึ่ง แต่ก็เป็นเรื่องราวของประเทศๆหนึ่งเช่นเดียวกัน”

เพื่อให้สะท้อนภาพเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างถูกต้อง แอเจลินา โจลีใช้นักแสดงที่เป็นคนเขมรทั้งหมด พูดภาษาเขมรในภาพยนตร์ และถ่ายทำในเขมร

ความทรงจำของเด็กหญิงเขมร

สาเรียม สเรย์ ม๊อก (Sareum Srey Moch ) แสดงเป็นเลือง อุง ที่มาภาพ : Netflix

เลือง อุง เขียนไว้ในหนังสือว่า ช่วงปี 1975-1979 คนเขมรเสียชีวิตไปประมาณ 2 ล้านคน ราวๆ 1 ใน 4 ของประชากรประเทศ คนเขมรจำนวนมากต้องตายไป เพราะถูกประหัสประหารโดยพวกเขมรแดง รวมทั้งจากความอดอยาก โรคภัยไข้เจ็บ และการถูกบังคับใช้แรงงาน หนังสือเล่มนี้เป็นเรื่องราวการมีชีวิตรอดของตัวเธอและพี่น้องในครอบครัว ประสบการณ์ของเธอจึงเหมือนกับเป็นกระจกเงา ที่สะท้อนชะตาชีวิตคนเขมรอีกนับล้านๆคน เรื่องราวชีวิตของเธอจึงเปรียบเหมือนเรื่องราวชีวิตของคนเขมรอื่นๆ ที่มีชีวิตอยู่ในช่วงเวลาเดียวกันนี้

บิดาของ เลือง อุง เป็นข้าราชการระดับสูงของเขมร และเธอมีพี่น้องอีก 6 คน เมื่อพวกเขมรแดงบุกเข้ายึดพนมเปญในเดือนเมษายน 1975 เธอมีอายุ 5 ขวบ ประชาชนในพนมเปญถูกบังคับให้อพยพออกจากนครหลวง ไปยังชนบท เวลาต่อมา บิดาและมารดาของเธอถูกพวกเขมรแดงสังหาร ตัวเธอเองถูกส่งให้ไปอยู่กับกองทหารเด็กของเขมรแดง ส่วนพี่น้องที่เหลือไปทำงานในค่ายใช้แรงงาน ในปี 1980 เธอและพี่ชายอีกคนหนึ่งอพยพทางเรือมายังประเทศไทย หลังจากอยู่ในค่ายผู้อพยพเป็นเวลา 5 เดือน เธอก็ไปตั้งรกรากมีชีวิตใหม่ในสหรัฐอเมริกา

First They Killed My father: A Daughter of Cambodia Remembers (2000) เป็นหนังสือเล่มแรกของเลือง อุง และกลายเป็นหนังสือขายดี มีการแปลเป็นภาษาอื่น 11 ภาษา เธอกล่าวว่า

“แรงบันดาลใจในการเขียนหนังสือคือ ข้าวขาวเม็ดยาว วันๆหนึ่ง ฉันต้องทานข้าวสักถ้วยหนึ่ง ที่ไหนก็ตามที่มีข้าว ทำให้ฉันรู้ว่าตัวเองอยู่กับบ้าน”

เธอยังไปพูดในที่ต่างๆในเรื่องเขมร ปัญหาทหารเด็ก และกับดักระเบิดที่ฝังดิน ทำหน้าที่เป็นโฆษกของกองทุนกัมพูชา ที่ให้การช่วยเหลือแก่คนเขมรที่พิการจากสงคราม และจากกับดักระเบิด

Killing Field ในสายตาเด็กหญิงเขมรคนหนึ่ง

แอนเจลินา โจลี และ ซาเรียม สเรย์ ม๊อก ที่มาภาพ : http://www.cambodgemag.com/2017/02/film-presse-angelina-jolie-le-cambodge.html

ภาพยนตร์ First They Killed My Father เป็นเรื่องราวการฆ่าล้างเผาพันธุ์ ที่เกิดขึ้นในยุคที่เขมรแดงมีอำนาจปกครองกัมพูชา ระหว่างปี 1975-1978 เหตุการณ์ต่างๆในภาพยนตร์สะท้อนมุมมองและความทรงจำของเด็กผู้หญิงเขมรชื่อ เลือง อุง ที่แสดงโดยนักแสดงเขมรชื่อ ซาเรียม สเรย์ ม๊อก (Sareum Srey Moch) บิดาของเลือง อุง เป็นข้าราชการระดับสูงของเขมร เมื่อกองกำลังเขมรแดงบุกเข้ายึดพนมเปญในวันที่ 17 เมษายน 1975 บิดาของเลือง อุง รู้ตัวดีว่า ตัวเขาเองจะเป็นเป้าการสังหารของพวกเขมรแดง

แอนเจลินา โจลี ที่เป็นผู้กำกับภาพยนตร์เรื่องนี้ ไม่ได้พยายามจะให้ภาพยนตร์เป็นตัวอธิบายความโหดร้ายทั้งหมดและในทุกๆด้านของพวกเขมรแดง แต่ต้องการให้ภาพยนตร์เป็นเรื่องราวของฝันร้าย ที่ถ่ายทอดออกมาจากใบหน้าที่ซื่อๆ เยือกเย็น แต่เจ็บปวดของ เลือง อุง ที่มีต่อเหตุการณ์ต่างๆที่ตัวเธอเองได้ประสบ ภาพยนตร์ถ่ายทอดเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นได้อย่างชัดเจนและตรงๆ ซาเรียม สเรย์ ม๊อก นักแสดงชาวเขมร ที่แสดงภาพยนตร์เป็นครั้งแรก ก็สามารถสะท้อนเรื่องราวต่างๆได้อย่างที่แอนเจลินา โจลี ต้องการจะให้ปรากฎออกมา

เมื่อพวกเขมรแดงเข้ายึดพนมเปญ ก็สั่งให้คนในเมืองหลวงอพยพออกไปชนบททั้งหมด โดยบอกกับคนเขมรว่า อเมริกากำลังจะทิ้งระเบิดพนมเปญ ครอบครัวของเลือง อุง พร้อมกับบิดามารดาและพี่น้องอีก 6 คน ต้องเดินทางอพยพออกจากพนมเปญ จากหมู่บ้านหนึ่งไปยังอีกหมู่บ้านหนึ่ง บิดาของ เลือง อุง พยายามแสดงตัวว่า เขาทำงานเป็นคนงานท่าเรือ และพูดภาษาฝรั่งเศสไม่ได้ แม้พวกเขมรแดงคนหนึ่งพยายามทดสอบโดยพูดภาษาฝรั่งเศสกับเขา ต่อมา ครอบครัวของเลือง อุง ก็ไปพักอาศัยกับญาติพี่น้องในชนบทแห่งหนึ่ง แต่ในที่สุด ก็ต้องออกเดินทางต่อไป และไปใช้แรงงานในค่ายแรงงานการเกษตรของรัฐ เพราะญาติพี่น้องในชนบทบอกว่า หากพวกเขมรแดงรู้ว่า บิดาของเลือง อุง เป็นใคร ทุกคนก็จะถูกสังหารไปด้วย

ที่มาภาพ : Netflix

พวกเด็กๆต้องใช้แรงงานท่ามกลางความอดอยาก ภาพยนตร์สะท้อนฉากที่เด็กต้องจับแมงมุมมากินเป็นอาหาร เมื่อพี่สาวคนหนึ่งของ เลือง อุง ตาย แม่เธอมีโอกาสร้องไห้เพียงไม่กี่วินาที แล้วก็ต้องกลับไปทำงานใหม่ พี่น้อง เลือง อุง พยายามอธิบายให้เธอเข้าใจว่า คนตายแล้วจะกลับมาเกิดใหม่ คนตายจะหลับไป 3 วัน เมื่อรู้ตัวว่า ตัวเองนั้นตายแล้ว ก็เตรียมตัวที่จะกลับมาเกิดใหม่ เลือง อุง พูดตอบไปว่า เธอหวังว่า พี่สาวเธอจะไม่กลับมาเกิดใหม่อีก ณ ที่แห่งนี้ ในที่สุด เพื่อการมีชีวิตรอด คนเป็นแม่ก็บอกให้ลูกทุกคนที่เหลืออยู่ ให้หนีไปคนละทิศคนละทาง หากพวกเขมรแดงถาม ก็ให้บอกว่าเป็นพวกเด็กกำพร้า

เนื่องจากเป็นเด็กที่มีความมุ่งมั่นและเข้มแข็ง พวกเขมรแดงเลือก เลือง อุง ให้ไปอยู่ในค่ายฝึกทหารเด็ก ส่วนพี่น้องคนอื่นๆกระจายอยู่ตามค่ายใช้แรงงาน ในปี 1978 เวียดนามส่งทหารบุกเข้ามาโค่นล้มพวกเขมรแดง เลือง อุง และพี่น้องคนอื่นๆที่ยังมีชีวิตรอดมาได้ ก็มารวมกันอีกครั้งหนึ่ง

โศกนาฏกรรมมนุษย์

เขมรในปี 1975-1978 เป็นช่วงของโศกนาฏกรรม และความเลวร้ายที่มนุษย์กระทำต่อมนุษย์ด้วยกัน ที่มีคนเขมรเสียชีวิตจำนวนหลายล้านคน นอกจากจะถูกสังหารโดยพวกเขมรแดงแล้ว คนจำนวนมากต้องตายไป เพราะความอดอยาก และโรคภัยต่างๆ อันเป็นผลมาจากนโยบายรุนแรงที่สุดโต่งของเขมรแดง ที่ผ่านมา เคยมีหนังสือหลายเล่มเขียนอธิบายเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น โดยเรียกเขมรภายใต้การปกครองของพวกเขมรแดงว่า “ทุ่งสังหาร” (Killing Field) หรือเรียกเขมรในยุคนี้ว่า “ปี ศูนย์” (Year Zero)

กองทหารของพวกเขมรแดงบุกเข้ายึดพนมเป็ญ ที่มาภาพ : Netflix

เขมรแดงเป็นขบวนการปฏิวัติ ที่ใช้กำลังและความรุนแรงสุดโต่ง เพื่อเปลี่ยนแปลงสังคมและการเมือง หลังจากมีอำนาจได้ไม่กี่วัน เมืองต่างๆถูกทำให้ว่างเปล่าจากผู้คน หมู่บ้านถูกเรื้อทำลาย เพื่อกดดันให้ชาวบ้านทั้งหมด เดินทางไปอยู่รวมกันในค่ายแรงงานทำนาของรัฐ ทรัพย์สินเอกชนถูกทำลาย และกลุ่มคนตามฐานะทางสังคมต่างๆ ถูกขจัดให้หมดสิ้นไป เปรียบเทียบกับจีนในสมัยเหมา เจ๋อ ตุง ยังไม่ดำเนินการเปลี่ยนแปลงแบบขุดรากถอนโคน เหมือนกับพวกเขมรแดง นครปักกิ่งไม่ได้กลายเป็นเมืองร้าง หรือเจ้าหน้าที่จีนที่เคยทำงานในระบอบเก่า ก็ไม่ได้ถูกขจัดไปทั้งหมด

แต่ภาพยนตร์ First They Killed My Father ให้ภาพอีกมุมหนึ่งของเขมรในยุค “ทุ่งสังหาร” ที่เป็นความทรงจำของเด็กหญิงเขมรคนหนึ่ง ในความคิดของของเด็กนั้น จะไม่มีสิ่งที่เรียกว่า “ทัศนะแบบถูกต้องทางการเมือง” หรือความคิดแบบชนชั้น แต่เป็นความเข้าใจแบบซื่อๆ ตรงๆ ของเด็ก ที่มองเห็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ดังที่ปรากฏในภาพยนตร์เรื่องนี้ ผลงานความสำเร็จของแอนเจลา โจลีในการกำกับภาพยนตร์เรื่องนี้ ทำให้การประกาศรางวัลออสการ์ครั้งต่อไป First They Killed My Father อาจได้รับรางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยม สาขา “ภาพยนตร์พูดภาษาต่างประเทศ”